Monday, 29 April 2024
EV

‘RAC’ เตือน!! ‘รถอีวี’ อาจเสี่ยงใช้งานไม่ได้ ท่ามกลางอากาศหนาวจัด เหตุสภาวะเย็นยะเยือกกัดกร่อนประสิทธิภาพรถ-ทำสถานีชาร์จไฟขัดข้อง

(28 ม.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า รถยนต์ไฟฟ้าเสี่ยงใช้งานไม่ได้ในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากอุณหภูมิที่หนาวเหน็บส่งผลกระทบต่อสถานะของแบตเตอรี อ้างถึงคำเตือนจาก ‘RAC’ บริษัทผู้ให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินด้านยานยนต์แห่งสหราชอาณาจักร

ระยะทางการขับขี่ของรถอีวี ที่อาจลดลงราวๆ 20% ในสภาพอากาศหนาวเย็น กำลังก่อความกังวลใหญ่หลวงแก่เจ้าของรถไฟฟ้า เนื่องจากมันอาจทำให้ผู้ขับขี่ต้องแวะชาร์จไฟบ่อยครั้งขึ้น และก่อความเสี่ยงใช้งานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการเดินทาง

RAC เปิดเผยว่าพวกเขาจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับปัญหาที่พบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเวลานี้ จึงตัดสินใจติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟพิเศษบนรถตู้ของทางบริษัท

จากข้อมูลของ RAC พบว่าในทุกสายเรียกเข้าที่โทรศัพท์แจ้งให้ไปดูรถยนต์ไฟฟ้า มีอยู่ราวๆ 6% เป็นเพราะรถยนต์เหล่านั้นพลังงานหมด

คริส มิลล์วอร์ด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเทคนิคของ RAC ถึงขั้นอ้างว่าปัญหาขัดข้องที่เกิดขึ้นกับรถยนต์อีวี ทำให้ช่างของพวกเขาเจองานยากลำบากกว่าเดิม

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไอทีวีนิวส์ว่า “มันมีความต่างกัน เพราะถ้ารถอีวีแบตหมด ทุกๆอย่างจะหยุดทำงานและล้อจะถูกล็อก ดังนั้นมันจึงเป็นงานยากกว่าเดิมที่จะเคลื่อนย้ายออกจากถนน”

เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา สถานีชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้าทั้งหลายทั่วเมืองชิคาโก ได้รับการเรียกขานจากพวกชาวบ้านว่าเป็น ‘สุสานของเทสลา’ เนื่องจากสภาพอากาศอันหนาวเหน็บกัดกร่อนประสิทธิภาพการทำงานของรถอีวี ขณะที่สถานีชาร์จไฟทั้งหลายเกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถจ่ายไฟป้อนแก่รถอีวีได้

สภาพอากาศเย็นสามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า ลดระยะทางการวิ่งได้ลงอย่างมากในหลายรุ่น เช่นเดียวกับปัญหาขัดข้องอื่นๆ ทั้งนี้จากการตรวจสอบรถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยม 18 รุ่น จาก Recurrent บริษัทวิเคราะห์รถยนต์อีวี พบว่าสภาพอากาศหนาวสุดขั้วทำให้ระยะการขับขี่ลดลงโดยเฉลี่ยถึง 70% โดยที่โมเดล S ของเทสลา เป็นหนึ่งในรุ่นที่ทำผลงานได้แย่ที่สุด

เมื่อปีที่แล้ว ทั้งเซ็นตริกา และรอยัลเมล รายงานพบ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรีของพวกเขา มีระยะการวิ่งลดลง 40% ท่ามกลางอุณหภูมิที่ลดต่ำลง ส่วนผลการศึกษาหนึ่งของทางนิตยสาร WhatCar? พบว่ารถยนต์ที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือ นิสสัน อริยะ แต่กระนั้นรถยนต์รุ่นนี้ก็มีศักยภาพลดน้อยกว่าเดิมถึง 16%

รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรุ่นนี้ มีระยะทางการขับเพียงเหลือเพียง 296 ไมล์ (ราว 476 กิโลเมตร) ในสภาพอากาศเย็น จากระดับ 322 ไมล์ (ราว 581 กิโลเมตร) ในสภาพอากาศปกติ ส่วนเทสลา โมเดล วาย ตามมาเป็นอันดับ 2 แต่ศักยภาพในการขับขี่ ลดลง 17.8% จากระดับที่แล่นได้อย่างเป็นทางการ 331 ไมล์ (500 กิโลเมตร)

