Wednesday, 19 March 2025
EV

ฉางอันแจงดราม่าราคา EV เป็นแคมเปญเฉพาะ Motor Expo 2024 เท่านั้น

(7 พ.ย. 67) CHANGAN Automobile ผู้ผลิตรถไฟฟ้าแบรนด์ DEEPAL ชี้แจงกรณี ดราม่าการลดราคารถยนต์ DEEPAL S07 โดยบริษัทขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายลดราคารถยนต์ DEEPAL S07, S07L และ L07 แต่เป็นเพียงแคมเปญ Motor Expo และ Big Surprise Deal เพื่อมอบข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำการจองและวางมัดจำระหว่างวันที่ 1 พ.ย. -  10 ธ.ค. 67 และทำการส่งมอบรถภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 เท่านั้น 

ทั้งนี้ แคมเปญสุดพิเศษในช่วง Motor Expo 2024 และช่วงสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าทุกท่านที่ซื้อรถยนต์ DEEPAL S07, DEEPAL S07 L และ DEEPAL L07

โดยข้อเสนอที่น่าสนใจของ DEEPAL S07 และ DEEPAL S07 L ยกตัวอย่างเช่น ฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่งพร้อมพ.ร.บ. นานสูงสุด 2 ปี มูลค่า 60,000 บาท, รับข้อเสนอพิเศษ Motor Expo 2024 อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% เมื่อดาวน์ 25% และผ่อนชำระ 60 เดือน

นอกจากนี้ยังฟรีฟิล์มติดรถยนต์ มูลค่า 10,000 บาท รวมไปถึงรับเงินคืน 34,000 บาท หลังส่งมอบรถภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 และยังมีสิทธิพิเศษ Big Surprise Deal ช่วยผ่อน 4 เดือน เดือนละ 25,000 บาท มูลค่ารวม 100,000 บาท เป็นต้น

วิจัยชี้ อเมริกาโครงสร้างพื้นฐานแย่ ทำรถ EV ในสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอตัว

(19 พ.ย. 67) คอกซ์ ออโตโมทีฟ (Cox Automotive) บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสหรัฐฯ เติบโตช้าลงในปี 2024 โดยคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) อยู่ที่ 346,309 คัน คิดเป็นเกือบร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมด

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินในสหรัฐฯ ช่วงปี 2023 รวมอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดในปีดังกล่าว และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปี 2022

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตช้าลงในปี 2024 อาจเป็นผลจากความลังเลจะซื้อขายแลกเปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันของผู้ขับขี่ เพราะกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ ซึ่งเพิ่มขึ้นช้ากว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะการวิจัยที่นำโดยนักวิจัยของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) พบว่าอุปกรณ์ชาร์จที่พังเสียหายถือเป็นปัญหา โดยหนึ่งในห้าของอุปกรณ์ชาร์จไม่ทำงานเมื่อผู้ขับขี่มาถึง

ทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีเสาชาร์จสาธารณะกว่า 2 แสนต้น กระจายอยู่ทั่วสถานีชาร์จราว 74,000 แห่ง แต่สหรัฐฯ จะต้องมีเสาชาร์จอีกมากกว่า 1 ล้านต้นภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองได้ทันกับยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

‘สรยท.’ จับมือ ‘EVAT’ จัดเสวนา ในงาน ‘Motor Expo’ ชวน!! เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 67) สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย หรือ สรยท. จับมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า’ ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ซึ่งในงานนี้ได้รับเกียรติจากคุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 เข้าร่วมในฐานะของประธานในพิธี และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสมาชิกของสมาคม และบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมรับฟัง ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-5 อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

ในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างต่อเนื่องนับจากที่มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามานำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ กันอย่างต่อเนื่องในตลาดเมืองไทยนับจากปี 2022  และทางสมาคมฯ เองได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในปี 2023 จึงได้ขยายการจัดงานรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ Thailand Car Of The Year เพื่อรองรับกับทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยการมอบทั้งรางวัลสำหรับรถยนต์สันดาปภายใน/ไฮบริดสำหรับรางวัล Thailand Car Of The Year และได้เพิ่มอีกประเภทคือ รางวัล Thailand EV Of The Year สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกของทางสมาคมฯ 

“สมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้ แก่ผู้ใช้รถยนต์ในยุคที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานสะอาด จึงผสานความร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการจัดเสวนาให้ความรู้ในครั้งนี้” นายสุรศักดิ์ จรินทร์ทอง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าว

