เศรษฐกิจไทย 66 เติบโตไม่เป็นไปตามคาดการณ์  สะท้อนจากผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปในปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล กำกับเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งแนวโน้มจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ล้วนเป็นทิศทางเดียวกันว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ภาพจริงเริ่มสะท้อนว่าเศรษฐกิจชักไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อผ่านพ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเมื่อต้นปีมากพอสมควร

กลับกลายเป็นว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจคงเหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อปี กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เผชิญความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนมองกันในช่วงต้นปี 2566 คือ ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ Covid-19 และมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เครื่องมือที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ น่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย

อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกเอง ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาว จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแต่ 'ทรง' กับ 'ทรุด' และเมื่อเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้ ก็ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลข 'การส่งออก'

ไตรมาสที่ 1 ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้า -4.5, ไตรมาสที่ 2 หนักกว่าเดิม -5.6 และไตรมาสที่ 3 ตัวเลขที่ออกมา -2.0 ซึ่งข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ระบุว่า ประมาณการภาพรวมตัวเลขมูลค่าส่งออกสินค้า ในปีนี้ -2.0 (ร้อยละต่อปี) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการตัวเลขไว้ที่ -1.7 ซึ่งในไตรมาส ที่ 2 ธปท.เคยประมาณการเดิมไว้ ร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการตัวเลขติดลบมากกว่าเดิม

ในปี 2567 ทุกหน่วยงานได้คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 4.4 - 4.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ในปีนี้ ตัวเลขการเติบโตไม่เป็นไปตามคาด แถมตัวเลขปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ติดลบไปมากพอสมควร ซึ่งความเห็นของผู้เขียน มองว่า 3 ปัจจัยหลัก ที่จะเกื้อหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก, การลงทุนของภาคเอกชน และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 

แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ส่งเสริมการบริโภคอุปโภค และสานสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้า คงจะเห็นภาพที่ชัดเจน ถึงฝีมือในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล และอาจเห็นภาพการปรับเปลี่ยนบางอย่างสำหรับทีมเศรษฐกิจ ก็เป็นได้


เรื่อง: The PALM

อ้างอิง: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13581 

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค : https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14551&filename=QGDP_report 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (11 ตุลาคม 2566) ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจประเมิน ณ วันที่ 27 กันยายน 2566 : https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/our-roles/monetary-policy/mpc-publication/monetary-policy-forum/MPF_2566_03.pdf