Sunday, 28 April 2024
เศรษฐกิจ

‘ฮ่องกง’ เดินหน้าส่งเสริม ‘เศรษฐกิจงานอีเวนต์ขนาดใหญ่’ หวังดึงดูดใจผู้มาเยือน พร้อมเปลี่ยนชื่อเสียงสู่ความเจริญ

(26 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘จอห์น ลี’ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน แสดงความหวังจะส่งเสริม ‘เศรษฐกิจงานอีเวนต์ขนาดใหญ่’ (mega-event economy) เพื่อดึงดูดผู้คนมาเยือนฮ่องกงเพิ่มขึ้น และแปรเปลี่ยนชื่อเสียงเป็นความเจริญรุ่งเรือง

โดย จอห์น ลี กล่าวระหว่างการถาม-ตอบ ณ การประชุมสภานิติบัญญัติ (LegCo) ของฮ่องกงว่าตั้งแต่มีการกลับมาเดินทางตามปกติอย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปีก่อน ฮ่องกงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่หลายงาน ครอบคลุมการประชุมระหว่างประเทศ นิทรรศการศิลปะ การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมเพื่อความบันเทิง

ซึ่งการจัดงานอีเวนต์เหล่านี้เพิ่มความน่าดึงดูดใจและโอกาสทางธุรกิจของฮ่องกง ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม อาหาร และการค้าปลีก โดยผู้มาเยือนทุก 1.5 ล้านคน มีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจท้องถิ่นราว 0.1 จุด

รัฐบาลฮ่องกงตั้งเป้าหมายขยาย ‘ส่วนแบ่ง’ เพื่อรับรองว่าทุกคนจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ดีขึ้น โดยมีการวางแผนฟื้นฟูเขตวานจื่อ (Wan Chai) บูรณะอาคารบางส่วนของรัฐบาลเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ขยายศูนย์ประชุมและนิทรรศการเอเชียเวิลด์-เอ็กซ์โป ซึ่งทั้งหมดจะเพิ่มความจุสถานที่ของฮ่องกงราวร้อยละ 40

'อลงกรณ์' ลุยแดนมังกรดึงจีนลงทุน10อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตหวังเป็นเครื่องยนต์ (new growth engine) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่1และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมBRI(Belt and Road Innitiative)industrial investment International summit forum 2024ที่เซินเจิ้นโดยกล่าวว่า โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงทุกมิติอย่างรวดเร็วมีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม เราต้องออกแบบอนาคตและนวัตกรรม(Innovating the Future)

การลงทุนใหม่ๆ ประการสำคัญคือการมีหุ้นส่วน(partnership)ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ขอให้เชื่อมั่นว่าโอกาสมีอยู่ทุกหนแห่ง(Possibility is everywhere) นายอลงกรณ์ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนทางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวตลอด49ปีของความสัมพันธ์ทางการฑูตทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจเปิดกว้างและเติบโตต่อเนื่องแม้จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆแต่ก็สามารถฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้จนประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนอันดับ1ของประเทศไทยรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีนก็มาไทยมากที่สุดโดยเฉพาะ10ปีแห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนและความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคRCEPล่าสุดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วน(partnership)บนผลประโยชน์และความสำเร็จร่วมกัน

“อุตสาหกรรมใหม่คือโอกาสใหม่ๆของทุกประเทศของทุกบริษัทและนักลงทุนทุกคนจึงขอเชิญชวนมาลงทุนทั้งในตลาดทุน(Capital Investment)และตลาดFDI(Foreign Direct Investment)ในประเทศไทยโดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(EEC)และเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาครวมทั้งอุตสาหกรรมใหม่ (first S-Curveและ New S-Curve) 10 สาขาซึ่งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษของรัฐบาลไทยภายใต้BCGโมเดลและเป้าหมายลดโลกร้อนของการประชุมCOP28ได้แก่

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)เช่นยานยนต์ไฟฟ้า
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)  
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)  
5) อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
และอุตสาหกรรมอนาคตใหม่(New S-curve) อีก5 สาขา
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)และAI
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  
3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 
4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) 
5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) 
ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยจะเป็นหัวใจหลักของกลไกใหม่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines)

