Saturday, 11 May 2024
เศรษฐกิจ

‘เพื่อไทย’ เล็งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงสงกรานต์ปีหน้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ-กระจายเงินหมุนเวียนสู่ชุมชนทั่วประเทศ

(29 ส.ค. 66) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบาย พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการข่าวค่ำ TNN Online เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องรีบเข้ามาดำเนินการ เช่น นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายด้านการท่องเที่ยว และนโยบายพักหนี้เกษตรกร

1.) นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ทุกชุมชน ดังนั้น การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม. จึงเป็นหลักพิจารณาให้เงินนั้นกระจายไปในชุมชนที่ผู้รับเงินอยู่อาศัย ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ตามข้อจำกัดพื้นที่ห่างไกล แต่ประเด็นน่าสนใจคือ หลายหมู่บ้าน ประชาชนคิดรวมตัว สร้างร้านหาสินค้ามาลง เพื่อให้คนได้ใช้จ่าย และสร้างรายได้กับชุมชนตนเอง ประมาณการณ์ประชาชนได้ใช้เงินดิจิทัล ช่วงเมษายน-เทศกาลสงกรานต์ ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

2.) นโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี และนโยบายช่วยเหลือเรื่องกลุ่มลูกหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด พร้อมๆ กับการจัดการค่าพลังงาน น้ำมัน-ไฟฟ้า ทั้งหมดเพื่อลดภาระและบรรเทาทุกข์ เปิดโอกาสให้ประชาชนทำมาหากินและใช้เงินได้ประจำส่วนต่าง ลงทุนประกอบอาชีพหรือเพื่อใช้จ่ายสิ่งจำเป็นอื่นๆ

3.) นโยบายด้านการท่องเที่ยว เปิดประตูรับเงินนอกสร้างเศรษฐกิจไทย เป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและลงพื้นที่ดูปมจริงที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือกับท่าอากาศยานรับทราบข้อติดขัดด้านการปฎิบัติรวมทั้งกฎระเบียบ ซึ่งมีหลายส่วนที่สามารถขยับคอคอดนั้นออก อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และให้บริการประชาชนได้สะดวกยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำที่ภูเก็ตและพังงาว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้ในระยะสั้นที่หาได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงมาเพื่อเตรียมความพร้อมภาคส่วนต่างๆ ก่อนถึงไฮซีซันช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

‘ธีระชัย’ สับ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ กระตุ้น ศก.แบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’

(7 ก.ย. 66) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดยเฉพาะกับนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท ถึงผลพวงที่จะตามมาทั้งในแง่บวกและลบ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมีนายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญ ดังนี้…

ในประเด็นของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีการปล่อยออกมา พอจะเห็นภาพความหวังต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด? คุณธีระชัย มองว่า โดยภาพรวมของเนื้อนโยบายมีความน่าสนใจ แต่จะติดอยู่ 2 ส่วน นั่นก็คือ 1.ในเรื่องของเงินดิจิทัล และ 2.ในเรื่องของการลดราคาพลังงาน ซึ่งเข้าใจว่าต้องการช่วยประชาชน แต่ก็ต้องใช้งบประมาณบนความระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตามในนโยบายที่ คุณธีระชัย ดูจะห่วงเป็นพิเศษ คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท โดยกล่าวว่า ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตารอกันแล้ว ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากเสียงนักวิชาการในฟากฝั่งรัฐบาล ที่เชื่อว่าทำให้เกิด ‘พายุหมุนทางเศรษฐกิจ’ ช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ก็ยิ่งทำให้นโยบายดีถูกมองในด้านบวกด้านเดียว

ทั้งที่ในความเป็นจริง จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินนโยบายการคลังด้วยการอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ล้วนต้องการผลลัพธ์ในการกระตุ้นตัวเลขจีดีพีให้สูงขึ้น แต่กลับกันนโยบายแจกเงินดิจิทัลส่วนนี้ จะมีกลไกใดที่ช่วยกระตุ้นจีดีพี เพราะนี่คือการแจกแบบหว่าน ไม่ว่าจะรวยหรือจนด้วย ในสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะไทยยังสูง และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติอย่างโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้นไทยจะเอาเงินมาจากไหน? ที่จะไม่กระทบต่อสถานะทางการคลังของประเทศ

