Friday, 4 July 2025
เศรษฐกิจ

‘ครม.’ ไฟเขียว!! วีซ่าต่างชาติทักษะสูง ทำงานในไทย 5.6 หมื่นคน สะท้อนผลสำเร็จมาตรการกระตุ้น ศก. จูงใจต่างชาติทำงานในไทย

(4 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราในประเภทต่าง ๆ ทำให้มีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) และวีซ่าดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Smart Visa) ผ่านศูนย์ One Stop Service รวมทั้งสิ้นกว่า 56,000 คน 

นายชัย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) ณ ชั้น 18 ตึกจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (https://osos.boi.go.th/TH/home/) โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน และการบริการผ่านระบบออนไลน์ SINGLE WINDOW Visa and Work Permit System (https://swe-expert.boi.go.th/SW-WEB/main.php

ซึ่งข้อมูลของ BOI ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมแล้วกว่า 56,000 คน ประกอบด้วยประเภทวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน 

ประเภท LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากสหรัฐอเมริกา 791 คน รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน 

ประเภท Smart Visa และกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เป็นมาตรการของรัฐบาล ที่มุ่งดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ, ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย, ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง 

และครม.ได้เพิ่มการตรวจตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa (DTV) โดยเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล เช่น remote worker หรือ digital nomad ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มขีดตวามสามารถในการแข่งขันของไทย เชื่อมั่นว่า ผลจากการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในระยะยาว ซึ่งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย” นายชัย กล่าว

‘จีน’ เผย ‘5G’ เชิงพาณิชย์ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ สร้างเม็ดเงินราว 28.12 ล้านล้านบาท ลุยเดินหน้าพัฒนาต่อ

(7 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จ้าวจื้อกั๋ว หัวหน้าวิศวกรประจำกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน อ้างอิงผลการวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน ระบุว่า การใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ช่วยกระตุ้นผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยตรงราว 5.6 ล้านล้านหยวน (ราว 28.12 ล้านล้านบาท) ในจีนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ระหว่างงานประชุมด้านโทรคมนาคมเคลื่อนที่ จ้าวจื้อกั๋ว ได้กล่าวว่า 5G ยังขับเคลื่อนผลผลิตทางเศรษฐกิจทางอ้อม 14 ล้านล้านหยวน (ราว 70.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งสะท้อนว่าเทคโนโลยีใหม่นี้มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของจีนอย่างมาก

จ้าวจื้อกั๋ว ระบุว่าจีนครองตำแหน่งผู้นำระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G สร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีหลักที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และมีผลลัพธ์ที่โดดเด่นในการผสมผสานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับโลกจริงทางกายภาพ นับตั้งแต่มีการออกใบอนุญาตใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2019

จีนมีสถานีฐาน 5G เกือบ 3.75 ล้านแห่ง หรือคิดเป็นราว 26 แห่งต่อประชากร 10,000 คนเมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายน โดยจีนยังได้ยื่นจดสิทธิบัตรสำคัญด้านมาตรฐาน 5G คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 42 ของสิทธิบัตรทั้งหมดทั่วโลก

อนึ่ง เทคโนโลยี 5G ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลัก อาทิ การทำเหมือง ไฟฟ้า และการดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังค่อย ๆ กระจายไปสู่แวดวงที่สำคัญอย่างการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการผลิต

ทั้งนี้ จ้าวจื้อกั๋ว ยังระบุว่า ในขั้นต่อไป กระทรวงฯ จะเดินหน้าทำงานเพื่อขยายความครอบคลุมของเครือข่าย 5G เร่งขยายการประยุกต์ใช้ 5G และส่งเสริมการปรับปรุงอุตสาหกรรมข้อมูลและการสื่อสารให้ทันสมัย

เสียงสะท้อนประชาชน ในวันที่ 4 คดีดังการเมืองไทยเฉิดฉาย ส่วน 'ปากท้อง-เศรษฐกิจ' ไม่คลี่คลาย มิวายให้หวนคิดถึง 'ลุงตู่'

จับตาทิศทางประเทศไทย หลังวันนี้ (18 มิ.ย.) 4 คดีร้อนการเมือง ... อัยการสูงสุด นัดส่งฟ้อง 'ทักษิณ ชินวัตร' คดีมาตรา 112 หาก 'ทักษิณ' เดินทางไปพบอัยการตามกำหนดนัด โดยไม่เลื่อน ก็คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับ 'การประกันตัว'

ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล หลังศาลมีคำสั่งให้ กกต. ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมในวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็จะทราบว่าวันนี้ศาลจะเปิดบัลลังก์ไต่สวนพยานหรือไม่?

