Friday, 10 May 2024
เศรษฐกิจ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์ ผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ เชื่อ!! บีบไทยขึ้นตาม ในยาม ‘ส่งออกดิ่ง-ท่องเที่ยวทรง-ลงทุนเสี่ยง’

หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นั้น ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นของผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านรายการ ‘Meet THE STATES TIMES’ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า…

การที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มอีก 0.25% นี้ ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ไม่ดี 

‘ในแง่ดี’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนนี้ ไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นการขึ้น ‘ครั้งสุดท้าย’ แล้ว หลังจากเฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 จนถึงวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 จากที่ระดับ 0% จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.25% ส่วนที่ว่าครั้งสุดท้ายนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้จากการที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ ดัชนี SME-Chinext 500 เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจของตลาดการเงินสหรัฐฯ ว่า เฟดเริ่มจัดการกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดี มักมีข่าวร้ายแฝงอยู่เสมอ!!

‘ในแง่ร้าย’ ผมคิดว่า แม้ว่า ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ (Headline Inflation) ที่เราพูดถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้เป็นดัชนีในการทำนโยบาย เราเรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน และราคาอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของเฟด เนื่องจากเฟดพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในอยู่ภายในระดับ 2%...

… ดังนั้น ระดับ 4.8% ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงมาก ในเรทของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานทั่วโลก ในขณะนี้มีความตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ปิดตัวไปหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนในตลาด ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะในภาคงานบริการที่มีปัญหาในเรื่องของความตึงตัวของแรงงานที่ค่อนข้างสูง… 

… เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างแรงงาน มีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องมีการปรับให้สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ทีนี้มองดู ‘ประเทศไทย’ เราเองนั้น ยังมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยถือว่าประสบปัญหาพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการเมืองแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยมีอัตราติดลบ พร้อม ๆ ไปกับอัตราการเติบโตที่ติดลบตามเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความคาดหวังว่า จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น จากที่จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งนึง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้นัก โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรก ๆ ของปี แต่พอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีการชะลอลง ซึ่งผมคิดว่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเองนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยไม่น้อย เนื่องจากสภาพของหนี้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังไม่มีการฟื้นตัว และยังมีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก…

… ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และส่งนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยอยู่

ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เพราะฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ย่อมสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะตลาดอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่การฟันธงอย่างแน่ชัดว่าจะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่

และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะสงครามในยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้ออยู่ อีกทั้ง ราคาพลังงาน และราคาพืชพันธุ์อาหารต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการกระโดดขึ้นราคาอีกเมื่อไหร่

นายพงษ์ภาณุ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่มีต่อตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตอีกด้วยว่า…

แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่การอุปโภค-บริโภค และภาคธุรกิจที่มีการลงทุนนั้น เกิดการหยุดชะงัก เพราะฉะนั้น การบริโภคและการลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง นักลงทุนเองก็คงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักมากขึ้นในการลงทุนแต่ละครั้ง ว่า เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น ก็ย่อมต้องมีการคาดการณ์ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ต้องมีการตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการลงทุนในโครงการใดก็ตาม มีระยะเวลายาวนาน ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจาก ‘อัตราคิดลด’ (Discount Rate) นั้นสูงขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วก็จะเกิดการลดลง อีกทั้ง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนพึงที่จะต้องคงสภาพคล่องทางการเงินไว้มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ต้องเตรียม ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ (Economic Stimulus Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นทั้งในภาคของการบริโภค และภาคการลงทุน ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้อ่อนแอลงไปมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่สถานการณ์ตลาดคริปโตแล้ว ก็ร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากทุกตลาดมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันหมดอีกด้วย

‘เศรษฐา’ ลั่น!! ถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาผงาดอีกครั้ง เชื่อ ศักยภาพคนไทยเทียบ ‘สิงคโปร์ - ฮ่องกง’ ได้แน่นอน

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ หรือเอ็กซ์ เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยระบุข้อความว่า…

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะเป็นตัวเลือกตัวที่สาม ผมมั่นใจในศักยภาพของคนไทย และองค์ประกอบทั้งหมดที่ประเทศไทยควรที่จะได้รับเลือกให้เป็นคู่แข่งของสิงคโปร์และฮ่องกง”

‘เอกชน’ ยัน!! พร้อมทำงานทุกขั้ว วอนตั้งรัฐบาลใหม่เร็วที่สุด หวั่นยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเดินหน้าวางแผนรับมือ

