Monday, 29 April 2024
EV

‘กูรู EV จีน’ ชี้ ‘การปฏิวัติรถยนต์’ เข้าสู่ระยะใหม่ ใช้ชิปเป็นเทคโนโลยีหลัก ขับเคลื่อนการเดินทางอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะโลกกำลังผลักดันเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ‘เฉิน ชิงเฉวียน’ (C.C.Chan) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง เชื่อว่าการปฏิวัติรถยนต์ถึงเวลาเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ เฉินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปฏิวัติระยะแรก คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า และขณะนี้ถึงเวลาเข้าสู่การปฏิวัติช่วงครึ่งหลัง โดยอาศัยชิปรถยนต์และระบบปฏิบัติการเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยอนาคตรถยนต์จะเปลี่ยนจากวิธีขนส่งแบบดั้งเดิม เป็นพื้นที่เดินทางเคลื่อนที่อัจฉริยะ นำสู่การบูรณาการเครือข่ายการขนส่ง พลังงาน ข้อมูล และวัฒนธรรม

เฉินเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมถึงเป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) โดยเขาได้รับเลือกเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน เมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นนักวิชาการจากฮ่องกงคนแรก

เฉินเริ่มมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กว่า 40 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ โดยเขาได้รับรางวัลทัชชิง ไชน่า อะวอร์ด (Touching China Award) ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปี เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อยกย่องคุณูปการอันโดดเด่นที่มีต่อเครื่องยนต์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า

เฉินระบุว่า การวิจัยด้านวิศวกรรมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ พร้อมเน้นย้ำ ความสำคัญของการแปรเปลี่ยนผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) สู่ผลิตภัณฑ์ในแวดวงวิศวกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวพันกับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฉินมองว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการและการยอมรับของตลาดด้วย โดยมีเพียงวิธีนี้ที่สามารถผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้

เฉินออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก รุ่น ‘ยู 2001’ (U2001) ในปี 1993 โดย ‘ยู’ หมายถึง ‘สามัคคี’ และ ‘2001’ หมายถึง ‘การมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21’ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ใช้พลังงานแบบบูรณาการ แบตเตอรี่พลังงานสูง และระบบช่วยเหลือการขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีอัตราเร่ง 6.3 วินาทีต่อ 100 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะขับขี่ 180 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างเฉินมีความหมั่นเพียรอย่างมาก และเป็นเลิศในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความปรารถนาจะรับใช้มาตุภูมิด้วยความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณตามหลัง คุณก็จะถูกแซงหน้า” เฉินกล่าว “ผมรู้สึกว่าโชคชะตาของคนๆ หนึ่งนั้น สัมพันธ์กับประเทศอย่างใกล้ชิด”

เฉินเกิดในครอบครัวผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียเมื่อปี 1937 และเดินทางสู่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1953 เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขณะมีอายุ 16 ปี ต่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1982 และมีส่วนร่วมในการสอนและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่นั้น

เฉินบูรณาการยานยนต์ มอเตอร์ การควบคุม และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ากับการศึกษาแบบสหวิทยาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมวางรากฐานสำหรับทฤษฎียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึงมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีหลักอื่นๆ อย่างโดดเด่น จนขึ้นแท่นเป็นผู้ชี้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของจีน

เฉิน ในวัย 86 ปี ยังคงมีไหวพริบว่องไวและความจำดีเยี่ยม ทั้งยังเข้าใจแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน

“ผมสรุปประเด็น 3 ข้อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ความต้องการเร่งด่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การดูแลนักวิทยาศาสตร์และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับประเทศและโลกของนักวิทยาศาสตร์” เฉิน อธิบาย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน สนับสนุนการพัฒนาของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติอย่างชัดเจน โดยมีการออกสารพัดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เฉินแนะนำว่า ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพื้นฐาน แต่ค่อนข้างมีจุดอ่อนด้านการประยุกต์ใช้ โดยฮ่องกงสามารถทำงานร่วมกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเมืองเหล่านั้น

