Sunday, 6 October 2024
EV

‘ภูเก็ต สมาร์ท บัส’ นำร่องรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าคันแรก  เชื่อมสนามบินภูเก็ตสู่หาดราไวย์ หนุนนโยบาย Zero Carbon

(26 ก.ค. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด ได้นำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ NEX ไปทดสอบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้สั่งซื้อรถมินิบัส STREAM X EV ขนาด 7.3 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง ผ่านทางบริษัทเอเชีย พลัส อีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของ NEX เพื่อนำร่องในการใช้งานจริงเพราะพบว่าสามารถประหยัดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้จริง ทั้งยังช่วยลดมลพิษจากการปล่อยคาร์บอน รวมถึงมลพิษทางอากาศและเสียง สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางให้กับชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยว และเชื่อว่าอีกไม่นานจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100%

ทั้งนี้ NEX พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะ จากรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เมืองของเรามีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว

ด้านนายภูเก็จ ทองสม กรรมการบริหารบริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดภูเก็ต และยกระดับระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ จึงได้ตัดสินใจนำรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางบนเกาะด้วยรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น เป็นการช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ทั้งยังช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมืองท่องเที่ยวให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้นำรถบัสโดยสาร EV ของบริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) มาทดสอบเส้นทางการวิ่งและเก็บข้อมูลเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเส้นทางวิ่งขึ้นเขาซึ่งมีความชันมาก เกรงว่ากำลังของรถ EV จะไม่สามารถขึ้นเขาไหว แต่เมื่อได้ทำการทดสอบพบว่ารถมินิบัสไฟฟ้า รุ่น STREAM X ของเน็กซ์ มีสมรรถภาพสามารถขึ้นเขาได้สบาย ๆ และเมื่อทดสอบไประยะหนึ่งพบว่ายังช่วยประหยัดต้นทุนได้เกินครึ่ง จากเดิมที่บริษัทต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 8-9 บาทต่อกิโลเมตร

“ขณะนี้ทางบริษัทฯ ได้นำรถโดยสาร EV มาให้บริการแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีรถโดยสาร EV เพียงคันเดียวจึงต้องนำมาสลับวิ่งกับรถบัสโดยสารเดิมที่มีอยู่ 11 คัน อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มรถโดยสาร EV ภายในปีนี้ จำนวน 7 คัน และในอนาคตมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนเป็นรถโดยสาร EV ทั้ง 100% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล พร้อมทั้งจะมีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อรองรับนโยบายซีโร่คาร์บอนและบริษัทยังมองไปถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตด้วย” นายภูเก็จ กล่าว

สำหรับเส้นทางการให้บริการของ ภูเก็ต สมาร์ท บัส เริ่มจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต ระหว่างทางจอดตามจุดสำคัญ ได้แก่ สาธารณสุขถลาง บ้านเคียน เชิงทะเล ลากูน่า หาดสุรินทร์ กมลา ภูเก็ตแฟนตาซี ป่าตอง กะรน กะตะ ใสยวน แหลมพรหมเทพ และสถานีปลายทางหาดราไวย์ เวลารถออกทุกชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 8.00-22.30 น. ให้บริการทุกวัน ค่าบริการอยู่ที่ 100 บาทตลอดสาย

โดยสามารถชำระได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเงินสด Scan QR code จ่ายด้วย Rabbit Card รวมไปถึงบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ถ้าใครต้องการใช้งานรถบัสทั้งวันก็มีบัตร Day Pass ที่ซื้อได้บนรถทันที โดยจะมีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ 1 วัน 299 บาท 3 วัน 499 บาท 7 วัน 799 บาท และ 10 วัน 1,000 บาท สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทั้ง wifi ช่องเสียบสายชาร์จ USB ที่วางกระเป๋าขนาดใหญ่ สำหรับผู้เดินทางที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ก็มีระบบทางขึ้นแบบยกวีลแชร์ให้ด้วย

All Now เปลี่ยนใช้รถบรรทุกไฟฟ้า กระจายสินค้าเข้า 7-Eleven  เล็งเพิ่มจำนวนรถให้บริการเป็น 100 คัน ภายในสิ้นปี 2567

(26 ก.ค. 66) นายธเนศ พิริย์โยธินกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออลล์ นาว (ALL NOW) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท ออลล์นาว เป็นกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์ครบวงจรโดยมีโมเดลธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้าแบบครบวงจรให้แก่ธุรกิจทั้งในและนอกเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผนึกกำลังกับซีพี ออลล์ ในการเป็นพันธมิตรด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าทั้งแบบ off-line และ on-line จากศูนย์กระจายสินค้าไปสู่ร้าน 7-Eleven กว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจแบบยั่งยืน จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำโลจิสติกส์ด้านส่งเสริมการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยประกาศดำเนินโครงการ EV Vision ด้วยการใช้รถบรรทุก 4 ล้อไฟฟ้าขนาดใหญ่ในการขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังร้านสาขา 7-Eleven โดยรถบรรทุกไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้งนอกจากนี้ ตัวรถยังมีขนาดตู้บรรจุสินค้าที่สามารถบรรจุได้มากถึง 16 คิวบ์

“ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาจากเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานยนต์ได้ จากความตั้งใจอย่างจริงจังของกลุ่มบริษัท ออลล์ นาว ที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า แทนการใช้พลังงานน้ำมัน โดยมุ่งหวังลดปริมาณการสร้างมลพิษทางอากาศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ ด้วยการขนส่งสินค้าปริมาณที่มากขึ้นต่อเที่ยว ซึ่งโครงการ EV Vision เป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มบริษัท ออลล์ นาว จะตั้งเป้าเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์สีเขียว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายธเนศกล่าว

ปัจจุบัน ออลล์ นาว ได้เริ่มนำร่องขนส่งและกระจายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าบางบัวทองเป็นแห่งแรก ไปยังสาขา7-Eleven ในกว่า 20 เส้นทาง และวางแผนที่จะขยายเพิ่มเติมไปสู่ศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย และ ลาดกระบัง ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปได้กว่า 700 สาขา พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มจำนวนรถบรรทุกไฟฟ้าที่จะให้บริการทั้งหมดเป็น 100 คัน ภายในสิ้นปี 2567 พร้อมกันนี้ ออลล์ นาว ยังได้ลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าแต่ละแห่ง โดยตั้งเป้าขยายการติดตั้งสถานีไปให้ครอบคลุมครบทุกศูนย์กระจายสินค้าในอนาคต นอกจากนี้ ออลล์นาว ยังวางแผนที่จะขยายการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถขนส่งไฟฟ้าไปในธุรกิจอื่นๆทั้งในและนอกเครือฯ ต่อไปในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์สีเขียวที่ช่วยส่งเสริมการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568” นายธเนศกล่าว.-สำนักข่าวไทย

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ค่ายรถเมืองจีนเลือก ‘ไทย’ เป็นฐานผลิตใหญ่ ประเดิมลงทุนเฟสแรก 8.8 พันล้าน เดินหน้าดันไทยสู่ฮับ EV

(16 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งเน้นให้ไทยเดินตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) ซึ่งขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตรถ EV หลายสัญชาติ ได้ตัดสินใจเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

“คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้รายงานผลสำเร็จของการเดินทางเข้าพบกับนาย Zhu Huarong ประธานกรรมการและคณะผู้บริหาร บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด (Changan Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน เมื่อเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยได้นำเสนอภาพการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มาตรการสนับสนุน รวมทั้งให้ความมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ทำให้รัฐบาลจีนเห็นชอบให้บริษัทดังกล่าวยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว โดยมีการลงทุนในเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่นๆ โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยช่วงปลายปีนี้” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นอกจากจะมาตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทยแล้ว บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิลยังมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ให้กับคนไทยอีกด้วย ซึ่งบริษัท ฉางอัน เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็น 1 ใน 4 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน

“การที่ บริษัท ฉางอัน ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิต สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย รวมถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ที่สนับสนุนการแข่งขันอันเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเชื่อว่าจะผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการเป็นฮับ EV ได้ไม่ยาก ทั้งยังช่วยส่งเสริมลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ พลิกโฉมประเทศไทยตามกลยุทธ์ 3 แกนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสำหรับอนาคต” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หนึ่งในกุญแจสำคัญพาเมืองไร้มลพิษ ช่วยปลดล็อกปัญหาโลกร้อน - ส่งมอบอากาศใสบริสุทธิ์

ปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เริ่มตระหนักและมองหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อรักษาอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของโลกให้คงความเหมาะสมสำหรับอยู่อาศัยกันต่อไป

ทางออกที่มองหาจนเจอก็คือการพาโลกทั้งใบไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ‘พลังงานสะอาด’ ที่จะมาทำหน้าที่ทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน) แต่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

และหากมองกระแสโลกในปี 2023 ก็พอจะเห็นว่า ‘พลังงานไฟฟ้า’ กำลังได้รับความสนใจจากคนทุกกลุ่ม และหลาย ๆ อุตสาหกรรมพยายามประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นประโยชน์และศักยภาพที่คุ้มค่า แต่ที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นเรื่องของ ‘ยานพาหนะ’ ที่ตอนนี้มีหลายเจ้ายานยนต์ได้เปิดตัวอวดโฉม ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ในค่ายของตัวเอง แถมมียอดจับจองถล่มทลาย

แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง ‘จำนวนผู้โดยสาร’ ที่บรรจุได้เพียงไม่กี่คนต่อหนึ่งเที่ยว (บางครั้งก็แค่ 1 คน 1 คัน) และหากทุกคนหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกันหมด เราก็คงจะได้เห็นภาพท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ขยับทีละ 2 เมตรก็ต้องจอดนิ่งเหมือนเดิมแน่

หนทางเลี่ยงเหตุการณ์น่าสะพรึงแบบนั้นก็คงต้องหันหน้าเข้าหา ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หรือ e-Buses เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น-มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง เป็นยานพาหนะที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก บรรทุกผู้โดยสารต่อรอบได้เยอะกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล และหากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนลดลงด้วย

ซึ่งแนวโน้มการหันมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าก็พอจะเด่นชัดมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่น่าสนใจของ Bloomberg ที่คาดว่าภายในปี 2040 หรืออีก 17 ปี ข้างหน้า รถโดยสารสาธารณะทั่วโลกจะถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั้งหมด

แน่นอนกว่า หากมีปัจจัยอื่น ๆ หนุนนำให้สังคมโลกนิยมใช้รถโดยสารไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรมทันสมัยที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ก็คงได้เห็นรถโดยสารไฟฟ้าวิ่งให้บริการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มเดินหน้าจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในประเทศกันแล้ว

เอาล่ะ!! มองกลับมาที่ ‘เมืองไทย’ ของเราก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศเหมือนกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับรถโดยสารไฟฟ้าแล้ว ซึ่งหากได้ยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์สักแห่งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่สัญจรบนท้องถนนทุก ๆ วัน ก็ต้องสะดุดตากับรถโดยสารไฟฟ้าสีน้ำเงินเข้มที่วิ่งมาจอดเทียบป้ายอยู่เรื่อย ๆ แถมยังมีหลากหลายเส้นทางให้บริการด้วย

หากเพ่งมองให้ดีจะพบว่า ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ สีน้ำเงินเข้มนี้เป็นของ ‘ไทย สมายล์ บัส’ ตอนนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล ภายใต้สโลแกน “เดินทางด้วย รอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

ซึ่งก็เป็นการ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการใช้รถโดยสารไฟฟ้าจะไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือควันสีดำเหม็น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้า 1 คัน สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึง 72 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนฯ ของต้นไม้ 7,602 ต้นต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า ป่าไม้พื้นเมืองดูดซับคาร์บอนฯ 0.95 ตันคาร์บอน / ไร่ / ปี หรือ 100 ตัน / ไร่)

เรียกได้ว่า ยิ่งมีรถโดยสารไฟฟ้ามากแค่ไหน ผู้คนก็ยิ่งได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดมากเท่านั้น หรือหากต่อยอดให้ครอบคลุมได้ทั้งประเทศ นอกจากจะได้อากาศที่สดชื่นชุ่มปอดแล้ว ระบบการเดินทางของไทยก็จะเชื่อมต่อหากันแบบไม่สะดุด ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการก็คงได้ยิ้มออกกันถ้วนหน้า

สรุปง่าย ๆ ก็คือได้ประโยชน์หลายต่อนั่นเอง!!

ก็มารอดูกันว่าในอีก 17 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งบ้านเราจะพลิกโฉมไปใช้ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากฝันอยากเห็น ‘เมืองไทยไร้คาร์บอน’ แบบครอบคลุมทั่วประเทศ ก็คงต้องเร่งมือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้โดนใจประชาชน และจัดหา ‘ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า’ มาแล่นให้บริการโดยไว

‘รัฐบาล’ เผย ตัวเลข BOI พบ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัว ‘อิเล็กทรอนิกส์-อาหารแปรรูป-EV’ ปังสุด มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนลบ.

(25 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของรัฐบาล

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการพัฒนามากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรจากการดำเนินการในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลดำเนินมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต เท่าทันประเทศอื่นในภูมิภาค และมีศักยภาพตอบโจทย์การลงทุน ตามมาตรฐานสากล

‘EV ไทย’ ติดท็อป 10 ของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวปาฐกถาในงานThailand Focus 2023 หัวข้อ ‘Benefifs from supply chain relocation and renewed investments : EV industries’ ว่าไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทาน และการกลับเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งใน GDP ถึง 6% และถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก มีการเข้ามาขอการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ 

โครงการรถยนต์ EV ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 17 โครงการ เป็นผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา เช่น บีวายดี(BYD), เกรทวอลล์ มอเตอร์ (GWM) และยังมีอีกหลายบริษัทใหญ่ที่กำลังขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เช่น ฉางอันมอเตอร์ 

ด้านแบตเตอรี่ BOI ได้ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ 71 โครงการ และสถานีชาร์จไฟ EV 10 โครงการ เพิ่มสถานีชาร์จเป็น 11,000 หน่วย จากปัจจุบัน 4,000 หน่วย

สื่อญี่ปุ่น เผย ‘Isuzu’ เตรียมเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรก เล็งใช้ ‘ไทย’ เป็นฐานการผลิตใหญ่ เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 สำนักข่าว ‘nikkei’ ของญี่ปุ่น รายงานว่า ‘อีซูซุมอเตอร์’ วางแผนที่จะเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในช่วงต้นปี 2025 โดยตั้งเป้าที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเป็นผู้นำการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว

สำนักข่าว nikkei  ระบุว่า กระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์จากมาจากพื้นฐานของ ISUZU D-MAX ของบริษัท จะผลิตในประเทศไทยสำหรับการเปิดตัวในปี 2025 สำหรับอีซูซุ ครองตลาดรถกระบะในประเทศไทยประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ

ด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นมาก ในเดือนกรกฎาคม มียอดขายถึง 5,014 คัน คิดเป็นประมาณ 8% ของยอดขายรถยนต์ใหม่

ทั้งนี้ ISUZU วางแผนใช้ประเทศไทย เป็นฐานในการผลิต กระบะไฟฟ้าอย่าง ISUZU D-MAX เพื่อส่งขายในยุโรปด้วย เบื้องต้น prototype หรือต้นแบบ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้คู่แข่งอย่าง TOYOTA HILUX REVO ที่จะเปิดตัวไฮบริดปีหน้า อาจเห็น ISUZU D-MAX HYBRID ในเวลาไล่เลี่ยกัน

นาย ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เปิดเผยถึงแผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าว่า…

“แม้ว่าอีซูซุได้เปิดตัว Elf EV ที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่การเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ต้องคำนึงถึงความต้องการลูกค้าเป็นหลัก สำหรับการเปิดตัว Elf EV รถบรรทุกไฟฟ้าในไทยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

