Friday, 4 July 2025
เศรษฐกิจ

ส่อง 40 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ปี 2023

ผลรายงานจาก IMF ระบุว่า สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2023 ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี 

สำหรับประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 27 เป็นชาติที่ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ที่อยู่ในลำดับที่ 16 

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! Q2 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว' เดินหน้าเต็มตัว ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้น คลายทุกข์คนไทย ต่างชาติสนใจแห่ลงทุน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว แรงผลักเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาส 2' เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้...

การเติบโตที่น่าผิดหวังของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปี 2567 ทำให้หลายสำนักต้องปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาเหลือไม่ถึง 3% ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนในประเทศเป็นอย่างมาก

แต่ท่ามกลางความหดหู่และความมืดมัว เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปรากฏขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลจะแถลงความชัดเจนของมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ซึ่งถือเป็นมาตรการ Flagship ของรัฐบาลนี้ 

หลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายค้านมัวหลงประเด็นอยู่ที่เรื่องแหล่งที่มาของเงิน แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน แหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็จะต้องมาจากเงินกู้ทั้งนั้น เพราะขณะนี้เรามีงบประมาณขาดดุล เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงต้องมาจากการกู้เงินเท่านั้น หากไม่ออกกฎหมายให้อำนาจกู้เงิน ก็อาจออกเป็นงบประมาณกลางปี ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเด็นอยู่ที่จังหวะเวลา หากออกมาได้เร็วก็จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องแหล่งเงิน ระยะต่อไปรัฐบาลต้องปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการพึ่งพาการกู้เงิน แต่ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนกล้าแตะประเด็นนี้เลย

พร้อมกันในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเชิงนโยบาย (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยเสริมมาตรการทางการคลังที่กล่าวข้างต้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี แต่จะให้ดีกว่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องออกมาขอโทษประชาชนที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเดือดร้อนจากความผิดพลาดของตนเอง

แผนงาน Ignite Tourism Thailand ของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เริ่มปรากฏผลชัดเจนขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรก และคงจะคึกคักไปตลอดทั้งปี รัฐบาลไทยลงทุนด้านการท่องเที่ยวไปมากในรูปของรายได้จากค่าธรรมเนียมวีซ่าที่สูญเสียไป รายได้ภาษีสุราที่สูญเสียจากการลดอัตราจัดเก็บภาษีสุรา ดังนั้นต้องดูแลให้นโยบายการท่องเที่ยวเกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างรายได้กลับคืนคลัง

เชื่อมั่นว่าด้วยการผสมผสานนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายการท่องเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ปี 2567 นี้จะเป็นปีทองของการลงทุนไทยอย่างแน่นอน

‘จีน’ อวดจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2024 โต 5.3% สะท้อนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง-เปี่ยมด้วยศักยภาพ

(29 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2024 ชี้ถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการฟื้นตัวของจีน ตลอดจนการนำเสถียรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาสู่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่าช่วงสามเดือนแรกของปี จีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของของจีนขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า 

ในการประชุมโต๊ะกลมทางเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน (China Economic Roundtable) รอบที่ 4 ซึ่งเป็นเวทีเสวนาที่จัดโดยสำนักข่าวซินหัว วิทยากรหลายท่านกล่าวว่าตัวเลขข้างต้นถือเป็น ‘การเริ่มต้นที่ดี’ พร้อมกล่าวว่าจีนเผชิญหน้ากับกระแสลมต้านทางเศรษฐกิจ ด้วยการผสานนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรากฐานที่มั่นคงแก่เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ดีและมั่นคงในปี 2024

รายงานจากสำนักงานฯ ระบุว่า การเติบโตของจีดีพีจีนในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการเติบโตโดยรวมที่ร้อยละ 5.2 ของปี 2023 และสูงกว่าเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ราวร้อยละ 5 และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส เศรษฐกิจจีนในช่วงสามเดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 ทั้งยังเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่เจ็ด

นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดอื่น ๆ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปริมาณการค้าต่างประเทศ และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ล้วนชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นดัชนีสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมสำหรับภาคการผลิตและบริการ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานการปรับปรุงดัชนีดังกล่าว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการผลิตกลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับแต่เดือนกันยายน บ่งชี้ถึงการกลับมาขยายตัวของภาคส่วนนี้

ตัวเลขสถิติของไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสูงและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม 

จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ภาคส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง ในไตรมาสแรกนี้ ภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของจีนมีปริมาณการผลิตเติบโตร้อยละ 7.5 เร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน ยานอวกาศและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ขณะที่การผลิตหุ่นยนต์บริการและยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 26.7 และ 29.2 ตามลำดับ

เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของจีนกล่าวไว้ว่าจะเป็นไปในลักษณะคล้ายลูกคลื่น เพราะจะมีการพลิกผัน เลี้ยวลด และยังไม่นิ่ง จีนจึงใช้นโยบายที่หลากหลายเพื่อมาหักล้างแรงกดดันขาลงและรับมือกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง

จีนให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไปในปีนี้ และได้ประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการเติบโตหลายประการ อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาว (Ultra-Long) และมีการจัดสรรเงินทุนเบื้องต้น 1 ล้านล้านหยวน ในปี 2024

เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค จีนเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการส่งเสริมการอัปเกรดอุปกรณ์ขนาดใหญ่และการนำสินค้าอุปโภคบริโภคเก่ามาแลกเป็นส่วนลดหรือแลกเป็นของใหม่

นอกจากนี้ จีนตั้งเป้าว่าปริมาณการลงทุนด้านอุปกรณ์ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง การขนส่ง การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการให้บริการทางการแพทย์ จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2027 เมื่อเทียบกับปี 2023

เพื่อผลักดันการเปิดกว้างระดับสูงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น จีนประกาศใช้มาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 24 ข้อ เพื่อดึงดูดทุนต่างประเทศ และให้คำมั่นว่าจะปรับลดรายการกิจกรรมการลงทุนและกิจการต้องห้าม (Negative List) สำหรับบริษัทต่างชาติ รวมถึงเริ่มโครงการนำร่องต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการเข้าสู่จีนของนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างชาติ

จีนยังประกาศเพิ่มแรงจูงใจเชิงนโยบายอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนหลายธุรกิจ เช่น เศรษฐกิจสูงวัย สินเชื่อผู้บริโภค การจ้างงาน การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก

‘รมว.ปุ้ย’ จ่อยกข้อเสนอเอกชนกลางตอนล่าง 2 เข้าครม.สัญจร ผลักดันสร้างเศรษฐกิจแบบครบวงจร-เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล

(13 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (จังหวัดเพชรบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ใน 4 จุด ดังนี้...

จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการตัดต่อภาพ/คลิป การทำไข่เค็ม การทำยาหม่องน้ำ และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรเค้กกล้วยหอมนึ่ง ซาลาเปานึ่ง สบู่น้ำผึ้งหัวไชเท้า และการตัดต่อภาพ มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ในจุดที่ 3 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ครั้งนี้ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ…

