Tuesday, 14 May 2024
เมียนมา

แฉยับ!! เบื้องหลังบริษัทน้ำมัน 'สหรัฐฯ - ยุโรป' โกยกำไรงาม จากสัมปทานน้ำมันของ รบ.เมียนมา

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ที่เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ก็ได้มีการสรุปรายงานโดยเจ้าหน้าที่พิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่าตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจโดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันเป็นต้นมา มีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,490 ราย โดยในจำนวนนั้น มีทั้งเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพลเรือนพม่ามากมาย

ในขณะที่ทั่วโลกร่วมกันประณาม และคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า แต่กลับมีการนำเสนอเอกสารลับ โดยกลุ่ม Distributed Denial of Secrets กลุ่มนักเคลื่อนไหวในพม่า Justice For Myanmar ร่วมกับสำนักข่าวชื่อดัง  Finance Uncovered และ The Guardian ซึ่งพบหลักฐานการเสียภาษีจำนวนมหาศาลของกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของทั้ง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ไอร์แลนด์ ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแหล่งก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่บ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถแสวงหาผลกำไรมหาศาล แม้จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าไปแล้วก็ตาม

เอกสารลับนี้ ยังชี้ว่า บริษัทนัำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง ยังคงดำเนินกิจการในบริษัทสาขาของตนในพม่าตามปกติ แม้จะมีคำเตือนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์การเมืองในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำธุรกิจร่วมกับ บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของเมียนมา (MOGE) ที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัฐบาลทหารพม่า 

เมื่อปรากฏหลักฐานว่ายังมีบริษัทน้ำมันจากชาติมหาอำนาจ ที่ยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่าเช่นนี้ ทางสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา จึงได้ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเพิ่ม รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงของ MOGE ด้วย 

แต่กลับเลือกที่จะเลี่ยง ไม่ยอมคว่ำบาตร MOGE ทุกองค์กรทั้งระบบ ซึ่งยังเปิดช่องให้กิจการเอกชนสามารถทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ได้อยู่ ซึ่งตรงข้ามกับทางกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ได้ออกมาประกาศคว่ำบาตร MOGE ทั้งองค์กรแล้ว ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพม่า และมีการห้ามบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม

ทั้งนี้ ในเอกสารด้านภาษีที่หลุดออกมามีระบุรายชื่อบริษัทน้ำมันเอกชนของชาติตะวันตกที่ยังร่วมสัมปทานใน MOGE ดังนี้...

- Halliburton บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่เปิดสาขาในสิงคโปร์ แจงผลกำไรก่อนเสียภาษีในไตรมาศที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 รวมผลประกอบการ 8 เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 207 ล้านบาท)  

- Baker Hughes บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง ฮูสตัน รัฐเท็กซัส และเปิดสำนักงานในเมืองย่างกุ้ง มีผลกำไรก่อนภาษี ตลอด 6 เดือนจนถึงมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ 2.64 ล้านดอลลลาร์ (ประมาณ 87 ล้านบาท)

วิกฤตศรัทธาศาสนาพุทธในเมียนมา อนาคตที่ถูกชี้ชะตาโดยคนรุ่นใหม่

เมื่อไม่นานมานี้มีภาพหลุดออกมาว่อนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับภาพพระสงฆ์ที่เหมือนจะกำลังเดินอยู่บนแคตวอร์ก จนสร้างความฮือฮาให้กับชาวเน็ตทั้งคนเมียนมาเอง ขณะที่คนต่างชาติ ก็ออกปากพูดเชิงดูหมิ่นว่า พระมาเดินแคตวอร์กอะไรทำนองนั้น  

เมื่อสืบค้นไป ก็พบว่าประเด็นนี้ มาจากมีคหบดีท่านหนึ่งจัดงานวันเกิดให้พระผู้ใหญ่ที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง จึงมีการเชิญพระหลายรูปมาร่วมงานในที่นี้ รวมถึงมีการนำรถหรูไปรับพระด้วย

