Saturday, 5 April 2025
สถาพร บุญนาจเสวี

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ขอบเขตสุดซับซ้อนแห่ง 'โลกนรก' ใต้ความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ 'หลากขุม-คลุมหลากบาป' เตือนใจยามดำรงชีวี ให้หมั่นทำแต่ความดี

(22 ก.ย. 67) วันนี้ขอนำเข้าเรื่องจากการเข้าวัดของผม โดยอุปนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเข้าวัด แต่ช่วงหลัง ๆ เข้าวัดน้อยลงไปมาก เนื่องจากภารกิจส่วนตัว ทีนี้ได้มีโอกาสได้อ่านถึงเรื่องราวของวัดที่มีรูปปั้นจำนวนมากที่แสดงถึง นรก สวรรค์ เช่น วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี, วัดแสนสุข ฯ จ.ชลบุรี และ วัดป่าหลักร้อย จ.นครราชสีมา อย่าง 2 วัดหลังนี้ ทั้งชลบุรีและนครราชสีมา ผมได้เคยไปมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ถ้าไม่นับเรื่องของการหยอดทำบุญที่มีให้หยอดเยอะไปหมด ก็ไปอยู่หลายครั้ง 

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่พอจะยกมาเป็นอนุสตินั่นก็คือ การได้ระลึกถึงศีล การได้ระลึกถึงความดี การได้ระลึกถึงความตาย เพราะรูปปั้นเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นถึงผลจากกรรมต่าง ๆ ย้ำด้วยการนำเอาภาพทัศน์ของ 'นรก' มาเป็นกุศโลบายในการ 'ทำดี' ละเว้น 'ชั่ว' เพราะการ 'ทำชั่ว' มันเป็นหนทางไปสู่ 'นรก' 

จากตรงนี้แหละ ที่ผมอยากจะยกเอาเรื่องของ 'นรก' มาขยาย เล่าให้ทุกคนได้อ่าน เพื่อให้เราได้รู้จัก 'นรก' กันมากขึ้น...

เริ่มต้นกับคำที่คุ้นเคย นั่นคือคำว่า 'นรกอเวจี' ผมเชื่อว่าคำนี้หลายคนคงรู้จัก แต่คุณรู้หรือไม่? ความจริงแล้ว 'อเวจี' เป็นแค่ส่วนหนึ่งของนรกเท่านั้น (ก่อนอื่นต้องบอกว่า 'นรก' ที่ผมยกมาเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนใครจะมีนรกแบบไหน หรือเชื่อ / ไม่เชื่ออย่างไรแล้วแต่วิจารณญาณนะครับ) 

ทีนี้ถ้าอเวจีคือ ส่วนหนึ่งของนรก แล้วโลกของ 'นรก' หรือ 'นรกภูมิ' ในศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร ? 

'นรกภูมิ' คือ ดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิดในนรก และถูกลงโทษตามคำพิพากษาของพญามัจจุราช จาก 'ไตรภูมิกถา' นรกภูมิเป็นดินแดนหนึ่งในกามภพ อันเป็นหนึ่งในภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ รวมเรียกว่า 'ไตรภพ' หรือ 'ไตรภูมิ'

นรกของพระพุทธศาสนาต่างจากนรกของศาสนาอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น ในศาสนาฝั่งตะวันตกนั้นเชื่อว่าเมื่อเราตายไป ทุกคนจะต้องไปรับคำพิพากษาในนรกภูมิ ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของพระเจ้า ไม่ใช่แค่เป็นเพราะบาปกรรมที่ตนได้กระทำเมื่อมีชีวิต หรืออย่างเรื่องระยะเวลาในการถูกลงโทษในนรก จะเป็นไปตามโทษานุโทษซึ่งอาจจะกินเวลานาน แต่ไม่ได้ยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ เมื่อพ้นโทษจากนรกแล้วจะได้กลับไปเกิดในโลกที่สูงขึ้นตามแต่กรรมดีที่ได้กระทำไว้หรือตามแต่ผลกรรมที่เหลืออยู่ แล้วแต่กรณี 

สำหรับ คติไตรภูมินั้น 'โลกนรก' หรือ 'นิรยภูมิ' เป็นส่วนหนึ่งของอบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 อันประกอบด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา มีนรกอีกหลายขุมซ้อนทับกันหลายชั้น แต่ละชั้นก็มีนรกบริวารรวมอีกนับร้อย โดยมี 'นิรยบาล' เป็นผู้ควบคุมการลงทัณฑ์ 

นิรยภูมิจะแบ่งออกเป็น 'มหานรก' หรือ 'นรกขุมใหญ่' ทั้งหมด 8 ขุม ตั้งซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ และแยกกันอย่างชัดเจนอยู่ลึกลงไปใต้โลกมนุษย์ เรียงจากชั้นบนสุดลงไปยังชั้นล่างสุด แต่ละขุมของมหานรกสามารถแบ่งตามโทษจากเบาสุดไปจนถึงหนักสุดได้ดังนี้...

1.) 'สัญชีวนรก' หรือ 'นรกไม่มีวันแตกดับ' เป็นนรกสำหรับผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์นรกจะถูกทรมานจากนิรยบาลด้วยสารพัดวิธีจากคมอาวุธจนตาย ก่อนที่ 'ลมกรรม' พัดมา ทำให้คืนชีพมารับโทษทัณฑ์ต่อ ต้อง เกิด-ตาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นจนครบอายุขัย อายุของสัตว์นรกในสัญชีวนรก คือ 500 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีโลกมนุษย์

2.) 'กาฬสุตตนรก' หรือ 'นรกเส้นด้ายดำ' เป็นนรกสำหรับผู้ที่ทำร้ายผู้มีพระคุณหรือทำลายชีวิตสัตว์โลก สัตว์นรกในขุมนี้จะถูกตีด้วยด้ายดำจนเป็นเส้นตามร่างกาย ก่อนจะถูกเฉือนด้วยคมอาวุธตามรอยนั้น อายุของสัตว์นรกในกาฬสุตตนรก คือ 1,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 3 โกฏิ (1 โกฏิ เท่า 10 ล้าน) กับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

3.) 'สังฆาฏนรก' หรือ 'นรกบดขยี้' เป็นนรกสำหรับผู้ที่ไร้ความเมตตา ชื่นชอบการทารุณกรรม สัตว์นรกในขุมนี้จะถูกกระหน่ำตีด้วยค้อนเหล็กแล้วบดทับด้วยลูกไฟกับภูเขาเหล็ก อายุของสัตว์นรกในสังฆาฏนรก คือ 2,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 14 โกฏิกับอีก 5 ล้านปีโลกมนุษย์

4.) 'โรรุวนรก' หรือ 'นรกแห่งเสียงคร่ำครวญ' เป็นนรกสำหรับเหล่าคนโลภ ฉ้อโกง ร่างของสัตว์นรกขุมนี้ จะถูกตรึงให้นอนคว่ำหน้า หัว มือ และเท้าจมอยู่ในดอกบัวเหล็กที่เปลวเพลิงลุกท่วม ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่ตาย อายุของสัตว์นรกในโรรุวนรก คือ 4,000 ปี โดย 1 วันของนรกขุมนี้เท่ากับ 23 โกฏิกับอีก 4 ล้านปีโลกมนุษย์ 

5.) 'มหาโรรุวนรก' หรือ 'นรกแห่งเสียงคร่ำครวญอย่างยิ่งยวด' เป็นนรกสำหรับคนจิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต ทำความชั่วทั้งหลายด้วยจิตอาฆาตพยาบาท ดอกบัวเหล็กของนรกขุมนี้จะเพิ่มคมตามกลีบดอก โดยสัตว์นรกต้องจมอยู่ในดอกบัวเหล็กทั้งตัว อายุของสัตว์นรกในมหาโรรุวนรก คือ 8,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 921 โกฏิกับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

6.) 'ตาปนรก' คือ 'นรกแห่งความร้อนรุ่ม' เป็นนรกสำหรับคนบาปที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และความเห็นแก่ได้ สัตว์นรกขุมนี้จะถูกหลาวเหล็กแท่งใหญ่ราวต้นตาลเสียบพร้อมเปลวไฟพวยพุ่ง ก่อนถูกสุนัขนรกฉุดกระชากลงมากิน อายุของสัตว์นรกในตาปนรก คือ 16,000 ปี โดย 1 วันนรกเท่ากับ 1,842 โกฏิกับอีก 12 ล้านปีโลกมนุษย์

7.) 'มหาตาปนรก' คือ 'นรกแห่งความร้อนรุ่มอย่างยิ่งยวด' เป็นนรกสำหรับผู้ที่เคยฆ่าคนและฆ่าสัตว์เป็นหมู่มาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น สัตว์นรกในขุมนี้ต้องอยู่ในกำแพงและภูเขาเหล็กที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พร้อมลมกรดพัดพาร่างไปโดนหนามเสียบ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ ครึ่งกัลป์ (1 กัลป์ เท่ากับระยะเวลาที่อายุของมนุษย์ไขลงจากอสงไขยปี จนถึง 10 ปี แล้วไขขึ้นจาก 10 ปี จนถึงอสงไขยปีอีกรอบ ครบ 1 คู่ เรียกว่า 1 กัลป์ ซึ่งอสงไขยปีเท่ากับเลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์ 140 ตัว)

8.) 'อเวจีนรก' คือ 'นรกอันแสนสาหัสไร้ความปรานี' เป็นมหานรกที่ลึกและกว้างใหญ่ที่สุด เป็นนรกสำหรับผู้ทำกรรมหนักอย่างหาที่สุดมิได้ เช่น ฆ่าบุพการี ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก ขุมนรกขุมนี้ ล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญตามกรรมของตน ด้วยอิริยาบถต่างๆ ทั้ง นั่ง ยืน หรือนอน อยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยม โดยมีหลาวเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้อยู่กับที่ ไม่สามารถขยับร่างกายได้ อายุของสัตว์นรกในอเวจีนรก คือ 1 กัลป์

นอกจาก 'มหานรก' ทั้ง 8 ขุมแล้ว ในแต่ละขุมยังมี 'ยมโลกนรก' อยู่อีก 320 ขุม ใน 4 ทิศ ของมหานรก แบ่งไปทิศละ 10 ขุม เรียกว่า 'อุสสทนรก' ดังนี้... 

