Monday, 29 April 2024
EV

ตามติด 6 เดือน 'รมว.ปุ้ย' ใต้ภารกิจพาอุตสาหกรรมไทยโตรอบทิศ 'ปูพรม EEC-ระบบนิเวศสีเขียว-EV-เงินทุนคนตัวเล็ก-ฮาลาล-ปุ๋ยโปแตซ'

(15 มี.ค.67) รัฐบาลได้ทำงานมาครบ 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อการค้าโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

ทั้งนี้ นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน อาทิ

1.การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น

ปลดล็อคอุปสรรคผลิตไฟดซลาร์เซลล์

2.ประสานภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น 

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ พร้อมปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”

เติมทุนคู่พัฒนายกระดับ ‘เอสเอ็มอี’

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การดูแลเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวน 95% ของวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่รอด จึงต้องเติมทุนคู่พัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ ทั้งรายที่อ่อนแอและมีความเข้มแข็ง

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากมีบทบาทช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ จะช่วยดูข้อมูลอุตสาหกรรมโลกว่าเทรนด์โลกไปถึงไหน และแจ้งผู้ประกอบการทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ากิจการที่ทำอยู่ไปต่อได้หรือไม่ และจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร”

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการติดปีกให้เอสเอ็มอี ในขณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

"ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าเป็นห่วงเพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่วนดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมชิปที่เป็นเทรนด์อนาคต”

นายกฯ อยากเห็นปุ๋ยถุงแรกผลิตที่ไทย

สำหรับการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในปัจจุบันออกประทานบัตร 3 เหมือง ได้แก่ บริษัท 1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้มีปริมาณการผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากดึงโปแตชมาทำปุ๋ยได้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาแพงมาก ซึ่งปริมาณโปแตชทั้ง 3 เหมือง เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก และช่วยความมั่นคงว่าจะมีปุ๋ยใช้ในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ผู้รับประทานบัตรมีปัญหาสภาพคล่องหรือบางบริษัทมีปัญหาเงินทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหาทางให้เดินหน้าต่อ ซึ่งได้เชิญทั้ง 3 บริษัทมาร่วมความคืบหน้า และนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นปุ๋ยกระสอบแรกที่ผลิตจากไทย ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจแต่ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยแนวโน้มโครงการเป็นไปได้ดีจากการที่นายกฯ เดินทางไปดูเหมือง และเดินทางไปต่างประเทศได้หานักลงทุนที่ไหนสนใจ

ลุยแก้ปัญหา ‘ผังเมือง’ หนุนการลงทุน

สำหรับกฎหมายผังเมืองถือเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ไหนอยากให้นักลงทุนเข้ามา เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพื้นที่เดิมที่จะมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ EEC จึงต้องหาทางสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย แต่ติดขัดปัญหาผังเมืองจึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหา

ดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นโอกาสจากการเติบโตในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ประเทศไทยส่งออกได้เพียงปีละเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ครม.โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญอาหารฮาลาลเพราะส่งออกไปตลาดที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางดังนั้น จึงควรยกระดับความสำคัญอุตสาหกรรมฮาลาลซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่จึงควรรวมที่เดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่สถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณดำเนินการ 630 ล้านบาท

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

“อุตสาหกรรมฮาลาลเรามีต้นทุน เมื่อก่อนไทยเป็นครัวของโลก คำว่าครัวของโลกต้องเป็นครัวของโลกจริงๆ เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการล่าสุดมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจมาตั้งโรงงานเพื่อจะประทับตราฮาลาลที่ไทยเพื่อส่งออกอาหารญี่ปุ่น เพราะเขามั่นใจว่าเรามีต้นทุนที่ดี รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”

‘GAC AION’ ขนทัพรถยนต์ไฟฟ้าหลากรุ่น ร่วมงาน ‘Motor Show 2024’ พร้อมเปิดตัว Hyper HT เอสยูวีไฟฟ้าลักชัวรี่ระดับไฮเอนด์อย่างเป็นทางการ

GAC AION ขนทัพรถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus และ AION ES เข้าร่วมงาน Motor Show 2024 พร้อมเปิดตัว Hyper HT เอสยูวีไฟฟ้าลักชัวรี่ระดับไฮเอนด์อย่างเป็นทางการ นำเสนอทางเลือกที่เหนือกว่าสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ด้วยความหรูหราระดับพรีเมียม ดีไซน์ล้ำสมัย พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ

(27 มี.ค.67) นายโอเชี่ยน หม่า (Ocean Ma) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GAC AION ถือเป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์รายแรก ๆ ในโลกที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) อย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดีว่า GAC AION สามารถคิดค้น วิจัยและผลิตชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ทั้ง 3 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่, มอเตอร์, แผงควบคุมระบบไฟฟ้า หรือ ECU ทำให้ GAC AION กลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของโลก

สำหรับประเทศไทย GAC AION ได้นำ AION Y Plus เข้ามาทำตลาดเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีของชาวไทยมาโดยตลอด สะท้อนจากยอดจองรถยนต์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,568 คัน และมียอดจองรถยนต์เป็นอันดับ 4 จากแบรนด์รถยนต์ที่เข้าร่วมงานทั้งหมด และยังมียอดจองเป็นอันดับที่ 2 ในแบรนด์รถไฟฟ้าภายในงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศไทยของ GAC AION

ในปี 2023 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ GAC AION เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 480,000 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 77% ครองตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของประเทศจีน และ อันดับที่ 3 ของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของโลก และในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา GAC AION สร้างสถิติผลิตและขายรถยนต์ได้ครบ 1 ล้านคันเร็วที่สุดในโลกเป็นประวัติการณ์ โดยใช้เวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน การันตีถึงความสามารถและความเหนือชั้นของ GAC AION ทั้งในแง่ของกระบวนการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการตลาดอันแข็งแกร่ง ปัจจุบัน GAC AION มีแบรนด์รถยนต์ภายในเครือทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ AION แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับความคุ้มค่า ดีไซน์ภายนอกและภายในที่ทันสมัย พร้อมด้วยเทคโนโลยีและฟีเจอร์อัจฉริยะ และ Hyper แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ (Hi-End) ที่มาพร้อมกับความหรูหรา และเทคโนโลยีขั้นสูงสุด

ในปี 2024 นี้ GAC AION กำลังสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคมของปีนี้ ในขณะเดียวกันยังมีการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทยอีกด้วย คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปีนี้เช่นกัน

เพื่อสานต่อความสำเร็จ และนำเสนอทางเลือกใหม่ที่เหนือกว่า ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ล่าสุด GAC AION ได้เข้าร่วมงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 หรือ Motor Show 2024 ที่จัดขึ้นในวันพุธที่ 27 มี.ค. - วันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี โดยความพิเศษภายในงาน ได้มีการแนะนำแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ Hyper อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดตัว Hyper HT รถยนต์เอสยูวีไฟฟ้าลักชัวรี่ระดับไฮเอนด์ที่หลายคนรอคอย

Hyper (ไฮเปอร์) เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ (Hi-End) ของ GAC AION ที่ตอบสนองความต้องการในกลุ่มลูกค้าผู้หลงใหลความเป็นที่สุด ทั้งความหรูหรา เทคโนโลยี และสมรรถนะขั้นสูง สะท้อนภาพลักษณ์ และรสนิยมอย่างเหนือชั้น โดยได้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพื่อนำมาใช้ในรถยนต์หลากหลายรุ่นของ Hyper โลโก้ของแบรนด์สื่อถึงธนู AI ARROW เพื่อแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยแนวคิดในการพัฒนาหลัก 4 ประการ คือ ‘ก้าวล้ำ (ADVANCE) ทันสมัย (TRENDY) สนุกสนาน (FUN) และ คุณภาพสูง (HIGH-GRADE)’ ซึ่งสร้างความสมบูรณ์แบบ ทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ ผสมผสานในการผลิตรถยนต์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้งานได้รับ ‘ประสิทธิภาพสูงสุดที่มาพร้อมประสบการณ์ความหรูหรา และการบริการในระดับท็อปคลาส’

ในปัจจุบันแบรนด์ Hyper ของ GAC AION มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ทั้งหมด 3 รุ่นดังนี้

- Hyper HT รถเอสยูวีไฟฟ้าระดับพรีเมียม มอบความสะดวกสบายสูงสุดให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ตัวรถมีขนาดใหญ่นั่งสบาย พร้อมฟังก์ชันและฟีเจอร์ระดับไฮเอนด์ โดดเด่นด้วยประตูแบบปีกนก หรือ Gullwing Doors เปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
- Hyper GT รถสปอร์ตซีดานไฟฟ้า มาพร้อมดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยว พร้อมการตกแต่งภายในที่ดูหรูหรา โดดเด่นด้วยประตูแบบปีกผีเสื้อ (Butterfly Doors) และออปชันระดับไฮเอนด์
-  Hyper SSR ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกในประเทศไทย มาพร้อมตัวถังแบบคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว (หน้า 1 หลัง 2) ให้พละกำลังรวมสูงสุด 1,224 แรงม้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร็วสูงสุดภายใน 1.9 วินาที และมีแรงกระชากในระดับ 1.7G

