'เอกวาดอร์' นำร่องประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม ชวน ปชช.ทำประชามติตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน

เมื่อวันอาทิตย์ (20 ส.ค.66) เป็นเลือกตั้งใหญ่ในเอกวาดอร์ที่นอกจากคนเอกวาดอร์จะต้องออกมาเข้าคูหาเลือกผู้นำคนใหม่แล้ว ยังมีโอกาสได้เลือกอนาคตของชาติด้วยว่า จะยังคงเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากพลังงาน โดยยอมแลกกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชาติหรือไม่

เนื่องจากในวันนั้น รัฐบาลเอกวาดอร์กำหนดให้เป็นวันทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนโดยตรงว่าจะยังคงให้มีการสำรวจ ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Yasuní National Park ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน หนึ่งในสถานที่ที่มีความสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีววิทยามากที่สุดในโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวสูง  

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอกวาดอร์ ที่ให้สิทธิ์ประชาชนร่วมตัดสินใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตาถึง แนวทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะได้คำตอบออกมาเช่นไร 

Yasuní National Park ในเอกวาดอร์ มีพื้นที่มากถึง 9,823 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าฝนดิบชื้น ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านแหล่งน้ำ สัตว์ป่า ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑลขององค์กรยูเนสโก้ เป็นแหล่งธรรมชาติที่ทรงคุณค่าที่ยังคงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในโลก 

แต่ทว่า ใต้พื้นดินในเขตป่าแอมะซอนของเอกวาดอร์ ยังเป็นแหล่งน้ำมันดิบมหาศาลกว่า 1.7 พันล้านบาร์เรล เทียบเท่ากับ 40% ของแหล่งน้ำมันสำรองที่บ่อน้ำมัน Ishpingo-Tiputini-Tambococha แหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ 

ย้อนกลับไปราวปี 2007 อดีตประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ราฟาเอล กอร์เรอา เคยนำประเด็นแหล่งน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มาต่อรองกับประชาคมโลก ว่าเอกวาดอร์จะยอมยุติการขุดเจาะ และสกัดน้ำมันภายในพื้นที่อุทยานป่าแอมะซอนแห่งนี้ แลกกับเงินช่วยเหลือจากประชาคมโลกจำนวน 3.6 พันล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ครึ่งหนึ่งจากบ่อน้ำมันแห่งนี้ คำนวณจากราคาน้ำมันดิบในปีนั้น 

เรื่องราวควรได้ข้อยุติไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ในปี 2016 บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเอกวาดอร์ได้เปิดพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ Yasuní ที่เรียกว่าเขต Block 43 เพื่อขุดเจาะน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้อีกครั้ง และปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 55,000 บารเรลต่อวัน คิดเป็น 12% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในเอกวาดอร์ 

และได้สร้างมลพิษอย่างมากมายให้กับพื้นที่แห่งนี้ ทั้งคราบน้ำมันปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การทำลายป่าเป็นวงกว้างเพื่อขุดเจาะน้ำมัน และการเบียดเบียนทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชนพื้นเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนจำนวนมาก 

แต่ก็มีชาวเอกวาดอร์ไม่น้อยเช่นกันที่สนับสนุนโครงการขุดเจาะน้ำมันในเขตป่าแอมะซอน ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ นำรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาแก้ปัญหาความยากจน และยังช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่แรงงานชาวเอกวาดอร์จำนวนมาก 

เมื่อประเด็นการขุดน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní มีการถกเถียงกันมานานกว่า 10 ปี ศาลรัฐธรรมนูญของเอกวาดอร์จึงตัดสินให้รัฐบาลต้องทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนโดยตรง ในวันเดียวกับวันเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตัดสินใจเรื่องระดับชาติไปในคราวเดียวกัน

ทำให้การออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวเอกวาดอร์ในครั้งนี้ มีความหมายมากกว่าทุกครั้ง แม้ในด้านหนึ่ง เอกวาดอร์กำลังเผชิญวิกฤติด้านสังคม และ การเมืองอย่างรุนแรง บ้านเมืองถูกครอบงำด้วยแก๊งมาเฟีย และเครือข่ายพ่อค้ายาเสพติด มีการซุ่มลอบสังหารนักการเมืองหลายคนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเศรษฐกิจตกต่ำยาวตั้งแต่ช่วง Covid-19 

แต่สำหรับการลงประชามติในโครงการขุดเจาะน้ำมันที่ Yasuni กลับมีบรรยากาศที่ผิดกัน ชาวเอกวาดอร์มีความกระตือรือร้น และรู้สึกมีความหวังกับการตัดสินใจครั้งนี้มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเชื่อว่าการแสดงออกผ่านประชามติครั้งนี้ พวกเขาสามารถเลือกอนาคตของชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หรือ รักษาสิ่งที่พวกเขาหวงแหนได้อย่างแท้จริง

ซึ่งก็ต้องมาติดตามว่า ชาวเอกวาดอร์จะเลือกรักษาสภาพแวดล้อมของผืนป่าแอมะซอน และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจพลังงาน หรือจะยอมแลกพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่ยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นสำคัญ

และยังเป็นการชี้วัดว่า การใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกได้หรือไม่ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


อ้างอิง: CNN / France 24 / The Guardian