Friday, 4 July 2025
เศรษฐกิจ

เริ่มแล้ว!! ดีเบต ‘ทรัมป์ VS แฮร์ริส’ เลือกตั้งชิงผู้นำสหรัฐฯ มีแต่ 'ซัด-สวน-แขวะ' ปม 'การเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง'

(11 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศึกดีเบตรอบแรกระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ เริ่มเปิดฉากขึ้นในเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ET) ที่เมือง ‘ฟิลาเดเฟีย’ รัฐ ‘เพนซิลเวเนีย’ โดยมีสถานีโทรทัศน์ ‘ABC News’ เป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางคำถามว่า ทรัมป์และแฮร์ริส ซึ่งไม่เคยพบเจอกันตัวเป็นๆ มาก่อนจะทักทายกันอย่างไร? ซึ่งปรากฏว่าแฮร์ริสจบข้อสงสัยด้วยการเป็นฝ่ายเดินไปหาทรัมป์ที่โพเดียมของเขา และยื่นมือทักทายพร้อมแนะนำตัวเองว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ ซึ่งถือเป็นการจับมือในศึกดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

รอยเตอร์ชี้ว่าท่าทีของแฮร์ริสเป็นการส่งสัญญาณ ‘ลดการ์ด’ ให้กับชายซึ่งใช้เวลาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาดูหมิ่นเหยียดหยามเธอทั้งในแง่ของเพศและเชื้อชาติ

แฮร์ริส ซึ่งเป็นอดีตอัยการวัย 59 ปี พุ่งเป้าโจมตีจุดอ่อนต่างๆ ของทรัมป์ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง จนทำให้ทรัมป์ในวัย 78 ปีออกอาการโมโหอย่างเห็นได้ชัด และพยายามตอบโต้ด้วยการอ้างข้อมูลบิดเบือนต่างๆ โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปราย แฮร์ริสได้กล่าวถึงการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ โดยเยาะเย้ยว่าคนส่วนใหญ่ ‘มักจะกลับก่อน’ เพราะว่า ‘ทนความเบื่อไม่ไหว’

ทรัมป์ก็ตอกกลับทันควันว่า “ในการปราศรัยของผม เรามีการปราศรัยขนาดใหญ่ที่สุด และเหลือเชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า แฮร์ริส ‘จัดรถบัส’ ไปขนคนเข้ามาฟังการปราศรัยของตัวเอง

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังอ้างทฤษฎีสมคบคิดไร้หลักฐานที่ระบุว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวเฮติในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ‘กินสัตว์เลี้ยง’ ของประชาชนในพื้นที่ โดยข้อมูลนี้ถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และถูกนำมาโหมกระพือโดย ‘เจ. ดี. แวนซ์’ ซึ่งเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์เอง

“ที่สปริงฟิลด์ คนพวกนั้นกินสุนัข พวกที่อพยพย้ายเข้ามา พวกเขากินแมว” ทรัมป์ กล่าว “พวกนั้นกินสัตว์เลี้ยงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง”

เจ้าหน้าที่เมืองสปริงฟิลด์เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อครหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง และผู้ดำเนินรายการของ ABC ก็รีบโต้แย้งทันทีหลังจากที่ทรัมป์พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ขณะที่แฮร์ริสแสดงออกด้วยการหัวเราะและเย้ยหยันอีกฝ่ายว่า “พูดจาสุดโต่ง”

แฮร์ริสซึ่งเป็นอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังพยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์ขึ้นมาโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่เขาพยายามล้มผลเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งตลอด 1 ชั่วโมงแรกของการดีเบตดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์นี้จะได้ผลไม่น้อย และบีบให้ ทรัมป์ต้องพยายามหาทางแก้ต่างให้กับตัวเอง

ทรัมป์กล่าวว่าตนเอง ‘ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง’ กับเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 นอกเหนือไปจาก “พวกเขาขอให้ผมขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์” และยังคงอ้างเหมือนเดิมว่าตนเองคือผู้ที่ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

แฮร์ริสยกพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์มาเป็นเหตุผลว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่

“โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกชาวอเมริกัน 81 ล้านคนไล่ลงจากเก้าอี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจชัดเจนตามนี้ด้วย และเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหาในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ แต่เราไม่สามารถยอมให้สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีที่พยายามล้มล้างเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างที่เขาเคยพยายามทำมาในอดีตได้” แฮร์ริส กล่าว

รองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ยังจิกกัดทรัมป์ด้วยการบอกว่าผู้นำทั่วโลกต่าง ‘หัวเราะเยาะ’ เขา และมองว่าเขา ‘สร้างความอับอาย’ ต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสำนวนภาษาเดียวกันกับที่ทรัมป์มักจะพูดเย้ยหยัน ‘โจ ไบเดน’ ระหว่างที่เดินสายหาเสียง

ด้านทรัมป์ก็หันมาเล่นงานแฮร์ริสด้วยการอ้างว่าเธอ ‘ไม่เคยได้รับคะแนนโหวต’ ในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และยังอ้างว่าเธอก้าวขึ้นมาแทนที่ไบเดน ตามแผน ‘รัฐประหาร’ (coup) ของคนในพรรค

“เขาเกลียดเธอ” ทรัมป์อ้างว่าไบเดนรู้สึกเช่นนั้น “เขาทนเธอไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงเช่นนี้ดูเหมือนจะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดของแฮร์ริสที่ว่า ทรัมป์ขาดความสามารถในการ ‘ควบคุมอารมณ์’ ซึ่งประธานาธิบดีควรจะมี

ผู้สมัครทั้งสองยังแลกหมัดกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมสูงกว่าแฮร์ริส ในด้านนี้

แฮร์ริสได้แจกแจงนโยบายต่างๆ ที่เธอได้นำเสนอตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การให้ประโยชน์ทางภาษีแก่ครอบครัวและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็โจมตีแผนของทรัมป์ ในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยบอกว่ามันไม่ต่างอะไรกับการรีดภาษีการขาย (sales tax) เอากับชนชั้นกลาง

“โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เราต้องเผชิญปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” แฮร์ริสกล่าว โดยอ้างถึงตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสูงสุด 14.8% ในเดือน เม.ย. ปี 2020 และลงมาอยู่ที่ 6.4% ในขณะที่ทรัมป์พ้นตำแหน่ง

ด้านทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไบเดน โดยระบุว่า “เงินเฟ้อถือเป็นหายนะสำหรับประชาชน สำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง และคนทุกๆ กลุ่ม” จากนั้นก็รีบเปลี่ยนไปสู่ประเด็นเรื่องผู้อพยพ โดยอ้างแบบไร้หลักฐานยืนยันว่ามีผู้อพยพ ‘จากโรงพยาบาลบ้า’ (insane asylums) หลบหนีข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกเข้ามายังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก

ผู้สมัครทั้ง 2 รายยังแสดงมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นบ่งชี้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางของแฮร์ริสมากกว่า

ทรัมป์อ้างไปถึงคำพิพากษาของศาลสูงสุดในปี 2022 ที่ยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง และให้แต่ละรัฐมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นนี้เอง โดยเขาอ้างว่า “ผมเองมีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ และใช้ความกล้าหาญในการทำสิ่งนี้”

ด้านแฮร์ริสแสดงความไม่พอใจต่อข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่าการที่สิทธิทำแท้งกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐถือเป็นผลลัพธ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

“นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการงั้นหรือ? คนจำนวนมากถูกปฏิเสธรับเข้าห้องฉุกเฉิน เพราะพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลัวว่าจะติดคุกเนี่ยนะ?” แฮร์ริสตั้งคำถาม

เมื่อถูกถามว่าจะใช้สิทธิ ‘วีโต’ หรือไม่หากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนการทำแท้ง? ทรัมป์ยืนยันว่า “สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น” แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา

ทรัมป์และแฮร์ริสยังกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าพยายามใช้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็น ‘อาวุธ’ โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดย ทรัมป์นั้นอ้างว่าการที่ตนถูกยื่นฟ้องฐานสมคบคิดล้มผลเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และจัดการเอกสารชั้นความลับอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ที่เคยมีสัมพันธ์สวาทด้วยนั้น ทั้งหมดเป็น ‘แผนสมคบคิด’ ที่ แฮร์ริสและไบเดนร่วมมือกันสร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นการกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐานตามเคย

ด้านแฮร์ริสฟาดกลับด้วยการชี้ว่า ทรัมป์ข่มขู่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับบรรดาศัตรูทางการเมือง หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

“โปรดเข้าใจด้วยว่า เขาคือคนที่เคยออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่าจะฉีก --- นี่ดิฉันเอ่ยตามที่เขาพูดนะ --- จะฉีกรัฐธรรมนูญ” เธอกล่าว

