‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ‘โลก - ไทย’

นับจากเดือนธันวาคม 2019 ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลง หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จนหลายคนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อพิชิตไวรัสดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 300 ล้านโดสให้กับประชากรทั่วโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วงกลางปี 2021 นี้

ประเด็นที่น่าสนใจจากการใช้ประโยชน์จากวัคซีนโควิดที่มีการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น คือ การนำไปสู่ความปกติใหม่ หรือ ’New Normal’ ของการใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ซึ่งเป็นหลักฐานการได้รับวัคซีนสำหรับผู้ต้องการเดินทางระหว่างประเทศทั้งเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนา ‘แอปพลิเคชันพาสปอร์ตวัคซีน’ อาทิเช่น…

...แอปพลิเคชัน IATA Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ

...แอปพลิเคชัน CommonPass เพื่อใช้ในสายการบิน Jet Blue, Lufthansa และ United

...แอปพลิเคชัน IBM Digital Health ของบริษัท IBM

...และแอปพลิเคชัน iProov แพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการจัดการวิกฤตสุขภาพของประเทศอังกฤษ

เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมสำคัญในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า หากวิกฤติโรคระบาดคลี่ ‘คลายลง’ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและอินเดียที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.3

ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังจากการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรก 2 แสนโดส (จากทั้งหมด 2 ล้านโดส) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อีกทั้งการยื่นขออนุญาตจาก อย. ของภาคเอกชนจาก 4 โรงพยาบาลใหญ่ ‘ธนบุรี - รามฯ - กรุงเทพ - เกษมราษฎร์’ นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก และโนวาแวกซ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ขณะเดียวกันมติเห็นชอบการใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีนของไทย’ จากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น เชื่อได้ว่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% – 3.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3% – 5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% - 1%

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านี้ จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่...

1.) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ

2.) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตามในปี 2021 แนวโน้มเศรษฐกิจของโลก และของไทย กำลังจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุด ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา แต่จะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติแค่ไหน จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบเศรษฐกิจอย่างเฉิดฉายเพียงใด อีกไม่ช้านี้ คงได้ทราบกัน...


แหล่งที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-52291254

https://www.jsccib.org/th/news/view/350

https://www.prachachat.net/economy/news-623456

https://www.prachachat.net/marketing/news-623170