1.) 'คูถนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยหนอนตัวใหญ่คอยกัดกินสัตว์นรกที่ผ่านเข้ามา
2.) 'กุกกุฬนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยเถ้าถ่านคอยเผาสัตว์นรกให้กลายเป็นจุณ
3.) 'อสิปัตตนรก' คือนรกที่มีต้นมะม่วงใหญ่หลอกล่อให้สัตว์นรกมาพักพิง แต่อย่าหวังจะได้พัก เพราะใบมะม่วงจะกลายเป็นหอกหล่นลงมาแทงสัตว์นรกเบื้องล่าง พอจะหนี ก็จะมีกำแพงเหล็กติดเปลวเพลิงขวางกั้นพร้อมสุนัขนรกและแร้งนรกคอยรุ่มฉีกกินสัตว์นรก
4.) 'เวตรณีนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยน้ำเค็มและเครือหวายหนามเหล็กล้อมสัตว์นรก ซึ่งหนามจะทิ่มแทงให้เกิดแผล นอกจากนั้นยังมีไฟลุกท่วมอยู่กลางน้ำกับดอกบัวกลีบคมที่มีเปลวเพลิงติดอยู่ตลอด โดยมีนิรยบาลใช้เบ็ดเกี่ยวลากขึ้นมาบนฝั่งเพื่อทำทัณฑ์ทรมานไปเรื่อย ๆ 

นอกจาก 'นรก' ที่อยู่ใต้โลกมนุษย์อย่าง 'นรกอเวจี' แล้วนั้น ยังมีนรกที่อยู่ไกลออกไปจากโลก ติดเชิงเขาจักรวาลอันไกลโพ้นเรียกว่า 'โลกันตนรก' เป็นมหานรกอีกขุมหนึ่ง ซึ่งเปิดรับผู้ที่กระทำทรมานบุพการีหรือทำร้ายผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ 

ใน 'โลกันตนรก' มีสภาพมืดสนิท ไม่มีแสงดาว แสงเดือน หรือแสงตะวัน สัตว์นรกจะมีสภาพเสมือนคนหลับตาในเดือนดับข้างแรม สัตว์นรกที่มาเกิดในโลกันตนรก จะมีสภาพแปลกประหลาด มีสรีระร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือและเล็บเท้ายาว ต้องใช้เล็บมือและเท้าเกาะอยู่ตามเชิงเขาจักรวาลห้อยโหนโยนตัว โดยเอาหัวลงมาข้างล่างชั่วนิรันดร์และต้องทรมานอยู่ในความมืด หากพลัดตกลงจากเขา ก็จะไปตกในทะเลดำซึ่งเป็นน้ำกรดอันเย็นเฉียบ ทำให้ต้องรีบตะเกียกตะกายปีนกลับขึ้นไปห้อยโหนเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า 'นรก' ในทางศาสนาพุทธที่ผมเล่ามานั้น มีความซับซ้อนมากมายหลากหลายขุม ครอบคลุมสัตว์นรกผู้กระทำบาปแตกต่างกันไป แม้เรื่องของ 'นรก' อาจจะเป็นเพียงกุศโลบายที่ถูกบันทึกไว้เตือนใจ ในการดำรงตนให้อยู่ในศีลอันปกติ แต่อย่างน้อยการเตือนใจนี้ ก็ทำให้ชาวพุทธอย่างเราได้ระลึกอยู่เสมอว่า ในยามมีชีวิตอยู่นั้น เราควรกระทำแต่ความดี เมื่อจากไปแล้วจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกนรก ไม่ว่าจะขุมไหนก็ตาม

'พระนิรันตราย' พระผู้ 'ปราศจากอันตราย' พระพุทธรูปสำคัญสมัย 'รัชกาลที่ ๔'

‘พระนิรันตราย’ พระสำคัญของชาติอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน 'องค์เดิม' (องค์เดิมอยู่ด้านในก่อนสร้างอีกองค์ใหม่ / องค์นอก) เป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๕ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว องค์สูง ๔ นิ้ว ขัดสมาธิเพชร ข้อพระบาทไขว้กันอย่างหลวม ๆ พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้าย 

ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์ค่อนข้างกว้าง พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศา มีเกตุมาลาอยู่เบื้องบนปราศจากรัศมี องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาของอุตราสงค์พาดผ่านข้อพระกรซ้าย ประทับนั่งบนปัทมาสน์ (ฐานดอกบัว) มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายประกอบทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ซึ่งฐานปัทมาสน์นี้ได้สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง

ใน 'ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ไปพบขณะขุดหามันนกในบริเวณชายป่าห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น พบเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ จึงได้นำมามอบให้ 'พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ' ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา โดยขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธจึงบอกกรมการเมืองและ 'พระยาวิเศษฤๅไชย' เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และ ๒ พ่อลูก โดยมีบันทึกไว้ว่า...

“สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจมาทูลเกล้าฯ ถวาย…” พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล ๗ ชั่ง แล้วมีพระบรมราชโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประดิษฐานไว้

จากนั้นจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ อีกหลายองค์ โดยที่พระทองคำองค์นี้ยังไม่มีพระนามใด ๆ 

ที่มาแห่งชื่อ 'นิรันตราย' นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ เกิดมีขโมยได้มาลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไปถึงในหอพระ แทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า และอยู่คู่กัน พระองค์ทรงมีพระราชดำริความว่า “พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักเอาองค์ใหญ่ไป แต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง” พระองค์จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำว่า 'พระนิรันตราย' แปลว่า 'ปราศจากอันตราย' และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้ 

โดยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบส่วนให้ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' และกลุ่มช่างในพระองค์ หล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชรให้ต้องตามพุทธลักษณะด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่ง และให้หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์เป็นคู่กัน โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนามว่าพระนิรันตรายทุกองค์ เฉพาะองค์ทองคำให้เชิญไปประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีทำบุญตรุษตัดส่งปีเก่า) พระราชพิธีสงกรานต์ 

ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อาทิ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น  

กลับมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ กันต่อ นอกจากพระองค์จะทรงหล่อ พระองค์ใหม่ / องค์นอก ครอบพระองค์เดิมแล้วนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันพระนิรันตราย (องค์นอก) เนื้อทองเหลือง มีลักษณะเพิ่มเติมจากพระนิรันตรายเดิม คือ ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท 'อิติปิโส ภควา' ๙ วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค ซึ่งศีรษะโค แสดงเครื่องหมายพระสกุล 'โคตมะ' ของพระพุทธเจ้า จัดสร้างขึ้นจำนวน ๑๘ องค์เท่ากับปีที่ครองราชย์ เพื่อพระราชทานพระอารามฝ่ายธรรมยุต จำนวน ๑๘ แห่ง แต่ยังไม่กะไหล่ทองก็สวรรคตเสียก่อน 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จและนำไปพระราชทานยังวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก โดยวัดทั้ง ๑๘ แห่ง ได้แก่...

๑.วัดบวรนิเวศวิหาร 
๒.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 
๓.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 
๔.วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา 
๕.วัดนิเวศธรรมประวัติฯ จ.พระนครศรีอยุธยา 
๖.วัดบรมนิวาส 
๗.วัดมกุฏกษัตริยาราม 

๘.วัดเทพศริรินทราวาส 
๙.วัดโสมนัสวิหาร 
๑๐.วัดราชาธิวาส 
๑๑.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี 
๑๒.วัดปทุมวนาราม 
๑๓.วัดราชผาติการาม 
๑๔.วัดสัมพันธวงศาราม 
๑๕.วัดเครือวัลย์ 
๑๖.วัดบุปผาราม 
๑๗.วัดบุรณศิริมาตยาราม 
๑๘.วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี

สำหรับท่านที่อยากไปสักการะพระนิรันตรายนั้นสามารถไปได้ตามรายชื่อวัดดังกล่าว เพียงแต่อาจจะต้องสอบถามก่อนว่าเปิดให้เข้าสักการะหรือไม่ 

เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่าน ๆ ได้เข้าไปสักการะองค์พระแล้ว ก็จะได้ 'ปราศจากอันตราย' เช่นเดียวกับนามขององค์พระ

ความเชื่อเรื่องเคราะห์ร้ายและอัปมงคล เหตุจากคนหรือจากเคราะห์กรรม

'303' กลัว กล้า อาฆาต ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องหนึ่งในช่วงยุค 90 (ปี 2541) ใครที่เกิดไม่ทันคงจะงง งง เพราะนี่คือชื่อภาพยนตร์ไทยที่รวบรวมดาราวัยรุ่นในยุคนั้นมาเล่นหนังสยองขวัญ ซึ่งนักแสดงที่ยังคงมีงานแสดงอยู่ในวงการและคนยุคนี้พอจะรู้จักก็มี อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และ ชาย ชาตโยดม 

ส่วนหนังสยองขวัญในยุค 2000 (ปี 2545) อีกเรื่องหนึ่งที่ชื่อแปลก ๆ ก็คือ '999-9999' ต่อติดตาย นำแสดงโดย ฮิวโก้ จุลจักร และ ศรีริตา เจนเซ่น คือชื่อเรื่องเอามาจากเบอร์โทรศัพท์ในยุคที่เรายังไม่มี Smart Phone เหมือนทุกวันนี้ 

ทั้งหมดทั้งมวลที่เกริ่นมาไม่มีอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ครับ แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่ตัวเลขที่เขานำมาผูกกับชื่อเรื่องต่างหาก ซึ่งผมจะชวนทุกท่านมาอ่านเรื่องราวของตัวเลขที่ผู้คนในประเทศไทยและในต่างประเทศยึดถือ ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นเลขอาถรรพ์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต 

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเรียบเรียงขึ้นมาอย่างสังเขปเพื่อให้ได้อ่านกันเพลิน ๆ ส่วนใครจะเชื่ออย่างไรนั้นแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลครับ

ตัวเลขอย่าง 303 หรือ 999-9999 เป็นตัวเลขสมมติที่ยังไม่ได้มีความเชื่ออะไรไปจับต้องมากนัก อาจจะมีเลข 9 ที่ ถือว่าเป็นเลขดีของไทยเรา 

แต่เลขที่มีความเชื่อว่าจะให้โทษ เป็นเลขร้าย ๆ มันมีอะไรบ้าง ซึ่งก่อนจะไปติดตามกันผมต้องบอกก่อนว่า 'จริงหรือไม่จริงทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคุณเอง'

เริ่มต้นด้วย '305' มีคนเขานำไปวิเคราะห์ด้วยหลักฮวงจุ้ยของจีน เลขนี้แปลว่า 'ไม่ - เกิด' ซึ่งก็เท่า 'ตาย' บางท่านเขาก็ว่า เลขนี้เป็นเลขผีเหมือนเลข 13 ของฝรั่ง เป็นเลขของช่วงเวลาที่ผีจะออกมามากที่สุดคือ 3.05 อีกทั้งยังมีเหตุการณ์พบศพคนตายอยู่ในห้อง 305 อยู่เนือง ๆ สุดท้าย ก็เลยกลายเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า 305 คือเลขร้าย แล้วคุณว่ามันร้ายจริงไหม? 

