Thursday, 9 May 2024
รัฐสภา

ตามคาด กม.ลูกเลือกตั้ง ส่อเสร็จไม่ทันกำหนด หลัง ส.ว. - ส.ส. ทำสภาล่ม ล้มโหวตสูตรปาร์ตี้ลิสต์

(10 ส.ค. 2565) เวลา 11.28 น. ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 24/1 เรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย500 ตามที่กมธ.ไปแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมรัฐสภาที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณจากการหาร 100 เป็นหาร 500 โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การที่ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จากหาร100 เป็นหาร500 เหมือนอยากเห็นพรรคส่วนเกิน พรรคเล็กพรรคน้อยเดินกันเป็นพรวน ขอชื่นชมคนเสนอญัตติเปลี่ยนเป็นวิธีหาร500 ชื่อวี ๆ มาศๆ ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อคนเดียว ได้คะแนนมา 3.5 หมื่นคะแนน แต่กลับมามีบารมีในสภา ถ้าไม่มีเบื้องหลังการถ่ายทำ เรื่องแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นในรัฐสภา กล้าไปสาบานวัดพระแก้วหรือไม่ว่า ไม่มีกลุ่มคนมาแทรกแซงหรือต่อรอง วันนี้เรากำลังโดนครอบงำ ขอให้ช่วยกันสกัด เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปตามครรลอง ระหว่างนั้นนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ประท้วงที่ถูกพาดพิง โดยตอบโต้ว่า น่าสงสารพรรคที่แพ้หาร500 เหมือนหมาถูกน้ำร้อนลวก นายพรเพชรเตือนให้ถอนคำพูด จากนั้นนายครูมานิตย์และนพ.ระวีได้พูดตอบโต้กันไปมา จนนายพรเพชรต้องไกล่เกลี่ยให้ยุติ เพื่อเดินหน้าประชุมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปรายมาตรา24/1 เสร็จสิ้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกรัฐสภามาแสดงตน ใช้เวลาร่วม 15 นาที เพื่อรอสมาชิกเข้าห้องประชุม ผลการแสดงตนมีสมาชิกแสดงตน 367 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปหวุดหวิดเพียง 3 เสียง ถือว่ามีองค์ประชุมครบ แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ขอใช้สิทธิคัดค้าน กลัวจะมีการเสียบบัตรแทนกัน ขอให้ใช้วิธีแสดงตนโดยการขานชื่อรายบุคคล มีผู้รับรองครบถ้วน ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ คัดค้านเพราะการโหวตแสดงตนด้วยการเสียบบัตรผ่านไปแล้ว เกรงจะเตะถ่วงมากเกินไป ขอเสนอญัตติไม่ให้ใช้วิธีขานชื่อแสดงตน แต่นายพรเพชรยืนยันให้มีการแสดงตนโดยการขานชื่อรายบุคคล จากนั้นจึงเริ่มการขานชื่อแสดงตนเป็นรายบุคคล ใช้เวลาไป 1.30 ชั่วโมง หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาขานชื่อแสดงตนครบถ้วนแล้ว ปรากฏว่า มี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนที่ขานชื่อไม่ทันในการเรียกชื่อเป็นรายบุคคล มาขอขานชื่อแสดงตนเพิ่มเติมภายหลังเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความสับสน ต้องเติมชื่อเพิ่มกันวุ่นวาย รวมแล้วเสียเวลาไปร่วม 2 ชั่วโมง ในการขานชื่อและนับผลแสดงตน ผลการนับองค์ประชุมมีผู้แสดงตน 403 คน ถือว่าครบองค์ประชุม นายพรเพชรจึงให้ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนว่า จะเห็นชอบเพิ่มมาตรา 24/1หรือไม่

รัฐสภาโหวตคว่ำ 4 ร่างรัฐธรรมนูญรวด ล้มข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

วันที่ 7 ก.ย. 65 การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จำนวน 4 ฉบับ คือ ของพรรคเพื่อไทย 3 ฉบับ และของประชาชน 64,151 รายชื่อ อีก 1 ฉบับ ปรากฏไม่มีร่างใดได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727 คน

