Saturday, 27 April 2024
เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทย 66 เติบโตไม่เป็นไปตามคาดการณ์  สะท้อนจากผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปในปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล กำกับเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งแนวโน้มจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ล้วนเป็นทิศทางเดียวกันว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ภาพจริงเริ่มสะท้อนว่าเศรษฐกิจชักไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อผ่านพ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเมื่อต้นปีมากพอสมควร

กลับกลายเป็นว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจคงเหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อปี กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เผชิญความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนมองกันในช่วงต้นปี 2566 คือ ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ Covid-19 และมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เครื่องมือที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ น่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย

อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกเอง ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาว จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแต่ 'ทรง' กับ 'ทรุด' และเมื่อเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้ ก็ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลข 'การส่งออก'

ไตรมาสที่ 1 ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้า -4.5, ไตรมาสที่ 2 หนักกว่าเดิม -5.6 และไตรมาสที่ 3 ตัวเลขที่ออกมา -2.0 ซึ่งข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ระบุว่า ประมาณการภาพรวมตัวเลขมูลค่าส่งออกสินค้า ในปีนี้ -2.0 (ร้อยละต่อปี) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการตัวเลขไว้ที่ -1.7 ซึ่งในไตรมาส ที่ 2 ธปท.เคยประมาณการเดิมไว้ ร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการตัวเลขติดลบมากกว่าเดิม

ในปี 2567 ทุกหน่วยงานได้คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 4.4 - 4.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ในปีนี้ ตัวเลขการเติบโตไม่เป็นไปตามคาด แถมตัวเลขปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ติดลบไปมากพอสมควร ซึ่งความเห็นของผู้เขียน มองว่า 3 ปัจจัยหลัก ที่จะเกื้อหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก, การลงทุนของภาคเอกชน และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 

แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ส่งเสริมการบริโภคอุปโภค และสานสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้า คงจะเห็นภาพที่ชัดเจน ถึงฝีมือในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล และอาจเห็นภาพการปรับเปลี่ยนบางอย่างสำหรับทีมเศรษฐกิจ ก็เป็นได้

'อินเดีย' จ่อขึ้นแท่น 1 ในชาติ ‘เศรษฐกิจ’ โตเร็วสุดปีหน้า คาด!! จะแซง 'ญี่ปุ่น' และขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในเอเชียปี 2573

(24 ธ.ค.66) ฟิทช์ เรตติ้งส์คาดว่า ‘อินเดีย’ จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัว 6.5% ในปี 2567-2568 ขณะที่การขยายตัวของ GDP ของอินเดียในปี 2566-2567 ซึ่งเป็นปีงบประมาณปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 6.9%

ฟิทช์ ระบุในรายงานที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ว่า "อุปสงค์จะยังคงแข็งแกร่งสำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยอุปสงค์ในปี 2566 ยังคงอยู่สูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย จะช่วยเพิ่มความต้องการเหล็กด้วย และยอดขายรถยนต์จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป แม้เราคาดว่าอาจจะชะลอตัวหลังจากขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2566"

โดยปัจจุบันอินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐ, จีน, เยอรมนี และญี่ปุ่น

ภายในปี 2573 คาดว่า GDP อินเดีย จะแซงหน้าญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ฟิทช์ ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอินเดียจะหนุนอุปสงค์ในภาคธุรกิจ แม้มีความอ่อนแอจากการขยายตัวที่ชะลอลงในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ก็ตาม

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจอินเดีย จะขยายตัวที่ 6.3% ในปีงบประมาณปัจจุบัน (2566-2567) และในปีงบประมาณหน้า และคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียจะยังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและด้านการเงิน

ด้าน โกลด์แมน แซคส์ รีเสิร์ช คาดการณ์ในเดือน ธ.ค.ปีนี้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียจะอยู่ที่ 6.2% สูงที่สุดในบรรดาประเทศขนาดใหญ่ 13 แห่งในปี 2567 ขณะที่จีนตามมาเป็นอันดับ 2 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 4.8%

ส่วนเอสแอนด์พี (S&P) คาดว่า GDP ของอินเดียจะขยายตัว 6-7.1% ต่อปีในปีงบประมาณ 2567-2569 ขณะที่ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของอินเดียในปีงบประมาณ 2566-2567 ขึ้น 0.50% สู่ระดับ 7% จากการคาดการณ์ในการประชุมเดือนต.ค.ที่ 6.5%

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! ความเสี่ยงมากมายในปี 2024 รอไทยอยู่  โตช้า หนี้เสียมาก ส่งออกอืด นักท่องเที่ยวต่ำเป้า เงินดิจิทัลเสี่ยงไม่ผ่าน

(25 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ระบุว่า...

