Sunday, 28 April 2024
เศรษฐกิจ

‘ปชป.’ ชู นโยบายกระตุ้น ศก. อัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท ยัน!! แก้จนได้โดยไม่ต้องแจกแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้รัฐฯ 

(24 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมนโยบายพรรคฯ ร่วมกันแถลงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการอัดฉีด 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ โดยไม่มีการแจกเงินแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ไม่รีดภาษีจากผู้มีรายได้น้อย แต่จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% และช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยสิ่งที่จะต้องทำทันที คือ การปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องสร้างกติกาให้ผู้ที่มีฐานะปานกลางและบริษัทรายย่อย สามารถระดมทุนผ่านไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือผลประกอบการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านั้นขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้เพิ่ม เสียภาษีได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มงบประมาณในการดูแลกลุ่มฐานราก

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราสนับสนุนจัดตั้งธนาคารที่มีลักษณะเป็นไมโครไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยธนาคารนี้สามารถดำเนินการผ่านไปรษณีย์ไทยมาเป็นสาขาของธนาคารดังกล่าว เพราะไปรษณีย์ไทยมีสำนักงานที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอยู่แล้ว รวมถึงจะต้องสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเราสามารถโน้มน้าวหรือเชิญชวนผู้เงินฝากในระบบสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท โดยเอามาเพียง 1.2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนจากเงินฝากมาเป็นการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกทั้ง ควรกระจายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ และจะทำให้แรงงานทำงานในพื้นที่ตัวเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่น

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ส่วนการแก้หนี้สินเกษตรกร จะส่งเสริมเกษตรกรให้ความรู้และมีคุณภาพ จนสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ หรือที่เรียกว่านักธุรกิจเกษตร รวมถึงต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรามีนโยบายจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ในกับคนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า

ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี ต่อไปแรงงานจะลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรต่อจากนี้จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ แต่ผู้สูงอายุต้องให้มีการตรวจสุขภาพเพราะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และทำงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาหรือไกด์ นอกจากนี้ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น แก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ สนับสนุนให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33 โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างประเทศมากเกินไป

“ขณะนี้ ทุกพรรคยองรับว่าต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพราะเราจะปล่อยให้มีคนจนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ คนที่้สูงอายุน่าสงสารเพราะกฎหมายบีบบังคับไม่ให้เขาทำงาน ต้องออกจากงาน จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากทำให้คนไม่มีงานทำ ซึ่งประชาธิปัตย์เราคิดเรื่องนี้ว่าจะต้องแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นหากประชาธิปัตย์มีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศ เราจะปรับอายุการเกษียณในทุกกลุ่มอีก 5 ปี อย่างน้อย เพื่อยืดอายุการทำงาน เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุมีประสบการณ์ มีความรู้ มีความสามารถอยู่ หากปล่อยให้ออกจากงานก็น่าเสียดาย เชื่อว่าผู้สูงอายุอยากทำงานมากกว่าแบมือขอเงินไม่กี่พันบาทจากรัฐ ซึ่งประชาธิปัตย์จะมีการเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุด้วย แต่เราจะไม่ประกาศตัวเลข เพราะเราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร บางพรรคอาจจะประกาศ 3 พัน 5 พัน 8 พัน หรือหนึ่งหมื่นก็ได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบไม่มีสาระ แต่ประชาธิปัตย์จะดูตามความเป็นจริงว่า อนาคตข้างหน้าเราจะช่วยผู้สูงอายุปีต่อปีต่อเนื่องได้อย่างไร” นายพิสิฐ กล่าว

ส่วนข้อกังวลในเรื่องการตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน จะเกิดปัญหาเหมือนกองทุนหมู่บ้านที่มีบางแห่งพบความไม่โปร่งใส และอาจสร้างหนี้เสียได้ นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบได้ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินในชุมชนไปเข้าเป็นเหมือนพี่เลี้ยงกำกับดูแลให้ดำเนินงานตามพ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีต

บิ๊กตู่’ โชว์ผลงาน ‘การท่องเที่ยว-การเกษตร’ ฟื้นตัว ส่งผลเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง - ความเชื่อมั่นพุ่งสูง

(28 เม.ย.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนมุ่งมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควด-19 และผลกระทบจากสงครามในทวีปยุโรป ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด รายงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน มี.ค.2566 เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20.1% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงจากเล็กน้อยช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.9% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวมจำนวน 2.22 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 953.0% ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 83.5 ภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 82.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 77.4 ภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 76.8 ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.9 กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 60.9 

‘ชาติพัฒนากล้า’ ร่วมหารือนักธุรกิจรุ่นใหม่ ชู ‘โคราชโนมิกส์’ หวังยกระดับโคราชและภาคอีสานสู่ระเบียงเศรษฐกิจ

