Friday, 10 May 2024
เศรษฐกิจ

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกือบ 9 ล้านล้านบาท พยุงเงินเฟ้อครัวเรือน-หนุนเอกชนขึ้นค่าแรง-ลงทุนในประเทศ

(2 ต.ค.66) บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วงเงินราว 37.4 ล้านล้านเยน (เกือบ 9 ล้านล้านบาท) เพื่อเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยเหลือภาคครัวเรือน ไปจนถึงการลงทุนในประเทศ

หนึ่งในแผนการช่วยเหลือสำคัญภายใต้มาตรการนี้คือการช่วยบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อให้ภาคครัวเรือนญี่ปุ่น ช่วยภาคเอกชนปรับขึ้นค่าแรง และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลจะประกาศงบการลงทุนก้อนใหญ่  21.8 ล้านล้านเยน (ราว 5.22 ล้านล้านบาท) รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เคยเกริ่นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เอาไว้ว่า จะมีเรื่องการลดภาษีเงินได้ไปจนถึงการแจกเงินช่วยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ยังมีขึ้นท่ามกลางคะแนนนิยมของคิชิดะที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดลงมาแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว โดยผลสำรวจคะแนนนิยมของสถานีโทรทัศน์ เอเอ็นเอ็น พบว่า คะแนนนิยมคิชิดะลดลงมาอยู่ที่ 26.9% ส่วนผลสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ อยู่ที่ 33% โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 58% ยังระบุด้วยว่า ไม่มีความหวังอะไรมากนักกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้

ทั้งนี้ ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมา 17 เดือนติดต่อกันแล้ว เนื่องจากอัตราค่าแรงไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับค่าแรงตามฤดูกาลเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีนี้ไปแล้วก็ตาม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับคณะ 'ผู้ว่าฯ ไซตามะ' ขยายความร่วมมือ 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' ทุกระดับ

(10 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะของนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr.OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama-Thai Network Exchange Meeting 2023 โดยหลังการต้อนรับได้มีการหารือทั้งสองฝ่ายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลภายหลังการหารือว่า ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จากการหารือขณะนี้พบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นลำดับแรก จากศักยภาพความพร้อมในด้านทรัพยากร, การท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ 

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 262 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลางญี่ปุ่น 4 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ประสานความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองประเทศ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่าได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติงานเพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกผสานความร่วมมือการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพันล้านและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย และผู้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะสามารถยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน 

สำหรับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 7.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูงสุดมูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

‘สภาฯ สิงคโปร์’ วุ่น!! เร่งถก ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ หวั่นกระทบการค้า-สะเทือนเศรษฐกิจในประเทศ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ รายงานว่า นายชี ฮง ทัต รักษาการณ์รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

โดยนายชี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าราว 2-3 วันก็จริงอยู่ แต่เรือขนสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจริงๆ อาจลดเวลาได้ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญ คือ เรือสินค้าจะต้องเสียเวลาในการโหลดสินค้าขึ้นจากท่าเรือฝั่งหนึ่ง เพื่อขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งไปยังท่าเรืออีกฝั่ง จากนั้นก็โหลดสินค้าลงสู่เรือเพื่อเดินทางต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ บริษัทขนส่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการทบทวนและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระหว่างการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ และการใช้แลนด์บริดจ์ของไทยว่าทางไหนคุ้มกว่ากัน

สำหรับประเด็นที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามันของไทย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และกระทบกับศักยภาพการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือไม่ นายชีตอบว่า “สิงคโปร์ไม่สามารถห้ามประเทศอื่นจากการพัฒนาท่าเรือหรือโครงสร้างใดๆ ก็ตามได้ แต่สิ่งที่สิงคโปร์ควรทำและทำได้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้สิงคโปร์ไม่ได้รับผลกระทบ หรือหาทางเพิ่มศักยภาพท่าเรือสิงคโปร์ให้ดึงดูดเรือขนสินค้าเหล่านั้น”

‘นายกฯ’ รับ!! ไทย ‘เสียโอกาส-ตัวตน’ บนเวทีโลกกว่าทศวรรษ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จำเป็น!! ต่อการฟื้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

