Thursday, 16 May 2024
ยานยนต์ไฟฟ้า

'สุริยะ' สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ หลังยอดจองรถไฟฟ้าในงาน Motor Expo 2022 พุ่ง!!

'สุริยะ' เผยยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 5,800 คัน ในงาน Motor Expo 2022 สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ!

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มกระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ภายในงาน Motor Expo 2022 รวมทั้งสิ้น 5,800 คัน สั่งการเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลังพบว่าประชาชนมีความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดรวมจองรถยนต์ แบ่งเป็น BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt  210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่น ๆ 75 คัน 

โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่แนะนำในช่วงงานหลายรุ่น ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่ายที่อัดโปรโมชันแบบจัดเต็ม 

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากค่ายรถต่าง ๆ เข้ามาประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 12.36 ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

‘สุริยะ’ เร่งนโยบายพัฒนา EV คู่มาตรฐานยูโร 6 ชี้ ไทยต้องเร่งปรับตัว ก่อนเสียตลาดส่งออกรถยนต์

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ผลักดันการใช้มาตรฐานยูโร 6 เพื่อยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้ หากไม่ปรับตัวอาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับผลักดันยานยนต์ที่มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 (EURO 6) ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออกและการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ จีน ดังนั้น อก. จึงมีนโยบายเร่งผลักดันอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ที่สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก และเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตลอดจนเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเจตนารมณ์ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพการผลิตให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกได้อย่างยั่งยืน

“การก้าวข้ามการพัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยูโร 4 ไปสู่ยูโร 6 ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด ช่วยสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ สร้างแต้มต่อในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวอย่างจริงจังอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลก และอันดับ 1 ในอาเซียนได้ ดังเช่นเวียดนามที่มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า VINFAST รวมทั้งประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศ และพยายามแย่งชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาค หากประเทศไทยไม่ปรับตัว อาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ที่มีการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษที่สูงกว่า และในระยะยาวอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 650,000 คน” นายสุริยะ กล่าว

บีโอไอ ฟุ้งยอดส่งเสริมอุตสาหกรรม EV สุดปัง ไฟเขียวลงทุนกว่า 1 แสนล้าน ผลิตแบต-ชิ้นส่วน

บีโอไอ เผยยอดส่งเสริม EV กว่า 1 แสนล้านเร่งกระตุ้นลงทุน ทั้งการผลิตรถยนต์ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จ เร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมลงทุน รองรับทิศทางอุตสาหกรรมและดีมานด์ในประเทศขยายต่อเนื่อง

(6 เม.ย. 66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ในส่วนของบีโอไอ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยได้มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท

‘6.6.66’ on-ion ผนึก Sand Haus เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC fast charger 

ออน-ไอออน (on-ion) ภายใต้บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) รุกขยายเครือข่ายสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (on-ion EV Charging Station) ให้แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น ณ โครงการแซนด์เฮาส์ เหม่งจ๋าย (Sand Haus) เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด EV ให้พลังงานทางเลือกอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด พร้อมสนับสนุนให้คนไทยใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ (AC normal charger) และชนิดกระแสตรง (DC fast charger) โดยพร้อมเปิดให้บริการ 6 มิถุนายน 2566 นี้

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. โดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ได้เดินหน้าตามภารกิจในการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จภายใต้แบรนด์ ออน- ไอออน (on-ion EV Charging Station) บนทำเลศักยภาพร่วมกับ “Sand Haus” คอมมิวนิตี้มอลล์แห่งใหม่ย่านเหม่งจ๋าย– ประชาอุทิศ ที่เดียวจบครบ ร้านของกิน คาเฟ่ คลินิก สถาบันเสริมพัฒนาการเด็ก และคอร์ดแบดขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ EV ด้วยพลังงานสะอาด