ว่ากันติด ๆ ด้วยเรื่องการถอดถอน 'เศรษฐา' กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ 40 สว. ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกนิดฯ 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี และ 'นายพิชิต ชื่นบาน' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?

และปิดท้ายกับนัดชี้ขาด 4 มาตรา กฎหมายเลือก สว.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่? ซึ่งสำหรับคดีหลังสุดนี้ ศาลจะลงมติเลย เนื่องจากเป็นปัญหาด้านข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยแล้ว

ว่ากันว่า ทั้ง 4 คดีใหญ่นี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แรงสั่นสะเทือนระดับสูงต่อทิศทางและอนาคตการเมืองไทยในระดับชาติเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ หากคดีใดคดีหนึ่งใน 4 คดีนี้ ขยายวงจนก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมแบบภาคต่อ

โดยในมุมมองของภาคประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพในสายต่าง ๆ ต่างก็มีความกังวลใจต่อทิศทางคำตัดสินใน 4 คดีวันนี้ และมองว่าบางคดีล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นจาก 'คำสัญญาที่ขาดหาย' ของนักการเมืองที่ละเลยต่อปัญหาปากท้องที่เคยยาหอมทิ้งไว้ให้กับประชาชน ดั่งเช่นกรณี นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และกลุ่มสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ที่กล่าวถึง คดีศาลรัฐธรรมนูญนำเรื่องการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? กับ THE STATES TIMES ว่า...

"เรื่องนี้สะท้อนว่านายเศรษฐา ไม่ได้จริงใจที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาความลำบากของประชาชนรากหญ้าจริง ๆ ผมไม่อยากจะพูดถึงว่า ท่านทำงานไม่เป็น แต่ผมมองว่าท่านยังไม่ได้ครึ่งของสมัยท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลย"

เมื่อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีถอดถอน 'นายกฯ เศรษฐา' จะสร้างผลบวกหรือลบต่อปากท้องผู้คนอย่างไร? นายวรพล กล่าวว่า...

"ผมเคยเป็นคนเสื้อแดง สู้เพื่อประชาธิปไตย โดนคดีมาหลายคดี แต่ก็ผิดหวังเหมือนเดิม เพราะไม่มีใครเหลียวดูคนรากหญ้าและจริงใจที่จะแก้ปัญหาอย่างแท้จริง...

"ดังนั้น ต่อให้ผลการพิจารณาคดีวันนี้จะเป็นอย่างไร ผมก็อยากขอพูดแทนพี่น้องชาวแท็กซี่ของผมว่า พวกเราต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ-รัฐบาลใหม่ หรือไม่ก็ตาม ผมก็อยากจะขอฝากข้อเสนอนี้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป ดังนี้...

1. ขอให้มีการจัดสภา 108 อาชีพ ให้คนอาชีพต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการดูแลพี่น้องประชาชน และนำพาประเทศ ให้ก้าวผ่านความยากจนไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

2. แก้ไขการโกง ทุกระบบ ทุกภาคส่วน ปัญหา Callcenter ปัญหาการโกงในระดับกรม-กอง-กระทรวง ด้วยกลโกงจากกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น 

3. สำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นคนที่พร้อมจะแบกรับคนไทยกว่า 65 ล้านคน หรือคนทั่วโลกที่ มากิน เที่ยว พัก ให้ได้รับความสุข ความปลอดภัย

"นายกฯ ต้องเป็นคนที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที และตั้งทีมงาน 108 อาชีพเป็นแกนนำ เป็นที่ปรึกษา ให้นายกรัฐมนตรี ที่จะได้เข้าใจปัญหาของทุกสาขาวิชาชีพอย่างตรงจุด เพียงเท่านี้ ประเทศไทยก็มีความสุขทั่วหน้ากัน" นายวรพล กล่าว

อีกคดีที่น่าระทึกกับการ 'ยุบพรรคก้าวไกล' นั้น เสียงสะท้อนหนึ่งจากผู้ประกอบการ ร้านข้าวแกงร้อยหม้อ นายสุชาติ-อธิวัฒน์ อมรวีระวัฒน์ หรือ 'ชาติร้อยหม้อ' ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "หากพรรคก้าวไกล ถูกยุบพรรค ในจังหวะที่สภาพคล่องทางเศรษฐกิจ อยู่ในจุดที่ค่อนข้างเป็นขาลง น่าจะสร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมืองเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งในภาพของการเมือง ผมคงตอบไม่ได้ แต่ถ้าให้ผมตอบในนามคนทำมาหากิน... รัฐบาลควรจะต้องมีการบริหารจัดการที่คิดคำนึงถึงปากท้องประชาชนเป็นหลัก อย่าให้เกิดความแตกแยกในช่วงเวลานี้ ต้องสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในชาติ"

ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทิศทางการเมืองหลัง 4 คดีสำคัญในวันนี้ถูกตัดสิน จะส่งผลต่อภาพการเมืองไทยอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ในวันนี้ ประชาชนคนทำมาหากิน เอือมระอาการเมือง หากปากท้องของพวกเขาต้องฝืดเคือง เพราะคำสัญญาที่ขาดหาย...