(5 ส.ค. 66) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค. จากเดิมวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทำให้ศาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกนายกรัฐมนตรี และการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ซึ่งยังไม่ถือว่าล่าช้าจนเกินไป

ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลังจากนั้น รัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นวันที่ 17-18 ส.ค. 2566ดังนั้นอาจจะได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือน ส.ค.- กลางเดือน ก.ย. หากไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดึงกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนกรณีหากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องรอความชัดเจนว่า จะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และมีช่วงเวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าศาลจะมีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและรวดเร็วที่สุด เพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็ว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้

สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น นายสนั่น มองว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และหาก พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะ พท. เคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยหากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

“ภาคเอกชนนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ” นายสนั่นกล่าว

BLACKPINK จัดคอนเสิร์ตที่ฮานอย 2 วัน ดึงเงินเข้าเวียดนามได้ถึง!! 920 ล้านบาท

(7 ส.ค. 66) คอนเสิร์ตครั้งแรกในเวียดนามของวงเกิร์ลกรุ๊ปเคป็อบระดับโลกอย่าง BLACKPINK สำหรับ ‘BORN PINK WORLD TOUR’ ซึ่งจัดขึ้น 2 รอบ เมื่อวันที่ 29 - 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา ณ My Dinh National Stadium ในกรุงฮานอย มีผู้เข้าชมกว่า 170,000 คน ส่วนยอดจำนวนของผู้เข้าชมจากต่างประเทศอยู่ที่ 30,000 คน

โดยการท่องเที่ยวของฮานอยรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในช่วงที่จัดคอนเสิร์ต BLACKPINK ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 26.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 920 ล้านบาทไทย จากชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของประเทศเวียดนามได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คอนเสิร์ตของ BLACKPINK ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบริการของฮานอยด้วย เช่น โรงแรมในบริเวณใกล้เคียง My Dinh National Stadium ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นที่ 20% ในขณะที่ ‘BORN PINK WORLD TOUR’ ยังสร้างสถิติใหม่เป็นทัวร์คอนเสิร์ตของกลุ่มศิลปินหญิงที่สร้างรายได้สูงสุด โดยมีรายได้อยู่ที่ 78.5 ล้านดอลลาร์ จากการแสดงคอนเสิร์ต 26 รอบ ตามรายงานของ Touring Data

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มใจ!! อนุมัติลงทุนใน EEC ทะลุ 2 ลลบ. มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม-พัฒนาชีวิต ปชช.

(10 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่อนุมัติการลงทุนแล้วถึง 2 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเอกชน

ความสำเร็จของ EEC ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนปี 2561 - ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น มีจำนวนถึง 1,360,349 ล้านบาท โดย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

การพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการพัฒนา คือ ‘Ecosystem’ พัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตในทุกมิติ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมือง และการยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ‘Exclusive’ กำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษ ในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการการลงทุนนั้น ๆ และ ‘Collaborative’ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการทำให้การลงทุน เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านโครงสร้างความเชื่อมโยง แต่รวมถึงการลงทุนจำนวนมาก มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเห็นความสำเร็จถึงประโยชน์ที่ส่งตรงถึงคนไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สร้างงาน พัฒนาการศึกษา นวัตกรรม โดยไม่มองข้ามการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า EEC ที่รัฐบาลภูมิใจ ให้ความสำคัญในการดำเนินการตลอดมานั้น จะเกิดประโยชน์ถึงประชาชนทุกคน

‘จีน’ ส่งมอบ ‘ผลลัพธ์จับต้องได้’ จาก ‘ประชาคมจีน-มาเลเซีย’ ฉลุย!! ธุรกิจจีนลงทุนเพิ่ม ส่วนมาเลฯ หนุนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว เผยว่า ‘หวังอี้’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบปะและประชุมร่วมกับ ‘แซมบรี อับดุล คาดีร์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

หวังอี้ กล่าวว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งผลลัพธ์อันจับต้องได้ในการสร้าง ‘ประชาคมจีน-มาเลเซีย’ ที่มีอนาคตร่วมกัน

หวัง ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประชุมร่วมกับแซมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ (11 ส.ค.) ระบุว่า จีนนับถือมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านฉันมิตร และพันธกิจสำคัญของการทูตจีนที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน

หวังเสริมว่า ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-มาเลเซีย และปีหน้าจะตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-มาเลเซีย