นางสาวนันทนัช ครองมงคลกุล ผู้บริหารโครงการแซนด์เฮาส์ กล่าวว่า การร่วมมือกับออน-ไอออนในครั้งนี้จะเป็นการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ EV มากยิ่งขึ้น สำหรับสถานี Sand Haus แห่งนี้ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00 – 24.00 น. ให้บริการด้วยเครื่อง DC fast charger ขนาดกำลังไฟ 100 กิโลวัตต์ จำนวน 2 ช่องจอด สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ที่รองรับหัวชาร์จ CCS2 และให้บริการด้วยเครื่อง AC normal charger ขนาดกำลังไฟ 22 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ช่องจอด รองรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ที่มีหัวชาร์จ Type 2 ควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ทั้งในระบบ Android และ iOS 
on-ion และ Sand Haus พร้อมส่งเสริมการใช้ EV อย่างเต็มรูปแบบ โดยมอบโปรโมชัน “ช้อป ช่วย ชาร์จ” ให้แก่ลูกค้าที่ใช้จ่ายในโครงการ Sand Haus เหม่งจ๋าย ครบ 500 บาทต่อวัน (รวมใบเสร็จได้) สามารถนำใบเสร็จมาแลกคูปองส่วนลดค่าบริการชาร์จ EV มูลค่าไม่เกิน 60 บาท ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าจะครบจำนวนสิทธิ์ นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิพิเศษสำหรับวันเปิดตัววันแรก “6.6.66” เป็นส่วนลดค่าบริการชาร์จ EV พิเศษเพียง 6 บาทต่อหน่วยสำหรับ DC fast charger ในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 วันเดียวเท่านั้น! (จากค่าบริการปกติ 9.5 บาทต่อหน่วย) เพิ่มเติมได้ที่ Call Center: 02-017-0022 หรือ Line: @onionev

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train)

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) พร้อมส่งหัวรถจักรไฟฟ้า “MINE Locomotive” ยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ นับเป็นโครงการใหญ่ของโรดแมประบบรางไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มี ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สถาบันฯ มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ด้าน ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก” ดร.สันติกล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย

EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร ได้แก่

1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW

2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก

‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หนึ่งในกุญแจสำคัญพาเมืองไร้มลพิษ ช่วยปลดล็อกปัญหาโลกร้อน - ส่งมอบอากาศใสบริสุทธิ์

ปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เริ่มตระหนักและมองหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อรักษาอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของโลกให้คงความเหมาะสมสำหรับอยู่อาศัยกันต่อไป

ทางออกที่มองหาจนเจอก็คือการพาโลกทั้งใบไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ‘พลังงานสะอาด’ ที่จะมาทำหน้าที่ทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน) แต่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

และหากมองกระแสโลกในปี 2023 ก็พอจะเห็นว่า ‘พลังงานไฟฟ้า’ กำลังได้รับความสนใจจากคนทุกกลุ่ม และหลาย ๆ อุตสาหกรรมพยายามประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นประโยชน์และศักยภาพที่คุ้มค่า แต่ที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นเรื่องของ ‘ยานพาหนะ’ ที่ตอนนี้มีหลายเจ้ายานยนต์ได้เปิดตัวอวดโฉม ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ในค่ายของตัวเอง แถมมียอดจับจองถล่มทลาย

แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง ‘จำนวนผู้โดยสาร’ ที่บรรจุได้เพียงไม่กี่คนต่อหนึ่งเที่ยว (บางครั้งก็แค่ 1 คน 1 คัน) และหากทุกคนหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกันหมด เราก็คงจะได้เห็นภาพท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ขยับทีละ 2 เมตรก็ต้องจอดนิ่งเหมือนเดิมแน่

หนทางเลี่ยงเหตุการณ์น่าสะพรึงแบบนั้นก็คงต้องหันหน้าเข้าหา ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หรือ e-Buses เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น-มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง เป็นยานพาหนะที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก บรรทุกผู้โดยสารต่อรอบได้เยอะกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล และหากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนลดลงด้วย

ซึ่งแนวโน้มการหันมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าก็พอจะเด่นชัดมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่น่าสนใจของ Bloomberg ที่คาดว่าภายในปี 2040 หรืออีก 17 ปี ข้างหน้า รถโดยสารสาธารณะทั่วโลกจะถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั้งหมด

แน่นอนกว่า หากมีปัจจัยอื่น ๆ หนุนนำให้สังคมโลกนิยมใช้รถโดยสารไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรมทันสมัยที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ก็คงได้เห็นรถโดยสารไฟฟ้าวิ่งให้บริการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มเดินหน้าจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในประเทศกันแล้ว