เลข '4' ตามความเชื่อของคนจีนถือเป็นเลขไม่เป็นมงคล คนจีนไม่ชอบเลข 4 เพราะออกเสียงคล้ายกับคำว่า 'ตาย' (ซี้) ซึ่งอันนี้ผมว่าเราก็น่าจะทราบกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เฉพาะแค่คนจีน เพราะเลข '4' ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ถือเป็นเลขไม่เป็นมงคลเช่นกัน เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่น 4 ออกเสียงเป็น 'ชิ' ซึ่งคำว่า 'ความตาย' ในภาษาญี่ปุ่นก็ออกเสียง 'ชิ' เช่นเดียวกัน (อันนี้มันคล้ายกันจริงไหม ผู้รู้มาตอบที) 

ต่อมาคือเลข 6 หรือ 666 ฝรั่งเขาว่ามันคือ เลขของซาตาน เป็นเลขอาถรรพ์ เป็นความวิตถาร และอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะมันโยงไปถึงความเจ็บป่วย (Sick) ที่มีเสียงพ้องกันกับเลข 6 (Six) แค่ต่างกันตรงท้ายเสียง (เออ!! ก็โยงไปได้) ส่วนพี่ไทยเขาก็ถือว่าเลข 6 นั้นไม่ค่อยดี เนื่องจากเวลาออกเสียงคำออกมา มันไปพ้องกับความไม่เป็นมงคลคือ หก ตก ล้ม หล่น อะไรแบบนั้น ผิดกับชาวจีนที่เลข 6 คือเลขแห่งความราบรื่น 

เลข 7 ตามความเชื่อของคนไทยถือว่าไม่เป็นมงคล ด้วยความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่ว่า 'โทษทุกข์ ทายเสาร์' เลข 7 จึงเป็นเลขแห่งความทุกข์ทั้งหลาย (อันนี้ผมเคยได้ยินคนทำนายทายทักอยู่) ที่สำคัญเลข 7 มีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎี The seven year itch โดยเขาระบุว่าหากคู่ใดก็ตามที่เป็นแฟนกันมาแล้ว 7 ปี หากยังไม่แต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน จะต้องมีเหตุให้เลิกรา (อันนี้ถูกนำไปโยงหลายเรื่องอยู่) แต่กลับกันถ้าคุณเป็นนักพนัน เลข 7 คือเลขนำโชคของคุณ 

เลข 8 ตัวเลขที่ใคร ๆ เขาก็ว่าดี แต่เมื่อเบิ้ลตัวเลขกลายเป็น '88' ฝรั่งเขาถือว่าเป็นตัวเลขของ 'พรรคนาซี' ผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสมาชิกพรรคจะตะโกนคำว่า Heil Hitler เพื่อแสดงความสดุดีต่อท่านผู้นำ ทีนี้เมื่อมีคนคิดเยอะนำเอามาเขียนเป็นตัวย่อในภาษาอังกฤษจะได้เป็น 'HH' ซึ่งดูคล้ายเลข '88' ทั้งตัวอักษร H เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษในลำดับที่ 8 เหล่า 'นีโอนาซี' จึงประยุกต์นำเอาตัวเลข 88 มาใช้เพื่อสื่อถึงความภักดีต่อ 'นาซี'

เลข 9 คนไทย คนจีน เขาว่าดี แต่เลข 9 ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น กลับไม่เป็นมงคล เนื่องจากเลข 9 ในภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า 'คุ' ซึ่งพ้องเสียงกับคำที่หมายถึง 'ความยากลำบาก' ในภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจึงถือว่าเลข 9 เป็นเลขที่ไม่ดี 

เลข 11 เป็นเลขแห่งจุดจบ ซึ่งโยงมาจากเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 เดือน 9 ปี 2001 (พ.ศ.2544) เครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกแฝดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่มีลักษณะคล้ายเลข 11 ในเที่ยวบินที่ 11 และยังมีอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเลข 11 จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเลขที่ไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องมารำลึกถึงการสูญเสียในเหตุการณ์ 9/11 ดังกล่าว 

13 เลขแห่งความโชคร้ายที่สุดของฝรั่ง ยิ่งถ้าเป็นวันศุกร์ 13 นี่ยิ่งอัปมงคลสุด ๆ ด้วยชาวคริสต์มีความเชื่อว่าเลขนี้เกี่ยวเนื่องกับอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ที่เรียกกันว่า 'เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์' (The Last Supper) ที่มีสาวกร่วมโต๊ะกับพระเยซูคริสต์รวม 13 คน พ่วงด้วยความเชื่อว่าวันศุกร์เป็นวันโชคร้ายเพราะเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขน ผนวกกับมันเป็นวันที่ 'อดัมกับอีฟ' กัดแอปเปิ้ลต้องห้ามของพระผู้เป็นเจ้าในสวนเอเดนจนต้องถูกขับไล่ออกมา ทั้งยังเชื่อว่าเป็นวันที่ 'อดัมกับอีฟ' ตายจากโลกอีกด้วย ฉะนั้นพอเลข 13 รวมกับวันศุกร์ จึงเป็นวันที่เลวร้ายมากสำหรับฝรั่งเขา 

แต่เรื่องเลข 13 นี้เป็นความเชื่อที่ลามไปทั้งโลก เช่น อาคารต่าง ๆ เกือบทั่วโลกจะไม่มีชั้น 13 นักเดินเรือจะไม่ยอมออกเดินเรือในวันที่ 13 จนหนักขนาดที่มีกลุ่มคนที่กลัวเลข 13 จนกลายเป็นโรคทางจิตที่เรียกว่า 'ไตรสไกเดกา โฟเบีย' (Triskaideka Phobia) ไม่มงคลไม่เท่าไหร่ แต่กลัวจนเป็นโรคอันนี้ก็เกินไป 

เลข 17 ตัวเลขที่ชาวอิตาลีเชื่อว่า อัปมงคลพอ ๆ กับเลข 13 เพราะเมื่อเขียนเลข 17 ในแบบโรมันจะได้ 'XVII' พอสลับตัวอักษรจะได้ 'VIXI' ซึ่งพ้องกับคำว่า 'VISSI' ซึ่งมีความหมายว่า 'ฉันเคยมีชีวิตอยู่' แปลตรง ๆ ก็คือ “ฉันได้ตายไปแล้ว” ซึ่งมักปรากฏอยู่ป้ายหลุมศพของชาวโรมัน ซึ่งอาคารต่าง ๆ ในอิตาลีนั้นมักจะไม่มีชั้น 17 สายการบินหลายสายของอิตาลีจะไม่มีที่นั่งหมายเลข 17 โรงแรมหลายแห่งไม่มีห้องหมายเลข 17 อันนี้เขาเล่ากันว่าลามไปถึงรุ่นของรถยนต์ เช่น รถฝรั่งเศสยี่ห้อเรโนลต์ รุ่น R17 พอไปขายในอิตาลีต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นเป็น R177 ฯลฯ 

อายุ 25 'เบญจเพส' ตามคติพราหมณ์คัมภีร์พฤติกรรมศาสตร์เขาว่า “บุรุษใดต้องเบญจเพส หมายถึง การเข้าสู่โชคและเคราะห์ที่รุนแรงไม่ทางบวกก็เป็นลบต่อชีวิต” แต่จะดีหรือไม่ดีมันก็คงแล้วแต่จังหวะของชีวิตล่ะครับ ต้องมีสติ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม (25 หรือ เบญจเพส นี้ 'ไม่เกี่ยวข้องกับสตรี' นะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าไม่เกี่ยวกับสาว ๆ) 

วันที่ 26 'วันแห่งแผ่นดินไหว' ที่มีคนโยงไปเชื่อมโยงกับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิด 'คลื่นยักษ์สึนามิ' ในภาคใต้ฝั่งอันดามันของบ้านเราเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าที่แผลในจิตใจของคนทั้งโลกจะกลับมาหายดี 

จากตัวเลขไม่ดีทั้งหมดที่เล่ามา คุณจะเห็นได้ว่าบางตัวเลข บางประเทศถือว่าเป็นเลขที่ดี บางตัวเลขไม่มีผลหรือเกี่ยวข้องกับเขาเลย บางตัวเลขเป็นเลขของเหตุการณ์ที่เป็นแผลในใจมากกว่าจะเป็นเลขอัปมงคล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความเชื่อด้านตัวเลขมันก็ย่อมต้องมีอิทธิพลต่อคนเราไม่มากก็น้อย ทั้งนี้แล้วแต่ความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเขียนเล่ามาถึงตรงนี้ก็คือ

ตัวเลขไม่ว่าจะดีหรือร้ายแค่ไหน กรรมหรือการกระทำต่างหากคือเครื่องกำหนดชีวิตของเรา

'หม่อมไกรสร' ไพรีผู้พินาศ ประมาทเพราะอำนาจ กำเริบน้อยไปถึงมาก พาชีวิตพลาดจนตัวตาย

หากจะพูดถึงเจ้านายที่ชีวิตขึ้นสุด ลงสุดคือ มีอำนาจวาสนาถึงสูงสุด มียศศักดิ์ได้ทรงกรมถึง 'กรมหลวง' ร่วงลงต่ำสุด จนถูกถอดยศเหลือแค่ 'หม่อม' ก่อนถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร นั้นถือได้ว่าเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาก ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มเข้ารูปเข้ารอย และเจ้านายเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับกิจการบ้านเมือง 

พระองค์เจ้าไกรสรเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้เข้ามามีส่วนในการจัดระเบียบพระสงฆ์ ส่งเสริมกิจการของพระพุทธศาสนา ได้กำกับ 'กรมสังฆการี' ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและพระราชศรัทธาของพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ที่ได้สถาปนาให้ทรงกรม โดยแรกได้ทรงกรมที่ 'กรมหมื่นรักษ์รณเรศ' เคียงคู่กับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ ๒ คือ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' ซึ่งกาลต่อมาก็คือ 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๓ เรียกได้ว่าทรงงานคู่กันมาตลอดรัชกาล แม้จะมีศักดิ์เป็น 'พระปิตุลา' หรือ อา ของรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าทั้งสองพระองค์มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกัน ร่วมงานกันมาอย่างยาวนานต่อเนื่องเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนยากของ ร.๓ เลยก็ว่าได้ 

พระองค์เจ้าไกรสร เป็นกำลังสำคัญในการก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาชของรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะนอกเหนือจากบุญญาบารมีทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ ๓ แล้ว พระองค์เจ้าไกรสรทรงเป็นโต้โผหลักร่วมกับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อาทิ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, กรมหมื่นศักดิพลเสพ, เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค), พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ในการสนับสนุนให้ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' ซึ่งกาลต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ให้ต้องพลาดจากราชบัลลังก์ ทั้งยังตั้งตัวเป็นศัตรูมาอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกว่า 'จองเวร' ก็ว่าได้ 

