‘กูรู EV จีน’ ชี้ ‘การปฏิวัติรถยนต์’ เข้าสู่ระยะใหม่ ใช้ชิปเป็นเทคโนโลยีหลัก ขับเคลื่อนการเดินทางอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะโลกกำลังผลักดันเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ‘เฉิน ชิงเฉวียน’ (C.C.Chan) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง เชื่อว่าการปฏิวัติรถยนต์ถึงเวลาเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ เฉินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปฏิวัติระยะแรก คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า และขณะนี้ถึงเวลาเข้าสู่การปฏิวัติช่วงครึ่งหลัง โดยอาศัยชิปรถยนต์และระบบปฏิบัติการเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยอนาคตรถยนต์จะเปลี่ยนจากวิธีขนส่งแบบดั้งเดิม เป็นพื้นที่เดินทางเคลื่อนที่อัจฉริยะ นำสู่การบูรณาการเครือข่ายการขนส่ง พลังงาน ข้อมูล และวัฒนธรรม

เฉินเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมถึงเป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) โดยเขาได้รับเลือกเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน เมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นนักวิชาการจากฮ่องกงคนแรก

เฉินเริ่มมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กว่า 40 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ โดยเขาได้รับรางวัลทัชชิง ไชน่า อะวอร์ด (Touching China Award) ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปี เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อยกย่องคุณูปการอันโดดเด่นที่มีต่อเครื่องยนต์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า

เฉินระบุว่า การวิจัยด้านวิศวกรรมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ พร้อมเน้นย้ำ ความสำคัญของการแปรเปลี่ยนผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) สู่ผลิตภัณฑ์ในแวดวงวิศวกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวพันกับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฉินมองว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการและการยอมรับของตลาดด้วย โดยมีเพียงวิธีนี้ที่สามารถผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้

เฉินออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก รุ่น ‘ยู 2001’ (U2001) ในปี 1993 โดย ‘ยู’ หมายถึง ‘สามัคคี’ และ ‘2001’ หมายถึง ‘การมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21’ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ใช้พลังงานแบบบูรณาการ แบตเตอรี่พลังงานสูง และระบบช่วยเหลือการขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีอัตราเร่ง 6.3 วินาทีต่อ 100 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะขับขี่ 180 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างเฉินมีความหมั่นเพียรอย่างมาก และเป็นเลิศในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความปรารถนาจะรับใช้มาตุภูมิด้วยความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณตามหลัง คุณก็จะถูกแซงหน้า” เฉินกล่าว “ผมรู้สึกว่าโชคชะตาของคนๆ หนึ่งนั้น สัมพันธ์กับประเทศอย่างใกล้ชิด”

เฉินเกิดในครอบครัวผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียเมื่อปี 1937 และเดินทางสู่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1953 เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขณะมีอายุ 16 ปี ต่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1982 และมีส่วนร่วมในการสอนและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่นั้น

เฉินบูรณาการยานยนต์ มอเตอร์ การควบคุม และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ากับการศึกษาแบบสหวิทยาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมวางรากฐานสำหรับทฤษฎียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึงมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีหลักอื่นๆ อย่างโดดเด่น จนขึ้นแท่นเป็นผู้ชี้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของจีน

เฉิน ในวัย 86 ปี ยังคงมีไหวพริบว่องไวและความจำดีเยี่ยม ทั้งยังเข้าใจแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน

“ผมสรุปประเด็น 3 ข้อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ความต้องการเร่งด่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การดูแลนักวิทยาศาสตร์และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับประเทศและโลกของนักวิทยาศาสตร์” เฉิน อธิบาย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน สนับสนุนการพัฒนาของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติอย่างชัดเจน โดยมีการออกสารพัดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เฉินแนะนำว่า ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพื้นฐาน แต่ค่อนข้างมีจุดอ่อนด้านการประยุกต์ใช้ โดยฮ่องกงสามารถทำงานร่วมกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเมืองเหล่านั้น

เฉินชี้ว่า แต่ละเมืองในเขตเศรษฐกิจฯ มีข้อได้เปรียบของตัวเอง เช่น เซินเจิ้นมีผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมาก ตงก่วนมีระบบประมวลผลสนับสนุนที่สมบูรณ์ จึงควรมีการจัดตั้งห่วงโซ่ระบบนิเวศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันทรัพยากรและเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมโดยรวมของเขตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเฉินสาละวนกับการเตรียมสุนทรพจน์ เพื่อการประชุมวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้ โดยเขาจะเดินหน้าแบ่งปันแนวคิดการปฏิวัติรถยนต์ต่อไป พร้อมเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องแสวงหากฎธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ต้องคิดการณ์ไกลยามทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยึดมั่นทิศทางที่ถูกต้องจนนาทีสุดท้าย