Tuesday, 14 May 2024
ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา

ถอดรหัส สภาพภูมิอากาศเมืองไทย สวรรค์แห่งการตั้งรกราก ที่ใคร ๆ ก็อยากมาอยู่อาศัย

ตอนนี้เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน คงได้ยินข่าวดังตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสฮิต นอกจากข่าวการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละวันแล้ว นั่นก็คือข่าวการตั้งกลุ่มชักชวนกันย้ายตัวเองไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ  ซึ่งคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่น่าจะมีการพูดถึงไปอีกซักระยะหนึ่งในสภาวะปัจจุบันที่โควิด-19 กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้ 

สำหรับในวันนี้ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วง หรือพูดถึงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะข้อดีสำหรับที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันกับภูมิอากาศที่เหมาะสมในการตั้งรกรากที่อยู่อาศัย ในรูปแบบเชิงภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันครับ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าถ้าให้ประชากรทั่วโลก โหวตเลือกว่าอยากไปอยู่ประเทศไหนกันมากที่สุดในบั้นปลายของชีวิต ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าประเทศไทยต้องติดอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน 

ในการเป็นประเทศปลายทางที่มีผู้คนอยากมาอยู่อาศัย จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศเราในสถานการณ์ปกติ หรือแม้แต่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่มักจะมาแต่งงานกับภรรยาชาวไทย เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในประเทศไทยในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยเฉพาะแถวภาคอีสานที่มีเป็นจำนวนมาก จนบางหมู่บ้านถูกขนานนามว่า เป็นหมู่บ้านเขยฝรั่งเลยทีเดียว 

สำหรับที่ตั้งของประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ กับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดหรือที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออก กับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก เมื่อดูลักษณะภูมิประเทศแล้ว ด้านทิศตะวันออกจะมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศลาว และทิศเหนือติดกับประเทศลาวและประเทศพม่า ส่วนทิศใต้จะติดประเทศมาเลเซีย และถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรขนาบด้านข้างซ้ายและขวา นอกจากนั้นเมื่อดูที่ตั้งของประเทศไทย แล้วด้านตะวันออกถัดไปจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเป็นมหาสมุทรที่เรียกว่าทะเลจีนใต้ ส่วนทิศใต้ก็จะถูกล้อมรอบด้วยทะเลอ่าวไทยในด้านตะวันออก และทะเลอันดามันในด้านตะวันตก ส่วนทิศเหนือเมื่อไล่ขึ้นไปข้างบนต่อจากประเทศลาว เวียดนาม ก็จะเป็นประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จากลักษณะพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยทั้งภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบต่ำ แม่น้ำ ตลอดทั้งมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้มีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เรียกว่าอยู่ในประเทศเดียวมีครบทุกอย่างไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยทีเดียว “นี้คือข้อดีข้อแรกของประเทศไทยครับ”

ทีนี้เราลองมาดูลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทยกันบ้างครับ จากพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยมีฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝนในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นและฝนเข้ามา ฤดูหนาวในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาความหนาวเย็นลงมา และฤดูร้อนในช่วงประมาณ เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยในช่วงนี้อาจมีลมพัดเข้ามาหลายทิศทาง ทำให้อากาศมีความแปรปรวน ส่งผลให้บางครั้งฤดูกาลในประเทศไทยอาจไม่แน่นนอน โดยอาจมีฝนตกในช่วงฤดูร้อน หรืออากาศหนาวในช่วงเดือนมีนาคมก็เป็นไปได้ 

