Monday, 29 April 2024
ยานยนต์ไฟฟ้า

กพร. เปิดตัว ‘แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน’ ต้นแบบครั้งแรกของไทย เล็งต่อยอดป้อนอุตฯ EV

กพร. เปิดตัวแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบครั้งแรกของไทย หนุนห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต 

ด้วยปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และประเทศไทยก็ได้กำหนดนโยบาย 30@30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle : ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 โดยอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ คิดเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบชนิดอื่น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพที่จะถูกพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ 

"นายกฯ" หนุนไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ย้ำ บทบาทไทยในฐานะดีทรอยต์แห่งเอเชีย 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ล่าสุดบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ยกระดับกระบวนการผลิตในโรงงานด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ล้ำสมัย และเป็นการลงทุนในประเทศไทยครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย มูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้านบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA)เริ่มลงทุนเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมยังเตรียมขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดอาเซียนด้วย

นายธนกร กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 5.9 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 2563 ไทยมีการผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก  มีมูลค่าการส่งออกรวม 919,000 ล้านบาท และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 นี้ การผลิตรวมราว 1.6 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 15 และปี 2565 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,300 ราย รวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 750,000 คน 

นายธนกร กล่าวว่า ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ย้ำให้ไทยรักษาความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย โดยให้เตรียมพร้อมปรับทักษะ( Up-skill  Re-skill )ของภาคการผลิตของไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางการผลิตของยานยนต์โลก รวมทั้งนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

กนอ. เผย ญี่ปุ่น ไม่ทิ้งฐานการผลิตในไทย!! พร้อมทุ่มลงทุนอีอีซีต่อเนื่อง มุ่งอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมประชุมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งมีการนำผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) มาหารือ พบว่า อุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากที่สุดถึง 49% คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 

นอกจากนี้ 37% ยังระบุด้วยว่า สนใจที่จะลงทุนต่อไป แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index) ของ JCCB ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 41 จากเดิมช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่อยู่ที่ 14 โดยขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry) หรือ เมติ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อหารือถึงแนวทางการลงทุนใหม่ๆ โดยญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์อีวี ปักหมุดการเป็นตลาดระดับโลก รวมถึงเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย

ก.อุตฯ เร่งออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ‘สุริยะ’ สั่งเดินหน้าหนุนนโยบาย EV เต็มสูบ

“สุริยะ” เร่ง สมอ. ออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า เดินหน้านโยบาย EV เต็มสูบ ล่าสุดบอร์ด สมอ. ไฟเขียวเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน คาดประกาศใช้ภายในปีนี้ รองรับเทคโนโลยีวีทูจี (Vehicle to Grid - V2G) ให้รถยนต์อีวีเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรอง  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยการจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการประกาศใช้แล้วจำนวน 116 มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองที่มีความพร้อม เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน EV ให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV ลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งลดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ด้วย

'บิ๊กตู่' เผย 8 ข้อหารือนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่งทีมศก.ไทยถก 5 บริษัทรถยนต์ ลุยอุตสาหกรรม EV

‘บิ๊กตู่’ โพสต์ผลสำเร็จหลังพบหารือกับนายกฯญี่ปุ่น หวังอนาคตก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการพบปะหารือร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ว่า ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ ประเทศไทยได้มีโอกาสให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการ ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และคณะกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทรวงกลาโหม นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกในรอบ 9 ปี เพื่อสานต่อและขยายผลความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนาน 135 ปี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่จะเรียนให้ทราบถึงความสำเร็จร่วมกัน จากการหารือเพื่อเพิ่มพูนความเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างน้อย 8 ด้าน ดังต่อไปนี้

1.) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างศักยภาพ Startup และ SMEs ให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว ของทั้งสองประเทศ 

2.) การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-อะไหล่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ BCG ทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วทุกภูมิภาคของไทย ที่จะต้องพิจารณาส่งเสริมโดยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง 

รวมทั้งเรื่องเวชภัณฑ์-ยา-เครื่องมือแพทย์ ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยาระดับโลก รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน การวิจัย หรือขยายธุรกิจ โดยตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยไทยก็มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทย ให้เป็น "ศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare, Wellness & Medical Hub)" ของโลก

3.) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ EEC การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการสร้างแรงงานทักษะสูง ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รองรับการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านสถาบันโคเซ็นในไทย (KOSEN Education Center) เพื่อมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

4.) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

5.) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G

6.) การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA : Free Trade Agreement) ต่างๆ ที่สองฝ่ายเป็นภาคีอยู่ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

รอทำไม? หากหยุดใช้รถน้ำมัน 10,000 คัน แล้วลดก๊าซเรือนกระจกได้ 220,454 ตันต่อปี

คำถามปลายเปิด ที่แทบไม่ต้องรอคำตอบปลายปิด ในยุคที่พลังงานน้ำมันแพง กอปรกับกระแสความแรงของการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลก รวมถึงประเทศไทย!!

