'ดร.กอบศักดิ์' แนะรับมือวิกฤตซ้อนวิกฤต ประเมินสถานการณ์ สร้างโอกาสลงทุน

'กอบศักดิ์' บรรยาย เปิด 'หลักสูตร พศส.' สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ แนะรับมือวิกฤตซ้อนวิกฤต ประเมินสถานการณ์สร้างโอกาสลงทุน

'กอบศักดิ์' คาดเศรษฐกิจโลก - ไทยเผชิญภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตยาว 2 ปี กนง.จ่อขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 0.75% ดันดอกเบี้ยนโยบายไทยปีนี้แตะ 1.25% หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ระบุท่องเที่ยวไทยสัญญาณฟื้นชัดเจน มองราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ    

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ 'Economic Turbulence 2022 เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตต้องรับมืออย่างไร' ระหว่างการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าในปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงในหลายด้าน ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่แต่ละประเทศต้องเตรียมการรับมือ ได้แก่ วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤตราคาพลังงานและอาหารโลก ความปั่นป่วนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก 

ขณะที่การเร่งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อต้อสู้กับเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นจนเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ตามมาทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณการชะลอตัว โดยวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะชะลอตัวลงจากเดิมที่เคยขยายตัวได้ในระดับ 20% ในปี 2564 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวในส่วนของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงต้นปี 2566 จะเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเดือนละประมาณ 1 ล้านคน โดยรวมจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยในปีนี้ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวมเนื่องจากมีสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ทั้งนี้เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าภายในปีนี้จะมีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 3 ครั้ง รวมแล้วคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.75% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปัจจุบันเป็น 1.25% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และช่วยชะลอการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงจากระดับ 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาสู่ระดับ 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา 

“ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่แบงก์ชาติต้องจับตาดูเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อรวมในเดือนที่ผ่านมาของไทยอยู่ที่  7.66% แต่ในส่วนที่เป็นเงินเฟ้อทั่วไป (Core Inflation) ของไทยอยู่ที่ 2.58% ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนัก ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอีก 0.75% เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จากนั้นก็จะต้องดูปัจจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศแต่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะ” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว 

ในส่วนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดที่เคยขึ้นไปถึง 130 - 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ในระดับ 90 - 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากขณะนี้บางประเทศได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย รวมทั้งมีความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง การปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการเก็งกำไรลดลงไป ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงก็ส่งผลดีต่อระดับเงินเฟ้อที่ลดลง และช่วยให้การต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟดและธนาคารกลางทั่วโลกง่ายขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้   

กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพยังกล่าวด้วยว่าในช่วงเวลาที่มีวิกฤตซ้อนวิกฤตเกิดขึ้นในรอบนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 2 ปี และมีช่วงเวลาในการเผชิญกับวิกฤตรวมทั้งต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจแบ่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ช่วงแรกเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับฐานที่รุนแรง ช่วงที่สองคือการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ช่วงที่สามเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเกิดวิกฤตในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ และช่วงที่สี่เป็นช่วงสุดท้ายที่กำลังจะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจคือเป็นช่วงที่เฟด และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

สำหรับโอกาสของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ภาครัฐสามารถที่จะสนับสนุนการลงทุนในหลายด้านเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ - มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ ภาคเกษตรและอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมปุ๋ยเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นต้น 

ส่วนในแง่ของประชาชน หรือนักลงทุนบุคคลทั่วไปต้องติดตามข่าวสารและประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงของวิกฤต โดยหากสามารถประเมินได้อย่างถูกต้องก็สามารถที่จะเก็บออมเงินสดบางส่วนไว้เพื่อรอการลงทุนในรอบใหม่ภายหลังจากที่วิกฤตต่างๆ เริ่มคลี่คลายซึ่งการลงทุนในช่วงหลังวิกฤตถือว่าเป็นการลงทุนในช่วงเวลาที่ดีที่มีโอกาสสดใสในอนาคตรออยู่