‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หนึ่งในกุญแจสำคัญพาเมืองไร้มลพิษ ช่วยปลดล็อกปัญหาโลกร้อน - ส่งมอบอากาศใสบริสุทธิ์

ปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เริ่มตระหนักและมองหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อรักษาอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของโลกให้คงความเหมาะสมสำหรับอยู่อาศัยกันต่อไป

ทางออกที่มองหาจนเจอก็คือการพาโลกทั้งใบไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ‘พลังงานสะอาด’ ที่จะมาทำหน้าที่ทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน) แต่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

และหากมองกระแสโลกในปี 2023 ก็พอจะเห็นว่า ‘พลังงานไฟฟ้า’ กำลังได้รับความสนใจจากคนทุกกลุ่ม และหลาย ๆ อุตสาหกรรมพยายามประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นประโยชน์และศักยภาพที่คุ้มค่า แต่ที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นเรื่องของ ‘ยานพาหนะ’ ที่ตอนนี้มีหลายเจ้ายานยนต์ได้เปิดตัวอวดโฉม ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ในค่ายของตัวเอง แถมมียอดจับจองถล่มทลาย

แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง ‘จำนวนผู้โดยสาร’ ที่บรรจุได้เพียงไม่กี่คนต่อหนึ่งเที่ยว (บางครั้งก็แค่ 1 คน 1 คัน) และหากทุกคนหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกันหมด เราก็คงจะได้เห็นภาพท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ขยับทีละ 2 เมตรก็ต้องจอดนิ่งเหมือนเดิมแน่

หนทางเลี่ยงเหตุการณ์น่าสะพรึงแบบนั้นก็คงต้องหันหน้าเข้าหา ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หรือ e-Buses เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น-มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง เป็นยานพาหนะที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก บรรทุกผู้โดยสารต่อรอบได้เยอะกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล และหากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนลดลงด้วย

ซึ่งแนวโน้มการหันมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าก็พอจะเด่นชัดมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่น่าสนใจของ Bloomberg ที่คาดว่าภายในปี 2040 หรืออีก 17 ปี ข้างหน้า รถโดยสารสาธารณะทั่วโลกจะถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั้งหมด

แน่นอนกว่า หากมีปัจจัยอื่น ๆ หนุนนำให้สังคมโลกนิยมใช้รถโดยสารไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรมทันสมัยที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ก็คงได้เห็นรถโดยสารไฟฟ้าวิ่งให้บริการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มเดินหน้าจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในประเทศกันแล้ว

เอาล่ะ!! มองกลับมาที่ ‘เมืองไทย’ ของเราก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศเหมือนกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับรถโดยสารไฟฟ้าแล้ว ซึ่งหากได้ยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์สักแห่งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่สัญจรบนท้องถนนทุก ๆ วัน ก็ต้องสะดุดตากับรถโดยสารไฟฟ้าสีน้ำเงินเข้มที่วิ่งมาจอดเทียบป้ายอยู่เรื่อย ๆ แถมยังมีหลากหลายเส้นทางให้บริการด้วย

หากเพ่งมองให้ดีจะพบว่า ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ สีน้ำเงินเข้มนี้เป็นของ ‘ไทย สมายล์ บัส’ ตอนนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล ภายใต้สโลแกน “เดินทางด้วย รอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

ซึ่งก็เป็นการ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการใช้รถโดยสารไฟฟ้าจะไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือควันสีดำเหม็น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้า 1 คัน สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึง 72 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนฯ ของต้นไม้ 7,602 ต้นต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า ป่าไม้พื้นเมืองดูดซับคาร์บอนฯ 0.95 ตันคาร์บอน / ไร่ / ปี หรือ 100 ตัน / ไร่)

เรียกได้ว่า ยิ่งมีรถโดยสารไฟฟ้ามากแค่ไหน ผู้คนก็ยิ่งได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดมากเท่านั้น หรือหากต่อยอดให้ครอบคลุมได้ทั้งประเทศ นอกจากจะได้อากาศที่สดชื่นชุ่มปอดแล้ว ระบบการเดินทางของไทยก็จะเชื่อมต่อหากันแบบไม่สะดุด ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการก็คงได้ยิ้มออกกันถ้วนหน้า

สรุปง่าย ๆ ก็คือได้ประโยชน์หลายต่อนั่นเอง!!

ก็มารอดูกันว่าในอีก 17 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งบ้านเราจะพลิกโฉมไปใช้ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากฝันอยากเห็น ‘เมืองไทยไร้คาร์บอน’ แบบครอบคลุมทั่วประเทศ ก็คงต้องเร่งมือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้โดนใจประชาชน และจัดหา ‘ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า’ มาแล่นให้บริการโดยไว