เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!