“ผมเข้าใจดีว่าการแจกเงิน ก็เพื่อให้เกิดการหมุนในภาคอุปโภคบริโภค แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนตอนโควิด19 ที่ต้องมีการแจกเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมีผลพวงจากการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงร้านค้าที่ขายไม่ได้ เพราะต้องปิดร้าน รวมถึงกำลังซื้อหาย จากรายได้ประชาชนหด นั่นจึงทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินผ่านโครงการที่โฟกัสลงไปเฉพาะกิจเป็นกลุ่มๆ ในช่วงรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์จึงเกิดขึ้น

“แต่ตอนนี้ ล็อกดาวน์ ไม่มีแล้ว การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็กลับมาแล้ว ลักษณะของการแจกเงินในช่วงเวลานี้ จึงเหมือนกับเป็นการให้ ‘ปลา’ แก่ประชาชน ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใด ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อประชาชนได้เงินมา ก็แค่เอาใช้บริโภคให้หมด ๆ ไป แน่นอนว่า มันอาจจะเกิดผลดีในการกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็แค่รอบเดียว แค่ระยะสั้นหมด แล้วก็จบ” 

คุณธีระชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำกับเศรษฐกิจในตอนนี้ ‘ไม่ใช่การแจก’ แต่ต้องสร้างพลังกระตุ้นหรือหาทางที่จะให้เม็ดเงินงอกเงยขึ้นมาจากหนึ่งร้อย เป็นร้อยยี่สิบ เป็นร้อยห้าสิบ อะไรประมาณนี้มากกว่า เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน

ในส่วนของการเลือกแพลตฟอร์มเพื่อจ่ายเงินดิจิทัล คุณธีระชัย ก็ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “ทางรัฐบาลจะทำบนแพลตฟอร์มใหม่ ทั้ง ๆ ที่มีการแนะนำให้ใช้ผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งก็ไม่ผิดคาด เพราะพรรคเพื่อไทยเขาก็คงไม่เอาด้วย เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า ดิจิทัล 10,000 นี้ เป็นการให้ ‘เงินบาท’ ปกติ ไม่ใช่ ‘เงินดิจิทัล’ ที่มาในลักษณะเหรียญดิจิทัล และมีการวงเล็บว่า (คูปอง) แบบที่ใช้ในศูนย์อาหาร ซึ่งตรงนี้ผมก็อยากฝากให้ระวังความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายไว้ด้วย ควรปรึกษาหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ชัดเสียก่อนจะทำ เพราะอย่างที่บอกมันไม่ใช่เงินจริงๆ ที่โอนกันถึงมือประชาชนแบบโครงการของรัฐบาลลุงตู่ (คนละครึ่ง / ม.33 เรารักกัน) ที่อันนั้นก็คือเป็นเงินสดเข้าบัญชีในแอปฯ เป๋าตัง แล้วก็ไปใช้จ่ายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกัน มีเงินไหลเข้าสู่ร้านค้าทันที”

โดยสรุปแล้ว หากให้พูดถึงความเป็นจริงในเรื่องนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ คุณธีระชัย ยังเชื่อว่าไทยควรต้องเดินตามบริบทของประเทศในปัจจุบัน ว่าเหมือนหรือเดือดร้อนอย่างตอนโควิดระบาดหรือไม่ ซึ่งนาทีนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกันแล้ว นั่นหมายความว่าการใช้เครื่องมือเดิมในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะใช้เครื่องมือนั้นหนักกว่าเดิมอีกนั้น (กู้มาแจก) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ต้องระวังมาตรการที่ทำแบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’ ให้ดี

