Wednesday, 14 May 2025
LITE TEAM

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ครบรอบ 73 ปี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นักธุรกิจ – อดีตนายกฯ และนักโทษหนีคดี

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 หรือ วันนี้เมื่อ 73 ปีก่อน คือ วันเกิดของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

ทักษิณ ชินวัตร หรือที่มีชื่อแฝงอีกชื่อหนึ่งว่า โทนี่ วู้ดซั่ม เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2544–พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่งโดยการรัฐประหาร

ทักษิณ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวน 10 คนของเลิศ และยินดี ชินวัตร ธิดาในเจ้าจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์ มีศักดิ์เป็นหลานทวดในเจ้าไชยสงครามสมพมิตร ณ เชียงใหม่ (ราชปนัดดาในพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2) 

มีพี่น้อง 10 คน อาทิ เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และพายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นพี่เขยของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเยาวภาผู้เป็นน้องสาว 

พันตำรวจโท ทักษิณ สมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ ในปี พ.ศ. 2523 และมีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่ พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) พินทองทา ชินวัตร (เอม) และแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง)

ทักษิณ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่ต้องใช้ชีวิตนอกแผ่นดินเกิดระหว่างการหลบหนีคดีความอาญา

ทักษิณ สร้างตัวจากการเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อนจะขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์

ทักษิณ เดินทางสายการเมืองเต็มตัว โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ชักนำ ในปี 2537 หลังจากลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น โดยได้โอนหุ้นในบริษัทของตนให้คุณหญิงพจมาน พานทองแท้ พินทองทา แพทองธาร และคนรับใช้ คนสนิทถือแทน

จากนั้นไม่นาน ก็เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัย รัฐบาลชวน หลีกภัย และในปีต่อมา เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทนพลตรีจำลอง และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ ของแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 4590 เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ตกใส่โรงแรม คร่า 113 ชีวิต

วันนี้ในอดีต 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ เครื่องบินเร็วเหนือเสียง เกิดอุบัติเหตุขณะกำลังบินขึ้น ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์ และโหม่งโลก ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 113 คน
       
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543  เกิดอุบัติเหตุกับสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 4590  ซึ่งเดินทางจากปารีสไปนิวยอร์กด้วยเครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ ขณะเครื่องบินกำลังบินขึ้น 

เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน ได้แจ้งนักบินว่า เห็นเพลิงไหม้ที่ด้านท้ายเครื่อง นักบินได้ตรวจสอบแล้วแจ้งว่า เกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 1  อีก 4 วินาทีต่อมานักบินได้แจ้งว่าเกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 2 ด้วย จากนั้น สัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้นในห้องนักบิน นักบินพยายามนำเครื่องไปร่อนลงที่สนามบินใกล้เคียงแต่เครื่องบินสูญเสียความเร็ว ดิ่งหัวลงสู่พื้นจนเกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 113 คน เป็นผู้โดยสาร 100 คน ลูกเรือ 9 คน และผู้ที่อยู่ในโรงแรมที่ 'คองคอร์ด' ตกใส่อีก 4 คน

จากผลการสอบสวนสรุปว่า สาเหตุการตก เกิดจากมีชิ้นส่วนโลหะที่หลุดออกมาจากเครื่องบินดีซี-10 ของคอนติเนนตัลแอร์ไลน์ ซึ่งบินขึ้นก่อนหน้านั้น 4 นาที กระแทกกับยางล้อด้านซ้ายของ 'คองคอร์ด' ขณะกำลังเร่งเครื่องเพื่อเทคออฟ ยางล้อเกิดระเบิดและมีชิ้นส่วนของยางกระเด็นไปกระแทกถังน้ำมันและสายไฟ และเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น

หน่วยงานความปลอดภัยทางการบินได้สั่งระงับ ‘คองคอร์ด’ ทุกเที่ยวบินเพื่อสอบสวนหาสาเหตุและแก้ไข

รู้จัก ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ สถาปัตยกรรมอันงดงาม บนผืนแผ่นดินไทย

มาชมความงดงามแห่งพระอาราม ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ หรือ ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ ภาพจิตรกรรมอันวิจิตร มากด้วยประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา

หากใครเคยผ่านไปบริเวณวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชิงสะพานปิ่นเกล้า ต้องเคยเห็นอาคาร ที่มีลักษณะคล้ายโบสถ์อย่างแน่นอน และต้องสักวาบความคิด สงสัยว่า อาคารหลังนี้คืออะไร แน่นอน สถานที่นี้ คือ โบสถ์ ส่วนที่เหลืออยู่ของวัดทั้งวัดในอดีต

‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ หรือ ที่เรียกกันตามภาษาปากว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ หากมีโอกาสได้เข้าไปภายในพระอุโบสถแห่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีทั้งเรื่องราวเทวดา เทพเจ้า ป่าหิมพานต์ เป็นต้น

รวมทั้งมีพระแท่นกลางพระอุโบสถ ที่มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องราวความเชื่อทางไสยเวทวิทยาคม ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ส่วนในประวัติศาสตร์จริงนั้น เป็นพระแท่นที่สร้างไว้เพื่อเตรียมการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ มาประดิษฐานยังพระอุโบสถ

สำหรับประวัติของวัดแห่งนี้ เริ่มต้นการเป็นวัดในครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า ‘วัดหลวงชี’ เพื่อให้ นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อี ธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา พระสนมเอกในพระองค์ ใช้สำหรับจำศีล

ในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วัดหลวงชีทรุดโทรมลง พระองค์จึงโปรดให้รื้อกุฏิออก ทำเป็นสวนกระต่าย จนมาถึงสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดขึ้นแทนสวนกระต่าย เรียกว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ แต่การสร้างไม่เสร็จสิ้นเพราะพระองค์เสด็จทิวงคตก่อน มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’

ในยุคของรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรมงคล แล้วสถาปนารัชทายาทในตำแหน่งสยามมกุฏราชกุมารแทน วังหน้าที่ทรุดโทรมลง รวมถึงวัด พระองค์ให้โปรดรื้อแนวกำแพงวังหน้าและตัววัดออก เหลือเพียงพระอุโบสถ

24 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ค้นพบ ‘มาชูปิกชู’ (Machu Picchu) ซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา

วันนี้เมื่อ 111 ปีก่อน ‘ไฮแรม บิงแฮม’ นักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยเยลในอเมริกา ค้นพบ ‘มาชูปิกชู’ (Machu Picchu) ซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา จากการเดินทางสำรวจเทือกเขาแอนดีส ในประเทศเปรู

มาชูปิกชู (Machu Picchu) หรือนิยมเรียกอีกชื่อว่า เมืองสาบสูญแห่งอินคา เป็นซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงในประเทศเปรู ที่ความสูงประมาณ 2,430 เมตร อารยธรรมแห่งนี้ได้ถูกคนภายนอกลืมจนกระทั่งมีการค้นพบอีกครั้งโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเยล ที่ชื่อ ไฮแรม บิงแฮม

23 กรกฎาคม พ.ศ.2528 เปิดการจราจร ‘สะพานพระนั่งเกล้า’ ครั้งแรก เชื่อมถ.รัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2528 เปิดการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยสะพานพระนั่งเกล้าเป็นครั้งแรก เชื่อมการเดินทางระหว่างพื้นที่ตำบลไทรม้ากับตำบลบางกระสอ เมืองนนทบุรีเข้าด้วยกัน

วันนี้เมื่อปี 1985 หรือ พ.ศ. 2528 ประเทศไทยได้เปิดให้มีการสัญจรโดยสะพานพระนั่งเกล้าเป็นครั้งแรก โดยมีการเริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 โดยบริษัท สุมิโตโม คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยเชื่อมการเดินทางระหว่างพื้นที่ตำบลไทรม้ากับตำบลบางกระสอเข้าด้วยกันตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ สะพานมีความยาว 545.10 เมตร โดยช่วงตัวสะพานยาว 329.10 เมตร และเชิงลาดสะพานทั้งสองฝั่ง 216 เมตร ความสูง 7.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีช่องทางจราจร 4 ช่องทาง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้สูงส่งและเด่นชัดยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้เสนอขอขนานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า "สะพานพระนั่งเกล้า" โดยได้เสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตผ่านทางกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีขออัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อสะพานเพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นเกียรติแก่ชาวไทยจังหวัดนนทบุรี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานพระนั่งเกล้า" ตามหนังสือของกรมโยธาธิการ ที่ มท. 0903/2843 ลงวันที่  8 มีนาคม 2528 เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนั้นจึงขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามของรัชกาลที่ 3 มาเป็นชื่อสะพาน

