Monday, 29 April 2024
EV

‘สกอตแลนด์’ พัฒนารถออฟโรด EV สำหรับกู้ภัยบนภูเขา มูลค่า 2.6 ล้านบาท คาด!! เปิดให้สั่งซื้อครั้งแรกปี 2024

(23 ก.ย.66) บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศสกอตแลนด์พัฒนารถกู้ภัยขับเคลื่อน 4x4 ออฟโรดพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด Munro MK_1 รองรับภารกิจกู้ภัยบนภูเขาและหน่วยดับเพลิงในพื้นที่เมืองของสกอตแลนด์ อังกฤษและเวลส์ โดยรถรุ่นนี้เป็นการสานต่อความสำเร็จจากรถรุ่น MK-1 e-4WD ที่เปิดตัวในปี 2022 ที่ผ่านมา

แนวคิดการออกแบบรถกู้ภัย Munro MK_1 เน้นความสามารถในการบรรทุกสัมภาระที่มากขึ้นด้วยการถอดเบาะแถวที่นั่งด้านหลังออก เปลี่ยนพื้นที่เป็นขนเครื่องมือช่วยชีวิตในพื้นที่ห่างไกล โครงสร้างภายนอกของตัวรถมีความแข็งแกร่งรองรับการขับขี่ในเส้นทางที่ยากลำบาก

ระบบขับเคลื่อนใช้มอเตอร์ฟลักซ์ไฟฟ้าแบบแกนเดียวให้กำลังสูงสุด 375 แรงม้า และแรงบิด 516 ปอนด์-ฟุต ผ่านระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมกล่องเกียร์ 2 สปีดและเฟืองท้ายกลาง ทำให้ล้อทั้ง 4 ทำงานร่วมกัน และผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนล้อบนแต่ละเพลาให้เป็นขั้นล็อกได้โดยใช้ระบบล็อกเฟืองท้ายด้านหน้าและด้านหลัง 

รถกู้ภัย Munro MK_1 รองรับการขับขี่ได้ทั้งพื้นที่ลาดเอียงมีความลื่นของพื้นถนน พร้อมขับเคลื่อนผ่านพื้นที่ป่าทึบ ลุยน้ำความลึก 80 เซนติเมตร พร้อมอุปกรณ์ค้นหาและกู้ภัยเต็มรูปแบบ พร้อมกับพื้นที่ด้านหลังที่บรรทุกสินค้าอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ ความยาวพอดีกับเปลหามผู้บาดเจ็บและอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น รองรับผู้โดยสาร 3 คน 

จุดเด่นของตัวรถกู้ภัย Munro MK_1 อยู่ตรงที่การติดตั้งชุดไฟส่องสว่างภายนอกเพื่อเพิ่มมุมมองในการขับขี่ตอนกลางคืน รวมไปถึงไฟส่องสว่างด้านหลังของตัวรถ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกู้ภัยในเวลากลางคืนให้สะดวกมากขึ้น เช่น การขนส่งผู้บาดเจ็บเข้าทางด้านประตูหลังของรถ 

รถกู้ภัย Munro MK_1 แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยด้วยกันประกอบด้วย

1. รุ่นมอเตอร์กำลัง 295 แรงม้า ชุดแบตเตอรี่ขนาด 82.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 306 กิโลเมตร และชาร์จเร็วจาก 15-80% ในเวลาประมาณ 36 นาที 
2. รุ่นอรรถประโยชน์ระดับเริ่มต้น มอเตอร์กำลัง 295 แรงม้าเท่ากัน แต่ใช้ชุดแบตเตอรี่ขนาดเล็ก 61.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง  ระยะทางสูงสุด 227 กิโลเมตร 
3. รุ่นสมรรถนะที่เน้นความสนุกสนาน มอเตอร์ทรงพลังกว่า 375 แรงม้า แบตเตอรี่ขนาด 82.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง เพื่อการวิ่ง 4.9 วินาทีที่ 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมง เพิ่มความสามารถในการลากจูงได้ 3,500 กิโลกรัม และระยะทางไกลถึง 305 กิโลเมตร

สำหรับราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 74,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 ล้านบาท บริษัทเปิดให้สั่งซื้อครั้งแรกในปี 2024

‘เน็กซ์’ เดินหน้าส่งมอบยานยนต์หัวลากอีวี-รถบรรทุกอีวี หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง-ลดต้นทุนการขนส่ง

(28 ก.ย. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เน็กซ์’ ผู้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเมืองไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ทำการส่งมอบยานยนต์หัวลากพลังงานไฟฟ้า 423.93 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้กับ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า ทดแทนรถบรรทุกเดิมที่ใช้พลังงานน้ำมัน ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาพุ่งแรงอย่างมาก จึงเห็นว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานลงได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาระยะยาวที่ถูกกว่ายานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันอีกด้วย

