Wednesday, 2 July 2025
EV

อินเดียปิดประตูใส่ BYD หวั่นโดนทุ่มตลาดจากจีน แต่เปิดช่องเจรจา Tesla ตั้งโรงงาน ดึงดูดทุนสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจ จำกัดการเข้าถึงตลาด สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนอย่าง BYD Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน EV ของโลก ท่ามกลางความพยายามของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla Inc.

แหล่งข่าวจากภาครัฐระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla กำลังพิจารณาการตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งทางรัฐบาลได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอำนวยความสะดวกและเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบริษัทของอีลอน มัสก์ ในขณะที่บริษัทจีนอย่าง BYD กลับถูก 'ควบคุมและจำกัด' มากขึ้นในด้านการเข้าถึงตลาดและการขยายกิจการ

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านความมั่นคงระดับชาติของอินเดียที่ยังคงมีต่อจีน แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีการทูตระดับภูมิภาค

“รัฐบาลอินเดียยังคงระมัดระวังอย่างมากกับการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ” พียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยอินเดียได้กำหนด ภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (CBU) ไว้สูงถึง 100% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราภาษีนำเข้าที่ 'สูงที่สุด' ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

“นโยบายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติสร้างฐานการผลิตภายในอินเดีย แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป” นักวิเคราะห์จากมุมไบให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีแต่การจัดการสมดุลระหว่างความมั่นคงและการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วนิวเดลีได้ปฏิเสธข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) จาก BYD ที่ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายอื่นอย่าง Great Wall Motor Co. ขอถอนตัวออกจากอินเดียหลังจากไม่สามารถขอรับการอนุมัติที่จําเป็นจากหน่วยงานกํากับดูแลได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทจีนต้องเผชิญในการพยายามเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย

ในขณะที่อินเดียยังคงรักษาจุดยืนที่ระมัดระวังต่อการลงทุนจากจีน และกําลังแสวงหาความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Tesla Inc อย่างไรก็ตามรายละเอียดของข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและ Tesla ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดียอย่าง Tata Motors และ Mahindra & Mahindra สามารถเติบโตได้ดี โดยก่อนหน้านี้พวกเขาต่างคัดค้านการผ่อนปรนภาษีนำเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเปิดทางให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในราคาที่แข่งขันได้ยากสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

BYD ปักธงสีหนุวิลล์ ‘กัมพูชา’ ลงทุน 32 ล้านดอลล์ สร้างโรงงานผลิตรถ EV ตั้งเป้าผลิต 10,000 คันต่อปี ส่งออกทั่วโลก-เตรียมยลโฉมคันแรกพฤศจิกายนนี้

(29 เม.ย. 68) BYD ผู้ผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) จากจีน เดินหน้าขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ล่าสุดเริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยโรงงานนี้เป็นแห่งแรกของกัมพูชาที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และมีมูลค่าการลงทุนรวม 32 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,171.2 ล้านบาท) ครอบคลุมพื้นที่ 12 เฮกตาร์ (75 ไร่)

โรงงานจะดำเนินการในรูปแบบ CKD (Completely Knocked Down) โดยนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบในกัมพูชา คาดว่าเฟสแรกจะเริ่มผลิตรถยนต์ BEV และ PHEV ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 10,000 คัน และรถยนต์คันแรกจะออกจากสายการผลิตช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในกัมพูชาแม้ยังเล็กแต่ถือว่าเติบโตได้อย่างเร็ว โดยในปี 2567 มีการจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นถึง 620% จากปีก่อนหน้า ซึ่ง BYD เป็นหนึ่งในแบรนด์ยอดนิยม ร่วมกับ Toyota และ Tesla ทั้งนี้ BYD เข้าตลาดกัมพูชาตั้งแต่ปี 2020 และได้เปิดตัวรุ่น Atto 3 ไปในปี 2565

สำหรับโครงการในกัมพูชานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายกำลังการผลิตในอาเซียน ต่อจากโรงงานในไทยที่เปิดเมื่อกลางปี 2567 และโรงงานใหม่ในอินโดนีเซียมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของ BYD ในการเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาคอาเซียน

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 เดือนแรก พบกลุ่มเบนซินส่งสัญญาณชะลอตัวคนหันใช้ระบบราง – EV

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม - มีนาคม 2568 อยู่ที่ 158.67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการ และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.4 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการลดลงร้อยละ 1.5 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.1 

รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.57 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 0.4 ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.71 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.11 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 18.96 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร (ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2568) แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.68 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.97 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 5.92 2 เทียบกับปีก่อน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.43 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 1.5 ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 68.39 ล้านลิตร/วัน สอดคล้องกับข้อมูลภาคการผลิตอุตสาหกรรมในบางกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มประมาณร้อยละ 2.0 และในกรณีที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากเดิมที่ร้อยละ 2.5 - 3.0 สำหรับดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.05 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.12 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.55 ล้านลิตร/วัน  