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

'รมช.สุชาติ' เผยข่าวดี!! เจรจา 'KTEPA ไทย-เกาหลีใต้' รอบแรก จ่อเพิ่มตัวเลขส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ได้สูงถึงร้อยละ 77

(11 ก.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้กำกับดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ที่มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2567 โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมคณะด้วย และฝ่ายเกาหลีใต้ มีนายคอนกิ โร เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

โดย รมช.สุชาติ ได้กล่าวถึงผลการประชุมความตกลง KTEPA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ว่า การร่วมกันเจรจาในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของไทย ประเมินว่า ความตกลง KTEPA จะช่วยเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปเกาหลีใต้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาบริการที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของเกาหลีใต้ อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,282 - 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 - 0.44 ซึ่งเหล่านี้ จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2,420 - 4,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.15 - 77.21

รมช.สุชาติ เผยอีกว่า ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 นี้ มีประชุมในระดับคณะทำงาน ทั้งหมด 13 คณะ ประกอบด้วย 

1) การค้าสินค้า 
2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 
3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 
4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 
5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 
8) การลงทุน 
9) การค้าดิจิทัล 
10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 

11) ทรัพย์สินทางปัญญา 
12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 
และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน โดยคณะทำงานต่าง ๆ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย และเริ่มเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลง KTEPA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีการจัดทำแผนงานการเจรจา โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการเจรจาทั้งหมด 7 รอบและตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงโซล

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘อนุทิน’ สั่งทุกจังหวัด ‘ลดค่าแผง-จัดขายของราคาถูก’ ช่วยประชาชนช่วง 3 เดือน ก่อนได้ใช้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

(2 ส.ค.67) ทำเนียบฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธานว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าจะมีมาตรการระยะสั้นระหว่างปัจจุบันถึงเดือนตุลาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่ประชาชนจะได้เงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในไตรมาสที่ 4 ของปี อาทิ การทำให้สินค้าราคาถูกลง สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้มีช่องทางค้าขาย และขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ลดราคาสินค้า เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาต่ำลง 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็ได้นำมาตรการที่ว่าไปกำชับทุกจังหวัดทั่วประเทศให้ช่วยประชาสัมพันธ์และหาช่องทางรวมถึงจัดพื้นที่ให้มีการขายสินค้ามากขึ้น อาทิ ศาลากลางจังหวัด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และสั่งการให้องค์การตลาดของกระทรวงมหาดไทยลดค่าเช่าแผงในช่วง 3 เดือนนี้ด้วย

ขอนแก่น- 'ธปท.สภอ.' แจง! เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ และงานขอบคุณสื่อมวลชน โดยมี ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) เป็นประธานในการจัดแถลงข่าว รายการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างชุมชน 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 2 ปี 2567 เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มากพอที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 

นอกจากนั้นยังเห็นสัญญาณเปราะบางลามไปสู่ระดับกลางมากขึ้น จากยอดขายบ้านระดับกลางหดตัว โดยผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้ประจำถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2567 จากที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเป็นไม่ขยายตัว และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 1 จากสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารขยายตัว ภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามปกติ

‘ภาคเอกชน’ ยก!! 3 เรื่องเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ‘นายกฯ’ ‘สร้างความเชื่อมั่น - สร้างขีดความสามารถ SME - วางยุทธศาสตร์’

(23 ส.ค.67) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเข้าพบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ว่าจะมีนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น กลาง ยาว โดยจากการระดมความคิดจากเครือข่ายทั้งภาคเอกชนทั่วประเทศ มีทั้งหมด 3 เรื่องเร่งด่วน คือ

- เรื่องที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นกลางและระยะยาว
- เรื่องที่ 2 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SME เพราะ 90% ของสมาชิกเป็น SME ในจังหวัดต่าง ๆ
- เรื่องที่ 3 การวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ ขอเสนอ 5 แนวทาง คือ