แน่นอนว่า หลายคนมองถึงความไม่สมควรของพระที่ควรจะสมถะ แต่กลับถูกโยมสร้างให้เกิดในสิ่งที่เรียกว่า 'ผิดไปจากวินัยคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า' ด้วยหรือ ว่าแล้วหลายคนจึงได้เข้าไปกระหน่ำบูลลี่สิ่งที่เห็นเพียงแค่ภาพอย่างสะใจแบบเอาตายในเชิงดูหมิ่นพระสงฆ์ 

อันที่จริง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระผู้ใหญ่โดนเช่นนี้!!

ช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา กรณี 'ครูบาบุญชุม' ครั้นเมื่อท่านออกจากวิปัสสนาจากถ้ำที่เมืองแกดในรัฐฉาน แล้วตัวท่านก็มีการแสดงท่าทาง อาการแปลกๆ และมีการถ่ายภาพไว้ และมีการโพสต์ลงสื่อออนไลน์ ทำให้คนหลายคนเข้ามาต่อว่า บูลลี่ไปถึงอาการที่เป็นอยู่ว่าท่านเสียจริตเอยหรืออื่นๆ อีกมากมาย

ที่เอย่าอยากจะบอก คือ อย่างไรก็ดี ศาสนาพุทธในเมียนมา ณ วันนี้ ยังคงแข็งแกร่ง เพราะพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังรักและศรัทธากับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ 

แต่ในขณะเดียวกันจำนวนพุทธศาสนิกชนเมียนมาที่เอาใจออกห่างจากพุทธศาสนาก็มีเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่และคนชั้นกลาง ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มที่ชี้ชะตาถึงความแข็งแกร่งของพุทธศาสนาในเมียนมาในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ 

จากนี้คงต้องมาดูถึงบริบทของศาสนาพุทธที่เปลี่ยนไปกันในอนาคตกันว่าจะเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า

วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของเมียนมา มรดกทางวัฒนธรรมร่วม ที่ควรรีบขอขึ้นทะเบียน

มีข่าวดังมาจากองค์การ UNESCO ว่าประเทศไทยขอขึ้นทะเบียนวันสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะที่กัมพูชายังมึนตึ๊บกับเรื่องมวยไทยกับกุน ขแมร์ กันอยู่

เอย่ามองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมในดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ อย่างสงกรานต์ในไทย-ในลาว เรียกว่า ‘ตรุษสงกรานต์’ ในกัมพูชาเรียกว่า ‘โจล ชนัม ขแมร์’ ส่วนในพม่าเรียกว่า ‘ติงจ่าน’ หรือ ตะจ่านนั้น ทุกความเชื่อเหมือนกันคือเป็นวันปีใหม่และมีเทศกาลเล่นน้ำ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งหากเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาพูดย่อมจะพูดกันได้ยาก ว่าเป็นวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง  

ทั้งนี้ยังมีอีก 1 เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของพม่า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมเช่นกัน เพียงแต่ในแต่ละประเทศมีประเพณีต่างกันไปบ้าง เช่น ในไทยมีการตักบาตรเทโว เป็นต้น ส่วนในพม่าและลาวนั้น มีการประดับประดาเทียนตามพื้นที่วัดและอาคารบ้านเรือนเพื่อสักการะต่อพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์นั่นเอง

ส่อง ‘เมียนมา’ ในวันที่ชาติตะวันตกเข้ามาเผือก กองทัพไม่กระทบ-คนป่วนนั่งชิล-ปชช.รับบาป