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสพลังงานไฟฟ้าที่จะเข้ามาไหลเวียนในพาหนะยุคต่อจากนี้ จะพยายามเร่งสปีดเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตคน โดยเฉพาะคนไทยมากยิ่งแค่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของราคาและความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ ยังคงอยู่ในระดับของการเฝ้าดูจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เสียมาก 

กลับกันแนวคิดในการสนับสนุนยานพาหนะในหมวดขนส่งสาธารณะ หรือ ‘รถโดยสาร’ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ดูจะมีความเป็นไปได้และได้รับแรงหนุนกระแสลดการปล่อยมลพิษของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ดีกว่า สอดคล้องกับรายงานของ Electric Vehicle Outlook ของ Bloomberg ที่คาดว่า ตลาด ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ (e-Buses) จะถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั่วโลกภายในปี 2040

เหตุผลหลัก เพราะ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เป็นยานพาหนะที่สามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้าพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะที่ดีควบคู่ได้ ก็จะช่วยให้คนลดการใช้รถส่วนตัว (น้ำมัน) ลดปัญหามลพิษ, ลดปัญหาโลกร้อน ตลอดจนลดปัญหาทางด้านการจราจร ก่อนทั้งโลกจะเปลี่ยนผ่านจากเครื่องสันดาปสู่ไฟฟ้าเต็มตัว 

และนี่แหละ คือ เหตุผลว่าทำไม ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ (รถบัส) อาจจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านยุคแห่งพลังงานและช่วยลดการปล่อยมลพิษของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

ว่าแต่!! พอหันกลับมาดู ประเทศไทย ซึ่งมีการจดทะเบียนรถโดยสารเพื่อการพาณิชย์ หรือ ‘รถโดยสาร’ ในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 คันนั้น

ก็พลันให้เกิดคำถามว่า ถ้าเราเริ่มเปลี่ยน ‘รถโดยสาร’ ที่มีอยู่ให้กลายเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ได้ จะช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้เพียงใด? (ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ จาก EA หรือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์)

...220,454 ตันต่อปี คือ ผลลัพธ์จากการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) 

...233,333,333.33 ลิตรต่อปี คือ ตัวเลขการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง ซึ่งเดิมปริมาณตัวเลขนี้ สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 629,701.80 ตันต่อปีกันเลยทีเดียว (หมายเหตุ: คำนวณจากจำนวนรถ 10,000 คัน ระยะทางการวิ่งรถ 200 กิโลเมตรต่อวัน เป็นระยะเวลา 350 วันเท่ากัน)

'นายกฯ' ปลื้ม!! 'ไทย-เยอรมนี' ร่วมมือพัฒนา EV ผลักดันไทยสู่ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย

(11 มิ.ย.65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทย และเยอรมนี จัดแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 'EV Hackathon: Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability #EV4Sustain' หัวข้อการแข่งขัน คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) มุ่งขับเคลื่อนพันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Partners for Sustainable Growth) ระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้ เนื่องในวาระครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี ที่ร่วมกันผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย เพื่อพัฒนาและต่อยอด นโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV และนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ของรัฐบาล

นายธนกร กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในทุกมิติ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 ที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะทางอากาศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์และพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลกภายในปี ค.ศ. 2030

บีโอไอ เผย ไทยขยับใกล้ขึ้นเป็นฮับ EV คาดต้นปี 66 ยอดผลิตแตะ 1 ล้านคัน

เผยยอดขอบีโอไอรถ EV ทะลุเป้า 830,000 คัน คาดต้นปี 2566 ผลิตได้แตะ 1 ล้านคัน ล่าสุด BYD จากจีนได้บีโอไอ ทุ่ม 17,891 ล้านบาท เริ่มผลิตปี 2567 จับตาค่ายจีน ยุโรป เตรียมยื่นขอส่งเสริมอีกเพียบ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นโยบายสนับสนุนให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นในประเทศไทย โดยอาศัยมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการลงทุน ซึ่งจากสถิติยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดที่ผ่านมาของ XEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบปลั๊กอิน (HEV) แบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และแบบแบตเตอรี่ (BEV) ได้รับการอนุมัติไปแล้วถึง 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มีกำลังการผลิตแบบเต็ม (capacity) 830,000 คัน ซึ่งหากเป็นเฉพาะ BEV เพียว มีจำนวน 256,000 คัน นับว่าเป็นจำนวนที่สูง

