Sunday, 28 April 2024
พม่า

รัฐมนตรีพม่า โทษบ่อนทำลายจากต่างชาติ ตัวการทำเศรษฐกิจพม่าเข้าสู่ภาวะวิกฤต

รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพของพม่ากำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าตและสนับสนุนเศรษฐกิจที่โกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนก.พ. รัฐมนตรีพม่าเผยกับรอยเตอร์ โดยกล่าวโทษว่าส่วนหนึ่งของวิกฤติเป็นผลจากผู้สนับสนุนต่างชาติของฝ่ายตรงข้าม

ค่าเงินจ๊าตอ่อนลงมากกว่า 60% ในเดือนก.ย. หลังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับการชุมนุมประท้วง การผละงาน และเศรษฐกิจเป็นอัมพาตนานหลายเดือนหลังการรัฐประหาร

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.51% นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจาก 1.51% ก่อนหน้านี้ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 11 ล้านล้านจ๊าต หรือ 6,040 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นอัตราทางการของธนาคารกลาง อ่อง นาย อู รัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์

นับเป็นครั้งแรกที่พม่าเปิดเผยระดับของเงินตราต่างประเทศของตัวเองนับตั้งแต่การรัฐประหาร และเปรียบเทียบกับตัวเลขของธนาคารโลกที่มีมูลค่าอยู่ที่ 7,670 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2563

รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของรัฐบาลทหารกล่าวว่าพม่ากำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19

แต่เขาให้เหตุผลว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากการบ่อนทำลายโดยฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ

“การระบาดก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงในพม่า นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่เลวร้ายลงจากการบ่อนทำลายและการอารยะขัดขืนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” อดีตผู้กำหนดนโยบายคนสำคัญในรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ที่ปกครองพม่าหลังสิ้นสุดการปกครองของทหารโดยตรงนานครึ่งศตวรรษในปี 2554 กล่าว

เมื่อถูกถามว่าประเทศใดสนับสนุนการบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจและมีสิ่งใดเป็นหลักฐาน รัฐมนตรีปฏิเสธที่จะระบุ และตอบเพียงว่า “เราได้รับหลักฐานจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาแทรกแซง”

อ่อง นาย อู กล่าวว่า สื่อต่างชาติรายงานเกินจริงเกี่ยวกับวิกฤติ แต่อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า “หวังว่าในอีกไม่กี่เดือน เราจะสามารถฟื้นกลับสู่สถานการณ์ปกติของเราได้”

บริษัทต่างชาติ 6 แห่ง ได้ยื่นขออนุญาตที่จะออกจากพม่านับตั้งแต่การรัฐประหาร และหลายแห่งได้ระงับธุรกิจของพวกเขา

บริษัทเหล่านั้นยังรวมถึงหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด คือ เทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ ที่ประกาศในเดือนก.ค. ว่าบริษัทกำลังขายกิจการในพม่าให้กับบริษัท M1 Group จากเลบานอน เป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์

กห.สั่งทหารเฝ้าระวังชายแดน หลังรัฐบาลพม่าปราบหนักหลังฤดูฝน ช่วงเปิดประเทศ กห.เรียกร้องทุกหน่วยร่วมมือป้องกันลักลอบเข้าเมืองผิดกม. ยกสมการ ความมั่นคงไม่นิ่งก็อย่าหวังเศรษฐกิจ-ด้านอื่นนิ่ง

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังประชุมสภากลาโหมว่า ภาพรวมในการเปิดประเทศเราได้มองกันหลายมิติ ทางด้านเมียนมาร์ มีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย คาดการณ์ว่าหลังฝนทางรัฐบาลทหารอาจมีการใช้ ความรุนแรง ก็จะมีปัญหาเศรษฐกิจตามมาด้วยนอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามารองรับภาคอุตสาหกรรมของไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทั้งทางบกและทางน้ำ

ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติประกอบไปด้วยผู้หนีภัยจากการสู้รบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงรวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมือง ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์. การลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามา สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งทางบกทางน้ำลาดตระเวนเฝ้าตรวจเข้มข้น ทั้งพื้นที่ชายแดนทั้งด้านนอกด้านในทำงานข่าวเชิงลึกประสานการทำงานร่วมกันโดยพื้นที่ชั้นในเป็นหน้าที่ของตำรวจ

