Monday, 29 April 2024
EV

'พิมพ์ภัทรา' หารือ 'กมธ.อุตสาหกรรม' กรุยทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยก!! 'เปลี่ยนยุค EV - เหมืองโปแตซ - ฮาลาลสากล' วาระใหญ่

(9 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแตซ ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลกากอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยขอให้พิจารณาเกณฑ์การรับรองมาตรฐานให้เหมาะสม และมีความรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการยกระดับหน่วยงานดำเนินการขึ้นเป็น กรมอุตสาหกรรมฮาลาล

"อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มศักยภาพ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘ไทย’ พลิกบทบาทฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ สู่ ‘EV’ ชั้นนำโลก เล็งดึงเม็ดเงินบริษัทต่างชาติลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘เดือดทะลักจุดแตก’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เมื่อไม่นานนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า ‘ไทยแลนด์’ ฐานผลิตรถยนต์ (น้ำมัน) แห่งเอเชีย’ พลิกเดิมพัน EV หวังดูดเงินลงทุนมหาศาล 1 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า…

ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ผลิต EV ของจีนถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์’ ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐฯ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนี ได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

เปิดพิกัด ‘ค่ายรถ EV จีน’ ในพื้นที่ EEC แต่ละเจ้าลงทุนเท่าไรและพื้นที่ใดกันบ้าง? 🚕⚡️

🔰หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค รวมทั้งออกมาตรการ EV 3.5 โดยภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยมูลค่าเงินอุดหนุนขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคัน และมูลค่าเงินอุดหนุนสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จาก 8% เหลือ 2%

ในส่วนของโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่อีอีซี มีกี่โครงการ และเป็นบริษัทใดบ้าง รวมทั้งจะมีค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในระยะต่อไปนั้นมีใครกันบ้าง? ไปดูกันเลย!!

🚕⚡️เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อปรับโรงงานเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดของภูมิภาค โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat ในปี2567 และจะนำบริษัทในเครืออย่าง MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังรถยนต์ และเบาะที่นั่ง เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

🚕⚡️SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation) รัฐวิสาหกิจจากจีน เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ MG Motor ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยไปเมื่อปี 2562 จะลงทุนเพิ่ม 500 ล้านบาทเพื่อขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลางปี 2567

🚕⚡️BYD ได้ลงทุน 17,900 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยกลางปี 2567 จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในอนาคตจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

🚕⚡️Changan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีน มีแผนลงทุนเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

🚕⚡️Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn Technology Group จากไต้หวัน และบริษัทอรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2568

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายรายบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และได้เริ่มศึกษาถึงการลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ บริษัท GAC Aion ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตรถยนต์ Guangzhou Automobile Group กำลังวางแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีอีซี, บริษัท Chery Automobile และบริษัท Geely ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็แสดงความสนใจลงทุนในไทย และวางแผนเข้ามาทำตลาดในไทยภายในต้นปี 2567

Website : www.eeco.or.th
Facebook : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC
YouTube : EEC WE CAN

‘โตโยต้า’ เล็งหนุน ‘ไทย’ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลัง ‘รบ.ไทย’ ตั้งเป้าผลิต EV เกินครึ่งในปี 2573

(20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘AEC Connect’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘โตโยต้า’ จ่อหนุนไทยเป็นเมืองหลวง EV ความว่า…

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกนโยบายจูงใจใหม่เพื่อกระตุ้นให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยตั้งใจเปลี่ยนการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งของไทยให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573

จากงานวิจัยของ Counterpoint Research พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีอิทธิพลต่อตลาดรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งเกือบ 79% ของจำนวนรถ EV ทั้งหมดที่ถูกขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดรถ EV ของไทยจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ก็ยังคงมีการแข่งขันว่าแบรนด์รถ EV ใดจะขายได้มากสุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์รถ EV ที่ขายดีที่สุดในไทยคือ BYD ของจีน แต่แบรนด์รถสัญชาติจีนอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังว่าจะสร้างผลกระทบในตลาดรถ EV ในไทยอีกหนึ่งแบรนด์คือ โตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์ประจำบ้านในไทยไปแล้ว โดยได้รับความนิยมจากรถเก๋งและรถกระบะ

ในฐานะศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า แต่เพื่อเปลี่ยน 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรายปีจำนวน 2.5 ล้านคันให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางที่ถูกต้องจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับโตโยต้าเพื่อพัฒนารถ EV ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ Eco Car และรถกระบะด้วย ทั้งนี้มาจากการที่โตโยต้าวางแผนทดสอบรถกระบะไฟฟ้าครั้งแรกในไทย เพื่อจะกระตุ้นยอดขายรถ EV ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ออกแผนลดหย่อนภาษี 3 ปีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในระบบ Automation และ Robotics หลังมีการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถ EV ลง

‘JETRO’ ชื่นชม ‘ไทย’ ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทาง ศก. พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ‘EV ไทย-ญี่ปุ่น’ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เผยผลหารือกับ นายคุโรดะ จุน (Mr.KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization : JETRO Bangkok) ว่า ประธานเจโทรชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณในความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยประธานเจโทรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของไทยเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท Startup และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นางนฤมล กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศสำคัญขนาดใหญ่ร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) กองทุนสีเขียว (Green Fund)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมีการดำเนินโครงการ Country PRogramme ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2568) ร่วมกับ OECD ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และการพัฒนาขัดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

‘หัวเว่ย’ เดินหน้ารุดอุตสาหกรรม ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในจีน อาศัย ‘เทคโนโลยี’ ที่เชี่ยวชาญเป็นจุดขายร่วมธุรกิจ

(29 พ.ย.66) ‘หัวเว่ย’ บริษัทโทรคมนาคมและสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน กำลังขยายการจำหน่ายเทคโนโลยีหัวเว่ยในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และย้ำว่าบริษัทไม่ได้ผลิตรถยนต์ แต่ขายส่วนประกอบด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบปฏิบัติการ Harmony OS และผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ขับขี่ หรือการทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อสร้างแบรนด์อีวีใหม่ ๆ

โดยเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) หัวเว่ยยืนยันว่า บริษัททำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่อย่างน้อย 4 รายในจีน หลังมีข่าวว่าหัวเว่ยร่วมทุนกับฉางอัน ออโตโมบิลเพื่อผลิตเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์

หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับ Chery เพื่อผลิตเทคฯยานยนต์ให้กับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า Luxeed ที่เปิดตัวซีดาน S7 เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) รวมถึง BAIC Motor และ JAC Motor ซึ่ง BAIC เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Arcfox ใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยเรียบร้อยแล้ว แต่ JAC ยังไม่ตอบคำขอแสดงความเห็น

‘ทู เล่อ’ ผู้ก่อตั้งซิโน ออโต้ อินไซด์ บริษัทที่ปรึกษาในปักกิ่ง เผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนที่ผลิตภัณฑ์ยังขาดเทคโนโลยีสำคัญ พึงพอใจที่จะใช้เทคฯ ของหัวเว่ยมากกว่าที่อื่น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าโซลูชันของหัวเว่ยดีกว่าคู่แข่งอย่างไร และหัวเว่ยก็เหมือนบริษัทเทคฯ อื่น ๆ ที่เห็นโอกาสในตลาดยานยนต์อีวีและลงมือทำทุกอย่างเต็มที่

ด้าน ‘เทนเซ็นต์’ ที่บริหารจัดการแอปพลิเคชันวีแชท วางแผนเปิดตัวรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 และประกาศเมื่อปลายเดือน ต.ค. ว่าบริษัทมีระบบปฏิบัติการเป็นของตนเองแล้ว เรียกว่า HyperOS

>> ธุรกิจอีกส่วนหนึ่งของหัวเว่ย

หลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และห้ามให้บริษัทซื้อซัพพลายเออร์จากสหรัฐ รวมถึงใบอนุญาตเข้าถึงกูเกิลเวอร์ชันล่าสุดของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หัวเว่ยจึงสร้างระบบปฏิบัติการ Harmony OS ขึ้นมาแทน

ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หัวเว่ยมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยี 103,500 ล้านหยวน ขณะที่โซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มีรายได้ 1,000 ล้านหยวน

‘ริชาร์ด ยู’ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค เผยแนวทางการร่วมงานกับผู้ผลิตรถยนต์ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

1.บริษัทปฏิบัติตนเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนประกอบ
2.บริษัทจำหน่ายชุดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีรถยนต์ที่เรียกว่า ‘Huawei Inside’ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบยานยนต์เอง
3.บริษัทควบคุมการออกแบบ Huawei Inside ส่วนใหญ่ รวมถึงการจำหน่าย และการทำการตลาด ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ผลิตรถยนต์เอง

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ชี้!! กระแส ‘EV’ มาแรง เขย่าวงการรถยนต์ แนะ ‘ไทย’ จับทิศทางให้ถูก รับมือการเปลี่ยนแปลงรอยต่อเทคโนโลยี

(10 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกระแสตอบรับของรถยนต์ไฟฟ้า จากงาน ‘Motor Expo 2023’ ระบุว่า…

‘Motor Expo’ คราวนี้ รถยนต์ไฟฟ้าขายดีมากๆ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มแล้วในไทย?

รถยนต์เป็นพาหนะที่คุ้นเคย จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แพงขึ้น ทำให้คนเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีปัญหาในเรื่องของจุดชาร์จ แบตดับก่อนที่ Range ในจอบอกไว้ ขายต่อยาก และค่าประกันแพง

แต่ปัญหาเหล่านี้ทยอยถูกแก้ไข และที่สำคัญคือ ‘คนใช้รถ’ จะเอาเงินค่าเติมน้ำมันมาผ่อนรถได้เกือบฟรีเลย ค่าบำรุงรักษาก็น้อยมาก ยกเว้นเปลี่ยนแบตเตอรี่ การตัดสินใจตรงนี้ทำให้มีการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

แต่รถไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ธุรกิจรถยนต์ มันมี 3 ธุรกิจ อยู่ในนั้น คือ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และยานยนต์

นั่นคือ Toyota, Panasonic และ Apple รวมกัน

เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ถ้ามีระบบที่ทำให้ชาร์จไว และวิ่งได้นานขึ้น จาก 400 Km เป็น 700 Km รถที่คุณใช้จะกลายเป็นรถตกรุ่นเหมือนโทรศัพท์ตกรุ่นทันที และถ้ารถมีเทคโนโลยีช่วยขับ คนเก่าก็ตกรุ่นทันที อีกหน่อยถ้าบินได้ยิ่งแล้วใหญ่เลย

วันนึงถ้า Apple พร้อม แล้วออกรถยนต์ไฟฟ้า Toyota, Benz, BMW, Tesla, BYD จะเจอเหมือน Nokia, Motorola, Nikon, Seiko การ Disrupt ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น

ในทางกลับกันค่ายญี่ปุ่นที่เคยมองข้าม EV เพราะหลายปีก่อน มันมีทางแยกเทคโนโลยี ยุโรปพัฒนา ‘Diesel’ ส่วนญี่ปุ่นพัฒนา ‘Hybrid’ และข้ามไปสู่ ‘Hydrogen’ ในขณะที่ ‘Elon Musk’ พัฒนา EV เมื่อจีนเข้ามาเร่งปฎิกริยา EV ดูเหมือน EV จะชนะแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ ยังไม่ทิ้ง Hydrogen การที่ไม่ยอมแพ้ทำให้ เงิน R&D กระจายไป 3 ทาง Hybrid, EV และ Hydrogen ไม่สุดสักทาง

อย่างไรก็ดี ขอให้ไทยเราจับทิศทางให้ถูกเพื่อสร้างอุตสาหกรรม เพื่อการจ้างงานในประเทศ ดูแลคนไทยในยุครอยต่อของเทคโนโลยี

