Friday, 4 July 2025
เศรษฐกิจ

คาดปี 68 ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์ทะลุ 3 ล้าน หน้าใหม่วันละ 2,740 คน แบรนด์จับตา เงินโฆษณาพุ่ง

(4 ก.พ. 68) MI GROUP เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยจะแตะเกือบ 3 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนจากปีก่อน ซึ่งคิดเป็น 4.5% ของประชากรไทย สะท้อนถึงความนิยมอาชีพนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีคนไทยหันมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เฉลี่ยวันละเกือบ 2,740 คน หรือประมาณ 114 คนต่อชั่วโมง

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP เปิดเผยว่า สื่อดิจิทัลยังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและการตลาดในปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 38,938 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน และครองสัดส่วนถึง 45% ของเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดทั้งหมด 

ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลจะถูกใช้ไปกับ "อินฟลูเอนเซอร์" บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ในตลาดไทย ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้เพื่อเพิ่มยอดขายโดยตรงมากกว่าการสร้างแบรนด์ 

MI GROUP ประเมินว่าการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมาจากกลุ่ม Micro และ Nano อินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้จริง พ่อค้า แม่ค้า นักขาย รวมถึงมืออาชีพและสมัครเล่นที่ทำ Affiliate Marketing ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

นอกจากนี้ ตลาดไทยยังให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้งบประมาณในส่วนนี้มากเป็นพิเศษ โดยเม็ดเงินที่ลงไปในอินฟลูเอนเซอร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลทั้งหมด 

สรุปแล้ว วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของสื่อดิจิทัลที่ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อและการโฆษณา

‘อ.สมภพ พอดี’ โพสต์เฟซ!! อุดมศึกษาใน ‘ไทย-ไต้หวัน-สิงคโปร์’ เศรษฐกิจ รายได้ คุณภาพชีวิต อนาคต ต้องเริ่มจากการสร้างคนที่มีความรู้

(22 ก.พ. 68) ‘อ.สมภพ พอดี’ โพสต์ข้อความระบุว่า …

อุดมศึกษา ในไทย ไต้หวันและสิงคโปร์ และเศรษฐกิจ รายได้ คุณภาพชีวิต อนาคต

ไทย ประเทศขนาดกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ มีก๊าซธรรมชาติ มีประชากร 70 ล้านคน ปัจจุบันมีผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีต่อคนประมาณ $7,200 ไต้หวัน เกาะเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากรมากมาย ไม่มีนํ้ามัน ไม่มีก๊าซ มีแต่ผู้คน มีประชากร 23.4 ล้านคน ปัจจุบันมีผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีต่อคนประมาณ $33,000 หรือมากกว่าไทยประมาณ 5 เท่า

สิงคโปร์ เกาะขนาดจิ๋ว ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย นํ้าจืดยังมีไม่พอ ไม่มีนํ้ามัน ไม่มีก๊าซ มีแต่ผู้คน มีประชากร 6 ล้านคน ปัจจุบันมีผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีต่อคนประมาณ $85,000 หรือมากกว่าไทยประมาณ 12 เท่า

ปัจจุบัน นักเรียนในทั้ง 3 ประเทศเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ตามสาขาวิชาด้วยสัดส่วนต่อไปนี้
สิงคโปร์
1. ธุรกิจ การบัญชี การเงิน ประมาณ 26%
2. วิศวกรรม ประมาณ 23%
3. คอมพิวเตอร์และไอที ประมาณ 20% และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
4. วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ประมาณ 14%
5. สังคมศาสตร์ทุกสาขา ไม่รวมกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประมาณ 10%

ไต้หวัน
1. วิศวกรรม ประมาณ 28%
2. ธุรกิจ การบัญชี การเงิน ประมาณ 22%
3. คอมพิวเตอร์และไอที ประมาณ 20% และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
4. วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ประมาณ 16%
5. สังคมศาสตร์ทุกสาขา ไม่รวมกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประมาณ 7%

ไทย
1. สังคมศาสตร์ทุกสาขา ไม่รวมกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประมาณ 32%
2. ธุรกิจ การบัญชี การเงิน ประมาณ 20%
3. คอมพิวเตอร์และไอที ประมาณ 12% และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
4. วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ประมาณ 12%
5. วิศวกรรม ประมาณ 8%