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่าในส่วนของ  ศบค. ในการเปิดประเทศ เรามีกลไก ศปม.ทำหน้าที่ของการบูรณาการหน่วยความมั่นคง ทั้งมหาดไทย ตำรวจ ทหารในการเฝ้าระวัง รวมถึงการที่เราต้องเตรียมพร้อมในการรับมือความรุนแรงตามแนวชายแดนที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการการอพยพประชาชนเข้าพื้นที่ที่ปลอดภัยเมื่อเกิดปัญหา ดูแลช่วยเหลือตามพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ของพรุ่งนี้ภัยจากการสู้รบซึ่งหน่วยงานความมั่นคงต้องทำงานหนักร่วมกัน ซึ่งเราตระหนักในเรื่องนี้ดี   

รัฐบาลทหารพม่าฟ้อง ‘ซูจี’ ข้อหาคอร์รัปชันเพิ่มอีกกระทง

รอยเตอร์ - สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลพม่ารายงาน ว่า รัฐบาลทหารได้ยื่นฟ้องข้อหาคอร์รัปชันกับอองซานซูจีและอดีตประธานาธิบดีวิน มี้น เพิ่มอีกกระทง

ข้อหาใหม่เกี่ยวข้องกับการซื้อและเช่าเฮลิคอปเตอร์ และอยู่ภายใต้กฎหมายต่อต้านการทุจริต ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี สำหรับการกระทำผิด

ซูจีถูกขับออกจากตำแหน่งในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และเผชิญกับคดีความเกือบ 12 คดี ที่รวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นและการละเมิดข้อจำกัดโควิด-19 ซึ่งซูจีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดจนถึงตอนนี้

‘อย. พม่า’ เตือน ระวัง ‘ไส้กรอกจากไทย’ หลัง​ 'ชาวสีป้อ'​ กินแล้ว​ถูกหามส่งโรงหมอ!!

สำนักงานอาหารและยาพม่า ออกคำเตือนให้ระวังไส้กรอกแบรนด์ไทย ที่ลักลอบนำเข้าไปตามแนวชายแดน หลังครอบครัวชาวสีป้อ 3 แม่ลูกกินเข้าไปแล้วอาหารเป็นพิษ ต้องรีบหามส่งโรงพยาบาล

(9 ก.พ. 65) สำนักงานอาหารและยา (FDA) กระทรวงสาธารณสุข เมียนมา ได้ออกคำเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ให้ระวังและห้ามบริโภคไส้กรอกที่พิมพ์ฉลากเป็นภาษาไทยว่ายี่ห้อ “ฤทธิ์” พร้อมแนบรูปภาพห่อบรรจุไส้กรอกยี่ห้อนี้ไว้ด้วย

คำเตือนระบุว่าไส้กรอกยี่ห้อถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และไม่ได้ถูกรับรองจาก FDA มีผู้ที่ได้ซื้อมาบริโภคแล้วเกิดอันตราย จึงเป็นอาหารที่มีความเสี่ยง

คำเตือนของ FDA เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ เกิดกรณี 3 แม่ลูก ชาวเมืองสีป้อ จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉานเหนือ ซื้อไส้กรอกไก่ยี่ห้อ “ฤทธิ์” มาทอดกินกันภายในครอบครัว ปรากฏว่าหลังกินไปได้ไม่นาน ทั้ง 3 เกิดอาการอาหารเป็นพิษ หายใจติดขัด เพื่อนบ้านต้องแจ้งมูลนิธิการกุศลนำถังออกซิเจนมาให้ และรีบนำตัวทั้ง 3 ส่งไปรักษายังโรงพยาบาลเมืองล่าเสี้ยว

พม่า เตรียมเปิดประเทศในรอบ 2 ปี ดีเดย์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 17 เม.ย.นี้

เอเอฟพี - พม่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. นี้ ตามการระบุของรัฐบาลทหาร โดยยกเลิกการงดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศที่ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปี

ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ปิดพรมแดนไม่รับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 ในความพยายามที่จะป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

พม่าโดดเดี่ยวมากขึ้นหลังการรัฐประหารปีก่อน ที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่และการปราบปรามนองเลือดของทหารต่อผู้เห็นต่าง และยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตกต่ำลง

“เราจะเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดในวันที่ 17 เม.ย. และสามารถบินได้ตามปกติ” คณะกรรมการกลางแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 ระบุ และอ้างว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง

ในคำแถลง คณะกรรมการยังระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปรับปรุงภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และเพื่อให้การเดินทางของผู้ที่มาเยือนพม่าเป็นไปอย่างราบรื่น

'ทูตนอกแถว' ชี้!! รัฐฯ เมียนมาไม่ใช่ 'เพื่อน' แต่เป็น 'พ่อ' ของรัฐฯ ไทย หลังเหตุรุกล้ำน่านฟ้า