1) การพัฒนาเศรษฐกิจแบบครบวงจรจากฐานการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยวและการเกษตร สู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
2) การเสริมสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยด้วยต้นทุนทางสังคม ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา
3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
4.การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสู่ เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล ด้วยทุนทางศิลปะวัฒนธรรม การท่องเที่ยง บนฐานทรัพยากร อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และศักยภาพของพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า “สำหรับกรอบการตรวจราชการ ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งภูมิภาค สู่ทักษะอาชีพที่ยั่งยืน สะท้อนให้เห็นผ่าน 4 จุดที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ พบว่า มีการผสมผสานศักยภาพด้านการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว และการเกษตรอย่างลงตัว นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมพลังขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทั้ง 4 จุด เปรียบเสมือนเวทีแห่งการฝึกฝน ทักษะอาชีพที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการทำไข่เค็ม เค้กกล้วยหอม ซาลาเปา สบู่สมุนไพร การตัดต่อภาพ/คลิป มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 1,200 คน เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ก้าวสู่ความสำเร็จ” 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ครั้งนี้ ยังได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม มี 2 โครงการ คือ 1) โครงการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ให้
กลุ่มจังหวัด ‘เพชรสมุทรคีรี’ เป็นเมืองแห่งอาหาร (Gastronomy) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี 2) โครงการส่งเสริมภาคการผลิตที่ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจกโดยการขอรับรองฉลากคาร์บอน 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญตามข้อเสนอของ กรอ. จังหวัดเพชรบุรี อีก 3 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริม SMEs ไทยให้มีการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การผลักดันการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอาหารด้วยนวัตกรรม เพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (Agro-Industry) และ 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดเพชรบุรี เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หอการค้าต่างชาติฯ ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรงวันละ 400 ชี้!! ต้องเพิ่มทักษะคนก่อน หากยังขาดมีแต่จะฉุดจีดีพีไทยลงถึง 20%

(17 พ.ค. 67) BTimes เผย หอการค้าต่างประเทศในไทยแสดงจุดยืนค้านขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท หลังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรง 400 ต้องเสริมทักษะ

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยว่า ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยมีเนื้อหาในเอกสารว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้...

เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก การเพิ่มผลิตภาพในบางบริษัทที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า 

ขณะเดียวกัน นอกจากขนาดแล้ว ภูมิภาคและประเภทของอุตสาหกรรมยังอาจมีผลต่อความสามารถขององค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการทำงาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับ JFCCT มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

2. ในการจะทำให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นนโยบายหลัก จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ภาคธุรกิจ ต้องนำมาตรการกำกับดูแลและมาตรการบังคับมาใช้ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านผลิตภาพ หรือ Productivity Commission

3. ต้องเสริมสร้างทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิค และนวัตกรรม โดยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ให้ทุนหรือเงินอุดหนุนระดับสูง เพื่อนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้

4. การพัฒนาแรงงาน (workforce development) จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติได้อย่างเสรี 

5. การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะช่วยยกระดับทักษะของแรงงานในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ แนะนำให้ไทยปฏิรูประบบการอนุญาตทำงานและการให้วีซ่าแก่คนทำงานต่างชาติด้วย รวมทั้งการปรับปรุง LTR ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

6. ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

'คนไทยในสวีเดน' เผย!! 'เศรษฐกิจเริ่มแย่-ของแพง-บ.ล้มละลายเพียบ' สวนทางภาพลักษณ์ 'ใช้ชีวิต-ใช้จ่าย' สุขสบายในสายตาชาวโลก

ไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ 'New Story' โดยคุณนิวคนไทยในสวีเดน ได้นำเสนอเนื้อหาในประเด็น 'สวีเดนเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก' ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้...

ตอนนี้ประเทศสวีเดนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจแล้ว หลาย ๆ บริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวกับงานรับเหมาก่อสร้าง มีการแจ้งล้มละลายกว่า 50 บริษัทจากทั่วทั้งประเทศแล้ว และก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นอีก

ส่วนสาเหตุ มาจากค่าเงิน-การเงินสะสม ปัญหาที่กระทบมาตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา และก็สงครามด้วย ซึ่งเหล่านี้กระทบมาสู่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าต่าง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้คนในสวีเดนก็ตกงานกันเยอะมาก ตอนนี้ถึงขั้นหลายจุดมีการรอต่อคิวในการสมัครงานกันเลย โดยสวีเดนจะมีสํานักงานให้เราไปลงสมัครงานได้ จึงทำให้เห็นการต่อแถวยาวของผู้ว่างงานที่ไปสมัครงานทิ้งไว้ งานเริ่มหายากมากแล้ว