ทีนี้จะมาพูดถึงลักษณะของการเกิดฤดูกาลในประเทศไทยกันบ้างนะครับ ทั้งนี้โดยทั่วไปประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และถูกขนาบด้วยมหาสมุทร ทำให้เราถูกเรียกว่าเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น คือประเทศที่มีความร้อนสูงเนื่องจากการทำมุมองศากับดวงอาทิตย์ของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ เราอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า ในขณะเดียวกันประเทศเราก็มีความชื้นเนื่องจากไอน้ำที่ถูกพัดพามาจากมหาสมุทรที่ขนาบข้างอยู่นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นแล้วในสภาวะกาลปกติแล้วประเทศไทยจึงมีความร้อนค่อนข้างจะสูง โดยช่วงที่ร้อนจะกินเวลาค่อนข้างจะยาว คือช่วงฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และเลยไปถึงช่วงหน้าฝนด้วยคือประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างหน้าร้อนก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะร้อนตลอดเวลา เพราะในระหว่างร้อน ๆ ก็จะมีลมหนาวที่พัดมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาเป็นระยะ ๆ เสมอ พอมาเจอกับลักษณะอากาศร้อนชื้นทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการปลูกพืชของเกษตรกรในหน้าแล้ง 

โดยทั่วไปแล้วการเกิดพายุฤดูร้อนจะเกิดช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่วงหน้าแล้งพอดี ส่งผลให้ประเทศไทยเราสามารถปลูกพืชในหน้าแล้งที่ไม่ต้องการน้ำมากได้ ได้แก่ อ้อย มันสำประหลัง ซึ่งนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ “เห็นไหมละครับข้อดีอีกข้อของประเทศไทย ในขณะที่เป็นฤดูแล้งก็ยังมีฝนตกลงมาให้พอปลูกพืชได้” 

มาดูกันต่อนะครับ พอในช่วงฤดูฝนหรือที่เราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าฤดูมรสุม ประเทศไทยก็จะมีฝนตกชุก และเมื่อเกิดพายุในหน้ามรสุม ซึ่งจะเป็นพายุที่มีความรุนแรงสูง และกินพื้นที่เป็นระยะกว้าง โดยทั่วไปพายุที่พบส่วนใหญ่จะก่อตัวในมหาสมุทรแถวทะเลจีนใต้ ลักษณะทั่วไปของพายุนั้นเพื่ออยู่ในมหาสมุทรจะมีความรุนแรงหรือความเร็วลมสูง แต่เมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งความรุนแรงของพายุก็จะลดลง จากพิกัดที่อยู่ของประเทศไทย เมื่อพายุเคลื่อนเข้าหาฝั่ง ก่อนที่พายุจะเคลื่อนมาถึงประเทศไทย ก็จะผ่านประเทศเพื่อนบ้านเราก่อน คือเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งจะเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านที่รับอิทธิพลของพายุก่อนที่จะมาถึงไทย ส่งผลให้พายุมีความเร็วลมลดลงเมื่อมาถึงไทย ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากพายุของประเทศไทยมีน้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นมีบางปีที่พายุก่อตัวแล้วเคลื่อนที่ลงใต้ไปยังอ่าวไทย และเคลื่อนที่ผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะมีผลกระทบกับประเทศไทยสูง เนื่องจากไม่มีประเทศเพื่อนบ้านคอยรับลมพายุ แต่จะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ผ่านมาด้านบนของประเทศไทย 

“เห็นไหมละครับข้อดีของประเทศไทยอีกข้อ เหมือนเรามีเมืองหน้าด่านที่คอยรับศึกจากพายุแทนเรา พอข้าศึกเคลื่อนที่มาถึงประเทศไทยเราก็อ่อนล้าหมดแรงลดความรุนแรงลง เหลือแค่การพาเอาฝนมาตกในประเทศไทยเท่านั้น” 

ฟ้าผ่า ภัย(ไม่)เงียบ ที่มาพร้อมกับพายุ ฝนฟ้าคะนอง

ช่วงนี้เชื่อแน่ว่าหลายพื้นที่คงได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบ คือบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเกิดความเสียหาย หรือด้านบวก คือทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับน้ำฝน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภัยที่มากับพายุ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาและสถานที่ไหน นั้นคือปรากฏการณ์ฟ้าผ่า และหนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่หลายท่านคงได้ยินข่าว นั่นคือฟ้าผ่าลงกลางสนามฟุตบอลในขณะที่นักฟุตบอลกำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้ผู้ที่กำลังเล่นฟุตบอลเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บด้วยกันหลายคน

