Monday, 13 May 2024
อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง

ทางเลือกการลงทุนใน “ทองคำ” เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน

การจัดสรรเงินออมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มค่าของเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้นั้น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้การลงทุนในหลายรูปแบบมีความผันผวน ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุน ก่อนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในทางเลือกนั้น ๆ

โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง “การลงทุนในทองคำ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวที่นักลงทุนเลือกเพื่อเก็งกำไร เนื่องจาก ทองคำมักมีมูลค่าเพิ่มในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าและไม่เสื่อมสภาพ สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เร็วโดยที่ไม่กระทบต่อมูลค่ามากนัก ตลอดจนนักลงทุนหลายคนนิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนรวมอีกด้วย

การลงทุนในทองคำแบบดั้งเดิม คือการลงทุนซื้อ “ทองคำแท่ง หรือ ทองรูปพรรณ” ผ่านหน้าร้านตามราคาที่ทางร้านประกาศไว้ โดยอ้างอิงจากราคากลางของสมาคมค้าทองคำ น้ำหนักทองคำ 1 ออนซ์ ซึ่งเป็นหน่วยวัดในระดับสากล จะเท่ากับทองคำประมาณ 2 บาทตามหน่วยวัดของไทย ทั้งนี้ในการซื้อขายทองคำในตลาดสากลนิยมทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ในขณะที่การซื้อขายทองคำในตลาดไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่ 96.5% โดยนักลงทุนทองคำเพื่อเก็งกำไรมักเลือกลงทุนในทองคำแท่ง ที่มีค่าบล็อคเล็กน้อย ไม่มีค่ากำเหน็จ และเวลาขายคืนจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทองรูปพรรณ

ทั้งนี้นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจาการลงทุนในทองคำด้วยการดูราคาทองคำในตลาดปัจจุบันและคาดคะเนความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโดยปกตินักลงทุนมักจะเทขายเมื่อราคาทองคำสูงขึ้น 2-5% จากราคาต้นทุน อย่างไรก็ดีปัจจุบันการลงทุนในทองคำแท่งและทองรูปพรรณยังสามารถซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์

อาทิเช่น

วายแอลจี พรีเชียส บนเว็บไซต์ https://www.ylgprecious.co.th

ฮั่วเซ่งเฮง บนเว็บไซต์ https://www.huasengheng.com/buy-sell-online

แม่ทองสุก บนเว็บไซต์ http://trade.mtsgold.co.th/goldonline

App บนมือถือ “HSHtrade” เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินทุนน้อย อาจเลือกลงทุนในทองคำผ่านรูปแบบการ “ออมทอง” โดยนักลงทุนจะเปิดบัญชีกับบริษัทที่ให้บริการ จากนั้นจึงทยอยจ่ายเงินลงทุนซื้อทองทุกเดือน โดยมียอดขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท เสมือนการทยอยซื้อทองน้ำหนัก 5 - 10 สตางค์ ทุกเดือนไปเรื่อย ๆ จนครบน้ำหนักทอง 1 บาท

นักลงทุนก็สามารถไปขอรับเป็นทองจริงได้จากบริษัทที่เลือกลงทุน อาทิเช่น ฮั่วเซ่งเฮง, ออสสิริส, โกลเบล็ก, จีแคป, Hello Gold เป็นต้น ทั้งนี้การออมทองจะเป็นการถัวเฉลี่ยซื้อในแต่ละเดือน ทำให้ราคาทองที่ลงทุนจึงเป็นค่าเฉลี่ยของการซื้อในแต่ละครั้งของช่วงเวลาที่มีการออม ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาความผันผวนของราคาทองที่เป็นไปตามราคาตลาดโลกควบคู่ประกอบการตัดสินใจออมทองไปด้วย

ทางเลือกการลงทุนในทองคำรูปแบบถัดไป เป็นการลงทุนที่ไม่มีการถือทองคำจริง เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ได้แก่ การลงทุนทองคำผ่าน ”กองทุนรวม” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเงินไปลงทุนในทองคำให้กับนักลงทุน โดยแต่ละกองทุนจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเรื่องการลงทุน วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ และความผันผวนของราคาของคำที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นค่าใช้จ่ายของนักลงทุน การลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวมนี้ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างในมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain)

สำหรับทางเลือกการลงทุนในทองคำที่มีความซับซ้อนขึ้น สามารถเก็งกำไรทองได้ ทั้งในภาวะขาขึ้นและขาลง ทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงเช่นกัน ได้แก่ การลงทุนในทองคำผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ “การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส” ที่อ้างอิงราคาทองคำแท่งที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน เมื่อคาดว่าทองจะขึ้นในอนาคต และทำกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย เมื่อราคาทองคำในอนาคตนั้นปรับตัวขึ้นจริง ในขณะที่ผู้ลงทุนจะขายโกลด์ฟิวเจอร์สล่วงหน้า เมื่อคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนี้จะเป็นการซื้อขายโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX มีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประกันการชำระราคา และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขาย

และทางเลือกลงทุนในทองคำรูปแบบใหม่ล่าสุด ได้แก่ “โทเคนทองคำ” ที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายทองคำดิจิทัลได้เสมือนกับได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่ง ผ่านเหรียญ xBullion (GOLD), UPXAU, และ GoldGo โดยมีการ Backup ทองคำจริงเอาไว้ และใช้เทคโนโลยี blockchain และรหัสทองคำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละราย เพิ่มภาพคล่อง และสามารถโอนรายการระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

จากรูปแบบการลงทุนทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำที่นักลงทุนควรคำนึงถึงได้แก่ นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ตลอดจน Demand supply หรือความต้องการซื้อขายทองคำในตลาด เป็นต้น

.