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาดแม้จะขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบยังเติบโตแข็งแกร่ง มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

ส่วนไทยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจชะลอมาก ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อหดตัวหนัก บ้าน รถ SME กระทบรุนแรง

จีน ชะลอตัวหนัก หนี้เสียภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง กำลังส่งผลกระทบวงกว้าง 

ยุโรป กระทบจากสงครามรัสเซีย ยูเครนยาวนาน วิกฤต คลองซูเอส และ ฮามาส ซ้ำเติมสร้างปัญหาเงินเฟ้อทั่วยุโรป

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสร้างปัญหาเงินเฟ้อในญี่ปุ่นมาก คนญี่ปุ่นเริ่มมีกำลังซื้อถดถอย สัญญาณการสิ้นสุดนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยติดลบใกล้ถึงสิ้นสุด

อินเดียกำลังฉายแววเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ตามด้วยอินโดเนเซีย และเวียดนามเกาะรถอย่างห่าง ๆ

ประเทศไทยมีระเบิดเวลา บริษัทใหญ่ล้ม และหนี้เสียจากบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลางรออยู่ใครถือ พันธบัตร ต้องรอบคอบ ความคาดหวังที่ประชาชนให้พรรคเพื่อไทยว่าเก่งเศรษฐกิจกำลังมีคำถาม 

ท่านนายกต้องรีบแก้ปัญหา โดยต้องมี รมต.คลังตัวจริงมาทำงาน ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่นต้องพิจารณาว่าได้คนถูกฝาถูกตัวหรือไม่ หรือยังปรับงานไม่ลงตัว ยังทำงานไม่เข้าขากับฝ่ายราชการ

ท่านนายกฯ พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับอีกมาก การขึ้นค่าแรงจะช่วยดึงกำลังซื้อหรือไม่หรือ เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการโรงงานให้ปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิตมากขึ้น 

เอาใจช่วยรัฐบาลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีครับ

‘จีน’ มั่นใจ!! ‘การค้าต่างแดน-ส่วนแบ่งตลาดโลก’ ฟื้นตัวดี พร้อมดึงผู้ประกอบการ ร่วมมือรักษาเสถียรภาพ ศก.ต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว ,ปักกิ่ง รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีน แถลงข่าวว่า ‘จีน’ มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพโดยทั่วไป ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ และส่วนแบ่งในตลาดโลกในปีนี้

‘เหอ ย่าตง’ โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของจีน ค่อนข้างมีความแข็งแกร่งในปีนี้ สามารถเอาชนะผลกระทบจากความต้องการภายนอกหดตัว แนวโน้มขาลงของราคา และฐานสูงของปีก่อน

สำหรับปี 2024 จีนอาจประสบกับความไม่แน่นอนจากภายนอก แต่มีปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการเปิดกว้างของจีนจะยังคงสร้างผลประโยชน์ ขณะผลิตภัณฑ์ใหม่และธุรกิจรูปแบบใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ จะปลดปล่อยศักยภาพเพิ่มขึ้น

เหอ เสริมว่า จีนมั่นใจว่า จะสามารถรักษาทิศทางขาขึ้นของการฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้แรงสนับสนุนจากหลากหลายนโยบาย ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามร่วมจากผู้ประกอบการ

‘สี จิ้นผิง’ ยอมรับ!! ผ่านสุนทรพจน์อวยพรปีใหม่ ‘เศรษฐกิจจีน’ กำลังอยู่ในช่วง ‘ยากลำบาก’

(3 ม.ค. 67) CNN ของสหรัฐฯรายงานว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำประเทศเมื่อปี 2013 ที่เขาได้ออกมายอมรับถึงสภาพปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจีนว่ามีอยู่จริง

เป็นการเปิดเผยผ่านสุนทรพจน์อวยพรปีใหม่ประจำปี 2024 ในวันอาทิตย์(31 ธ.ค)นี้มีใจความว่า

“มีบางบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ประชาชนบางคนกำลังมีปัญหาในการหางานทำและเพื่อทำให้สามารถอิ่มท้องและอยู่ได้ไปวันๆ”