‘OR’ เตรียมตั้ง ‘PTT Station’ แบบไร้หัวจ่ายน้ำมัน มีแต่ที่ชาร์จ EV 100% ตั้งเป้า 600 แห่ง ปี 67 และ 7,000 แห่งภายในปี 73 ทั่วประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซปต์แห่งอนาคต ด้วยการไม่มีหัวจ่ายน้ำมันให้บริการ จะมีเพียงแต่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Stations) และ ร้านค้าในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil เพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาและวางแผนก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567

สำหรับ ปัจจุบันแผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Stations) ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500-600 แห่ง ทั่วประเทศ โดยในส่วนของ OR มุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จใน พีทีที สเตชั่น เป็นหลัก และในปี 2573 จะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 7,000 หัวชาร์จ ตามแผนที่วางไว้ 

ทั้งนี้บริษัทได้ใช้เงินลงทุนราว 600 ล้านบาท ในการก่อสร้างสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 (PTT Station Flagship วิภาวดี 62) ซึ่งเป็นต้นแบบสถานีบริการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ OR ที่พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด SDG ในแบบของ OR ในทุกมิติ 

นายดิษทัต กล่าวว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 มีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และเป็นสถานีบริการที่เป็นต้นแบบ หรือ ‘แฟลกชิป’ (Flagship) ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของ OR โดยมีสัดส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil สูงได้ 80% ของสถานี และอีก 20% เป็นธุจกิจ Mobility และยังถือเป็นสถานีบริการต้นแบบสำหรับการออกแบบสู่การขยาย พีทีที สเตชั่น ในอนาคตอีกด้วย

บริษัทยังมีแผนการขยายธุรกิจสู่กลุ่ม Health&Beauty ซึ่งมีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่สินค้าเครื่องสำอางค์และความงาม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจสัญชาติเกาหลี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/2567 รวมถึง ธุรกิจโรงแรม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 5-6 เดือนจากนี้

'สังคมออนไลน์' ยกนิ้ว!! 'BYD-CHANGAN-Tesla' แบรนด์รถยนต์ EV มาแรงที่สุดในโซเชียลไทย

(27 ธ.ค.66) ตลาดรถ EV มาแรง ดาต้าเซ็ต เจาะข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบคนไทยพูดถึงรถ EV คึกคักรับเทรนด์คนยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พบ 3 แบรนด์ดังได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ BYD, CHANGAN และ Tesla โดยมีการกล่าวถึง (Mention) และ เอ็นเกจเมนต์ (Engagement) มากที่สุด

ปัจจุบันความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ในไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากข้อมูลของรอยเตอร์พบว่าไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับงาน Motor Expo 2023 ครั้งที่ 20 พบว่ายอดจองรถยนต์ EV ถล่มทลายมาก โดยเฉพาะ BYD ที่เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนซึ่งมียอดจองสูงเป็นอันดับ 1 ในงาน

ทั้งนี้ บริษัท ดาต้าเซ็ต จึงได้ใช้เครื่องมือ DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) เก็บข้อมูลบน Social Media ระหว่างวันที่ 15 พ.ย.- 16 ธ.ค. 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการพูดถึงบนสังคมออนไลน์ว่าสอดคล้องกับแบรนด์รถที่มียอดจองสูงจากงาน Motor Expo 2023 หรือไม่

เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Social Media ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดใน 3 อันดับแรกจะมีความสอดคล้องกับยอด Engagement ที่ทางแบรนด์ได้รับ ซึ่งใน 3 อันดับ เป็นแบรนด์จากรถยนต์ EV ทั้งหมด โดยอันดับหนึ่ง คือแบรนด์ BYD มีการถูกกล่าวถึง (Mention) และมียอด Engagement มากที่สุด รองลงมาเป็นแบรนด์น้องใหม่ Changan และสุดท้าย คือแบรนด์ Tesla เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Mention)