ในวันนี้จะมาเล่าถึงการเกิดฟ้าผ่า สาเหตุของการเกิด และแนวทางในการป้องกันฟ้าผ่ากันครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อน ตามหลักการทางฟิสิกส์แล้ว สสารทุกชนิดจะมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ โดยประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดคือประจุบวและประจุลบ คุณสมบัติของประจุไฟฟ้า ก็คือเมื่อเป็นประจุชนิดเดียวกันจะเกิดแรงผลักกัน แต่ถ้าเป็นประจุต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดกัน ทั้งนี้เมื่อประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้ากระแสที่มีการใช้งานทั่วไปนั่นเอง

โดยทั่วไปถ้าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้น สสารทุกชนิดจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า คือมีประจุบวกเท่ากับประจุลบ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการทำปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่นการขัดหรือถูกันระหว่างสสาร ก็จะทำให้เกิดการถ่ายเทประจุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้สสารนั้นขาดความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า เช่นปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ง่ายคือการเอาไม้บรรทัดถูกับผ้าที่แห้ง ทำให้ประจุที่สะสมอยู่ในไม้บรรทัดสูญเสียความเป็นกลางทางไฟฟ้า ประจุบวกกับลบแยกกันอยู่คนละด้านของไม้บรรทัด เมื่อเรานำมาวางไว้ใกล้กระดาษ จะส่งผลให้ประจุที่ไม่เป็นกลางที่อยู่ในไม้บรรทัด พยามที่จะดึงเอาประจุตรงข้ามที่อยู่ที่กระดาษ ทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างกระดาษกับไม้บรรทัด นั่นคือกระดาษเคลื่อนเข้าหาไม้บรรทัดนั่นเอง เรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดประจุไฟฟ้า 

ทีนี้เมื่อมาเปรียบเทียบกับการเกิดฟ้าผ่า ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว ก้อนเมฆซึ่งเป็นไอน้ำก็เป็นสสารชนิดหนึ่งเช่นกัน นั่นแสดงว่าต้องมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ ยิ่งก้อนเมฆมีขนาดใหญ่มากเท่าไร นั่นแสดงว่ามีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมากตามไปด้วย และเมื่อก้อนเมฆมีการเคลื่อนที่ ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากลม ซึ่งโดยทั่วไปลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอนุภาคอากาศ และเมื่อก้อนเมฆที่มีขนาดใหญ่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกิดการเสียดสีกันระหว่างหยดน้ำ และน้ำแข็งที่อยู่ในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการถ่ายเทประจุ ส่งผลให้ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆ แยกตัวออกเป็นสองส่วน โดยประจุบวกจะสะสมอยู่ด้านบนหรือด้านยอดของเมฆ และประจุลบสะสมอยู่ด้านล่างหรือฐานของเมฆ เมื่อเกิดการสะสมประจุเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการถ่ายระหว่างประจุที่แตกต่างกัน ซึ่งก็คือเกิดการถ่ายเทกระแสไฟฟ้าที่มีจำนวนมหาศาล ถ้าเกิดระหว่างก้อนเมฆก็จะเป็นปรากฏการฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ ที่เรามักได้ยินเสียงแต่นั่นเอง


โดยชนิดของเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่า คือเมฆที่เกิดฝน หรือเรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ซึ่งจะมีฐานของเมฆที่สูงกว่าพื้นดินประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป และเมฆบางก้อนมีขนาดใหญ่จนยอดของเมฆสูงกว่าพื้นดินเกือบ 20 กิโลเมตร เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันเนื่องจากพื้นดินที่เราอาศัยอยู่ก็มีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า  แต่เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยประจุต่างชนิดจากประจุของก้อนเมฆ ที่เคลื่อนที่เข้าใกล้พื้นดินมาก ก็อาจจะส่งผลให้ประจุบริเวณพื้นดินที่อยู่ใต้เงาก้อนเมฆ หรือบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นประจุบวกหรือลบก็ได้ และเมื่อประจุไฟฟ้าที่อยู่บนก้อนเมฆเคลื่อนที่ลงมาหาประจุตรงข้ามที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากลงมายังพื้นดินด้วย พอเจอกับสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ หรือต้นไม้ ก็จะทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ดังนั้นลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่โดนฟ้าผ่าจึงมีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงช็อต นั่นเอง