นายอลงกรณ์ยังได้หารือระหว่างLunch meeting กับผู้บริหารบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่หลายแห่งซึ่งทุกบริษัทตอบรับอย่างกระตือรือร้นที่จะมาลงทุนในประเทศไทยทั้งอุตสาหกรรมใหม่และตลาดทุนของไทยสำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนและมีสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย

โดยนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯและนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด จากมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมด้วยโดยจัดที่โรงแรมเชอราตัน-เซิ่นเจิ้นเมื่อ26 มกราคมที่ผ่านมา

‘นิด้าโพล’ เผย!! คนไทยส่วนใหญ่ไม่โกรธนายกฯ หากต้องยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

(28 ม.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘วิกฤติเศรษฐกิจ กับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ, ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง, ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใดๆ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว
- ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568
- ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย
- ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ
- ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก
- ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ
- ร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘จีน’ เปิดกำไร ‘ภาคอุตสาหกรรม’ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 สะท้อน!! ภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่าบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งมีรายได้ทางธุรกิจหลักรายปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ทำกำไรรวมในเดือนธันวาคม 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

รายงานระบุว่า กำไรรวมของบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ในจีนของทั้งปี 2023 อยู่ที่ 7.69 ล้านล้านหยวน (ราว 39 ล้านล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงน้อยลง 2.1 จุดจากช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปีเดียวกัน

ภาคการผลิตและจ่ายพลังงาน ความร้อน ก๊าซ และน้ำ กลายเป็นกลุ่มผู้ทำกำไรชั้นนำในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมการเติบโตโดยรวมของกำไรทางอุตสาหกรรมในประเทศ 3.1 จุด

ขณะกำไรของภาคการผลิตอุปกรณ์ในจีน ช่วงปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของปีก่อนหน้า 2.4 จุด ส่วนอุตสาหกรรม 27 ประเภทจากทั้งหมด 41 ประเภท มีกำไรเติบโตในปีที่ผ่านมา

กทท.จัดสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน


วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ ถ.สุขุมวิท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดงานสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักของประเทศ โดยได้เกียรติจาก นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) นายสุทธิพจน์ ถาวรพิศาลเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมฯ เข้าร่วมงานสัมมนา “โครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ” และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (DC) และธุรกิจใหม่ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือกรุงเทพฯ สู่การเป็น Smart  & Green Port” โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย เรือโท ภูมิ แสงคำ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นายแถมสิน ศรีบางพลีน้อย รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ  คณะผู้บริหารและพนักงาน กทท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือดำเนินการระหว่าง กทท และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการตลาด ที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพสามารถรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป โดยการเสวนาฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ประกอบด้วยคุณภาวิณา อัศวมณี รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ) ดร. ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านสินค้า) คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านเรือ) และกัปตัน ดร.เฉลิมวุฒิ แท่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาพาณิชยนาวี (ผู้แทนจากภาควิชาการ)

"การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของการท่าเรือในการทำให้ กทท. เป็นประตูหลักของการค้าและการขนส่งในภูมิภาคด้วยมาตรฐานการให้บริการในระดับโลกหรือ World Class Port โดยมีนโยบายการนำแนวคิด 3T (Transshipment, Transit, Traffic) และ 2D (Digitization, Decarbonization) เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ 

โดยโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC (Distribution Center) เป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาหลักของท่าเรือกรุงเทพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คือ 

1) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแบบ Smart Port ที่นำเอาระบบ Automation มาใช้ในการบริหารจัดการ 
2) โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษ S1 (อาจณรงค์-บางนา) ในการแก้ไขปัญหาการจราจร 

3) โครงการศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพหรือ Bangkok Port Distribution Center 
ซึ่งภายใต้โครงการฯ นี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม.) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS และกิจกรรมของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Free Zone, Cold Chain Warehouse, E-Commerce Fulfillment Center, Last-Mile Delivery, Value Added Services, Cross-Border E-Commerce เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัตการเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการฯ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้บริการต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต" ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เสริมแกร่งเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม หนุนผู้ค้ารายย่อย กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้’ ในงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 : SITE 2024’ พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), ผศ.ดร.คํารณ พิทักษ์ ผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทุกคนต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทันอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว อาทิ โครงข่ายการคมนาคม สร้างระบบรางรถไฟที่พาดผ่านเมืองรอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านการผลิตและมาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft power เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดกากของเสียของโรงงาน ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการตาม BCG โมเดล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 (SITE 2024)’ จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการในภาคใต้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม และผู้ประกอบการอื่นๆ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘Advancing the Southern Frontier : Unleashing Innovation for Sustainable Growth’ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมเส้นทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักลงทุน SME และนักวิจัยผ่านการออกบูธและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำทางด้านพลังงาน ดิจิทัล อาหารและการเกษตร สุขภาพแบบครบวงจร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

SME D Bank สร้างนิวไฮ ปี 66 พาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนทะลุ 7 หมื่นล้านบาท ชูธง ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ 4 ปี ดันเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

SME D Bank แถลงผลสำเร็จปี 2566 สร้างสถิติใหม่รอบด้าน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร เผยพาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนกว่า 7.06 หมื่นล้านบาท และตลอด 4 ปี กว่า 2.3 แสนล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท พัฒนาเสริมแกร่งกว่า 7.5 หมื่นราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 7.5 แสนราย  ขณะที่บริหาร NPL มีประสิทธิภาพ เหลือต่ำสุดในรอบ 22 ปี ประกาศปี 2567 ยกระดับสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ คิกออฟใช้ระบบ CBS พร้อมแพลตฟอร์ม DX มั่นใจเดินหน้าไร้รอยต่อ  

(9 ก.พ. 67) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2566 และภาพรวมตลอด 4 ปี (2563-2566) ว่า จากจุดยืนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่พร้อมเคียงข้างส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตยั่งยืน ด้วยแนวทาง 'เติมทุนคู่พัฒนา' ประกอบกับความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่รวมพลังเป็น ONE Team ส่งผลให้ปี 2566 ที่ผ่านมา  SME D Bank สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,695 ล้านบาท และยังเป็นการสร้าง New High ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (2563-2566) อีกทั้ง ช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 323,780  ล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 123,200 ราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 24,000 ราย

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย 

นอกจากนั้น ดูแลลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ลงลด 4 ปีติดต่อกัน เหลือเลข 1 หลัก 2 ปีซ้อน โดยปี 2566 ลดเหลือประมาณ 8,690 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

"ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา SME D Bank เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงาน อีกทั้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบความต้องการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ควบคู่กับสร้าง DNA แห่งการเป็น ‘นักพัฒนา’ หรือ DEVELOPER ในหัวใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน" นางสาวนารถนารี กล่าว

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด นอกจากนั้น ยังนำหลัก ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

นางสาวนารถนารี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ จะครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ด้วยรากฐานมั่นคงขององค์กร อีกทั้ง ทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ล้วนเป็นบุคลากรภายในที่ร่วมผลักดันยกระดับองค์กรมาด้วยกัน และยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง ทำให้การทำงานทุกด้านของ SME D Bank สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นว่า SME D Bank พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง และมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตลอดไป

‘จีน’ เผย ยอดจองเที่ยว-จับจ่ายช่วงตรุษจีนพุ่งสูง สะท้อน!! เศรษฐกิจฟื้นตัวดี-การบริโภคแข็งแกร่ง

(10 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานสถานการณ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่า แทนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อรวมตัวกับครอบครัวและญาติมิตรในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ‘เฉิงว่านฉี’ เป็นหนึ่งในชาวจีนที่เลือกจองโรงแรมในเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เพื่อท่องเที่ยวกับครอบครัว