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.tfex.co.th/th/education/files/2011-09-GF-Th.pdf


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ‘โลก - ไทย’

นับจากเดือนธันวาคม 2019 ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลง หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จนหลายคนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อพิชิตไวรัสดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 300 ล้านโดสให้กับประชากรทั่วโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วงกลางปี 2021 นี้

ประเด็นที่น่าสนใจจากการใช้ประโยชน์จากวัคซีนโควิดที่มีการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น คือ การนำไปสู่ความปกติใหม่ หรือ ’New Normal’ ของการใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ซึ่งเป็นหลักฐานการได้รับวัคซีนสำหรับผู้ต้องการเดินทางระหว่างประเทศทั้งเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนา ‘แอปพลิเคชันพาสปอร์ตวัคซีน’ อาทิเช่น…

...แอปพลิเคชัน IATA Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ

...แอปพลิเคชัน CommonPass เพื่อใช้ในสายการบิน Jet Blue, Lufthansa และ United

...แอปพลิเคชัน IBM Digital Health ของบริษัท IBM

...และแอปพลิเคชัน iProov แพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการจัดการวิกฤตสุขภาพของประเทศอังกฤษ

เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมสำคัญในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า หากวิกฤติโรคระบาดคลี่ ‘คลายลง’ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและอินเดียที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.3

ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังจากการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรก 2 แสนโดส (จากทั้งหมด 2 ล้านโดส) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อีกทั้งการยื่นขออนุญาตจาก อย. ของภาคเอกชนจาก 4 โรงพยาบาลใหญ่ ‘ธนบุรี - รามฯ - กรุงเทพ - เกษมราษฎร์’ นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก และโนวาแวกซ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ขณะเดียวกันมติเห็นชอบการใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีนของไทย’ จากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น เชื่อได้ว่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% – 3.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3% – 5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% - 1%

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านี้ จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่...

1.) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ

2.) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตามในปี 2021 แนวโน้มเศรษฐกิจของโลก และของไทย กำลังจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุด ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา แต่จะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติแค่ไหน จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบเศรษฐกิจอย่างเฉิดฉายเพียงใด อีกไม่ช้านี้ คงได้ทราบกัน...


แหล่งที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-52291254

https://www.jsccib.org/th/news/view/350

https://www.prachachat.net/economy/news-623456

https://www.prachachat.net/marketing/news-623170

เงินกู้เงินออนไลน์ มาแรง!! จับกระแส P2P Lending สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล ทางเลือกใหม่ ‘ผู้ประกอบการ - นักลงทุน’ ในโลกการเงินยุคดิจิทัล

ความก้าวหน้าของธุรกิจ FinTech ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกรรมสินเชื่อ ที่จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องไปยื่นขอกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถจัดหาเงินจากนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์มทางการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ (Matchmaker) ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ P2P Lending (peer-to-peer lending) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยดอกเบี้ยต่ำลง สะดวกรวดเร็วในการอนุมัติรายการ ลดต้นทุนในการดำเนินการ และในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินน้อยก็สามารถเลือกลงทุนและรับผลตอบแทนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจและเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) ที่ถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุให้ผู้กู้ P2P Lending ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่ออุปโภคบริโภค สามารถยื่นขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 1.5 - 5 เท่าของรายได้ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนผู้ให้กู้อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 500,000 บาทต่อปี หรือผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน มีเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี บวกด้วยค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม (ถ้ามี)

ทั้งนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ธปท. อนุญาตให้มีการทดสอบระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลในวงจำกัดภายใต้ Regulatory Sandbox ขึ้นใน 3 บริษัทผู้ให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้างต่อไป

โดย 3 บริษัทผู้ให้บริการดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด (https://www.deepsparkspeerlending.ai/) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน LoanDD บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด (https://www.nestifly.com) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Share Loan by NestiFly และบริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จํากัด (https://www.peerpower.co.th) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Peerpower

จากความสำเร็จของฟินเทคสตาร์ทอัพในธุรกิจ P2P lending ทั่วโลก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ในปี 2564 นี้ จะเกิดกระแส P2P lending ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ และในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของสินเชื่อ P2P lending ที่ผู้กู้ยังคงต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน และผู้ให้กู้จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงสืบเนื่องจากการลงทุนที่จะไม่ได้รับการชำระหนี้จากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ และไม่สามารถยกเลิกหรือเรียกคืนเงินได้ก่อนสัญญาครบกำหนดนั้น อาจเป็นเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของ P2P lending ได้ในคราวเดียวกัน


ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top