เฉินชี้ว่า แต่ละเมืองในเขตเศรษฐกิจฯ มีข้อได้เปรียบของตัวเอง เช่น เซินเจิ้นมีผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมาก ตงก่วนมีระบบประมวลผลสนับสนุนที่สมบูรณ์ จึงควรมีการจัดตั้งห่วงโซ่ระบบนิเวศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันทรัพยากรและเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมโดยรวมของเขตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเฉินสาละวนกับการเตรียมสุนทรพจน์ เพื่อการประชุมวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้ โดยเขาจะเดินหน้าแบ่งปันแนวคิดการปฏิวัติรถยนต์ต่อไป พร้อมเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องแสวงหากฎธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ต้องคิดการณ์ไกลยามทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยึดมั่นทิศทางที่ถูกต้องจนนาทีสุดท้าย

‘ไทยซัมมิท’ ทุ่ม 5 พันล้าน พัฒนาฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รองรับ EV จีน หวังกวาดรายได้ทั้งใน-นอกประเทศ 9 หมื่นล้าน

กลุ่มไทยซัมมิทเดินหน้าลงทุนอีก 5,000 ล้าน พัฒนาฐานผลิตทั้งในและต่างประเทศ ระบุหลังโควิดยอดขายสูงกำไรลดลง เผย ได้งานค่ายบิ๊กทรีในอเมริกา ส่วนในไทยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รับค่ายรถจีนอีกอย่างน้อย 5 แบรนด์ ลั่น ปีนี้โกยรายได้ไม่น้อยกว่า 9 หมื่นล้าน

(24 พ.ค. 66) นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า กลุ่มไทยซัมมิทเตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยหลัก ๆ เน้นการลงทุนตามอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นการลงทุนสำหรับธุรกิจในประเทศไทย ที่จะเน้นการลงทุนแม่พิมพ์สำหรับรองรับโมเดลใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งอเมริกาใต้, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย รวมไปถึงฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย

“เรียกว่าการลงทุนของไทยซัมมิทในปีนี้ หลัก ๆ จะเป็นการลงทุนสำหรับฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งลูกค้าหลักในกลุ่ม Big 3 เริ่มขยับมาลงทุนในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนในไทยเองเราก็กำลังเตรียมงานเพื่อรองรับลูกค้าในส่วนนี้ล่วงหน้า อย่างน้อย 3-4 ปี ล่วงหน้า ซึ่งต้องรอให้บรรดาค่ายรถยนต์ออกมาประกาศความชัดเจน แต่วันนี้ไทยซัมมิทเตรียมงานในส่วนนี้และยุ่งกับตรงนี้อยู่” นางสาวชนาพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวชนาพรรณยังเปิดเผยถึงโอกาสของกลุ่มไทยซัมมิท หลังจากมีรถ EV เข้ามาบุกตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง และเร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถแบรนด์จีนอีก 4-5 แบรนด์ พร้อมที่จะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทย ซึ่งไทยซัมมิทได้มีโอกาสซัพพลายชิ้นส่วน ทั้งแบรนด์ที่ไฟนอลแล้วและแบรนด์ที่กำลังเตรียมเข้ามาทำตลาด ไทยซัมมิทอยู่ระหว่างการนำเสนอราคา

นอกจากนี้ อาจจะมีการลงทุนเพื่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ หลังจากก่อนหน้านี้การบริหารจัดการภายในประเทศได้มีการปรับเปลี่ยน และโรงงานบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“ตอนนี้บางรายให้เราเข้าไปเสนอราคาและนำเข้าไปที่จีน พวกที่ยังไม่จบคือยังอยู่ระหว่างทำราคากันอยู่ ส่วนกลุ่มที่จบแล้วกำลังดูว่าแต่ละโมเดลเราได้อะไรมากน้อยแค่ไหน ก็คละ ๆ กันไป ผลประกอบการตอนนี้ยอดขายสูงจริง แต่กำไรกลับลดลง” สำหรับในแง่ของเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้รวมไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนนโยบายหลัก ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจนั้น คือเน้นเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม โดยในส่วนของความสามารถในการทำกำไรหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้ภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยน แม้ว่าจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของกำไรนั้นกลับลดลง ต้นทุนในการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องพยายามในการควบคุมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ

“ปีนี้เราเองก็ยังไปไม่ถึงตัวเลขที่ตั้งใจไว้ คือแสนล้าน เพราะปัจจัยทุกอย่างเปลี่ยน แต่ถ้าธุรกิจของคนไทยสามารถก้าวขึ้นไปในระดับนั้นได้จริงจะถือเป็นความภูมิใจและไทยซัมมิทเองอยากจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้” นางสาวชนาพรรณ กล่าว
.
รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ อนาคตเชื่อว่าน่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอาจจะมีการแย่งงานกัน เพราะอย่างน้อยจะมี 5 โรงงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ถ้าจะประเมินคราว ๆ 1 โรงงานใช้พนักงาน 1,000 คน และกลุ่มผู้ผลิตรายเดิมก็ต้องมีการปรับปรุงขยายไลน์ผลิตเพิ่มเติม

ตรงนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกคนต่างต้องการพนักงานที่มีความพร้อมในการทำงานได้ทันที และยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียง หรือมีความใกล้ชิดจะถูกดึงตัวไป ไทยซัมมิท มองว่าตรงนี้อาจจะกลายเป็นปัญหากระทบกันทั้งซัพพลายเชน ถ้าไม่เร่งหาทางออก

'พีทีจี เอ็นเนอยี' กางแผนธุรกิจสถานี EV Charging ชู จุดเด่นตู้ชาร์จฟาสต์สปีด ชิมลาง 65 จุดทั่วไทยในปีนี้

(26 พ.ค. 66) นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานีอัดประจุไฟฟ้า EV Charging ของพีทีจีฯ ได้จับมือร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยดำเนินงานภายใต้ชื่อ EleX by EGAT Max ปัจจุบันเปิดให้บริการ 42 จุด โดยสาขาแรกที่เปิดอยู่ที่ เขาใหญ่ ปากช่อง 

สำหรับจุดเด่นของสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT Max ประกอบไปด้วย แท่นชาร์จไฟเป็นแบบควิกชาร์จ ใช้เวลาการชาร์จประมาณ 30-40 นาที โดยติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว (DC Fast Charge) ขนาด 125 kW สะดวก รวดเร็ว, คุณภาพการให้บริการ มาตรฐานต่าง ๆ ที่ร่วมกับ EGAT ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ของลูกค้า นอกจากนั้นแล้ว ระบบเครือข่ายการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ที่มีความเสถียร ใช้งานง่าย รองรับการชำระเงิน ครบจบที่เดียว ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีความแข็งแกร่ง

นายรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้าของธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า หากมีความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะขยายธุรกิจ เราได้ทำการศึกษาหลายโมเดลธุรกิจ เกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุก รถขนาดใหญ่ รวมไปถึงตู้สวอปแบตเตอรี่ ซึ่งหากตลาดมีการเติบโต มีความต้องการ เราในฐานะผู้ให้บริการถ้าลูกค้ามีความเชื่อมั่น ก็พร้อมขยายเข้าไป พร้อมลงทุน เราพร้อมทำทุกอย่างให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันอาจจะนำระบบสมาชิก หรือ มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Max me ให้กับลูกค้าด้วย

‘อิสราเอล’ เริ่มทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าระบบชาร์จไร้สายบนถนน วิ่งไปชาร์จไปได้ต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักนานกว่า 100 ชั่วโมง

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัว, เยรูซาเล็ม รายงานว่า แถลงการณ์จากอิเลคทรีออน ไวร์เลส (Electreon Wireless) บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงสัญชาติอิสราเอล เปิดเผยว่าบริษัทฯ เริ่มการทดสอบวิ่งรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนชาร์จไร้สายแบบไม่หยุดพักนาน 100 ชั่วโมงแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค) ที่ผ่านมา

บริษัทฯ สร้างระบบชาร์จผ่านถนนโดยใช้ขดลวดทองแดงแบบพิเศษที่ฝังใต้พื้นผิวถนน ซึ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จพร้อมขับขี่บนถนนได้

