Tuesday, 14 May 2024
เมียนมา

'เพจประวัติศาสตรพลัส' แชร์!! 'ไกด์พม่า' เผยเหตุผลที่อังกฤษขุดคลองให้ในอดีต เพื่อผลประโยชน์และทรัพย์สมบัติชาติที่วันนี้ยังตกค้างในลอนดอน

(29 พ.ย. 66) จากเพจ 'ประวัติศาสตร์พลัส' โพสต์ข้อความถึงเหตุผลที่ในอดีตอังกฤษขุดคลองให้พม่า ระบุว่า...

ไปพม่าคราวนี้ ผมได้สนทนากับไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นคนพม่า

ไกด์พม่าบอกว่า…อังกฤษขุดคลองให้ ไม่ใช่หวังดี แต่ขุดเพื่อขนไม้สักล่องน้ำไปปากน้ำ แล้วเอาไม้สักขึ้นเรือที่อันดามัน เพื่อเอาไปขาย

ไกด์พม่าบอกว่า…อังกฤษสร้างถนนให้ ไม่ใช่หวังดี แต่เอาไว้ขนสินค้าของพม่า จะได้เอาไปขายได้สะดวก

ไกด์พม่าบอกว่า…ชุดโบราณงามวิจิตรของกษัตริย์และราชินีที่ตกทอดมา มงกุฎ สมบัติในวังต่าง ๆ พระพุทธรูป อังกฤษบอกว่าจะเอาไปดูแลให้ เอาไว้ที่พม่ากลัวคนพม่าจะทำสมบัติเหล่านี้หาย สุดท้ายสมบัติพวกนี้ก็ไปปรากฎอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ลอนดอน พม่าขอคืน อังกฤษก็คืนมาเพียงบางส่วน

ไกด์พม่าบอกว่า ส่วนดีก็มี อังกฤษมาวางรากฐานการศึกษาให้ มาวางผังเมืองให้ แต่ถ้าเลือกได้ เขาขออยู่กันเอง ปกครองกันเอง ทุกอาณาจักรย่อมต้องการอิสระเสรี ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมหรือ อาณาจักรอื่นที่เข้ามาแล้วเหมือนมาปล้นชาติ แล้วเหลือเนื้อติดกระดูกให้คนในชาติเอาไปแทะกิน

ไกด์พม่าบอกว่า ศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้หรอกครับ แต่บางครั้ง…มันก็จำเป็นต้องมี เพราะคนเรามักมองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี 

ฟังแล้วก็ให้รู้สึกขอบคุณบรรพบุรุษของเราเหลือเกิน ที่รักษาชาติไทย จนเป็นชาติไทยอยู่จนทุกวันนี้

ขอบพระคุณจริงๆ 🙏🇹🇭

‘ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังเร็วเกินไปที่ ‘พม่าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ-รัฐบาลทหารแพ้หมดรูป’ เตือน ‘ไทย’ ระวังตัวแปรกระทบ ‘ราคาพลังงานไทยพุ่ง-พม่าอพยพข้ามแดน’

ศึก 3 ก๊กใน ‘เมียนมา’ ระอุ ‘สหรัฐฯ’ อนุมัติงบหนุน ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถล่มรัฐบาลทหาร ขณะที่สภาบริหารฯ ยอมรับถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดพื้นที่ไปแล้วกว่าครึ่งประเทศ และกำลังบุกเข้าโจมตีเขตเศรษฐกิจ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังไม่ถึงขั้นพม่าแตกเป็นเสี่ยง ด้วยมี 6 ปัจจัยหนุน เกรงสู้รบยืดเยื้อกระทบ ศก.ไทย การค้าชายแดนหดตัว หวั่นระเบิดท่อส่งก๊าซ ทำราคาแก๊ส-ราคาพลังงานในไทยพุ่งสูง อีกทั้งผู้อพยพทะลักเข้าไทย แนะรัฐบาลพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คัดแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบ ดึงนักธุรกิจเมียนมาลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(8 ธ.ค. 66) การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่า ที่นำโดย ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ กับบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ กำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางสำนักฟันธงว่า “เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ” และรัฐบาลทหารพม่าใกล้ถึงคราล่มสลาย!!