(23 พ.ย. 66) ที่เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง’ โดยก่อนปาฐกถานายกรัฐมนตรีได้พูดคุยและหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมากว่าทศวรรษไทยสูญเสียโอกาส และตัวตนในเวทีโลกในการออกไปค้าขายเพื่อให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย ด้วยปัญหาภายในประเทศ วันนี้รัฐบาลนี้ต้องการเอาศักดิ์ศรีของประเทศไทยกลับสู่เวทีโลกให้คนไทยมีความภาคภูมิใจ ว่าไทยสามารถยืนยันบนเวทีโลกและต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงนักลงทุน และในแง่ของการทูตเชิงรุกได้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาจากพลเรือนและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน มีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีที่ดีเพื่อเชิญชวนมาลงทุน ต่อยอดการแข่งขันและการลงทุน ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาไทยได้เซ็น MOU ไปหลายฉบับ ขณะที่ทูตพาณิชย์ต้องรู้จุดขาย ออกไป เป็น KPI ใหม่ที่ทูตต้องทำงานร่วมกับองค์กรรัฐ เพื่อเป็นการขยายการทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่วนเศรษฐกิจจะวิกฤตหรือไม่วิกฤติเป็นเรื่องที่ตนกำลังถกเถียงกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวในเรื่องของมาตรการการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำที่อาจหมดกำลังใจในการใช้หนี้นอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งรัฐบาลจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เช่นเดียวกับหนี้ในระบบที่จะมีการแถลงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

“เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี วันนี้ยืนตรงนี้ไม่อยากให้เป็นวาทกรรมเฉยๆ ว่าเราอยากจะเพิ่มรายได้เกษตรกร แต่อยากจะมีขั้นตอนในทุกภาคส่วนในหลายพืชผล ที่เราสามารถทำได้จริง หลังจากวาระของรัฐบาลชุดนี้จบลง เริ่มจากน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง และเปิดตลาดใหม่ให้มีการค้าขายได้ ผมหวังว่ากลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เราจะมีการแถลงใหญ่และมีขั้นตอนที่ชัดเจน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า อุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาตั้งในไทยต้องการใช้น้ำอย่างมหาศาล หากเราไม่บริหารจัดการให้เพียงพอจะเป็นปัญหาได้ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร เช่น ข้าว นอกจากนี้ยังมีปัญหา ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ยางที่มีปัญหาจากสภาพดิน รัฐบาลนี้พยายามปรับพืชผลเพิ่มผลผลิตให้สินค้าเกษตร เชื่อว่ามีเกษตรกรไทย10 ล้านคนที่สามารถทำงานได้อีก

นายเศรษฐา กล่าวยืนยันว่า เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใสมีความชอบธรรมถูกต้องตามหลักนิติรัฐและมีที่มาที่ไป ซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลนี้ในการออก พ.ร.บ.เงินกู้

“ถ้าครม.เห็นด้วย คือตัวแทนของสส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แสดงว่าพี่น้องประชาชนเห็นด้วย ถ้ากฤษฎีกาเห็นชอบก็ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ต้องผ่านสภาก็เป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องลงรายละเอียด ให้รัฐบาลตอบรายละเอียดทุกข้อให้ได้ ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรม ผ่านการตรวจสอบของทุกภาคส่วน ผมไม่อยากจะพูดต่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเพราะพูดไปหลายเวทีแล้ว ขอให้ขั้นตอนดำเนินไปอาจจะช้าบ้าง แต่ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความชอบธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของเรารัฐบาลที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยืนยันว่าประเทศไทยเปิดแล้วพร้อมแล้วในการที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศมีภาคเอกชนที่แข็งแรงและพร้อมให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ และเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลยินดีรับคำแนะนำ ติชมจากทุกคน พยายามทำให้ถูกต้องและนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก

‘สศช.’ ชี้!! ส่งออก ‘ไทย’ โตต่อเนื่อง คาด ปี 67 บวกถึง 3.8% ตั้งเป้า ดันไทยสู่ฮับยานยนต์ ชิงส่วนแบ่งการตลาดมหาอำนาจ

(24 พ.ย. 66) นางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่มองว่าการส่งออกไทยปีหน้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดการณ์บวกที่ 3.8% กลับมาเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโตระหว่าง 2.7-3.7% ได้ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ประมาณ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเห็นช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป

นางสาวอานันท์ชนก กล่าวว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศ หากมีการแบ่งขั้วประเทศระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ และ จีนนั้น ต้องประเมินข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ที่ผ่านมาปรับลดลงในเชิงสัดส่วน แต่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ เกษตรแปรรูปจากสิงคโปร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม ขณะที่ไทยเป็นยานยนต์และชิ้นส่วนอยู่ กุญแจสำคัญคือ ไทยจะทำอย่างไรในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจได้ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกไทยต่อไป

“ปัจจัยสนับสนุนในปี 2567 คือ การบริโภคภายในประเทศที่แม้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง แต่ก็ยังบวกกว่า 3% เทียบกับฐานที่สูงกว่า 7% รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ขณะนี้สะสมแล้วเกือบ 24 ล้านคน ส่วนอีก 4 ล้านคนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าน่าจะสามารถทำได้