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว และอดีตเอกอัครราชทูตไทยใน​หลายประเทศ เขียนบทความวิจารณ์ กรณีท่าทีของกองทัพไทยต่อเหตุการณ์ความมั่นคงชายแดน โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ชี้แจงของนายกรัฐมนตรีไทย โดยระบุว่า

แบบนี้ไม่ใช่เพื่อนแล้ว แต่คือพ่อครับ

พอเห็นผู้บริหารรัฐบาลออกมาแถเรื่องเครื่องบินรบพม่าที่รุกล้ำดินแดนไทยอย่างโจ่งแจ้ง ว่าไม่เป็นไร เรื่องเล็ก เขาแค่มาตีวงตั้งหลักเฉยๆ อย่าไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดเรื่องนี้ต่ออีก

ก็ไม่รู้ว่าใครแนะนำให้พูดแบบนั้น เพราะคำพูดที่ออกมานั้นมันเท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าทางการไทยได้ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ ให้ทหารพม่าใช้ดินแดนและอธิปไตยของไทยเพื่อเป็นฐานเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อยในพม่านั่นเอง

ก่อนหน้านี้ทางโฆษก ทอ.ก็ได้แถลงเองว่าได้ติดตามตลอดและเห็นในจอเรดาร์แล้วว่าบินวนอยู่ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าบริเวณดังกล่าวนั้นกำลังมีการสู้รบ ถ้ายังปล่อยให้เครื่องบินรบทหารพม่าเข้ามาในเขตไทยได้อีก และให้เขามีเวลาพอเหลือเฟือที่จะบินอ้อมตีโค้งกลับลำสบายๆ ก่อนที่จะค่อยส่งเครื่องบินของเราขึ้นไป (ซึ่งป่านนั้นเขาก็บินไปลิบแล้ว)

'ดร.สมเกียรติ' ยก 9 เรื่อง 'ไทย-พม่า' เตือนสติ ไทยบินล้ำน่านฟ้า-เดินข้ามเขตประจำ ไม่ถือสากัน

2 ก.ค. 2565 - ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไทยกับพม่า

หนึ่งไทยใช้แก๊สพม่าเยอะมาก หากพม่าปิดซ่อมไฟดับ โรงงานปิด

สอง แก๊สอ่าวไทยกำลังจะหมด ค่าแก๊สพม่าสูงกว่าแก๊สอ่าวไทย เท่าตัว

สาม ไทยจะได้พึ่งน้ำจากสาละวินเทลงเขื่อนไทย

สี่ เขื่อนศรีนครินทร์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพอยู่ใกล้ชายแดนพม่า รักษาเขื่อนให้ดี น้ำท่วมกรุงเทพในสี่ชั่วโมง ท่วมสูง

ห้า ไทยค้าชายแดนกับพม่าเยอะ

หก พม่าช่วยป้องกันโรฮิงญา หนึ่งล้านคนในค่ายยังอยู่ครบยูเอ็นนับทุกเดือน

เจ็ด มีพม่าในไทยสี่ล้านคน พม่าคุมแบบหนึ่งต่อสิบ

WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ

วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่นๆ คือรัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ก่อนวันที่นายพล เนวิน จะยึดอำนาจในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 

วันนี้เอย่ามาลองคิดดูว่า หากวันนั้นไม่เกิดรัฐประหารของนายพลเนวิน และในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ไม่มีการสังหารหมู่และการเซ็นสัญญาปางหลวงหรือปางโหลงสำเร็จในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 และมีการดำเนินไปตามสนธิสัญญากำหนดไว้อะไรจะเกิดขึ้น

ก่อนอื่นเราควรจะมาทราบที่มาที่ไปของที่มาของสนธิสัญญาปางหลวงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนจะมีวันนี้ ในเว็บไซต์ รักเมืองไตย ได้บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสนธิสัญญาปางหลวงไว้ โดยเหตุการณ์ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 กษัตริย์ธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าถูกกองทัพอังกฤษบุกเข้าจับกุมตัวและในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2429 กองทัพอังกฤษจึงประกาศว่า ได้ทำการยึดดินแดนของแผ่นดินพม่าไว้หมดแล้ว 

ซึ่งในเวลานั้น รัฐฉานของชาวไทยใหญ่ยังไม่ได้ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน จวบจนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. 2430 อังกฤษจึงเดินทางมายึดรัฐฉาน และประกาศให้รัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งในรัฐอารักขาของอังกฤษ ในช่วงที่รัฐฉานอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้มีการแบ่งแยกการปกครอง และงบประมาณของรัฐฉานกับพม่าออกจากกันอย่างชัดเจน 