ทรัมป์ยังคงอ้างซ้ำๆ เหมือนเดิมว่าการที่ตนแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2020 ก็เพราะ ‘ถูกโกง’ พร้อมทั้งกล่าวหาแฮร์ริสว่าเป็นพวก ‘มาร์กซิสต์’ และอ้างด้วยว่าผู้อพยพเป็นต้นเหตุทำให้สถิติอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้น

ในประเด็นสงครามอิสราเอล-กาซา แฮร์ริสประกาศว่า “สงครามจำเป็นต้องยุติลงทันที และมันจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อเรามีข้อตกลงหยุดยิง และเราจำเป็นต้องช่วยตัวประกันทั้งหมดออกมา” ขณะที่ทรัมป์ระบุว่าแฮร์ริส “เกลียดชังอิสราเอล ถ้าเธอได้เป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะไม่มีชาติอิสราเอลเหลืออยู่แน่นอน”

แฮร์ริสเถียงกลับทันควันว่า “นี่ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย ตลอดชีวิตและการทำงานของดิฉันสนับสนุนอิสราเอลและประชาชนชาวอิสราเอลเรื่อยมา”

จีน เปิดหลักสูตรใหม่กว่า 21,000 หลักสูตร รองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ - สังคม

(1 ต.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 กระทรวงศึกษาธิการของจีนกล่าวย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในภูมิทัศน์การศึกษาระดับสูงของจีน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

กระทรวงฯ แถลงข่าวในกรุงปักกิ่งว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดตัวหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาตรี 21,000 หลักสูตรทั่วจีน และยกเลิกหลักสูตรที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม 12,000 หลักสูตร

ในปี 2024 เพียงปีเดียว มีการจัดตั้งหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ 1,673 หลักสูตร ขณะที่หลักสูตร 1,670 หลักสูตรได้ถูกยกเลิกไป

รายงานระบุว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านสำคัญในโครงสร้างวิชาการทั่วจีน ส่วนการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะมุ่งเน้นไปที่การจัดแนวทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ สนับสนุนการพัฒนาระดับภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน

ปัจจุบันจีนมีมหาวิทยาลัย 1,308 แห่งที่เปิดหลักสูตรใน 816 สาขาวิชา และมีหลักสูตรในระดับปริญญาตรีรวมทั้งสิ้น 62,000 หลักสูตรทั่วประเทศ

4 บิ๊กอสังหาหั่นเป้าปี 67 จากยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง!! REIC ชี้ กำลังซื้อซึบซม แต่มีแสงสว่างที่ภูเก็ต-สงขลา

(22 ต.ค. 67) จากกระแสข่าวถึงสภาวะตลาดของกลุ่มธุรกิจหมวดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปไม่นานนี้ในการประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีธุรกิจผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 4 เจ้าด้วยกันที่ได้ประกาศปรับลดเป้าต่าง ๆ ของบริษัทลง 

บริษัทแรก คือ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)โดย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ ได้เปิดเผยว่า ได้มีการปรับลดเป้าหมายการเปิดตัวของโครงการจาก 17 โครงการในปีนี้เหลือ 13 โครงการ เนื่องมาจากปัญหาอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่สูงมาก 

บริษัทต่อมา คือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ที่นายอุเทน โลหพิชิตพิทักษ์ ประธษนเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศปรบลดโครงการใหม่จาก 30 โครงการเหลือ 29 โครงการ พร้อมทั้งปรับยอดขายในปีนี้จาก 27,000 ล้านบาทเหลือ 22,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ทางพฤกษายังได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นทำตลาดอังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ 

บริษัทที่ 3 ได้แก่ บริษัท พร็อพ เพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) โดยนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาค กรรมการผู้จัดการ ได้แจ้งว่า จากสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร จึงทำให้ทางบริษัทต้องปรับลดเป้าการเปิดตัวโครงการใหม่จาก 7 โครงการ เลือ 1 โครงการ สำหรับโครงการอื่น ๆ จะเลื่อนการเปิดตัวไปในปีหน้า 

บริษัทสุดท้าย คือ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ที่ใช้เวที Opportnity Day เปิดเผยผ่าน นางสาวกนกไพลิน วิไลแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ว่า ทางบริษัทมีการปรับเป้าหมายรายได้ของปีนี้เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท จากที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท 