1. BYD 19.6%
2. CHANGAN 14.7%
3. Tesla 11.6%
4. AION 10.3%
5. GWM 9.2%
6. MG 8.4%
7. NETA 7.8%
8. Hyundai 7.5%
9. Honda 3.0%
10. อื่น ๆ 7.9%

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Engagement)

1. BYD 22.3%
2. CHANGAN 17.3%
3. Tesla 12.8%
4. Honda 9.4%
5. AION 7.7%
6. NETA 6.1%
7. GWM 5.4%
8. MG 4.4%
9. Hyundai 3.7%
10. อื่น ๆ 10.9%

>> Top 3 แบรนด์รถไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด

BYD เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์หลังจาก แบรนด์ BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนได้ทำการปล่อยคลิปสาธิตโหมด ‘Emergency Float Mode’ ที่จะเป็นโหมดที่ตัวรถจะทำการขับบนผิวน้ำได้แบบอัตโนมัติ เมื่อรถตกน้ำ และจะพาผู้โดยสารในรถกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย โดยจะเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาในรถ SUV ไฟฟ้า ตัว Top ของทางแบรนด์อย่าง YangWang U8 ที่เปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมการพัฒนาเทคโนโลยี และตื่นเต้นกับฟีเจอร์ดังกล่าวพร้อมทั้งรอติดตามที่จะได้เห็นการเทสฟีเจอร์นี้จากประสบการณ์ผู้ใช้จริง

CHANGAN รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงไม่แพ้ BYD เห็นได้จากการเอ็นเกจกับคอนเทนต์ ‘รีวิวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใหม่จากฉางอัน’ ที่เปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา จาก YouTube Account Autilifethailand Official ที่ได้การเอ็นเกจสูงสุด และกวาดยอดวิวไปกว่า 340K แสดงให้เห็นความเป็นที่นิยม เนื่องจากโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและความแรงของรถที่ขับเคลื่อนกำลังสูงสุด 190 kW เทียบเท่า 258 แรงม้า นอกจากนั้นฉางอันยังตีตลาดไทยด้วยเรื่องของความคุ้มค่า โดยการมอบสิทธิพิเศษ มูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท เช่น ฟรีประกันภัยชั้น 1, รับประกันแบตเตอรี่และบำรุงรักษาฟรี นาน 8 ปี, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. นาน 8 ปี, ฟรีที่ชาร์จรถที่บ้าน และอื่น ๆ

Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายุโรปที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ คงไม่พ้น Tesla โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากโพสต์เด่นพบการเปิดตัว Cybertruck หรือ รถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของ Tesla สิ่งที่น่าสนใจในรถยนต์รุ่นนี้ก็คือฟีเจอร์ Powershare ที่ทำให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถคันอื่นหรือบ้านได้สูงสุด 9.6kW ความคิดเห็นต่างให้ความสนใจฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงได้รับฉายาในโซเชียลมีเดียว่า ‘พาวเวอร์แบงค์เคลื่อนที่’ โดยโพสต์ดังกล่าวได้รับ Engagement สูงกว่า 7,428 ครั้ง

>> ส่องความคิดเห็นใน Social Media

จากภาพรวมเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ EV และรถยนต์สันดาปนั้น พบว่าปัจจุบันเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเชิงบวกต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้พบว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อรถยนต์ EV ได้แก่

1. ความคุ้มค่าและความประหยัด
2. ดีไซน์ของรถที่มีความทันสมัย
3. เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ AI ของตัวรถ
4. ลดมลพิษทางอากาศ

แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางส่วนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรถยนต์ EV ในด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ได้แก่

1. ปัญหาแบตเตอรี่
2. ความเพียงพอของสถานีชาร์จ
3. คุณภาพการใช้งาน
4. ราคาของประกันรถที่อาจแพงกว่ารถยนต์สันดาป

จากแบรนด์รถยนต์ EV ของ BYD ที่มีการกล่าวถึง (Mention) และยอด Engagement มากที่สุดเป็นอันดับ 1 พบว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ BYD จะสอดคล้องกับเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ EV ทั้งในเรื่องของดีไซน์รถ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนวัตกรรมด้านความปลอดภัยและความบันเทิง และยังเพิ่มความสามารถที่ทำให้ผู้คนสามารถนอนหลับบนรถได้ สุดท้ายในเรื่องของราคาที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