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ยังคงขยายตัวได้ดีจากภาคท่องเที่ยวและการบริการ ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสมถึงเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัว ร้อยละ 2.12 รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.14 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.02 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านกก./วัน ขณะที่ภาคปิโตรเคมีลดลงมาอยู่ที่ 6.67 ล้านกก./วัน และภาคขนส่งลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.31 ล้านกก./วัน     

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.52 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 15.1 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสมที่ลดลง และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังคงช่วยเหลือผ่านโครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ 

ขณะที่ราคาขายปลีก NGV สำหรับรถทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาท/กก. อยู่ที่ 18.80 บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,064,710 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 0.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 85,890 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,041,149 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 84,424 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 23,561 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 63.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,466 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 150,794 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 3.7 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซินน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,204 ล้านบาท/เดือน

BYD ตั้งศูนย์กลางยุโรปแห่งใหม่ในฮังการี ดันเป็นฐานผลิต-ทดสอบรถ EV ครบวงจร

(19 พ.ค. 68) BYD บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ประกาศแผนจัดตั้งศูนย์กลางยุโรปแห่งใหม่ในประเทศฮังการี โดยซีอีโอและประธานบริษัท หวัง ฉวนฝู เปิดเผยในงานแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีฮังการี วิกเตอร์ ออร์บาน ที่กรุงบูดาเปสต์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

CEO หวังระบุว่า ศูนย์กลางแห่งใหม่นี้จะสร้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง และจะมีบทบาทสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางด้านการขายและบริการหลังการขาย การทดสอบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาเวอร์ชันของรถยนต์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในยุโรป โดยโครงการนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ BYD ที่จะขยายฐานในทวีปยุโรปอย่างจริงจัง

ก่อนหน้านี้ BYD ได้เปิดโรงงานแห่งแรกในยุโรปเมื่อปี 2016 ที่เมืองโคมารอม ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮังการี โดยเน้นการประกอบรถโดยสารไฟฟ้าเป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งที่สองในประเทศ ซึ่งจะเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งถือเป็นการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีออร์บัน ฮังการีได้กลายเป็นพันธมิตรด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญของจีนในยุโรป แตกต่างจากบางประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มถอยห่างจากจีน ออร์บานเริ่มกระชับความสัมพันธ์กับปักกิ่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2010 และนโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่กระแสการลงทุนจากจีนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

NEX ระดมทุนกว่า 3 พันล้านบาท!! เร่งการเปลี่ยนผ่าน พัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทย อย่างครบครัน

(31 พ.ค. 68) บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ผู้ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรชั้นนำของไทย ประกาศความสำเร็จของการระดมทุนเพิ่ม 3,327 ล้านบาท เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของประเทศ

การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้ NEX มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,989 ล้านบาท และทำให้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 49.99% เป็น 77.77% ความร่วมมือนี้จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างครบครัน

"นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันของเรา" นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานกรรมการของ NEX และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของ EA กล่าว "ความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นนี้ทำให้ EA มีระบบนิเวศ EV ที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเงินทุนเข้าไปที่ NEX เพื่อใช้สำหรับการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด"

กลยุทธ์การใช้เงินทุน

เงินทุนที่ได้รับจะถูกจัดสรรอย่างมีกลยุทธ์เพื่อ:
- ชำระหนี้เจ้าหนี้การค้าที่ค้างอยู่
- เสริมแกร่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
- สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องในโครงการโลจิสติกส์สีเขียว
- พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับโซลูชันการขนส่งที่ยั่งยืน

ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในตลาด
NEX ได้ยึดตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ one-stop service ชั้นนำของไทย โดยนำเสนอ:
- ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์: รถโดยสาร รถบรรทุก และรถหัวลาก
- โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ: เครือข่ายสถานีอย่างครอบคลุม
- บริการหลังการขาย: ความสามารถด้านการบำรุงรักษาและบริการ

ทั้งนี้บริษัทจะให้บริการหลักแก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ หน่วยงานราชการ องค์กรขนส่งมวลชน และธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยลูกค้าได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดถึง 2 เท่าของอัตราปกติ

วิสัยทัศน์สำหรับอนาคต EV ของไทย
"เราขอขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ให้ความเชื่อมั่นในภารกิจของเราอย่างต่อเนื่อง" นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ NEX กล่าว "การระดมทุนครั้งนี้ช่วยให้เราสามารถขับเคลื่อนภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์ของไทยสู่การใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันพัฒนาเทคโนโลยีและบริการที่พร้อมสำหรับอนาคต"

รากฐานทางการเงินที่ขยายตัวของ NEX สนับสนุนความมุ่งมั่นในการเป็นผู้ให้บริการ Total Green Logistics Solution ที่สมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่กว้างขึ้นของไทยและการเปลี่ยนแปลงสู่การขนส่งสะอาดทั่วโลก