จากข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับรายงาน ‘สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาส 2 ปี 2567 และครึ่งแรกปี 2567’ ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่เปิดเผยว่า 

ภาวะของตลาดที่อยู่อาศัยทั้งด้านความต้องการซื้อ(อุปสงค์)ลดลงซึ่งส่งผลให้ด้านการเปิดตัวโครงการ(อุปทาน)ลดลงตามไปด้วย อันเป็นผลมาจากดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง(รายงานฉบับนี้ออกก่อนที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย 

นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศในไตรมาสที่ 2 นั้นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คือ ไตรมาส 2 ของปี 2566 ถึง 10.1%

อย่างไรก็ดีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต และสงขลา มีการขยายตัวทั้งจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์และมูลค่า

จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างแสดงข้อเรียกร้องผ่านสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือมาตรการที่บังคับให้วางเงินดาวน์บ้าน กรณีซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ 

จากสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าเมื่อไหร่จะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะจากที่เคยเป็นอสังหาริมทรัพย์ยุครุ่งเรืองกลับกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ยุคอัสดงไปเสียแล้ว 

'พิชัย' หารือ รมต.เกษตรรัสเซีย เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย(EAEU) เปิดประตูการค้า-ลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายเซอร์เกย์ เลวิน (H.E. Mr. Sergey Levin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมเร่งเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยต่อไป

นายพิชัย กล่าว่า โดยที่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซียด้วยเช่นกัน

นายพิชัย ระบุว่า ตนได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนและสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 

ในปี 2566 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 1,188.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 32.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่ารวม 610.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล การนำเข้าจากรัสเซียมูลค่ารวม 578.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์

วธ.ชวนประชาชนร่วมงานฉลองต้มยำกุ้ง - เคบายา มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมต่อยอดเศรษฐกิจวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้ เสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  

ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2567 กระทรวงวัฒนธรรม ชวนพี่น้องชาวไทยร่วมงานฉลอง ต้มยำกุ้ง - เคบายา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ชิมฟรีต้มยำกุ้ง ปรุงโดยเชฟตุ๊กตา และเชฟเมย์ เชฟกระทะเหล็ก  ร่วมด้วยนางสาวไทย (ดินสอสี) ปี 67 พร้อมรองอันดับ ๑ และ อันดับ ๒ เดินแฟชั่นโชว์ชุด เคบายา สวยงามประทับใจชาวไทยและต่างชาติ สร้างกระแสให้ทุกภาคส่วนร่วมสืบสานต่อยอดมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืน

(วันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดพิธีเปิด งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน 'ต้มยำกุ้ง' (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 ในพิธีเปิดงาน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมี นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมด้วย Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร เชฟชุมพล เชฟระดับมิชลิน และเป็นผู้ทำอาหารไทยเสิร์ฟในเวทีเอเปค 2022 (APEC 2022) พร้อมคณะทูตานุทูต 8 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เมียนมา จีน สิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์

นางสาวสุดาวรรณ ประธานได้กล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา ว่า เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ณ เมืองอะซุนซิออง สาธารณรัฐปารากวัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา  ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบัน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เป็นมรดกวัฒนธรรมฯ รวม 6 รายการ คือ “โขน” ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ “นวดไทย” ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ “โนรา” ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และ “สงกรานต์” ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ และในปี 2567 คือ ต้มยำกุ้ง และ เคบายา

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอด รายการมรดกภูมิปัญญาฯ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” โดย ๑.ประเทศไทย จะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญา ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน ๒.จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกภูมิปัญญา ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ๓.จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้ร่วมกันส่งเสริม รักษา และสืบทอดมรดกภูมิปัญญา ทั้ง 2 รายการ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

“รัฐบาลและประชาชนไทย จะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ ให้เจตนารมณ์ทั้ง ๓ ข้อ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนับสนุนให้มรดกภูมิปัญญา “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ  ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรม” รมว.วธ.กล่าว 

รมว.วธ.กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีแผนในการส่งเสริมและต่อยอดมรดกวัฒนธรรม หลังจากยูเนสโก ขึ้นทะเบียน ต้มยำกุ้ง - เคบายา แล้ว ด้วยการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร และ ด้านแฟชั่น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะนำเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขายเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง รวมถึงยอดขายวัตถุดิบต่างๆ  และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไปสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย และในส่วน ภาคชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยมุ้งเน้นบูรการร่วมกับหอการค้า สมาคม ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายเคบายา ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย ด้วยการเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสวมใส่ ชุดเคบายา พร้อมถ่ายรูปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างสีสันไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย

ทั้งนี้ บรรยากาศในพิธีเปิดงานฉลองฯ เริ่มด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดเคบายา โดย นางสาวพนิดา เขื่อนจินดา (ดินสอสี) นางสาวไทย ปี ๒๕๖๗ พร้อมด้วยรองนางสาวไทย อันดับ ๑ และ อันดับ ๒ และผู้แสดงจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  จากนั้น ประธานกล่าวแสดงความยินดี และได้สาธิตสาธิตการทำต้มยำกุ้ง    พร้อมให้ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดได้ชิมฟรี  ทั้งนี้ ภายในงานมี นิทรรศการ นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ต้มยำกุ้ง และเคบายา” สาธิตการปรุง/ประกอบอาหารต้มยำกุ้ง ให้ประชาชนชิมฟรี โดยเชฟตุ๊กตา (ร้านบ้านยี่สาร) เชฟกระทะเหล็ก ในวันที่ 6 ธ.ค. และพบเชฟเมย์ พัทรนันท์ ธงทอง เชฟกระทะเหล็ก 7-8 ธ.ค. นี้  นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการปักและจัดทำชุดเคบายา พร้อมซุ้มอาหารและจำหน่ายเครื่องแต่งกายเคบายา จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล  ผู้ที่มาเที่ยวงานยังได้อิ่มอร่อยกับร้านอาหารที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ อีก 20 บูธ ตลอดทั้ง 3 วัน 

ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก (UNESCO) จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และสงกรานต์ (2566) รวมด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม สร้างสีสัน ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรฝั่งแพลตฟอร์มเดลิเวอรี แกร็บ ประเทศไทย ในการร่วมฉลองต้มยำกุ้งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ผ่านการมอบโค้ดส่วนลดเมื่อสั่งเมนูต้มยำกุ้งผ่านแกร็บฟู้ด เพียงใส่โค้ด 'TOMYUM' รับส่วนลดสูงสุด 30 บาท เมื่อสั่งขั้นต่ำ 100 บาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 6 - 25 ธันวาคม 2567  ทั้งนี้ ร้านค้าที่เข้าร่วมในแคมเปญ ประมาณ 24,000 ร้าน’

'Digital GDP' ขยายตัว ร้อยละ 5.7 - 'การส่งออกดิจิทัล' ขยายตัวร้อยละ 17.2 'รองนายกฯ ประเสริฐ' ชี้ผลสำเร็จรัฐบาลให้ความสำคัญ ยกระดับดิจิทัลไทย เผยปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

(13 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวระหว่างร่วมเวทีสัมมนาเพื่อเผยแพร่การดำเนินโครงการ 'Thailand Digital Economy 2024' ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 นั้นได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย Broad Digital GDP (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) ประมาณการว่าขยายตัว 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สศช. ประมาณการ) ในด้านการค้าต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) จะขยายตัวร้อยละ 17.2 คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 (สศช. ประมาณการ) 

"รัฐบาลก่อนหน้าและรัฐบาลนายกแพทองธาร รวมทั้งผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้มีการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล เชื่อว่าส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างดี ในปี 2567 สูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม กว่า 2 เท่าตัว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ในปี 2567 ดังนี้

1. เศรษฐกิจโดยรวม นั้น Broad Digital GDP (CVM) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง มีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว ร้อยละ 5.7 จากปี 2566 และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

2. ด้านการลงทุน โดยการลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน (CVM) มีการขยายตัวร้อยละ 2.8 จากปี 2566 ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากปี 2566 ปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ขยายตัวจากฐานที่ติดลบในปีก่อนหน้า

3. ด้านการบริโภคนั้นการบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.6 สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่เท่ากับร้อยละ 4.8 สำหรับการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สินค้าดิจิทัลเป็นสินค้าที่มีความต้องานบริโภคในระดับสูงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

4. ภาคการค้าและบริการในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 17.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 6.1 จากเดิมที่ขยายตัว ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา ในด้านการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศอุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาสินค้าดิจิทัลทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ตลอดจนสื่อดิจิทัลคอนเทนต์จากต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อการส่งออกสินค้าขยายตัวจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

