‘พายุฤดูร้อน’ วาตภัยที่มาพร้อมกับความชื่นฉ่ำ พร้อมต่อลมหายใจให้กับเกษตรกร

ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว โดยในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในวัน 27 กุมภาพันธ์ 2564 และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงที่สุด สิ่งที่มักจะคุ้นและได้ยินบ่อย ๆ ที่มาคู่กับฤดูร้อน ก็คือ ‘พายุฤดูร้อน’ ครับ

แน่นอนว่าพายุฤดูร้อน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเป็นพายุที่เกิดในฤดูร้อน โดยในวันนี้ผมเลยอยากพามาทำความรู้จักพายุนี้กันครับ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น พายุที่เกิดในประเทศไทยก็จะได้แก่ พายุที่เกิดในช่วงฤดูมรสุมหน้าฝน โดยแบ่งตามความเร็วของลมที่หมุนรอบจุดศูนย์กลางของพายุดังนี้...

พายุดีเปรสชั่น (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางน้อยกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

พายุโซนร้อน (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 63 - 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

พายุไต้ฝุ่น (มีความเร็วลมรอบจุดศูนย์กลางมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

และ พายุที่เกิดในฤดูร้อน คือ ‘พายุฤดูร้อน’ ซึ่งความเร็วลมจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอุณหภูมิของมวลอากาศร้อนและเย็นที่มาปะทะกัน

สำหรับลักษณะการเกิดของพายุฤดูร้อนนั้น จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีขนาดรัศมีของพายุ หรือกินพื้นที่ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับพายุในฤดูฝน และมักจะเกิดในช่วงระยะเวลาที่สั้น แต่จะมีความรุนแรงของลมค่อนข้างสูง โดยก่อนเกิด อากาศในบริเวณนั้น จะมีความร้อนหรืออุณหภูมิที่สูง

ส่วนสาเหตุของการเกิดพายุฤดูร้อนนั้น เกิดจากการที่อากาศมีความร้อนสูง หรือที่เราคุ้นเคยเวลากรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ‘ความกดอากาศต่ำ’ (เนื่องจากอากาศมีความเบาบางน้อยทำให้มีแรงกดลงมายังพื้นผิวโลกต่ำ) ในขณะเดียวกันก็มีความชื้นที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ พัดเอาไอน้ำหรือความชื้นมาจากแถบทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย ในระหว่างที่มีความร้อน หรือความกดอากาศต่ำมาก ๆ แล้วมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น (เนื่องจากอากาศมีความหนาแน่นมากทำให้มีแรงกดลงมายังพื้นผิวโลกสูง) แผ่ลงมาจากแถวประเทศจีน ซึ่งเป็นด้านบนของประเทศไทย เมื่ออากาศเย็นมาปะทะกับอากาศร้อน (ลักษณะพิเศษของอากาศร้อน คือ มีมวลเบากว่าเมื่อเทียบกับอากาศเย็น) ก็จะลอยขึ้นสู่ข้างบน

ในขณะเดียวกันอากาศเย็น ก็วิ่งเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดลมที่รุนแรง ถ้าเรามองภาพไม่ออก ลองนึกถึงตอนที่เกิดไฟไหม้น่ะครับ บางที่จะเห็นว่าก่อนเกิดไฟ ลมจะนิ่งสงบ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจะเห็นว่ามีลมพัดเข้ามาโหมกระหน่ำให้ไฟลุกมากขึ้นทุกที เพราะอากาศที่อยู่รอบ ๆ บริเวณที่เกิดไฟจะร้อน และทำให้ลอยตัวขึ้นสู่ด้านบน ในขณะเดียวที่อากาศเย็นจะวิ่งเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้เกิด ‘ลม’

ส่วนความรุนแรงของลมจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างมวลของอากาศเย็นและอากาศร้อนที่วิ่งเข้ามาปะทะกัน ถ้าแตกต่างกันมาก ลมก็จะรุนแรงมากตามไปด้วย ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีความชื้นที่พัดเข้ามาจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ด้วยพอดี พอความชื้นเจออากาศเย็น ก็ทำให้เกิดการกลั่นตัวลงมาเป็นน้ำฝน และเมื่อครบองค์ประกอบเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่มีความเร็วลมที่แรง แต่ก็จะกินพื้นที่ไม่ค่อยมากเท่าไรนัก โดยส่วนมากจะเกิดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน

ทั้งนี้ข้อเสียของ พายุฤดูร้อน คือ ความรุนแรงของลม ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ แล้ว ยังมีข้อดี คือ ‘การพัดพาเอาฝนมาตกในช่วงฤดูแล้ง’ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง มีผลผลิตที่ดี โดยเฉพาะพืชที่ปลูกในหน้านี้มักจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย คือ อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น

การเกิดของพายุฤดูร้อนในประเทศไทยจึงเป็นการมาเติมน้ำ และต่อลมหายใจในการปลูกพืชให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปีไหนที่มีพายุฤดูร้อนเข้ามามาก ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ก็มักจะได้ผลดีตามไปด้วย ตรงกันข้ามถ้าปีไหนมีพายุฤดูร้อนเข้ามาน้อย ผลผลิตก็จะลดลงน้อยด้วย

นอกจากนี้การเกิดฝนในช่วงหน้าแล้งก็ยังส่งผลให้ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้เป็นอย่างมากได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นของดีของประเทศไทยที่มีชัยภูมิตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความเหมาะสม ทำให้เกิดฝนในช่วงฤดูแล้ง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วยนั่นเอง