Sunday, 28 April 2024
เศรษฐกิจ

พิษโอมิครอนฉุดเศรษฐกิจเดือน ม.ค. ชะลอตัว

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนม.ค. 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม มีการชะลอตัวลงบ้าง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลง จากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ในช่วงวันที่ 21 ธ.ค.2564 - 31 ม.ค. 2565 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 

ส่วนการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลง จากความกังวลต่อการระบาดของโอมิครอน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง 

ส่งออกม.ค.บอก 8% จับตาสงครามยูเครน-รัสเซีย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.65 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับม.ค.2564 ที่ขยายตัวแค่ 0.1% โดยมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนม.ค.2565 เป็นบวกถึง 8% เพราะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ที่เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น 

สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินเดีย เพิ่ม 31.9% 2.รัสเซีย เพิ่ม 31.9% 3.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 29.7% 4.เกาหลีใต้ เพิ่ม 26.8% 5.สหรัฐฯ เพิ่ม 24.1% 6.แคนาดา เพิ่ม 13.6% 7.อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 13.2% 8.จีน เพิ่ม 6.8% 9.ลาตินอเมริกา เพิ่ม 5.0% 10.สหภาพยุโรป เพิ่ม 1.4% ขณที่ยอดการนำเข้ามีมูลค่า 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต และการนำเข้าน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยขาดดุลการค้าในเดือนม.ค.65 คิดเป็นมูลค่า 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“โฆษกรัฐบาล” ฟุ้ง เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เผย ทุนสำรองระหว่างประเทศ ถึงเดือนม.ค.กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯยัน มีเงินคงคลังพอใช้จ่าย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทย มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านฐานะการคลังและฐานะการเงิน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะ สิ้นเดือนธ.ค. 2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.88 ต่อจีดีพี โดยอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง  ทุนสำรองระหว่างประเทศถึงสิ้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 242,772.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สูงถึง 3 เท่า ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2565 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นรัฐบาลยังมีเงินคงคลังเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

นายธนกร กล่าวว่า วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ไทย ในช่วงที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อยและเป็นไประยะสั้น โดยปกติตลาดหลักทรัพย์จะมีความผันผวนตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกิดขึ้นเป็นระยะ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา สถานะเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ที่ 81,356.8 ล้านบาท สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทิศทางค่าเงินบาทโดยรวมยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 2.10 จากต้นปี 2565 จากแผนการเปิดประเทศและตามสถานะเงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทย ด้านการส่งออก ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกในเดือนนี้ขยายตัว 8 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัว 20.5 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นายธนกร กล่าวว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวเป็นบวกในเดือนแรก มาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์  รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์การค้าระหว่างซาอุดีอาระเบีย และประเมินว่า ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยังไม่กระทบกับการส่งออกไทยในช่วงเดือนก.พ.เนื่องจาก รัสเซียและยูเครน ไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยปี 2564 ไทยได้ส่งออกสินค้าไปรัสเซีย และยูเครน มูลค่า 32,507.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่งออกรวม และ 4,228.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 36 และ 74 ของไทย ตามลำดับ ด้านการนำเข้าสินค้า จากรัสเซียและยูเครน มีมูลค่า 55,659.65 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 0.65 ของมูลค่านำเข้ารวม และ 8,199.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ตามลำดับ หรือคิดเป็นประเทศคู่ค้าด้านการนำเข้าลำดับที่ 26 และ 57 ของไทย 

 

"ศิริกัญญา"​ ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ชี้ รัฐบาลต้องกล้ายอมรับความจริง ตรึงราคาดีเซล 30 บาทไม่ได้อีกต่อไป ฉะ ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด ไม่ใช่บอกให้ประชาชนประหยัด วอนออกมาตรการช่วยเกษตรกร-ท่องเที่ยว

อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบค่าครองชีพคนไทย ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังจะส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนนี้ราคาพลังงานพุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมายังตลาดโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย และยังส่งออกแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป แต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ประเทศในยุโรปก็กำลังจะมีมาตรการลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติลง 2 ใน 3 ตลอดปี 2565 ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมหาศาล จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจขึ้นไปแตะที่ 185-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าอาจจะถึงจุดที่รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนแล้วว่า สัญญาที่ได้ให้ไว้ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท อาจจะทำไม่ได้จริง ปัจจุบันในแต่ละเดือนต้องใช้เงินในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ถ้ายังจะคงน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 10 บาทต่อลิตร รวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าราคาน้ำมันยังคงยืนระยะที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาเรลตลอดทั้งปี และเรายังพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็อาจจะต้องใช้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท ทางเลือกของเรื่องนี้อาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณปี 2565 อย่างแน่นอน ทางออกอีกทางคือการแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) มีข่าวจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า แผนการที่วางไว้สำหรับน้ำมันดีเซลอาจจะอยู่ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนจึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างถูกจุด ปัญหาคือถ้ารัฐบาลรอจนเงินหมดหน้าตัก แล้วปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวทันที จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมาก รัฐบาลควรจะต้องมีแผนการในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนว่าจะทยอยขึ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน จากนั้นจะต้องมีการอุดหนุนค่าครองชีพไปที่ครัวเรือนโดยตรง แทนที่จะอุดหนุนไปที่ราคาพลังงาน เพราะความจริงแล้วกลุ่มคนที่มีรายน้อยหรือคนจนจะใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า แต่ความช่วยเหลือยังอยู่ที่ดีเซลอย่างเดียว การเปลี่ยนมาอุดหนุนเป็นค่าครองชีพให้ประชาชนโดยตรงก็จะได้ประโยชน์กับผู้ใช้ทั้งเบนซินและดีเซล หากกังวลเรื่องผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งก็ให้อุดหนุนตรงไปที่ภาคขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถบรรทุก ทำให้รัฐบาลน่าจะสามารถกำหนดวงเงินช่วยเหลือได้ชัดเจนแม่นยำมากยิ่งขึ้น

"ดังนั้น ทางออกเรื่องราคาพลังงานคงไม่ใช่การออกมาบอกให้ประชาชนประหยัดพลังงานด้วยตนเอง ถ้าจะออกมาบอกแค่ว่าต้องประหยัดพลังงาน ต้องประหยัดการใช้ไฟ ล้างแอร์ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เราต้องการการมองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่จะไม่ทำให้ประเทศถังแตก และสามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ยอมรับความจริง พูดความจริงกับประชาชนว่าจะไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้แล้ว และดำเนินการให้ประชาชนสามารถประคับประคองการใช้ชีวิตได้ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนปัญหาราคาอาหารสัตว์ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภายหลังเกิดสงคราม ราคาสินค้าทั้งสองชนิดก็สูงขึ้นมาก ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าแล้ว ส่วนราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ตอนนี้ตลาดในประเทศไทยวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน โรงงานอาหารสัตว์รายเล็กรายย่อยบางส่วนเริ่มทยอยปิดตัว ถ้าสงครามยังดำเนินต่อไปและราคายังไม่ลดลง สุดท้ายต้นทุนก็จะมาตกอยู่กับเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ และจะส่งผ่านมาที่ราคาอาหารสดอีกระลอก ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเหมือนกรณีราคาหมู แต่จะส่งผลกระทบแน่นอนกับราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่ นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่  ตอนนี้วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ประกาศแบนการส่งออกปุ๋ยเคมีแล้วเช่นกัน ซึ่งจะซ้ำเติมไปที่ต้นทุนของเกษตรกรและกดดันรายได้ของเกษตรกรให้ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น จึงขอวิงวอนไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องการคำนวณต้นทุนสินค้าเกษตรต่างๆ ที่จะใช้ในการคำนวณราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ และต้องมีมาตรการอื่นๆ ตามมาเพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกร

'กอบศักดิ์' วิเคราะห์ สหรัฐฯ ใช้ 'นิวเคลียร์เศรษฐกิจ' ต้อนรัสเซียให้จนมุม หวังตัดกำลังพัฒนากองทัพ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

"นิวเคลียร์เศรษฐกิจ" 

