Sunday, 28 April 2024
เศรษฐกิจ

‘รัฐบาล’ คาด!! ปี 66 ต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวแตะ 1.44 ล้านล้านบาท

(2 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2566 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเอง และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาเยือนในประเทศไทย ช่วงเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนมากถึง 2,241,195 คน โดยอันดับ 1 เป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย จำนวน 398,295 คน โดยจุดมุ่งหมายที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา และ ภูเก็ต โดยเฉพาะ ภูเก็ต ที่บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก ทั้งในส่วนของย่านเมือง ทะเล หรือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

'นายกฯ' หารือ 'ทูตไอร์แลนด์' กระชับความสัมพันธ์ พร้อมหนุน ศก. ส่งเสริมการศึกษา-วัฒนธรรม

(8 ก.พ. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริก เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับหน้าที่ และพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูตฯ อย่างเต็มที่ ยินดีกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เยือนไทยในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไอร์แลนด์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ลีโอ วรัทการ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยและไอร์แลนด์ร่วมกันผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในสาขาต่าง ๆ ให้เกิดผล เป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ฯ กล่าวยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในทุกระดับ และทุกมิติ

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่าง ๆ โดยเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและไอร์แลนด์ยังมีศักยภาพอีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น พร้อมได้กล่าวเชิญไอร์แลนด์เข้ามาลงทุนเพิ่มในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอุตสาหกรรม ที่ไอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญสูง และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ซึ่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเดินหน้าไปอย่างดี โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนไอร์แลนด์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จึงหวังที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านนี้ระหว่างให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

'รมว.คลัง' ชี้ 'การท่องเที่ยว' เครื่องยนต์หลักเคลื่อน ศก. ยัน!! แม้ ศก.โลกไม่แน่นอน แต่คลังไทยยังแข็งแกร่ง

(15 ก.พ. 66) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand's Future Economic Forum 2023 โดยปาฐกถาพิเศษเรื่อง ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปี 2566 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ฐานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของจีดีพี ในกรณีที่เกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย

ความสำเร็จรับมือโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เกียรติยศและรางวัลแห่งความสำเร็จ : เกิดจากความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ ที่รัฐบาลนี้ นำมาสู่ประชาชนชาวไทย คือ ‘การสร้างโอกาสในวิกฤต’ 

โดย ‘ปีแรก’ ของการระบาด ประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ที่สามารถฟื้นตัวจากโควิดได้ดี เป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ที่มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคระบาดและด้านสุขภาพได้ดีที่สุด อีกทั้งไทยเป็นอันดับ 5 ของโลก ที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากทั่วโลก และเป็นประเทศเดียวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินโครงการกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) และถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤตโควิด

นอกจากนี้...ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ ‘ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่’ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) ที่ส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยเป็น ‘ศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุข’ (Medical Hub) แห่งหนึ่งในโลก และไปไกลได้กว่านั้น คือ เป็นตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ในอนาคต

การนำพาบ้านเมืองฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ดึงพลังความสามัคคีของคนในชาติ จนสามารถเอาชนะ ‘สงครามโควิด’ ได้อย่างงดงาม จนนานาชาติต่างชื่นชม แน่นอนว่าการท่องเที่ยวในปี 64 หลัง ‘เปิดประเทศ’ อย่างเป็นระบบ นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับเข้าประเทศตามเป้า 10 ล้านคน ตั้งแต่ยังไม่ครบปี 

ในขณะที่หลายประเทศยังซบเซา เศรษฐกิจโลกยังถดถอย แต่ก็มั่นใจว่าปีหน้า 2566 จะมีชาวต่างชาติมาเยือนไทย ไม่น้อยกว่า 23.5 ล้านคน มองเห็นสร้างรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมชาวจีนที่ยังคงปิดประเทศ

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! เอกชนญี่ปุ่น เชื่อมั่นศักยภาพ ศก.ไทย จ่อขยายการลงทุน มั่นใจ ศก.ปี 66 พุ่งจากการท่องเที่ยว

(17 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. - 23 ธ.ค.2565 โดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese chamber of commerce, Bangkok: JCCB) และยินดีที่ภาคเอกชนญี่ปุ่น ให้ความเชื่อมั่นศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และมีแผนที่จะขยายการลงทุนมากขึ้น โดยคาดการณ์จีดีพี ปี 2566 จะเติบโตมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

นายอนุชา กล่าวว่า ผลการ สำรวจฯ คาดการณ์ว่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ 28 สูงขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อยู่ที่ 21 โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นคาดว่า การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวขาเข้า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนจะได้รับการแก้ไข

'ซาอุดีอาระเบีย' ปักหมุด EEC ลงทุนในไทยร่วม 3 แสนล้านบาท!!

สำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชอาณาจักร ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ ที่ห่างหายมานานกว่า 32 ปี ได้สำเร็จนั้น ส่งผลในทางบวกที่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศต่างรอคอย และชาวโลกก็เฝ้าติดตามเช่นกัน ในที่สุดความหวังที่มีมาอย่างยาวนานถึง 14 รัฐบาล ก็เกิดขึ้นจริงในปี 2565 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) 

โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เสด็จเยือนไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 

2 เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้นำมาสู่การยกระดับความร่วมมือเบื้องต้นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ด้านพลังงาน, ด้านการท่องเที่ยว และด้านการค้า-การลงทุน

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! รายได้ 4 เดือนแรก เกินเป้า 9.1 หมื่นลบ. สะท้อนเสถียรภาพการคลัง มั่นใจ!! เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

(21 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น หลังทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 4 เดือน แรกปีงบประมาณ 2566 และปัจจัยบวกตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางการเงินของรัฐบาล และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เปิดเผยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดือน ต.ค. 2565 - เดือน ม.ค. 2566 พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 836,643 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 91,339 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3 โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ 820,825 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 45,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! ศก.ไทย ปี 65 ขยายตัวดีกว่าประเทศคู่ค้า คาด ปี 66 ภาคท่องเที่ยว-ลงทุน หนุนขยายตัวถึงร้อยละ 3.7

(23 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวสูงกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่ขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ -0.9 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การขยายตัวของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10.3 ด้านการต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 65,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้ามีมูลค่า 62,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการผลิต ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 12.8 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน (ร้อยละ 51.5X ข้าวเปลือก (ร้อยละ 27.6) สุกร (ร้อยละ 42.4) ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 16.5

สาขาการก่อสร้าง กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสร้อยละ 2.6 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 30.6 ในไตรมาสนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จำนวน 5.465 ล้านคน รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.425 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 213.9 โดยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น อัตราการว่างานอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ต่ำกว่าร้อยละ 1.23 ในไตรมาสก่อนหน้า

'คลัง' ยันเสถียรภาพ ศก.ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดัชนีเชื่อมั่นโต อัตราเงินเฟ้อลด

(27 ก.พ. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อน

ทั้งนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 6.6%

ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.1%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top