ส่วนว่า สถานการณ์จะเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่? เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง และไทยควรจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบในเมียนในขณะนี้มา ว่า ตอนนี้เมียนมาแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่

ก๊กแรก คือ ‘ทหารพม่า’ ซึ่งจะปักหลักสร้างฐานที่มั่นยึดเมืองใหญ่ๆ อย่าง เนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ไว้ ตอนนี้กำลังระดมกำลังพลเพื่อปกป้องเมืองเศรษฐกิจ ส่วนเมืองเล็กๆ ก็คงจะตัดใจปล่อยไป โดยสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ ‘SAC’ ออกมายอมรับว่า รัฐบาลทหารพม่าเสียพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ไปกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้คนจะอพยพหนีออกจากพื้นที่อิทธิพลเพื่อหาที่ปลอดภัย ขณะที่การสู้รบจะดุเดือดยิ่งขึ้น

ก๊กที่สอง คือ ‘กองกำลังฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้แก่ PDF และ NUG ของ ‘อองซาน ซูจี’ ซึ่งจะรุกคืบเข้าไปในเมืองใหญ่ดังกล่าว กลุ่มนี้มีรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และมีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยว่ากันว่าเขาได้เงินสนับสนุนจำนวนมาก มีเอ็นจีโอนับร้อยให้การสนับสนุน ช่วยพาคนเหล่าไปยังประเทศที่สามและมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมาก ซึ่งว่ากันว่ากลุ่มนี้มีการนำโดรนที่ใช้ในการเกษตรมาติดตั้งอาวุธเพื่อใช้บินโจมตีทหารพม่า

ก๊กที่สาม คือ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ ซึ่งบางครั้งก็รวมตัวกับก๊กที่สอง บางครั้งก็รวมตัวกับก๊กทหารพม่า ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก โดยมีการเจรจาต่อรองอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการตั้งสหพันธรัฐเมียนมา หรือ ‘Federal State’ ซึ่งชนกลุ่มน้อยต้องการให้รัฐบาลเมียนมาตั้งประเทศในระบบใหม่ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ ต้องคืนอำนาจให้แก่รัฐต่างๆอยู่กันอย่างอิสระ ดังที่ปรากฏในข้อตกลงปางหลวง ซึ่งถ้าทหารเมียนมาอ่อนกำลังลงข้อตกลงนี้จะมีน้ำหนักขึ้น อย่างเช่น รัฐฉานก็มีความพร้อมมากเพราะเขามีกำลังเยอะ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย มีจุดผ่านแดนเป็นร้อย และมีการค้าขายกับจีน ซึ่งจีนให้การสนับสนุนรัฐฉานอย่างมาก ที่ผ่านมากองกำลังชนกลุ่มน้อยก็จะจัดกองกำลังร่วมกับ PDF เพื่อจัดการทหารพม่าอยู่เป็นระยะ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า นี่คือ ‘จุดเริ่มต้นของหายนะ’ ของรัฐบาลทหารพม่า เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยงเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถต้านทานการโจมตีของบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ และทหารพม่าจำนวนไม่น้อยเริ่มแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านประชาชนก็ไม่ให้การสนับสนุนทหาร ขณะที่การสนับสนุนเงินและอาวุธจากต่างประเทศไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองกำลัง PDF มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณผ่านสภาเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้

ขณะที่บางฝ่ายมองว่ายังเร็วไปที่จะสรุปผลการสู้รบ เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าอ่อนแอลงก็จริง แต่ก็ยังสามารถรักษาฐานที่มั่นในเมืองใหญ่ไว้ได้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพม่าจะแตกเป็นเสี่ยง รัฐบาลทหารจะแพ้หมดรูป ซึ่งกองกำลังติดอาวุธที่เคยรบกับทหารพม่ามองว่ายากที่จะถึงขั้นนั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.) ในบรรดา 17-18 กลุ่มติดอาวุธในพม่า ทหารพม่าก็ยังเข้มแข็งที่สุดเนื่องจากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ทั้งเครื่องบินรบ รถถัง