(28 เม.ย. 66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พร้อมด้วย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 เบอร์ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของโคราช เพื่อนำเสนอนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า ‘งานดี มีเงิน ของไม่แพง’ โดยเฉพาะของจังหวัดนครราชสีมา มีนโยบาย ‘โคราชโนมิกส์’ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะในการพัฒนาโคราชและภาคอีสาน เอาเศรษฐกิจยุคทองกลับมา ประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน คือ

1.) นโยบายการสร้างภาคอีสานให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ของโคราช
2.) นโยบายการสร้างระบบคมนาคมที่เข้มแข็งและทันสมัย
3.) นโยบายการสร้างให้โคราชอีสานเป็นดินแดนแห่งเมืองท่องเที่ยวที่เป็นอินเตอร์
4.) นโยบายโคราชอีสานเป็นเมืองผลิตอาหารให้กับโลก
5.) นโยบายการแก้ไขปัญหาที่พี่น้องประชาชนประสบมาก ๆ คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำประปาไม่เพียงพอ หรือนโยบายโคราชเมืองน้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้ง ประปาเพียงพอ

‘พท.’ ชูนโยบายเชิงรุก เร่งเจรจาการค้า ตอบโจทย์เศรษฐกิจ หวังขยายฐานตลาดสินค้าไทยสู่เวทีโลก สร้างเม็ดเงินให้ชาติ

(28 เม.ย. 66) พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญด้านต่างประเทศที่จะเชื่อมไทยเชื่อมโลก เปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เร่งเจรจาการค้า กอบกู้เกียรติภูมิประเทศในเวทีโลก เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะเป็นนโยบายเชิงรุกที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ ให้เป็นการต่างประเทศที่กินได้ เกิดประโยชน์ตกถึงมือประชาชน

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะมีแนวนโยบายดังนี้
1.) ฟื้นฟูบทบาทของไทยในเวทีโลก บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

2.) กำหนดท่าทีของประเทศอย่างสมดุลในพลวัติภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยไทยจะเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ และความรุ่งเรืองอย่างแข็งขันในประชาคมโลก เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

3.) ปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย และธุรกิจไทยในต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง

4.) หนังสือเดินทางไทยแข็งแรง เดินทางง่ายได้ทั่วโลก เร่งเจรจายกเว้นวีซ่าให้พาสปอร์ตไทย

5.) นโยบายต่างประเทศที่กินได้ เชื่อมโลกเชื่อมไทย เปิดตลาด เพิ่มรายได้จากการค้าชายแดน เร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA กับอียูและอังกฤษ ผลักดัน soft power ทางการทูตไทย และพลัง soft power ด้านอื่น ๆ ของไทย

‘บิ๊กป้อม’ ปราศรัยใหญ่ที่สงขลา ชู หนุนภาคใต้สู่เขต ศก.พิเศษ สร้างอาชีพ-รายได้ให้ลูกหลาน อ้อน ปชช.เลือก ‘พปชร.’ ทั้ง 9 เขต

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 66 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมแกนนำพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค, นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคเหนือ, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำภาคใต้, นายคณิศ แสงสุพรรณ ทีมนโยบายพรรค ปราศรัยนำเสนอนโยบาย และแนะนำผู้สมัคร ส.ส.สงขลา ทั้ง 9 เขต ได้แก่

เขต 1 นายภวัต นิตย์โชติ เบอร์ 7
เขต 2 นายอดิสัณห์ ชัยวิวัฒน์พงศ์ เบอร์ 6
เขต 3 นายอาทิตย์ สุวิทย์ เบอร์ 5
เขต 4 นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว เบอร์ 1
เขต 5 นายญาณพง เพชรบูรณ์ เบอร์ 6
เขต 6 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์  เบอร์ 5
เขต 7 นายธเนศ ล่องนาวา เบอร์ 7
เขต 8 นายธีรพงศ์ ดนสวี เบอร์ 3
เขต 9 นายล่องหิ้น ทิพย์แก้ว เบอร์ 2