อาวุธใหม่ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างการทำสงครามกับรัสเซีย
ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในสงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย คือ การนำ "ระบบการค้าและระบบเงินของฝั่งโลกตะวันตก" มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในอดีต เวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ใดๆ ก็จะมีการนำนโยบาย Sanctions มาใช้ เพื่อลงโทษประเทศที่ก่อปัญหา 
แต่สิ่งที่แตกต่างรอบนี้ ก็คือ ระดับความเข้มข้นของนโยบาย ทั้งจาก จำนวน กลุ่มประเทศที่เข้าร่วม และความรุนแรง

ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูก Sanction เยอะที่สุดของโลก ด้วยมาตรการกว่า 3,000 อย่าง!!!! จากประเทศหลักๆ มากกว่า 40 ประเทศ
หลายมาตรการ ต้องบอกว่า เป็นมาตรการไม่ปกติ 

เช่น ยึดเงินสำรองระหว่างประเทศ สั่งไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินด้วย ไม่ให้ระดมทุน ไม่ให้ใช้ระบบการชำระเงิน ยึดสินทรัพย์ ไม่ซื้อสินค้า เร่ง Exit ออกจากธุรกิจและการลงทุนต่างๆ  รวมไปถึง ห้ามใช้เทคโนโลยีทางการทหารและดิจิทัล ที่สหรัฐและโลกตะวันตกพัฒนา

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำ "ระบบการค้าและระบบการเงินของโลกตะวันตก" มาเป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ 

ทั้งนี้ เพราะตลาดการค้าของโลกตะวันตกมีขนาดประมาณ 70% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นระบบหลักที่ควบคุมการไหลเวียนของการเงินโลกมากกว่า 90% 

(1) ในเชิงการค้า ถ้ารัสเซียถูกตัดออกจากระบบดังกล่าว ก็จะเท่ากับว่า "ถูกปล่อยเกาะ" ให้รัสเซียต้องสู้ด้วยตัวเอง ผลิตสินค้า พัฒนาสินค้าต่างๆ โดยอาศัยรัสเซียและเพื่อนของรัสเซียเท่านั้น ไม่มีคนช่วยผลิต ไม่มีตลาดขนาดใหญ่มารองรับ
กลไกการแบ่งงานกันทำ กลไกการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เคยเป็นหัวใจหลักที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพให้กับระบบการผลิตของรัสเซีย จะถูกทำลายลงไปในพริบตา 

หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ ถ้าเราเคยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เอารายได้ไปซื้อของอื่นๆ มาใช้ มีความสุขในการใช้ชีวิต แต่วันหนึ่ง ทุกคนไม่ยอมมายุ่งกับเรา ต้องทำก๋วยเตี๋ยวกินเอง และผลิตทุกอย่างใช้เอง ตั้งแต่สบู่ ยาสีฟัน ขนม อาหารต่างๆ ... ประสิทธิภาพของการทำงานจะลดลงแค่ไหน และชีวิตจะลำบากขึ้นแค่ไหน 

(2) ในเชิงการเงิน การถูกขับให้ออกจากระบบการเงินโลก ไม่ให้ใช้ระบบ SWIFT ไม่ให้ชำระเงินผ่านระบบธนาคารของสหรัฐและพันธมิตร การไม่ให้ระดมเงิน รวมไปถึงการ Freeze สินทรัพย์ทุกอย่าง เป็นการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจรัสเซียออกไป 
ทั้งหมดเพื่อให้เกิด Financial System Meltdown ในรัสเซีย

ไม่น่าแปลกใจ ผลที่ตามมา ค่าเงินรัสเซียอ่อนลงไปครึ่ง จาก 70 เป็น 130 รูเบิล/ดอลลาร์ คนรัสเซียที่เคยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของตน เงินหายไปอย่างน้อย 70-80% (จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเปิดตลาดหลักทรัพย์ได้) ธนาคารพาณิชย์ถูกแห่ถอนเงิน บริษัทหลายแห่งกำลังจะมีปัญหา

นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ (ETF ต่างๆ) ถูกระงับการซื้อขาย พันธบัตรรัสเซียถูก Downgrade จนเป็น Non-investment grade หรือ Junk Bonds และต่อไปคงไม่ผิดการชำระหนี้ได้