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างเน็กซ์ และมนต์ทรานสปอร์ต จะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานน้ำมันแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายคณิสสร์กล่าว

นายคณิสสร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้า 6 ล้อ 15 ตัน ให้กับ บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งความร่วมมือระหว่าง NEX กับ CEVA Logistics ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ Green Logistics Sustainability ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เน็กซ์มีความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถอีวี โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า รวมไปถึงรถหัวลากไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการได้ตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ เน็กซ์มีรายได้รวมเติบโตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้

ด้าน น.ส.ธีรินทร์ อู่ทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า มั่นใจว่าการจับมือกับเน็กซ์ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถบรรทุกให้กับบริษัทตอบโจทย์ Green Logistics เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ทั้งนี้ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ผ่านการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถบรรทุกจำนวนมากกว่า 1,000 คัน ตลอดจนการริเริ่มขยายการให้บริการในด้านบริหารจัดการคลังสินค้า

ขณะที่ นายสุตนัย เหมศรีชาติ ผู้อำนวยการขนส่งทางบก บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีความมุ่งสู่ Green Logistics Sustainability เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าให้บริการรถบรรทุกไฟฟ้าขนส่งสินค้า ทั้งหมด 1,450 คัน ในปี 2568 ทั่วโลก

‘ฉางอัน’ พร้อม!! ทุ่ม 9,800 ล้าน ตั้งโรงงานผลิต ‘EV-แบตเตอรี’ ในไทย เป้ากำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี เซ็นสัญญาแต่งตั้งดีลเลอร์แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ ‘ฉางอัน ออโตโมบิล’ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับพันธมิตรทางธุรกิจตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย (ดีลเลอร์) โดยพิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ภายใต้แนวคิด ความร่วมมือแบบเปิด ผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบ ‘win-win’ เพื่อสร้างตัวแทนจำหน่ายระดับสากลสำหรับประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้ประกาศการตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ซึ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานแห่งแรกนอกประเทศจีนโดยมีมูลค่าการลงทุนราว 9,800 ล้านบาท เพื่อให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

กระทั่งในช่วงเดือน สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยครอบคลุมถึงบริษัทจัดจำหน่าย โรงงานประกอบรถยนต์ รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ เพื่อเป็นการรองรับและตอบสนองแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจอย่างเป็นทางการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้จัดตั้งบริษัทนิติบุคคลเพื่อประกอบการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

‘ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า’ สัญญาณการเติบโตที่สดใส หลัง ‘ผู้ผลิต-ภาครัฐ’ หนุนเทรนด์รักษ์โลก ดันไทยสู่ฮับอาเซียน

เมื่อไม่นานมานี้ ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เฉพาะแค่รถยนต์ 4 ล้อ เท่านั้น สัญญาณการเติบโตของ ‘มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า’ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

ประเทศไทยมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นฮับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของภูมิภาค ด้วยศักยภาพของตลาด EV ในประเทศไทยที่เติบโตสูงสุดในอาเซียน 

และในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค ที่มี Supply Chain ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ครบวงจร รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในสู่ EV อย่างชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่น บีโอไอ เป็นต้น

มาตรการสนับสนุนการลงทุนของบีโอไอใน กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะอยู่ในรูปแบบ ‘Package’ ประกอบด้วยการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า และกำหนดให้ผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนมีการจัดทำแผนต่าง ๆ 

เช่น แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วน แผนการพัฒนาสถานีประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ (Local Supplier) ในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเอื้อต่อการสร้าง Ecosystem ในประเทศให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน และยังช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าไปมีบทบาทใน Supply Chain ยานยนต์ไฟฟ้าโลกมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม 6 แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เข้ามาช่วยเพิ่มกระแสความน่าสนใจของอุตสาหกรรม EV อีกหนึ่งกลุ่มของยานพาหนะไฟฟ้าที่กำลังสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ให้กับผู้ประกอบการในยุครักษ์โลก มีดังนี้

1. Zero Motorcycles - หนึ่งในผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในโลก รุ่นยอดนิยมที่สุด คือ SR/S ดีไซน์สวย ทรงพลัง และปราศจากมลพิษ 

2. Energica - แบรนด์ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรถซูเปอร์ไบค์ไฟฟ้า (Electric Superbike) ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตรุ่น Ego หนึ่งใน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เร็วที่สุดในโลก 

3. Super Soco - แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มีจุดเด่นที่แบตเตอรี่สามารถถอดเปลี่ยนได้และมีช่องเก็บแบตเตอรี่สำรองภายในรถ ตอบโจทย์การขับขี่ระยะไกล

4. Lightning - มีจุดเด่นเรื่องความเร็วที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 200 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