ส่วนที่กังวลเป็นเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศที่กลับมาเป็นตลาดระยะใกล้ แต่ประเทศระยะไกลที่มีการใช้จ่ายสูง ยังต้องสนับสนุนต่อไป ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดเป็นเรื่องงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่หากปี 2567 ความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบกับสินค้าเกษตรได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดไว้” นางสาวอานันท์ชนก กล่าว

‘ภูมิธรรม’ หารือ ‘ผู้ว่าฯ เกียวโต’ ร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการ-ศก. ยกระดับการเกษตร-สินค้า-ท่องเที่ยว ดัน Soft Power ระหว่างประเทศ

(26 พ.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับ ‘นายนิชิวากิ ทากาโตชิ’ (NISHIWAKI Takatoshi) ผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องรับรองชั้น 11 กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคคันไซ และแลกเปลี่ยนมุมมองสินค้าและบริการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ เนื่องในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดงาน

โดยในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้หารือกันถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้กับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และสตาร์ตอัปของไทย ด้านการเกษตร ได้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของไทย และอาจมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาสินค้า อาทิ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดเกียวโต มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้า ดีไซน์ร่วมกันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว เห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นในภาพรวม และยินดีที่มีการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกียวโต เป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเห็นตรงกันว่า ไทยและเกียวโตมีโอกาสเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสองทาง และส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม Soft Power ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ

ทางด้านญี่ปุ่น ได้แจ้งความคืบหน้าการจัดงาน World Expo ที่เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Exposition : BIE) โดยไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปกำหนดจัด ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม 2568 รวมระยะเวลา 184 วัน ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ ‘Designing Future Society for Our Lives’ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมแสดงนิทรรศการและนำผู้ประกอบการสินค้าและบริการในสาขา HEALTH & WELNESS เข้าร่วม

‘การบินไทย’ เปิดบินในประเทศ 9 เส้นทาง ชดเชย ‘ไทยสมายล์’ หยุดบิน เริ่ม ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศในตารางบินฤดูหนาว 2566 รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 9 เส้นทาง

โดยทำการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 เริ่มวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567 ใน ตารางบินฤดูหนาวนี้

การบินไทยกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศ 9 เส้นทาง มีดังนี้

1.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 35 เที่ยวบิน 
2.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 56 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566) 
3.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุดรธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566)
4.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงราย ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
5.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 28 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

6.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
7.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
8.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
9.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นราธิวาส ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

ผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดตารางบิน พร้อมสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานขายการบินไทย

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เปิดงาน ‘MIND : Your Industrial Power’ หนุนผู้ประกอบการ-ยกระดับการลงทุน-เสริมศักยภาพอุตฯ ไทย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ค 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND : Your Industrial Power’ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย ‘MIND’ ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่

ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด ‘MIND’ ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ, มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม, มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ ‘Long Stay’ ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ ‘SEC’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก

นอกจากนี้ ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ ‘Land Bridge’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวม

การดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power’ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

1.) การบรรยาย เรื่อง ‘การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้’ โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’

2.) การอภิปราย เรื่อง ‘การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน’ โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน

3.) การเสวนา เรื่อง ‘การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์’ โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ ‘MIND STAR’ เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย

‘จีน’ ออกมาตรการเร่งพัฒนา ‘การค้าในประเทศ-ระหว่างประเทศ’ เพิ่มคุณภาพการค้า-รักษาเสถียรภาพการเงิน-เสริมระบบเศรษฐกิจ

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะรัฐมนตรีจีนออกชุดมาตรการเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการรักษาเสถียรภาพของผู้ประกอบการ

มาตรการเหล่านี้จะยกระดับการปรับปรุงกฎเกณฑ์และระบบการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการกำกับตรวจสอบ การควบรวมมาตรฐานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกแก่การหมุนเวียนทรัพยากรการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างราบรื่น

นอกจากนั้น มาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมการประสานงาน ของช่องทางการตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการ ของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการในหลายด้านสำคัญ

ทั้งนี้ จีนจะเสริมสร้างการสนับสนุนทางการคลังและการเงิน สำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มเติม

วิบากกรรมหนุ่ม 2 สัญชาติ ผู้เฝ้ารอวีซ่าลี้ภัยจากดินแดนใหม่ หลังหนึ่งประเทศไฟสงครามไม่เคยดับ ส่วนอีกหนึ่ง ศก.ลาลับ

ไม่นานมานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘GO GALA แคมป์ปิ้งออสเตรเลีย’ ได้โพสต์เรื่องราวชีวิตของ Oday ชายหนุ่มชาวซีเรีย อยู่ออสเตรเลียมามากกว่า 10 ปี แต่ไม่เคยได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนเลย โดยมีเนื้อหาดังนี้...