ล่าสุด การไล่ล่าทางการเงิน กำลังจะไปถึงการประกาศห้ามไม่ให้ค้าขายทองคำกับรัสเซีย ที่รัสเซียได้สะสมเอาไว้มากกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมา 

(3) สุดท้าย สหรัฐและ NATO มุ่งจะตัดรัสเซียออกจาก "ระบบนวัตกรรมโลก" 
เรื่องนี้ แม้ดูว่าไม่น่ามีผลมากในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเท่ากับว่า กีดกันให้รัสเซียต้องไปคิดค้นทุกอย่างเอง ไม่ให้ใช้เทคโนโลยีที่โลกตะวันตกร่วมกันพัฒนา
โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ การทหาร การบิน การเดินเรือ และดิจิทัล 

ในประเด็นนี้ การพัฒนานวัตกรรมมีต้นทุนสูงมาก การช่วยกันพัฒนาคนละส่วน จะช่วยให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว 
การที่รัสเซียต้องอยู่ในห้อง Lab คนเดียว คิดอยู่คนเดียวจะทำให้ การคิดค้นสิ่งต่างๆ ของรัสเซียช้าลงมาก และจะส่งผลต่อระดับอานุภาพของยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียคิดค้น และต่อการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจของรัสเซียด้วย

ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่า จะรุกฆาต เอากันให้จนมุม 
หลายคนถามว่า ทำไปทำไม เป้าหมายจริงๆ คืออะไร
คำตอบ "บั่นทอนเศรษฐกิจของรัสเซีย" 
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ "ความเข้มแข็งของประเทศในเชิงเศรษฐกิจ คือพื้นฐานสำคัญของความเข้มแข็งเชิงการทหาร"

ถ้าเศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอ สุดท้ายรัสเซียก็จะไม่มีเงินมาพัฒนากองทัพ ไม่สามารถแข่งขันทันกับสหรัฐและพันธมิตร NATO ได้
คิดว่า สหรัฐและ NATO คงมีภาพ GDP ของรัสเซียหลังการผนวกไครเมีย อยู่ในใจ
ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว รัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้น 5 ปีให้หลัง ขนาดเศรษฐกิจรัสเซียลดลงมาเหลือเพียง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงมา 1/4 

อัตราการเจริญเติบโตที่เคยสูงถึง 7-8% ลดลงมาเหลือแค่ 2-3% ผิดจากปกติของประเทศเกิดใหม่
ทั้งหมดทำให้ รัสเซียที่เป็นมหาอำนาจทางการทหาร กลายเป็นประเทศเล็กๆ เชิงเศรษฐกิจ ที่มีขนาดเพียง 1/10 ของสหรัฐ หรือเท่ากับรัฐ Texas เท่านั้น

'ดร.พิสิทธิ์' ชี้ โควิดทำให้คนจนเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีมาตรการรัฐคอยช่วย คนจนอาจเพิ่มสูงถึง 11 ล้านคน

“โควิดทำให้คนจนเพิ่มขึ้น ก่อนโควิดมีคนจน 4.3 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านคน ถ้าไม่มีมาตรการต่างๆ ของรัฐ อย่างเช่น เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน จะเห็นว่านโยบายรัฐก็ช่วยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” 
.
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในเวทีเสวนา "ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” ณ ห้อง Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


ที่มา : https://www.facebook.com/480564141971928/posts/5664950366866587/

นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่น หารือทวิภาคีสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

วันนี้ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้รับพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยเกี่ยวกับการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย และการจัดตั้ง KOSEN Education Center เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีพิจารณาข้อเสนอของไทย และพร้อมการส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC 

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกับถึงแนวคิด Asia Zero-Emissions Community ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry - METI) ได้หารือเรื่องนี้กับรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ฯ ที่กรุงเทพฯ โดยไทยยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นภายใต้แนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั้งไทยและญี่ปุ่น และนโยบายเศรษฐกิจ BCG และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ไทยจึงพร้อมดำเนินการกับญี่ปุ่นเพื่อขับเคลื่อนข้อริเริ่มนี้ให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการเปิดรับนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และกล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น 

'​​​สุริยะ' ดันแผนพัฒนาอุตฯ กัญชง ยกระดับสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตฯ แห่งอาเซียนภายใน 5 ปี

