‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น