ทั้งนี้ลักษณะการผ่าของฟ้าเกิดได้หลายแบบ ได้แก่ฝ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆเดียวกัน เกิดจากการถ่ายเทประจุในก้อนเมฆเดียวกัน โดยอาจเกิดจากฐานเมฆไปยังยอดเมฆ หรือยอดเมฆมายังฐานก็ได้ ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เกิดจากการถ่ายเทประจุระหว่างก้อนเมฆแต่ละก้อน ทั้งนี้ฟ้าผ่าทั้งสองชนิดนี้จะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา จะได้ยินแค่เสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบเท่านั้น

ส่วนฟ้าผ่าที่มีผลต่อเราได้แก่ ฟ้าผ่าที่เกิดจากประจุลบบริเวณฐานเมฆที่ถ่ายเทประจุ มายังพื้นดินซึ่งเป็นประจุบวกที่เป็นเงาของเมฆทับอยู่ โดยทั่วไปจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองเท่านั้น 

และฟ้าผ่าจากประจุบวกที่อยู่บนยอดเมฆถ่ายเทประจุลงมายังพื้นดินที่เป็นลบ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าลงบริเวณเกิดฝน อาจผ่าลงบริเวณใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งลักษณะของฟ้าผ่าแบบนี้จะมีระยะผ่าที่ไกลกว่าบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ ทั้งนี้ในเวลาที่ฟ้าผ่าเราจะเห็นแสงและได้ยินเสียงร้องคำรามของฟ้าที่มีความดังสูงนั้น เกิดจากการที่ประจุไฟฟ้า เคลื่อนที่ผ่านอากาศด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการเสียดสีกับอากาศอย่างรุนแรง อากาศเกิดความร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) จึงเกิดทั้งแสงและเสียงที่ดังกึกก้องกัมปนาท คล้ายกับการเสียงของเครื่องบินรบที่บินด้วยความเร็วสูงนั่นเอง

ทั้งนี้เรามักจะมองเห็นแสงฟ้าแลบก่อนที่จะมีเสียงฟ้าร้อง เนื่องจากแสงมีความเร็วมากกว่าเสียงมาก ทำให้แสงวิ่งมาถึงตัวเราที่รับรู้ได้โดยสายตา ก่อนที่จะได้ยินเสียงที่รับรู้ได้ด้วยหูนั่นเอง การเกิดฟ้าผ่านั้นนอกจากเรารับรู้ได้ว่ามักจะเกิดบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเวลาใด หรือบริเวณไหนของฝนฟ้าคะนองดังกล่าว

วิธีการป้องกันได้ดีที่สุดคือเวลาฝนตก ไม่ควรจะอยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้งหรือต้นไม้ใหญ่ ควรอยู่ในบริเวณอาคารบ้านเรือน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรสวมใส่โลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ถึงแม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนได้ว่า การสวมใส่โลหะในขณะเกิดฝนตกจะเป็นตัวล่อให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากก้อนเมฆมายังโลหะตัวนำนั้น แต่ก็มีการค้นพบว่าเมื่อเกิดฟ้าผ่า บริเวณที่มีตัวนำไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และในอาคารที่สูงควรจะมีการติดตั้งวัสดุที่เรียกว่าสายล่อฟ้า ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้ประจุจากก้อนเมฆวิ่งลงมายังสายล่อฟ้า แล้ววิ่งลงไปยังพื้นดินข้างล่างที่ต่อกับสายล่อฟ้าไว้ ซึ่งประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอันตราย และที่สำคัญที่สุด เวลามีพายุ ฝนฟ้าคะนอง ควรงดทำกิจกรรมที่อยู่ในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม แค่นี้เราทุกคนก็จะปลอดภัยจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ครับ

อุตุนิยมวิทยา ‘ศาสตร์ ’ สำคัญ...ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