2.) รัฐบาลทหารพม่าสามารถเกณฑ์กำลังพลมาสู้รบได้เป็นแสนคน

3.) แม้จะมีทหารที่ยอมแพ้ ใน 7-8 สมรภูมิ เช่น แถวภาคสกาย ภาคพะโค แต่จำนวนดังกล่าวอยู่ที่หลักพัน

4.) รัฐบาลทหารพม่ามีพันธมิตรทางการทหารที่เข้มแข็ง อย่าง จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ซึ่งพร้อมสนับสนุน โดยมีรายงานจากผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ว่าประเทศเหล่านี้ส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า

5.) ปัจจัยที่สำคัญคือรัฐบาลทหารพม่าไม่รู้จะหนีไปไหน ดังนั้นคงสู้หัวชนฝา

6.) รัฐบาลทหารพม่าและเครือข่าย มีผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจต่างๆ ในเมียนมา จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังจากนี้ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลทหารพม่าจะสามารถกลับมาควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้เหมือนเดิม

“นี่เป็นโอกาสครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ที่ทำให้ทหารพม่าเพลี่ยงพล้ำได้ขนาดนี้ ถ้าไม่ตีเหล็กตอนกำลังร้อน รัฐบาลทหารพม่าก็อาจจะตั้งหลักได้ ช่วงนี้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงบุกโจมตีอย่างหนัก โดยกองกำลัง PDF กองกำลังรัฐฉาน กองกำลังจากรัฐยะไข่ สนธิกำลังกันชั่วคราวเพื่อโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตร มีอาวุธส่งไปจากสิงคโปร์ อินเดีย แต่ทหารพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง อีกทั้งยังมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง การที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่าแพ้ราบคาบจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่กลุ่มชาติพันธุ์จะทำก็คือ โจมตีเขตเศรษฐกิจ ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเยอะๆ หรือให้ทหารพม่าแตกกันเองและเกิดการยึดอำนาจจาก พล.อ.อ มิน อ่อง หล่าย น่าจะเป็นความหวังของกลุ่ม PDF มากกว่า” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าในปีหน้าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้กองกำลังต่อต้านทหารพม่า ร่วมมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในหลายพื้นที่โจมตีทหารพม่า โดยกำลังรุกเข้าไปโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงถล่มท่อส่งก๊าซและบริเวณที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกไปยังไทย จีน อินเดีย ในส่วนของท่อก๊าซนั้นเชื่อว่า ถ้าหากมีการระเบิดท่อส่งก๊าซในพม่าจะสร้างปัญหาให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซเกือบ 20% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ทั้งหมด จะทำให้ราคาก๊าซและราคาพลังงานของไทยพุ่งสูงขึ้น

ถ้ามีการโจมตีตัดเส้นทางที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกมายังไทย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในไทย หรือหากการสู้รบขยายวงและเป็นไปอย่างยาวนาน ก็จะมีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีแรงงานพม่าอยู่ในไทยประมาณ 1.5 แสนคน โดยชาวเมียนมาที่อพยพออกนอกประเทศจะมี 4 ช่องทาง คือ หนีไปอินเดีย ซึ่งมีไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียไม่ดี, หนีไปบังกลาเทศเพื่อรออพยพตามข้อตกลงของ UN, หนีไปจีน ซึ่งจีนจะตรึงไว้ให้อยู่กับพวกชานซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่ทำธุรกิจสีเทา และเข้ามาประเทศไทย ซึ่งไทยได้ทำค่ายพักผู้ลี้ภัย 8-9 แห่งไว้รองรับอยู่แล้ว เพื่อดูแลให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าไม่ไหลเข้ามาในเมือง

นอกจากนั้น หากเมียนมามีการสู้รบยาวนานก็จะกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งอาจจะทำให้ขนส่งสินค้าลำบาก และเมื่อกำลังซื้อของชาวเมียนมาลดลง ก็จะส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าของไทยตกลงตามไปด้วย

“รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับประเทศสมาชิกอาเซียนว่า หากมีชาวเมียนมาอพยพหนีภัยสงครามออกมา แต่ละประเทศจะช่วยรับผู้ลี้ภัยไว้ได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระอยู่ประเทศเดียว อย่างไรก็ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสของไทยที่จะได้แรงงานฝีมือชาวเมียนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้นักธุรกิจเมียนมาเข้ามาลงทุนในไทยมาก ขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากชาวเมียนมาที่จะอพยพออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ถูกโจมตีนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และเป็นนักธุรกิจที่มีกำลังเงิน โดยปัจจุบันนักธุรกิจที่มาซื้อคอนโดในไทยอันดับต้น ๆ ก็คือชาวเมียนมา” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า ทางออกที่จะสามารถยุติการสู้รบในเมียนมาได้ ก็คือ ‘การตั้งโต๊ะเจรจา’ ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องยุติการสู้รบ ข้อตกลงปางหลวง และการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 17 กลุ่ม แต่ยังไม่มีการพูดคุยในข้อตกลง ซึ่งมีรายละเอียดเยอะที่ต้องหารือกันว่าหากเป็นสหพันธรัฐจริงรูปแบบการปกครองจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ดีกลุ่ม PDF ไม่ยอมเจรจา จึงยังหาทางออกไม่ได้ เพราะการที่กลุ่มชาติพันธุ์จะกำจัดกองกำลังทหารให้สิ้นซากนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หรือหากสามารถทำได้ ก็จะเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่ม PDF กับกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ อีกเพราะขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังไม่มีการเจรจาสงบศึกกันอย่างแท้จริง ยังไม่มีการตกลงกันว่าใครจะปกครองตรงไหน จังหวะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียจะเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลพม่าก็ยังมีอยู่

“สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ อย่าให้ไทยถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเมียนมา เนื่องจากอาจมีผู้อพยพชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทยนัดหมายซ่องสุมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้ไทยถูกมองว่าให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก รัฐบาลจึงต้องควบคุมให้ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไทยก็อาจใช้โอกาสนี้ ในการเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในพม่า เพราะหากพม่าสงบก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

สตูล ทัพเรือภาคที่ 3 ช่วยชีวิตลูกเรือประมงปลาเรือกระตัก ชาวเมียนมา ถูกสายสมอเรือพันขาข้างซ้ายตัดหวิดขาด

วันนี้ 16 มกราคม 2567 พลเรือโท สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 สั่งการให้หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะหลีเป๊ะ ( นรภ.ทร.เกาะหลีเป๊ะ ) เข้าช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ประสบอุบัติเหตุขณะทอดสมอเรือ ข้อเท้าซ้ายเกือบขาด 

หลังจากที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ทรภ.3 1696 (สายด่วน ทรภ.๓) ได้รับแจ้งจากนายอรุณ ชูประสิทธิ์ ไต๋เรือ ว่า นายเวร อายุ 56 ปี เป็นชาวเมียนมาลูกเรือประมงอวนครอบปลากะตักชื่อ ณรงค์ชัยวารี 7 ประสบอุบัติเหตุถูกสายสมอเรือพันขาขณะทิ้งสมอได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าซ้ายเกือบขาดอาการสาหัส นรภ.ทร.เกาะหลีเป๊ะ จึงได้จัดกำลังพล และเรือ RIB เดินทางเข้าให้การช่วยเหลือทำการห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือปิดบริเวณบาดแผล และดามกระดูกข้อเท้าให้อยู่นิ่งป้องกันการฉีกขาดและได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม พร้อมกับนำผู้ป่วยขึ้นฝั่งที่สถานีเรือละงู นำส่งรถกู้ชีพฉุกเฉิน รพ.ละงู ทำการรักษาพยาบาลต่อไป

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!