รายงานระบุว่า การทดสอบขับรถยนต์ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ดำเนินการบนถนนทดสอบที่สร้างแบบพิเศษยาว 200 เมตร ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในหมู่บ้านชายฝั่งเบตยาไนทางตอนกลางของอิสราเอล

อนึ่ง ก่อนหน้าในเดือนนี้ อิเลคทรีออน ไวร์เลสได้เปิดตัวเส้นทางรถบัสสาธารณะที่ติดตั้งเทคโนโลยีชาร์จไร้สายในเมืองบัดเบลลิงเงนของเยอรมนี โดยบริษัทฯ ยังได้ลงนามข้อตกลงกับหุ้นส่วนหลายรายเพื่อสร้างถนนชาร์จไร้สายในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป

‘PLANET’ ผนึกกำลังขาใหญ่ ‘จีน-สิงคโปร์’ ลุยธุรกิจรถยนต์ EV-สถานีชาร์จในไทยเต็มรูปแบบ

วันที่ (7 มิ.ย. 66) นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ว่า บริษัท Singapore Electric Vehicles Pte (SEV) ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสิงคโปร์

ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการตลาดและจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ SOKON right-hand drive ในสิงคโปร์และประเทศไทย ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท แพลนเน็ต อีวี จำกัด (Planet EV) ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัทฯ คิดเป็น 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเพิ่มทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งการผลิต ซื้อขาย ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ตลอดจนธุรกิจให้บริการสถานี สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวง

สำหรับ Planet EV และ SEV ในฐานะ Joint venture ยังได้ลงนามกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% รายใหญ่จากจีน คือ Sokon motors chongqing group เพื่อเป็นตัวจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ไฟฟ้าประเภท ประเภทรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก มินิแวนบรรทุกไฟฟ้า ยี่ห้อ SOKON ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ในเบื้องต้น Planet EV และ SEV จะร่วมกันนำรถยนต์ไฟฟ้า 100% ยี่ห้อ Sokon มาทำการตลาดในประเทศไทย ในรูปแบบของการขายและให้เช่า โดย Planet EV จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินการธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างครบวงจร Planet ยังลงนามความร่วมมือกับบริษัท Beep technologies (Voltality) ผู้ให้บริการโซลูชั่น plug-and-play ชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์ ในการติดตั้งอุปกรณ์ POS สำหรับเชื่อม EV charger ทุกชนิด เข้าในระบบการชำระเงินเดียวกัน (Single payment platform) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
 

เน็กซ์ พอยท์’ ทุ่ม 1 พันล้าน!! ตั้งโรงงานมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งแรกในไทย เร่งตอกเสาเข็มภายในปี 66 หวังลดนำเข้าชิ้นส่วนรถอีวีจากต่างประเทศ

‘เน็กซ์ พอยท์’ ทุ่มงบ 1 พันล้านบาท สร้างโรงงานผลิตมอเตอร์ไฟฟ้ารถ EV แห่งแรกในไทย หวังลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เร่งตอกเสาเข็มภายในปี 66 เตรียมมาตรการอุ้มลูกค้านำรถเก่าแลกรถใหม่ การันตีราคาสูงแตะ 20%

เมื่อไม่นานนี้ นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในการก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่ใกล้เคียงกับ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแบตเตอรี่ ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่มีปัญหาก็น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 66

สำหรับการก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์รถ EV ขึ้นในประเทศไทยนั้น บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพยายามใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากที่สุด ในการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันบริษัทฯ จะมีสัดส่วนในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศอยู่แล้วประมาณ 50% ก็ตาม แต่หากมีโรงงานมอเตอร์ในประเทศไทย ก็จะสามารถลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศลงได้อีก และช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถ EV ต่อคันลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคารถ EV ลดลงตามไปด้วย เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงาน ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป หันมาเปลี่ยนรถจากรถน้ำมันมาเป็นรถ EV มากขึ้น

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นในระยะแรกมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานมอเตอร์รถ EV ดังกล่าว จะนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในไทยก่อน และในระยะถัดไปหากมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้วก็วางแผนที่จะส่งออกมอเตอร์รถ EV ไปจำหน่ายยังประเทศในกลุ่มอาเซียน และส่งออกไปขายทั่วโลกตามลำดับ เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตมอเตอร์รถ EV ของโลกให้ได้

“เวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสดีเพียงครั้งเดียว ที่เราจำเป็นต้องเร่งมือสร้างโรงงานมอเตอร์รถ EV เพราะหากเราไม่ทำแล้วมีประเทศเพื่อนบ้านชิงทำก่อนก็อาจจะเสียโอกาส และทำให้ประเทศอื่นในแถบภูมภาคนี้แซงเราจนเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าไปก่อนได้”

นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ หรือหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องมีรถอยู่ในฟีดจำนวนมาก เมื่อใช้งานไปครบอายุการใช้งานตามมาตรฐานสากลประมาณ 7-8 ปี ก็อาจต้องเปลี่ยนรถเพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่สมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงวางแผนไว้เบื้องต้นว่า หากใช้งานรถของเน็กซ์ผ่านไป 7 -8 ปีแล้วต้องการนำรถเก่ามาเปลี่ยนฝูงรถใหม่ก็สามารถนำมาตีเทิร์นได้ ซึ่งบริษัทฯจะการันตีให้สูงถึง 15-20 % ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้เกิดความมั่นใจในการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่องต่อไป

'Arun Plus' ผนึก 'CATL' ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ EV ในไทย ดันไทยสู่ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน

(9 มิ.ย. 66) Arun Plus – CATL บรรลุข้อตกลงร่วมจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) พร้อมด้วย 
Mr. Ni Zheng, Executive president of overseas car business, and CEO of Japan & Korea affiliate, Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพ็กโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบา และมีความปลอดภัยสูง เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือกับ CATL ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้นที่งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในอนาคต ด้วย CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง Arun Plus มุ่งมั่นที่จะสร้างความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ร่วมกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ก่อตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (Horizon Plus) เพื่อดำเนินการผลิต EV รองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573

ซึ่งการก่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ โรงงานผลิต EV ดังกล่าว และในอนาคต Arun Plus ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต

ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม Arun Plus แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

6 ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่ของจีน เล็งตั้งฐานการผลิตในไทย หวังดันไทยสู่ Hub ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย

หากพูดถึง ‘The Big 6’ แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของจีน ต้องเอ่ยชื่อ BYD (Build Your Dreams), Chongqing Changan, JAC Motors, Jiangling Motors, Great Wall Motor และ Geely

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ‘Geely’ ตามหลัง ‘Great Wall Motor’ เดินหน้ามาลงทุนธุรกิจ EV ในไทย

‘Geely’ หนึ่งในค่ายรถรายใหญ่ของจีน มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของไทย ประกอบด้วย การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งฐานการผลิตในไทย

Geely กำลังพิจารณาแผนการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยครั้งใหญ่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้ยี่ห้อ ‘Radar’ สอดคล้องกับ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ที่เผยว่า ได้มีการหารือกับค่ายรถ EV จีนยักษ์ใหญ่ 6 บริษัท หรือ ‘The Big 6’

ได้แก่ ‘บีวายดี’ (BYD: Build Your Dreams), ‘ฉงชิ่ง ฉางอัน’ (Chongqing Changan), ‘เจเอซี มอเตอร์’ (JAC Motors), ‘เจียงหลิง มอเตอร์’ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ ‘จีลี’ (Geely)

เลขาฯ BOI เสริมว่า ‘The Big’ ให้ความสนใจในนโยบายของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และวางระบบห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการในภูมิภาค’

ก่อนหน้านี้ BYD (Build Your Dreams) และ Great Wall Motor ได้เดินตามแผนตั้งฐานการผลิต EV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพิจารณาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย

ตามมาด้วย Geely ซึ่งเป็นรายล่าสุด ต่อจาก Great Wall Motor ที่มีแผนลงทุน ‘ปักหมุด’ EV ในไทย มูลค่าระดับหลักพันล้านบาท สอดรับกับนโยบายการรักษาสถานะผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 10 ของโลกของไทย ซึ่งมุ่งหวังสานต่อความสำเร็จของ Hub รถยนต์เอเชียในอดีต และต่อยอดสู่การเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของภูมิภาค

ตามเป้าหมายปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์ 30% จากยอดการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี ให้เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Great Wall Motor ประกาศแผนลงทุน 30 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นเล็กในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024

คุณณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการบริษัท Great Wall Motor Thailand ระบุว่า บริษัทเเม่จากจีน กำลังพิจารณาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

“แผนการลงทุนที่ไทยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตราการเงินอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า หรือการลดภาษีรถ EV” MD Great Wall Motor Thailand กล่าว

ในปี ค.ศ. 2022 รถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ที่เป็นรถรุ่นเล็ก หรือ Compact Car ของ Great Wall Motor เป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย โดยรุ่นที่ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 828,500 บาท ซึ่งราคานี้ได้รับการอุดหนุจากรัฐ 230,500 บาท

โดย Great Wall Motor ได้เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่ง Great Wall Motor วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024 ส่วนแผนการลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ของ Great Wall Motor น่าจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะประกาศรายละเอียดให้ทราบในอีก 6 เดือนจากนี้ หรือในครึ่งปีหลังของปี ค.ศ. 2023 หรือไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2023

อย่างไรก็ดี แม้ว่า The Big 6 ทุกค่ายไล่ตั้งแต่ บีวายดี (BYD: Build Your Dreams), ฉงชิ่ง ฉางอัน (Chongqing Changan), เจเอซี มอเตอร์ (JAC Motors), เจียงหลิง มอเตอร์ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ จีลี (Geely) จะลงทุนในไทยเป็นมูลค่าที่สูงมากเท่าไหร่ก็ตาม

ทว่า ค่ายรถเจ้าใหญ่ (เจ้าที่) ในไทย ยังคงเป็นบริษัทญี่ปุ่น เช่น TOYOTA, ISUZU, HONDA, NISSAN, MAZDA, MITSUBISHI

เรื่อง : ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
 

'โตโยต้า' นำ 'สองแถวไฟฟ้า' ให้ลองใช้ฟรีในเมืองพัทยา ปลุกกระแสพัฒนาเมืองยั่งยืนปราศจากมลภาวะ

'โตโยต้า' เอาด้วย!! นำ 'สองแถวไฟฟ้า' ให้มาทดลองใช้ในพื้นที่เมืองพัทยาจำนวน 12 คัน ในต้นปี 2567 เพื่อพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ โดยเมืองพัทยาไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่นานมานี้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยคุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคุณเรวัฒน์ เชี่ยงฉิน ประธานกรรมการ สหกรณ์เดินรถพัทยา จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีนายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยา เรือตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยา สมาชิกสภาเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมสักขีพยาน ณ ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา 

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นวาระสำคัญ ที่จะพัฒนาเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย ทางพัทยาได้มีแนวทางการส่งเสริมเมืองพัทยา ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ ที่พร้อมผลักดันตามนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนให้เมืองพัทยาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ ตลอดจนการลดใช้จ่าย ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรของเมือง และประชาชน 

โดยเน้นการออกแบบการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิด การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ (Decarbonized Sustainable City) ที่ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเมืองอัจฉริยะต้นแบบให้แก่ประเทศไทย ทั้งในด้านการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเภทต่างๆ มาให้บริการ รวมทั้งรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นมิติใหม่ทางด้านพลังงาน เข้ามาใช้ในการเดินทาง อีกทั้งการสร้างสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย

ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของเมืองพัทยา ที่จะได้สานต่อความร่วมมือดังกล่าว ในการนำรถยนต์สองแถวไฟฟ้าเข้ามา ทดลอง ภายใต้โครงการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเมืองพัทยา ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมของเมืองพัทยา ให้ไปสู่เมืองอัจฉริยะผ่านความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า เมืองพัทยา และสหกรณ์เดินรถพัทยา ภายใต้โครงการความร่วมมือ 'โครงการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ' ที่ทุกภาคส่วนร่วมกับขับเคลื่อนพัฒนาเมืองพัทยา ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และเป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเดินทางที่ทันสมัย ซึ่งจะนำพาเมืองพัทยาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างสมดุลระหว่าง เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ และปราศจากมลภาวะต่อไป

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top