เวลาที่ผู้เขียนสอนหนังสือในรายวิชาโลกและการเปลี่ยนแปลง มักจะถามผู้เรียนเสมอว่า พรุ่งนี้ฝนจะตกไหม หรือสัปดาห์หน้าอากาศจะร้อนหรือเย็น ซึ่งผู้เรียนต้องค้นหาคำตอบโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตอบคำถามได้ถูกต้องและแม่นยำ และเชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน ก่อนออกจากบ้านเพื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการจัดงานมงคลก็ตาม นอกจากจะดูฤกษ์ ดูชัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงด้วย นั่นก็คือสภาพดินฟ้า อากาศ ในช่วงนั้น ซึ่งลักษณะสภาพอากาศที่ดีนั้น ก็กลายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของฤกษ์ ที่ดีในช่วงนั้นไปด้วย และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราไปแล้วนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การจัดงานต่าง หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปท่องเที่ยว ๆ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ 


โดยในปัจจุบันศาสตร์ที่มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ อุตุนิยมวิทยา 

อุตุนิยมวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะบรรยากาศของโลก เช่น การเกิดฤดูการต่าง ๆ การเกิดลม เกิดฝน เกิดพายุ เป็นต้น 

และหนึ่งในความสำคัญของอุตุนิยมวิทยา คือ การพยากรณ์อากาศ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศของประเทศไทยที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ในแต่ละวันเรามักจะได้ยินข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับลักษณะสภาพของอากาศที่จะเกิดขึ้นในอีกวันสองวันข้างหน้า หรือในอีกอาทิตย์หนึ่ง เพื่อให้เราได้มีการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง เช่น อาจเกิดฝนตกหนัก หรือพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นต้น 

ในอดีตการพยากรณ์อากาศนั้นมักจะไม่ค่อยมีความแม่นยำมากเท่าไรนัก เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์อากาศ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำสูง และสามารถทำนายล่วงหน้าได้เป็นเวลานานขึ้น 

สำหรับวันนี้จะพูดถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศกันครับ ก่อนอื่นเราต้องรู้จักคำว่าพยากรณ์อากาศกันก่อน 

พยากรณ์ แปลว่า การทำนายอนาคตที่กำลังจะมาถึง คล้ายกับการที่เราไปดูหมอดู เพื่อให้ทำนายสิ่งที่จะมาถึงในวันข้างหน้ากัน แต่แตกต่างกันที่การพยากรณ์อากาศ ใช้หลักการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ โดยเครื่องมือหลัก ๆ ที่ใช้สำหรับการพยากรณ์อากาศ ที่ทำให้เกิดความแม่นยำสูงได้แก่ การใช้ดาวเทียมในการศึกษาลักษณะการเคลื่อนที่ของอากาศช่วงนั้น เช่นการเกิดลม เกิดฝน หรืออากาศร้อน หนาว เย็น ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆ ที่จะทำให้เกิดฝน หรือทิศทางการเคลื่อนที่ของลม ซึ่งจะทำให้ร้อน หนาว เย็น ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนที่ ความเร็ว 

นอกจากนั้นการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมยังสามารถบอกได้ถึงลักษณะการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆในช่วงนั้น เป็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆฝนธรรมดา หรือเป็นลักษณะของการเคลื่อนที่ของพายุได้อีกด้วย เมื่อนำมาประมวลผลโดยการใช้คอมพิวเตอร์แม่นยำสูง (Supper computer)  ทำให้รู้ระยะเวลาของการเคลื่อนที่มาถึงยังตำแหน่ง หรือภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ 

โดยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ ถูกนำมาจัดทำในรูปแบบของแผนที่อากาศ ในแผนที่อากาศ ประกอบไปด้วยลักษณะของหย่อมความดกอากาศต่ำ หรืออากาศร้อน (Low presser ) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว L และหย่อมความกดอากาศสูงหรืออากาศเย็น (High presser) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว H และเมื่อเกิดพายุ ในแผนที่อากาศก็จะแสดงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นระดับความรุนแรง และทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุ

นอกจากการใช้ดาวเทียมแล้ว ยังมีการใช้เรดาร์ตรวจอากาศ ที่สามารถตรวจจับกลุ่มของฝน และทิศทางการเคลื่อนที่และความเร็วของกลุ่มฝน ทำให้สามารถทำนายระยะเวลาที่จะเกิดลมและฝนในพื้นที่อื่น ๆ ได้ และมีการรวบรวมปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ เมื่อวางแผนการใช้น้ำหรือการทำเกษตรกรรมอีกด้วย โดยสถานีวัดปริมาณน้ำฝนจะถูกกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระดับตำบล และมีการายงานผลเขาสู่ส่วนกลาง เพื่อรวบรวมเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละวัน 


นอกจากเป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อุตุนิยมวิทยา ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการเตือนภัยที่จะเกิดจากลักษณะดินฟ้าอากาศ อีกด้วย เช่นการเกิดพายุ การเกิดฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งการเกิดสภาวะแห้งแล้ง และต้องยอมรับว่าการมีเครื่องมือในการเตือนภัยของอุตุนิยมวิทยา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถลดความสูญเสีย หรือความเสียหายอันเนื่องมากจากภัยทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมูลค่าของความเสียหายมักจะสูง อย่างเช่นการเกิดพายุฤดูร้อนในเขตภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เตรียมมือในการรับพายุที่จะมาถึง ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความเสียหายที่เกิดจากพายุลดลงพอสมควรเนื่องจากมีการเตรียมรับมือไว้ 


จากที่กล่าวมาข้างต้น อุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะการพยากรณ์ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศที่จะเกิดขึ้น จึงมีความสำคัญและถูกซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันของมนุษย์ทุกสาขาอาชีพไปแล้ว นั่นเอง


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

‘พายุฤดูร้อน’ วาตภัยที่มาพร้อมกับความชื่นฉ่ำ พร้อมต่อลมหายใจให้กับเกษตรกร

ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว โดยในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในวัน 27 กุมภาพันธ์ 2564 และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงที่สุด สิ่งที่มักจะคุ้นและได้ยินบ่อย ๆ ที่มาคู่กับฤดูร้อน ก็คือ ‘พายุฤดูร้อน’ ครับ

แน่นอนว่าพายุฤดูร้อน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเป็นพายุที่เกิดในฤดูร้อน โดยในวันนี้ผมเลยอยากพามาทำความรู้จักพายุนี้กันครับ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น พายุที่เกิดในประเทศไทยก็จะได้แก่ พายุที่เกิดในช่วงฤดูมรสุมหน้าฝน โดยแบ่งตามความเร็วของลมที่หมุนรอบจุดศูนย์กลางของพายุดังนี้...

พายุดีเปรสชั่น (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางน้อยกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

พายุโซนร้อน (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 63 - 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

พายุไต้ฝุ่น (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

และ พายุที่เกิดในฤดูร้อน คือ ‘พายุฤดูร้อน’ ซึ่งความเร็วลมจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอุณหภูมิของมวลอากาศร้อนและเย็นที่มาปะทะกัน

สำหรับลักษณะการเกิดของพายุฤดูร้อนนั้น จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีขนาดรัศมีของพายุ หรือกินพื้นที่ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับพายุในฤดูฝน และมักจะเกิดในช่วงระยะเวลาที่สั้น แต่จะมีความรุนแรงของลมค่อนข้างสูง โดยก่อนเกิด อากาศในบริเวณนั้น จะมีความร้อนหรืออุณหภูมิที่สูง