เพิ่งจะผ่านวันครบรอบการรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันในเมียนมายังมีหลายพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่สีแดงและห้ามคนต่างชาติเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวแม้จะมีการเปิดประเทศแล้ว รวมถึงการแซงชันจากชาติตะวันตก ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบถึงฝ่ายกองทัพหรือไม่ เอย่ากล่าวได้เลยว่า กองทัพเมียนมาแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ นั่นคือประชาชนที่หลายคนไม่ได้สนับสนุนกองทัพ แต่ต้องมารับผลโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ประเด็นการแซงชันในเมียนมานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า เมียนมาโดนชาติตะวันตกแซงชันมานับสิบๆ ปีก่อนจะมาเปิดประเทศ ซึ่งนั่นเหมือนเป็นวัคซีนชั้นดีที่ทำให้เมียนมาปรับตัวได้ โดยผ่านระบบเอเย่นต์

ส่วนการก่อความไม่สงบในเมียนมาดังที่ปรากฎในข่าวไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดถนน สะพาน รถไฟ หรือลอบสังหารผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเปรียบได้กับโมเดลของโจรใต้ในประเทศไทย แต่ส่งผลซ้ำร้ายกว่าตรงที่ผลเหล่านั้นกระทบกับผู้คนในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำรวจความเข้มแข็งทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา 'ศิลปะ-วัฒนธรรม' ทรงคุณค่า ไม่ต้องบ้าไปไล่เคลมของใคร

จากข่าวเรื่องที่กัมพูชาพยายามเคลมอะไรต่อมิอะไรของชนชาติอื่นมาเป็นของตน แต่พอหันกลับมามองประเทศที่อยู่อีกฝั่งของแผนที่อย่าง เมียนมา หรือ พม่า ประเทศที่อยู่ฝั่งตะวันตกของไทย ทำไมกลับไม่คิดจะเคลมอะไรของไทยเลย วันนี้เอย่าจะมานำเสนอให้รู้กัน

ด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม : เมียนมาหรือพม่านั้นมีศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นเอกเทศและแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามพื้นที่และยุคสมัย โดยหากแยกตามยุคแล้ว ศิลปะในเมียนมาอย่างเช่น สถาปัตยกรรมของยะไข่, พยู, มอญ, พม่า และอังวะ จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแต่ละยุค ซึ่งแสดงออกในรูปของเจดีย์ในแต่ละภูมิภาค

ด้านอาหาร : อาหารพม่าแม้จะมีความเป็นฟิวชันระหว่างอาหารอินเดียกับอาหารจีน แต่ก็มีอาหารหลายเมนูที่เป็นเมนูพม่าแท้ ๆ อย่างเช่น ยำใบชา หรืออาหารที่ประกอบจากใบกระเจี๊ยบ ซึ่งเราไม่พบการปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบแบบนี้ในภูมิภาคอื่น

ด้านการแต่งกาย : เมียนมาเป็นแหล่งรวมผู้คนหลากชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็มีการแต่งกายประจำเผ่าแตกต่างกันออกไป ซึ่งทางการเมียนมาก็สนับสนุนให้ชุดประจำชาติพันธุ์เป็นชุดสุภาพในการติดต่อทางการอีกด้วย

ด้านการฟ้อนรำ : ในแต่ละชาติพันธุ์ที่ท่าเต้นรำที่แตกต่างออกไปตามชาติพันธุ์เช่นกัน ซึ่งแสดงออกถึงลักษณะประจำชาติพันธุ์ของแต่ละเผ่า

ด้านภาษา : แน่นอนที่ในประเทศที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์อย่างเมียนมาย่อมมีผู้คนที่ใช้ภาษาตามชาติพันธุ์ของตนในการสื่อสาร แม้ในปัจจุบันทางการจะพยายามให้การศึกษาด้วยภาษาเมียนมาเพื่อเป็นภาษากลาง แต่บางพื้นที่ก็เลือกจะไม่เรียนเพื่อดำรงอัตลักษณ์ทางภาษาของตนไม่ให้สูญหาย

'KNLA 4' ปะทะ!! ทหารนายพลเนอดา เมียะ ที่ทวาย เหตุฝ่ายหลังอ้างสู้กับทัพพม่า แต่สร้างปัญหาให้ ปชช.

กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 2 กลุ่มปะทะกันเองอย่างหนัก ในพื้นที่ชายแดนทวาย ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงพยายามผลักดันทหารกองทัพกอทูเล ของนายพลเนอดา เมียะ ให้ออกไปจากพื้นที่ เหตุฝ่ายหลังเข้ามาเคลื่อนไหวอ้างต่อสู้กับทหารพม่า แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทหารจากกองพันที่ 10 กองพลที่ 4 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army : KNLA) ได้นำกำลังบุกเข้าโจมตีค่ายทหารกองร้อยที่ 5 กองทัพกอทูเล (Kawthoolei Army : KTLA) ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตทีคี พื้นที่ชายแดนจังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีของไทย

การสู้รบเริ่มขึ้นในช่วง 10.00 น. ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสาดกระสุนโต้ตอบกันประมาณครึ่งชั่วโมง เสียงปืนจึงสงบ อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น (17 ก.พ.) เวลาประมาณเที่ยง ทหาร KNLA ได้ใช้อาวุธหนักโจมตีค่ายทหาร KTLA จากนั้นได้เกิดการยิงปะทะกันอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

สำนักข่าว Dawei Watch ซึ่งรายงานข่าวการปะทะกันครั้งนี้ ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ เนื่องจากตัวแทนจากทั้ง 2 กองทัพที่ให้สัมภาษณ์ต่างบอกว่าฝ่ายของตนไม่ได้รับความเสียหาย แต่ทหารฝ่ายตรงข้ามมีทั้งบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทั้งกองทัพ KNLA และ KTLA ต่างเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดย KNLA เป็นกองทัพอย่างเป็นทางการภายใต้การกำกับของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แบ่งกำลังออกเป็น 7 กองพล ซึ่งกองพลที่ 4 (KNLA 4) รับผิดชอบพื้นที่ในภาคตะนาวศรีทั้งหมด

ส่วน KTLA เป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยนายพลเนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการ องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Defence Organization : KNDO) และเป็นลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU

นายพลเนอดา เมียะ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกซึ่งเป็นอดีตทหาร KNLA และ KNDO ออกมาตั้ง KTLA หลังเขาถูกบีบให้ออกจากการเป็นสมาชิก KNU จากกรณีทหาร KNDO ภายใต้การบัญชาการของเขาได้สังหารหมู่คนงานชาวพม่าอย่างโหดเหี้ยม 25 ศพ ที่ตำบลวาเลย์ จังหวัดเมียวดี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 โดยอ้างว่าเป็นทหารพม่าปลอมตัวมา ซึ่งผลการสอบสวนของ KNU สรุปว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบของ KNU

นายพลเนอดา เมียะ เป็นนายทหารที่จิตใจเอนเอียงไปเข้ากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โดยกำลังทหาร KTLA ที่เขาตั้งขึ้นได้ร่วมเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดกับกองกำลังติดอาวุธ (PDF) ที่จัดตั้งขึ้นโดย NUG ต่อสู้กับกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของรัฐกะเหรี่ยง และภาคเหนือของภาคตะนาวศรี

แม้ว่าทั้ง KNU และ NUG ต่างต่อต้าน SAC และกำลังสู้รบอยู่กับกองทัพพม่าเหมือนกัน แต่แกนนำ KNU ส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ NUG โดยมองว่าในอนาคต หาก NUG ได้รับชัยชนะ กองกำลัง PDF ที่นายพลเนอดา เมียะ ให้การสนับสนุนอยู่นั้นจะย้อนกลับมาสู้รบกับกองทัพกะเหรี่ยง เพื่อต้องการควบคุมดินแดนรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด

รถยนต์ไฟฟ้าใน 'เมียนมา' 'ถึงเวลา' หรือ 'มาก่อนกาล'

ถ้ากล่าวถึงประเทศไทยวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรานั้นมาถึงยุคของรถไฟฟ้าแล้ว เพราะยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนับได้ว่าดีวันดีคืนจนค่ายรถเกือบทุกสำนักต้องเข็นรถยนต์ไฟฟ้าออกมายึดหัวหาดในตลาดนี้ และด้วยเหตุผลทางเศรษฐสถานะของคนไทยไม่ว่าจะเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถลดลงได้ ทำให้การเลือกเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมียนมาได้เลย เพราะประเด็นของเมียนมา ณ วันนี้คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศไม่ใช่จากภาวะต้นทุนน้ำมัน และภาวะการขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงภาวะการที่รัฐไม่สามารถจ่ายไฟให้มีระดับโวลต์ที่คงที่ได้ นี่ต่างหากที่คืออุปสรรคของการทำตลาดรถไฟฟ้าในเมียนมา

แต่อย่างไรก็ดีค่ายรถจีน ก็ยังมองว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำหรับที่จะเปิดตลาดรถไฟฟ้า โดยค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง NETA ที่เข้าไปเปิดตลาดในเมียนมาร์ก่อนแล้วตอนนี้ตามมาด้วย BYD ซึ่งเอาใจผู้ใช้รถชาวพม่าโดยออกรถ SUV ที่เป็นรถยอดนิยมในหมู่ชาวพม่าออกมาเพื่อแย่งตลาดผู้ใช้รถ SUV ในเมือง ด้วยราคาเปิดตัวที่ประมาณ 100 ล้านจ๊าตหรือประมาณ 1.2 ล้านบาทไทยซึ่งเท่าๆ กับราคา ของ BYD ในไทย น่าจะทำให้เศรษฐีเมืองพม่าหลายคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องไฟตก ไฟเกิน เข้าถึงได้ไม่ยากนัก

พนันออนไลน์ ระบาด!! ไม่เว้นแม้ในเมียนมา ประเทศที่ปักธงเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกม.

การเล่นการพนันของเมียนมาเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมายมาแต่ไหนแต่ไร แม้ในเมียนมาจะมีการได้รับอนุญาตให้เปิดคาสิโนตามชายแดน ซึ่งนั่นก็เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากผู้เล่นต่างชาติอย่างไทยหรือจีนนั่นเอง 

ขณะเดียวกันด้วยการเดินทางที่ยากลำบาก ทำให้คนรวยในเมียนมาที่อยากเล่นการพนันเลือก ก็จะเดินทางไปเล่นการพนันในต่างประเทศมากกว่าที่จะเลือกนั่งรถ 8-10 ชม. จาก ‘ย่างกุ้ง’ มา ‘เมียวดี’

ทว่า เมื่อยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู หลายสิ่งหลายอย่างได้รับการพัฒนา รวมถึงการลงทุนด้านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งแม้มันจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายของชาวเมียนมา แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การพนันออนไลน์ในเมียนมาเติบโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการพนันออนไลน์ที่เฟื่องฟูขึ้นเป็นดอกเห็ด

สายมูต้องลอง ตามรอย ‘รัฐพะโค’ ในเมียนมา ขอพรตามคิด ลิขิตดังใจ

เชื่อได้ว่าใครที่ได้มีโอกาสบินมาเที่ยวเมียนมา มักจะไม่พลาดที่จะแวะเวียนมายัง ‘ย่างกุ้ง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เอย่า อยากบอกว่ามีอีกหมุดหมายหนึ่งที่ไม่อยากให้พลาด นั่นก็คือ ‘เมืองพะโค’ หรือ ‘เมืองหงสาวดี’ นั่นเอง 

นั่นก็เพราะในหงสาวดีมีจุดหมายหลักๆ 3 ที่ ซึ่งใครมาก็ต้องไป ได้แก่...พระราชวังบุเรงนอง / เจดีย์พระธาตุมุเตา และวัดพระนอนตาหวานชเวตาเลียว แต่ไม่หมดเท่านี้ในรัฐพะโค ยังอุดมไปด้วยสถานที่ที่น่าสนใจมากมายทั้งในเมืองพะโคเองและนอกเมืองพะโค ซึ่งวันนี้เอย่าขอปรับอารมณ์พาผู้อ่านมาทัวร์ชมหมุดหมายที่น่าสนใจ เผื่อใครสนใจจะตามรอย ก็มิว่ากัน…