เริ่มต้นความเป็น 'ไพรี' หรือ 'ศัตรู' ของพระองค์เจ้าไกรสรที่มีต่อ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' นั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งเมื่อรัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะพระองค์เป็นหนึ่งในโต้โผตามที่กล่าว ทั้งยังแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการ 'หน่วงเหนี่ยว กักขัง' 'วชิรญาณภิกขุ' ซึ่งผนวชมาก่อนสวรรคตราว ๒ สัปดาห์ 

เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต ก็ได้ลวงว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเผ้า ฯ แต่เมื่อมาถึงพระราชวังหลวงกลับถูก 'กักบริเวณ' เพื่อจัดการเรื่องผู้สืบราชสมบัติเสร็จสิ้นเสียก่อน ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว แล้วแจ้งความจริงแก่พระองค์ (ดีที่พระองค์ทรงเตรียมใจด้วยทรงปรึกษาเรื่องการขึ้นครองราชย์มาก่อนแล้ว โดยเจ้านายผู้ใหญ่ที่นับถือทรงบอกกล่าวแล้วว่ายังมิควร เรื่องนี้จึงช่วยได้เยอะ) 

จากนั้นเมื่อทรงทราบทุกเรื่องแจ้งตลอดแล้วจึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ แต่ก็ทรงโดนพระองค์เจ้าไกรสรเข้าประกบพร้อมทรง 'ข่มขู่' จาก 'บันทึกความทรงจำ' พระยาสาปกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ระบุไว้ว่า “พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไป พอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลําดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทําอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทําอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน” 

นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอย่างยาวนานกว่า ๒๗ พรรษา

ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 'พระองค์เจ้าไกรสร' ได้รับการสถาปนาให้เป็น 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ทรงกำกับกรมวัง มีหน้าที่ตัดสินคดีความ คุมเบี้ยหวัดของพระราชวงศ์และขุนนาง ทรงคุม 'กรมสังฆการี' อยู่ในกำมือ เรียกว่ามีอำนาจอิทธิพลมาก นั่นทำให้พระราชวงศ์หลายพระองค์ต้องทรงมีอาการหมางเมินต่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ด้วยความกริ่งเกรง 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นั่นเอง 

แต่ถึงจะครองเพศบรรพชิตก็ใช่ว่าจะแกล้งไม่ได้ 'พระวชิรญาณภิกขุ' ขึ้นชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา มีภูมิรู้ทางภาษาบาลีอย่างเอกอุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบในด้านนี้ของพระองค์ วันหนึ่งจึงทรงอาราธนาพระองค์เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมสนามหลวงโดยมีรัชกาลที่ ๓ ทรงเสด็จฯ ออกทรงฟังการสอบความรู้พระปริยัติธรรมด้วยทุกวัน ซึ่งปรากฏว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' แปลบาลีได้อย่างไม่ติดขัดจนถึงประโยคที่ ๕ เมื่อผ่านพ้นการแปลในประโยคนี้รวม ๓ วัน ก่อนจะขึ้นในวันใหม่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ก็ได้เข้ามาทรงทักท้วงกับ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม กลางที่ประชุมกรรมการแปลโดยเสียงที่ได้ยินกันทั่วว่า...

"นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน" คืออารมณ์ว่าจะปล่อยให้แปลไปสบาย ๆ แบบนี้ได้ยังไง จน 'พระวชิรญาณภิกขุ' ต้องทูลฯ รัชกาลที่ ๓ ขอหยุดแปล ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบก็ไม่ทรงขัดศรัทธา อีกทั้งยังทรงพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติชั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยให้ทรงถือ ก็แสดงให้เห็นชัดว่า ร.๓ ท่านไม่ได้ทรงขุ่นข้องหมองใจใด ๆ ยกเว้นเพียง พระองค์เจ้าไกรสรที่ยังทรงคิดรังควานต่อไป 

เมื่อเล่นงานตรง ๆ ไม่ได้เพราะ ร.๓ ไม่ทรงเล่นด้วย พระองค์เจ้าไกรสร ก็หันมาปล่อยข่าวปลอม สืบเนื่องจากความเป็นปราชญ์ในด้านบาลีของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ อีกทั้งยังทรงเป็นนักศึกษา นักค้นคว้า ทำให้มีผู้คนไปนมัสการพระองค์ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ซึ่งพระองค์จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการปล่อยข่าวว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' ซ่องสุมผู้คนเพื่อหวังผลทางการเมือง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบเข้าจึงให้ย้ายพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ ๒๓๗๙ เพื่อให้พ้นข้อครหา

ปล่อยข่าวปลอมไม่สำเร็จงั้นก็แกล้งอย่างอื่นต่อ หลังจากที่ 'พระวชิรญาณภิกขุ' มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ได้ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งการนุ่งห่มก็เรียบร้อย พระภิกษุต้องสำรวมขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดที่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นำมากลั่นแกล้งได้อีก โดยคราวนี้พระองค์ให้คนในสังกัดไปดักรอใส่บาตรพระธรรมยุติ โดยสิ่งที่ใส่ในบาตรคือ 'ข้าวต้ม' ร้อน ๆ คือ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในสมัยก่อนยังไม่มี 'ถลกบาตร' หรือ 'สลกบาตร' ซึ่งเสมือนถุงที่ใส่บาตรให้พระได้ถือกันร้อน มีแต่เชิงบาตรไว้ตั้งเมื่อรับบาตรเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโยมในสังกัดของ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ตักบาตรข้าวต้มร้อนๆ แก่พระธรรมยุติ พระท่านก็ปฏิเสธไม่ได้ แถมยังต้องสำรวม ในการรับบาตรนี้พระทั้งหลายก็มือพอง แขนพอง กลับวัดกันไป นี่ก็อีกหนึ่งวิบากที่ร่ำลือกันถึงความ 'จองเวร' จาก 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' 

แต่มีอำนาจก็เสื่อมอำนาจได้ หากมิมีคุณธรรมควบคุมตนกรณีของ พระองค์เจ้าไกรสรก็เช่นกัน พระองค์ทรงมีความหวังว่าพระองค์จะได้เป็นวังหน้าในครั้งที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงทิวงคต อีกทั้งยังทรงกระทำการด้วยอำนาจบาตรใหญ่หลายเรื่อง เช่น การตัดสินคดีความอย่างลำเอียงด้วยเห็นแก่สินบน ซ่องสุมผู้คนอย่างมิเหมาะควร กระทำตนเยี่ยงพระมหากษัตริย์ในงานลอยประทีป ณ กรุงเก่า และเมืองเขื่อนขันธ์ ซึ่งมีผู้คนเห็นกันอย่างถ้วนทั่ว หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนพระองค์ที่ทรงมิได้ร่วมหลับนอนกับพระชายาหรือหม่อมห้ามในวัง แต่กลับไปคลุกอยู่กับคนโขนละครซึ่งเป็นชายแต่โปรดฯ ให้แต่งกายเป็นหญิง ซึ่งนับว่าออกลูกมั่นใจว่าไม่มีใครกล้าเป็น 'ศัตรู' กับพระองค์มากไปสักหน่อย 

จากเหตุดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ 'ไพรี' ของพระองค์ จึงเริ่มขึ้นในรูปใบฏีกาที่ยื่นร้องทุกข์การปฏิบัติราชการและพฤติกรรมของพระองค์เป็นจำนวนมาก มากจนเกิดเป็นการจับกุมและต้องตั้งศาลเพื่อตัดสินคดีความของพระองค์ขึ้น ไล่จากเบาคือ เรื่องไม่บรรทมกับพระชายาหรือหม่อมห้าม ซึ่งเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยพระองค์ให้การว่า "ใช้มือกำคุยหฐาน (อวัยวะเพศ) ของกันและกันจนสุกกะ (น้ำกาม) เคลื่อนเท่านั้น" อีกทั้ง "การไม่อยู่กับลูกเมียนั้น ไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน" เรื่องทำตนเทียมกษัตริย์นั้น ในงานลอยประทีปนั้นก็มีมูลเพียงรับไว้บางส่วน 

แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงที่สุด มาหนักตรงเรื่อง 'กินสินบาทคาดสินบน' ซึ่งมีการพิสูจน์ได้หลายเรื่อง โดยเรื่องที่บันทึกไว้ก็มีเรื่องของ 'พระยาธนูจักรรามัญ' ซึ่งถวายฎีกาฟ้องพระองค์ว่าตัดสินคดีไม่ชอบ เมื่อตุลาการชำระความก็ปรากฏว่าผิดจริง นำไปสู่การรื้อการพิจารณาอีกหลายคดี ส่วนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือการซ่องสุมผู้คน ซึ่งว่ากันว่าขุนนางคนไหนที่มีไพร่พล หากยอมสวามิภักดิ์พระองค์ก็จะนับว่าเป็นพวก แต่ถ้าใครไม่ยอมก็จะจองเวรหาเรื่องเอาผิดอยู่เนือง ๆ ซึ่งเรื่องการซ่องสุมผู้คน พระองค์ทรงให้การว่า...

“พระองค์มิได้ทรงจะก่อการกบฏ แต่เป็นการเตรียมไว้หากจะมีการผลัดแผ่นดิน ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร" คือถ้ารัชกาลที่ ๓ สวรรคต ใครจะครองราชย์ต่อไม่ได้หากไม่ใช่พระองค์เอง ทั้งยังให้การกับตุลาการว่าหากได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะตั้ง 'กรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร์' เป็นวังหน้า ซึ่งคำให้การทั้งปวง ทำให้ตุลาการผู้ชำระความที่เป็นทั้งพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด

ไล่ ๆ กับที่ 'พระองค์เจ้าไกรสร' กำลังเริ่มโดนไต่สวน มีเกร็ดเล่าว่ามีผู้มาถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งแด่ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ ครั้นเมื่อได้มาแล้วบรรดาศัตรูผู้คิดปองร้ายแก่พระองค์ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตนเอง พ่ายลงไปเสียสิ้น พระองค์จึงถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า 'พระไพรีพินาศ' อันหมายถึงการสิ้นศัตรูในคราวแรก ทั้งยังทรงตั้งนามเจดีย์ศิลาเล็ก ๆ องค์หนึ่งว่า 'พระไพรีพินาศเจดีย์' อีกด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีค้นพบว่าในพระเจดีย์มีกระดาษแผ่นหนึ่งประทับตราสีแดงและปรากฏข้อความว่า "พระสถูปเจดีย์ศิลาบัลลังก์องค์ จงมีนามว่าพระไพรีพินาศ ตตเทอญ" และอีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำมาแล้ว คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" ซึ่งหากนับแล้วไม่เพียงแต่ พระองค์เจ้าไกรสร แต่ยังมีคณะบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องพินาศไป ซึ่งจะนำมาเสนอในบทความต่อ ๆ ไป 