แอดแม่อยากให้เรื่องของ Oday เป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนที่อยู่ต่างประเทศ สู้ต่อ 

เมื่อวานระหว่างนั่งรอทำธุระในเมือง แอดแม่สั่งกาแฟกิน และมีเวลานั่งชิว เลยได้มีโอกาสนั่งคุยกับบาริสต้าหนุ่ม ผู้มีเรื่องราวชีวิตที่โคตรเหลือเชื่อ 

บทสนทนาเริ่มต้นจากเรื่องทั่วๆ ไป มาจากไหน ได้กลับบ้านบ่อยรึป่าว เขาบอกว่าไม่ได้กลับบ้านมา 10 ปีแล้ว เพราะต้องใช้เงินเยอะ กลับไม่ได้ ถ้ากลับแล้วไม่รู้ชีวิตจะเป็นยังไง 

นั่นทำให้แอดแม่เริ่มต้นคุยกับ Oday อย่างจริงจัง

แม่ของ Oday เป็นคนเวเนซุเอลา ได้มาพบรักกับพ่อที่ประเทศซีเรีย

Oday เกิดมาแบบมีสองสัญชาติ มีสอง Passport ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ปรากฏว่าสองประเทศที่เป็นตัวเลือกในชีวิตของ Oday หนึ่งประเทศมีสงครามกลางเมือง อีกหนึ่งประเทศประสบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจนหาทางฟื้นขึ้นมาไม่ได้

ย้อนกลับไปเกิน 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2011 ประเทศซีเรียเริ่มเกิดสงครามกลางเมือง ถ้า Oday ไม่ออกนอกประเทศเขาจะต้องไปเป็นทหาร เขาเลือกที่จะไม่เป็น และหาทางออกนอกประเทศ

เขาลองไปอยู่ประเทศเวเนซุเอลากับญาติพี่น้องฝั่งแม่อยู่ 7 เดือน หลังจากนั้นเขาเลือกที่จะมาออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียน 

เรียนไปเรียนมาได้ห้าหกปี สงครามกลางเมืองซีเรียรุนแรงขึ้น ที่บ้าน Oday ไม่มีเงินจะส่งค่าเรียนแล้วเพราะสงครามไม่ดีขึ้น มีแต่แย่ลงทุกวัน รายได้ที่บ้านก็หดหาย

Oday ตัดสินใจไม่ไปเรียนหนังสือ เพราะเรื่องเงิน เมื่อคุณไม่ไปเรียนตามวีซ่านี่คุณต้องทำ แน่นอนวีซ่านักเรียนของ Oday โดนแคนเซิล 

Oday ต้องยื่นวีซ่า Protection เพราะทนายบอกว่าเป็นวีซ่าเดียวที่เขาจะยื่นได้ เขารอผลวีซ่า Protection ได้ ปีกว่าๆ ผลออกมาว่า Invalid เพราะ Oday มี 2 Passport มีทั้งซีเรียและเวเนซุเอลา เขาปรึกษาทนายว่าทำอะไรได้บ้าง 

ทนายคนแรกบอกว่าทำอะไรไม่ได้หรอก นอกจากต้องกลับซีเรีย...ทนายอีกคนหนึ่ง แนะนำให้เขาไปขอยกเลิก Passport เวเนซุเอลา ให้เหลือว่าเป็นคนซีเรียประเทศเดียว 

Oday ไม่มีทางเลือกอื่น เขา Give Up สัญชาติเวเนซุเอลาที่เขาได้มาจากแม่ เพื่อที่จะได้ยื่น Protection วีซ่าใหม่อีกรอบ

ถ้าออสเตรเลียให้วีซ่านี้กับ Oday พ่อแม่และน้องสาวของเขาก็จะได้ด้วย ครอบครัวจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง Oday คือตัวแทนของบ้านนี้เรื่องวีซ่าลี้ภัย 

ตอนนี้ Oday ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอ…

แอดบอกเขาว่าขอเขียนเรื่องเขาให้เพื่อนๆ อ่านได้มั้ย เขาบอกยินดี และขอบคุณ

สิ้นปีนี้อาชีพบาริสต้าของเขาก็ไม่รู้จะได้ทำรึป่าว ไม่รู้เจ้าของร้านจะเปิดร้านรึป่าว ไม่รู้เขาจะมีเงินรึป่าว

แอดแม่ชวนเขามากินข้าวที่ร้าน เขาบอกว่าอาจจะไปปีหน้า แอดแม่บอกว่า มาเลย เดี๋ยวเลี้ยงข้าว 

มิตรภาพของคนสองคนที่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น 

มันเกิดจากที่คนคนนึงประทับใจในเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของคนอีกคนหนึ่ง 

ขอให้เรื่องราวของ Oday เป็นกำลังใจดีๆ ให้หลายๆ คน ค่ะ

ต้น กับ จิ๊บ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top