สิงคโปร์
มีนศ.รัฐศาสตร์ปีหนึ่ง เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่าง NUS, NTU และ SMU ประมาณ 1,400 คนในแต่ละปี ประมาณ 80% จองนศ.เหล่านี้เป็นคนสิงคโปร์ ดังนั้นจึงมีนศ.สิงคโปร์เข้าเรียน รัฐศาสตร์ ประมาณปีละ 1,100 คน ถ้าสิงคโปร์มีประชากรเท่ากับ ไทย หรือ มากกว่าที่เป็นอยู่ 12 เท่า จะมีนศ.เข้าเรียน รัฐศาสตร์ ประมาณปีละ 13,200 คน

ไต้หวัน
มีนศ.รัฐศาสตร์ปีหนึ่ง เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่าง NTU, NCCU, NTNU, TU และอื่น ๆ ประมาณ 2,200 คนในแต่ละปี ถ้าไต้หวันมีประชากรเท่ากับ ไทย หรือ มากกว่าที่เป็นอยู่ 3 เท่า จะมีนศ.เข้าเรียน รัฐศาสตร์ ประมาณปีละ 6,600 คน

ตัวเลขทั้งหมดด้านบนเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน สังคมที่จะพัฒนาไปข้างหน้าทางเศรษฐกิจได้ สร้างรายได้ คุณภาพชีวิตที่ดี อนาคตที่ดีให้ผู้คนได้ จะต้องเริ่มจากการสร้างคนที่มีความรู้ที่นำไปใช้สร้างธุรกิจอุตสาหกรรม ความรู้ที่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้สูง สร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก ต้องไม่ปล่อยให้คนไม่มีความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือประโยชน์น้อย ไม่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ ตัวเลขโกหกไม่ได้

ไทย 
มีนศ.รัฐศาสตร์ปีหนึ่ง เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่าง จุฬา, ธรรมศาสตร์, เกษตร, มช., รามคำแหง และอื่นๆ ประมาณกี่คนในแต่ละปีก็ไม่รู้เพราะหาข้อมูลไม่ได้ เอไอสารพัดยี่ห้อก็ไม่รู้ รู้แค่ว่ามากเกินไปมาก มากเกินความจำเป็น เรียนแล้วอาจจะคลั่งอุดมการณ์โง่ๆ อย่างเช่น คนเท่ากัน คอมมี่คือพัฒนาการสูงสุดของประชาธิปไตย ฯ วิกลจริต หรือโง่จนไม่รู้ว่ามนุษย์มีแค่สองเพศคือหญิงกับชาย หรือไม่รู้ว่าไม่มีใครจ้างใครไปทำงานเพราะมีความรู้เรื่องทฤษฎีการเมือง เท่านั้น

เปิด 4 ประเด็นสำคัญ 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' สื่อสารตรงไปตรงมากับประชาชนสิงคโปร์ ยอมรับความจริง สร้างความมั่นใจ ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

(5 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของประเทศสิงคโปร์ ประกาศเตือนประชาชนผ่านคลิปวิดีโอบนยูทูบ ‘@Lawrence_Wong’ ระบุว่า “เราไม่สามารถคาดหวังได้อีกว่า กฎกติกาที่เคยปกป้องประเทศเล็กๆ อย่างเรา จะยังดำรงอยู่เหมือนเดิม”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ระบุเพิ่มว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความจริงอันโหดร้ายที่ประเทศมหาอำนาจจะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตน และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจหรือแรงกดดันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ…

“เราจะต้องเตรียมพร้อมทั้งทางจิตใจและการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท เราไม่สามารถรอให้ภัยมาถึงหน้าประตูบ้านแล้วค่อยตั้งรับ ความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องจริง และเดิมพันในครั้งนี้สูงมาก”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างรุนแรงในเวทีการค้าโลก โดยระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้สะท้อนว่า ยุคของโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยกฎเกณฑ์และการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังถูกแทนที่ด้วยโลกที่เต็มไปด้วย กำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอน”

เขายกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำในการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎ WTO (องค์การการค้าโลก) ว่า “ขณะนี้กลับกลายเป็นผู้นำในการบ่อนทำลายระบบนั้นด้วยการดำเนินนโยบายแบบทวิภาคีและตอบโต้เชิงภาษี สิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่ไม่ใช่การปฏิรูประบบ WTO แต่เป็นการละทิ้งระบบที่พวกเขาเองเคยสร้างขึ้น”