โลโก้ของแบรนด์ Hyper เป็นสัญลักษณ์ ลูกศร AI สื่อถึงภูมิปัญญาและความรัก ที่สุดแห่งเทคโนโลยีและความโรแมนติก มุ่งเน้นอัจฉริยภาพ ความหรูหรา ศิลปะ และรสนิยม รังสรรค์ศิลปกรรมทางเทคโนโลยี ปัจจุบัน บริษัทได้พัฒนาขีดความสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับโลกใน 6 มิติ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การผลิตอัจฉริยะ ห่วงโซ่อุตสาหกรรม การบริการด้านการตลาด วัฒนธรรมองค์กร และความเป็นสากล โดยวันนี้ เราได้นำรถรุ่นใหม่ล่าสุดภายใต้แบรนด์ Hyper ที่พร้อมผลิตเพื่อส่งมอบสู่ตลาด ‘Hyper HT’ นายโอเชี่ยน หม่า (Ocean Ma) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Hyper HT ถือเป็นรถเอสยูวีไฟฟ้าที่มาพร้อมกับความหรูหราและเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก เหนือระดับด้วยดีไซน์ภายนอกแบบโค้งมนที่เป็นเอกลักษณ์ (Liquid curved body) โดดเด่นด้วยประตูคู่หลังแบบปีกนก (Gullwing Doors) พร้อมเปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ สะกดทุกสายตาที่ได้พบเห็น ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยวัสดุระดับพรีเมียมที่ผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน เพิ่มความหรูหราระดับพรีเมียม รวมถึงฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น เบาะนวดไฟฟ้า ปรับระดับการนวดได้หลายรูปแบบ, เบาะหนังคุณภาพสูงให้สัมผัสการนั่งที่ดีเยี่ยมพร้อมฟังก์ชันระบายอากาศและอุ่นเบาะ เพิ่มความผ่อนคลายตลอดการเดินทาง เบาะที่นั่งด้านหลังสามารถปรับเอนได้ถึง 143 องศา มากที่สุดในรถเอสยูวีระดับเดียวกัน, ระบบเครื่องเสียงคุณภาพสูง และฟีเจอร์อื่นๆมากมาย

จุดเด่นอันเหนือระดับของ Hyper HT มาพร้อมกับที่พักเท้าด้านหลังแบบพับได้ เพิ่มพื้นที่ยืดขาโอ่อ่าขั้นสูงสุด และ โต๊ะวางของอเนกประสงค์ สำหรับวางสิ่งของต่าง ๆ ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย เพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยกระจกกันเสียงแบบลามิเนต 2 ชั้น และพื้นที่สัมภาระขนาดใหญ่พิเศษ ความจุขนาด 670 ลิตรและเมื่อพับเบาะสามารถใช้พื้นที่ได้ถึง 1,802 ลิตร สามารถเก็บถุงกอล์ฟใบใหญ่ 2 ใบได้สบาย ๆ

ทั้งนี้ Hyper HT ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดหลัก 4 ประการได้แก่

1. Hyper Design - ที่สุดแห่งการออกแบบเหนือระดับ เปรียบเสมือนงานศิลปะแห่งโลกยานยนต์ สะกดทุกสายตาด้วยประตูแบบปีกนก (Gullwing Doors), ไฟหน้าแบบ Diamond Cut และไฟท้ายแบบ Horizon

2. Hyper Space - มอบความสะดวกสบายภายในห้องโดยสารที่มากกว่า ด้วยพื้นที่ภายในสุดหรูหรา ตกแต่งด้วยวัสดุระดับพรีเมียม มอบประสบการณ์ในการขับขี่และการโดยสารระดับ ‘เฟิร์สคลาส’ ด้วยฟังก์ชันเบาะนวด 10 จุด และเบาะโดยสารด้านหลังที่สามารถปรับเอนได้ถึง 143 องศา

3. Hyper Energy - ไปได้ไกลและรวดเร็วยิ่งกว่า ด้วยเทคโนโลยี Magazine Battery เจเนอเรชั่นที่ 2 พร้อมระบบ Fast Charge ชาร์จเพียง 15 นาที ก็สามารถวิ่งได้ไกล 400 กิโลเมตร และหากชาร์จเต็มจะสามารถวิ่งได้ไกลกว่า 600 กิโลเมตร

4. Hyper Network - โครงข่ายสถานีชาร์จ Hyper Premium Charging Network เอกสิทธิ์เฉพาะลูกค้า Hyper โดยในปี 2024 จะมีการสร้างสถานีชาร์จจำนวน 15 แห่ง ครอบคลุมรัศมี 15 กิโลเมตรในกรุงเทพมหานคร และในปี 2028 จะมีการขยายโครงข่ายสถานีชาร์จเป็น 100 แห่งทั่วประเทศ

ขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาสัมผัส Hyper HT ยนตรกรรมแห่งความเหนือระดับ ที่จะเปิดประสบการณ์การเดินทางไปสู่โลกอนาคตครั้งใหม่ ที่บูท GAC AION (A20) ในงาน Motor Show 2024 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top