กลับมาที่พระองค์เจ้าไกรสร เมื่อตุลาการพิจารณาเป็นความสัตย์ ในหลวงรัชกาลที่ ๓ จึงทรงให้ถอด 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ให้เหลือแต่เพียง 'หม่อมไกรสร' และตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า "…การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวรำลึกถึงความหลังดู ... ความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน…"

แต่เรื่องความ 'จองเวร' ของ 'หม่อมไกรสร' ก็จัดว่าไม่ธรรมดา แม้จะถูกตัดสินความผิดถึงประหาร จนในวาระสุดท้าย ที่ 'วชิรญาณภิกขุ' จะขอขมาเพื่อจะทรงยกโทษกรรมเวรที่ทรงกระทำต่อกันมาด้วยดอกไม้ธูปเทียน นอกจากหม่อมไกรสรจะไม่รับแล้ว ยังกลับไปกำทรายแล้วตอบกลับว่า "จะขอผูกเวรไปทุกชาติเท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย!!" ซึ่งเรื่องนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงประทานเล่าไว้ในคราหนึ่ง 

'หม่อมไกรสร' ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ขณะนั้นหม่อมไกรสรมีพระชันษาได้ ๕๖ ปี และนับเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้

เอกลักษณ์แห่งรัชสมัย ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ความหมายนัยแห่งองค์พระประมุข

‘ตราพระราชลัญจกร’ คือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อเริ่มต้นรัชกาลในแต่ละรัชกาล เพื่อทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระราชลัญจกรนี้ประกอบด้วยพระเอกลักษณ์อันเป็นนัยของแต่ละพระองค์ เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นพระประมุขของชาติ พระอิสริยยศ พระบรมเดชานุภาพ โดยผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ไล่เรียงจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้…

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปปทุมอุณาโลมมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ‘ด้วง’ จึงได้ใช้อักขระ ‘อุ’ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธยอยู่กลางล้อมรอบด้วยกลีบบัว อันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุตนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ฉิม’ ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติสถิตอยู่ ณ วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุตนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ นอกจากนั้นยังปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ เช่นเดียวกับในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘ทับ’ หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย ทรงใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ เช่นเดียวกัน 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางพระราชลัญจกรเป็นรูป ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘มงกุฎ’ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏในเงินพดด้วงและเงินเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระราชลัญจกรไปสลักหรือปั้นนูนเพื่อประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่พระองค์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางพระราชลัญจกรมีพระราชสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ คือพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ’ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่นสุริยกานต์ ข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่ง ‘ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน’ เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ประกอบด้วย ‘วชิราวุธ’ มีรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘วชิราวุธ’ ซึ่งหมายความถึง ‘ศัตราวุธของพระอินทร์’ เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวบริวาร ๒ ข้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทั้งยังใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ทรงให้ใช้ปักบนธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งยังเชิญไปประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรีเรียกว่า ‘พระราชลัญจกรพระแสงศร’ รูปพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศร ๓ องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ประชาธิปกศักดิเดชน์’ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า ‘เดชน์’ แปลว่า ‘ลูกศร’ ส่วนเบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีลักษณะเป็นรูปกลมโดยมีรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึง ‘แผ่นดิน’ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘อานันทมหิดล’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน’ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยินดีของประชาชนชาวไทย เปรียบประหนึ่งพระองค์เป็น ‘พระโพธิสัตว์’ เสด็จฯ มาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นรูปกลมรีแนวตั้ง ประกอบด้วยรูป ‘พระที่นั่งอัฐทิศ’ ประกอบด้วยวงจักร ตรงกลางจักรมีอักขระเป็น ‘อุ’ หรือ ‘เลข ๙’ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ซึ่งแตกต่างจากรัชกาลก่อน ๆ 
.
พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมพระราชทานนาม ‘ราชภัฏ’ แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหมายถึง ‘คนของพระราชา’ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือ ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีลักษณะเป็นรูปกลมรี โดยประกอบด้วย ‘พระวชิระ’ คือ เทพศาสตราของพระอินทร์ นอกจากนี้ยังแปลว่า ‘สายฟ้าและเพชร’ นอกจากนั้นยังมีแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยด้านบนของพระวชิระมี ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงแทนคำว่า ‘อลงกรณ์’ ซึ่งแปลว่า ‘เครื่องประดับ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ‘มหาวชิราลงกรณ’ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวารอยู่ทั้ง ๒ ข้าง 

พระราชลัญจกรนอกจากเนื้อหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้นยังเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระราชลัญจกรประจำรัชกาลต่าง ๆ ในมหาจักรีบรมราชวงศ์

ยลโฉมกระบวนพยุหยาตราและเรือพระที่นั่งประจำรัชกาล ลำใดสร้างขึ้นเมื่อไร ลำที่เท่าใด ลำใดปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว

ในช่วงนี้เราคงได้ชมภาพการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำเพื่อเตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่กำหนดการจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ซึ่งทุก ๆ ท่านคงจะได้รู้จักเรือพระที่นั่งสำคัญ อย่าง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ กันอยู่แล้ว แล้วท่านทราบหรือไม่ว่าเรือพระที่นั่งลำใดสร้างขึ้นในรัชกาลใดและเป็นลำที่เท่าไหร่ และเรือพระที่นั่งลำใดที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว 

ส่วนตัวผมได้เคยเป็นผู้จัดการแข่งขัน ‘เรือยาวขุด’ ประเพณีชิงถ้วยพระราชทานเมื่อหลายปีก่อน ซึ่ง ‘เรือขุด’ คือเรือยาวที่นำเอาต้นไม้ทั้งต้นมาขุด และผ่านกรรมวิธีเฉพาะแบบโบราณจนได้เรือยาวที่พร้อมลงน้ำในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นเรือชนิดใด ถ้าเป็นเรือที่ใช้เพื่อการสำคัญก็ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการสร้างแบบนี้ ซึ่ง ‘เรือขุด’ ที่ถือได้ว่างดงามและสำคัญที่สุดก็คือ ‘เรือพระที่นั่ง’ ในกระบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งในครั้งนั้นผมได้รวมรวมเนื้อหาเพื่อนำเสนอในนิทรรศการ ‘มหกรรมเรือยาวขุดประเพณี’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่ง’ ลำต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรือขุดโบราณที่ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญของชาติ ในครั้งนี้ผมจึงขอนำเอาเรื่องของเรือพระที่นั่งและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของแต่ละรัชกาล ที่เรียบเรียงในครั้งนั้นมานำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามกัน ดังนี้...

รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงจากกรุงธนบุรี มาฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์เป็นกระบวนหลวงซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างโบราณในการอัญเชิญพระแก้วมรกตแห่ข้ามฟากมาประดิษฐานเหนือบุษบกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งที่โปรดให้สร้างเพิ่มขึ้นใหม่ คือ เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งสวัสดิชิงชัย เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ เรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ เรือพระที่นั่งมณีจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทั้งยังซ่อมแซมเรือพระที่นั่งลำอื่น ๆ พร้อมด้วยเรือประกอบกระบวนอื่น ๆ เพื่อให้กระบวนเป็นไปอย่างพร้อมสมบูรณ์ 

รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค อย่างยิ่งใหญ่ในการเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐิน ปรากฏหลักฐานว่าทรงสร้างเรือพระที่นั่งเพียงลำเดียว แล้วพระราชทานนามว่า ‘เรือพระที่นั่งประจำทวีป’ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่สำคัญก็คือการอัญเชิญ ‘พระแก้วขาว’ หรือ ‘พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย’ พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๒ จากวัดเขียน นนทบุรี เข้ามาประดิษฐานบนพระแท่นทอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้ ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ เป็นเรือพระที่นั่งประจำพระองค์ เรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อทดแทนเรือพระราชพิธีลำเดิมที่ถูกทำลายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จัดเป็นเรือประเภทเรือพระที่นั่งเอกชัย หรือเรือชัย ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ เป็นชื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทาน เป็นเฉพาะของพระองค์ โดยแรกเริ่มนั้นใช้เป็นเรือพระที่นั่งนำเสด็จฯ ก่อนเรือพระที่นั่งทรง ซึ่งน่าจะเป็น ‘เรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์’ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ใน ‘ลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง’ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก่อนที่จะเปลี่ยนเรือพระที่นั่งตามที่ ‘ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค’ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้บันทึกไว้ว่า เรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค ได้ทรงเปลี่ยนเป็น ‘เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย’ โดยเรือลำนี้เป็นเรือที่มิได้มีการสร้างใหม่หรือซ่อมแซมให้กลับมาใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแต่อย่างใด ปัจจุบันยังเรือพระที่นั่งลำนี้ยังเก็บรักษาทั้งลำสภาพชำรุดไว้ที่โรงเก็บเรือแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็กกรมการขนส่งทางเรือ กองทัพเรือ 

รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารค ในวันพุธที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำรา โดยพระองค์เป็นพระองค์ที่ ๒ ที่เสด็จฯ ตามกระบวนนี้ โดยเรือพระที่นั่งสำคัญในรัชสมัยของพรองค์ก็คือ ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งชลพิมานชัย ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ต่อภายหลังพระองค์จึงได้ทรงเปลี่ยนมาใช้ ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ เป็นเรือพระที่นั่งทรงแทน ‘เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย’ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่ง ๑ ใน ๒ ลำที่มิได้มีการสร้างขึ้นใหม่หรือซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งแต่อย่างใด ปัจจุบันสามารถไปชมโขนของเรือพระที่นั่งลำนี้ได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๖ ดังปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๕ ครั้งหลังพุทธศักราช ๒๔๑๖’ แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกระบวนเรือมากนัก พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ในลำดับชั้นรอง เดิมนั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลำลอง แต่ต่อมาได้นำเข้าสู่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคโดยเรียกว่า ‘เรือพระที่นั่งรอง’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ เป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๕ เพราะนอกจาก ‘ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ ในช่วงปลายรัชกาลยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ ทดแทน ‘เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์’ ลำเดิมที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แต่มิทันเสร็จก็ทรงสวรรคตเสียก่อน 

รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากท่าราชวรดิฐไปยังวัดอรุณราชวรารามโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ โดยปรากฏอยู่ใน ‘จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่ง ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ นั้นแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์คือปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ พอดี ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ แทนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่มาเริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งกระบวนเรือได้ใช้ ‘เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช’ รัชกาลที่ ๖ มาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ 

รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงวางหลักเกณฑ์การจัดระเบียบกระบวนเรือสำหรับเสด็จฯ ทางชลมารคขึ้นใหม่ดังนี้...

