Monday, 29 April 2024
EV

'ก.อุตฯ' หนุนดัดแปลงรถน้ำมันเป็น EV นำร่อง 4 แสนคัน หวังประคอง 'ช่าง-อู่' ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ให้ล้มหาย

(5 ม.ค.67) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)

ขณะนี้ได้มีการทบทวนคณะกรรมการใหม่ จาก 29 หน่วยงาน เหลือ 16 หน่วยงาน เช่น สภาพัฒน์ ซึ่งจะดูเรื่องของงบประมาณ รวมถึงดึงหน่วยงานมันสมองของประเทศอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยได้เสนอชื่อให้กับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแต่งตั้งและนำเสนอบอร์ด EV และคาดว่าเดือน ม.ค. 2567 จะได้เห็นแนวทางการทำ EV Conversion จากคณะอนุกรรมการชัดเจนขึ้น

โดยแนวทางดังกล่าว จะเริ่มที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่ม 1.ศึกษาและทดลองการดัดแปลงรถบรรทุก รถสาธารณะ รถขนส่งน้ำ รถขยะ ให้วิ่งในระยะสั้น จำกัดระยะทาง เพื่อดูความปลอดภัย ดูโครงสร้างตัวรถ ดูสถิติว่ามีการกลับมาชาร์จบ่อยเพียงใด

2.ความสามารถในการใช้ รวมถึงการดีไซน์รถ เช่น รถบรรทุกต้องใช้แบตเตอรี่ใหญ่ขนาดใด ความจุเท่าไร ตำแหน่งของแบตเตอรี่ต้องห่างจากกันชนหน้า กันชนข้างเท่าไร เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับและคนทั่วไปเมื่อมีการชนเกิดขึ้น

“เราได้มีการเสนอมาตรการไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้จัดทำเกือบครบแล้ว โดยเฉพาะมาตรฐานของส่วนที่สำคัญ ๆ อย่างแบตเตอรี่และสายไฟ แต่ในบอร์ด Conversion จะดูว่า หลังจากมีการ Convert จากรถ ICE มาเป็น EV แล้ว ทำอย่างไรมันถึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ล่าสุดอยู่ระหว่างการทบทวนรายชื่อคณะกรรมการใหม่ จากนั้นจะเริ่มประชุมแนวทางกันต่อไป”

นายปริพัตร บูรณสิน คณะทำงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า บอร์ด EV ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ขึ้นเมื่อต้นปี 2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศ หรือกลุ่มรถยนต์สันดาป

โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมาก อย่างที่ทราบกันว่าการนํารถเก่าที่ใช้น้ำมันมาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่มาเป็นระบบไฟฟ้า 100% จะเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ จํานวนชิ้นส่วน จาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้น หัวใจสําคัญของ EV Conversion อยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้า ซึ่งมีราคา 400,000-800,000 บาท ถือว่าสูงมาก หากรัฐมีการสนับสนุนรถ EV Conversion สามารถลดราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน

โดยเฉพาะรถกระบะ เพราะรถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน ส่วนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีถึง 4 ล้านคัน หากดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% หรือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ

“รถเก่าเรามีมากและมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นฐานการผลิตใหญ่ การจะไป EV ก็จะนานหน่อย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าดัดแปลงจะช่วยคงอาชีพช่าง อู่ พวกกลุ่มชิ้นส่วนไว้ก่อน เพราะหากรัฐทิ้งรถสันดาปแบบฉับพลันไป อู่กว่า 2 หมื่นแห่งจะหายไปด้วย เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่พร้อม ซัพพลายเชนไม่พร้อม แต่ทั้งโลกต้องเดินไปในเรื่องของ EV ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงสำคัญมาก”

แหล่งข่าวจากสถาบันยานยนต์กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้มีมาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อสนับสนุน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทำการดัดแปลงน้ำมันให้เป็นไฟฟ้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในระยะ 5 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

2.กลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน 3.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและผู้ให้บริการ

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงจะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงมาอัดประจุได้ที่หน่วยงานตนเอง