‘เหม่ยถวน เตี่ยนผิง’ (Meituan Dianping) บริษัทอีคอมเมิร์ซจีน เจ้าของแพลตฟอร์มรวมบริการออนไลน์ เช่น รีวิวร้านอาหาร สั่งอาหาร เผยว่าช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนปีนี้ การบริโภคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก ตั๋วเข้าจุดชมวิว และบัตรการคมนาคมขนส่งจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยยอดคำสั่งซื้อที่เป็นการจองล่วงหน้าระยะครึ่งเดือนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2023

บริษัทฯ ระบุว่าหลายๆ เมือง เช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, ซานย่า, ฮาร์บิน, เฉิงตู, กว่างโจว, ซีอัน และอื่นๆ ขึ้นแท่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศจีน ขณะที่ชาวจีนที่ทำการจองเพื่อท่องเที่ยวในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยอดจองและคำสั่งซื้ออาหารมื้อค่ำในคืนส่งท้ายปีเก่าตามธรรมเนียมจีน ซึ่งเป็นวันที่ครอบครัวชาวจีน จะรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ยังเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เหม่ยถวน เตี่ยนผิงระบุด้วยว่า มีผู้บริโภคสั่งอาหารทั้งมื้อหรือสั่งอาหารเพื่อนำมาเสริมในมื้ออาหารผ่านบริการสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น และพบว่าในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ยอดจองรับประทานอาหารค่ำสำหรับครอบครัวตามร้านอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่วันมานี้โดยแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์แห่งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับเหม่ยถวน เตี่ยนผิง ระบุว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา ยอดขายสุรา นม และเชอร์รี ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ ขณะที่ยอดขายสินค้าหลายประเภททั้งเครื่องใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของใช้สำหรับแม่และเด็ก รวมถึงเสื้อผ้าพุ่งสูงขึ้นเกินร้อยละ 100

ด้าน ‘พินตัวตัว’ (Pinduoduo) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของจีน ได้เปิดตัวแคมเปญชอปปิงรับตรุษจีน ร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการจากทั่วประเทศในเดือนมกราคม เพื่อรับรองว่าอุปทานจะเพียงพอสำหรับการจับจ่ายช่วงเทศกาล และพบว่าปริมาณการขายสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดเพิ่มสูงขึ้นในหลากหลายระดับ เช่น ยอดขายอาหารสดคุณภาพสูงอย่างเชอร์รี สตรอว์เบอร์รี และปูยักษ์ (King Crab) ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

‘หานหยาง’ ชาวจีนผู้ทำงานในกรุงปักกิ่งมานาน 5 ปี เลือกที่จะสั่งซื้ออาหารและผลไม้ทางออนไลน์ เพื่อจัดส่งให้พ่อแม่ซึ่งอยู่ที่บ้านเกิดในเมืองสวี่ชาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศ แม้ว่าเขาจะเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวันหยุดก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าการซื้อของขวัญออนไลน์ล่วงหน้านั้นสะดวกสบายมาก

‘หลี่จี้เหว่ย’ ผู้บริหารจากสถาบันวิจัยเหม่ยถวน (Meituan Research Institute) ระบุว่า ข้อมูลการจองล่วงหน้าก่อนถึงวันหยุดที่มีแนวโน้มดีนั้น ตอกย้ำถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน พร้อมเสริมว่าแนวโน้มเชิงบวกด้านการจับจ่ายนี้ ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการบริโภคออนไลน์ในปี 2024 ด้วยเช่นกัน

‘เอกชน’ หนุน 8 วิสัยทัศน์ ‘นายกฯ’ จุดพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แนะรัฐทำวันสต๊อปเซอร์วิสภาคธุรกิจ ชูฮับท่องเที่ยว-การบิน-อาหาร

(26 ก.พ.67) นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลง 8 วิสัยทัศน์ จุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค ว่า ถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์อนาคตของประเทศไทยครั้งแรก ที่ประกาศชัดเจนมีทั้งหมด 8 วิสัยทัศน์ การประกาศลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ดีเพราะหลายฝ่ายไม่เพียงเฉพาะภาครัฐบาล แต่มีภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน จะได้เห็นมุมมองและทิศทางที่เป็นแนวนโยบายสำหรับเศรษฐกิจที่จะเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้เดินหน้าได้ไม่สะดุด หรือติดอุปสรรคสามารถแก้ปัญหาร่วมกันได้