5. ภาคการผลิต ซึ่งในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.71 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.75 ตามการขยายตัวของการผลิตในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (+12.64%) และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+10.00%) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ที่มาของการเติบโต (Source of growth) พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+1.90%) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (+1.36%) และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (+1.27%) ตามลำดับ 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมหมวดโทรคมนาคมมีผลต่อการเติบโตโดยรวมสูงเกือบ 1 ใน 3 ของการขยายตัวทั้งหมด โดยกิจกรรมการผลิตที่ขยายตัวสูงในปีนี้ ได้แก่ การผลิตเคเบิลเส้นใยนำแสง การขายส่งและการขายปลีกโทรศัพท์ และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง) และที่มาของการเติบโต

นายเวทางค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2567 ขยายตัวได้ดี และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนและการบริโภคภาครัฐด้านดิจิทัล รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชนยังไม่ขยายตัว และเชื่อว่าในปี 2568 และ 2569 การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอน

'พิชัย' ถกทูตเกาหลีใต้ เดินหน้าเจรจาจัดทำ FTA ไทย - เกาหลีใต้ ตั้งเป้าปิดดีลในปี 2568 ชวนเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทย ดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการพบหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย (นายปาร์ค ยงมิน) ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย – เกาหลีใต้ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 และรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี และกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA โดยใช้ชื่อว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ EPA ไทย – เกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจากความตกลงที่ไทยกับเกาหลีใต้เป็นภาคีร่วมกันอยู่แล้ว ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งขยายความร่วมมือในเรื่องใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น โดยตนได้ขอให้เกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ สินค้ากลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง มังคุด และสับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป และยังได้แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาความตกลง EPA ไทย–เกาหลีใต้ รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 – 19 ธันวาคม 2567 นี้ โดยไทยและเกาหลีใต้เห็นพ้องให้มีการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐมนตรีที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นเวทีหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้า การลงทุน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยตนได้แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ในช่วงต้นปี 2568

นายพิชัย เพิ่มเติมว่า ในด้านการลงทุน ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะลงทุนในไทยเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน แต่ล่าสุด บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเครื่องสำอางของเกาหลีใต้เตรียมเข้ามาตั้งโรงงานในไทยอีกด้วย และยังได้ถือโอกาสเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล AI ดาต้าเซนเตอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และคอนเทนต์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง โดยเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้กล่าวสนับสนุนเนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้ต้องการกระจายการลงทุนในหลายประเทศมากขึ้น

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยในเกาหลียังมีความมั่นคง สามารถยืนหยัดรักษาต่อไปได้ ขณะที่ รมว. พาณิชย์ก็แสดงความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยก็จะมีความมั่นคงเช่นเดียวกับเกาหลี 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. –ต.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 12,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 5,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 7,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"

'พิชัย' ถกเข้ม 10 นโยบายเร่งด่วนพาณิชย์ ยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสเกษตรกรส่งออกข้าวเสรี ดันราคามันสำปะหลัง เตรียมบิน UAE เจรจาการค้าการลงทุน กุมภาฯนี้ 

(10 ม.ค.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม 20610 ชั้น 6 กรมการค้าภายใน โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ในการติดตามผลงานและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ตามแนวทางของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมได้มีประเด็นสั่งการสำคัญดังนี้ 

(1) ให้เร่งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า สื่อสารประชาชนให้ทราบแนวทางของกระทรวงฯและแนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาล 

(2) เรื่อง FTA ถ้าเราปิดจบได้มาก การค้าการลงทุนเราจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราพยายามจี้ให้สำเร็จ มีเรื่องของ FTA ไทย-UAE ที่เราอยากดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จาก UAE เข้ามาอีกหลายเรื่อง โดยจะมีการร่วมมือกันในหลายระดับและตนจะเดินทางไป UAE เพื่อจะได้มีความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในเรื่อง ของ FTA Data Center และ Food Security

(3) เตรียมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ดาวอส จะไปเซ็นสัญญา FTA กับเอฟตา และจะมีประเด็นต่างๆเข้าไปร่วมเจรจาด้วย 

(4)เรื่อง Food Storage เพื่อแก้ปัญหา Food Security คลังอาหารของโลกให้กับประเทศต่างๆ เป็นทิศทางที่กระทรวงเร่งดำเนินการ 