กระบวนพยุหยาตราใหญ่ เดิมใช้ว่า ‘กระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่’ ใช้ในโอกาสพระราชทานพระกฐิน หรือในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค จัดเป็น ๔ สาย มีเรือนำกระบวนเป็นเรือพิฆาต เรือดั้ง เรือรูป สัตว์ เรือเอกไชย ๒๑ คู่ เรือพระที่นั่ง ๓ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๙ ลำ

กระบวนพยุหยาตราน้อย เดิมใช้ว่า ‘กระบวนพยุหยาตราอย่างน้อย’ โดยปรกติจัดในการพระราชทานพระกฐินทางชลมารค จัดเป็น ๒ สาย มีเรือนำกระบวน ๑๖ คู่ เรือพระที่นั่ง ๒ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๓ ลำ 

กระบวนราบใหญ่ทางชลมารค ๔) กระบวนราบน้อยทางชลมารค และ ๕) กระบวนราบย่อทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา โดยพระองค์เสด็จฯ เลียบพระนครทางด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (เป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่) ครั้งแรก เนื่องใน ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยเสด็จฯ จากท่าราชวรดิฐด้วย ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ ไปยังวัดอรุณราชวราราม เมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่าวัดอรุณฯ มีเรืออเนกชาติภุชงค์ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพลับพลา จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ถวายผ้าทรงสะพัก ทรงสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ก่อนจะเสด็จฯ คืนพระบรมมหาราชวัง โดยเสด็จฯ ลงประทับในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ด้วยกระบวนหยุหยาตราทางชลมารคเช่นเดิม อันเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยสมบูรณ์ ส่วนครั้งที่ ๒ นั้น เสด็จฯ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี เมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ 

รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มิได้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มิได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งอู่เรือพระที่นั่งปากคลองบางกอกน้อยเดิมถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ ในช่วงนี้จึงเน้นหนักในการซ่อมแซมเรือและป้องกันมิให้เรือพระที่นั่งถูกทำลายเสียหาย หลังจากนั้นได้มีการโอนเรือพระราชพิธี ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแล และนำไปเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อยซึ่งห่างออกมาจากที่เดิม และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง กองทัพเรือเก็บรักษาไว้ดังเดิม 

รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากพระราชพิธีในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลยจนมาถึงรัชกาลที่ ๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๕๐ ปี 

ซึ่งครั้งเรียกว่า ‘กระบวนพุทธพยุหยาตรา’ ซึ่งจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบางส่วน หลังจากนั้นก็ได้มีพระราชพิธีเสด็จฯ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งที่สำคัญและเป็นที่น่าจดจำ ก็คือการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เพื่อเฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในครั้งนี้ได้มีเรือพระพระที่นั่งลำใหม่ คือ ‘เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙’ 

ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ ในรัชกาลที่ ๙ นี้ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๑๕ ครั้ง และจัดกระบวนเรือพระราชพิธี จำนวน ๒ ครั้ง สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลที่ ๙ ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จฯ ไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ส่วนการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้ง ได้แก่ การจัดกระบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และอีกครั้งคือการจัดกระบวนเรือในโอกาสที่ สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และ ผู้แทนพระประมุขต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้งนี้เป็นเพียงการสาธิตการแห่กระบวนเรือซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จฯ ในกระบวนเรือด้วย

รัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นพิธีเบื้องปลาย ขึ้นในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ (เลื่อนจาก ๒๔ ตุลาคม ปีเดียวกันเนื่องจากกระแสนำของแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นการจัดรูปกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี พระราชวังดุสิต ไปยังท่าราชวรดิฐ พระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วยเรือพระราชพิธีจํานวน ๕๒ ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน ๒,๒๐๐ นาย แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ดังนี้...

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง ๔ ลำมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมด้วยประกอบอื่น ๆ 

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาตเรือรูปสัตว์ ๘ ลำ มีเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ 

เรือพระราชพิธีทุกลําขุดขึ้นจากไม้ มีอายุยาวนาน โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ทั้ง ๓ ลํา คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ มีอายุกว่า ๑๐๒ ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๑๐๘ ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๙๕ ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีอายุ ๒๓ ปี ส่วนเรืออื่น ๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลํา มีอายุการสร้างนับร้อยปี เรือทุกลำที่ประกอบกันในริ้วกระบวนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติไทยที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ที่สำคัญคือ ‘เรือขุด’ จากภูมิปัญญาแห่งอุษาคเนย์ที่มีค่าประเมินมิได้ 

เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ โดยมีเรือในกระบวนเรือพระราชพิธีจำนวน ๕๒ ลำ จัดเป็น ๕ ริ้ว ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคลำดับที่สองในรัชสมัย

๑๐ พระแก้วแห่งสยามประเทศ บารมีคู่บ้าน สิริมงคลคู่เมือง

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ ผมเลยจะขอเรียบเรียงเรื่องราวดี ๆ ในแต่ละบทความให้ครบ ๑๐ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา โดยในครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศ ๑๐ องค์ 

จากพระแก้วเมืองอุบลราชธานี มาถึงกรุงเทพมหานครที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ ซึ่งถ้าเราเจาะลึกลงไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ 

คำว่า ‘อมรรัตนโกสินทร์’ หมายถึง เมืองที่ประดิษฐาน ‘พระแก้วมรกต’ และอีก ๑ คำคือ คำว่า ‘ภพนพรัตน์’ อันหมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ‘นพรัตน์’ หรือ อัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

แต่ครั้งนี้ผมคงเล่าได้ไม่ครบแก้วทั้ง ๙ ประการนะครับ แต่จะขอยกเอาพระแก้วสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพิ่มเติมมากกว่า ๙ คือจะเล่าถึง ๑๐ องค์ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ไปสักการะองค์พระท่าน เพื่อเป็นสิริมงคลของแต่ละท่านนะครับ โดยผมขอเริ่มจากองค์พระที่มีพระวรกายเป็นสีเขียวก่อนนะครับ 

พระแก้วดอนเต้า

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วดอนเต้า’ หรือ ‘พระเจ้าแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ สลักจากหินหยกสีเขียวซึ่งเชื่อว่าเป็นหินหยกชนิดเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย ไม่มีพระเกตุมาลาเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป โดยที่บริเวณฐานพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าจะทำด้วยทองคำหนัก ๑๙ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง มีชฎาทองคำเป็นเครื่องสวมเศียร และมีเครื่องทรง ทำเป็นสร้อยสังวาล ซึ่งเป็นเนื้อทองคำรวมน้ำหนักถึง ๗ บาท ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระแก้วดอนเต้านี้สร้างขึ้นจากแก้วของพญานาคแห่งแม่น้ำวังกะนะทีซึ่งนางสุชาดามาถวายพระมหาเถระแห่งวัดดอนเต้า สลักด้วยฝีมือพระอินทร์จำแลง 

พระนาคสวาดิเรือนแก้ว

องค์ที่ ๒ ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียว ศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้นำพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคำว่า ‘นาคสวาดิ หรือ นาคสวาท’ มาจากสีเขียวขององค์พระ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีเขียวนั้นเกิดจากเลือดของนาคเมื่อครั้งถูกครุฑจับฉีกเนื้อ นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า ‘นาคสวาท’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ 

รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาดิองค์นี้ในปีที่ ๓ ที่ทรงครองราชย์ นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๒ ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ ๓ ของรัชกาลเช่นกัน ภายหลังพระองค์ทรงสร้างเรือนแก้วทองคำลงยาราชาวดีถวายพระพุทธรูปศิลาเขียว และทรงถวายพระนามว่า ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ เป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

องค์ที่ ๓ ‘พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร’ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า ‘พระแก้วมรกตน้อย’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานไม้จำหลัก ปิดทอง บัลลังก์ประดับพระปรมาภิไธย ‘วปร’ ใต้ฐานพระจารึกคำว่า ‘FABERGE 1914’ โดยพระแก้วองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระดำรัสสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงเสด็จฯ เยือนรัสเซีย ให้ทรงหาซื้อแก้วมรกตก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะพึงหาได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาช่างฝีมือทำหุ่นพระพุทธรูปขึ้นตามแบบที่พระองค์ได้ทรงมอบให้  

ซึ่งผู้ที่รับแกะสลักพระพุทธรูปสำคัญนี้คือช่างจาก ‘ห้างฟาแบร์เช่’ ซึ่งเป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดย นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่  (FABERGE) ซึ่งเป็นชื่อที่สลักอยู่ใต้ฐานองค์พระนั่นเอง 

พระแก้วมรกตน้อยมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองและทำพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกตน้อยเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล

องค์ที่ ๔ ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือชื่อสามัญคือ ‘พระหยกเชียงราย’ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยก มีเครื่องทรงแบบเชียงแสนทำจากอัญมณีและทองคำ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระแก้วองค์นี้สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จัดสร้างพระแก้วองค์นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

โดยหินหยกที่นำมาแกะสลักนั้น เป็นหินหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู นครปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน 

ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองคนี้ว่า ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ มีความหมายว่า ‘พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา’ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า ‘พระหยกเชียงราย’ ต่อมาคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ในปีเดียวกัน

จะเห็นว่าเมืองไทยของเรามีพระแก้วที่พระวรกายเป็นสีเขียวหลายองค์ ในลำดับต่อไปก็มาถึงพระแก้วที่มีพระวรกายเป็นเฉดขาวทั้งที่ใสดุจแก้ว องค์พระแก้วที่มีไหมทองเป็นลายในองค์พระและองค์ที่ขาวเย็นเพราะสลักจากศิลาขาว ดังนี้ครับ 

พระเสตังคมณี

องค์ที่ ๕ ‘พระเสตังคมณี’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ สลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างละโว้ ‘เสตังคมณี’ มาจากคำว่า ‘เสต’ แปลว่า ขาว กับคำว่า ‘มณี’ แปลว่า แก้ว คือ ‘พระแก้วขาว’ อย่างตรงตัว องค์พระใสสะอาด พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ ประทับนั่งบนแท่นไม้จันทน์หุ้มแผ่นทองคำ ใต้ฐานจารึกว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกสรและราชบุตร ราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี” 

ตามตำนานเล่าว่า องค์พระแก้วขาวนั้นเมื่อแรกสร้างนั้น พระอรหันตเจ้าไปขอ ‘แก้วบุษยรัตน์’ มาจาก ‘จันเทวบุตร’ หาช่างสร้างพระไม่ได้ จนพระอินทร์ต้องมีโองการสั่งพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสร้างจนเป็นองค์พระอันงดงามและประดิษฐานที่ละโว้เป็นแห่งแรก 

ต่อมาพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จะมาครองหริภุญไชย จึงได้ทูลฯ ขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยเพื่อเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์และสถิตอยู่ ณ หริภุญไชยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาเอาชนะหริภุญไชย โดยมีพระราชศรัทธาพระแก้วขาวเป็นอย่างมาก จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับส่วนพระองค์ 

