‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท