Tuesday, 30 April 2024
มินอ่องหล่าย

รัฐบาลเงาเมียนมา เตือน!! ‘ถ้าไม่กลัวสงครามก็มา’ หลังรัฐบาลทหารเมียนพร้อมเปิดประเทศ

รัฐบาลทหารเมียนมา ภายใต้การนำของนายพล ‘มิน อ่อง หล่าย’ เตรียมเปิดประเทศ เดินหน้าเศรษฐกิจอีกครั้งภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นี้ โดยเริ่มจากการเปิดชายแดนที่ด่านประเทศไทย และจีน หลังจากนั้นก็จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบได้ไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

กระทรวงข่าวสารและสารสนเทศของพม่าได้ประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ว่า จะเริ่มผ่อนปรนมาตรการเข้าเมืองบริเวณด่าน ‘รุ่ยลี่’ ที่ชายแดนมณฑลยูนนานของจีน และด่านท่าขี้เหล็ก เกาะสอง และทิกิ ที่ติดกับชายแดนไทย

โดยเชื่อมั่นว่า หลังจากที่เปิดประเทศแล้ว จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแน่นอน เนื่องจากพม่ามีแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต สวยงาม น่าดึงดูดใจมากมาย ซึ่งทางการพม่าจะจัดเตรียมกองกำลังทั้งทหาร ตำรวจ เข้ามาดูแลความปลอดภัยในเขตแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ 

ส่วนปัญหาเรื่องการระบาดของ Covid-19 ในประเทศนั้น ทางการพม่ากล่าวอย่างมั่นใจว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ที่ตอนนี้ได้รับวัคซีนบริจาคมาเป็นจำนวนมากจากจีน และอีกหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลของนายพล มิน อ่อง หล่าย แสดงความมั่นใจอย่างมากในการเปิดประเทศ แต่ทว่า รัฐบาลเงา ที่เรียกตนเองว่า National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar หรือ NUG ก็ได้ออกมาประกาศว่า ‘อย่ามาพม่า’ ในช่วงเวลานี้อย่างเด็ดขาด 

ด้าน นาย ทิน ทุน เนียง หนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลเงา NUG ได้กล่าวย้ำผ่านสื่อว่า “นี่ไม่ใช่เวลาที่นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวนะครับ!” ซึ่งเรื่องนี้ดูจะทำให้ภาพของเปิดประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเมียนมาของรัฐบาลของ นายพล มิน อ่อง หล่าย อาจไม่เป็นดั่งที่คาดหวังไว้ก็เป็นได้

'มิน อ่อง หล่าย' ลัดฟ้าพบ 'ปูติน' ฉลุยปิดดีลซื้อน้ำมัน พร้อมจ่าย 'รูเบิล-สกุลอื่นๆ' ที่รัสเซียพอใจจะรับ

นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เดินทางไปเข้าร่วมประชุมในงาน Eastern Economic Forum (EEF) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองวลาดิวอสตอค ทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย เพื่อพบกับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่การเกิดเหตุรัฐประหารในพม่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา 

การพบปะระหว่าง 2 ผู้นำ ที่เป็นศูนย์รวมการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก เป็นการคุยกันแบบทวิภาคี นอกรอบจากงานประชุม EEF โดยทั้ง 2 ผู้นำตั้งใจหารือด้านความร่วมมือทางการค้า และยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก โดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวยกย่องผู้นำรัสเซียว่า มีบทบาทเป็นผู้นำโลกในการสร้างเสถียรภาพในระดับนานาชาติ   

ในการประชุม มีการพูดคุยถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของการพบปะกันคือข้อตกลงในการซื้อ-ขายน้ำมัน ระหว่างพม่าและรัสเซีย ที่สามารถปิดดีลได้ทันทีหลังงานประชุม

ซึ่งพม่าและรัสเซีย เคยตกลงที่จะซื้อน้ำมันจากรัสเซียไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฏาคม แต่ยังไม่พร้อมที่จะชำระเป็นเงินสกุลรูเบิล 

แต่มาครั้งนี้ ผู้นำพม่ายินดีที่จะชำระค่าน้ำมันด้วยเงินรูเบิล หรือสกุลเงินอื่นๆ ที่ทางรัสเซียพอจะรับได้ ซึ่งจะทำให้การซื้อขายได้ง่ายกับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากตอนนี้ทั้งสองประเทศมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึง และทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศด้วยเงินสกุลต่างๆ

‘ผบ.สส.’ พบ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ไร้ซูเอี๋ย รบ.เมียนมา ชี้ เป็นการเยือนในฐานะแขกของกองทัพเท่านั้น

เป็นข่าวดังในกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมาเมื่อ พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ของไทย เดินทางไปพบกับนายพล มิน อ่อง หล่าย ถึงรัฐยะไข่ งานนี้กลายเป็นเรื่องจับแพะชนแกะว่าไทยกำลังซูเอี๋ยกับรัฐบาลทหารของเมียนมา

แต่หากมามองความเป็นจริงแล้ว การพบปะกันของทหารระหว่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงนั้นเป็นกิจการทั่วไปของทหารตั้งแต่ ผบ. หมู่ที่คุมชายแดน จนถึง แม่ทัพภาค รวมไปจนถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำกันมานานแล้ว โดยการพบกันนั้นทางทหารจะพบปะหารือกับทหารของประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงนั้นจะนายทหารจะหารือกับนายทหารประเทศเพื่อนบ้านในชั้นยศเดียวกันเท่านั้น ส่วนประเด็นในการหารือนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ การร่วมมือกันในการปกป้องอธิปไตย การสกัดกั้นการขนส่งยาเสพติด หรือการป้องกันการก่อการร้ายหรือการกระทำผิดระหว่างประเทศ รวมถึงการร่วมมือการช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดน

รัฐบาลทหารพม่าสั่งยุบพรรค NLD ของ 'อองซาน' พร้อมตัดสิทธิ์การลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้

เมื่อวันอังคาร (28 มี.ค. 66) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารพม่าของนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้มีคำสั่งให้ยุบพรรค สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี เนื่องจากไม่มาจดทะเบียนพรรคการเมืองก่อนเส้นตายที่ระบุไว้ในกฎหมายเลือกตั้งใหม่

โดยพรรค NLD เป็นหนึ่งใน 40 พรรคการเมืองของพม่าที่จะต้องถูกยุบเนื่องจากทำผิดกฎข้อบังคับ ที่ไม่ยอมมาจดทะเบียนพรรคการเมือง  และทำให้พรรค NLD ที่ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปีต้องยุติลงตั้งแต่วันนี้ 

กฎหมายเลือกตั้งใหม่ ถูกประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ระบุให้พรรคการเมืองทุกพรรคในพม่าต้องมาจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดภายใน 60 วัน จนถึงกรอบเส้นตายในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มิฉะนั้น จะถูกยุบพรรค และทรัพย์สินของพรรคการเมืองนั้น ๆ ก็จะต้องถูกยึดด้วย

และพรรคการเมืองที่ลงทะเบียนถูกต้อง จะมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งใหญ่ที่รัฐบาลทหารพม่าเคยประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ที่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา

แต่เป้าหมายของกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ถูกมองว่ามีมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองใหญ่อย่าง NLD โดยเฉพาะ ที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายทุกครั้งในสนามเลือกตั้งของรัฐบาลพลเรือน เนื่องจากเงื่อนไขของการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ระบุว่า จะต้องไม่มีสมาชิกพรรคคนใดต้องโทษจำคุก หรือเกี่ยวพันในองค์กรที่ผิดกฎหมายของพม่า

ซึ่งในตอนนี้ทั้งนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค NLD และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่าจำนวนมากถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก

นอกจากนี้ ลูกพรรค NLD หลายคนได้เปลี่ยนแนวการต่อสู้ด้วยการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเงา ที่เรียกตนเองว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) และอีกส่วนหนึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือ CRPH) ที่สถาปนาตนเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น และทั้ง 2 องค์กรก็ถูกรัฐบาลทหารพม่าขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรก่อการร้าย 

ตราบาปของกองทัพเมียนมาต่อชาวไทใหญ่ การตัดสินใจสุดท้าทายของ ‘มิน อ่อง หล่าย’

หลังจากที่เอย่าได้นำเสนอเรื่องราวการสร้างหอคำหลวงแสนหวีและหอคำหลวงเชียงตุงแก่ชาวแสนหวี ล่าเสี้ยวและเชียงตุงแล้ว อีกเรื่องเรื่องหนึ่งที่เป็นกรณีพิพาทครั้งสมัยนายพลเนวิน ที่สร้างตราบาปให้แก่กองทัพเมียนมาต่อประชาชนชาวไทใหญ่คือการจับ เจ้าส่วยแต๊กและยึดหอเจ้าฟ้าเมืองยองห้วย

แต่ก่อนจะมาพูดถึงเรื่องนี้ เรามารู้จักเจ้าส่วยแต๊กก่อนว่าท่านผู้นี้คือใคร เจ้าส่วยแต๊ก หรือ เจ้าคำศึก พระนามเต็มในฐานะเจ้าฟ้าไทใหญ่แห่งเมืองยองห้วยคือ ‘เจ้าฟ้ากัมโพชรัฐสิริบวรมหาวงศาสุธรรมราชา’ ท่านเป็นประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าพระองค์แรกหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และท่านเป็นเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายของเมืองยองห้วย พระองค์เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงทางการเมืองในหมู่ประชาชนชาวไทใหญ่ พระองค์สิ้นพระชนม์จากการถูกจับขังในคุกในย่างกุ้งหลังจากการรัฐประหารโดยนายพลเนวินในปี พ.ศ. 2505 และในอีก 2 ปีต่อมา หอเจ้าฟ้าเมืองยองห้วยก็ถูกยึดเป็นสมบัติของกองทัพ 

ต่อมา เจ้าเห่หม่า แต๊ก ธิดาของเจ้าส่วยแต๊ก ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลรัฐฉาน ขอให้ “คืน” สิทธิ์ครอบครองหอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยกลับมาให้เธอ ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของเจ้าส่วยแต๊ก

ซึ่งเธอได้ยื่นเรื่องทวงคืนครั้งแรกตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาได้ยื่นอีกในปี 2557, 2558, 2560 และ 2562 แต่เธอก็ไม่เคยได้รับคำตอบใด ๆ จากรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งเลย นั่นก็เพราะว่าปี 2556 รัฐบาลเมียนมาได้มอบกรรมสิทธิ์ให้รัฐบาลรัฐฉานเป็นผู้รับผิดชอบหอเจ้าฟ้าหยองห้วย โดยรัฐบาลรัฐฉานได้เปิดหอเจ้าฟ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงรูปภาพ 91 รูป ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าฟ้า 338 ชิ้น รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของเจ้าฟ้า 138 ชุด จากนั้นก็ให้เจ้าเห่หม่า แต๊ก กับผู้ช่วยอีก 6 คน คอยดูแล และเป็นผู้อธิบายเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทใหญ่ แก่ผู้ที่มาเยือน

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top