รถยนต์ไฟฟ้ากำลังถูกพัฒนาเข้ามา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในตลาด นอกเหนือจากรถยนต์สันดาปภายใน และอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทน เนื่องด้วยเหตุผลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เห็นได้จากตลาดรถยนต์ไทยในปัจจุบันที่มีอัตราการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้เป็นโอกาสอันดี สมาคมฯ ได้จัดงานเสวนาให้ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ในหัวข้อ ‘เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า’ เพื่อสื่อสารองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าไปยังผู้บริโภค โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า มาเป็นผู้บรรยายให้ความกระจ่าง แก่สังคม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว นำไปใช้งานยานยนต์ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ในโอกาสข้างหน้าต่อไป

สำหรับวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมของทั้งผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย 

ซึ่งในช่วงแรกเป็นการให้ข้อมูลในแง่ภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยโดยคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 อยู่ที่ 12.60% ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ส่วนในตลาดอาเซียน ไทยถือเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์พลังไฟฟ้า โดยในปี 2023 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 78.70% เลยทีเดียว

ส่วนตลาดปี 2024 จากยอดจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 ตุลาคม รถยนต์ไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนรวม 82,218 คัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งโดยสารซึ่งมีตัวเลขถึง 59,759 คัน แต่แม้ว่าจะมีการขยายตัวของตลาด แต่ในแง่ของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับกับการใช้งาน เช่น แท่นชาร์จสาธารณะยังเป็นเรื่องที่จะต้องมีการขยายตัวตามไปด้วย เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อแท่นชาร์จสาธารณะอยู่ที่ 26 คันต่อ 1 หัวชาร์จ ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 5.5 คันต่อ 1 หัวชาร์จ

ส่วนเรื่องของระบบการชาร์จเป็นการให้ข้อมูลโดยคุณอภิสิทธิ์ ณัฐวรวโรตม์ สถาปนิกระดับ 8 ทีมพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ซึ่งดูแลในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXa แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับชุมชน EV เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของการเดินทางในอนาคต โดยเน้นไปที่เรื่องของการทำ Roaming ในเรื่องบริการของผู้ให้บริการแท่นชาร์จจากบริษัทต่างๆ ให้มารวมอยู่ในแพลตฟอร์มของ EleXa เพื่อลดจำนวนการติดตั้งแอปพลิเคชันจำนวนมากบนสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้กับเจ้าของรถยนต์ BEV ได้เป็นอย่างดี

ในช่วงท้ายของการเสวนาเป็นการถาม-ตอบในหัวข้อ ‘เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า’ โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น คุณสุรมิส เจริญงาม อุปนายก สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คุณตติยะ หลิมวิจิตร กรรมการและเลขานุการ คณะทำงานฝ่ายข้อมูลการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ดร.มานพ มาสมทบ ทีมวิจัยระบบกักเก็บพลังงานศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และคุณกฤษฎา ธีรศุภลักษณ์ KOL ด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากช่อง Welldone Guarantee โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนาในครั้งนี้

ตลอดช่วงของการถาม-ตอบ วิทยากรทั้งหมดต่างไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นประเด็นอยู่ ทั้งเรื่องของการชาร์จ การขับรถลุยน้ำท่วม การเลือกซื้อยางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การเซอร์วิส

รถยนต์ไฟฟ้าหลังจากที่จมน้ำ การรับประกันจากบริษัทรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้ากับตลาดมือสอง สงครามราคา หรือเรื่องเกี่ยวกับประกันภัย และอีกหลายประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก หรือผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว

ฮอนด้า-นิสสัน เจรจาควบรวมตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หวังสู้เทสลา-รถ EV จีน จ่อนำมิตซูฯร่วมด้วยอีกค่าย

(18 ธ.ค.67) นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงาน ว่า ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และ นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) สองบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมเข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อผสานทรัพยากรของทั้งสองบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อแข่งขันกับเทสลา (Tesla) และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตามรายงาน ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณาจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน และคาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในเร็ว ๆ นี้ โดยสัดส่วนการถือหุ้นและรายละเอียดอื่น ๆ จะมีการตัดสินใจในภายหลัง

สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มขึ้นโดยเทสลาและบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตจากจีน ได้สร้างแรงกดดันให้กับบริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิม ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายด้านรายได้และส่วนแบ่งการตลาด

ปัจจุบัน ฮอนด้ามีมูลค่าตลาดประมาณ 5.95 ล้านล้านเยน (1.32 ล้านล้านบาท) ขณะที่นิสสันมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.17 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านบาท) หากการควบรวมเกิดขึ้นจริง จะเป็นหนึ่งในข้อตกลงใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ นับตั้งแต่การควบรวมมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.77 ล้านล้านบาท) ระหว่าง Fiat Chrysler และ PSA ในปี 2021 ซึ่งก่อให้เกิด Stellantis