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ด ยังได้อนุมัติการลงทุนให้กับบริษัท BYD จากประเทศจีน ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก PHEV มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท ที่จะต้องลงทุนในกรอบเวลา 3 ปี นับจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น คาดว่า BYD จะเริ่มผลิตในปี 2567

ซึ่งตามเงื่อนไขการลงทุนนั้น จะต้องใช้แบตเตอรี่ในประเทศ จะเป็นการลงทุนเอง ดึงพาร์ตเนอร์ให้เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตให้กับโครงการที่ได้รับอนุมัติก็ได้ หรือจะใช้แบตเตอรี่ที่มีผู้ผลิตอยู่แล้วในประเทศก็ได้ เพื่อประเทศไทยจะได้อานิสงส์จากการลงทุนครบทุกด้าน

ดันไทย เป็นศูนย์กลาง ‘EV’ ในภูมิภาคอาเซียน เดินหน้าหนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเต็มสูบ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV กำหนดนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านสิทธิประโยชน์และภาษีของรถ EV เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เดินหน้าเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนี้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนมีความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงปัจจุบัน (ณ 17 สิงหาคม 2565) มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการดังกล่าวแล้ว รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ได้แก่ 
1. โครงการผลิต Hybrid Electric Vehicle (HEV) จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ GWM, Honda, Mazda, MG, Mitsubishi, Nissan, Toyota 
2. โครงการผลิต Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ BMW, BYD, GWM, Mercedes Benz, Mazda, MG, Mitsubishi, Toyota 
3. โครงการผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ BYD, FOMM, GWM, Honda, Horizon, Mazda, Mercedes Benz, MG, Mine Mobility (2 โครงการ), Mitsubishi, Nissan Skywell, Takano, Toyota 
4. โครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า (E-bus) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Absolute Assembly และสกุลฎ์ซี (เนื่องจากบางโครงการได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ประเภทในโครงการเดียวกัน ทำให้จำนวนโครงการเมื่อแยกตามรายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จะสูงกว่าจำนวนโครงการรวม) 

นายอนุชา กล่าวว่า เป็นมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมกำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แยกเป็น HEV 38,623.9 ล้านบาท 440,955 คัน, PHEV 11,665.6 ล้านบาท 137,600 คัน, BEV 27,745.2 ล้านบาท 256,220 คัน และ Battery Electric Bus 2,173.8 ล้านบาท 4,000 คัน โดยบริษัทที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ Absolute Assembly, BMW, FOMM, GWM, Honda, Mercedes Benz, MG, Mitsubishi, Nissan, Takano, Toyota และยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า จากนโยบายส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตามมา เนื่องจากเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ในประเทศ หากผู้ผลิตรถยนต์มีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Management System (BMS), Drive Control Unit (DCU) และ Traction Motorในประเทศเพิ่มเติม ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม

ส่อง ‘ยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน’ ดาวเด่นงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2022

(2 ธ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว ชี้ งานมหกรรมยานยนต์ ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์เอ็กซ์โป 2022 ซึ่งเริ่มจัดเมื่อวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมาร่วมจัดแสดงยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายรุ่นใหม่ล่าสุด

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการปรับลดภาษี การมอบเงินอุดหนุน และสารพัดนโยบายจูงใจใหม่ที่มีผลบังคับใช้นานกว่า 6 เดือน โดยแบรนด์ต่างประเทศรายใหญ่ต่างมียานยนต์ไฟฟ้าเป็นจุดเด่นการจัดแสดงในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปีนี้ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าล้วนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นแบรนด์ของจีน

โอรา แกรนด์ แคท (Ora Grand Cat) ของเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในตลาดประเทศไทย ดึงดูดผู้ชมจำนวนมากด้วยรูปลักษณ์แปลกใหม่และทันสมัย โดยบริษัทฯ นำยานพาหนะมาจัดแสดงทั้งหมด 7 รุ่น อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าล้วน 3 รุ่น และรถยนต์รุ่นขายดีที่สุดอย่างฮาวาล เอช6 ไฮบริด (Haval H6 Hybrid) ซึ่งถูกใช้เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งทางการสำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เอลเลียต จาง ประธานเกรท วอลล์ มอเตอร์ประจำภูมิภาคอาเซียนและไทย กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ 5 รุ่น นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานในไทยเมื่อปลายปี 2020 ซึ่งตอบสนองความต้องการหลากหลายในท้องถิ่น เช่น ช่วงราคาที่แตกต่างกัน พร้อมเสริมว่าบริษัทฯ กำลังจัดทำยุทธศาสตร์ด้านแบตเตอรี่และชิ้นส่วน และวางแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ด้วยชิ้นส่วนและแรงงานในท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top