‘เอ็ดมุนด์ คิง’ ประธานสมาคมยานยนต์แห่งสหราชอาณาจักร ยอมรับระยะการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบ และประเด็นความน่าเชื่อถือเกิดขึ้นกับรถเกือบทุกคันในสภาพอากาศหนาวเหน็บ อย่างไรก็ตามเขามองว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอเมริกานั้น เป็นการพูดเกินจริงเลยเถิดจนเกินไป

“ข้อเท็จจริงคือ รถยนต์ทุกคันเย็นขึ้นและรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากภาวะที่เย็นขึ้น ในแง่ของระยะการวิ่ง มันเป็นบางอย่างที่เกิดขึ้นตอนสภาพอากาศเย็นจัด คาดหมายว่าระยะการวิ่งจะลดลงราว 10% ถึง 20%” เขากล่าว

“ดังนั้น ในแง่ของความเป็นจริง ถ้าหากรถของคุณมีระยะการวิ่งสูงสุด 200 ไมล์ (ราว 320 กิโลเมตร) มันอาจลดลงเหลือ160 ไมล์ (ราว 257 กิโลเมตร) ทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับแบตเตอรีลิเทียมไอออนและปฏิกิริยาทางเคมี ปฏิกิริยาทางเคมีจะช้าลงเมื่ออยู่ในสภาพอากาศหนาวสุดขั้วและร้อนสุดขั้วจริงๆ อย่างไรก็ตามพวกผู้ขับขี่ส่วนใหญ่รู้ดีอยู่แล้วว่าพวกเขาต้องแลกกับอะไรในฤดูหนาวเช่นนี้ ระยะในการเดินทางทำได้ไม่ไกลนัก”

‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ เดินแผนปลดระวางรถเมล์ NGV 350 คัน แล้วเสร็จ ผันตัวเป็น ‘ขนส่งไร้มลพิษ’ ให้บริการ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เต็มรูปแบบ 

(29 ม.ค. 67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งบริษัทได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ได้ทำการประกาศนโยบายพัฒนาระบบขนส่งของไทยให้ก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยการปลดประจำการรถเมล์ NGV ทั้งหมด 350 คัน จะต้องถูกยกเลิกการใช้งานทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยกเลิกการใช้งานรถ NGV คันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในภาคการขนส่งที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ทั้งยังเตรียมตัวสู่ยุค Net Zero Carbon ที่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กร “เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ขณะเดียวกัน TSB ได้ประกาศเป็นนโยบายให้รถทุกคันเปิดรับชำระค่าโดยสารทั้ง 2 ระบบ ผู้เดินทางสามารถใช้ ‘เงินสด’  จ่ายผ่านบัสโฮสเตส (พนักงานเก็บค่าโดยสาร) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่มากขึ้น ด้วยอัตราค่าโดยสารเริ่มเพียง 15-20-25 บาท ตามระยะทาง

นอกจากนี้ ยังมีบริการรองรับสำหรับคนใช้งานประจำ ในการใช้บัตร HOP Card เพื่อรับสิทธิประโยชน์ ‘เดลิ แมกซ์ แฟร์’ Daily Max Fare เดินทางกี่ต่อ กี่สาย กี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดจำนวนภายในหนึ่งวัน ด้วยการชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวันเท่านั้น หรือจะนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ง่าย ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Shopee

เปิดตัว!! ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ’ คันแรกของไทย พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้ดำเนินการ โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G รอบบึงพระราม ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมีผู้บริหารของหน่วยงานร่วมดำเนินการและหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ.

โดยการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้ เป็นกิจกรรมของโครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ระดับ 3 ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันผ่านเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณรอบบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100% เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในระดับที่สูงขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่การใช้งานอื่นในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการ ทางโครงการจะให้บริการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างวันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถจองที่นั่งผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ ‘5G Auto Bus’ และขึ้นรถได้จากจุดจอดทั้ง 4 จุด ได้แก่

1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา
2. วัดมหาธาตุ
3. วัดธรรมิกราช และ
4. วัดพระราม

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

กระจ่าง!! Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนในเกาหลีใต้ เพราะขายหมดจนไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

(8 ก.พ.67) Business Tomorrow ได้ออกบทความกรณีข่าวสะพัด Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนจริงหรือไม่? โดยมีเนื้อหาดังนี้...

จากเหตุการณ์ที่ประเทศเกาหลีขายรถยนต์ EV อย่าง Tesla ได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมองว่าเป็นข่าวร้ายและขาลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับวงการ EV และ Tesla ที่ Tesla ขายรถในเกาหลีใต้ทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เพียงแค่ 1 คัน

📌 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?

