'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! ศก.ไทย ปี 65 ขยายตัวดีกว่าประเทศคู่ค้า คาด ปี 66 ภาคท่องเที่ยว-ลงทุน หนุนขยายตัวถึงร้อยละ 3.7

(23 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวสูงกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่ขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ -0.9 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การขยายตัวของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10.3 ด้านการต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 65,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้ามีมูลค่า 62,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการผลิต ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 12.8 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน (ร้อยละ 51.5X ข้าวเปลือก (ร้อยละ 27.6) สุกร (ร้อยละ 42.4) ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 16.5

สาขาการก่อสร้าง กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสร้อยละ 2.6 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 30.6 ในไตรมาสนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จำนวน 5.465 ล้านคน รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.425 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 213.9 โดยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น อัตราการว่างานอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ต่ำกว่าร้อยละ 1.23 ในไตรมาสก่อนหน้า

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564  การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ผลผลิตมวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,890.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,254.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ในปี 2564

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภค บริโภค ภาคเอกชนและภาคเกษตรที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว. กลาโหม ให้ความสำคัญการบริหารประเทศในประเด็นเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย, หนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม, การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้การเกษตร, การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า, การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง, การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน, การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลาง และเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และติดตาม เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