ฝ่ายจีนสนับสนุนมาเลเซียในการแสวงหาวิถีทางการพัฒนาอันเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ และการมีบทบาทในกิจการระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

หวังเรียกร้องทั้งสองฝ่ายขยับขยายการสื่อสารและการประสานงาน เพิ่มพูนความไว้วางใจซึ่งกันและกันในเชิงยุทธศาสตร์ สนับสนุนอีกฝ่ายในการคุ้มครองผลประโยชน์หลัก ตลอดจนสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมตามกฎหมาย และร่วมยึดถือบรรทัดฐาน พื้นฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หวังกล่าวว่าการก่อสร้างทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก (ECRL) และ ‘สองประเทศ นิคมอุตสาหกรรมแฝด’ ซึ่งเป็นสองโครงการสำคัญตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) มีความคืบหน้าที่ดี ขณะเดียวกันจีนและมาเลเซียมีความร่วมมืออันดีในการผลิตยานยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานใหม่

หวังกล่าวว่า จีนส่งเสริมกลุ่มบริษัทจีนเข้าลงทุนและเริ่มต้นธุรกิจในมาเลเซียเพิ่มขึ้น เพื่อบ่มเพาะช่องทางการเติบโตใหม่ๆ ของความร่วมมือ และจีนยินดีกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านเทคโนโลยีการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และอื่นๆ รวมถึงนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น

ด้าน แซมบรี กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและจีนนั้น ‘แข็งแกร่งและแน่นแฟ้น’ ขณะเดียวกันความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรม

มาเลเซียจะยังคงสนับสนุน และมีส่วนร่วมในการร่วมสร้างแผนริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ อย่างแข็งขัน ดำเนินความพยายามทั้งหมดเพื่อส่งเสริมโครงการความร่วมมือที่สำคัญ และแสวงหาการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ในทุกด้านและทุกระดับ เพื่อขยับขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

แซมบรีเสริมว่า มาเลเซียชื่นชมและสนับสนุนแผนริเริ่มระดับโลกต่างๆ ที่จีนนำเสนอ พร้อมเรียกร้องการอยู่ร่วมมกันอย่างกลมกลืนของอารยธรรมที่แตกต่าง และแสวงหาการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมกับจีน

อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายยังแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกต่อประเด็นระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญร่วมกัน และเห็นพ้องจะเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงาน รักษาความเป็นกลางของอาเซียน และส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาระดับภูมิภาค

ปัจจุบัน หวัง อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย และกัมพูชา

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังเปลี่ยนทิศขนส่งโลกมาไทย เพื่อก้าวเป็นฮับ ศก.ในภูมิภาค

(13 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลา ดังนี้

ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม  2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ท่าเรือชุมพร
- วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ความร่วมมือ ‘อินโดฯ-มาเลย์-ไทย’ ปี 64 ก้าวหน้า ดัน GDP โต หนุนร่วมพัฒนาทุนมนุษย์-การท่องเที่ยว เชื่อมโยงเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

(14 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ‘อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย’ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) โดยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อนุภูมิภาคมีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา คือ 1.) สาขาการค้าและการลงทุน 2.) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม 3.) สาขาการท่องเที่ยว 4.) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.) สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ 6.) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยังได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่า GDP ภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 12,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2527 ที่ 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ด้านโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีกว่า 36 โครงการก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อของทั้งสินค้า บริการ และคน อาทิ โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง), โครงการทางด่วนสุมาตรา และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) สาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น มุ่งเน้นใน 6 ประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว ภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT และการเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันความร่วมมืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จนเกิดความสำเร็จที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กว่า 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง IMT-GT ตั้งแต่ปี 2536 ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและภูมิภาค มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น 

'เอกวาดอร์' นำร่องประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม ชวน ปชช.ทำประชามติตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน

เมื่อวันอาทิตย์ (20 ส.ค.66) เป็นเลือกตั้งใหญ่ในเอกวาดอร์ที่นอกจากคนเอกวาดอร์จะต้องออกมาเข้าคูหาเลือกผู้นำคนใหม่แล้ว ยังมีโอกาสได้เลือกอนาคตของชาติด้วยว่า จะยังคงเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากพลังงาน โดยยอมแลกกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชาติหรือไม่