แม้สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีในระดับต่ำ ประมาณ 10% จากโครงสร้างใหม่ของสหรัฐฯ แต่นายหว่องเตือนว่า “ผลกระทบเชิงระบบจะลึกและกว้างกว่านั้นมาก โดยเฉพาะหากประเทศอื่น ๆ เลือกดำเนินรอยตามแนวทางเดียวกัน ประเทศเล็กอย่างเราเสี่ยงที่จะถูกบีบ ถูกมองข้าม และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบที่ไม่เอื้อให้กับผู้เล่นขนาดเล็ก”

นายกสิงคโปร์ เน้นย้ำ จุดแข็งของประเทศ คือ ความสามัคคีและเงินสำรอง แม้ภาพรวมของโลกตอนนี้จะมีความน่ากังวล แต่นายหว่องกล่าวย้ำว่า “สิงคโปร์ยังคงมี ‘ข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้าง’ ที่ทำให้ประเทศสามารถตั้งรับและปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่ง”

“เรามีเงินสำรองที่มั่นคง เรามีความเป็นเอกภาพภายในประเทศ และเรามีความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดในหลักการของเรา” เขากล่าว “เราจะยังคงเสริมสร้างขีดความสามารถของเรา และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน”

เขายังย้ำถึงความจำเป็นในการตระหนักรู้ต่อความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งในระดับการค้า การเมือง และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนมีสติ เตรียมพร้อม และไม่ประมาทต่อคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังซัดเข้ามา

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า…

“#ผู้นำสิงคโปร์ 🇸🇬 นายกฯ สิงคโปร์ #ไม่ชะล่าใจ ออกทีวี เน้นพูดอย่างจริงใจ พูดตรงจุดตรงใจในสิ่งที่ประชาชนกังวล/ต้องการความมั่นใจ (ไม่พูดเยิ่นเย้อ ไม่ใช้สำนวนลิเก ไม่บ้าประดิษฐ์คำ) สรุป 4 ประเด็น ตามนี้ค่ะ

1) ยอมรับปัญหา this troubled world โลกถูกปั่นป่วนไม่เหมือนเดิม กล้าพูดความจริงกับประชาชน #ไม่โลกสวย 

2) #ยอมรับความจริง เศรษฐกิจสิงคโปร์มีขนาดเล็ก small and open economy ยังไงก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก เสี่ยงสูงต่อปัจจัยภายนอก

3) #สร้างความมั่นใจ ในศักยภาพของสิงคโปร์ หากเกิดวิกฤต สิงคโปร์ก็ยังมี #ทุนสำรอง reserves มากพอ (มากติดอันดับ 10 ของโลก) ไว้ใช้ยามฉุกเฉินจำเป็น และจะ #สร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเหมือนกัน 

4) ขอให้เตรียมใจ be mentally prepared ขอให้มี resolute and united แล้วเราจะผ่าน #โลกที่เต็มไปด้วยปัญหา นี้ไปด้วยกัน 🇸🇬 #เน้นความสามัคคีแน่วแน่  ของคนในชาติ

คลิกฟังคลิปเต็ม นายกฯ Lawrence Wong ของสิงคโปร์ 🇸🇬 04.04.2025 https://youtu.be/A3hS93y7C0I?feature=shared

การยึดกิจการ ‘Glavprodukt’ ของรัสเซีย สู่หมุดหมายการจัดเสบียงในสงครามอย่างเพียงพอ

(21 เม.ย. 68) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซีย โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศยึดกิจการของบริษัท Glavprodukt «Главпродукт» ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยให้เหตุผลด้าน "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ" ในบริบทของสงครามยูเครนและการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศตะวันตก แม้ว่า Glavprodukt จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในรัสเซียและดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี แต่บริษัทถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลรัสเซียจึงอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของ "รัฐที่ไม่เป็นมิตร" (unfriendly states) ซึ่งผ่านการแก้ไขในช่วงหลังปี ค.ศ. 2022 เพื่อยึดกิจการและทรัพย์สินของต่างชาติที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้ Glavprodukt เป็นฐานการจัดหาเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าโดยเฉพาะในยูเครนตะวันออก การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่รูปแบบ “เศรษฐกิจสงคราม” ที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมการผลิตสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินของนักลงทุน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้นในระดับพหุภาคี