โดยในสมัยนั้น พม่าจะเป็นฝ่ายที่คอยต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด ขณะที่เจ้าฟ้าและประชาชนไทยใหญ่ ได้ให้ ความร่วมมือกับอังกฤษ รวมทั้งให้การช่วยเหลืออังกฤษในการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ  2 เป็นอย่างดี

หลังจากที่แผ่นดินพม่าและไทยใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นานกว่าครึ่งศตวรรษ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2482 นายพลอองซานจึงจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ใต้ดินขึ้น เพื่อให้พม่าหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยที่นายพลอองซาน ทำหน้าที่เลขาธิการของกลุ่ม นายพลอองซาน พยายามหาทางติดต่อกลุ่มกับคอมมิวนิสต์กลุ่มต่าง ๆ 

โดยหลังจากเดินทางกลับจากอินเดียมายังกรุงย่างกุ้ง เขาได้แอบเดินทางไปประเทศจีน แต่เนื่องจากลงเรือผิดลำจึงไปถึงเกาะ  อะมอย ( Amoy ) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการครอบครองของญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจึงเรียกตัว นายพลอองซานไปยังเมืองโตเกียว หลังจากนายพลอองซานกลับจากญี่ปุ่น จึงได้รวบรวมสมัครพรรค พวกจำนวน 30 คนเดินทาง ไปฝึกการรบที่ญี่ปุ่น
ต่อมา วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2484 อองซานจึงจัดตั้งกองทัพอิสระภาพแห่งพม่า ( B.I.A : Burma Independence Army ) ขึ้นที่กรุงเทพฯ และในปี พ.ศ 2485 นายพลอองซานเริ่มนำกำลังเข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น โจมตีเหล่าประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาในแผ่นดินพม่าและรัฐฉาน และในเวลาเดียวกันนี้ ทางเจ้าฟ้ารัฐฉาน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการของอังกฤษ ไปยังอินเดียและพม่า 
.
ต่อมา ญี่ปุ่นได้ทำการ ทารุณกรรมประชาชนในรัฐฉาน เช่นเดียวกับที่กระทำต่อประชาชนของประเทศต่างๆ ในเอเชีย จวบจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ญี่ปุ่นจึงถอยทัพกลับไป และในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษ ได้จัดทำหนังสือข้อตกลง ที่ชื่อว่า "เตหะราน" (Teheran-Agreement) ขึ้น โดยมีใจความระบุไว้ว่า "หากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จะคืนเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมของ ทั้ง 2 ประเทศทั้งหมด" เมื่อสงครามสิ้นสุดลงนายพลอองซานจึง พยายามติดต่อเข้าพบผู้นำรัฐบาลอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืน


 

ในช่วงเวลาที่อังกฤษปกครองพม่าและรัฐฉานอยู่นั้น ได้มีนักศึกษาในรัฐฉาน (ที่ไม่ใช่ชาวไทยใหญ่) เดินทางไปศึกษาที่กรุงย่างกุ้ง และซึมซับรับเอาแนวความคิดฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มมีความเกลียดชังและต้องการล้มล้างระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ ได้เข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่ม "ต่อต้านผู้ล่าอาณานิคมเพื่อเอกราช" ของนายพลอองซาน และตกลงรับเอาภาระหน้าที่บ่อนทำลายการปกครองระบอบเจ้าฟ้าของรัฐฉาน และหันมาเข้าร่วมกับพม่า ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษให้แก่กลุ่มของนายพลอองซาน โดยอาศัยรัฐฉานเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ 

แต่เนื่องจากเจ้าฟ้ารัฐฉานเป็นมิตรกับอังกฤษมาโดยตลอด โดยในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษได้ให้สัญญากับเจ้าฟ้าว่า "ขอให้รัฐฉาน อยู่ในอารักขาของอังกฤษต่อไปก่อนและอังกฤษจะทำการพัฒนาด้านการศึกษา, การเมือง, การปกครอง , การติดต่อต่างประเทศ - ในประเทศ, การเศรษฐกิจ และการคมนาคมในรัฐฉานให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วอังกฤษจะคืนเอกราชให้ภายหลัง"

สำหรับนายพลอองซานในช่วงแรก เป็นผู้มีบทบาทชักจูงทหารญี่ปุ่น ให้เข้ามาในพม่าและรัฐฉาน แต่ในตอนสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 กลับนำกำลังทหารเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่น ทางพม่าจึงได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันกองทัพของพม่าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 สองเดือนถัดมา เจ้าหญิงเมืองป๋อน ได้ทรงสิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้าฟ้าจากเมืองต่างๆ จึงเดินทางมาร่วมงานพระศพ ทำให้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกันว่า "น่าจะจัดให้มีการประชุมของเจ้าฟ้าทั้งหมด เพื่อปรึกษาหารือ เกี่ยวกับอนาคตของรัฐฉาน" และต่อมาวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489 จึงได้มีการประชุมของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ขึ้นที่ เมืองกึ๋ง 