‘บางจาก’ จับมือ ‘บีทีเอส’ เปิดตัว 'PINTO' เสิร์ฟตลาดเช่าซื้อสองล้อพลังงานสะอาด

(12 ม.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ

โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต อีกทั้งยังมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563

ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem หรือระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทในปี 2593

วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือ

ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี

โลกดีขึ้น จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง

ประเทศดีขึ้น จากการที่วินโนหนี้ พัฒนาโดยคนไทยในประเทศไทย ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม การพัฒนาคนและการสร้างงานในประเทศ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า “ในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของวินโนหนี้ ในการร่วมเริ่มต้นธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติของวินโนหนี้ที่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสถานีที่จะตั้งเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อให้เกิดความสะดวกและเพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้น

เพื่อให้ผู้โดยสารบีทีเอสมีประสบการณ์การเดินทางแบบ First Mile to Last Mile ด้วยพลังงานสะอาด คือสามารถเดินทางออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้านด้วยการบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเส้นทาง”

“การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือ การพิจารณากฎหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฎหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า”

“รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และทุนวิจัยและพัฒนา”

สำหรับ วินโนหนี้ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573

เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลก ผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ดีต่อเราและต่อโลก

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดสายการผลิตรถไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ มุ่งดัน ‘ไทย’ สู่ฐานการผลิตยานยนต์-ชิ้นส่วนรายใหญ่แห่งอาเซียน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ จัดพิธีเฉลิมฉลองเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ จาก โรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จังหวัดระยอง พร้อมเปิดตัวและประกาศราคา New GWM ORA Good Cat ทั้ง 3 รุ่น อย่างเป็นทางการ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 799,000 บาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และฉลองความสำเร็จในการเป็นแบรนด์แรกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อชดเชยตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ พร้อมส่งมอบให้กับผู้ขับขี่ชาวไทยภายในเดือนมกราคมนี้

โดยพิธีเปิดสายการผลิต ‘New GWM ORA Good Cat’ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘รมว.ปุ้ย’ ในการกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการส่งรถยนต์ New GWM ORA Good Cat คันแรกออกจากสายการผลิตจากโรงงานอัจฉริยะ เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เตรียมพร้อมส่งมอบให้กับแฟนๆ ชาวไทย โดยมีคณะผู้บริหารของเกรท วอลล์ มอเตอร์ นำโดย มร. ไคล์ด เฉิง ประธาน, นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน และ นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ, มร.ไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไป เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย), มร.เกร็ก ลี รองประธานบริหาร ฝ่ายการผลิตในโรงงาน ภูมิภาคอาเซียน และ นายอำนาจ แสงจันทร์ รองประธานฝ่ายการผลิต เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ร่วมให้การต้อนรับ

ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ BEV มูลค่าการลงทุนรวม 39,579 ล้านบาท มีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน BEV มูลค่าการลงทุนรวม 16,055 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 5,106 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายและมาตรการส่งเสริมรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์หลากหลายรุ่นและได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะรุ่น ORA Good Cat ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า New GWM ORA Good Cat คันแรกในประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทฯ จะขยายการลงทุนในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ และสนับสนุนการใช้ห่วงโซ่การผลิตในประเทศ เพื่อรักษาและต่อยอดการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์พวงมาลัยขวา สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกในภูมิภาคอย่างยั่งยืน”

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นเบรนด์ยานยนต์จีนรายแรกที่เข้ามาริเริ่มในประเทศไทยพร้อมแผนการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เกรท วอลล์ มอเตอร์ ไม่เพียงแต่เป็นแบรนด์ยานยนต์พลังงานใหม่จากประเทศจีนที่เป็นผู้เข้ามาบุกเบิก พร้อมขยายการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ในตลาดประเทศไทย แต่เรายังเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่ ที่ได้มีส่วนริเริ่มและพัฒนาสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรายึดมั่นพันธกิจหลัก คือ ‘In Thailand For Thailand’ หรือ การเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศไทยและเพื่อคนไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพื่อเติบโตเคียงคู่ไปกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ในวันนี้รถยนต์ New GWM ORA Good Cat ได้เริ่มการผลิตจากสายการผลิตในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ยุคใหม่ของอุตสหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในรอบ 60 ปี และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในตลาดต่างประเทศของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และถือเป็นก้าวสำคัญของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้มีส่วนสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของภาครัฐ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อกลยุทธ์ระดับโลกของเกรท วอลล์ มอเตอร์”