Glavprodukt «Главпродукт» เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปรายใหญ่ของรัสเซียก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยสืบทอดโรงงานและสายการผลิตจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางเดิมของโซเวียต บริษัทมีฐานการผลิตหลักอยู่ในกรุงมอสโกและแคว้นใกล้เคียง และได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรัสเซียและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียต โดย Glavprodukt มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อกระป๋อง (Stewed meat) «тушёнка»  นมข้นหวาน (Condensed milk) «сгущёнка» และอาหารประเภทซุป (Soups) อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) รวมถึงซีเรียล (cereals) ในช่วงทศวรรษที่ 2000 บริษัทเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศผ่านกองทุนที่มีความเชื่อมโยงกับนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการแทรกแซงการบริหารกิจการ

หลังการรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2022 และมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลุ่มธุรกิจอาหารรวมถึง Glavprodukt ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดหาเสบียงให้กับหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพรัสเซีย รัฐจึงเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2023 ที่มีการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจแห่งอธิปไตย” «суверенная экономика» ในปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศยึดกิจการของ Glavprodukt อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร"«недружественные государства»  

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การยึดกิจการของบริษัทเอกชนที่มีประวัติยาวนานในรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสงครามที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาสินค้าสำคัญสำหรับการเสริมสร้างเสบียงกองทัพรัสเซียในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่าน เช่น แดเนียล ฟรีดริช ลิสต์ (Daniel Friedrich List, 1841) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มองว่า “รัฐควรปกป้องเศรษฐกิจในยามวิกฤตเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” โดยเฉพาะมุมมองของเคนเนธ เอ็น. วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz, 1979) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดสัจนิยมใหม่ (Neorealism) ที่มองว่าความมั่นคงไม่อาจแยกออกจากเศรษฐกิจ — เศรษฐกิจที่ถูกควบคุมได้ คือ “อาวุธเชิงยุทธศาสตร์” ในทฤษฎี Neorealism ของวอลทซ์ รัฐถือเป็นผู้เล่นหลัก (primary actors) ในระบบระหว่างประเทศที่ไร้ศูนย์กลาง (anarchic structure) ซึ่งการอยู่รอด (survival) คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐทุกแห่ง นั่นหมายความว่า ทุกกลไกภายในรัฐต้องถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุน “อำนาจแห่งรัฐ” (power of the state) ในกรอบนี้เศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นระบบอิสระเชิงตลาดเท่านั้น แต่สามารถเป็น “เครื่องมือของอำนาจรัฐ” (instrument of state power) ได้ หากรัฐสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่รัสเซียเข้ายึดครองกิจการของ Glavprodukt ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกิจการเอกชน (และเคยมีการลงทุนหรือถือหุ้นโดยนักธุรกิจต่างชาติหรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ) ถือเป็นตัวอย่างของการ "ทำให้รัฐควบคุมห่วงโซ่อุปทานอาหารเชิงยุทธศาสตร์" อย่างสมบูรณ์ การยึดกิจการเช่น Glavprodukt เป็นหนึ่งในแนวทางการ “ระดมทรัพยากรพลเรือนเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม” หรือที่ในรัสเซียเรียกว่า “การวางแผนการระดมกำลังในยามสงคราม” «военное мобилизационное планирование» แนวโน้มของการทหารควบคุมพลเรือน (military-civilian fusion) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามยืดเยื้อที่รัฐต้องอาศัยทรัพยากรของภาคเอกชน เช่น โรงงานอาหาร, คลังสินค้า, ระบบขนส่งเพื่อหนุนภารกิจของกองทัพ ในขณะที่การควบคุมทรัพย์สินภาคเอกชนในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” กลายเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกและสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” ภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์รัฐนิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงกิจการอาหารรายใหญ่เข้าสู่การควบคุมโดยรัฐสะท้อนแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ “รัฐควบคุมยุทธศาสตร์หลัก” โดยเฉพาะในช่วงสงคราม โดยหลังการยึดครองมีรายงานว่า Glavprodukt อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ «Минобороны» หรืออาจอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกับกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ «ОПК» 
ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยมีระบบโรงงานอาหาร “รัฐวิสาหกิจ” ที่ผลิตอาหารเฉพาะสำหรับทหาร เช่น в/ч 83130  หรือจีนที่มีระบบ “บริษัทอาหารกึ่งทหาร” ภายใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ในขณะที่สหรัฐฯ การผลิต MRE (Meals Ready to Eat) มีบริษัทเอกชนเช่น Sopakco, Wornick Group แต่สัญญาผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ในยูเครนยูเครนมีการประสานงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อผลิตอาหารให้ทหารแนวหน้าโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