สตม.รวบแม่ค้าออนไลน์ชาวเมียนมาแอบไลฟ์สดขายของหนีภาษีของกลาง 200 รายการ

ตม.จว.สมุทรสาคร จับกุม นางมิ (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี สัญชาติเมียนมา โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้, ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บ้านพักย่าน ถ.เจษฎาวิถี ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จว.สมุทรสาคร

ตม.จว.สมุทรสาคร ได้สืบสวนทราบว่า มีคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา มีพฤติการณ์ลักลอบขายสินค้าหนีภาษีทางช่องทางออนไลน์ จึงได้สืบสวนข้อมูลในเชิงลึก เบื้องต้นพบว่าคนต่างด้าวดังกล่าว พักอาศัยอยู่ในบ้านพักย่าน ถ.เจษฎาวิถี ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จว.สมุทรสาคร โดยได้มีการไลฟ์สดและโพสต์ขายสินค้าทางเฟซบุ๊ก ซึ่งตัวสินค้า  

มีความผิดทางกฎหมาย จึงขอหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจค้นบ้านพักหลังดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบนางมิ (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี สัญชาติเมียนมา พร้อมของกลาง เป็นกลุ่มสินค้าประเภทอาหารเสริม วิตามิน น้ำมันหรือสเปรย์ฉีดเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย และเครื่องหมาย อย. ร่วม 200 รายการ และจากการตรวจสอบเอกสารของนางมิ พบใบอนุญาตทำงานระบุประเภท กรรมกร แต่มาลักลอบขายสินค้าออนไลน์ และไม่ได้ทำงานตามประเภทที่ได้รับอนุญาตไว้ตามกฎหมาย จึงได้ทำการจับกุมนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร ดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว

สถานทูตเมียนมา ส่งหนังสือลับถึง ก.ต่างประเทศไทย ห้ามจัดกิจกรรม  หวั่นกระทบความสัมพันธ์ ‘ปานปรีย์’ ไม่ไปร่วมงาน ด้าน ‘โรม’ ย้ำทำเพื่อสันติ

เมื่อวันที่1 มี.ค. 67 หนังสือราชการลับที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ 1 มีนาคม 2024 นั้น มีเนื้อความระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อรัฐสภาของไทย ที่จะจัดสัมมนาดังกล่าว โดยระบุว่า จะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี ระหว่างเมียนมากับไทย และขอให้รัฐบาลไทยแจ้งให้รัฐสภาทราบถึงความกังวลของรัฐบาลเมียนมา และไม่ให้จัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจขัดขวางความสัมพันธ์อันดีในอนาคต

สำหรับงานสัมมนาเมื่อวานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีกำหนดขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ แต่ได้ยกเลิกหมายดังกล่าวไปโดยไม่ได้ระบุเหตุผล 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับ โฆษกกองทัพเมียนมาที่ยังไม่ออกมา แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2021 

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การสัมมนาที่รัฐสภาจัดขึ้นนั้นขัดแย้งกับความต้องการของรัฐบาลไทยที่ต้องการจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาและกลุ่มอื่นๆ เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาร่วมกัน 
.
“การสัมมนาที่จัดโดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐสภาเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

สำหรับงานดังกล่าว รัฐสภาไทยได้เชิญตัวแทนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมามาร่วมพูดคุยด้วย 

“สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นก้าวแรกในการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ มาพูดคุยกัน” รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้จัดการสัมมนา กล่าว “มันจะปูทางไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืน” 

การสัมมนา ‘3 ปีหลังรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตยเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย’ จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2024 วิทยากรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมา

ไร้เงาผู้ร่วมประมูลบ้านพัก ‘อองซาน ซูจี’ 150 ล้านเหรียญ ปิดการประมูลแบบเงียบเหงา ท่ามกลางนักข่าวหยิบมือ

(20 มี.ค.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บ้านพักริมทะเลสาบที่เคยใช้เป็นที่กักบริเวณนางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำเมียนมา เปิดให้ประมูลแล้วในวันนี้ โดยมีราคาขั้นต่ำ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลแม้แต่รายเดียว

รายงานระบุว่า บ้านพักสไตล์โคโลเนียล 2 ชั้น ซึ่งมีที่ดินขนาด 1.9 เอเคอร์ถูกประกาศขาย หลังจากนางอองซาน ซูจี และพี่ชายต่อสู้คดีเพื่อชิงความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินดังกล่าวมายาวนานหลายทศวรรษ

ก่อนการประมูล มีฝูงคนขนาดเล็กมารวมตัวกันหน้าบ้านพักหลังดังกล่าวที่ตั้งอยู่บนถนนยูนิเวอร์ซิตี้ อเวนิว และอยู่ห่างจากสถานทูตสหรัฐเพียงไม่กี่ประตู โดยส่วนใหญ่เป็นนักข่าว