เริ่มที่ ‘ศาลโบโบจี’ (Shwe Nyaung Bin) ตั้งอยู่บริเวณไฮเวย์มุ่งสู่เมืองพะโค เลยสุสานทหารสงครามโลกมาไม่ไกลนัก โดยศาลนี้ผู้คนชาวพม่ามีความเชื่อว่า ถ้าหากออกรถใหม่ต้องขับรถมาไหว้ขอพรที่นี่เพื่อเป็นสิริมงคลและความปลอดภัยในการขับขี่

ต่อมากับ ‘วัดกองมูดอว์’ (Kaung Mhu Daw Pagoda) ในเมืองตองอู วัดนี้เป็นวัดที่พระเจ้าบุเรงนอง ทรงสร้างขึ้นด้วยความเชื่อว่าถ้าสักการะแล้วจะได้ชัยชนะทุกครั้ง ในวัดมีรูปปั้นบุเรงนองสักการะพระธาตุอยู่ รอบฐานจะมีลานทรายเล็กๆ อยู่ โดยเชื่อว่าถ้าอธิษฐาน แล้วเดินวนในทราย3รอบ คำอธิษฐานจะเป็นผลสำเร็จ (เหล่านักธุรกิจชาวพม่าที่มาสักการะที่นี่จะนิยมเก็บทรายไว้ติดตัวเพื่อความเป็นมงคลในด้านชัยชนะ หากใครทำธุรกิจระหว่างประเทศแนะให้มาสักการะจะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง)

ชำแหละโลกมืดใน ‘เมียนมา’ แด่สายหวังรวยลัด เมื่อในความเป็นจริง อาจไม่ได้สวยงามดังหวัง

มีข่าวมานานแล้วเรื่องการประกาศหาคนไทยมาทำงานในเมียนมา โดยงานที่บอกนี่ไม่ใช่งานอย่างที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจกันนะ เพราะหากเป็นงานที่สุจริต จะต้องผ่านกระบวนการคัดสรรและจ้างงานอย่างเป็นระบบภายใต้กฎหมายไทยหรือเมียนมา ซึ่งตัวบริษัทก็จะมีชื่อและสามารถตรวจสอบธุรกิจ ธุรกรรมได้ 

แต่หลายๆ งานในเมียนมาไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หลายงานต้องการจ้างคนไทยเพื่อไปทำงานบริการ หรืองานดูแลระบบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งงานเหล่านี้จะไม่มีการออก Work Permit หรือแม้กระทั่งออก Business Visa ให้ (หลายคนที่มาทำงานเหล่านี้อาจจะรู้และยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ได้)

แน่นอนว่างานเหล่านี้ มักจะมีรายได้ดี แต่ความจริงหลังม่านไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด…

มีรายงานจากสถานทูตไทยในเมียนมาอยู่หลายครั้ง รวมถึงช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของคนไทยในเมียนมาต่างๆ ที่มีการขอความช่วยเหลือญาติพี่น้องรวมถึงคนรักที่เข้ามาทำงานในเมียนมา ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานขายบริการรวมถึงงานดูแลระบบคาสิโนเป็นต้น  

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า แม้ในช่วงเวลาที่เหตุการณ์บ้านเมืองในเมียนมาปกติ รัฐบาลกลางเมียนมาก็ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ ในเขตปกครองพิเศษหรือเขตปกครองตนเอง เช่น ในเมืองมูเซ เล้าก์ก่าย เมืองลา หรือ เมืองป๊อก ที่เป็นเขตอิทธิพลของว้ากับโกกั้ง หรือในเขตอิทธิพลของจีนในแถบเมียวดี หรือแม้กระทั่งทำงานในคาสิโนแถวท่าขี้เหล็กก็ตาม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top