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชฐานของพระองค์กระทั่งพระองค์สวรรคตพระแก้วขาวก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ตลอดมากว่า ๗๐๐ ปี 

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

องค์ที่ ๖ ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วผลึก’ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงเรื่องเล่าว่า มีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาวัดส้มป่อย นครจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีพราน ๒ คน ไปพบ แล้วเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงได้อัญเชิญองค์พระมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างที่อัญเชิญองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวาไปกระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย ในสมัย ‘เจ้าไชยกุมาร’ ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวเรื่อง ๒ พรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใส พุทธลักษณะงดงาม จึงได้นำมารักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ จนมาถึงสมัย ‘เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา’ เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางอีกฝั่งของแม่น้ำโขง 

จนในปี ๒๓๕๔ พระองค์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงไปปลงพระศพ ข้าหลวงได้ไปเห็นองค์พระแก้วผลึก ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวงดงาม ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงได้มีใบบอกนำความกราบบังคมทูลฯ ถวายพระแก้วผลึก แล้วจึงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยมีงานสมโภชมาตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน รับสั่งให้ทำเครื่องทรงอย่างงดงาม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลา เช้า-ค่ำ ไม่มีขาด

ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานแก้วมรกตเป็นการถาวรแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อมีงานพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนมาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์ 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’

พระแก้วน้ำค้าง

องค์ที่ ๗ ‘พระแก้วน้ำค้าง’ ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากแก้วหินเขี้ยวหนุมาน หรือ ‘แก้วขาวน้ำบุษย์’ ลักษณะ ‘ใส’ ไม่มีมลทิน บางตำราเรียกองค์ท่านว่า ‘พระแก้วขาวบุษย์น้ำค้าง’ คำว่า ‘แก้ว’ ในที่นี้หมายถึง ‘หินกึ่งมีค่า’ หรือ ‘อัญมณี’ ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่เรียกว่า ‘แก้วประสาน’ ส่วนบนขององค์พระช่วงพระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ ฐานทองคำลงยาราชาวดี เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ

พระพุทธบุษยรัตน์น้อย

องค์ที่ ๘ ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ ประดิษฐานอยู่ที่ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปแบบแก้วผลึกใส ศิลปะแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ‘นายเพิ่ม’ ไพร่หลวงรักษาพระองค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยนำองค์พระมาจากพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...เนื้อแก้วบริสุทธิ์ดี ลักษณะและส่วนสัดส่วนงามกว่า พระแก้วขนาดเดียวกันบรรดามี..."

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับพระรจนารังสรรค์ แก้พระพักตร์ให้งามขึ้นกว่าเดิมพร้อมทำฉัตรกับฐาน ก่อนจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีตรุษในเดือนมีนาคม โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า  "...ในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมา ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีแทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนาคสวาดิเรือนแก้ว ซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย..." 

โดย ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระองค์

พระพุทธสุวรรณโกศัยมัยมณี

องค์ที่ ๙ ‘พระพุทธสุวรรณโกสัยมัยมณี’ หรือ ‘พระแก้วไหมทอง’ ประดิษฐาน ณ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม จ.กำแพงเพชร เป็นพระปางสมาธิที่แกะสลักจากหินไหมทองจากพม่า โดยพบหินไหมทองนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพระที่แกะสลักจากหินไหมทององค์เดียวของไทย มีเส้นทองเดินทั่วองค์ ทรงเครื่องประดับตามแบบ ‘พระเสตังคมณี’ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปะล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เมื่อแสงไฟกระทบองค์พระ จะเห็นเส้นไหมทองละเอียดเต็มองค์ ตามปกติทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะหรือเข้าชม จะอัญเชิญออกมาเฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น วันสงกรานต์

พระพุทธเทววิลาส

องค์ที่ ๑๐ ‘พระพุทธเทววิลาส’ หรือ ‘หลวงพ่อขาว’ ประดิษฐาน ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดารามขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๙ คำว่า ‘เทพธิดา’ หมายถึง ‘กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 

‘พระพุทธเทววิลาส’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสุโขทัย จำหลักจากศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่บนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกเกรียบ อัญเชิญองค์พระมาจากพระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า ‘หลวงพ่อขาว’ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน จึงได้ทรงเฉลิมพระนามว่า ‘พระพุทธเทววิลาส’ ตามพระนามของ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ ในหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ 

บทความในครั้งนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องของพระแก้วอันมงคลของไทย คงจะไม่พลาดไปสักการะองค์พระแก้วที่ผมได้เรียบเรียงมาเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ กันนะครับ

เปิดตำนานพระแก้วนพรัตน์เมืองอุบลฯ (ตอน ๑) พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์คู่ราชธานีแห่งอีสาน

หากจะพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกสงสัยก็คือทำไม? จังหวัดนี้ถึงมีคำว่า 'ราชธานี' ต่อท้าย 

เอาสั้น ๆ ก็เพราะก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อุบลราชธานีเป็นนครเทียบเคียงได้กับจำปาศักดิ์และหลวงพระบาง มีเมืองบริวารขึ้นตรงหลายเมือง และผู้ครองเมืองก็เป็นเจ้านายสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเวียงจันทน์ ทั้งยังมีความดีความชอบในการปกครองและช่วยรบในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการยกเป็นเมืองประเทศราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ว่า 'อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ' 

เอาประมาณนี้ก่อน ไว้จะมาเล่าให้ฟังในบทความถัด ๆ ไป 

สำหรับบทความนี้จะเล่าถึง 'พระแก้ว' คู่บ้าน คู่เมืองอุบลราชธานี พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร, มณี, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิลกาฬ, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ว่ากันว่าหากมีครบทั้ง ๙ บ้านเมืองนั้นจะเจริญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอุบลฯ มี 'พระแก้ว' ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่ เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ การมีพระแก้วนพรัตน์อยู่อย่างครบถ้วน ก็อาจจะอนุมานได้ว่าการมี 'ราชธานี' ต่อท้ายก็เหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีพระแก้วองค์ใดบ้างที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองดอกบัวแห่งนี้ไปติดตามกัน

พระแก้วบุษราคัม

องค์ที่ ๑ 'พระแก้วบุษราคัม' ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากบุษราคัมสีเหลือง ทึบทั้งแท่น ฐานหุ้มด้วยทองคำเป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน 

ตามประวัติเป็นสมบัติของ 'เจ้าปางคำ' แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบน (ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อพระวอ พระตา อพยพจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงอัญเชิญมาด้วย เดิมที 'พระประทุมวรราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก ซึ่งเป็นลูกหลานพระวอ พระตา  ได้สร้าง 'วัดหลวง' เป็นที่ประดิษฐาน 'พระแก้วบุษราคัม' พร้อมกับ 'พระแก้วไพฑูรย์' แต่เมื่อครั้งมีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาตรวจราชการจึงได้นำพระพุทธรูปทั้ง ๒ ไปซ่อนไว้ เพราะเกรงว่าข้าหลวงจะอัญเชิญไปจากเมืองอุบลฯ 

ภายหลังเมื่อมีการสร้างวัดศรีทองแล้วเจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกจากที่ซ่อน โดยถวาย 'พระแก้วบุษราคัม' แก่ อพระเทวธัมมี' (ม้าว) พระสงฆ์ชาวอุบลฯ ซึ่งเป็นลัทธิวิหารริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมาครองวัดเป็นรูปแรก เพราะเชื่อว่าข้าหลวง คงจะเกรงใจท่าน ไม่กล้าที่จะขอ 'พระแก้ว' ไปจากเมืองอุบลราชธานีเป็นแน่ ซึ่งในสมัยการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อัญเชิญ 'พระแก้วบุษราคัม' นี้เป็นประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก 

พระแก้วไพฑูรย์

องค์ที่ ๒ 'พระแก้วไพฑูรย์' ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล องค์พระแกะสลักจากหินธรรมชาติแสงส่องผ่านได้ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยอยู่ในความครอบครองของบรรพบุรุษเจ้านายเมืองอุบลมาแต่อดีต เดิมที 'พระปทุมวราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) ได้ถวาย 'พระแก้วไพฑูรย์' และ 'พระแก้วบุษราคัม' เพื่อประดิษฐานไว้คู่กัน ณ วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของอุบลราชธานี แต่ด้วยเหตุจากการมาของข้าหลวงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงได้นำไปซ่อนไว้ เมื่อนำออกจากที่ซ่อนก็นำ 'พระแก้วบุษราคัม' ถวายแก่ 'พระเทวธัมมี' (ม้าว)

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น เจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้นำไปเก็บรักษาไว้เนื่องจากเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษภายหลังจึงได้นำมาถวาย 'พระครูวิลาสกิจจาทร' (บัวสอน โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดหลวงและประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

'พระแก้วไพฑูรย์' เป็นหนึ่งในแก้วรัตนชาติ คือ ไพฑูรย์ หากยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดอยู่ภายในองค์พระ อันมีนัยความหมายแห่ง 'ความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล'

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

องค์ที่ ๓ 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยแก้วผลึกสีขาว โดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ 'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์'(อ้วน ติสโส) ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม เพื่อควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้รวบรวมพระพุทธธูปเก่าแก่จากหลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินสมัยลพบุรี ๓ องค์ และโบราณวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ก็เป็นหนึ่งในพระที่ท่านรวบรวม แต่พิเศษจรงที่ท่านถือไว้อยู่เป็นประจำ ส่วนท่านจะได้มาอย่างไร ไม่ปรากฏชัด

จนมาในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนารามและได้มอบ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ให้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร โดยมี 'พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์' (ญาณ ญาณชาโล) เป็นผู้รับมอบ 

พระรัตนมงคลมุนี อดีตอาวาสวัดสุปัฏนารามเคยสันนิษฐานพุทธลักษณะขององค์พระว่า 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' น่าจะเป็นพระรุ่นเดียวกับ 'พระแก้วบุษราคัม' โดยยึดเอาจากการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ ๒๐๐ ปี เศษมาแล้ว ตามที่บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองอุบลฯ

ตอนนี้เรานับพระแก้วได้ ๓ องค์แล้วคือ 'พระแก้วบุษราคัม' / 'พระแก้วไพฑูรย์' / 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' เป็น ๓ รัตนชาติคือ บุษราคัม, ไพฑูรย์ และ เพชร ซึ่งในอุบลราชธานีมีพระแก้วที่ปรากฏขึ้นแล้ว ๖ องค์ โดยในตอนหน้าผมจะนำเรื่องราวขอพระแก้วอีก ๓ องค์ได้แก่ 'พระแก้วโกเมน' / 'พระแก้วนิลกาฬ' / 'พระแก้วมรกต' ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติที่น่าสนใจมากทีเดียว 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวเพลินๆ ของพระแก้วแห่งอุบลราชธานีแล้ว ท่านคงจะหาโอกาสไปกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายกันสักครั้งหนึ่ง