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า จาก 8 วิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเรื่องฮับการท่องเที่ยวสามารถทำได้แน่นอน แต่รายละเอียดต่างๆ ที่หลายฝ่ายจะเติมเข้าไปนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ เดิมทีอาจจะเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่ขณะนี้ต้องเสริมนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศรอบด้าน เพราะการท่องเที่ยวเป็นกลไกลที่เกี่ยวข้องกับประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ

ขณะเดียวกัน ด้านอื่นๆ ก็น่าสนใจ เช่น ศูนย์กลางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านนี้มากพอสมควร ซึ่งสิ่งที่ท่านนายกฯ ได้พูดว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และในกระเป๋ามีเงิน ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะเดิมทีในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นี่คือความเพียงพอที่จะบริโภคในประเทศ และทำให้คนในประเทศพึ่งพาอาศัยกัน แต่ปัจจุบันไทยจำเป็นต้องมีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจด้วย

ดังนั้น การที่จะทำให้กระเป๋ามีเงินต้องมีหลายเรื่องที่ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาชน รวมไปถึงเกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อ โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ท่านนายกฯ เคยพูดถึงไว้ในหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาหารแห่งอนาคต จะเป็นการต่อยอดการผลิตอาหารดั้งเดิมของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้ว แต่การที่จะไปถึงอนาคตเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ๆ มากกว่าการปลูกพืชชนิดเดียว เพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้

“อีกทั้งเรื่องอาหารฮาลาล ไทยต้องมีใบรับรองที่เข้มแข็ง เพื่อการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถส่งอาหารได้เอง แทนที่จะต้องให้ประเทศที่เป็นชาวมุสลิมออกใบรับรองให้ เพื่อส่งสินค้าออกไปประเทศต่างๆ ได้เอง”นายวิศิษฐ์ กล่าว

>> ปั้นฮับการบินโอกาสเมืองรอง
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ฮับการบิน ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคมนาคมในประเทศเท่านั้น เช่น คนไทยเดินทางในประเทศมีทั้งรถยนต์ และเครื่องบิน ขณะนี้จะเห็นว่าสนามบินมีการใช้งานเต็มที่และสถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาสูง สาเหตุจากสายการบินให้บริการไม่เพียงพอ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ถ้าไปดูสนามบินอินเตอร์ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะมีหลายเมืองที่เป็นศูนย์การบินระดับอินเตอร์รองรับการท่องเที่ยว โดยไม่จำเป็นต้องไปสนามบินในเมืองหลัก

ดังนั้น ถ้านักท่องเที่ยวมีมากและไม่สามารถไปลงในสนามบินพื้นฐาน หรือที่เป็นเมืองหลวงแล้ว ทำให้เมืองรองเริ่มมีโอกาส เพราะการมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวของไทย หากสามารถทำให้นักท่องเที่ยวลงที่เมืองรอง และจากนั้นเชื่อมต่อโลจิสติกส์ในประเทศได้ เช่น รถยนต์เช่า รถไฟเชื่อมระหว่างเมืองจะเปิดโอกาสให้เมืองรองได้ดี โดยสามารถขายการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมผ่านซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้โซเชียลมิเดียต่างๆ ในการโฆษณาให้เกิดการรับรู้เป็นวงกว้าง

>> ขอวันสต๊อปเซอร์วิสภาคธุรกิจ
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า มุมมองนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจังหวะ 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์มีความขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก แม้จะเกิดขึ้นในบางภูมิภาค แต่ส่งผลทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีปัญหาค้าขายยากขึ้น มีปัญหาทั้งอาจจะส่งสินค้าไปในทางตรงไม่ได้ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตมาผลิตในประเทศที่มีความเป็นกลาง และสามารถส่งของไปในประเทศใดก็ได้ หรือเป็นประเทศที่มีการผลิตและมีต้นทุนไม่สูง หรือเป็นประเทศผู้ผลิตและสามารถกระจายสินค้าไปประเทศอื่นได้ เพราะมีสัญญาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือโลจิสติกส์ที่ดี