เจ้าหน้าที่เดินออกมาจากประตูบ้านแล้วประกาศเปิดการประมูลโดยตีระฆังเล็กสามครั้ง โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการประมูลยกมือขึ้นเพื่อเริ่มการประมูล แต่กลับมีเพียงความเงียบเท่านั้น

“ไม่มีใครเสนอราคา” เจ้าหน้าที่ประกาศพร้อมตีระฆังอีกครั้งเพื่อปิดการประมูล

ทั้งนี้ นางอองซาน ซูจี ถูกทหารคุมขังในบ้านหลังนี้เป็นเวลาเกือบ 15 ปี หลังจากที่เธอเป็นที่รู้จักอย่างมากในระหว่างการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้นเมื่อปี 2531

‘แสนชัย’ จัดหนัก!! ‘นักมวยพม่า’ หลังแลบลิ้นยั่วใส่บนเวทีไทยไฟต์ ประเคน ‘หมัด-เท้า-เข่า-ศอก’ พร้อมเตะก้านคอจนน็อกไปยกแรก

(25 มี.ค.67) เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในศึก ไทยไฟต์ ปลวกแดง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในคู่ที่ 9 เป็นการชกของโคตรมวยสารคาม แสนชัย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม อีกหนึ่งยอดมวยไทย วัย 43 ปี พบกับ มาน เย จอ ซัว นักมวยชาวเมียนมา ตัวตึงแห่งมัณฑะเลย์ วัย 28 ปี โดยชกในน้ำหนัก 68 กิโลกกรัม

ปรากฎว่าการชกจบลงเพียงยกแรก โดยทันทีที่เสียงระฆังดังขึ้น ทั้งคู่ต่างเปิดฉากแลกอาวุธกันอย่างดุเดือด โดยที่ช่วงหนึ่ง มาน เย จอ ซัว ได้แลบลิ้นยั่ว แสนชัย

ทำให้ ยอดมวยสารคาม ประเคนอาวุธแบบจัดหนัก ทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก ใส่นักมวยเมียนมา ก่อนที่จะได้จังหวะเตะซ้ายก้านคอ เอาชนะน็อกนักมวยเมียนมา ไปได้ในยกที่ 1

'เพจดัง' เผย!! สถาบันการศึกษาไทย พาเหรดออกงานในย่างกุ้ง สะท้อนหนุ่มสาวเมียนมา เตรียมลุยตลาดแรงงานระดับสูงในไทย

(27 มี.ค.67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..

ความต้องการเรียนในสถาบันการศึกษาไทยในระดับที่มหาลัยไทยต้องไปออกงานแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเตรียมตัวเข้าตลาดแรงงานไทยในหมู่คนหนุ่มสาวเมียนมาในระดับสูงสุด

อันนี้น่าสนใจมาก

อย่างที่พูดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเด็กไทยไม่ขยัน ไม่ยกระดับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของนายจ้าง 

ต่อไปนายจ้างไทยและนายจ้างบริษัทข้ามชาติที่มีกิจการทั่วภูมิภาคอาเซียน จะมีตัวเลือกเป็นเด็กเวียดนาม เด็กจีน เด็กเมียนมา ชั้นหัวกะทิที่เก่ง ฉลาด สื่อสารได้หลายภาษารวมทั้งภาษาไทย และพร้อมจะกลายเป็นคนไทยเมื่อเวลาผ่านไป

ประเทศไทยจะไม่ขาดคนมีฝีมือ แต่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่เด็กไทยปัจจุบัน

รัฐบาลทหารพม่าไม่หวั่น!! เดินหน้าจัดงานวันกองทัพ ย้ายฤกษ์สวนสนามจาก 'รุ่งอรุณ' เป็น 'อาทิตย์อัสดง'