เพราะหากเราเจาะเข้าไปดูรายละเอียดให้ดีแล้ว เราจะทราบว่า Tesla ในเกาหลี (หรือแม้แต่ในไทยก็ตาม) จะไม่ได้รับรถจากโรงงานจีนเลยในเดือนแรกของไตรมาส เพราะรถทั้งหมดกำลังถูกขนผ่านเรือจากจีนเข้ามาอยู่ กว่าจะได้รับรถก็คือต้องรอเป็นเดือนที่ 2 และ 3 ของไตรมาส ทำให้ยอดขาย Tesla ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจะออกมาในรูปแบบนี้เสมอ คือยอดขายในแต่ละไตรมาสจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเดือน และไปสูงสุดที่เดือนที่ 3 เสมอ

📌 ทำไม Tesla ถึงต้องทำแบบนี้ ?

ทั้งนี้เพื่อ Maximize ให้ยอดจดทะเบียน หรือยอดขายของรถสูงที่สุดในไตรมาสเดียว หาก Tesla ไม่กำหนดการส่งออกจากจีนให้ดี และส่งรถออกมาในเดือนสุดท้ายของไตรมาส จะทำให้รถเหล่านั้นอยู่ระหว่างการเดินทางในช่วงการปิดงบรายไตรมาส และไม่ได้รับรู้เข้าไปในบัญชี

ทำให้ในเดือนแรกของทุกไตรมาส Tesla จะส่งรถออกไปให้ประเทศที่อยู่ไกลที่สุดก่อน ที่ใช้เวลาเดินทางมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าในไตรมาสนั้น ประเทศนั้นจะได้มีเวลาส่งมอบรถให้ได้มากที่สุด (หากส่งเรือไปถึงช้า เวลาขายในไตรมาสก็จะน้อย) ก่อนที่จะค่อย ๆ ส่งออกให้กับประเทศที่อยู่ใกล้ขึ้น ให้มีเวลาในการขายที่มากขึ้นไปตาม ๆ กัน 

จนเดือนสุดท้ายที่ไม่สามารถส่งรถออกทัน Tesla ก็จะขายรถเหล่านั้นในตลาด Domestic ของจีนให้มากที่สุด เพื่อเร่งยอดการส่งมอบในแต่ละไตรมาส

📌 สรุปแล้วดีกับ Tesla ?

ทำให้หากเราเห็นว่า Tesla ในเกาหลีขายได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคม นั้นหมายความว่า Tesla ได้ขายรถในเกาหลีออกไปเกือบทุกคันจนหมดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ! ทำให้ไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า จริง ๆ แล้วนี่เป็นข่าวที่ดีมากสำหรับ Tesla และวงการรถ EV ในเกาหลีเลยทีเดียว

‘Huawei’ โชว์เหนือ ผุดแท่นชาร์จ EV 1 วินาทีต่อ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาพอๆ กับเติมน้ำมัน-เร็วกว่าแท่นชาร์จ Tesla ถึง 2 เท่า

(15 ก.พ. 67) รายงานข่าวระบุว่า Huawei Technologies ได้เปิดตัวสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นผลงานของ Huawei Digital Power มีความสามารถในการอัดประจุไฟฟ้าได้มากถึง 600 kW และโฆษณาว่า “ทุกการชาร์จ 1 วินาที จะได้ระยะเพิ่มขึ้น 1 กม.” นั่นหมายความว่า ชาร์จเพียง10 นาทีจะวิ่งได้ระยะทางไกล 600 กม. ซึ่งใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและเร็วกว่าสถานี Supercharger ของ Tesla ถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ Huawei วางแผนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าวด้วยจำนวนกว่า 1 แสนแห่งในประเทศจีนภายในปีนี้ โดยผ่านการร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์การค้า รวมถึงบริเวณใกล้เคียงมอเตอร์เวย์ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งสถานีชาร์จความเร็วสูงของ Huawei นั้นสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกรุ่นทุกแบรนด์

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีสถานีชาร์จราว 2.7 ล้านแห่ง ตามข้อมูลของพันธมิตรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 40% ภายในปีนี้ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นหัวชาร์จเร็ว

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

'สภาอุตฯ' เผย!! ตัวเลขเดือนมกราคม 67 ยอดผลิตรถ EV พุ่ง 9,000% ยอดขายในตลาดเติบโต 200% มี EV ไหลวนบนถนนแล้ว 1.48 แสนคัน