โดยที่ประชุม มีมติจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" ขึ้น เพื่อให้มีสถาบันที่จะปกครองรัฐฉาน  ในแนวทางระบอบประชาธิปไตย และเพื่อทำให้รัฐฉาน ซึ่งมีดินแดนอยู่ระหว่างจีนแดงและพม่า สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป 

นอกจากนี้ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่ยังมีแนวความคิดที่จะร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองกับรัฐคะฉิ่นและรัฐชินซึ่งเป็นรัฐใกล้เคียง ดังนั้นจึงตกลงเห็นควรเชิญรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน มาเข้าร่วมเป็นสหพันธรัฐ โดยในเวลาต่อมาเมื่อวันที่  20 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่, รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน ได้จัดประชุมร่วมกันขึ้นที่เมืองปางหลวง หรือ ปางโหลง โดยเห็นพ้องต้องกันที่จะทำการจัดตั้ง "สหพันธรัฐเทือกเขา และสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา(Supreme Council of the United Hill People : S.C.O.U.H.)" ขึ้น และกำหนดให้ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นสมาชิกสภา รัฐละ 6 คน รวม 18 คน โดยเริ่มจัดตั้งภายในปี พ.ศ. 2490 และให้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งที่เมืองปางหลวง การประชุมในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกัน แบบสหพันธรัฐในดินแดนแห่งนี้

แต่เนื่องจากนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมของพม่า ได้ทำการแจ้งข่าวการประชุมร่วม 3 รัฐ ครั้งนี้ ให้ทางพม่าทราบ   ทางการพม่าซึ่งนำโดย นายอูนุและนายอูจ่อ จึงเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ตัวแทนจากพม่าจะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในที่ประชุม ก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้พูดในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า  "ต้องการจัดตั้งสหพันธรัฐที่ไม่มีพม่ารวมอยู่ด้วย"  ดังนั้น ตัวแทนชาวพม่าที่เข้าร่วมประชุม จึงเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือลงมติใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมา วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้ร่วมกันจัดตั้ง  "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" (EX-ective Committee of the Council of Shan State Saophas) ขึ้น ตามมติที่ตกลงกันไว้ในการประชุมที่เมืองกึ๋ง ขณะที่ทางฝ่ายพม่า ต้องการให้ไทยใหญ่ร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ไม่เห็นด้วย พม่าจึงทำการยุยงให้นักศึกษาในรัฐฉานบางกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวร่วมของพวกเขา ทำการจัดตั้งกลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ขึ้นเมื่อวันที่  20 กันยายน พ.ศ. 2489 โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดที่จะเรียกร้องเอกราชร่วมกับพม่า และล้มล้างการปกครองระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ" ได้พยายามเรียกร้องว่า "หากมีการให้เอกราชแก่รัฐฉาน ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับพม่า" โดยได้ทำหนังสือแสดงจุดยืนดังกล่าวต่อข้าหลวงอังกฤษมาโดยตลอด 

ซึ่งในขณะเดียวกันนายพลอองซานก็ได้เดินทางไปลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืนจากอังกฤษ และกลับมาชักชวนให้รัฐคะยาเข้าร่วมกับพม่าด้วย ในระหว่างการเดินทางไปรัฐคะยา นายพลอองซานได้แวะกล่าวปราศรัยต่อประชาชนชาวไทยใหญ่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ในสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง ในเมืองตองจี ผู้ที่เข้าฟังการปราศรัย ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและคนหนุ่มสาว โดยนายพลอองซานพยายามเรียกร้องให้ชาวไทยใหญ่ให้ความร่วมมือกับชาวพม่า 

และในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2489 นายพลอองซานได้ติดต่อขอเข้าพบกลุ่มเจ้าฟ้า ที่ปกครองทางภาคใต้ของรัฐฉาน โดยพยายามพูดจาหว่านล้อมให้เจ้าฟ้าเหล่านั้น เห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกับพม่า แต่การเจรจาไม่เป็นผล วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2489 นายพลอองซานจึงเดินทางกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปพบปะพูดคุย กับนายแอตลี (Attlee) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่ลอนดอนเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของพม่า   

ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2489 คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ได้จัดประชุมขึ้นที่แสนหวี และจัดส่งโทรเลขจากเมืองล่าเสี้ยวถึง นายแอตลี มีใจความว่า "นายพลอองซานไม่ใช่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ เรื่องของทางไทยใหญ่นั้น ทางคณะกรรมการเจ้าฟ้าฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง" โดยนายแอตลี ได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2490 

จากนั้นในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2490 อองซานเดินทางถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้เข้าพบกับนายแอตลี ตั้งแต่วันที่ 16 - 26 มกราคม พ.ศ. 2490 เพื่อเจรจาให้อังกฤษมอบเอกราชคืนให้แก่พม่าและรัฐฉานร่วมกัน แต่นายแอตลีได้ตอบปฏิเสธ เนื่องจากได้รับโทรเลขแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยใหญ่ จากคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับเอกราชร่วมกับพม่า

เมื่อนายอูนุทราบว่า ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ได้ส่งโทรเลขถึงนายแอตลี มีใจความไม่เห็นด้วยกับพม่า ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2490 นายอูนุจึงสั่งให้คนของเขา ไปทำการยุยงให้นักศึกษากลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ส่งโทรเลขสนับสนุนให้อองซาน เป็นตัวแทนของชาวไทยใหญ่ถึงนายแอตลีบ้าง โดยนายแอตลีได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2490 ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2490 จึงได้มีการทำหนังสือข้อตกลง อองซาน-แอตลี (Aungsan Attlee Agreement) ขึ้น ซึ่งในหนังสือข้อตกลงฉบับนี้ ในวรรคที่ 8 ได้กล่าวเกี่ยวกับรัฐฉานไว้ว่า "ให้นายพลอองซานทำการเจรจากับผู้นำของชาวไทยใหญ่ ที่กำลังจะจัดประชุมกันขึ้นที่ปางหลวง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้" และนายแอตลีได้ส่งโทรเลขถึงคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ, ตัวแทนรัฐคะฉิ่น, ตัวแทนรัฐชิน ให้ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้คิดแนวทางที่จะพูดคุยกับนายพลอองซานในการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขา ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองปางหลวง

การประชุมที่เมืองปางหลวง เป็นมติที่ตกลงจากการประชุมครั้งก่อน เมื่อปี 2489 โดยที่ประชุมได้ตกลงให้จัดการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาอีกครั้งในปีต่อมา คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ จึงได้จัดประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาขึ้นที่ เมืองปางหลวงอีกครั้งหนึ่ง โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ เป็นผู้ออกเองทั้งหมด  

หลังการประชุมครั้งนี้ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 หรือสี่วันต่อมาทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ และประชาชนชาวไทยใหญ่ได้มีมติจัดตั้ง "สภาแห่งรัฐฉาน" (Shan State Council) ประกอบด้วยตัวแทนเจ้าฟ้า 7 คน และตัวแทนจากประชาชนจำนวน 7 คน และให้ "สภาแห่งรัฐฉาน" เป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทยใหญ่ทั้งปวง พร้อมทั้งมีมติประกาศใช้ "ธง" ซึ่งประกอบด้วย สีเหลือง, เขียว, แดง และมีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง  เป็นธงชาติของรัฐฉานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

ซึ่งสีเหลืองหมายถึงการเป็นชนชาติผิวเหลืองและพุทธศาสนา สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งประเมินค่าไม่ได้ของแผ่นดินรัฐฉาน และยังหมายถึงความเป็นชนชาติที่รักความสงบร่มเย็นไม่รุกรานใคร สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของชนชาติรัฐฉาน และวงกลมสีขาว หมายถึงความมีสัจจะ ซื่อสัตย์ และมีจิตใจที่บริสุทธิ์ดั่งเช่นดวงพระจันทร์ของชนชาติรัฐฉาน 

และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 18.00 น. นายพลอองซานได้เดินทางมาถึงเมืองปางหลวงโดยไม่มีการเตรียมตัวเพื่อที่จะมาเข้าร่วมประชุมเลย โดยนายพลอองซานมาในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเสี่ยงดวงว่าทางไทยใหญ่จะให้ความร่วมมือในการเรียกร้องเอกราชหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น ที่มีการพูดว่า “นายพลอองซานเป็นผู้จัดการประชุมสัญญาปางหลวงนั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 10.00 น. ตัวแทนไทยใหญ่, ชิน และคะฉิ่น ได้จัดตั้ง "สภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา" (S.C.O.U.H.P)  ขึ้นตามมติการประชุมร่วมกันเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีสมาชิกสภาซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากรัฐฉาน (ไทยใหญ่), รัฐชิน และรัฐคะฉิ่น รัฐละ 6 คนรวมเป็น 18 คน และให้เป็นสภาปกครองสูงสุดของ สหพันธ์รัฐเทือกเขา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 11.30 น. นายพลอองซาน ได้กล่าวในที่ประชุม เรียกร้องให้ไทยใหญ่ร่วมกับพม่า ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ได้คัดค้านอย่างหนักแน่นเช่นเดิม และในขณะที่กำลังดำเนินการประชุมอยู่นั้น ได้เกิดการกระทบกระทั่งชกต่อยกันขึ้นระหว่างทหารชุดรักษาความปลอดภัยของนายพลอองซาน กับทหารชุดรักษาความปลอดภัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊ก แห่งเมืองหยองห้วย ซึ่งเป็นผู้นำของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งหลาย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้กล่าวในที่ประชุม ครั้งนี้ว่า "ถ้าไม่มีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระ หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็จะไม่ร่วมมือกับพม่าอย่างเด็ดขาด" ส่วนตัวแทนของรัฐคะฉิ่น ก็ได้เรียกร้องให้มีการกำหนดดินแดนของรัฐคะฉิ่นให้ชัดเจน ซึ่งในอดีตดินแดนของรัฐคะฉิ่น เป็นดินแดนของรัฐฉาน  แต่ต่อมาอังกฤษได้แยกเมืองกอง, เมืองยาง ออกไปเป็นรัฐคะฉิ่น เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง เป็นการชั่วคราวเท่านั้น  ซึ่งทางนายพลอองซานได้แสดงอาการโกรธ และจะไม่อยู่ร่วมประชุมต่อ แต่ทางฝ่ายนักศึกษาของกลุ่ม “เพื่อเอกราชรัฐฉาน” ซึ่งเป็นแนวร่วมกับทางนายพลอองซานได้ขอร้องให้อยู่ร่วมประชุมต่อ 

ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่ประชุมได้มีมติตกลงที่จะร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่จะร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น  หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ทุกรัฐมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องร่วมกันครั้งนี้ จึงเพื่อให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรองขอเอกราชจากอังกฤษเท่านั้น จากนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ และตัวแทนจากรัฐต่างๆ จึงได้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) ซึ่งนายพลอองซานเป็นผู้ร่างขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 มีเนื้อหาสาระทั้งหมด 9 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดที่ระบุถึงสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระ บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงได้ท้วงถาม ซึ่งอองซานได้ตอบว่า "เรื่องสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระนั้น น่าจะนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของสหภาพจะมีผลดีมากกว่าเขียนไว้ในหนังสือสัญญาปางหลวง" ด้วย 

เหตุนี้สิทธิการแยกตัวของรัฐต่างๆ ที่ร่วมลงนามจึงไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาปางโหลง แต่มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศพม่า โดยสาระสำคัญของสนธิสัญญาปางหลวงในเว็บไซต์ รักเมืองไตย มีดังต่อไปนี้

ฤา.....เมียนมาจะล่มสลายเหมือนศรีลังกา

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เอยาได้ยินเสียงแว่วออกมาจากฝั่งสามนิ้วชาวเมียนมาก็ดี ชาวไทยก็ดีว่า อีกไม่นานเมียนมาจะล่มสลายแบบเดียวกับศรีลังกา เรื่องแบบนี้มันสามารถปลุกกระแสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา เอาเป็นว่าก่อนที่จะที่ทุกคนจะเชื่อหรือไม่ วันนี้เอยามาหาคำตอบให้ทุกคนได้รู้กัน

ก่อนจะพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลราชปักษาที่ทุกคนทราบกันดีว่าเหตุของการล่มสลายของศรีลังกาเราควรมาทราบก่อนว่าตระกูลราชปักษานั้นขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ก่อนอื่นๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีตศรีลังกามีคนอาศัยอยู่ 2 ชาติพันธุ์นั่นคือ ชาวสิงหลที่เป็นชาวพื้นเมือง อีกชาติพันธุ์คือชาวทมิฬที่ย้ายถิ่นฐานมาจากอินเดียใต้ และมีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างชนชาติมาตลอดตั้งแต่สมัยก่อนยุคล่าอาณานิคม จนถึงยุคล่าอาณานิคม แม้จะมีการเปลี่ยนมือกันปกครองจากโปรตุเกสเป็นฮอลันดาและอังกฤษในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในยามที่อังกฤษปกครองเป็นช่วงเวลาที่สร้างรอยร้าวระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมากที่สุด จนถึงวันที่ปลดปล่อยเอกราชออกจากอังกฤษ ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลานับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็น มาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือ LTTE เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล จนกระทั่งนอร์เวย์เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนำไปสู่การลงนามความตกลงหยุดยิงในปี 2545 ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง โดยการเจรจาฯ จัดขึ้นที่ไทย 3 ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม 2545 และมกราคม 2546) การเจรจาฯ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาฯ ที่ผ่านไม่สามารถบรรลุผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความจริงใจที่จะยุติปัญหาทาการเมืองอย่างถาวร แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประเทศตะวันตกก็ตาม

จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี นาย Mahinda Rajapaksa ที่ปัจจุบันได้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนจะถูกเปลี่ยนออกในการปรับ ครม. ก่อนจะเกิดการล่มสลายของศรีลังกา โดยนาย Mahinda ได้ชูนโยบายในการกวาดล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจนถูกทำลายสิ้นซากในเดือนพฤษภาคม 2009 ภายใต้การนำของ Nandasena Gotabaya Rajapaksa ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาได้ใจชาวสิงหลในศรีลังกาและเป็นผลให้ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 - 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวันนี้ศรีลังกาได้ประกาศเป็นประเทศล้มละลายแล้วโดยชนวนเหตุมาจากการกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมาใช้อย่างอู้ฟู่โดยรายได้ของศรีลังกา จนเมื่อประเทศต้องผจญกับวิกฤตทับซ้อนโดยเริ่มจาก วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หลักของศรีลังกาขาดไป เมื่อต้องมาพบกับวิกฤตการณ์ที่ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเมื่อ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้ดำเนินนโยบายการลดการเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ทำให้รายได้ประเทศลดลงในขณะที่รายจ่ายพุ่งสูงขึ้นจนนำมาถึงจุดที่ล้มละลายในที่สุด

'เมียนมา' เจอพิษเศรษฐกิจ อาหารขาดแคลน-ราคาพุ่ง ชาวเมียนมาหลายร้อยชีวิต ต้องต่อคิวรับของบริจาค

เอเอฟพี - ท่ามกลางสายฝนโปรายปรายในฤดูมรสุม ชาวพม่าหลายร้อยชีวิตกำลังต่อแถวซื้อน้ำมันพืชราคาถูกที่รัฐอุดหนุนในนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพม่า หนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ประสบปัญหาขาดแคลนในประเทศ

เศรษฐกิจของพม่าตกต่ำลงหลังการรัฐประหารของกองทัพเมื่อปีก่อน และยังถูกซ้ำเติมจากความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะยึดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในการกำกับธุรกิจและการนำเข้า

มาตรฐานการครองชีพกำลังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อให้ผ่านพ้นและพึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ หรือการกุศลเพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้

“ผู้คนไม่สามารถใช้จ่ายรายได้ของพวกเขาไปกับอาหารได้มากนักเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น” ขิ่น ขิ่น ธัน แม่บ้านวัย 55 ปี กล่าว ขณะรอเติมน้ำมันลงในขวดพลาสติกที่สมาคมท้องถิ่นนำออกขาย

ราคาตลาดสำหรับน้ำมันพืชราว 1.6 กิโลกรัม พุ่งเป็น 9,000 จ๊าต จาก 5,000 จ๊าต ขิ่น ขิ่น ธัน ระบุ

“ถ้ามีคนทำงานเพียงคนเดียว ครอบครัวจะไม่มีเงินเหลือพอสำหรับค่าอาหาร” ขิ่น ขิ่น ธัน กล่าว

ในเดือน ก.ค. ธนาคารโลกกล่าวว่า ราว 40% ของประชากรอาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนแห่งชาติ

ราคาข้าวก็ทะยานขึ้นเช่นกันโดยเป็นผลจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นและจากการที่ทหารและนักสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเปลี่ยนพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสนามรบ

แม้แต่หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ที่รัฐให้การสนับสนุนก็รายงานข่าวเกี่ยวกับราคาข้าว ไข่ ผัก ค่าเดินทาง และค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกวัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซล 1 ลิตร พุ่งขึ้นประมาณ 6 เซนต์ในชั่วข้ามคืน ไปแตะระดับสูงสุงที่ 2,440 จ๊าตต่อลิตร (1.15 ดอลลาร์) ตามการรายงานของสื่อของรัฐ จากในวันก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา ลูกค้าในย่างกุ้งจ่ายเงินเพียง 695 จ๊าต ที่ปั๊มน้ำมัน

ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลทหารได้ประกาศว่าได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากรัสเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการจัดซื้อนั้นจะเริ่มเมื่อใดหรืออย่างไร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top