สำหรับ ISUZU D-MAX EV อยู่ในขั้นตอนการพัฒนารถต้นแบบจะประกอบที่ไทย และส่งออกไปขายที่ทวีปยุโรป เนื่องจากเราได้ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยทำให้การที่จะประกอบในประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งเราไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ว่า จะดำเนินการเมื่อไร เพราะยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพัฒนา

การใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิต ถามว่าต้องลงทุนเพิ่มหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด หากความต้องการเพิ่ม เราจำเป็นต้องขยายโรงงาน ส่งผลให้ต้องเพิ่มการลงทุนเพิ่มขึ้น หากชิ้นส่วนกระบะไฟฟ้าคล้ายกับ D-MAX ปัจจุบันก็สามารถใช้สายการผลิตเดิมได้ มีเพียงชิ้นส่วนแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ที่แตกต่าง และต้องเพิ่มสายการผลิตใหม่”

‘CATL’ เปิดตัวแบตเตอรี่ EV ชาร์จ 10 นาที วิ่งได้ 400 กม. คาด!! เริ่มวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรก ปี 2024

เมื่อไม่นานมานี้ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่จากจีนได้เปิดตัว ‘Shenxing’ แบตเตอรี่ 4C superfast charging LFP ก้อนแรกของโลกที่ช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ไกลถึง 400 กิโลเมตรภายในเวลาชาร์จเพียงแค่ 10 นาที

โดยหากทำการชาร์จนเต็มนั้น Shenxing จะช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ไกลกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งทาง CATL นั้นก็คาดว่า Shenxing จะช่วยให้ผู้ใช้รถ EV หมดกังวลเกี่ยวกับเวลาที่ต้องใช้ในการชาร์จแต่ละครั้งได้ และจะช่วยเปิดยุคใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จได้รวดเร็วยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

แบตเตอรี่ Shenxing นั้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Super electronic network cathode และวัสดุแคโทด LFP ที่ตกผลึกในระดับนาโนเข้ามาช่วยให้แบตเตอรี่สามารถตอบสนองต่อการชาร์จที่รวดเร็วได้ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ครอบคลุมของ CATL ยังช่วยให้แบตเตอรี่ Shenxing มีคุณสมบัติที่สมดุลทั้งการชาร์จที่รวดเร็วและการขับขี่ในระยะไกล

และอีกหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจก็คือแบตเตอรี่ตัวใหม่ยังสามารถรักษาประสิทธิภาพในการชาร์จตั้งแต่ความจุ 0 – 80% ได้ภายใน 30 นาทีภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -10 องศาเซลเซียส และสามารถรักษาประสิทธิภาพในการเร่งความเร็วจาก 0 – 100 กม./ชม.เอาไว้ได้ในอุณหภูมิต่ำ โดยในอุณหภูมิห้องนั้น Shenxing จะสามารถชาร์จตั้งแต่ 0 – 80% ได้ในเวลาเพียง 10 นาที

สำหรับปัจจุบันทาง CATL ได้คาดการณ์ว่า Shenxing จะสามารถเริ่มทำการ Mass Produce ได้ภายในปลายปีนี้ และจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งทาง CATL นั้นก็มั่นใจว่าการเปิดตัวของ Shenxing นั้นจะเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV และจะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลกได้อย่างครอบคลุม

‘คนกัมพูชา’ เซ็ง!! ทำไมค่ายรถยักษ์ใหญ่ไหลไป ‘ไทย’ แค่ ‘ดึงดูดดี-มีพันธมิตรมาก-ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง’

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 รายการ ‘ส่องโลกคอมเมนต์’ ตอน ไทยดียังไง? ทำไมค่ายรถยนต์ไม่มาลงทุนที่กัมพูชา? ได้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุที่ว่า เพราะเหตุใด ‘ไทย’ ถึงเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ให้แห่กันมาลงทุนด้านอุตสาหกรรม EV มากกว่าประเทศอื่นรอบข้าง และเพราะเหตุใด แบรนด์ EV ดังหลายเจ้า อาทิ MG, BYD, Great Wall Motor, Changan Automobile หรือแม้แต่ GAC AION ยังย้ายโรงงานออกมานอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยเลือก ‘ไทย’ เป็นที่ตั้งฐานการผลิตใหญ่ที่แรกในโลก