การเปิดตัว New GWM ORA Good Cat จากสายการผลิตจากโรงงานภายในประเทศถือเป็นการดำเนินธุรกิจตามหนึ่งในพันธกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับทางภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ทำการลงนามกับภาครัฐเป็นแบรนด์แรกๆ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565

นอกจากนี้ ยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการผลิต New GWM ORA Good Cat ภายนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ตามกลยุทธ์ ‘Ecological Go-Abroad’ ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการนำระบบนิเวศทางด้านยานยนต์ที่ครอบคลุม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างรอบด้าน ตอกย้ำความพร้อมในการเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของการใช้ และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ยกระดับการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพแรงงานไทย สร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป บริษัทฯ ยังวางแผนที่จะใช้ชุดแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ SVOLT ที่ได้เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2566 อีกด้วย

‘New GWM ORA Good Cat’ รุ่นผลิตภายในประเทศ พร้อมจะเข้ามาครองใจแฟนๆ ชาวไทยอีกครั้ง ด้วยตัวเลือก 3 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น PRO ในราคา 799,000 บาท และ รุ่น ULTRA ในราคา 899,000 บาท โดยทั้งรุ่น PRO และรุ่น ULTRA ให้กำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 210 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard) และรุ่น GT เอาใจสายสปอร์ต มาในราคา 1,099,000 บาท ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 250 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard)

New GWM ORA Good Cat รุ่น PRO และ ULTRA มีเฉดสีภายนอกทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีขาว (Hamilton White) สีขาวหลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำ, สีเขียวหลังคาสีขาว (Verdant Green with White Roof) พร้อมสีภายในสีเขียวและเทา, สีเบจหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige with Brown Roof) พร้อมสีภายในสีเบจและน้ำตาล และสีเขียวพิสตาชิโอ (Pistachio Green) พร้อมสีภายในสีเขียวและเบจ ในขณะที่รุ่น GT มีสีภายนอกให้เลือกทั้งหมด 2 สี ได้แก่ สีดำ (Sun Black) และสีเทา (Aqua Grey) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำและเหลือง พร้อมอุปกรณ์แต่งสปอร์ตสีเหลือง

New GWM ORA Good Cat ยังคงเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะอันล้ำสมัย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการขับขี่ มากถึง 31 รายการ พร้อมเพิ่มระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการชนครั้งที่ 2 เข้ามา และจากการรับฟังเสียงของผู้บริโภค เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้นำฟังก์ชัน V2L (Vehicle to Load) หรือระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าจากตัวรถยนต์ไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ามาในรุ่น ULTRA และรุ่น GT อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเตรียมมอบความสุขให้ชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรม มอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ขับขี่ชาวไทย ช่วยการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้า GWM สุขใจยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายใต้นโยบาย ZEV 3.0 มอบข้อเสนอสุดพิเศษมากมาย อาทิ ยืดระยะเวลาแคมเปญสุดพิเศษมอบข้อเสนอเดียวกับในงาน Motor Expo 2023 อาทิ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่ง ให้กับผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของรถยนต์คอมแพ็คเอสยูวียอดนิยม HAVAL H6, เจ้าสิงโตอารมณ์ดี HAVAL JOLION และรถยนต์พรีเมียมออฟโรดเอสยูวี All New GWM TANK 300 HEV และ All New GWM TANK 500 HEV อีกด้วย

เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ปลอดภัย และส่งเสริมการขับขี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยึดถือผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สู่ระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

‘จีน’ เดินหน้ายกระดับภาคธุรกิจ ‘NEV’ พร้อมเร่งพัฒนาเต็มสูบ หวังเสริมประสิทธิภาพ-เพิ่มขีดความสามารถทางการค้าตลาด EV