(23 ก.พ. 67) เริ่มต้นเดือนแรกของปีด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยแพร่รายงานจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนมกราคม 2567

โดยยอดผลิต EV พุ่งกระฉูด อาทิ ในส่วนของรถยนต์นั่ง เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ 52,509 คัน ลดลง -7.27% จากเดือนมกราคม 2566 โดยตัวเลขการผลิต EV พุ่งกระฉูดเกือบหนึ่งหมื่นเปอร์เซ็นต์จากการเริ่มตั้งโรงงานผลิตต่าง ๆ ของค่ายรถโดยเฉพาะแบรนด์จีน ซึ่งการผลิตจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย EV 3.5 ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 32,655 คัน ลดลง -28.95% จากเดือนมกราคม 2566
-แบตเตอรี่ (BEV) 652 คัน เพิ่มขึ้น +9,214.29% จากเดือนมกราคม 2566 
-ไฮบริด (HEV) 18,801 คัน เพิ่มขึ้น +94.63% จากเดือนมกราคม 2566
-ปลั๊กอิน (PHEV) 401 คัน ลดลง -59.70% จากเดือนมกราคม 2566

ด้านยอดขาย EV เริ่มท้าทายตลาด โดยเมื่อเทียบสัดส่วนเดือนมกราคมปีก่อนกับปีนี้ จะเห็นได้ว่า ปีที่แล้ว ICE ครองตลาด 30% ส่วน BEV และ HEV ยังมีตัวเลขอยู่ในหลักหน่วย แต่ปีนี้ การเติบโตของอีวีที่มีหลายเจ้าเข้าตลาดไทยมา ทำให้ยอดขาย BEV เติบโตในระดับ 200% ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 14,373 คัน สัดส่วน 26.22 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -32.81%
-แบตเตอรี่ (BEV) 9,763 คัน สัดส่วน 17.81 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +205.48%
-ไฮบริด (HEV) 10,130 คัน สัดส่วน 18.48 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +71.52%
-ปลั๊กอิน (PHEV) 98 คัน สัดส่วน 0.18 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -67.66%

ส่วนยอด EV สะสมนั้น BEV ยังคงเป็นดาวเด่น ดังนี้...

- แบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้น +301.75% จากปีก่อน
- ไฮบริด (HEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 357,645 คัน เพิ่มขึ้น +33.75% จากปีก่อน
- ปลั๊กอิน (PHEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 54,907 คัน เพิ่มขึ้น + 26.63 จากปีก่อน

‘จีน-สหรัฐฯ’ เตือนภัย แบตเตอรี่รถยนต์ EV  ต้นเหตุเพลิงไหม้ ตูมเดียว วอดทั้งตึก!!

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 67 กลายเป็น ‘ศุกร์อาถรรพ์’ โดยไม่ได้นัดหมาย ทั้งที่เมืองหนานจิง ในมณฑลเจียงซู ของจีน และที่มหานครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์สูงในย่านใจกลางเมือง ในวันเดียวกัน และยังเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากทั้ง 2 แห่ง ซึ่งสาเหตุเพลิงไหม้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ก็เหมือนกันอย่างเหลือเชื่อ ว่าเกิดจากแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระเบิด เผาวอดอะพาร์ตเมนต์ทั้งหลังในพริบตา

โดยเหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในย่านหยูฮวาไถ ทางฝั่งตะวันออกของเมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ต้นเพลิงเกิดขึ้นบริเวณอาคารจอดรถจักรยานยนต์ชั้น 1 ของอะพาร์ตเมนต์ 30 ชั้น ที่มีห้องพักรวมกันถึง 400 ยูนิต ได้เกิดเพลิงลุกไหม้ และลุกลามขึ้นไปยังตัวอาคารชั้นบนอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุไฟไหม้ครั้งนี้มากถึง 15 ราย และบาดเจ็บอีก  44 ราย

หลังจากที่ทางการหนานจิงได้ระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และตำรวจเข้าสืบสวนหาสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่ง ที่จอดชาร์จไฟอยู่ภายในอาคารจอดรถ ซึ่งมักมีแท่นชาร์จไฟตั้งไว้ให้บริการสำหรับผู้ใช้รถยนต์ EV ภายในอาคาร แต่เมื่อเกิดแบตเตอรี่ระเบิด ประกอบกับพื้นที่บริเวณลานจอดรถมันเปิดโล่ง จึงทำให้ไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และลามขึ้นไปชั้นบนของอาคารที่มีผู้พักอาศัยหนาแน่น จึงกลายเป็นเหตุเศร้าสลดดังข่าว