คุณธีระชัย ทิ้งท้ายอีกว่า “ในทางการเมืองนโยบายในลักษณะนี้ มักตอบโจทย์ประชาชน เพราะเวลาพรรคการเมืองจะไปหาเสียง แล้วบอกหรือนำเสนอโครงการที่จะเพิ่มขีดความสามารถจากเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความงอกเงยนั้น ส่วนใหญ่มันไม่โดนใจ เพราะไม่ใช่การแจกหรือให้ที่ถึงมือประชาชนทันที ไม่มีความหวือหวาที่พร้อมกระชากใจประชาชน ต่างจากนโยบายหวือหวา แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ซึ่งเรื่องนี้น่าห่วง”

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะ ควรวางเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลให้คุ้มค่า ต้องเพิ่มทักษะอาชีพ-เน้น ศก.ฐานรากให้การหมุนเวียนเม็ดเงิน

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะแนวทางแจกเงินดิจิทัลคนละ1 หมื่นบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้ควรวางเงื่อนไขให้พัฒนาทักษะอาชีพรับทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ แนะวางเงื่อนไขให้เกิดการทยอยใช้จ่ายในเศรษฐกิจชุมชน เน้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินหลายรอบ

รัฐบาล ‘เศรษฐา1’ ได้มีการบรรจุนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึงระดับฐานราก

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังให้เกิดการใช้จ่าย บริโภคของประชาชนเนื่องจากเห็นถึงข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.6% ซึ่งทำให้กำลังใช้จ่ายของคนไทยมีจำกัด

หากจะให้มีการใช้จ่ายเพิ่มรัฐบาลจำเป็นที่ต้องเอาเงินไปใส่มือประชาชนเพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่าย แล้วรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่าย และคาดหวังให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนคึกคักซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่มาของเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ซึ่งอาจจะเป็นการกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนภายหลัง การกู้ขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งอาจมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ “เงินมีต้นทุน” จะทำอย่างไรให้เงินจำนวนนี้มีความคุ้มค่ามากที่สุด สามารถหมุนเวียนและสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุด

“การกำหนดเทคโนโลยีที่จะมาใช้สำหรับการแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไหร่สำหรับโครงการนี้เพราะหากจะใช้บล็อกเชน หรือใช้โครงการบาทดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้เริ่มมีการทดลองไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทำได้ แต่การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบเนื่องจากหากให้มีการใช้เงินในร้านค้าสะดวกซื้อขนาดใหญ่ หรือซื้อของจากโมเดิร์นเทรดก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช้า เนื่องจากเมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าจากร้านค้ารายใหญ่พวกนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง กว่าที่จะเอาเงินที่ได้ไปให้ซัพพายเออร์ก็จะใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ต่างจากที่มีการซื้อกันในกลุ่มลูกค้ารายย่อยก็จะทำให้เงินหมุนเวียนได้รวดเร็วกว่า

นอกจากนั้น บางสินค้าก็ไม่ได้มีซัพพายเชนในประเทศไทย แต่เป็นแค่มาประกอบในเมืองไทยทำให้สินค้าบางชนิดไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยเท่าที่ควร หากรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขลงไปถึงสินค้าที่มีซัพพายเชนในไทยยาวๆก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนเพิ่มขึ้น”

นายมนตรี กล่าวต่อว่าแนวทางของการแจกเงินดิจิทัลที่จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดก็คือการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่รับเงินดิจิทัลจากโครงการนี้ต้องเข้าโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ปรับทักษะ (Upskills – Reskills) การทำงานให้สอดคล้องกับตลาดงานสมัยใหม่ที่ต้องการใช้ความรู้และทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะดิจิทัล และทักษะเรื่องการใช้ข้อมูล หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ผู้รับเงินต้อง Upskills – Reskills ไปด้วยก็จะเป็นผลดีต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเพิ่มเงินเดือนให้กับแรงงานระดับปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ต้องมาพร้อมกับความสามารถและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับอีกแนวทางที่สำคัญของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลควรกำหนดคือ ควรทำให้การใช้จ่ายเงินนั้นทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจ คือให้เกิดการใช้ที่ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เช่น สมมุติว่ากำหนดให้การจ่ายใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทเป็นระยะๆ เช่น ไตรมาสละ 3,000 บาท 2 ไตรมาส และไตรมาสสุดท้ายให้ใช้ 4,000 บาท ก็จะทำให้เงินจำนวนนี้หมุนเวียนใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้นานทั้งปี