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ผลักดันแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้และการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกัญชงในตลาดโลกมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, สหภาพยุโรป, จีน รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลังจากเริ่มผ่อนคลายกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 1.42 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าประมาณ 5.58 แสนล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชง ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

‘กอบศักดิ์’ เตือน!! วิกฤติ ‘ศรีลังกา’ แค่หนังตัวอย่าง อาจเกิดแบบนี้กับอีกหลายประเทศใน 2 ปีข้างหน้า

วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา ดูท่าจะเป็นหนังตัวอย่างให้อีกหลายประเทศที่เริ่มแสดงอาการในลักษณะคล้ายคลึงกันต้องวางแผนให้รัดกุมขึ้น โดยล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool หัวข้อ ‘บทเรียนจากศรีลังกา’ ระบว่า...

บทเรียนจากศรีลังกา 

สิ่งที่เกิดที่ศรีลังกา อาจเกิดได้กับอีกหลายๆ ประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า

บ่อยครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจ ลุกลามเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ 

เมื่อคนอดอยาก ตกงาน ไม่มีรายได้ อย่างกว้างขวาง

ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ จะตามมา

ยิ่งไปกว่านั้น 

ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ลำบากขึ้นเรื่อยๆ 

จากราคาอาหาร พลังงาน น้ำมัน สิ่งของต่างๆ ที่พุ่งขึ้นสูง 

 จะนำไปสู่ความไม่พอใจในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และความไม่พอใจในรัฐบาลในที่สุด

ยิ่งประเทศไหนมีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย 

ปัญหาก็สามารถลุกลามรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น 

เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่น้อย หมายความว่าประเทศจะไม่สามารถดูแลค่าเงินของตนเองได้ 

ทำให้ค่าเงินอ่อนฮวบลง 

ยิ่งหากเป็นเป้าของการถูกโจมตีเก็งกำไรค่าเงินด้วยแล้ว ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นเท่าทวีคูณ เพราะประเทศในกลุ่ม Emerging Market จำนวนมากมีเงินสำรองเพียงหยิบมือเดียว 

'ดร.กอบศักดิ์' แนะรับมือวิกฤตซ้อนวิกฤต ประเมินสถานการณ์ สร้างโอกาสลงทุน

'กอบศักดิ์' บรรยาย เปิด 'หลักสูตร พศส.' สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ แนะรับมือวิกฤตซ้อนวิกฤต ประเมินสถานการณ์สร้างโอกาสลงทุน

'กอบศักดิ์' คาดเศรษฐกิจโลก - ไทยเผชิญภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตยาว 2 ปี กนง.จ่อขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 0.75% ดันดอกเบี้ยนโยบายไทยปีนี้แตะ 1.25% หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ระบุท่องเที่ยวไทยสัญญาณฟื้นชัดเจน มองราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ    

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ 'Economic Turbulence 2022 เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตต้องรับมืออย่างไร' ระหว่างการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าในปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงในหลายด้าน ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่แต่ละประเทศต้องเตรียมการรับมือ ได้แก่ วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤตราคาพลังงานและอาหารโลก ความปั่นป่วนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก 

ขณะที่การเร่งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อต้อสู้กับเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นจนเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ตามมาทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณการชะลอตัว โดยวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะชะลอตัวลงจากเดิมที่เคยขยายตัวได้ในระดับ 20% ในปี 2564 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวในส่วนของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงต้นปี 2566 จะเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเดือนละประมาณ 1 ล้านคน โดยรวมจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยในปีนี้ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวมเนื่องจากมีสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ทั้งนี้เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าภายในปีนี้จะมีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 3 ครั้ง รวมแล้วคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.75% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปัจจุบันเป็น 1.25% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และช่วยชะลอการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงจากระดับ 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาสู่ระดับ 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา 

“ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่แบงก์ชาติต้องจับตาดูเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อรวมในเดือนที่ผ่านมาของไทยอยู่ที่  7.66% แต่ในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อทั่วไป (Core Inflation) ของไทยอยู่ที่ 2.58% ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนัก ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอีก 0.75% เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จากนั้นก็จะต้องดูปัจจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศแต่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะ” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top