Glavprodukt มีสายการผลิตอาหารกระป๋องประเภทโปรตีน เช่น เนื้อวัวกระป๋อง, สตูว์, ซุป และอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) ซึ่งเหมาะสมกับระบบโลจิสติกส์ของกองทัพรัสเซียที่ต้องการอาหารคงทนและสะดวกในสนามรบ โดยมีการปรับสูตรหรือบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานทหาร เช่น บรรจุในภาชนะทนแรงกระแทกหรือพร้อมเปิดในภาคสนาม โรงงานของ Glavprodukt กลายเป็นฐานผลิตเสบียงหลักให้กับกองทัพรัสเซียในแนวรบยูเครน โดยมีรายงานว่ามีคำสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อสำรองเป็นคลังยุทธปัจจัย (mobilization reserve)

การยึด Glavprodukt จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) จากการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปสู่การเสริมสร้างเสบียงทางทหาร
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมกิจการของ Glavprodukt บริษัทที่เดิมเน้นการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปกลับต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ผลิตภัณฑ์ของ Glavprodukt เช่น stewed meat «тушёнка»  และซุปกระป๋อง «консервы» ซึ่งเป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานได้กลายเป็นเสบียงหลักสำหรับทหารในพื้นที่สงคราม การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปสู่การผลิตเสบียงทางทหารเป็นการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในสงคราม

2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเอง
การเข้ามาควบคุมกิจการของ Glavprodukt โดยรัฐบาลรัสเซียไม่เพียงแค่การสนับสนุนการผลิตเสบียงสำหรับกองทัพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารและเสบียงทหารในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศให้เป็นระบบภายในประเทศ โดย Glavprodukt กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของเสบียงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก

3) การป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร
การยึด Glavprodukt ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญสำหรับภาคทหารและภาคการผลิตทั่วไป การลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทำให้ Glavprodukt สามารถพัฒนาการผลิตอาหารภายในประเทศได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพา
ซัพพลายเออร์จากประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

4) การควบคุมเศรษฐกิจสงครามและการจัดหาทรัพยากร
การยึด Glavprodukt ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงสงครามที่รัฐบาลรัสเซียพยายามจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สำคัญที่สุด เช่น กองทัพและการสนับสนุนการดำเนินการทางทหาร โดย Glavprodukt ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตเสบียงทหาร จึงได้รับความสำคัญสูงสุดในแผนการจัดหาทรัพยากรของรัฐ

5) มุมมองในระดับภูมิรัฐศาสตร์
การยึดกิจการของ Glavprodukt ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ท่ามกลางการปะทะกับประเทศตะวันตก การควบคุมกิจการสำคัญ เช่น Glavprodukt ที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับการทำสงคราม กลายเป็นการแสดงออกถึงการสร้างอำนาจของรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการคว่ำบาตรจากภายนอก

ผลกระทบของการยึดกิจการของ Glavprodukt
1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ การเข้ายึดกิจการ Glavprodukt ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงให้กับกองทัพ แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ได้แก่ 1) การควบรวมทรัพยากร การที่รัฐเข้ายึดโรงงานอาหารรายใหญ่ทำให้เกิดการควบคุมห่วงโซ่อุปทานในระดับสูง ตั้งแต่วัตถุดิบ (เนื้อสัตว์ พืชผัก) ไปจนถึงกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า 
2) กระทบการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมอาหารอาจเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหนือกว่า 3) อุปสงค์พิเศษในช่วงสงครามเมื่ออุปสงค์สำหรับการจัดหาอาหารกองทัพพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารภาคพลเรือนอาจถูกเบียด ส่งผลต่อราคาสินค้าและความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน

4) ผลกระทบต่อการจัดการกับบริษัทต่างชาติในบริบทสงคราม Glavprodukt เคยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอเมริกันหรือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก การยึดครองกิจการจึงสะท้อนกลยุทธ์ของรัสเซียในการจัดการ “ทรัพย์สินศัตรู” หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่เป็นมิตร” «недружественные активы» รัสเซียได้วางหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน (เช่น «Указ Президента РФ №302/2023»)   รัฐสามารถเข้ายึดกิจการของบริษัทต่างชาติที่ “ถอนตัว” จากรัสเซีย หรือที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติ”นอกจากนี้รัสเซียยังมีการตอบโต้การคว่ำบาตรซึ่งเป็นการ “ตอบโต้กลับ” ทางเศรษฐกิจต่อการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยใช้วิธี mirror sanctions หรือการยึดทรัพย์สินบริษัทต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนในรัสเซียยิ่งตึงเครียด นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในรัสเซียอาจต้องเลือก “ทำงานร่วมกับรัฐ” หรือยอม “ถอนตัวโดยเสียทรัพย์สิน”

5) เป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้รัฐเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจในภาวะสงคราม
การยึดกิจการอาหารกระป๋องอย่าง Glavprodukt ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่เป็นการส่ง “สัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์” อย่างชัดเจนไปยังตะวันตก แสดงให้เห็นถึงรัฐเป็นเครื่องมือสงครามทางเศรษฐกิจ (Economic Warfare) โดยรัสเซียใช้รัฐเป็นกลไกควบคุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ ตอบโต้การคว่ำบาตร และสร้าง “เศรษฐกิจแบบปิดล้อม” (Autarky) เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐ โดยรัสเซียมีแนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ยึดกิจการต่างชาติและเปลี่ยนการควบคุมไปสู่รัฐ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศแทนสินค้าเทคโนโลยีตะวันตก และ 3) ใช้ระบบการเงินทางเลือก เช่น การซื้อขายพลังงานด้วยรูเบิลหรือเงินหยวน 
การยึดบริษัท Glavprodukt ยังบ่งชี้ว่า รัสเซียพร้อม “ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ” เช่นเดียวกับที่ตะวันตกใช้ระบบการเงินและการค้าเป็นเครื่องมือควบคุมนอกจากนี้ยังการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่โดยรัสเซียอาจเชื่อมต่อ Glavprodukt กับตลาดในกลุ่ม BRICS หรือ SCO เช่น ส่งอาหารให้จีน อิหร่าน หรือประเทศแอฟริกาเพื่อลดการพึ่งพาตะวันตก

บทสรุป
กรณีการเข้ายึดกิจการบริษัท Glavprodukt โดยรัฐรัสเซียมิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในเชิงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ในบริบทของสงครามยืดเยื้อกับตะวันตก ในระดับภายในการผนวกกิจการของภาคเอกชนเข้าสู่โครงสร้างของรัฐช่วยให้รัสเซียสามารถควบคุมระบบเสบียงของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อตลาดภาคพลเรือน ทั้งในแง่การแข่งขันและเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ในระดับระหว่างประเทศการเข้ายึด Glavprodukt เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตอบโต้ตะวันตกผ่านการใช้ “เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นการพึ่งตนเอง การตัดขาดจากทุนต่างชาติ และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ตะวันตก กล่าวโดยสรุป กรณีของ Glavprodukt ชี้ให้เห็นว่า “อาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยสี่สำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ในการต่อรอง สู้รบ และรักษาอธิปไตยในยุคที่สงครามถูกขยายออกจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจและการทูต

‘กอบศักดิ์’ ชี้ บริโภค – อุตสาหกรรมไทยถดถอย แนะเร่งแก้หนี้ครัวเรือน - ผลัดใบอุตสาหกรรมใหม่

 ‘ดร.กอบ’ ชี้ 2 จุดอ่อนหลักฉุดเศรษฐกิจไทย ทั้งการบริโภค - อุตสาหกรรมถดถอย เครื่องยนต์เศรษฐกิจเริ่มดับ แนะเร่งแก้หนี้ครัวเรือน-ผลัดใบอุตสาหกรรมใหม่

วันที่ (20 พ.ต. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก กอบศักดิ์ ภูตระกูล ระบุว่า

ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย !!!