ทั้งนี้ ได้มีประชาชนมาร่วมรับฟังการปราศรัยเต็มความจุศูนย์ประชุมฯ พร้อมส่งเสียงเชียร์เบอร์ 37 และโบกธงโลโก้พรรคเพื่อให้กำลังใจ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พรรค พปชร.นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ ทั้งเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน ลดราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส และค่าไฟฟ้า ทันทีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อมอบความสุขให้ประชาชนด้วยความจริงใจ จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายดูแลทุกช่วงวัย ‘แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ’ แจกเงินคนท้อง เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือนจนกว่าจะคลอด และเงินช่วยดูแลบุตรเดือนละ 3,000 บาท จนถึง 6 ขวบ เพื่อให้สตรีมีขวัญกำลังใจในการช่วยกันเพิ่มประชากร รวมถึงนโยบาย มีเราไม่มีแล้ง มีน้ำไม่มีจน มีที่ดินทำกิน ไม่มีจน เราจะทำให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีที่อยู่ที่อาศัย และมีเงินสนับสนุนเงินให้เกษตรกร ทั่วประเทศ จำนวน 30,000 บาท ทั้ง 8 ล้านครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ด้านนายนิพิฏฐ์ กล่าวปราศรัยว่า ถ้าเลือกพรรค พปชร.หมายความว่า ประชาชนเลือกตัวแทนที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลที่จะมาดูแลพวกเราอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ชีวิตของชาวใต้ยกระดับขึ้น ขอให้ทุกคนคิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะได้รับอะไรคืนมา ประเทศไทยวันนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พรรคพลังประชารัฐจึงเล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทยทุกคน ด้วยการมอบสวัสดิการดูแลเป็นรายเดือน รวมไปถึงอนาคตของลูกหลานของเรา ก็ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่คลอดออกมา และต้องมีการศึกษาที่ดี เพื่อที่จะได้เติบโตไปอย่างมีศักยภาพและจะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป ซึ่งคนทั้ง 2 กลุ่มถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ปกป้องให้พวกเขาเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง

นางนฤมล กล่าวว่า เรามั่นใจว่าเราจะได้รับความเมตตาจากพี่น้องที่นี่ ผู้สมัครครั้งนี้แม้หน้าตาจะเปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่จะเข้ามาดูแลสวัสดิการของประชาชน แต่พรรค พปชร.เป็นพรรคแรกที่พูดแล้วทำจริง ตั้งแต่ปี 62 และครั้งนี้ก็เช่นกัน เราต้องการจะเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้เข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กเกิดมาก็ต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ประชาชนทั่วไปต้องได้รับการส่งเสริมให้มีอาชีพ เพื่อที่เขาจะสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองให้ได้ สิ่งนี้ภาครัฐก็จะต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน

“เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งนี้หลังจากวันที่ 14 พ.ค.เมื่อเราเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อ จะพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีความเจริญมากขึ้น จึงขอฝากผู้สมัครทั้ง 9 คน ของพรรค”

‘บิ๊กตู่’ มั่นใจ!! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เผย ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย

(29 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชากล่าว

20 โปรเจกต์ หนุน EEC เดินหน้า ภายใต้รัฐบาลตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

โครงการ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งมีอีกชื่อเป็นภาษาไทยว่า ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ อีกหนึ่งความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยปัจจุบันมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเงื่อนไขในการเอื้อต่อการลงทุนแล้วหลายประการ ได้แก่

1. พัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)
2. พัฒนารถไฟทางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย)
3. พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด / ท่าเรือแหลมฉบัง เป็น ‘ประตูการค้า’ เชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียน
4. พัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือท่าเรือจุกเสม็ด รองรับนิคมอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทางทะเล
5. ปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3

‘บิ๊กตู่’ จ่อ ฟื้นประชุม JTC หลังการค้าไทย-อินเดียคืบหน้า หวังแก้อุปสรรคทางการค้า หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

(4 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดียจนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

นายอนุชา กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย – อินเดีย และ FTA อาเซียน – อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดียกับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

‘รวมไทยสร้างชาติ’ หาเงินได้ - ใช้เงินเป็น

หารายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ใน 2 ปีที่ผ่านมา
>> ทุนต่างชาติ ลงทุนผลิตรถยนต์ ไฟฟ้าในไทยกว่า 360,000 ล้านบาท
>> ส่งเสริมสมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์กว่า 700,000 ล้ำนบาท
>> อุตสาหกรรมดิจิทัล 300,000 ล้านบาท
>> ชาวต่างชาติพำนักระยะยาวราว 5 แสนคน เกิดการใช้จ่าย 600,000 ล้านบาท
>> ซาอุดีอาระเบีย ลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไกย 600,000 ล้านบาท

ใช้เงินเป็น
>> ช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง บัตรสวัสดิการ พลัส จะเพิ่มเงินให้เดือนละ 1,000 บาท รวม 12,000 บาท/ปี
>> ให้กู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารของรัฐได้ 10,000 บาท/คน
>> ทำโครงการคนละครึ่ง ใช้งบประมาณ 60,000 ล้านบาท
>> ทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฉพาะเมืองรอง 18,000 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top