โดยร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเป็นผู้เสนอ ผลโหวต เห็นชอบ ส.ส. 342 คะแนน ส.ว. 40 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 99 คะแนน ส.ว. 153 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 26 คะแนน

ร่างที่ 2 ร่างแก้ไขมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 34 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ ผลโหวต เห็นชอบ ส.ส. 338 คะแนน ส.ว. 8 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 103 คะแนน ส.ว. 196 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 15 คะแนน

ร่างที่ 3 ร่างแก้ไขมาตรา 159 และ 170 เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกฯ ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ เห็นชอบ ส.ส. 337 คะแนน ส.ว. 9 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 100 คะแนน ส.ว. 192 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 6 คะแนน ส.ว. 18 คะแนน

‘ก้าวไกล’ ยัน!! เสนอญัตติทบทวนมติรัฐสภากรณีสภาโหวตนายกฯ ต่อไป ย้ำ!! สภาควรแก้ไขกันเองได้ ทำเรื่องที่ถูกต้องให้เป็นบรรทัดฐาน

(16 ส.ค.66) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีสภาฯ โหวตเลือกนายกฯ เนื่องจากผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่ยกเรื่องเทคนิคกระบวนการมาเป็นเหตุผล สำหรับพรรคก้าวไกลยืนยันโดยตลอดว่ากรณีเช่นนี้ สภาฯ ควรแก้ไขปัญหากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรก็ตามที่ทำไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดไป สภาฯ มีอำนาจแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นที่มาที่ทำให้พรรคก้าวไกลเสนอญัตติเพื่อให้สภาทบทวน ว่าการที่สภาเคยมีมติว่าญัตติที่เสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลซ้ำ ไม่สามารถทำได้นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องทางกฎหมาย

ดังนั้น ในโอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯ ต่อไป พรรคก้าวไกลขอยืนยันจะเสนอญัตตินี้ต่อไป และหวังว่ากระบวนการนี้จะทำให้สภาฯ ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง

“สถานะแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พอเสนอกันไปแล้วไม่ผ่านในรอบแรก จะบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การพิจารณาแบบนี้เป็นการเล่นการเมือง โดยไม่พิจารณาอยู่บนข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร หากรอบนี้ไม่ผ่าน รอบต่อไปก็เสนอได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ พิธาจะยื่นคำร้องเองในฐานะบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่ยื่นแน่นอน แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นเป้าของการไม่ให้เสนอนายกฯ ซ้ำ แต่เรายืนยันมาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภาฯ จึงต้องการใช้กลไกของสภาฯ ในการทำสิ่งที่ถูกต้อง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง ไม่ว่าแคนดิเดตเป็นใคร จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น เว้นเสียแต่บางกลุ่มบางพวกต้องการวางหมากให้การเสนอนายกฯ เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ซึ่งไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ๆ โดยอาจแบ่งเป็น 2 กรณี หนึ่งคือเพื่อให้พรรคก้าวไกลไม่ผ่านหรือพรรคการเมืองบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ และสอง เป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ยอมรับว่า สถานะของญัตติดังกล่าวมีปัญหา เพราะแม้ตามกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง และไม่มีอำนาจในข้อบังคับฯ ที่ให้ประธานวินิจฉัย ซึ่งประธานชี้แจงว่าให้รอศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีข้อกฎหมายเช่นกันว่าระหว่างที่รอ จะทบทวนไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของประธานรัฐสภา ที่ต้องการให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแต่หากพิจารณาด้วยเหตุผล หากเรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน หากรอต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความชัดเจน จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง เพราะการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภานั้นไม่ได้มีแค่ตำแหน่งนายกฯ และหากเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ทำลายประชาธิปไตย ทำลายการเมืองแบบรัฐสภา ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชน

'ชัยธวัช' ขอ ปชช. อย่าถอดใจแม้ผิดหวังทางการเมือง ชี้!! หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้

(22 ส.ค. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำ สส.พรรคก้าวไกล ไม่โหวตให้ เศรษฐา เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เพราะรัฐบาลข้ามขั้วขัดเจตจำนงประชาชน ย้ำประชาชนต้องจ่ายด้วยการสูญเสีย ‘ความหวัง-อำนาจ-ศรัทธา’ ฝากประชาชนอย่าหมดหวังการเมือง
 

‘พิธา’ คว้าฉายา ‘ดาวดับ’ สภาปี 66 หลังชวดเก้าอี้นายกฯ ด้านสภาผู้แทนราษฎรได้ฉายา ‘สภาลวงละคร’ ไปครอง

(27 ธ.ค. 66) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566 ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส. และ สว.เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส. และ สว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ สส. และ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ สส. และ สว. ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไปซึ่งมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้

1.) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘สภาลวงละคร’
สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวจับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีกเอ็มโอยู (MOU) ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

2.) วุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แตก ป. รอ Retire’
ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 65 คือ ‘ตรา ป.’ ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประยุทธ์’ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประวิตร’ แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง ‘2 ป.’ ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมา สว.ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค. 67 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.

3.) นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘(วัน) นอ-มินี’
เนื่องจาก ตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง สส.ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย

4.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แจ๋วหลบ จบแล้ว’
คำว่า ‘แจ๋ว’ เปรียบเสมือน บทบาทของ ‘ผู้รับใช้’ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่าน นายพรเพชร ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่ สว. 6 ปี ในเดือน พ.ค. 67

5.) นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นควรว่า ควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

6.) ดาวเด่น
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า ‘ไม่มีผู้ใดเหมาะสม’ และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

7.) ดาวดับ
ได้แก่ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก ‘นายกฯ พิธา’ ทำให้เกิดกระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดี ‘หุ้นไอทีวี’ ที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว

8.) วาทะแห่งปี66
ได้แก่ วาทะของ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 ที่ผ่านมาว่า “เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับ 2 มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับ 2 สามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิด เพราะว่ายิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

9.) เหตุการณ์แห่งปี คือ ‘เลือกนายกรัฐมนตรี’
ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 ก.ค. 66 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายพิธา แต่ปรากฎว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. 66 แต่ปรากฎว่า ในที่ประชุมรัฐสภากลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อนายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่า ญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฎว่า เสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้

จากนั้น ช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค. 66 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุให้วันที่ 22 ส.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

10.) คู่กัดแห่งปี
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ลงมติเห็นว่า ควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงตรงกับช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น

11.) คนดีศรีสภา 66
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มี สส. หรือ สว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!

สถานทูตเมียนมา ส่งหนังสือลับถึง ก.ต่างประเทศไทย ห้ามจัดกิจกรรม  หวั่นกระทบความสัมพันธ์ ‘ปานปรีย์’ ไม่ไปร่วมงาน ด้าน ‘โรม’ ย้ำทำเพื่อสันติ

เมื่อวันที่1 มี.ค. 67 หนังสือราชการลับที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ 1 มีนาคม 2024 นั้น มีเนื้อความระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อรัฐสภาของไทย ที่จะจัดสัมมนาดังกล่าว โดยระบุว่า จะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี ระหว่างเมียนมากับไทย และขอให้รัฐบาลไทยแจ้งให้รัฐสภาทราบถึงความกังวลของรัฐบาลเมียนมา และไม่ให้จัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจขัดขวางความสัมพันธ์อันดีในอนาคต

สำหรับงานสัมมนาเมื่อวานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีกำหนดขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ แต่ได้ยกเลิกหมายดังกล่าวไปโดยไม่ได้ระบุเหตุผล 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับ โฆษกกองทัพเมียนมาที่ยังไม่ออกมา แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2021 

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การสัมมนาที่รัฐสภาจัดขึ้นนั้นขัดแย้งกับความต้องการของรัฐบาลไทยที่ต้องการจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาและกลุ่มอื่นๆ เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาร่วมกัน 
.
“การสัมมนาที่จัดโดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐสภาเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

สำหรับงานดังกล่าว รัฐสภาไทยได้เชิญตัวแทนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมามาร่วมพูดคุยด้วย 

“สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นก้าวแรกในการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ มาพูดคุยกัน” รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้จัดการสัมมนา กล่าว “มันจะปูทางไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืน” 

การสัมมนา ‘3 ปีหลังรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตยเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย’ จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2024 วิทยากรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมา

‘อัครเดช’ ดักคอ ‘ฝ่ายค้าน’ อภิปรายทั่วไป ‘2 วันพอ-ขอสาระ’ มั่นใจ!! ‘รมต.รทสช.’ ทุกคน ไม่หวั่นถูกจี้ ผลงานชัด พร้อมชี้แจง

(8 มี.ค.67) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า การยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคฝ่ายค้าน น่าจะยื่นเข้ามาวันที่ 3-4 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ถ้าเป็นตามนี้ น่าจะใช้เวลาอภิปรายเพียงแค่ 2 วัน น่าจะเพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ 6 เดือน และยังไม่สามารถใช้งบประมาณปี 2567 เลย เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 - 3

ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดี ฝ่ายค้านจะได้ใช้เวทีของสภาฯ ชี้แนะและสอบถามการทำงานของรัฐบาล ทั้งการบริหารจัดการงบประมาณ และการบริหารประเทศ สิ่งสำคัญขอร้องให้ฝ่ายค้านนำเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จริงๆ มาอภิปราย ไม่ต้องมาดรามากลางสภาฯ เพื่อเรียกร้องความเห็นใจ ชี้แนะได้แนะนำรัฐบาลได้ ในมุมมองของฝ่ายค้าน แต่ต้องไม่ดรามา ถึงจะเกิดประโยชน์กับประชาชน

เมื่อถามว่า ในส่วนของ รัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติอาจถูกอภิปรายด้วยกังวลหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ไม่ได้กังวล เนื่องจากการทำงานของรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกท่านได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีผลงาน อีกทั้งรัฐมนตรีทุกท่านของพรรค พร้อมที่จะชี้แจงหากมีการอภิปรายพาดพิงถึงกระทรวงที่รับผิดชอบ และจะได้ถือโอกาสชี้แจงผลงานที่ทำมาในช่วงเวลา 6 เดือนด้วย

เมื่อถามว่า กระทรวงพลังงานอาจจะตกเป็นเป้าหมายในการอภิปรายของฝ่ายค้านด้วย โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง รัฐมนตรีของพรรคทำงานอย่างเต็มที่ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา สังคมก็รับรู้อยู่แล้ว มั่นใจว่าจะตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านในสภาฯได้อย่างแน่นอน เพราะการอภิปรายครั้งนี้ เป็นการอภิปรายทั่วไป จึงจำเป็นต้องซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ

"ที่ผมบอกว่าให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายในเนื้อหาสาระตรงประเด็นเท่านั้น อย่าเสียเวลาไปดรามาในสภา เนื่องจากเป็นห่วงว่า จะใช้เวลาของสภาฯ เสียเปล่า ที่มีข่าวว่าวิปฝ่ายค้านจะขอเวลาอภิปรายถึง 3 วัน คิดว่าเวลา 2 วันในการอภิปรายสอบถาม และรัฐบาลชี้แจงก็เพียงพอ จึงขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และมีค่ามากที่สุด อีกทั้งการขอเปิดอภิปรายครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกด้วย" โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

'เอกนัฏ' ลั่น!! 'รทสช.' พร้อมหนุนแก้ รธน.หากไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แนะ!! ไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ เลือกแก้แค่หมวดที่ 'สร้างสุข-ปลดทุกข์' ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ร่วมอภิปรายระหว่างการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นผู้เสนอว่า ญัตติที่เสนอโดยนายชูศักดิ์เพื่อขอมติที่ประชุมร่วมรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องมีการทำประชามติหรือไม่ พวกตนเห็นด้วยจะได้สิ้นสงสัยว่ากระบวนการจะต้องทำอย่างไร ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ทำประชามติก่อนหรือไม่จำเป็นต้องทำประชามติ พวกตนไม่ติดใจ น้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องอภิปราย เพราะหัวใจสำคัญเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและวิธีแก้รัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติถ้าให้เลือกได้ เราเห็นความสำคัญของการเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงการแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ กติกาที่เป็นอุปสรรคมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่ายังมีกฎระเบียบอีกหลายตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถ้าสามารถได้จะคลายความทุกข์ให้ประชาชนสร้างความสุขให้ประชาชนมากกว่า

นายเอกนัฏ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสมาชิกหลายคนหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งเราไม่ติดใจ แต่ขออนุญาตเตือนสติพวกเราว่า ถ้าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว มีความเสี่ยง จะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก มีการสรุปไว้ทุกครั้งที่มีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณกว่า 3,200 ล้านบาท ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งใช้งบเกือบหมื่นล้านบาท

“แต่ถ้าเราถอยกลับมาทบทวนว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะในร่างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มีสิ่งดีๆ ที่เราควรรักษาไว้ ถ้ามีปัญหาอยากแก้ตรงไหนควรแก้ไขได้ทันทีไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้เสียเวลา เสียงบประมาณ ผมเข้าใจมีเพื่อนสมาชิกหลายคนติดใจกังวลอยู่กับวาทกรรมเรื่องเผด็จการประชาธิปไตย และติดใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร ผมขออนุญาตย้อนข้อเท็จจริคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านความเห็นชอบตามระบอบประชาธิปไตย”นายเอกนัฏกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นมี 2 ตอน หนังตอนแรก รัฐธรรมนูญทำจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี มาจากคสช. ทั้ง 4 ส่วนรวมกัน ตนไม่ปฏิเสธว่าทั้ง 4 ส่วนถ้าจะบอกว่ามาจากการแต่งตั้งของคสช. แต่หนังเรื่องนี้ถูกพับไปแล้วเพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างมาถูกคว่ำ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้มีความรู้ความสามารถปราศจากการเมือง ได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติโดยประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ได้รับเสียงเห็นชอบกว่า 15 ล้านเสียง มากกว่า 58 % มากกว่าครึ่งหนึ่งและเป็นเสียงส่วนมาก

เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายคนยังจมอยู่กับวาทกรรมเผด็จการ และการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างจากคนมีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำประชามติและประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ เป็นผลพวงจากการทำประชามติไม่ใช่รัฐประหาร หากเราจะเดินหน้าประเทศอย่าจมอยู่กับวาทกรรมการทำรัฐประหาร และสามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ แก้โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่าเสียงบประมาณ และเสียเวลา ยังมีทางเลือกที่จะเดินหน้าไปได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

“ผมไม่ติดใจหากเพื่อนสมาชิกคิดว่าจะต้องเดินหน้า ต้องไปแก้ไขเกือบทั้งฉบับ จนนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสมควรทำประชามติหรือไม่ และหากมีการแก้ทั้งฉบับจริง จะต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่กระทบต่อการปราบปรามทุจริต สิ่งนี้คือจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เคยนำเสียงสส. 36 เสียงไปเป็นหลักประกันไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นการแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติยินดีโหวตให้ แต่ขอฝากผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ายังจะเดินหน้าแก้ทั้งฉบับ ต้องระบุคำถามเป็นหลักประกันให้พวกเรา ไว้วางใจ ใส่ไว้ในคำถามว่า ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ถ้าทำแบบนี้ได้พวกผมไว้วางใจทุกเสียงยินดีสนับสนุนมีมติให้รัฐสภายื่นญัตตินี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการในโอกาสต่อไป”นายเอกนัฏกล่าว

เปิดเรื่องราว ‘Liu Mingqun’ พนง.ทำความสะอาดในกรุงปักกิ่ง สู่การเป็น ‘สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ’ สมัยที่ 14

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยของจีน ควรจะต้องตั้งคำถามด้วยว่า คนอย่าง Liu Mingqun ผู้เป็นเพียงพนักงานรักษาความสะอาดธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะสามารถมีสิทธิมีเสียงกลายเป็นนักการเมืองได้ทำงานในรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกหรือไม่???

สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) เป็นสภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นรัฐสภา (State) ด้วยรัฐธรรมนูญของจีนกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรอำนาจรัฐสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ควบคุมดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, ตราและแก้กฎหมาย, เลือกตั้ง ถอดถอนและโยกย้ายประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ, ตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรายงานการปฏิบัติงาน, ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินและรายงานการปฏิบัติงาน, ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ฯลฯ โดยการผ่านมติในเรื่องต่าง ๆ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด

สำหรับสภาประชาชนแห่งชาติเป็นรัฐสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก โดยสมัยที่ 14 ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบันมีสมาชิก 2,977 ที่นั่ง เป็นสตรี 790 ที่นั่ง (มากที่สุดตั้งแต่มีสภาฯ) ตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 442 ที่นั่ง (รวมถึงฮ่องกง 36 ที่นั่ง มาเก๊า 12 ที่นั่ง และไต้หวัน 6 ที่นั่ง) สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการคัดเลือก ดำรงตำแหน่งวาระละห้าปี การจัดประชุมใหญ่ประจำปีจะจัดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่อง 10 ถึง 14 วัน ณ อาคารมหาศาลาประชาชน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง

Liu Mingqun เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 เธอเป็นเพียงเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาด ประจำสถานีจัดเก็บขยะเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง สถานีจัดเก็บขยะนี้มีหน้าที่รวบรวมและแปรรูปขยะจากครัวเรือนในพื้นที่บริการกว่า 

10,000 ครัวเรือน โดยมีกำลังการจัดเก็บขยะมากกว่า 15 ตันต่อวัน เธอมักจะไปทำงานล่วงหน้าหนึ่งชั่วโมงเสมอเพื่อทำความสะอาดสถานีขยะและฆ่าเชื้อรถบรรทุกขยะ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Liu Mingqun จนทำให้สถานีจัดเก็บขยะแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สถานีจัดเก็บขยะที่สะอาดที่สุดในกรุงปักกิ่ง’ จากเพื่อนร่วมงานของเธอและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

หลังจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติแล้ว Liu Mingqun ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวรวบรวมความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของเธอได้ดียิ่งขึ้น เธอมักจะไปค้นคว้า พูดคุยสื่อสารกับแรงงานจากชนบทเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา และพูดคุยกับคนในชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยเก่า เธอได้นำญัตติ ‘การแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น’ แนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อการจำแนกประเภทขยะมานำเสนอในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 โดยเธอหวังที่จะปรับปรุงความแม่นยำของการจำแนกประเภทขยะในครัวเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานรีไซเคิล 

(Liu Mingqun ขณะสำรวจตัวเองหน้ากระจกในสถานีจัดเก็บขยะของเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024)

(Liu Mingqun พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการประชุมกลุ่มของคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun (ที่ 2 จากขวา) ระหว่างการประชุมกลุ่มคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun เข้าร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun ที่สำนักงานของสถานีจัดเก็บขยะในเขต Shijingshan กรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 (Xinhua/Chen Zhonghao)

เรื่องราวของนักการเมืองเยี่ยงนี้ แบบนี้ เช่นนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ด้วยเพราะการเข้าสู่วงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งคือการใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งตามคุณภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียง หรือซื้อเสียง แม้แต่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในบ้านเราก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการชวนเชื่อและสร้างกระแส ดังนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยนักการเมืองที่มีคุณภาพแต่ไม่มีเงินหรือไม่มีผู้สนับสนุนจึงยากที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถอย่างถูกต้องเหมาะสม ปัจจุบันทุกวันนี้เราจึงพบเห็นแต่เรื่องราวข่าวคาวฉาวโฉ้ของนักการเมืองในระบบเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ทั่วไป ฉะนั้นเมื่อผู้เลือกตั้งและผู้รับเลือกตั้งต่างก็ไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ การเมืองก็จะไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ แล้วก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพตามไปด้วย…เป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top