22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 นักร้องหนุ่ม ‘บิ๊ก ดีทูบี’ ประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำตกคูน้ำ

วันนี้ เมื่อ 19 ปีก่อน นักร้องหนุ่มขวัญใจวัยรุ่น ‘บิ๊ก ดีทูบี’ หรือ อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ หนึ่งในบอยแบนด์ชื่อดัง ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกคูน้ำข้างทาง

บิ๊ก ดีทูบี หรือ อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เป็นบุตรชายคนเดียวของคุณอุดมกับคุณยุพา กิตติกรเจริญ บิ๊กเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการประกวดร้องเพลงในโครงการพานาโซนิค สตาร์ ชาเลนจ์ ในปี พ.ศ. 2543 โดยใช้เพลง "งมเข็มในทะเล" ของโดม–ปกรณ์ ลัมในการประกวด เริ่มมีผลงานโฆษณา SWENSEN, PEPSI และถ่ายแบบลงนิตยสารวัยรุ่นอย่าง “เธอกับฉัน” ก่อนจะมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวง "ดีทูบี (D2B)" ในปี พ.ศ. 2544

ขณะที่ดีทูบีกำลังโด่งดังถึงขีดสุด หลังจากได้รับรางวัลศิลปินยอดนิยมจากเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ประจำปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศสิงคโปร์ มาได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ในช่วงเวลา 01.15 น. ของคืนวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เมื่อบิ๊กได้ขับรถยนต์กลับบ้านหลังจากแสดงคอนเสิร์ตเสร็จ แต่กลับประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกลงไปในคูน้ำที่ถนนศรีนครินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ 

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในหลายด้านทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง โปรดทรงดนตรีคือซอสามสาย ชื่อซอสายฟ้าฟาด (1) พระองค์ได้มีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชา ซึ่งหายไปเมื่อคราวสิ้นอยุธยา กลับมาเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง(2)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เมื่อ พ.ศ. 2352 และทรงอยู่ในราชสมบัติ 15 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด
จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน คณะปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในหลวง ร. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ด้วยพระราชพิธีที่เรียบง่าย แต่งดงาม

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 หรือ วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว สัญญะแห่งความรักอมตะได้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเราชาวไทยทั้ง 2 พระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยจัดพิธีเป็นการภายในเรียบง่ายที่ต่างแดน

ย้อนไปในวันวาน เรื่องราวความรักของ องค์ในหลวงภูมิพล และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในปี พ.ศ.2489 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราช สันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น

ต่อมาช่วงปี 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศสและการแสดงดนตรีของคณะดนตรีที่มีชื่อเสียง

และเวลานั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของ ม.จ.นักขัตมงคล ท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย

ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับสั่งกับว่าให้พระองค์ไปทอดพระเนตรบุตรีของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า “สวยน่ารักไหม” และยังทรงกำชับว่า “เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทรบอกแม่ด้วย”

ที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

แน่นอน นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกแห่งความรัก ซึ่งเกิดขึ้น ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 นั้นเอง

ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตอนหนึ่งเล่าว่า สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า

โดยเป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย ซึ่งเป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ” รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้าม.ร.ว.สิริกิติ์ไว้ในพระกระเป๋า

จนกระทั่ง ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ ที่สุดความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน ก็ได้สืบสานได้ถักทอเป็นความผูกพันแน่นแฟ้น

ที่สุด ผ่านมาราว 1 ปี ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 ในหลวงได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ไปเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.จ.นักขัตรมงคล ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ 3 วัน คือ วันที่ 17-19 กรกฎาคม พ.ศ.2492

ในวันที่ 18 ในหลวงเสด็จฯ ไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้นกับหม่อมเจ้านักขัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงเจรจาเสร็จแล้ว สมเด็จพระราชชนนีจึงได้เสด็จตามเข้าไป

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล ในระหว่างการเจรจาเรื่องการหมั้น ทรงรับสั่งว่า “ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”

ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top