กองทัพพม่า ยังเดินหน้าจัดงานสวนสนามครั้งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองวันกองทัพ ที่ตรงกับวันที่ 27 มีนาคมของทุกปี ในกรุงเนปิดอว์ ท่ามกลางเสียงนักวิจารณ์ที่ตั้งข้อสงสัยถึงกำลังพลในกองทัพพม่าว่ายังเหลืออยู่เท่าไหร่ หลังถูกกดดันอย่างหนักจากกองกำลังฝ่ายกบฏและถูกมองว่ากองทัพพม่าอยู่ในยุคที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยในปีนี้ กองทัพพม่ายังคงจัดงานฉลองวันกองทัพตามปกติ และ นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายกรัฐมนตรีพม่า จะยังเข้าร่วมเป็นประธานในพิธี แม้กองทัพพม่ากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สูญเสียดินแดนจำนวนมากให้กองทัพชาติพันธุ์ เป็นเหตุให้เกิดกระแสขับไล่นายพล มิน อ่อง หล่าย อย่างกว้างขวางแม้ในแวดวงกลุ่มคนสีเขียวก็ตาม

และการจัดงานสวนสนามในปีนี้ มีความพิเศษกว่าทุกปี ที่มักจัดขึ้นในช่วงเช้า ซึ่งปีนี้ รัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนมาจัดพิธีสวนสนามในช่วงเย็น โดยอ้างเหตุปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ช่วงเช้าอากาศร้อนเกินไป จึงเลือกมาจัดงานในตอนเย็น ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะช่วยให้การแสดงการบินของกองทัพอากาศมีความตระการตามากขึ้นด้วย

ด้านสำนักข่าวอิรวดี สื่อพม่า ชี้ว่า กองทัพพม่าบรรจงเลือกช่วงเริ่มพิธี ในเวลา 17.15 น. หรือ 5 โมง 15 นาที ตามแนวพิธีกรรมไสยเวทย์ ที่เลือกฤกษ์เวลาที่ประกอบด้วยตัวเลข 3 หลัก คือ 5, 5 และ 1 (5.15 PM) ที่รวมกันแล้วได้ 11 ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงภยันตราย 11 ประการ ตามความเชื่อดั้งเดิมของพม่า  รวมถึงการเปลี่ยนช่วงเวลาพาเหรดมาเป็นช่วงเย็นเพราะเชื่อว่าดวงอาทิตย์จะไม่ตกใส่กองทัพพม่า 

แต่บรรยากาศในงานพาเหรดที่มีเป้าหมายเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพในปีนี้ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นวันกองทัพครั้งแรกหลังจากที่รัฐบาลพม่า เพลี่ยงพล้ำให้กับกองทัพชาติพันธุ์ติดอาวุธ หลังปฏิบัติการ 1027

โดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ อันประกอบด้วยกองกำลัง โกก้าง, ตะอ่าง และ อารกัน ได้รวมกลุ่มโจมตีกองกำลังพม่าอย่างฉับพลัน ในแผนปฏิบัติการ 1027 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ทำให้กองทัพพม่าสูญเสียฐานที่มั่นในพื้นที่เขตปกครองชาติพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด ต้องถอยมาปักหลักในเมืองศูนย์กลางที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์

ความเสียหายหลังถูกโจมตีโดยปฏิบัติการ 1027 ได้สะท้อนความอ่อนแอภายในกองทัพพม่าอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานานหลายปี กลายเป็นแรงกดดันพุ่งสู่ นายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นผู้นำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า และกระแสเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง  

และความระส่ำระสายนี้ ทำให้รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องออกกฎหมาย เรียกระดมพลเพิ่ม โดยอนุญาตให้เรียกผู้ชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปีเข้าประจำการเป็นเวลา 2 ปี ทำให้คนหนุ่มสาวในพม่าจำนวนมากพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจุดหมายแรกของชาวพม่าที่เข้าเกณฑ์ถูกหมายเรียกคือประเทศไทย ที่มีชาวพม่าแห่ขอวีซ่าที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น งานสวนสนามประจำปีในวันกองทัพพม่าในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกองทัพพม่าเหมือนอย่างที่แล้วมา แต่เป็นเหมือนการเรียกขวัญ กำลังใจทหารในกองทัพในยามสิ้นหวัง และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายของนายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ต้องพยายามรักษาแสงอาทิตย์ของเขาไว้ให้ได้ แม้ต้องยืนในยามอาทิตย์ใกล้อัสดงก็ตาม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top