สำหรับประเทศไทยภาพที่ชัดเจน เมื่อนักลงทุนมาลงทุนแล้ว ไม่เพียงแต่ขายสินค้าให้กับคนในประเทศ แต่มีการเชื่อมต่อไปยังประเทศอาเซียน ระยะสั้นขายผ่านทางรถยนต์ หรือประเทศที่อยู่ไกลจะส่งสินค้าไปทางเรือได้ เรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันหมดทั้งโลจิสติกส์ การดึงคนมาลงทุน และที่สำคัญในภาวะที่หลายประเทศกำลังหาแหล่งลงทุนใหม่ หรือย้ายฐานการผลิตก็ต้องหาประเทศอื่นเพื่อการทำธุรกิจ

“ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น ดังนั้น จะต้องทำอย่างไรให้ประเทศเรามีเสน่ห์และมีเสน่ห์มากขึ้น“นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ มีเรื่องที่นายกฯ เคยพูดไว้ และเป็นเรื่องที่เอกชนเคยร้องขอมานานแล้ว คือ วันสต๊อปเซอร์วิสต่างๆ การเชื่อมโยงเอกสาร ข้อมูลเพื่อการทำธุรกิจต่างๆ หรือการจัดตั้งธุรกิจใหม่ และต้องทำอย่างไรให้สามารถจัดการได้ในที่เดียวแทนที่จะต้องวิ่งไปใน 10-20 หน่วยงานเพื่อยื่นเอกสาร หากสามารถทำจบได้บนสมาร์ทโฟนและสามารถทำได้ในที่เดียวทุกเอกสารวิ่งไปได้ในหลายหน่วยงาน และมีการตอบรับผ่านอิเล็กทรอนิกส์สามารถลดต้นทุน ลดความยุ่งยาก และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น

‘จีน’ เตือน ‘สหรัฐ’ หลังตั้งกำแพงกดดันทุกทาง ชี้!! ผลลัพธ์ไม่สวย ซ้ำจะย้อนทำร้ายตัวเอง

ไม่นานมานี้ สหรัฐฯ ได้เพิ่มความพยายามในการต่อต้านและกดดันในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการ ‘แข่งขันกับจีน’ และเพิ่มการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวัน ไปจนถึงการพยายามชักชวนให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้เข้าสู่ข้อตกลง เพื่อการจำกัดการส่งออกด้านเทคโนโลยีให้กับจีน 

โดยทางจีนได้ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมระบุว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลเสียต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กระทั่งลามไปทั่วโลก

Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน

ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้งบประมาณของสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณ 2025 ถูกนำไปจัดสรรใช้เป็นทุนเพื่อ ‘เอาชนะจีน’ และติดอาวุธให้กับภูมิภาคไต้หวันของจีน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 มี.ค.) Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำว่า การแข่งขันไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของจีน ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และการแข่งขันระหว่างประเทศสำคัญ ๆ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จีนและสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะ ‘เอาชนะจีน’ ไม่ใช่การแข่งขันที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่เป็นการแข่งขันที่เลวร้าย โดยสหรัฐฯ วางกับดักคู่แข่งไว้ทุกดอก Wang 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวเสริมว่า “มันกลายเป็นการพนันที่ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งทำให้ผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนของทั้งสองประเทศและแม้แต่อนาคตของมนุษยชาติกลายเป็นเดิมพัน และมันจะผลักดันเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

คำของบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณ 2025 ประกอบด้วยเงินทุนบังคับจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปี เพื่อ ‘ใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เราจัดการเพื่อเอาชนะจีนให้ได้’ คำของบประมาณยังรวมถึง ‘คำขอเงินทุนครั้งแรก’ จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะมอบให้กับไต้หวัน 