ฮอนด้าและนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น รองจากโตโยต้า (Toyota) แต่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ยอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกของทั้งสองบริษัทในปี 2023 อยู่ที่ 7.4 ล้านคัน แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในจีน

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันตกลงร่วมมือกันในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และในเดือนสิงหาคม ได้กระชับความสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วยการร่วมพัฒนาแบตเตอรี่ เพลาไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

นิกเคอิยังรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณานำมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทโฮลดิ้งด้วย โดยปัจจุบันนิสสันถือหุ้นในมิตซูบิชิอยู่ 24% การผนวกรวมนี้อาจทำให้บริษัทใหม่กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายรวมกว่า 8 ล้านคันต่อปี

BYD ยอดขายทั่วโลกใน Q4/67 พุ่ง คาดปี 2025 แซง Tesla ขึ้นแท่นค่ายรถอีวีขายดีสุด

วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

(3 ม.ค.68) จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

รายงานของ WSJ สอดคล้องกับการเปิดเผยของเทสลา ที่ได้รายงานยอดการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 4 และตลอดปี 2024 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี เทสลาส่งมอบรถยนต์รวม 495,570 คัน และมียอดผลิตรวม 459,445 คัน ขณะที่ยอดส่งมอบทั้งปีอยู่ที่ 1,789,226 คัน และยอดผลิตรวม 1,773,443 คัน นี่เป็นครั้งแรกที่ยอดส่งมอบรถยนต์ของเทสลาลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2023 เทสลาส่งมอบรถได้ทั้งหมด 1.81 ล้านคัน

ก่อนหน้านี้ เทสลาได้เตือนนักลงทุนถึงความเป็นไปได้ที่การเติบโตอาจลดลงในปี 2024 เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2024 เทสลาได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 10% เพื่อลดต้นทุนและเน้นการพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับตามคำมั่นของ อีลอน มัสก์

ในช่วงครึ่งปีหลัง มัสก์กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง จากบทบาทของเขาในการสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มัสก์ใช้เงินราว 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนทรัมป์และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พร้อมร่วมลงพื้นที่หาเสียงในหลายรัฐสำคัญ

แม้ว่าเทสลาจะยังคงเป็นผู้นำในด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าหากมองจากยอดขายรวมตลอดทั้งปี แต่ช่องว่างในการแข่งขันกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว โดย บีวายดี มีศักยภาพสามารถเพิ่มยอดขายรถยนต์ได้มากกว่า 41% ในปี 2024 เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีโอกาสสูงที่จะแซงหน้าเทสลาในปี 2025

การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ไฮบริดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนจากตลาดในประเทศจีน ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างแบรนด์ท้องถิ่นอย่างดุเดือด และยังได้รับแรงจูงใจจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลหลายประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

กว่า 90% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบีวายดี มาจากตลาดจีน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บีวายดีเหนือแบรนด์ต่างชาติอย่างโฟล์คสวาเกน และโตโยต้า

การเติบโตของบีวายดีและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ของจีนกำลังสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในตะวันตก ฮอนด้า และ นิสสัน ได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน

BYD จ่อผนึก DeepSeek ดึง AI ใส่รถยนต์ราคาประหยัด

(11 ก.พ. 68) หุ้นของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีนพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทประกาศแผนการใช้เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติระดับสูงในหลายรุ่นของบริษัท รวมถึงรุ่นราคาประหยัดที่มีราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทเผยว่าได้จับมือกับ DeepSeek สตาร์ทอัพด้าน AI เพื่อผนวกรวมซอฟต์แวร์ของพวกเขาเข้าในรถยนต์ BYD ซึ่งจะเป็นการตามรอยคู่แข่งอย่าง Geely, Great Wall Motors และ Leapmotor ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนา

BYD ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Tesla ในตลาดจีน และกำลังขยายตลาดในต่างประเทศ ได้ทำการประกาศนี้ในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมีการเริ่มต้นสงครามราคาครั้งใหม่ในอนาคต

บริษัทจะติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ "God's Eye" ในรถยนต์อย่างน้อย 21 รุ่น รวมถึงรุ่นประหยัดอย่าง Seagull ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 69,800 หยวน (ประมาณ 9,550 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งระบบนี้จะมาพร้อมกับคุณสมบัติต่างๆ เช่น ระบบจอดรถระยะไกลและระบบนำทางอัตโนมัติบนทางหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้พบในรถยนต์ระดับพรีเมียมเท่านั้น

หวางเฉวียนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD กล่าวในงานถ่ายทอดสดว่า "เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติไม่ใช่สิ่งที่หายากอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการขับขี่" เขายังทำนายว่าเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในรถยนต์ เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยในไม่กี่ปีข้างหน้า

การผสานรวม DeepSeek จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติของ BYD และมอบประสบการณ์การขับขี่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น บริษัท AI ดังกล่าวได้รับความสนใจทั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากเปิดตัวแชทบอทที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากสหรัฐฯ ได้ในราคาที่ต่ำกว่ามาก

ราคาหุ้นของ BYD พุ่งขึ้น 4.5% ในวันอังคาร ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ตลาดฮ่องกง โดยเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ตลาดรถยนต์จีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงในสงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบรายที่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด

เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในจีนสูงถึงเกือบ 11 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดย BYD ทำยอดขายได้ประมาณ 4.2 ล้านคัน และรายได้ประจำไตรมาสแซงหน้า Tesla เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่สาม

‘ฮุนได’ ประกาศ!! แคมเปญสำหรับ IONIQ 5 ราคาเริ่มต้น 1.399 ลบ. ตอกย้ำ!! ความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล ‘World Car of the Year’

(22 ก.พ. 68) ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอนาคตแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับ IONIQ 5 รุ่นปี 2024 ในราคาเริ่มต้นเพียง 1.399 ล้านบาท ตอบรับกระแส EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย IONIQ 5 ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของยนตรกรรมพลังงานสะอาดที่ผสานนวัตกรรมล้ำสมัย สมรรถนะทรงพลัง และการขับขี่ที่สะดวกสบายในการขับขี่ไว้อย่างลงตัว ตอกย้ำความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล World Car of the Year ในปี 2022

IONIQ 5 ถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม E-GMP (Electric Global Modular Platform) ที่ออกแบบมาเพื่อรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ช่วยให้พื้นที่ภายในกว้างขึ้น พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการขับขี่ โดยมีตัวเลือก 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น Premium Standard Range ใช้แบตเตอรี่ขนาด 58 kWh ขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD) ให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า และระยะทางขับขี่สูงสุด 384 กม. ตามมาตรฐาน WLTP ส่วน รุ่น Exclusive Long Range ใช้แบตเตอรี่ขนาด 72.6 kWh กำลังสูงสุด 217 แรงม้า สามารถวิ่งได้ไกลถึง 481 กม. พร้อมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.4 วินาที

IONIQ 5 มาพร้อมเทคโนโลยี Ultra-Fast Charging รองรับกำลังชาร์จสูงสุด 350 kW ทำให้สามารถชาร์จจาก 10-80% ได้ภายในเวลาเพียง 18 นาที และยังมีระบบ V2L (Vehicle-to-Load) ที่ช่วยให้รถสามารถจ่ายไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกได้ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

ในด้านดีไซน์ IONIQ 5 โดดเด่นด้วย Parametric Pixel Design ที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของ Hyundai Pony ผสานความทันสมัยอย่างลงตัว ไฟหน้าและไฟท้ายดีไซน์พิกเซลสุดล้ำ กันชนหน้า V-Shape ล้อขนาด 19 นิ้ว พร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto และระบบเสียง BOSE Premium Sound

เพื่อให้ทุกการเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น IONIQ 5 มาพร้อม Hyundai SmartSense ระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ อาทิ Smart Cruise Control with Stop & Go ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Blind-Spot Collision Warning ระบบเตือนมุมอับสายตา Forward Collision-Avoidance Assist ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ และ Lane Keeping Assist ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน

IONIQ 5 คือเจ้าของรางวัลระดับโลก ได้แก่ World Car of The Year, World EV of The Year และ World Car Design of The Year จากงาน World Car Awards 2022 ตอกย้ำความสำเร็จและมาตรฐานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากฮุนได

ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย ขอเชิญทุกท่านมาสัมผัสประสบการณ์ขับขี่สุดล้ำของ IONIQ 5 ได้แล้ววันนี้ที่ IONIQ Agency ทั่วประเทศ

‘เอ็มจี’ ทยอยนำเข้า!! ‘NEW MG IM6’ ล็อตแรก เตรียม!! เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มี.ค.นี้

(24 ก.พ. 68) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ NEW MG IM6 จำนวนกว่า 300 คัน จากท่าเรือ เซี่ยงไฮ้สู่ประเทศไทย โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่เริ่มนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้จาก SAIC MOTOR CORPORATION โดยรถรุ่นนี้มีแผนเตรียมนำเข้ามาในประเทศไทยต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก และมีกำหนดเปิดตัวและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคม 2568 