ส่วนสาเหตุของการเกิดพายุฤดูร้อนนั้น เกิดจากการที่อากาศมีความร้อนสูง หรือที่เราคุ้นเคยเวลากรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ‘ความกดอากาศต่ำ’ (เนื่องจากอากาศมีความเบาบางน้อยทำให้มีแรงกดลงมายังพื้นผิวโลกต่ำ) ในขณะเดียวกันก็มีความชื้นที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ พัดเอาไอน้ำหรือความชื้นมาจากแถบทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย ในระหว่างที่มีความร้อน หรือความกดอากาศต่ำมาก ๆ แล้วมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น (เนื่องจากอากาศมีความหนาแน่นมากทำให้มีแรงกดลงมายังพื้นผิวโลกสูง) แผ่ลงมาจากแถวประเทศจีน ซึ่งเป็นด้านบนของประเทศไทย เมื่ออากาศเย็นมาปะทะกับอากาศร้อน (ลักษณะพิเศษของอากาศร้อน คือ มีมวลเบากว่าเมื่อเทียบกับอากาศเย็น) ก็จะลอยขึ้นสู่ข้างบน

ในขณะเดียวกันอากาศเย็น ก็วิ่งเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดลมที่รุนแรง ถ้าเรามองภาพไม่ออก ลองนึกถึงตอนที่เกิดไฟไหม้น่ะครับ บางที่จะเห็นว่าก่อนเกิดไฟ ลมจะนิ่งสงบ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจะเห็นว่ามีลมพัดเข้ามาโหมกระหน่ำให้ไฟลุกมากขึ้นทุกที เพราะอากาศที่อยู่รอบ ๆ บริเวณที่เกิดไฟจะร้อน และทำให้ลอยตัวขึ้นสู่ด้านบน ในขณะเดียวที่อากาศเย็นจะวิ่งเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้เกิด ‘ลม’

ส่วนความรุนแรงของลมจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างมวลของอากาศเย็นและอากาศร้อนที่วิ่งเข้ามาปะทะกัน ถ้าแตกต่างกันมาก ลมก็จะรุนแรงมากตามไปด้วย ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีความชื้นที่พัดเข้ามาจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ด้วยพอดี พอความชื้นเจออากาศเย็น ก็ทำให้เกิดการกลั่นตัวลงมาเป็นน้ำฝน และเมื่อครบองค์ประกอบเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่มีความเร็วลมที่แรง แต่ก็จะกินพื้นที่ไม่ค่อยมากเท่าไรนัก โดยส่วนมากจะเกิดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน

ทั้งนี้ข้อเสียของ พายุฤดูร้อน คือ ความรุนแรงของลม ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ แล้ว ยังมีข้อดี คือ ‘การพัดพาเอาฝนมาตกในช่วงฤดูแล้ง’ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง มีผลผลิตที่ดี โดยเฉพาะพืชที่ปลูกในหน้านี้มักจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย คือ อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น

การเกิดของพายุฤดูร้อนในประเทศไทยจึงเป็นการมาเติมน้ำ และต่อลมหายใจในการปลูกพืชให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปีไหนที่มีพายุฤดูร้อนเข้ามามาก ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ก็มักจะได้ผลดีตามไปด้วย ตรงกันข้ามถ้าปีไหนมีพายุฤดูร้อนเข้ามาน้อย ผลผลิตก็จะลดลงน้อยด้วย

นอกจากนี้การเกิดฝนในช่วงหน้าแล้งก็ยังส่งผลให้ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้เป็นอย่างมากได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นของดีของประเทศไทยที่มีชัยภูมิตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความเหมาะสม ทำให้เกิดฝนในช่วงฤดูแล้ง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วยนั่นเอง

น้ำมะพร้าวกินแล้วดุ

สวัสดีครับ วันนี้พบกันเป็นครั้งแรก สำหรับการเขียนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว ท่ามกลางกระแสของข่าวสาร และเรื่องราวต่าง ๆ ที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทในการไขข้อปัญหา หรือตอบคำถามเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เราพบเจอได้ ซึ่งผู้เขียนก็จะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวเหล่านี้เรื่อย ๆ ครับ

ในตอนนี้เราเริ่มจะคุ้นเคยและเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) กับโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 หลังจากที่เราอยู่กับมันมาปีกว่า และคาดว่าอีกไม่เกิน 2 - 3 เดือนข้างหน้า คนไทยคงได้ฉีดวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้าครับ