และเขาต่อว่า “ทั้งหมดเหล่านี้ยังคงเป็นปราการด่านหน้าอยู่ในใจของผม” ผู้นำจีนชี้ว่า “พวกเราจะทำให้เข้มแข็งและเพิ่มความแข็งแกร่งต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของพวกเรา”

ทั้งนี้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สีจะขึ้นกล่าวสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน NBS (National Bureau of Statistics) ได้เผยแพร่ดัชนีประจำเดือนผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI(Purchasing Managers Index) ซึ่งดัชนีที่ว่านี้เพื่อสำรวจธุรกิจเอกชนทั่วโลก หากดัชนี PMI สูงกว่า/ต่ำกว่า ระดับ 50 หมายถึง แนวโน้มเศรษฐกิจและภาวะธุรกิจโดยรวมมีทิศทางดีขึ้น/แย่ลง

ซึ่งจากการเปิดเผยแสดงถึงความเคลื่อนไหวทางอุตสาหกรรมจีนลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่เดือนธันวาคม

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน NBS กล่าวผ่านแถลงการณ์มีใจความว่า ตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมจีนอย่างเป็นทางการตกไปที่ 49 ในเดือนที่ผ่านมา ต่ำกว่า 49.4 ในเดือนพฤศจิกายน

CNN รายงานว่าซึ่งหากตัวเลขดัชนีสูงกว่า 50 แสดงถึงการขยายตัวและหากต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว ซึ่งตัวเลข PMI เดือนธันวาคมยังเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแสดงการหดตัวทางอุตสาหกรรม

เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากปัญหาอุปสงค์(demand) ที่อ่อนตัว การว่างงานเพิ่มขึ้นและความไม่มั่นใจทางธุรกิจ

การกวาดล้างของรัฐบาลจีนทางธุรกิจโดยใช้ข้ออ้างเหตุผลทางความมั่นคงจีนนั้นทำให้นักลงทุนต่างประเทศหนี

ทั้งนี้ในวันเสาร์(30 ธ.ค)ธนาคารกลางจีนได้ประกาศไฟเขียวยกเลิกการควบคุมของผู้ถือหุ้นของบริษัท Alipay ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลทางการเงินยักษ์ใหญ่ของจีนที่สามารถพบได้ในต่างประเทศรวมในไทย โดย Alipay เป็นของ Ant Group ที่มีเศรษฐีพันล้านจีน แจ็ก หม่า เป็นผู้ก่อตั้งร่วม

ซึ่งการไฟเขียวนี้ CNN หมายความว่า แจ็ก หม่านั้นยกเลิกการควบคุมในบริษัทนี้อย่างเป็นทางการ

'แลนด์บริดจ์' ต้องทำ!! เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน แต่ถ้ามองแค่ 'คุ้มเงิน-ไม่คุ้มเงิน' แบบนั้นมันผิดแล้ว

(17 ม.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ก้าวถอยหลัง
#แลนด์บริดจ์

แลนด์บริดจ์ ถ้ามองแค่คุ้มเงิน ไม่คุ้มเงิน แบบนั้นมันผิดแล้ว 

เมื่อมันเป็น Infrastructure ที่ รบ.จัดให้ มันออกได้หลายหน้า แต่มันต้องทำ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน 

ประเทศที่รายล้อมเรา ล้วนมีท่าเรือขนาดใหญ่ ไปจนถึงอภิเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทั้งสิ้น 

ท่าเรือพอร์ตลัง มาเลเซีย
ท่าเรือปริโอห์ อินโดนีเซีย
ท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม

แล้วเรา จะอยู่แบบนี้หรอ ??

ปากบอกว่าก้าวหน้า 

แต่การกระทำถอยหลัง

‘จีน’ กังวล!! เหตุอัตราการเสียชีวิตพุ่ง-การเกิดต่ำ หวั่นสะเทือนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

(18 ม.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยรายงานว่า จำนวนประชากรในจีนลดลง 2.08 ล้านคน หรือ 0.15% เป็น 1,409 ล้านคน ในปี 2566 โดยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีประชากรลดลง 850,000 คน และเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากปี 2504 ช่วงภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในยุคเหมาเจ๋อตง