NEW MG IM6 มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านเทคโนโลยี สมรรถนะการขับขี่ และนวัตกรรมล้ำสมัย โดย NEW MG IM6 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้า SUV ขนาดกลางที่ได้รับความนิยมในจีน นอกจากนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา IM6 ยังสามารถคว้ารางวัลมากมายในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น รางวัล Red Dot Design Award ปี 2021 และ 2024 ประเทศเยอรมนี จากระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ  IM OS  ในสาขา Brand & Communication Design และ รางวัล Product Design Award จาก IM6 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นเลิศในศาสตร์แห่งการออกแบบ สะท้อนความหรูหรา และตอกย้ำความมั่นใจในระบบความปลอดภัย ด้วยการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับ 5 ดาว จาก C-NCAP (China-New Car Assessment Programme) อีกด้วย ด้วยจุดเด่นที่ครบครันตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น รวมถึงแพลตฟอร์มช่วงล่าง Digital Chassis ที่เน้นเรื่องสมรรถนะการขับขี่ที่เป็นเอกลักษณ์ เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม การออกแบบภายในระดับพรีเมียม 

สำหรับในประเทศไทย NEW MG IM6 ได้รับการปรับแต่งเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้ใช้ในประเทศมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ขับขี่ให้เข้ากับสภาพถนนและพฤติกรรมของผู้บริโภค ชาวไทย โดยประเทศไทยถือเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) การตัดสินใจของ เอ็มจี ในการเลือกประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจในระดับสากลนั้นเป็นเพราะศักยภาพของตลาดที่แข็งแกร่ง นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล และการต้อนรับที่ดีจากผู้บริโภคต่อรถยนต์พลังงานสะอาด การเปิดตัว NEW MG IM6 ในประเทศไทยในวันที่ 18 มีนาคมนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ SAIC MOTOR CORPORATION ในการรุกตลาดโลก โดยบริษัทฯ มีแผนส่งออก NEW MG IM6 ไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ ในปี 2025 พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและมีคุณภาพสูงเพื่อตอบโจทย์การเดินทางอย่างชาญฉลาดและยั่งยืนให้แก่ผู้ใช้ทั่วโลก

BYD เปิดตัว ‘Super E-Platform’ 1,000V ปลดล็อกเทคโนโลยีชาร์จเร็วใน 5 นาที วิ่งไกล 400 กม.

BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก สร้างความฮือฮาในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการเปิดตัว ระบบแบตเตอรี่ใหม่ล่าสุด ‘Super E-Platform’ 1,000V ที่สามารถรองรับการชาร์จเร็วสูงสุด 400 กิโลเมตรในเวลาเพียง 5 นาที ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และช่วยลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการชาร์จที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เทคโนโลยีใหม่นี้ได้รับการพัฒนาโดย BYD Battery Division โดยใช้เซลล์แบตเตอรี่ที่ออกแบบให้รองรับ การชาร์จความเร็วสูงพิเศษ (Ultra-Fast Charging) ซึ่งสามารถเก็บพลังงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นวัตกรรมนี้ช่วยให้การชาร์จ EV มีความสะดวกและรวดเร็ว เทียบเท่ากับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์

BYD ระบุว่า แบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้จะช่วย ลดระยะเวลาการชาร์จลงจากระดับชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากขึ้น

สำหรับ BYD เป็นผู้นำด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ LFP (Lithium Iron Phosphate) และมีชื่อเสียงจากการพัฒนา แบตเตอรี่ Blade Battery ที่ได้รับการยอมรับในด้าน ความปลอดภัยสูงและอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่เปิดตัวนี้ยังคงเน้นย้ำเรื่อง ความปลอดภัย เป็นอันดับแรก ด้วยการออกแบบที่ช่วยป้องกันความร้อนสูงเกินไป ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟลุกไหม้ และช่วยให้แบตเตอรี่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในอุณหภูมิที่หลากหลาย

นอกจากการพัฒนาแบตเตอรี่แล้วยังมีแผนขยาย เครือข่ายสถานีชาร์จความเร็วสูง เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ขับขี่ EV ได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคาดว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะถูกนำไปใช้ใน ตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเปิดตัวเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จ EV ได้ภายใน 5 นาทีของ BYD ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหลักของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และอาจเป็น Game Changer ที่เร่งให้โลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคพลังงานสะอาดได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้จะถูกนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของบริษัทภายในปีถัดไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top