(5) เรื่องเปิดเสรีข้าว ปลดล็อก/
ปรับลด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นนโยบายหลักของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากให้เปิดเสรี เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไทยจะได้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น มีการลดปริมาณสต๊อกและยกเว้นธรรมเนียมให้รายย่อย โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมและแถลงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 มกราคมนี้

(6) เรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร ในเรื่องมันสำปะหลังปีนี้ทางจีนมีการซื้อช้าหน่อย แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาซื้อแล้วทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเริ่มดีขึ้น และจะมีการเร่งรัดเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์เพิ่มเติมให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และจะมีการดำเนินการอีกหลายโครงการ ซึ่งกรมการค้าภายในได้เชิญชวนผู้ซื้อมันสำปะหลังจากจีนผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จะมีการซื้อขายมันเส้นอีกประมาณ 300,000 ตัน จะช่วยพยุงราคามันสำปะหลังให้ดีขึ้น และจะช่วยดันราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตรต่อไป 

(7) เรื่องการปรับโฉม Thai SELECT ให้เทียบชั้น MICHELIN Star ยกระดับให้มีมาตรฐาน

(8) แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าไหลเข้ามาในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมีการจับนอมมินีมากขึ้น 
(9) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล APP กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมทุกกรมฯให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับประชาชนในวงกว้างให้สะดวกและครอบคลุม เป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นในการดำเนินการต่อไป
(10) เรื่อง Thailandbrand ให้มี SME ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยใช้สัญลักษณ์ Thailand brand มอบให้ท่านปลัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคนในอาเซียนมองสินค้าไทยเป็นสินค้าพรีเมียม อยากให้คนไทยมองสินค้าไทยเป็นพรีเมียมด้วย สินค้าเรามีคุณภาพสูงอยากให้ส่งเสริมใช้สินค้าไทยกันเยอะๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของไทยให้ได้รับการยอมรับอย่างสูง

“และจากนี้ตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมต่าง ๆ ซึ่งคนกระทรวงพาณิชย์มีความสามารถดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะได้ไปกระตุ้นให้มีงานออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น  เราต้องการให้คนตัวเล็กเกษตรกรสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดสต๊อกส่วนผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป และเฟสต่อไปจะอำนวยความสะดวกให้มาจดทะเบียนที่เดียว สามารถเป็นทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจค้าข้าวและการส่งออกข้าว จะได้ข้อสรุปภายในมีนาคมนี้ในเฟสแรก และถ้าเป็นไปด้วยดีจะเปิดเสรีเลยในอนาคต ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการทำลายการผูกขาดและเปิดเสรีในทุกด้าน“ นายพิชัย กล่าว

'รองนายกฯ ประเสริฐ' เผยผลสำเร็จ เข้าร่วมการประชุม WEF 2025 เดินหน้าเทคโนโลยีแห่งอนาคต ยกระดับเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลไทย

(24 ม.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568 ว่า การประชุม WEF 2025 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม 'Collaboration for the Intelligent Age' ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพผ่านการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในยุคดิจิทัลที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ และผู้มีวิสัยทัศน์จากทั่วโลกเข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือแนวทางการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning), และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ในช่วงวันที่ 21 – 22 มกราคม 2568 กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Abdullah AlSwaha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ บริษัท Cisco Systems, AstraZeneca, Salesforce, META, Google และ AWS รวมทั้งได้มีการหารือกับ World Bank’s Global Director for Water ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือทวิภาคีกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมิติ , (2) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย , (3) การยกระดับทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ , (4) ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ , (5) การพัฒนาระบบไอทีของหน่วยงานภาครัฐผ่านนโยบาย Cloud First Policy , (6) การส่งเสริมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล , (7) การส่งเสริม digital literacy ของหน่วยงานรัฐและของประชาชน , (8) การพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย รวมถึงการสนับสนุน digital startups ให้เข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ , (9) การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ของไทยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต , (10) การพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล , (11) การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล , (12) แนวทางการทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ และ (13) มาตรฐานชุมชนและเครื่องมือความปลอดภัยในการใช้งานแพลตฟอร์ม

ขณะที่ในวันที่ 23 มกราคม 2568 กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ Meeting of the Jobs Champion ซึ่งเป็นการประชุมเสวนาผู้นำ (Leaders Dialogue Meeting) ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้นำระดับสูงจาก'รองนายกฯ ประเสริฐ' เผยผลสำเร็จ เข้าร่วมการประชุม WEF 2025 เดินหน้าเทคโนโลยีแห่งอนาคต ยกระดับเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลไทย

วันที่ 24 มกราคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568 ว่า การประชุม WEF 2025 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม 'Collaboration for the Intelligent Age' ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพผ่านการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในยุคดิจิทัลที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ และผู้มีวิสัยทัศน์จากทั่วโลกเข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือแนวทางการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning), และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ในช่วงวันที่ 21 – 22 มกราคม 2568 กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Abdullah AlSwaha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ บริษัท Cisco Systems, AstraZeneca, Salesforce, META, Google และ AWS รวมทั้งได้มีการหารือกับ World Bank’s Global Director for Water ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือทวิภาคีกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมิติ , (2) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย , (3) การยกระดับทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ , (4) ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ , (5) การพัฒนาระบบไอทีของหน่วยงานภาครัฐผ่านนโยบาย Cloud First Policy , (6) การส่งเสริมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล , (7) การส่งเสริม digital literacy ของหน่วยงานรัฐและของประชาชน , (8) การพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย รวมถึงการสนับสนุน digital startups ให้เข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ , (9) การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ของไทยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต , (10) การพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล , (11) การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล , (12) แนวทางการทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ และ (13) มาตรฐานชุมชนและเครื่องมือความปลอดภัยในการใช้งานแพลตฟอร์ม

ขณะที่ในวันที่ 23 มกราคม 2568 กระทรวงดีอีได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ Meeting of the Jobs Champion ซึ่งเป็นการประชุมเสวนาผู้นำ (Leaders Dialogue Meeting) ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้นำระดับสูงจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน เข้าร่วมหารือประเด็นระดับโลกที่สำคัญ โดยมีการรายงานผลการวิจัยใหม่เรื่อง 'อนาคตของงาน' ที่กล่าวถึงผลกระทบของ AI ต่องานและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อทุกคน

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสำคัญ 'Thailand Reception' ซึ่งเป็นงานเลี้ยงต้อนรับอาหารกลางวัน ระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ และนายกรัฐมนตรีประเทศไทย โดยมีการนำเสนออาหารไทยและการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และการต้อนรับอันอบอุ่นของประเทศไทย ในธีม Nourishing the Future for ALL เน้นเรื่องอาหารและศักยภาพของประเทศไทย โดยนำเสนอวัฒนธรรมและความเป็นไทย ผ่านอาหารไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power และศักยภาพของประเทศไทยในฐานะ 'ครัวของโลก'

“สำหรับในวันที่ 24 มกราคม 2568 ผมจะเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA และการเสวนาของนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ 'Not Losing Sight of Soft Power' ที่จะกล่าวถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในวัฒนธรรมสมัยนิยม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับการกระตุ้นโดยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ Country Strategy Dialogue on Thailand โดยท่านนายกจะกล่าวถึงจุดแข็งของประเทศไทยโดยรวม ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การใช้เทคโนโลยีด้านเกษตร และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” นายประเสริฐ กล่าว

ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน เข้าร่วมหารือประเด็นระดับโลกที่สำคัญ โดยมีการรายงานผลการวิจัยใหม่เรื่อง 'อนาคตของงาน' ที่กล่าวถึงผลกระทบของ AI ต่องานและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อทุกคน

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสำคัญ 'Thailand Reception' ซึ่งเป็นงานเลี้ยงต้อนรับอาหารกลางวัน ระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ และนายกรัฐมนตรีประเทศไทย โดยมีการนำเสนออาหารไทยและการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และการต้อนรับอันอบอุ่นของประเทศไทย ในธีม Nourishing the Future for ALL เน้นเรื่องอาหารและศักยภาพของประเทศไทย โดยนำเสนอวัฒนธรรมและความเป็นไทย ผ่านอาหารไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power และศักยภาพของประเทศไทยในฐานะ “ครัวของโลก” 

“สำหรับในวันที่ 24 มกราคม 2568 ผมจะเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA และการเสวนาของนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ 'Not Losing Sight of Soft Power' ที่จะกล่าวถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในวัฒนธรรมสมัยนิยม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับการกระตุ้นโดยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ Country Strategy Dialogue on Thailand โดยท่านนายกจะกล่าวถึงจุดแข็งของประเทศไทยโดยรวม ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การใช้เทคโนโลยีด้านเกษตร และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” นายประเสริฐ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top