สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