‘บีโอไอ’ เคาะ!! มาตรการหนุน Local Content ประเดิม!! กลุ่มอุตสาหกรรม EV และเครื่องใช้ไฟฟ้า

(28 มิ.ย. 68) บอร์ดบีโอไอ หนุนผู้ประกอบการไทย เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) จับมือ ส.อ.ท. สนับสนุนสินค้า Made in Thailand กำหนดสัดส่วนร้อยละ 40 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและ BEV ร้อยละ 45 สำหรับ PHEV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 15 ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain โลก พร้อมเดินหน้าตั้ง 'ทีมตรวจสอบพิเศษ' เร่งตรวจกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง พร้อมอนุมัติส่งเสริมลงทุน 2 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content)” เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าซื้อวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ระดับโลก โดยมาตรการนี้ ถือเป็นหนึ่งในชุดมาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการปกป้องอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบาง รักษาระดับการแข่งขันให้เหมาะสม พร้อมลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งก่อน ได้ออกมาตรการต่างๆ แล้ว ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

2. การงดส่งเสริมกิจการที่มีภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) เช่น เหล็กทรงยาว เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็ก และกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ เช่น การผลิตแผงโซลาร์

3. การเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่จะขอรับการส่งเสริม เพื่อป้องกันการสวมสิทธิและให้มีมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

4. การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานบุคลากรไทยมากกว่าร้อยละ 70 ในกิจการผลิต และกำหนดเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำ 50,000-150,000 บาท สำหรับบุคลากรต่างชาติ เพื่อคัดกรองเฉพาะต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญสูง  

หนุนใช้วัตถุดิบในประเทศ MiT สำหรับ “มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย” (Local Content) ที่บอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BEV, PHEV, ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดสัดส่วน ดังนี้ หากโครงการยานยนต์ไฟฟ้า BEV และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 40, PHEV ที่มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 45 และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี 

“ที่ผ่านมา บีโอไอได้สนับสนุนให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนใช้ชิ้นส่วนจากผู้ประกอบการในประเทศผ่านการจัดกิจกรรม Subcon Thailand และ Sourcing Day อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตจากต่างประเทศเริ่มมีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น แต่เพื่อเร่งรัดให้เกิดการใช้ Local Content สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า บีโอไอจึงได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ สถาบันยานยนต์ และสถาบันไฟฟ้าฯ เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการใช้ Local Content ที่จะช่วยกระตุ้นให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศตามที่บอร์ดบีโอไอกำหนด จึงจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านเม็ดเงินลงทุน การจ้างงาน การส่งออก การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในประเทศ โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2568 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสิ้น 65 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 96,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีจำนวน 68 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 96,800 ล้านบาท

คุมเข้มกิจการเสี่ยง - ตรวจสอบเข้มข้น ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาปรับปรุงประเภทกิจการเพิ่มเติม เพื่อปรับสมดุลการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและไทย และลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน การผลิตกระเป๋า และการผลิตสิ่งพิมพ์ ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ยกเว้นโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ทั้งนี้ กิจการที่อาจมีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น กิจการรีด ดึง หล่อ หรือทุบโลหะ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมและชิ้นส่วน มีการปรับปรุงเงื่อนไข โดยจะงดให้สิทธิถือครองที่ดินเพื่อประกอบการ เพื่อให้กิจการเหล่านี้ต้องตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและได้รับการกำกับดูแลที่รัดกุมมากขึ้น โดยให้มีผลสำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2568 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ บีโอไอได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโครงการที่ได้รับการส่งเสริม โดยจัดตั้ง 'ทีมตรวจสอบพิเศษ' เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมที่มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบัตรส่งเสริม หรือมีการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด โดยอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ การผลิตยางล้อ เซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ 

“บีโอไอจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อสนับสนุนการติดตามและตรวจสอบโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ทั้งระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ Traffy Fondue และระบบ Social Listening รวมถึงการนำระบบ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน และการประเมินความเสี่ยงในการทำผิดเงื่อนไข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบข้อสงสัยและข้อร้องเรียนต่าง ๆ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที” นายนฤตม์ กล่าว

อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 2.8 หมื่นล้าน

ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติส่งเสริมลงทุน 2 โครงการใหญ่ รวมมูลค่า 28,644 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ Data Center ของบริษัท สตราตัส เทคโนโลยี จำกัด มูลค่าลงทุน 23,688 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จังหวัดระยอง ให้บริการ Data Center ระดับ Tier 3 รองรับกำลังผลิตไฟฟ้า 203 เมกะวัตต์ 

อีกโครงการเป็นกิจการขนส่งทางอากาศ ของบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด มูลค่าลงทุน 4,956 ล้านบาท ให้บริการขนส่งทางอากาศสำหรับเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เครื่องบินโดยสารใหม่ จำนวน 6 ลำ ขนาดบริการรวม 1,134 ที่นั่ง ทั้งนี้ เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการต่าง ๆ ที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top