>> ยักษ์ใหญ่ไอทีจีนลงเล่นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

รู้หรือไม่? แบรนด์เทคโนโลยี 2 เจ้าดังของจีน ก็ได้มาเล่นตลาดรถอีวีด้วย อย่าง Xiaomi ล่าสุดได้มีการเปิดตัวรถ รุ่น SU 7 และ Huawei ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ Chery Auto เปิดตัว S7 ภายใต้แบรนด์ Luxeed

ทั้งนี้ ความต้องการรถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคนั้นได้สร้างความสะเทือนให้กับผู้ผลิตรถยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากสถิติของ Forbes ที่เผยยอดการผลิตรถยนต์สันดาปในปี 2566 เทียบกับปี 2565 นั้นลดลงถึง 8% ผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตรถ EV กันมากขึ้น ล่าสุดทางแบรนด์รถยนต์จากค่ายใหญ่ เช่น Honda และ Toyota ก็ได้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ EV ออกมา โดยทาง Honda ได้ออกรถยนต์ EV คือ รุ่น e:N1 และ ทาง Toyota คือ รุ่น bZ4X ซึ่งจากทาง 2 ค่ายใหญ่ที่ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกซื้อรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค จึงคาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีการผลิตรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นจากทั้งหลายแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เองทางรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15 พ.ย. - 16 ธ.ค. 2566

คนใช้รถ EV กลับบ้านปีใหม่ แย่งกันใช้สถานีชาร์จไฟวุ่น เหตุมีไม่กี่ที่ แม้จะจองผ่านแอปฯ ไว้ล่วงหน้า แต่หากไปไม่ทัน ก็ต้องเสียสิทธิ

(28 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนถนนมิตรภาพในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้มีประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการจราจรหนาแน่นหลายจุด

ขณะเดียวกันพบว่า มีประชาชนหลายคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่หาสถานีชาร์จไฟฟ้าค่อนข้างยาก เนื่องจากจะมีเฉพาะบางปั๊มน้ำมันเท่านั้น ทำให้ต้องมีการวางแผนการเดินทางมากกว่าผู้ใช้รถยนต์น้ำมันปกติทั่วไป

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาถนนบายพาสเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV อยู่ 1 สถานี ที่มีสายชาร์จไฟฟ้ารถ EV ได้ครั้งละ 2 คันเท่านั้น ปรากฏว่ามีประชาชนนำรถยนต์ EV มาจอดชาร์จไฟฟ้าเต็มทั้ง 2 คันตลอดเวลา

นายวิเชียร จันทลุน อายุ 44 ปี กล่าวว่า ตนเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปบ้านที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยใช้รถยนต์ EV เดินทาง รถคันนี้ชาร์จไฟฟ้าครั้งหนึ่งสามารถวิ่งได้ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่ระยะทางกว่าจะถึงกาฬสินธุ์ประมาณ 500 กิโลเมตร ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ไว้ 2 ครั้ง โดยชาร์จ ที่ จ.นครราชสีมา 1 ครั้ง และชาร์จอีกครั้ง ที่ จ.มหาสารคาม

แต่เนื่องจากสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV มีน้อย จึงต้องมีการจองชาร์จไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันไว้ล่วงหน้า ซึ่งพบปัญหาว่า เมื่อจองแล้วเกิดปัญหาการจราจรติดขัด มาไม่ทันเวลาที่จองไว้ ต้องถูกยกเลิกการจองเพื่อให้รถคันอื่นที่มาทีหลังได้ชาร์จไฟแทน ขณะเดียวกันการชาร์จแต่ละรอบก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร อย่างรถของตนเองแบตเตอรี่เหลือ 30% ต้องใช้เวลาชาร์จประมาณ 56 นาทีกว่าจะเต็ม 100%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top