เอาล่ะ!! มองกลับมาที่ ‘เมืองไทย’ ของเราก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศเหมือนกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับรถโดยสารไฟฟ้าแล้ว ซึ่งหากได้ยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์สักแห่งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่สัญจรบนท้องถนนทุก ๆ วัน ก็ต้องสะดุดตากับรถโดยสารไฟฟ้าสีน้ำเงินเข้มที่วิ่งมาจอดเทียบป้ายอยู่เรื่อย ๆ แถมยังมีหลากหลายเส้นทางให้บริการด้วย

หากเพ่งมองให้ดีจะพบว่า ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ สีน้ำเงินเข้มนี้เป็นของ ‘ไทย สมายล์ บัส’ ตอนนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล ภายใต้สโลแกน “เดินทางด้วย รอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

ซึ่งก็เป็นการ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการใช้รถโดยสารไฟฟ้าจะไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือควันสีดำเหม็น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้า 1 คัน สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึง 72 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนฯ ของต้นไม้ 7,602 ต้นต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า ป่าไม้พื้นเมืองดูดซับคาร์บอนฯ 0.95 ตันคาร์บอน / ไร่ / ปี หรือ 100 ตัน / ไร่)

เรียกได้ว่า ยิ่งมีรถโดยสารไฟฟ้ามากแค่ไหน ผู้คนก็ยิ่งได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดมากเท่านั้น หรือหากต่อยอดให้ครอบคลุมได้ทั้งประเทศ นอกจากจะได้อากาศที่สดชื่นชุ่มปอดแล้ว ระบบการเดินทางของไทยก็จะเชื่อมต่อหากันแบบไม่สะดุด ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการก็คงได้ยิ้มออกกันถ้วนหน้า

สรุปง่าย ๆ ก็คือได้ประโยชน์หลายต่อนั่นเอง!!

ก็มารอดูกันว่าในอีก 17 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งบ้านเราจะพลิกโฉมไปใช้ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากฝันอยากเห็น ‘เมืองไทยไร้คาร์บอน’ แบบครอบคลุมทั่วประเทศ ก็คงต้องเร่งมือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้โดนใจประชาชน และจัดหา ‘ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า’ มาแล่นให้บริการโดยไว

‘พิมพ์ภัทรา’ เผย!! เร่งผลักดันส่งเสริม ‘อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า’ หลังค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพบ-หารือแนวทางสนับสนุน

(12 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานในการพิจารณากำหนดแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ EV 3.5 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยด่วน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด ก่อนที่มาตรการอีวี 3.0 จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อีวีบางค่ายสอบถามเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวี และเข้ามาพบ เพื่อหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบ้างบางข้อตามความเหมาะสม” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนเอสเอ็มอีรายใหม่ รวมถึงเตรียมกำหนดแนวทางสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์สอดรับนโยบายรัฐบาลด้วย

‘จีน’ ยกระดับ สามารถสลับแบตฯได้ภายใน 80 วินาที ที่มณฑลเจียงซู ประหยัดเวลาชาร์จ คาดรองรับ ผู้ใช้ยานยนต์พลังงานใหม่ ได้มากกว่า 500,000 ราย

(10 มี.ค.67) การไฟฟ้าแห่งประเทศจีน สาขาเจียงซู เปิดเผยว่าเขตสาธิตดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่เกือบ 500 ตารางกิโลเมตรในเมืองซูโจว อู๋ซี และฉางโจว พร้อมด้วยเสาชาร์จราว 1,300 ต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ขับขี่ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ได้มากกว่า 500,000 ราย

สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสลับแบตเตอรี่ที่ทำให้ยานพาหนะสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ภายในเวลาเพียง 80 วินาทีจะเปิดให้บริการในเมืองอู๋ซี ก่อนขยับขยายทั่วเขตสาธิตแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ ผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้ามักต้องค้นหาสถานีชาร์จบริเวณใกล้เคียง แต่เขตสาธิตใหม่นี้จะใช้อัลกอริธึมอัจฉริยะเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ค้นหาโซลูชันการชาร์จที่รวดเร็วและประหยัดที่สุด ตลอดจนช่วยค้นหาเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการชาร์จ