อีกทั้ง ล่าสุด KIA Motors แบรนด์รถยนต์เจ้าใหญ่ของเกาหลีใต้ และ BMW ค่ายรถยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากเยอรมนี ก็เพิ่งตัดสินใจมาตั้งฐานการผลิตใหญ่ในไทยอีกด้วย

ด้วยประการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ที่สร้างความฉงนใจให้แก่ประเทศกัมพูชาไม่น้อย จนทำให้รายการดังรายการนึงของกัมพูชาต้องออกมาทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ถึงข้อได้เปรียบและศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติของประเทศไทย โดยระบุไว้ดังนี้…

เหตุเพราะแบรนด์ EV สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอยู่แล้ว ยังมีแนวโน้ม ‘สงวนท่าที’ ในปริมาณกำลังการผลิต EV ในไทย จึงทำให้ค่ายรถยนต์จีนต่างสบโอกาส แห่มาลงทุนในไทยกันอย่างเต็มที่ และนั่นก็ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งในแง่การอำนวยความสะดวกต่อค่ายรถยนต์ ตลอดจนสิทธิพิเศษในเรื่องของภาษี เช่น งดเว้นการเก็บภาษีรถยนต์ และภาษีแบตเตอรี่ในช่วงแรก

อีกทั้งรัฐบาลไทย ยังมีมาตรการสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถ EV โดยมีส่วนลดภาษีจูงใจกว่าคันละ 150,000 บาท จนทำให้ประเทศไทยมียอดขายรถไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ถูกสหภาพยุโรป หรือ ‘EU’ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ ‘GSP’ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศมากกว่า 80% เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบของการเมืองในกัมพูชา จนเป็นส่วนนึงที่ทำให้ EU ยกเลิก GSP ซ้ำร้ายกว่านั้น GSP ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ก็กำลังจะหมดอายุลง ทำให้กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเกิดการชะลอตัวในการมาตั้งฐานการผลิตในกัมพูชากันหมด

นอกจากนี้ ก็มีชาวเน็ตกัมพูชา มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- รัฐบาลไทย รู้วิธีดึงดูดและต่อรอง เพื่อประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค

- ประเทศไทย มีแนวโน้มหันเหไปทางฝั่งตะวันตก เหมือนกับเวียดนาม คบกับประเทศร่ำรวย ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ส่วนนโยบายกับจีน ไทยจะให้ความสำคัญกับชาติตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก นักการเมืองไทยไม่รับสินบนจากจีนเทา จีนจะค้าขายอะไรต้องได้รับอนุมัติจากทางการไทยก่อน

- เพราะประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.) มีการทุจริตน้อย 2.) มีทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการศึกษาดีและมีทักษะสูง และ 3.) สถานการณ์การเมืองอยู่ในเกณฑ์ดี

- ประเทศไทยฉลาดมากและไม่เคยมีสงคราม ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาทั้งด้านภูมิศาสตร์และประชากร

- ในประเทศไทย มีทรัพยากรคนที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีศักยภาพ สอดคล้องกับวิชาชีพ ไม่ได้มีแต่แรงงานไร้ฝีมือ ประเทศไทยให้ความสำคัญ กับบุคคลที่มีความสามารถ ไม่ใช่การเลียนาย

- ไทยคอร์รัปชันน้อยกัมพูชา จริงจังกับกฎหมาย ไทยฉลาดที่อยู่ตรงกลาง ไทยไม่เสียเปรียบทั้งกับจีนและสหรัฐฯ ไม่เหมือนกัมพูชา ที่เลือกข้างจีนฝ่ายเดียว เพราะผู้นำที่โง่เขลา จนสูญเสีย EBA และ GSP

- โรงงานผลิตขึ้นส่วนรถยนต์มีหลายแห่งในประเทศไทยมี จึงมีความสะดวกทั้งด้านทรัพยากรบุคคล อะไหล่ สภาพการทำงาน ตลอดจนซับพลายเชนพร้อมอยู่แล้ว

เหตุผลแค่นี้เอง!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top