ย้อนประวัติศาสตร์ก่อนผลัดแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้ใด? มีรายชื่อสืบราชสมบัติ และผู้ใดไม่มีสิทธิ

หากจะกล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์อย่างผิดแผกจากธรรมเนียมปกติ โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันภายใต้หลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’

ทั้งหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์แล้วก็ยังทรงตั้ง ‘วังหน้า’ อย่างผิดแผกแตกต่างไปจากยุคก่อน ๆ เพราะพระองค์ทรงตั้งพระปิตุลาของพระองค์ให้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวร’ นั่นก็คือ ‘กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ’ นัยว่าเพื่อสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นใน ๓ ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างราบรื่นตลอดรัชสมัย 

แต่กระนั้นในช่วงปลายรัชกาลในคราที่พระองค์ทรงประชวรหนักและอาจจะสวรรคตในอีกไม่นานนัก ทั้ง ‘วังหน้า’ ก็ทรงสวรรคตไปก่อนแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งใครขึ้น จนมาถึงในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำริถึงผู้ที่สืบทอดราชสันตติวงศ์ โดยมีพระราชโองการประกอบพระราชวินิจฉัยก่อนหน้า ให้ขุนนางผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ‘ตระกูลบุนนาค’ ตระกูลขุนนางอันดับหนึ่งของแผ่นดิน รับภาระผู้นำในเลือกสรรเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ โดยทรงขอ ‘อย่าให้มีการแตกแยก แก่งแย่งชิงราชบัลลังก์’ (พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) 

ส่วนจะมีพระราชวงศ์พระองค์ไหน ? ที่อยู่ในข่ายได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สืบราชสมบัติและทำไม? ถึงไม่ได้รับเลือก ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยเริ่มจากผู้ที่ไม่ได้รับเลือกสรรก่อนไปจนถึง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ ๔ ที่ได้รับการเลือกสรรและอัญเชิญขึ้นครองราชย์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’

พระองค์แรก ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี’ พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ทรงกำกับกรมสังฆการี กรมธรรมการ และกรมมหาดเล็ก มีบทบาทในราชการและเป็นที่โปรดปรานมากกว่าพระโอรสองค์อื่น ๆ ว่ากันว่า รัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้ ด้วยการนำเสนอพระนามท่ามกลางการประชุมพระราชวงศ์และขุนนาง 

แต่การณ์ก็ไม่เป็นดังหวังเพราะมีเสียงคัดค้านจากคณะขุนนาง เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่พระราชโอรสที่มีพรรษาสูงนัก (อายุ ๓๑ พรรษา) หากเทียบกับพระองค์อื่น ๆ ถ้าข้ามอาวุโสไปก็จะเกิดปัญหา มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานประโยชน์ให้เกิดดุลยภาพได้เช่นพระราชบิดา 

ทั้งในกลุ่มขุนนางก็ไม่ค่อยมีผู้ใดได้ร่วมงานกันอย่างสนิทชิดเชื้อหรือรู้จักมักคุ้นมากพอที่จะสนับสนุนให้ได้ราชสมบัติ หากได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ความเคารพเชื่อถือ ทั้งในกลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางเอาได้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นภัยกับตัวพระองค์เจ้าอรรณพเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางทั้งหลายจึงมิได้เลือกสรรพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้ามั่ง’

พระองค์ที่สอง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร’ มีพระนามเดิม ‘หม่อมเจ้ามั่ง’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม พระองค์ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์ ทรงเป็นกวีสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นผู้รวบรวมและชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ประณีตและไพเราะมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปจารึกลงแผ่นศิลา เพื่อประดับให้ความรู้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) 

ซึ่งถ้ามองตามชั้นพระยศของพระองค์ พระองค์เมื่อแรกประสูตินั้นเป็นเพียง ‘หม่อมเจ้า’ หากจะข้ามชั้นพระยศ ‘เจ้าฟ้า’ ซึ่งมีพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ในชั้น ‘เจ้าฟ้า’ ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ถึง ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้ามงกุฎ (ร.๔ ซึ่งขณะนั้นทรงอุปสมบทเป็น ‘วชิรญาณภิกขุ’ อยู่) อีกพระองค์คือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ คงเป็นการมิบังควรหากจะข้ามไป 

ประกอบกับกรมพระยาเดชาดิศรนั้นทรงถูกติติงจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้” อีกทั้งกรมที่พระองค์ทรงดูแลอยู่นั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง แม้จะเคยทรงไปทัพหรือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่กลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มผู้นำขุนนางทั้งหลายจะเลือกสรรให้ท่านได้ครองราชย์ 

พระองค์ที่สาม ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์’ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าพนมวัน’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงกำกับ กรมพระนครบาล (เวียง) และ กรมคชบาล ซึ่งเป็นกรมที่มีข้าในสังกัดมาก แต่การที่มีไพร่พลสังกัดในกรมจำนวนมากนี้เองที่กลายเป็นชนวนทำให้พระองค์ทรงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คราวแรกพระองค์ได้ถูกพาดพิงจาก ‘กบฏหม่อมไกรสร’ (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ว่าหากกบฏสำเร็จจะตั้งพระองค์เป็นวังหน้าเพราะทรงคุมกรมใหญ่มีบารมีมาก (ดีที่ไม่ซวยติดร่างแหไปด้วยไม่งั้นคงถูกสำเร็จโทษตามหม่อมไกรสรไปเป็นแน่) 

คราวที่สองเมื่อ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ สวรรคต พวกข้าในกรมคาดว่าเจ้านายของตนจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ แทน ก็เลยคุยเขื่องยกยอนายของตนไปทั่ว เล่นใหญ่จนกลายเป็นความหมั่นไส้ ก่อนที่เหตุการณ์ก็ผลิกผัน เพราะในที่สุด ร.๓ ก็มิได้ตั้งใครเป็นวังหน้า จากเหตุนี้ก็เลยกลายเป็นชนักที่ปักพระขนองของพระองค์อยู่ อีกทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ยังได้ทรงตำหนิพระองค์ต่อวงขุนนางไว้ว่า “ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่ละเล่นอย่างเดียว” เพราะพระองค์ทรงโปรดดนตรีปี่พาทย์และการละครเป็นอย่างมาก จนมีโรงละครหลวงที่ใหญ่ติดอันดับของสยามในเวลานั้น 

จากเหตุข้าในกรมใฝ่สูงแทนนาย อีกทั้งยังถูกวางไว้ในตำแหน่งคานอำนาจกับเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) และพระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) พระองค์จึงไม่ได้รับเลือกสรร

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์ที่สี่ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมพระราชมารดา 

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบแขกอาสาจาม ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก แต่พระอุปนิสัยชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้รับการตำหนิจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ แต่ไม่พอใจทำราชการเกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุก เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการ...จะไม่ชอบใจ” 

อีกอย่างหนึ่งคงไม่พ้นทางฝั่งขุนนางที่คาดกันว่าหากพระองค์ทรงครองราชย์แล้วคงจะทำลายสมดุลแห่งอำนาจเป็นแน่ เนื่องจากพระองค์ทรงหัวก้าวหน้า พูดอังกฤษได้ มีเพื่อนฝรั่งมาก ขุนนางทั้งหลายอาจจะต้องเผชิญขนบใหม่จากพระองค์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำขุนนางก็คงถูกลิดรอนอำนาจบารมีจากการเข้าถึงงานราชการของพระองค์ (ขัดกับคำตำหนิ ???) อย่ากระนั้นเลยเมื่อคิดได้ดังนี้ กลุ่มขุนนางจึงขอไม่เลือกสรรพระองค์โดยให้เหตุผลว่า น่าจะเรียงลำดับอาวุโสตามศักดิ์และสิทธิ์ของ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ โดยขอเลือก ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ก่อน หากเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ทรงรับจึงจะเลือกสรรเป็นพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

พระองค์ที่ห้า ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา 

เมื่อ ร.๓ ขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะดำรงสมณเพศต่อไป ระหว่างผนวชพระองค์ได้ทรงธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทรงเห็นความเป็นไปต่าง ๆ ของบ้านเมือง รวมไปถึงทรงเห็นความหย่อนยานของพระภิกษุในบางส่วน ทำให้พระองค์ทรงนำมาปรับปรุงโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง จนเกิดเป็น ‘ธรรมยุกตินิกาย’ ทำให้พุทธศาสนาที่ย่อหย่อนกลับมาแข็งแรงขึ้น เรียบร้อยขึ้น 

แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับการตำหนิจาก ร.๓ ว่า “ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะให้นำธรรมเนียมการห่มผ้าของพระสงฆ์ของพม่ามาใช้” แต่ด้วยความเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้า มีศักดิ์และมีสิทธิ์ครบ มีความเข้าใจในบ้านเมือง และเข้าใจสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ตะวันตกกำลังรุกคืบมาเป็นอย่างดี อีกทั้งมิได้มีข้อขุ่นข้องหมองใจหรือขัดผลประโยชน์ใด ๆ อันจะทำให้ดุลยภาพแห่งอำนาจสั่นคลอนได้ 

ที่ประชุมพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันเลือกพระองค์เป็นผู้สืบราชสมบัติ ครองราชย์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

จะเห็นว่า การสืบราชสันตติวงศ์ทั้งรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นั้นมิได้เป็นไปตามหลักการ การสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์โตที่เป็น ‘เจ้าฟ้า’ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่กลับเป็นไปตามหลัก ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ ซึ่งมหาชนที่ว่านั้นก็คือ ‘ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่’

โดยเฉพาะเมื่อครั้งเลือกสรรผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรง ‘โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน’

ทั้งหมดที่ผมเรียบเรียงมานั้น เน้นย้ำความสมดุลแห่งอำนาจ ๓ ฝ่ายคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องของอำนาจบารมีมาเกี่ยวข้อง หากจะเลือกสรรพระมหากษัตริย์ที่มาลิดรอนดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสม 

โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่มีอำนาจบารมีขั้นสุดอย่าง กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่กุมอำนาจบริหารแผ่นดินไว้ การจะเลือกสนับสนุนพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์ย่อมต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทุกอย่างลงตัว 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงทราบเหตุแห่งผลประโยชน์ที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ จึงทรงถ่วงดุลด้วยการอุปราชาภิเษก ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ ไปพร้อม ๆ กัน โดยทรงอ้างถึงพระชะตาอันแรงกล้า แต่โดยนัยแล้วเชื่อได้ว่านี่คือการวางแผนคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคนั่นเอง เอาไว้ผมจะเรียบเรียงมาให้อ่านกันในครั้งถัด ๆ ไปครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top