1.การกระจายงบประมาณด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จัดทำงบประมาณปี 2568 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งจ่ายงบประมาณที่อยู่ในแต่ละพื้นที่

2.กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม โดยมุ่งไปยังกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะคนละครึ่ง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยการออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยผ่านมาตรการภาษีอื่น ๆ

3.มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้วยการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน และตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแต่ละประเภทให้ชัดเจน และให้สถาบันการเงินผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้าเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน รวมถึงการจัดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้รวดเร็ว โดยทำเป็น Supply Chain Financing

4.การกระจายอำนาจโดยออกมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม สำหรับการลงทุนในเมืองรองส่งเสริมการใช้ local content และสานต่อโครงการยกระดับเมืองสู่เมืองหลัก โดยมีเป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศ

5.ปรับปรุงระเบียบที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการแข่งขัน

ส่อง 10 ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP มากที่สุดในปี 2024

ปี 2024 เป็นปีที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อัตราการเติบโตของ GDP ในบางประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ IMF ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่ GDP โตมากที่สุด โดยทั้ง 10 ประเทศนี้เป็นประเทศเกิดใหม่หรือ Emerging Market โดยทั้ง 10 ประเทศนี้ประกอบไปด้วย

1. อินเดีย
อินเดียเติบโตการขยายตัวของภาคบริการและเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนภายในประเทศที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 6.8%-7%

2. เวียดนาม
เวียดนามการเติบโตด้วยการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 6.2%-6.5%

3. บังกลาเทศ
บังกลาเทศยังคงเติบโตในภาคการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 6.3%

4. ฟิลิปปินส์
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เติบโตอย่างรวดเร็วจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ภาคบริการที่ขยายตัว โดยเฉพาะการให้บริการด้านกระบวนการทางธุรกิจ (BPO) และการท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 6.1%

5. เคนยา
เคนยาเป็นหนึ่งในประเทศในแอฟริกาที่มีการเติบโตด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคเทคโนโลยี โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 5.8%

6. กานา Ghana
เศรษฐกิจกานามีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาภาคการเงินและบริการ โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 5.7%

7. อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียยังคงเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 5.3%-5.5%

8. จีน
จีนยังคงมีการเติบโตโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศและนวัตกรรมในภาคเทคโนโลยี โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 5.0%-5.5%

9. ไนจีเรีย
ปีนี้ไนจีเรียก็ยังคงมีการเติบโตในภาคพลังงานและการเกษตรอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ GDP โตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 5.2%

10. ซาอุดีอาระเบีย
ซาอุดีอาระเบียมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านแผนวิสัยทัศน์ 2030 มุ่งเน้นการลดการพึ่งพาน้ำมันและการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่า GDP จะโตได้ถึง 4.5%-5%

และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่อยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP สูงสุด แต่ประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตที่คาดการณ์ในระดับที่น่าพอใจ โดยในปี 2024 คาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 2.3% ถึง 2.6% โดยถ้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สำเร็จก็อาจจะทำให้ GDP มาอยู่ที่ระดับกรอบล่างที่ 2.2% การเติบโต GDP นี้ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของภาคการส่งออก แม้จะเผชิญกับความท้าทาย เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 

'หนุ่มสาวเกาหลีใต้' ลังเล!! การ 'แต่งงาน' มากขึ้น หลังเศรษฐกิจไม่แน่นอน-ราคาบ้านสูง-ว่างงานพุ่ง

(10 ก.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า สำนักงานสถิติของเกาหลีใต้ที่ได้รายงานว่า คนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ลังเลจะแต่งงานกันมากขึ้นในปี 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายงานระบุว่า คนหนุ่มสาวช่วงวัย 25-39 ปี ที่มีคู่สมรสคิดเป็นร้อยละ 33.7 ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มอายุดังกล่าว มีจำนวนลดลงในปี 2022 โดยลดลง 2.4 จุดจากปีก่อนหน้า และต่ำกว่าปี 2020 ที่มีอยู่ร้อยละ 38.5 

ทั้งนี้ คนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้เริ่มลังเลจะแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่สูง ปัญหาการว่างงานที่หนักขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูง 

นอกจากนี้ ในปี 2022 ร้อยละ 74.7 ของคู่สามีภรรยาวัยหนุ่มสาวมีลูกอยู่ที่ร้อยละ 74.7 ลดลงจากปี 2021 ที่มีอยู่ร้อยละ 75.6 และร้อยละ 76.6 ในปี 2020

ส้วนตัวเลขสัดส่วนของผู้มีอายุ 25-39 ปี ที่ไม่มีคู่สมรสและอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 50.6


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top