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า ‘จิน เซียนตง’ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน แถลงข่าวว่า จีนจะยกระดับความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายต่างๆ กระตุ้นการบริโภค และเดินหน้าการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV)

รายงานระบุว่า จีนจะเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายยานยนต์พลังงานใหม่ โดยคณะกรรมการฯ จะสนับสนุนการพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่ในชนบทและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาครัฐควบคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จีนจะกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ในภาคยานยนต์พลังงานใหม่ พร้อมกับสนับสนุนบทบาทนำของกลุ่มบริษัทยานยนต์ของจีน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่

คณะกรรมการฯ จะมุ่งเดินหน้าการจัดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่มีคุณภาพสูง พร้อมด้วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริการ

อนึ่ง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน ระบุว่า ยอดการผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนในปี 2023 สูงเกิน 9.58 ล้านคัน และ 9.49 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 และร้อยละ 37.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

ส่วนการส่งออกยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนในปี 2023 สูงเกิน 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.6 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘โรบินสัน’ ผนึก ‘Tesla’ จัดทำ Supercharger ในภาคเหนือ รับเทรนด์ตลาด EV เติบโต มุ่งสู่องค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว

(21 ม.ค. 67) เข้าสู่ตลาดรถไฟฟ้าที่มีการเติบโตแรงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ทำให้ค้าปลีกไทยต่างมีการติดตั้ง สถานีชาร์จไว้รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแทบทุกพื้นที่แล้ว รวมถึง ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ร่วมจัดบริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Supercharger ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร เป็นสาขาแรกในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือตอนล่างในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว

‘Supercharger’ เป็นความร่วมมือกับ เทสลา (Tesla) ได้ติดตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถภายในศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร จำนวนทั้งสิ้น 8 หัวชาร์จ ประกอบด้วย ประเภท CCS2 DC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 250 กิโลวัตต์ จำนวน 6 หัวชาร์จ และประเภท AC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 11 กิโลวัตต์ จำนวน 2 หัวชาร์จ

ทั้งนี้ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าได้รับความสะดวก รวมถึงสามารถตรวจสอบความพร้อมของสถานี Supercharger และตรวจสอบสถานะการชาร์จ ผ่านแอปพลิเคชัน Tesla ได้

“การติดตั้ง สถานี Supercharger ในศูนย์การค้าครั้งนี้ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคปัจจุบันที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566 มีสัดส่วนการเติบโตกว่า 399.05%”

แผนในระยะต่อไป ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ มีแผนร่วมมือกับ Tesla เพื่อจัดทำ Supercharger ในสาขาอื่น ๆ ต่อไป โดยเป็นไปตามแนวทางองค์กรที่วางไว้ ‘A Lifestyle Community for All Living’

ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับแผนโรดแมป ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ของ เซ็นทรัล รีเทล ในการเป็นองค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว Green & Sustainable Retail ร่วมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ประธาน TOYOTA ลั่น!! "รถ EV จะไม่มีวันครองโลก" เพราะคนเป็นพันล้านคนบนโลก ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย

(24 ม.ค. 67) Business Tomorrow เผย เมื่อไม่นานมานี้ Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้าได้กล่าวอ้างว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ครองตลาดโลก และยังกล่าวอ้างอีกว่าส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า EV จะมีไม่เกิน 30% ก่อนที่สิ่งนี้จะจุดชนวนให้เกิดบทสนทนาและข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า

📌 รถยนต์ EV อาจไม่ใช่อนาคต

ตามคำกล่าวของ Akio Toyoda (อากิโอะ โตโยดะ) ระบุว่าโลกใบนี้ไม่ควรพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ควรโฟกัสไปที่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่บริษัท Toyota กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เขาเชื่อว่ารถยนต์ EV 100% จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้สูงสุดเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าส่วนแบ่งปัจจุบันในสหราชอาณาจักรเกือบ 2 เท่า และที่เหลืออีก 70% จะเป็นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาด

เหตุผลเนื่องจากผู้คนกว่า 1 พันล้านคนบนโลกที่ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีไฟฟ้า แต่ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง สิ่งนี้ทำให้ประธาน TOYOTA มองว่า EV จะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีอยู่ในปริมาณมาก แต่การใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

📌 ทั่วโลกโต้แย้ง EV ยังเป็นทางออกสำหรับสิ่งแวดล้อม

ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจของรัฐบาลกำลังผลักดันให้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ความหลากหลายและราคาที่เพิ่มขึ้นจะดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น โดยเชื่อว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงได้มากกว่า 15 ตันต่อคันต่อปี

หรือถ้าหากคิดว่าโลกใบนี้มีรถยนต์อยู่ราว ๆ 1.5 พันล้านคัน และมีอัตราการเปลี่ยนอยู่ที่ 30% จะสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากกว่า 6.75 หมื่นล้านตันต่อปี เลยทีเดียว

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์น้ำมันยังคงได้รับความนิยมมากกว่า แต่นั่นคือ #ตลาดเก่า ที่เกิดขึ้นมาก่อนการเปลี่ยนแปลง และหมายความว่าในอนาคตหากเทคโนโลยีด้านรถยนต์และแบตเตอรี่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรถยนต์น้ำมัน ทั้งในแง่ระยะทาง ระยะเวลาการใช้งาน ราคาที่โดนใจผู้บริโภค และการซ่อมแซมที่รวดเร็ว ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้รถยนต์ EV ไม่เป็นที่นิยม

อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและส่วนแบ่งตลาดที่พวกเขาจะคว้าได้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายของรัฐบาล ความชอบของผู้บริโภค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องมาติดตามกันว่าสุดท้ายแล้วรถยนต์ EV จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากกว่ารถยนต์น้ำมันหรือไม่ ?

ผู้เขียน : กิตตินันท์ จอมประเสริฐ

‘กรีนสปอต-DHL’ เปิดตัวรถขนส่งไฟฟ้า 18 ล้อ เดินหน้าโลจิสติกส์พลังงานสะอาด เป็นครั้งแรก

(26 ม.ค.67) นายสตีฟ วอล์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล ซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทสู่การสร้างสรรค์อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าที่เราเปิดตัวครั้งนี้ สามารถวิ่งได้ในระยะทางสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งใช้เวลาชาร์จพลังงานเต็มประสิทธิภาพประมาณ 2 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 60 ตันต่อปี

การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการขนส่งสินค้าของกรีนสปอต เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าทั้งภายในและภายนอกบริษัทจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางการขนส่งสินค้าจะครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานผลิตขวดไปยังโรงงานกรีนสปอต หนองแค และรังสิต และขนส่งสินค้าจากโรงงานทั้งสองแห่งไปยังคลังสินค้าคลองหลวง หลังจากนั้น สินค้าจะถูกขนส่งไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ อาทิ บิ๊กซี โลตัส และ 7-11

สำหรับรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการด้านการขนส่งของดีเอชแอล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายมาใช้ อาทิ Paragon Route Optimization System, Transport Management System, Telematics และ DHL’s MySupplyChain digital platform

นายสตีฟ กล่าวต่อว่า เรากำลังเดินหน้าอย่างมั่นคงสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยพลังงานสะอาดและยั่งยืนในทุกขั้นตอน ความร่วมมือของเรากับกรีนสปอตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของทั้งสองบริษัทที่มีร่วมกัน

โดยเฉพาะความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าของเราถือเป็นเครื่องพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้เราสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางแผนเส้นทางการเดินรถที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบสินค้าอย่างปลอดภัย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน

>> กรีนสปอต ลดขยะ-ลดใช้พลังงาน

ด้านนายโชติ โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของเราจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลักเสมอ การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อขนส่งเครื่องดื่มของเราในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นไปอีกก้าวต่อการปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เราจะยังคงมุ่งมั่นนำโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความมุ่งมั่นของกรีนสปอตในด้านความยั่งยืน ยังครอบคลุมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างขยะให้น้อยที่สุด และลดอัตราการใช้พลังงาน ด้วยความพยายามอันเต็มเปี่ยมและจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้บริโภคและชุมชนในวงกว้าง นโยบายนี้สะท้อนผ่านการให้ความสำคัญต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

