Tuesday, 14 May 2024
มลภาวะ

‘สเปซเอ็กซ์’ ส่งดาวเทียมสู่อวกาศพร้อม ‘เทมโป’ ตัวตรวจมลภาวะ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศ - มลพิษทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ

(8 เม.ย. 66) เว็บไซต์ ยูพีไอ รายงานว่า ‘สเปซเอ็กซ์’ บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่ทำธุรกิจทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการส่งดาวเทียมตรวจวัดคุณภาพอากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 7 เม.ย.

โดยระบุว่า ‘จรวดฟอลคอน 9’ ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศจากฐานยิงจรวดสเปซ ลอนช์ คอมเพล็กซ์ รัฐฟลอริดาของสหรัฐ เมื่อเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เพื่อนำดาวเทียมอินเทลแซท 40 อี (Intelsat 40e) ดาวเทียมโคจรพ้องคาบโลกขั้นสูง ซึ่งมีเครื่องมือ ‘เทมโป’ (TEMPO-Tropospheric Emissions: Monitoring of Pollution) ตัวตรวจวัดมลภาวะในชั้นบรรยากาศของนาซา ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเหนือเส้นศูนย์สูตรเพื่อตรวจสอบมลพิษในอากาศทั่วทวีปอเมริกาเหนือ

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษ ‘เป็นวิกฤติชาติ' ฆ่าคนได้หากไม่รีบแก้ ยกเมืองใหญ่ของโลก ก็เคยเจอมาก่อน ยังสามารถแก้ได้

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษเป็นวิกฤติชาติ ฆ่าทุกคนได้ หากไม่รีบแก้ไข เตรียมลงพื้นที่ กทม.หลังพบค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายเพียบ

(12 ม.ค. 67) ‘ดร.เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ฝุ่นพิษเป็นวิกฤตชาติ เราทุกคนต้องช่วยกัน แก้ปัญหาที่ต้นตอ อย่าปล่อยไว้ จนยากที่จะเยียวยา ปล่อยฝุ่นว่าเลวร้าย ปล่อยไว้ยิ่งโหดกว่า ตั้งคำถามทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้”

‘ดร.เอ้’ กล่าวอีกว่า “ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่มาเฉพาะฤดูหนาว บางคนยังเข้าใจผิด แต่มันอยู่กับเราทุกวัน โดยส่วนตัวเคยไปวัดฝุ่นที่ป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่ที่มีรถสัญจรไปมา ปรากฏว่ามีค่ามลพิษเกินกว่ามาตรฐาน เกินกว่าจุดอันตรายทั้งสิ้นเลย แต่เรากลับไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันน่ากลัว สามารถฆ่าเรา ฆ่าพ่อแม่เรา ฆ่าลูกหลานเรา เพราะว่า PM2.5 มันคืออนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ยิ่งน่ากลัว อันตรายถึงตายมากเท่านั้น เพราะเมื่อเราสูดเข้าไปแล้วมันสามารถเข้าไปถึงปอด ถึงเส้นเลือดในสมองเลย และมันไม่ได้เป็นเชื้อโรค เราฆ่ามันไม่ตาย เข้าไปแล้วเข้าไปเลย และยิ่งเข้าไปมากๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เด็ก มันก็สะสมๆ ทำให้เกิดโรคร้าย มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคความดันและอีกหลายโรคร้ายตามมา”

‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยพบมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 70,000 คนแล้ว และถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป โรคมะเร็งปอดจะเป็นโรคที่อันตรายมากที่สุด โดยปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าผู้ประสบอุบัติเหตุเสียอีก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤตของชาติที่ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด”

สำหรับปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานครนั้น ‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “80-90% มาจากรถ โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรในการก่อสร้างถือเป็นอันดับ 1. ส่วนอันดับ 2.มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ทุกทิศทาง ล้อมกรุงเทพไว้หมดแล้ว รวมถึงการไหม้กลางแจ้ง พวกเผาหญ้า พื้นที่การเกษตร”

อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศสามารถแก้ได้ ขอแค่มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง ยกตัวอย่างประเทศอื่น เมืองอื่นที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกก็สามารถแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จมาแล้ว เช่น ปักกิ่ง ลอนดอน ลอสแอนเจลิส และกรุงโซล ทุกเมืองล้วนเคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้ายกว่ากรุงเทพยังสามารถแก้ปัญหาได้หมด เพราะเขามีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ เขายุติหรือย้ายออกทันที เช่นเดียวกันกับรถยนต์ รถสิบล้อที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นเขาให้เลิกใช้เลยและริเริ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการจำกัดเขตปลอดมลพิษ การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา รวมไปถึงมีกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้น 

"ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด เพราะเป็นห่วงคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ดีใจที่วันนี้ ร่าง พรบ.อากาศสะอาด เข้าสภาฯ หลายร่าง จึงหวังว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้ครับ เราทำได้ แบบอย่างจากทุกเมืองที่เคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้าย เป็นคำตอบ เขาแก้ไขได้หมด กรุงเทพฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ เราจะปล่อยไว้แบบนี้กันจริงหรือครับ” ดร.เอ้ กล่าว

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนในการรีบแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก โดยดร.เอ้ เตรียมลงสำรวจพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามีค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายหลายจุด

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top