นอกจากนี้ หลายคนที่เคยกู้เงินซื้อบ้านไว้ ก็เอาบ้านเข้าไปวางประเมินราคา เพื่อกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย หนักเข้าบางรายก็ยอมให้ธนาคารยึดไปเลย เพราะสู้ราคาดอกเบี้ยไม่ไหว

ภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กำลังกระทบกับกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้ขั้นต่ำในสวีเดน ซึ่งเป็นกลุ่มจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ทำธุรกิจก็ได้รับผลกระทบในแง่ของการล้มละลายหรือยอมถูกแบล็กลิสต์

แน่นอนว่า ภาพโดยรวม เหมือนทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ ยังดูชิล ๆ สามารถออกไปข้างนอก ไปดื่ม ไปเที่ยว ไปกินได้ แต่ว่าลึก ๆ แล้ว ทุกคนเริ่มรับรู้ถึงภัยเงียบทางเศรษฐกิจ 

สังเกตได้จากการใช้เงินรูดบัตรเครดิต ซึ่งดิฉันเอง ทํางานเกี่ยวกับตรงนี้โดยตรง จึงพอเห็นพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต (การใช้จ่าย-การจ่ายหนี้) ที่ดูแล้วมีผลกระทบต่อผู้คนค่อนข้างที่จะเยอะมาก

อย่างในส่วนของบริษัทที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับงานก่อสร้าง ก็พบว่ามีการแจ้งล้มละลายเข้ามาเยอะมากและบางรายก็เอาสินค้าที่ตัวเองมีอยู่ไปขายประมูลในราคาถูก เพียงเพื่อต้องการที่จะโละสต็อกแล้วเงินมาใช้หนี้

ทําไมในส่วนนี้ดิฉันถึงรู้ เพราะไม่นานมานี้ที่บ้านกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงจากผลกระทบที่มีหิมะละลาย แล้วพนักงานเขตมาเกลี่ยหิมะไม่ดี จนทำให้เกิดน้ำที่ละลายจากหิมะไหลเข้ามาบ้าน จนต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย แต่ดีตรงที่ว่าประกันของเค้ารับผิดชอบทั้งหมด แต่บางส่วนเราก็อยากจัดการเอง จึงไปหาซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่จะมาซ่อมแซม พอไปข้อมูลก็พบบริษัทที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับก่อสร้างแจ้งล้มละลายและขายประมูลเยอะมากขายแบบในราคาถูกมาก แล้วพอเราไปซื้อมา ก็ได้ราคาถูกแบบครึ่งต่อครึ่งจริง ๆ

จุดนี้จึงทำให้เริ่มรู้แล้วว่า ภัยเงียบทางเศรษฐกิจที่สวีเดนเริ่มก่อตัวแล้ว

ก็อยากจะเตือนคนที่มาทำงานหรือใช้ชีวิตในสวีเดน ถ้ามีงานอยู่ ต้องอดทน อย่าพยายามออกจากงาน พยายามอย่าเลือกงาน ถ้ามีงานไหนเข้ามา ก็รับทําไว้ก่อน เพราะถ้าตกงานตอนนี้ จะหางานยากมาก เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะเลือกคนที่คุณสมบัติพร้อมที่สุดจริง ๆ

เช่นเดียวกับสิ่งของ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ได้ซื้อ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็อย่าเปลี่ยน เช่น รถยนต์ ส่วนเงินควรใช้เท่าที่มี และต้องเก็บเงินออมไว้ให้มาก เพราะภัยเงียบเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะมีออกมาเรื่อย ๆ ผ่านราคาสินค้าที่จะแพงมากขึ้นกว่านี้

เพราะเราต้องยอมรับไว้เลยว่า ความสมดุลทางเศรษฐกิจมันเริ่มหาย บางคนมีเงินไม่ยอมจ่าย เลือกเก็บเพราะกังวลในอนาคต ทำให้ความสมดุลของการเงินในเชิงเศรษฐกิจการเงินเริ่มขาดความสมดุล ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ไม่จำเป็นก็จะไม่จ้างพนักงาน เป็นต้น