รายงานของสื่อแห่งหนึ่งระบุ เมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) ว่า Wang ยังกล่าวถึงการคัดค้านอย่างแข็งขันของจีนต่อความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และเกาะไต้หวัน และความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะติดอาวุธให้กับเกาะแห่งนี้ 

“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักการจีนเดียว และหยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน จีนจะใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนอย่างแน่วแน่และมั่นคง” เขากล่าว

Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ

นอกเหนือจากการของบประมาณแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้เพิ่มความพยายามที่เห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการปราบปรามทางเทคโนโลยีต่อจีนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ในขณะที่นำคณะผู้แทนธุรกิจของสหรัฐฯ ไปยังฟิลิปปินส์ Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ ‘จะทำทุกวิถีทาง’ เพื่อปราบปรามความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน 

ตามรายงานของ Bloomberg โดย Raimondo ได้ประกาศที่ฟิลิปปินส์ว่า บริษัทสหรัฐฯ เตรียมประกาศการลงทุนมูลค่ารวมมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในฟิลิปปินส์ ตามรายงานของ Reuters รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการขยายการค้าและการลงทุนในฟิลิปปินส์ยังขยายไปถึง ‘ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ใหญ่กว่า’ อีกด้วย แม้ว่าเธอจะย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามแตกแยกกับจีนก็ตาม

“ภยันตรายต่อโลก การมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแข่งขันประเทศใหญ่ เช่น จีน ซึ่งจะมีผลรวมเป็นศูนย์ นอกจากไม่เพียงที่เป็นการเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังดึงดูดประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกให้เข้าร่วมการเผชิญหน้าแบบกลุ่มมากขึ้น ในเวลาที่โลกต้องการความร่วมมือมากที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนตั้งข้อสังเกต 

นอกจากนี้ เพื่อเน้นย้ำการรณรงค์ที่เข้มข้นขึ้นของวอชิงตันเพื่อควบคุมจีนในการแข่งขันในประเทศใหญ่ ๆ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังผลักดันพันธมิตรของตน รวมถึงเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เข้มงวดข้อจำกัดด้าน Chip คอมพิวเตอร์กับจีน และกำลังพิจารณาเพิ่มผู้ผลิต Chip ของจีนรายอื่น อาทิ ChangXin Memory Technologies Inc เข้าสู่รายการควบคุมตามที่ Bloomberg อ้าง 

ในขณะเดียวกัน สภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกากำลังเร่งร่างกฎหมายที่จะบังคับให้บริษัท ByteDance ของจีนขาย TikTok ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยม หรือเผชิญกับการแบนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนกล่าวว่า เป็นการเคลื่อนไหวของวอชิงตันที่มีลักษณะเป็นการตีโพยตีพายอีกครั้งในการต่อต้านกดดันบริษัทจีน

Apple store ย่านใจกลางเมืองของนครเซี่ยงไฮ้

การต่อต้านและกดดันอย่างเข้มข้นของนักการเมืองสหรัฐฯ การรณรงค์เพื่อกดดันจีนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นภายในสหรัฐฯ รวมถึงการครอบงำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งประเทศนี้ไม่สามารถจัดการในลักษณะที่มีประสิทธิผลใด ๆ ได้ เนื่องจากการแบ่งพรรคแบ่งพวกและความผิดปกติของรัฐบาล ตามการระบุของนักวิเคราะห์ชาวจีน ที่สำคัญกว่านั้น ความพยายามดังกล่าวจะไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด ไม่ใช่การเมือง จะยังคงลงทุนและดำเนินการในตลาดจีนต่อไป 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้บริหารธุรกิจสหรัฐฯ จำนวนมากเดินทางเยือนจีนและขยายการลงทุนในจีน ข้อจำกัดทางการเมืองต่อธุรกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนของบริษัทสหรัฐฯ ที่ขยายการลงทุนในจีน เช่น Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอังคารถึงแผนที่จะเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งใหม่ในนครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน และอัปเกรดห้องปฏิบัติการวิจัยในนครเซี่ยงไฮ้ เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศเปิดร้านใหม่ในย่านใจกลางเมืองของนครเซี่ยงไฮ้
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top