โดยเงินจำนวนนี้แม้จะเป็นอีกกระเป๋าของรัฐที่ให้ประชาชนใช้จ่ายแต่เป็นเงินกู้ที่กู้มาทำโครงการที่คาดหวังให้เศรษฐกิจโต ดังนั้นความเสี่ยงก็คือหากโครงการออกไปแล้วเศรษฐกิจไม่โต หรือเศรษฐกิจคึกคักแค่สั้นๆ ก็จะทำให้จีดีพีโตได้น้อย และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น

“การแจกเงินดิจิทัลจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้นตนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพายุหมุนอาจจะเป็นไต้ฝุ่นที่พัดให้บ้านเรือนพังได้ ถ้าหากทำให้เป็นพายุดีเปรสชั่นอาจจะดีกว่าเพราะฝนจะตกแบบเรื่อยๆค่อยๆสม่ำเสมอ เหมือนเงินที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปก็จะทำให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจ แล้วหากสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนในระดับฐานรากของปิรามิดของสังคม ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” นายมนตรี กล่าว

'สันติธาร เสถียรไทย' ผงาดนั่ง 'บอร์ด กนง.' อายุน้อยที่สุด ดีกรีนักพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลก 3 ปีซ้อน

(4 ต.ค. 66)​​​​​​ นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ เลขานุการคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ โดยกรรมการใหม่จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

1.นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
2.นายรพี สุจริตกุล
3.นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
4.นายสันติธาร เสถียรไทย

สำหรับนายสันติธาร เสถียรไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาบริษัท Sea Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Garena, Shopee และ AirPay และเป็นบริษัทเทคโนโลยี “ยูนิคอร์น”ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นายสันติธารเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suiss มีหน้าที่วิเคราะห์พยากรณ์เศรษฐกิจและให้คำแนะนำการลงทุนใน10 เศรษฐกิจในเอเชีย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เดียวในเอเชียที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลกของ Consensus Economics ติดกันสามปีซ้อน

เคยได้รับการโหวตเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคอันดับ 1 ของประเทศไทยโดย Asia Money และเป็นคนเดียวจากอาเซียนที่ได้เชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยคิดออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community) รวมทั้งยังเคยทำงานที่กระทรวงการคลังในประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation

นายสันติธาร จบปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ด้วยทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากที่เดียวกันพร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม และจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และโทจากมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Sciences (LSE)

‘นายกฯ เศรษฐา’ บินลัดฟ้า หารือทวิภาคีกับ ‘ฮ่องกง’ หวังเดินหน้า EEC เชื่อมโยง เขตเศรษฐกิจ GBA

(9 ต.ค.66) ณ ทำเนียบผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมุ่งส่งเสริมพลวัตความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง ประเทศไทยและฮ่องกงเป็นพันธมิตรทางการค้า และการลงทุนที่สำคัญ อีกทั้งต่างยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกันและกันอีกด้วย รวมถึงได้ชื่นชมความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ของฮ่องกงด้วย หวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน พร้อมเชิญผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยด้วย

ด้านผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ และจุดหลอมรวมระหว่างตะวันออก และตะวันตกอีกทั้งประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันต่อยอดผลประโยชน์เศรษฐกิจ และการเงินการธนาคาร ในสภาวะความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฮ่องกงมีบทบาทที่สำคัญ เชื่อมจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก ตลอดจนบทบาทในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคด้านการค้า การเงิน และบริการ

โดยไทยสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนให้แก่ฮ่องกง และจีนได้ ซึ่งรวมถึงการเป็นประตูสำหรับธุรกิจ ตลอดจนสินค้า และบริการจากฮ่องกง และจีนได้ จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย เชิญชวนฮ่องกงมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

โดยไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือเชิงลึกกับฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และนโยบายการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประสาน และเชื่อมโยง EEC กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)

‘จีน’ เผย ‘การค้าส่านซี-กลุ่มประเทศ BRI’ ดีด!! โต 4 เท่าใน 10 ปี มีมูลค่ากว่า 5.6 แสนล้านบาท

(12 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัว เผยรายงานจากสำนักงานสารสนเทศประจำรัฐบาลมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่ระบุว่า การค้าระหว่างส่านซีกับกลุ่มหุ้นส่วนตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างส่านซีและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.4 ต่อปี โดยการนำเข้าและส่งออกของส่านซีกับกลุ่มประเทศดังกล่าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ราว 1.13 แสนล้านหยวน (ราว 5.64 แสนล้านบาท) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบปีต่อปี

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของส่านซีในกลุ่มหุ้นส่วนตามแผนริเริ่มฯ ระหว่างปี 2013-2022 มีตัวเลขรวมอยู่ที่ 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.53 หมื่นล้านบาท) และมูลค่าการซื้อขายทางธุรกิจของโครงการตามสัญญาที่เสร็จสมบูรณ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.95 แสนล้านบาท)

อนึ่ง ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี การเปิดบริการรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป (ซีอัน) ซึ่งปัจจุบันมีการเดินรถมากกว่า 20,000 เที่ยวแล้ว ครอบคลุม 45 ประเทศและภูมิภาคในยูเรเซีย และให้บริการแก่ผู้ประกอบการมากกว่า 16,500 ราย

สำนักงานฯ ระบุว่ามีการเดินรถไฟสินค้าข้างต้นเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในปี 2022 จำนวน 198 เที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘รมว.กก.’ ปลื้ม!! ยอดต่างชาติแห่เที่ยวเมืองไทย แตะ 21 ล้านคน โกยเม็ดเงินเข้าประเทศ 8.8 แสนล้าน พบ ‘นทท.มาเลฯ’ ยืนหนึ่ง!!

(17 ต.ค. 66) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประเมินเบื้องต้น พบว่า จากสถิติประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 ตุลาคม 2566 รวมกว่า 21,019,800 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 882,450 ล้านบาท

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6.71% หรือเพิ่มขึ้น 5,227 คน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ประกอบกับสายการบินเริ่มปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 470,299 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 67,186 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 27,226 คน หรือลดลง 5.56%

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ มาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 74,233 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% รองลงมา ได้แก่ จีน 61,094 คน ปรับลดลง 18.64%, อินเดีย 30,170 คน ปรับลดลง 11.32%, เกาหลีใต้ 27,264 คน ปรับลดลง 11.31% และรัสเซีย 22,018 คน ปรับลดลง 2.88%

โดยในสัปดาห์ถัดไป คาดว่านักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากสิ้นสุดวันหยุดยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย อีกทั้งมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย รวมถึงการเข้าสู่ภาวะสงครามของอิสราเอล นอกจากนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุความขัดแย้ง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

เปิด 30 อันดับประเทศ 'ขนาดเศรษฐกิจใหญ่’ ที่สุดในโลก ประจำปี 2023

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) หรือจีดีพี ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้วัด ‘ขนาดเศรษฐกิจ’ ของประเทศ ปี 2023 โดย ‘สหรัฐอเมริกา’ ครองอันดับ 1 ส่วน ‘ประเทศจีน’ พี่ใหญ่แห่งเอเชีย รั้งอันดับที่ 2 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 30 อันดับประเทศ 'ขนาดเศรษฐกิจใหญ่’ ที่สุดในโลก ประจำปี 2023 มาไว้ให้ชมกัน แอบกระซิบว่า ประเทศไทยก็ติดอันดับด้วยนะ แต่จะลำดับที่เท่าไหร่…ไปดูกันเลย!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top