ในเดือนแห่งความรัก “กุมภาพันธ์” มีกระแสข่าวหนึ่งที่ร้อนแรงขึ้นมา กลายเป็นกระแสท่ามกลางความเครียดเนื่องจากการใช้ชีวิตในยุควิถีใหม่ นั่นก็คือกระแสการดื่มน้ำมะพร้าวทำให้มีความต้องการทางเพศสูงหรือฟิตมาก

ทั้งนี้มีที่มาที่ไปจากการที่คุณป้าท่านหนึ่ง ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อขอเลิกกับคุณลุง ซึ่งเป็นสามีวัย 64 ปี เนื่องจากทนไม่ไหว เพราะคุณลุงขอมีอะไรด้วยบ่อย หรือว่าดุมาก (ดุเป็นภาษาฮิตในโซเชียลมีเดียที่แสดงว่ามีความคึกคะนองต่อเพศตรงข้าม) ถึงวันละ 3 – 4 รอบ จนคุณป้าทนไม่ไหวต้องมาแจ้งความขอเลิก โดยมีสาเหตุมาจากการที่คุณลุงดื่มน้ำมะพร้าวบ่อยทำให้มีความต้องการสูง

จากกรณีข่าวดังกล่าวนับว่าเป็นข่าวที่ติดกระแสในโซเชียลมีเดีย อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำมะพร้าว หรือแม้กระทั่งผลของมะพร้าวที่ขายในตลาด ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว ซี่งถ้ามองในแง่ของกระแสการทำการตลาดของน้ำมะพร้าวนี้ นับว่าคุณลุงมาช่วยในการทำการตลาดให้กับน้ำมะพร้าวให้มีความคึกคักขึ้นมาทันทีทันใด ท่ามกลางกระแสความเครียดของคนไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ทีนี้เรามาดูตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ กันบ้างครับว่า น้ำมะพร้าวเมื่อดื่มแล้วทำให้คึก หรือมีความฟิตปั๋งตามที่คุณลุงเข้าใจจริงหรือเปล่า?

มะพร้าวเป็นพืชตระกูลปาล์ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. สามารถปลูกได้ในทุกภาคของไทย แต่ส่วนใหญ่จะปลูกมากแถวภาคใต้ คนไทยรู้จักน้ำมะพร้าวดี โดยเฉพาะการใช้น้ำมะพร้าวในการล้างหน้าคนตายก่อนที่จะมีพิธีการฌาปนกิจ ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อกันว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ มีความสะอาด เพราะอยู่บนต้นที่สูง และมีกะลาในการห่อหุ้มและกักเก็บน้ำ เมื่อนำมาล้างหน้าให้กับผู้ตายจะเป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวผู้ตาย

นอกจากนั้นน้ำมะพร้าวยังเป็นเครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อดื่มแล้วจะทำให้มีความสดชื่น โดยส่วนประกอบของน้ำมะพร้าวประกอบไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเรา มากมาย เช่น เหล็ก โพแทสเซี่ยม แคลเซี่ยม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โซเดี่ยม เป็นต้น

จากองค์ประกอบของแร่ธาตุเหล่านี้ ทำให้น้ำมะพร้าวเปรียบเสมือนกับเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดหนึ่ง เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้เรารู้สึกมีความสดชื่นกระปรี้กระเปร่านั่นเอง

ในทางการแพทย์ยังพบว่าน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีในเพศหญิงสูง เมื่อดื่มเป็นประจำจะทำให้ผิวพรรณมีความเปล่งปลังสวยงาม

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้ระบุถึงข้อดีของน้ำมะพร้าว คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย และยังช่วยชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ในวัยชราได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่บอกได้ว่าการดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ดีขึ้น ตามที่คุณลุงเข้าใจ ถึงกระนั้นผู้เขียนก็สันนิษฐานว่า จากคุณสมบัติของน้ำมะพร้าวที่มีส่วนประกอบตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่ง

เมื่อคุณลุงดื่มบ่อย ๆ จึงอาจส่งผลให้มีความฟิตปั๋ง ทำให้มีความต้องการ ‘ดุ’ ตามไปด้วยนั่นเองครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top