ขณะที่ในปี 2566 มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6.6% เป็น 11.1 ล้านคน โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงสุดนับจากปี 2517 ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2566 ลดลง 5.7% เป็น 9.02 ล้านคน และอัตราการเกิดทำสถิติต่ำที่สุดคือ 6.39 คนต่อประชากร 1,000 คน  ลดลงจาก 6.77 คนในปี 2565 และเป็นอัตราการเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 นอกจากนี้จำนวนประชากรวัยแรงงานที่อายุ 16-59 ปี ลดลง 10.75 ล้านคนจากปี 2565 และจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 16.93 ล้านคนในปี 2565

ซึ่งข้อมูลประชากรที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยนั้นสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอลง เนื่องจากมีจำนวนแรงงานและผู้บริโภคลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ และสวัสดิการหลังเกษียณจะสร้างภาระหนักยิ่งขึ้นแก่ทางการท้องถิ่นที่มีภาระหนี้สิน

ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโต 5.2% ในปี 2566 ซึ่งฟื้นตัวมากขึ้นกว่าปี 2565 ที่ GDP เติบโต 3% แต่ยังคงเป็นตัวเลขการเติบโตต่ำที่สุดนับจากปี 2533 ยกเว้นช่วงการระบาดของโควิด-19 และในปี 2567 จะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจจีนเนื่องจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์และความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง

‘IMF’ ชี้!! ‘เศรษฐกิจจีน’ ปี 66 โตทะลุเป้า หลังปรับเปลี่ยนจากส่งออกเป็นรูปแบบบริโภค

(18 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2023 ถือเป็นข่าวดีสำหรับจีนและทั่วโลก

จอร์จีวาได้มีการเปิดเผยกับสำนักข่าวนอกรอบการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ครั้งที่ 54 ในเมืองดาวอสว่า เศรษฐกิจของจีนบรรลุเป้าหมายระดับชาติซึ่งตั้งไว้ที่ราวร้อยละ 5 และเติบโตสูงกว่านั้น สิ่งนี้เป็นข่าวดีทั้งสำหรับจีน เอเชีย และทั่วโลก เนื่องจากจีนครองส่วนแบ่งการเติบโตหนึ่งในสามของการเติบโตทั่วโลก

เมื่อวันพุธ (17 ม.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2023 สูงถึง 126.06 ล้านล้านหยวน (ราว 638 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบปีต่อปี

จอร์จีวาชี้ว่ารัฐบาลจีนกำลังมุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเติบโตที่มีคุณภาพสูง และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตจากที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ไปเป็นรูปแบบที่การบริโภคมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

จอร์จีวากล่าวว่าเราเป็นพันธมิตรที่ดีมากกับจีน จีนมีศักยภาพอย่างมากในการดึงเอาผลิตภาพออกมามากขึ้น และสร้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเสริมว่าการปฏิรูป การเปิดกว้าง และการบูรณาการในเศรษฐกิจโลกถือเป็นหนทางที่ถูกต้องในการเดินหน้าต่อของจีน

อนึ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 กองทุนฯ ได้ปรับขึ้นการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2023 จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 5.4 และในปี 2024 จากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กองทุนฯ เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม

'เศรษฐกิจแฟนคลับจีน' ปลื้มดาราไทย บูม!! หลังภาคเอกชนเข็นจนเกิด ดันธุรกิจ 'บันเทิง-ท่องเที่ยวไทย' พุ่ง!! โจทย์ใหญ่ภาครัฐต้องสานต่อ

(24 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ตี๋น้อย’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจแฟนคลับ’ ระบุว่า…

โพสต์นี้ที่อยากเล่าสืบเนื่องจากแฟนคลับดาราไทยที่เป็นคนจีนหลายท่านทักมาหาตี๋น้อยเกี่ยวกับดาราไทยและท่องเที่ยวไทยเยอะมาก ๆ เลยเป็นที่มาของโพสต์นี้ครับ

ช่วงนี้ที่ตี๋น้อยอยู่ไทยมีเพื่อนคนจีนทักมาหาหลายคนเกี่ยวกับการตามดาราและสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเยอะมาก ๆ ครับ ทำให้ตี๋น้อยได้เห็นในมุมต่าง ๆ ที่แปลกออกไป เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังครับผม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนจีนที่เป็นแฟนคลับดาราไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากรุ่นแรก ๆ เลยคือ คนจีนที่เป็นแฟนคลับพี่บี้สุกฤษฎิ์ พี่ป้อง ณวัฒน์ และรุ่นต่อมาคือ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก มาริโอ้ เมาเร่อ (สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก) ไมค์ พิรัชต์ ออมสุชาร์ (วุ่นนักรักเต็มบ้าน) ภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน พีพี กฤษณ์ และ บิวกิ้น พุฒิพงษ์ (แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ไบรท์ วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน ฯลฯ คนอื่น ๆ อีกมากมาย

ดาราและภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวและธุรกิจแบบใหม่ ๆ ที่บางครั้งมันก็เปลี่ยนมุมมองของเราหลาย ๆ อย่างเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น แฟชั่นชุดนักเรียนไทย อันนี้ยอมรับว่าคาดไม่ถึงจริงครับว่ามันจะเกิดขึ้นและเป็นกระแสในจีน จนตอนนี้มีร้านชุดนักเรียนไทยเปิดเป็นจำนวนมากในหลายแพลตฟอร์มของจีน เช่น 淘宝 (เถาเป่า) 闲鱼 (เสียนอวี๋) 

ตึกแกรมมี่ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว ตึกแกรมมี่กลายเป็นหมุดหมายหลักที่แฟนคลับจีนจะมาหาดาราท่านต่าง ๆ บางคนบินมาจากจีนเพื่อมาที่ตึกแกรมมี่มาหาดาราท่านต่าง ๆ

การไปตามรอยสถานที่ต่าง ๆ ในซีรีย์ หรือ อินสตาแกรมดารา อันนี้มีจริง ๆ นะครับ แฟนคลับดาราไทยหลาย ๆ ท่านทักมาหาตี๋น้อยว่า รู้จักสถานที่นั้น ๆ ที่ซีรีส์เคยไปถ่ายทำ หรือดาราคนนั้นไปเช็กอินในอินสตาแกรมมั้ย เขาอยากไป ตี๋น้อยพาไปหน่อย อันนี้เข้าใจนะครับ เพราะสมัยก่อนคนไทยก็เคยตามรอยซี่รีส์เกาหลี เช่น coffee prince ฯลฯ เช่นกัน

หรือจะเป็นคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้งในจีนและไทยของดาราไทยและจีนท่านต่าง ๆ จะสังเกตได้ว่ามีส่วนดันการท่องเที่ยวของไทยให้โตขึ้นชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นคอนเสิร์ต เจย์โจว ที่ผ่านมา คนจีนซื้อบัตรในหลายแอปพลิเคชันของจีนจนหมด พอคอนเสิร์ตจบ หลายคนก็ท่องเที่ยวในไทยต่อ ดันตัวเลขท่องเที่ยวไทยให้โตขึ้น หรือจะเป็นคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งดาราไทยทั้งในจีนและในไทยเองที่คนจีนไปเยอะมาก ๆ เช่นกัน ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ดันเศรษฐกิจให้โตขึ้น

และนี่คือจุดประสงค์ที่ตี๋น้อยเขียนโพสต์นี้ขึ้นมาคือ เอกชนของเราดันตัวนี้มาได้ถูกจุดมากแล้ว เหลือแค่ภาครัฐช่วยส่งเสริมต่อ นอกจากการส่งออกวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว ถ้าเราผลักดันในส่วนที่ผมเขียนมาเสริมเข้าไปอีก จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยให้โตยิ่งขึ้นไปอีกครับ ไม่แน่เราอาจจะทำได้อย่างเกาหลีที่ส่งออกวัฒนธรรมเคป็อบไปทั่วโลกก็ได้ครับ

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ศก.ไทยมีการฟื้นตัว แต่ล่าช้ากว่าที่คาด ยัน!! ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

(24 ม.ค.67) ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ‘เศรษฐกิจประเทศไทย’ วิกฤตแล้วหรือไม่ โดยล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพียงแต่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแต่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘วิกฤต’

ถามต่อว่า ถ้าต้องการเพิ่มอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพระยะยาว ทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ต้องดำเนินการเรื่องของโครงสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่ใช่การใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น ส่วนประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค., ก.พ. หรืออาจถึงเดือน มี.ค. แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญภาวะเงินฝืด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และในระยะยาวเงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก 

ประเด็น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า อยู่ในภาวะที่เป็นกลาง และมีเพียง 2 ประเทศในโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนการพบกันของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นไปด้วยดี โดยเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่รักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top