>> ดีแอชแอลเดินหน้าโลจิสติกส์ยั่งยืน

ปัจจุบัน ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย มีการนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้จำนวนมากและมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป การนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport Policy) ซึ่งเป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการใช้โซลูชั่นการขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนงานความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท

นโยบายนี้ยังทำหน้าที่เป็นแบบแผนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรถขนส่งโดยใช้ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การนำน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrotreated vegetable oil) ก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน มาใช้ เป็นต้น ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มนี้ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ตั้งเป้าที่จะปรับเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 2,000 คัน ทั่วโลกไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

‘เชียงใหม่’ นำร่อง!! ‘รถสองแถว EV’ พัฒนาโดย ‘มช.’ ช่วยลดมลพิษ-ประหยัดค่าใช้จ่าย หวังขยายผลทั่วประเทศ

(27 ม.ค. 67) รถเขียวเริ่มใช้งานแล้ว หลังผู้ขับรถสองแถวลองขับรถสองแถว EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ซึ่งโครงการนี้มาพร้อมกับรถสีเขียวทั้งคันตอบโจทย์สโลแกนการรักษ์โลก และลดมลพิษ ลดฝุ่น PM 2.5 โดยรถสองแถวไฟฟ้าคันดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยมหาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

‘นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์’ คนขับรถสองแถว EV ที่เปลี่ยนจากการขับรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า รถสามารถใช้งานได้ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่มีการใช้การมีรถโดยสาร EV เพราะตนได้รับรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากไม่ต้องหมดไปกับค่าน้ำมัน โดยปกติจะเสียค่าน้ำมัน กิโลเมตรละ 3 บาท แต่การเปลี่ยนมาใช้ EV จะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ รถสองแถว EV นี้ กล่าวว่า อยากต่อยอดโครงการรถสองแถว EV ให้ขยายออกไปใช้กับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกันได้

อย่างรถ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถสองแถว EV ที่คนเชียงใหม่ใช้กันมากอยู่แล้ว และควรมีโครงการนำร่องในการรถแดง EV จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนรถสองแถวแบบน้ำมัน ไปเป็น EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป และมีต้นทุนราว 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งทุนที่สูงมาก จึงควรมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

โดยรถสองแถว EV ที่แล้วเสร็จทั้ง 2 คัน จะสามารถวิ่งได้ไกลประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการวิ่งรับส่งทั้งวัน โดยปกติรถสองแถวจะวิ่งอยู่ที่ระยะทาง 150 ถึง 160 กิโลเมตรต่อวัน

‘ก.อุตฯ’ ชู!! ‘อีวี-ป้องกันประเทศ-ฮาลาล’ 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยนไทย ใต้การเปลี่ยนผ่าน ‘อุตฯ ดั้งเดิม’ สู่ ‘อุตฯ ใหม่’ ช่วยดึงดูดนักลงทุน

(28 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยกระดับอุตสาหกรรมของไทย ให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภค และยกคุณภาพชีวิตประชาชน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เนื่องจากเทรนด์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศ และมีมาตรการช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะซัพพลายเชน ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เดินหน้าต่อไปได้ 

โดยมีวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นแชมป์เปี้ยน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาเป็นลำดับ และส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการที่เหมือนเสือหลับให้ตื่นขึ้น ด้วยการลงทุน ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ 

นอกจากนั้นรัฐบาลชูความพร้อมทุกมิติเพื่อเปิดรับนักลงทุนจากทั่วโลก ที่พร้อมดำเนินการ เช่น i.Industry ระบบทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรมแบบวันสต็อปเซอร์วิส (One Stop Service) ลดขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ขณะที่ อุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้มีมาตรการดูแลและจะต้องปรับตัว โดยดึงซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องสู้กับการการแข่งขันจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะต้องปรับตัวเช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top