ข้ามฝั่งมาที่มหานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์ 6 ชััน 31 ยูนิต ในเขตฮาร์เลม ย่านแมนฮัตตัน ที่มีต้นเพลิงมาจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของรถจักรยานไฟฟ้า ที่จอดชาร์จไฟที่ชั้น 3 ของอาคาร ระเบิดจนเกิดเพลิงไหม้วอดเกือบทั้งอาคารเช่นเดียวกัน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 17 ราย ส่วนผู้พักอาศัยรายอื่นต้องหนีตายโดยการโรยตัวด้วยเชือกออกมานอกอาคาร

‘อีริค อดัมส์’ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ยอมรับว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เหตุไฟไหม้เกิดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระเบิด ซึ่งเคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในนิวยอร์ก นับตั้งแต่หลังยุค Covid-19 เป็นต้นมา

โดยเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะเกิดเหตุไฟไหม้จากแบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 18 รายมาแล้ว ทำให้นายกเทศมนตรีอดัมส์ พยายามที่จะจัดระเบียบกฎหมายธุรกิจการให้บริการด้านการขนส่งอาหาร และสินค้าใหม่

เช่นเดียวกันกับที่ประเทศจีน พบว่ามีเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2023 ที่ผ่านมาทั่วประเทศถึง 21,000 เคส เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 17.4%

และจากสถิติอุบัติเหตุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระเบิดกว่า 80% มักเกิดขณะชาร์จไฟทิ้งไว้ และโดยเฉพาะการชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่มีใครเฝ้า พอเกิดเหตุระเบิดไฟไหม้ จึงยากที่จะดับได้ทัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศจีน ยังมีธุรกิจรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ให้วิ่งได้เร็วขึ้น หรือบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการใช้งานเกินศักยภาพเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ และยังเกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และระเบิดได้เมื่อมีการชาร์จไฟนานๆ

อีกทั้งประเทศจีน ยังเป็นผู้ผลิตรถจักรยานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีผู้ใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ย 1 ใน 4 ของชาวจีนมีรถจักรยานไฟฟ้าใช้ และความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นผลพวงจากการรณรงค์เรื่องการลดการใช้รถยนต์พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

จากเหตุการณ์เพลิงใหม่อะพาร์ตเมนต์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นภัยใกล้ตัวที่มาจากรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีมาตรการเรื่องการจัดระเบียบ การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในอาคารที่เข้มงวดมากขึ้น และให้ข้อมูลการดูแลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการชาร์จผิด มีสิทธิ์ดับหมู่ยกตึก อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในต่างประเทศนั่นเอง

‘จีน’ เปิดตัว ‘Walker S’ พนักงานใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรม พร้อมรับตำแหน่งหุ่นยนต์ภาคปฏิบัติการ ประจำสายผลิตรถอีวี

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 67 สำนักข่าวซินหัว, เซินเจิ้น รายงานว่า วิดีโอที่เผยแพร่โดย Ubtech บริษัทหุ่นยนต์ในนครเซินเจิ้น เผยให้เห็นว่า ‘วอล์กเกอร์ เอส’ (Walker S) หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เวอร์ชัน เพื่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมของบริษัทกำลัง ‘ฝึกอบรมภาคปฏิบัติ’ อยู่ในโรงงานของนีโอ (NIO) บริษัทยานยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีน นับเป็นความสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ร่วมกับมนุษย์ในสายประกอบของโรงงานผลิตรถยนต์ เพื่อการประกอบและตรวจสอบคุณภาพของยานยนต์

‘หุ่นยนต์วอล์กเกอร์ เอส’ สูง 170 เซนติเมตร มีข้อต่อ 41 ชิ้น เพียบพร้อมด้วยระบบการรับรู้ที่ครอบคลุม เช่น การรับรู้แรงกระทำหลายมิติ, การมองเห็นสามมิติ, การได้ยินรอบทิศทาง และระบบการวัดระยะทาง เป็นต้น มันจึงสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายประกอบ เพื่อประกอบและตรวจสอบคุณภาพของรถยนต์

นอกจากนี้ หุ่นยนต์รุ่นนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ได้รับการอัปเกรดอย่างครอบคลุม เช่น ระบบระบุพิกัด (VPS) การทำงานอย่างสอดประสานระหว่างมือกับตา การควบคุมการเคลื่อนไหว และโมเดลวางแผนการเคลื่อนที่ (Path Planning) แบบหลากหลาย จึงสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top