เชื่อว่าภาพที่เกิดขึ้นในสวีเดนตอนนี้ ก็คงคล้าย ๆ กับที่เมืองไทย อย่าเพิ่งใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินไป มีรายได้ก็เก็บไว้ โดยเฉพาะกับคนไทยที่นี่ อย่าถึงกับส่งเงินกลับบ้านจนหมด เพราะเกิดเราล้มอยู่ที่นี่ สุดท้ายทางบ้านก็จะเดือดร้อนล้มตามไปด้วย ทำตัวเราให้แข็งแรงก่อน ใช้จ่ายอย่างประหยัดแล้วหมั่นเก็บเงินเก็บทองไว้เพื่ออนาคต

ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยในสวีเดนทุกท่าน

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ฟัน!! ศก.ไทย ปี 67 พ้นจุดต่ำสุดแล้ว คาด!! ‘งบรัฐฯ-ท่องเที่ยว-ส่งออก’ ดัน ศก. ครึ่งปีหลังขยายตัว

(21 พ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘BTimes’ ได้โพสต์ข้อความ “ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว เศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%” พร้อมระบุเนื้อหาเพิ่มเติมว่า…

ไม่มีแย่! กสิกรไทยฟันธงเศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว เปิด 3 ปัจจัยดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง แต่ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.1% เมื่อเทียบช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยแม้ว่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ถือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวลงอย่างมากเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าถึงเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่อง

ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าจากผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อนหน้าเนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งผลให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้า 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มทยอยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากทางภาครัฐที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ที่ 36 ล้านคน ขณะที่แม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่เนื่องจากผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมิน โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.6% จากปัจจัยดังต่อไปนี้ การลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด จากตัวเลขในไตรมาส 1/2567 ที่หดตัวลึกกว่าคาด แม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่เร่งตัวมากพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาส 1/2567 ได้

การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งการส่งออกไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.0% เป็น 1.5% ด้านภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน

ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 1/2567 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรบางส่วนในไตรมาส 2/2567 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้

ติดตามผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจมีผลต่อไปยังการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐไปบางส่วนแล้ว

'ผู้ว่าแบงก์ชาติไทย' จับมือ 'แบงก์ชาติจีน' เซ็น MOU ลดพึ่งดอลลาร์ฯ ส่งเสริมทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น

(23 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารกลางทั้งจีนและไทยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น 

สอดคลัองกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์การเดินทางไปของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ไปยังประเทศจีน ระบุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ได้พบปะกับ นายพาน กงเชิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนผ่านมานั้น สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ได้รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงท่าทีในการหาทางออกที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลดการพึ่งพิงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างกันด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศจีน พยายามผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย, อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น

‘เศรษฐกิจสิงคโปร์’ Q1 ขยายตัว ร้อยละ 2.7 หลังรับอานิสงส์ ‘สหรัฐฯ-จีน’ ทำให้แข็งแกร่ง

(23 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์รายงานผลสำรวจทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ และสูงกว่าการเติบโตร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้มีแรงผลักดันหลักจากภาคการเงินและประกันภัย การขนส่งและจัดเก็บ และการค้าส่ง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดการณ์ของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอกที่แข็งแกร่งแก่สิงคโปร์

หลายนโยบายสนับสนุนของจีนมีแนวโน้มเพิ่มพูนการลงทุนทางการผลิต ขยับขยายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่วนทิศทางการเติบโตของสหรัฐฯ พัฒนาดีขึ้นเล็กน้อยในด้านความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและการลงทุนที่นำโดยปัญญาประดิษฐ์

หากพิจารณาจากแนวโน้มข้างต้น ภาคการผลิตและการค้าของสิงคโปร์จะเติบโตเพิ่มขึ้นในปีนี้ และภาคการบิน และการท่องเที่ยว จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ โดยกระทรวงฯ ยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 1-3 ตามสภาพการณ์ภายในประเทศและภายนอก

ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top