เนื่องจากในวันนั้น รัฐบาลเอกวาดอร์กำหนดให้เป็นวันทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนโดยตรงว่าจะยังคงให้มีการสำรวจ ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Yasuní National Park ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน หนึ่งในสถานที่ที่มีความสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีววิทยามากที่สุดในโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวสูง  

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอกวาดอร์ ที่ให้สิทธิ์ประชาชนร่วมตัดสินใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตาถึง แนวทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะได้คำตอบออกมาเช่นไร 

Yasuní National Park ในเอกวาดอร์ มีพื้นที่มากถึง 9,823 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าฝนดิบชื้น ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านแหล่งน้ำ สัตว์ป่า ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑลขององค์กรยูเนสโก้ เป็นแหล่งธรรมชาติที่ทรงคุณค่าที่ยังคงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในโลก 

แต่ทว่า ใต้พื้นดินในเขตป่าแอมะซอนของเอกวาดอร์ ยังเป็นแหล่งน้ำมันดิบมหาศาลกว่า 1.7 พันล้านบาร์เรล เทียบเท่ากับ 40% ของแหล่งน้ำมันสำรองที่บ่อน้ำมัน Ishpingo-Tiputini-Tambococha แหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ 

ย้อนกลับไปราวปี 2007 อดีตประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ราฟาเอล กอร์เรอา เคยนำประเด็นแหล่งน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มาต่อรองกับประชาคมโลก ว่าเอกวาดอร์จะยอมยุติการขุดเจาะ และสกัดน้ำมันภายในพื้นที่อุทยานป่าแอมะซอนแห่งนี้ แลกกับเงินช่วยเหลือจากประชาคมโลกจำนวน 3.6 พันล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ครึ่งหนึ่งจากบ่อน้ำมันแห่งนี้ คำนวณจากราคาน้ำมันดิบในปีนั้น 

เรื่องราวควรได้ข้อยุติไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ในปี 2016 บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเอกวาดอร์ได้เปิดพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ Yasuní ที่เรียกว่าเขต Block 43 เพื่อขุดเจาะน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้อีกครั้ง และปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 55,000 บารเรลต่อวัน คิดเป็น 12% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในเอกวาดอร์ 

และได้สร้างมลพิษอย่างมากมายให้กับพื้นที่แห่งนี้ ทั้งคราบน้ำมันปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การทำลายป่าเป็นวงกว้างเพื่อขุดเจาะน้ำมัน และการเบียดเบียนทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชนพื้นเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนจำนวนมาก 

แต่ก็มีชาวเอกวาดอร์ไม่น้อยเช่นกันที่สนับสนุนโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ นำรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาแก้ปัญหาความยากจน และยังช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่แรงงานชาวเอกวาดอร์จำนวนมาก 

เมื่อประเด็นการขุดน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มีการถกเถียงกันมานานกว่า 10 ปี ศาลรัฐธรรมนูญของเอกวาดอร์จึงตัดสินให้รัฐบาลต้องทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนโดยตรง ในวันเดียวกับวันเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตัดสินใจเรื่องระดับชาติไปในคราวเดียวกัน

ทำให้การออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวเอกวาดอร์ในครั้งนี้ มีความหมายมากกว่าทุกครั้ง แม้ในด้านหนึ่ง เอกวาดอร์กำลังเผชิญวิกฤติด้านสังคม และ การเมืองอย่างรุนแรง บ้านเมืองถูกครอบงำด้วยแก๊งมาเฟีย และเครือข่ายพ่อค้ายาเสพติด มีการซุ่มลอบสังหารนักการเมืองหลายคนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเศรษฐกิจตกต่ำยาวตั้งแต่ช่วง Covid-19 

แต่สำหรับการลงประชามติในโครงการขุดเจาะน้ำมันที่ Yasuni กลับมีบรรยากาศที่ผิดกัน ชาวเอกวาดอร์มีความกระตือรือร้น และรู้สึกมีความหวังกับการตัดสินใจครั้งนี้มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเชื่อว่าการแสดงออกผ่านประชามติครั้งนี้ พวกเขาสามารถเลือกอนาคตของชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หรือ รักษาสิ่งที่พวกเขาหวงแหนได้อย่างแท้จริง

ซึ่งก็ต้องมาติดตามว่า ชาวเอกวาดอร์จะเลือกรักษาสภาพแวดล้อมของผืนป่าแอมะซอน และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจพลังงาน หรือจะยอมแลกพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่ยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นสำคัญ

และยังเป็นการชี้วัดว่า การใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกได้หรือไม่ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top