เมื่อวานนี้ทางสภาพัฒน์ได้ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัว +3.1% ออกมาได้ดีกว่าที่หลายคนคิด จากการเร่งส่งออก ที่ช่วยให้การส่งออกสินค้า +13.8% ซึ่งจะดีต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2

โดยผู้ประกอบการสหรัฐคงพยายามเร่งนำเข้าก่อนที่จะหมด 90 วัน มีของไว้ก่อน ดีกว่า แม้ว่าจะถูก Tariffs 10% เพราะในอนาคตไม่รู้ว่าจะจบกันอย่างไร

ในข้อมูล GDP ของสภาพัฒน์ที่แถลงออกมา มีตัวเลข 2 ตัวที่น่าจับตามองที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยไปในช่วงหลายปีข้างหน้า

1. การบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัวได้เพียง +2.6% ซึ่งน่ากังวลใจ เพราะปกติแล้ว การบริโภคภาคเอกชนจะมีขนาดประมาณ 55% ของเศรษฐกิจ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะคึกคักหรือไม่ ก็จะขึ้นกับว่า คนใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งตัวเลขนี้ควรจะขยายตัวได้ 5-6% แต่ช่วง 4 ไตรมาสสุดท้าย ขยายตัวได้เพียงประมาณ 3% กว่าๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยโต และอีกส่วนคงมาจากการที่เราเป็นหนี้กันมาก มีหนี้ครัวเรือนสูง มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

2. ตัวเลขที่ยิ่งน่ากังวลใจไปกว่านั้น ก็คือ การผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคนี้ คือ ภาคที่สร้างรายได้หลักของประเทศ ล่าสุดมีสัดส่วนประมาณ 28% ของ GDP ในช่วงที่เราขยายตัวดีๆ ภาคนี้จะเป็นหัวหอก เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักเศรษฐกิจไทย ช่วงปี 2000-2007 ขยายตัวที่ +9.5% ช่วงปี 2010-2018 ขยายตัวที่ +4.1% แต่ 5 ไตรมาสสุดท้าย ขยายตัวเฉลี่ยเพียง +0.5%

เครื่องยนต์ดับ !!!!
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังตกรุ่น โรงงานกำลังปิด หรือ ลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจไทยคึกคักอีกรอบ นี่คือโจทย์สำคัญที่เราต้องแก้ให้ได้

แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ สร้างหรือผลัดใบภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะมาเป็นรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศ ทดแทนการปิดตัวของโรงงานแบบเดิม ๆ

ถ้าเราแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็ยากจะกลับไปโตอย่างที่เราหวังกัน ถูกเพื่อนบ้านแซง หรือ ทิ้งไว้ข้างหลัง โชคดีช่วงนี้ คลื่นการลงทุนรอบใหม่ในอาเซียนกำลังมา หลายๆ ประเทศกำลังหลั่งไหลเข้ามาลงทุน หลังจากทิ้งเราไปหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง

ถ้าหากว่า เราได้ส่วนแบ่งที่พอสมควร อีก 3-5 ปีให้หลัง เราจะมีภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่จะออกดอกออกผลอีกครั้งเป็นเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทยไปอีก 15-20 ปี

ขอเป็นกำลังใจให้กับ BOI ที่พยายามต่อสู้ ช่วงชิงโอกาสให้ประเทศไทย ในช่วงเช่นนี้ หาก BOI มีงบ มีคนเพิ่มเติมอนาคตของไทยก็จะสดใสมากขึ้นครับ

ฉะเชิงเทรา-'รองบ่วง' ประธานเปิดงาน การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ 'เศรษฐกิจ EEC กับ  ทรัมป์ อเมริกันเฟิร์ส'

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.68)  #ดร.รัฐสภา นพเกตุ #รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงาน การบรรยายพิเศษในหัวข้อ 'เศรษฐกิจ EEC กับ ทรัมป์ อเมริกันเฟิร์ส' ภายใต้สถาบันสร้างชาติ (NBI) จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม ให้กับผู้บริหารในภาครัฐ ภาคเอกชน

ณ หอประชุมสมภพภูติโยธิน โรงไฟฟ้าบางปะกง ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยการบรรยายในครั้งนี้ มี #ศาสตราจารย์ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ #ประธานสภาการสร้างชาติและประธานหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อสรรสร้างชาติภาคตะวันออก EEC เป็นผู้บรรยายพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเข้าร่วมรับฟัง และองค์กร เพื่อนำองค์ความรู้ปรับใช้กับการพัฒนางานในองค์กร จังหวัด และภูมิภาคตะวันออก ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top