5. Vespa - บริษัทรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ได้ผลิตรถสกู๊ตเตอร์ ‘Vespa Elettrica’ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสุดคลาสสิกที่คงเอกลักษณ์แบรนด์สกู๊ตเตอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

6. Harley-Davidson - บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในตำนาน ที่ในปี 2562 ได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ‘LiveWire’ ซึ่งเป็นโมเดลมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโมเดลแรกของ Harley-Davidson ที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่รักเทคโนโลยีและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยไม่ลืมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Harley-Davidson 

นอกจาก จะเป็นพาหนะที่เป็นวิถีของคนรุ่นใหม่แล้ว มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังช่วยเพิ่มโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้แข็งแกร่งไม่เป็นรองชาติใด

‘แอนิเทค’ เปิดตัวเครื่องชาร์จ EV แบบพกพา เจ้าแรกที่ผลิตในไทย รับรองมาตรฐาน มอก. เพิ่มความมั่นใจผู้ใช้งาน เบิกทางสู่กรีนเทคโนโลยี

เมื่อไม่นานนี้ นายโธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทรนด์การใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งแบบแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอินไฮบริด มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ มีปริมาณกว่า 15 ล้านคัน และในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นรวมกว่า 17.9 ล้านคัน ทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยก็มีส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV และ PHEV มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนกว่า 59.2% จึงเป็นโอกาสและที่มาของการแตกไลน์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอนิเทค ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับวิศวกรรถยนต์ EV กว่า 1 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท

‘แอนิเทค’ จึงเป็นแบรนด์แรกที่ผลิต ‘Portable EV Charger’ ในประเทศไทยเป็นเจ้าแรก ด้วยการนำ มอก.11 และ มอก.166 มาใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค และยังรับประกันสินค้า 1 ปี รับประกันสูงสุดถึง 300,000 บาท เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงและบริการหลังการขายที่เข้าถึงได้ ด้วยความเชี่ยวชาญกว่า 18 ปี ในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

โดยภายในปีนี้ คาดว่าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ‘แอนิเทค อีวี วัน’ จะสร้างยอดขายได้มากกว่า 1,000 ชิ้น และจะสูงขึ้นในปีต่อๆ ไปตามเทรนด์ ผ่านการขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรับผลิตให้กับแบรนด์รถยนต์ที่ตั้งฐานผลิตและประกอบในประเทศไทย

ทั้งยังมองโอกาสที่จะขยายไปยังต่างประเทศ ที่มีส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV และ PHEV ถึง 40% โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ

สำหรับ ‘แอนิเทค อีวี วัน’ มีรูปแบบหัวปลั๊ก Type2 ที่ปรับกำลังไฟฟ้า ได้ 4 ระดับตั้งแต่ 16 แอมป์, 13 แอมป์, 10 แอมป์ และ 8 แอมป์ พร้อมกำลังขับ 3.5 กิโลวัตต์ หน้าจอแสดงผล LCD ขนาด 3 นิ้ว ไฟแสดงสถานะแบบ LED พร้อมปุ่มทัชสกรีน มีมาตรฐานการป้องกันน้ำและฝุ่น IP65 ปริมาณกระแสไฟฟ้า Input/ Output : 250 VAC 50 Hz และสายไฟยาว 5 เมตร ทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายด้วยโหมดการตั้งเวลาชาร์จ

โดยมีระบบการป้องกันครอบคลุมทุกความปลอดภัย ได้แก่  ป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกิน, ป้องกันไฟฟ้าไหลเกินกำลัง, ป้องกันแรงดันไฟฟ้าตก, ระบบสายดินป้องกันไฟฟ้ารั่วไหล, ป้องกันอุณหภูมิสูงเกินไป รวมถึงป้องกันฟ้าผ่า

“ปีนี้แอนิเทคมีสินค้าที่เปิดตัวใหม่กว่า 150 รายการ เมื่อรวมกับสินค้าทั้งหมดจะทำให้แอนิเทคมีสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดมากกว่า 1,000 รายการ ครอบคลุมในหมวดสินค้า computer accessories, home devices, home appliences และ personal care และในปีหน้าคาดว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 200 รายการ จะทำให้แอนิเทคมีสินค้ารวมกันมากกว่า 1,200 รายการ” นายโธมัส พิชเยนทร์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม Green Technology ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่และมีผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยจะมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกรีนเทคโนโลยี ตามมาอีกมากมายตัวอย่างเช่น Anitech EV-ONE V2L ที่คาดว่าจะเปิดตัวต้นปีหน้าด้วย

‘พิมพ์ภัทรา’ ขานรับนโยบายรัฐบาล ยกระดับภาคอุตฯ เสริมแกร่งศักยภาพและมาตรฐาน ‘อุตฯ EV - AI’

เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เตรียมขออนุมัติแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มาตรฐาน ในการประชุมบอร์ด สมอ. ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่สามารถจัดทำมาตรฐานได้ 478 มาตรฐาน ทั้งนี้ ให้เร่งผลักดันมาตรฐานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เช่น มาตรฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า สาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานอาหารฮาลาล AI เครื่องมือแพทย์ BCG และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“ภายหลังที่บอร์ดให้ความเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอแล้ว จะเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่ความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน” นายวันชัยฯ กล่าว

บิ๊กดีล!! WHA เซ็นขายที่นิคมฯ 250 ไร่ให้ ‘ฉางอาน ออโต้ฯ’ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เพื่อส่งออกทั่วโลก

(26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นับเป็นการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก

ในพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก มิสจาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 โดยบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของฉางอานฯโดยเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

ปัจจุบัน การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate)

โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” นางสาวจรีพร กล่าว

CEO ไทย สมายล์ กรุ๊ป เดินหน้าเพิ่มฟีดรถ EV สีส้มราคาประหยัด ทั้งความถี่และจำนวนยกระดับการให้บริการต่อเนื่อง เตรียมใช้เทคโนโลยี Fleet Management แก้ปัญหาจอดรับผู้โดยสาร

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยสมายล์บัสตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2566 ระบุว่า การพัฒนาธุรกิจในเครือไทยสมายล์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเส้นทางให้บริการที่ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 123 เส้นทาง ประกอบกับการเพิ่มจำนวนรถเข้าให้บริการพี่น้องประชาชน จาก 800 คัน ในช่วงต้นปี 2565 จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันแล้ว ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 300,000 คน/วัน สอดคล้องกับจำนวนรถและรอบที่ให้บริการมากขึ้น ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่พี่น้องประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกันทางบริษัท ได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง

ส่วนแผนระยะยาว ทางไทยสมายล์บัส มีแผนขยายการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวิ่งรถในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ทั้งยังเพิ่มการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในปีหน้าเชื่อว่าจะมีรถเข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คันตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 500,000 คน/วัน

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ยอมรับว่า ตนรับทราบถึงความเห็นของผู้ใช้บริการ ที่อาจยังพบกับความไม่สะดวกในบางส่วน ทางบริษัทรับฟังและได้ทำการแก้ไขต่อเนื่อง เช่น รถเมล์ไฟฟ้าของ TSB ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ทางบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ “กัปตันเมล์” รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการ จึงขอให้มั่นใจว่า การบริการของ TSB จะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ

โดยในวันเดียวกันนี้ ยังได้มีการเปิดตัว รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ “รถ EV สีส้ม” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อน ออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทางบริษัทได้จัดหามาทั้งสิ้นจำนวน 60 คัน เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ในเฟสแรกจะให้บริการใน 10 เส้นทาง จากนั้นจะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ด้วยอัตราค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย ตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งรูปแบบ HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัดในราคาเพียง 40 บาทตลอดสาย ไปจนถึงการชำระด้วยรูปแบบเงินสด

ด้านการพัฒนาของ ไทย สมายล์ โบ้ท ได้มีการเสริมฟีดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รูปแบบใหม่ ขนาด 19 เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งมีความแตกต่างในทางกายภาพจากเรือรูปแบบเดิมของบริษัท ด้วยขนาดที่กระทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น เหมาะที่จะเดินเรือในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในทุกสภาพอากาศแม้ช่วงน้ำขึ้น ปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ ส่งผลให้บริษัทมีฟลีทเรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ ซึ่งจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban และ City Line ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line ตามความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยว ได้อีกด้วย

‘ปลัดอุตฯ’ ยัน!! เดินหน้า ‘ศูนย์ทดสอบยานยนต์’ เฟส 2 ต่อเนื่อง ดัน ‘ไทย’ สู่ฮับทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน-อันดับ 11 ของโลก

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดย นายณัฐพล ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าโครงการในเฟส 2 ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เตรียมประกาศรายชื่อบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและข้อมูล โดยคาดว่า 1-2 เดือนนี้ จะสามารถประกาศชื่อผู้ชนะได้แน่นอน

ขณะที่มีรายงานว่า บริษัทผู้ชนะการประกวดราคา โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 นั้น พบมีข้อมูลอยู่ในระบบอี-บิดดิ้ง ว่า มีผู้แข่งขัน 2 ราย และมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุด อยู่ที่ 844,230,000 บาท

ส่วนงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่

1.) สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117
2.) สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop)
3.) ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4.) LAB ทดสอบการชน

ทั้งนี้ หาก สมอ.มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาฯ ก็จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ในทันที เพื่อให้ดำเนินโครงการในแต่ละระยะแล้วเสร็จตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมด เปิดใช้บริการได้ในปี 2569

สำหรับโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ใช้พื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐทั้งหมด ภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top