หยวนเสี่ยวตง ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้า สังกัดการไฟฟ้าฯ คาดว่าเขตสาธิตข้างต้นจะสามารถช่วยลดเวลาการเข้าคิวรอชาร์จเฉลี่ยเกือบร้อยละ 50 ต่อเดือน โดยคาดว่าเขตสาธิตแห่งนี้จะขยายไปยังมณฑลอันฮุยและเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

สำนักบริหารพลังงานแห่งชาติของจีน ระบุว่าสัดส่วนการเป็นเจ้าของยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยมีการใช้ยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20.41 ล้านคันเมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 และเพื่อตอบสนองการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้ จีนจะเดินหน้าปรับปรุงและขยายเครือข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกการชาร์จ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 เมื่อเทียบปีต่อปีในปีก่อน และเกือบแตะ 8.6 ล้านเครื่องเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

‘อัครเดช’ นำคณะกมธ.ฯ ลงพื้นที่ จ.พังงา แหล่งแร่ลิเธียม เตรียมเร่ง ให้ผลิตแบตฯป้อน ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาล 

(10 มี.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกมธ.ฯลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อติดตามโครงการสำรวจและผลิตแร่ลิเธียมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อุตสาหกรรมจังหวัดพังงา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและให้ข้อมูลกับคณะกมธ.

นอกจากนี้ คณะกมธ.ฯยังได้ลงพื้นที่เขตแหล่งแร่เรืองเกียรติ ตำบลกะใหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เพื่อดูสถานที่จริงพร้อมรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ นำโดย นายวิชัช ไตรรัตน์ นายก อบต.กะใหล ได้ชี้แจงรายละเอียดสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกมธ.ฯให้สัมภาษณ์ว่า ได้หารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อุตสาหกรรมจังหวัดพังงา ตลอดจนผู้อำนวยการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในเรื่อง การนำแร่ลิเธียมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่สำคัญรัฐบาลให้สนับสนุนในการผลิตเพื่อนำมาป้อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือกับหลายฝ่าย และลงไปดูแหล่งแร่ลิเธียมที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานได้ประกาศเป็นแหล่งแร่ลิเธียมในตำบลกะไหล พบปะกับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าทางจังหวัดพังงามีนโยบายจะทำเหมืองแร่ลิเธียมให้ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ของจังหวัดด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดพังงา เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อจำนวนมาก

นายอัครเดช กล่าวว่า คณะกมธ.ฯได้รับทราบข้อมูลจากผู้สำรวจเหมืองแร่ที่ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเธียมพบว่าใบอนุญาตในการสำรวจขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้มีนักลงทุนหลายราย สนใจเข้ามาลงทุนสำรวจแต่ยังติดขัดในข้อกฎหมาย ติดขัดในเรื่องผู้รับสิทธิ์สำรวจกฎหมายไม่อนุญาตให้สำรวจซ้ำซ้อนกันได้คณะกมธ.จึงรับข้อร้องเรียนดังกล่าวเพื่อนำกลับมาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสามารถทำได้จริงตามนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้คณะกมธ.ฯจะมาหารือเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ประธานคณะกมธ.กล่าววย้ำว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่พวกเขาอยากให้ทางรัฐบาล และส่วนราชการได้สนับสนุนให้มีการสำรวจขุดเจาะแร่ลิเทียมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างงานให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศ พวกเขามีความเป็นห่วงว่าถ้าทำไม่จริงจัง ในอนาคตเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป แร่ลิเธียมมูลค่าอาจจะลด ขณะที่แร่ลิเธียมมีมูลค่าสูงจึงอยากให้รัฐบาลสำรวจขุดเจาะเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประชาชน ไม่ได้คัดค้านแต่เป็นห่วงว่าในระหว่างที่ดำเนินโครงการต้องทำ CSR และควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว

“การขุดเจาะสำรวจแร่ลิเธียมทราบว่ามีหลายจังหวัด ในจังหวัดราชบุรี ก็มีการสำรวจ ของจังหวัดพังงาได้ดำเนินการมา 3 ปีแล้วสำรวจขุดเจาะได้กว่า 200 หลุม มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอสมควรว่า สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมเปิดเหมืองนำแร่ลิเธียมมาผลิตเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่าการลงทุน อย่างไรก็ตามคณะกมธ.ฯจะนำข้อมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมในการเร่งและแก้ไขปัญหา ให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป”นายอัครเดชกล่าว

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top