Tuesday, 21 May 2024
พม่า

‘สื่อเมียนมา’ เผย ‘ทักษิณ’ ล้มเหลว ไกล่เกลี่ยวิกฤตสงครามเมียนมา

(10 พ.ค. 67) สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานว่า การเดินทางเยือนเมียนมาของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อช่วยเจรจาหาทางยุติสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มต่อต้านและรัฐบาลทหารนั้น ไม่เพียงแต่จะถูกเมินจากรัฐบาลเมียนมา แต่ยังทำให้กลุ่มต่อต้านบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจด้วย

ทักษิณและทีมงานได้พบกับตัวแทนของกลุ่มต่อต้าน ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP), องค์การแห่งชาติคะฉิ่น (KNO) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ในเดือน มี.ค. และ เม.ย.

การพบปะดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทย มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ว่าการเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ดำเนินการเป็นการส่วนตัว และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นทางการของไทย

“เราต้องยอมรับว่า คุณทักษิณเป็นที่รู้จักและมีความเชื่อมโยงกับเมียนมา เชื่อว่าเขาสามารถช่วยได้” รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่กล่าว

เชื่อกันว่า ทักษิณมีความใกล้ชิดกับ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา เขาเคยไปเยี่ยม มิน อ่อง หล่าย ในปี 2013 และมีผลประโยชน์ทางธุรกิจที่นั่นภายใต้ระบอบการปกครองก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การหารือในเดือน มี.ค. และ เม.ย. รัฐบาลทหารเมียนมาก็นิ่งเงียบในประเด็นนี้ และไม่ตอบรับคำร้องขอเยือนของทักษิณ แหล่งข่าวในไทยซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้บอกกับอิรวดีว่า การหารือดังกล่าวส่งผลย้อนกลับต่อทักษิณ

“ทักษิณกำลังถูกสื่อและฝ่ายค้านโจมตี เป็นการดีสำหรับเขาที่จะถอยออกมาแบบไม่เสียหน้า เนื่องจาก มิน อ่อง หล่าย ไม่ตอบสนองต่อคำขอของเขา” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. คณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรด้านความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดน ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกล ประกาศว่า จะสอบสวนการหารือของทักษิณกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยกล่าวว่า การพบปะอาจทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทยในการฟื้นฟูความสงบสุขในประเทศเพื่อนบ้าน

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า กองทัพไทยกำลังจับตาดูผู้ที่ทักษิณพบปะอย่างใกล้ชิด รวมถึงกลุ่มต่อต้านเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ โดยบอกว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่แน่ใจว่ากองทัพไทยยินดีหรือไม่ที่ได้เห็นทักษิณมาพบปะกับกลุ่มดังกล่าว

แหล่งข่าวรายหนึ่งจากกลุ่มต่อต้านที่เข้าร่วมการหารือกล่าวว่า ทักษิณได้นำเอกสารอย่างเป็นทางการมาให้พวกเขาลงนาม เพื่อมอบอำนาจให้ทักษิณทำหน้าที่เป็นคนกลาง แต่ ‘ไม่มีกลุ่มใดลงนามในเอกสารที่ทักษิณนำเสนอ’ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจ

ขณะที่การประชุมกับ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาก็ไม่เป็นไปตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคาดหวังไว้ เพราะเขาได้พบเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับกลางเท่านั้น

อู ออง ซาน มยินต์ เลขาธิการคนที่ 2 ของ KNPP บอกกับอิรวดีว่า ในระหว่างการพบปะหารือ ทักษิณกล่าวว่า เขาต้องการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ของเมียนมา

“เราไม่ได้ทำข้อตกลงใด ๆ กับเขา เราบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการเจรจา เราได้พูดคุยกันว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอย่างไรในขณะที่มีการต่อสู้กัน เราไม่ได้พูดคุยเรื่องอื่นใดอีก” เขากล่าว

‘ทหารอาสาสมัครจากตะวันตก’ เข้าร่วมสู้รบต่อต้าน ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ อ้าง!! ได้แรงบันดาลใจ จากความกล้าหาญ ของพวกขัดขืนรัฐประหาร

(19 พ.ค.67) เจสัน (ใช้นามแฝงเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย) เป็นอดีตทหารราบที่เคยประจำการในอัฟกานิสถาน ใช้เวลา 8 สัปดาห์ในแนวหน้าทางตะวันออกของพม่า ก่อนเดินทางกลับมาตุภูมิในช่วงปลายเดือนเมษายน เขาให้คำจำกัดความนักรบฝ่ายต่อต้านว่า "พร้อมตายเพื่อเป้าหมาย" และเน้นว่าคนเหล่านี้มีความกล้าหาญเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับความขัดแย้งอื่นๆที่เขาประสบมา

ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆนานาและได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครต่างประเทศบางส่วน สู้รบกับกองทัพพม่ามานานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ความขัดแย้งได้ขยายวง แผ่ลามสู่ภูมิภาคต่างๆในแถบตอนกลางของประเทศ ในขณะที่กองทัพ ซึ่งมีเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยรัสเซีย ถูกกล่าวหากระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงโจมตีไม่เลือกหน้าและเผาหมู่บ้าน จนถูกสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายตราหน้าว่าอาจเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม

แม้ใช้ยุทธวิธีโหดเหี้ยมเหล่านี้ แต่คณะรัฐประหารต้องประสบปัญหาในการปราบปรามการลุกฮือ ความเคลื่อนไหวต่อต้านได้ก่อความสูญเสียใหญ่หลวงและรุกคืบด้านดินแดน เบื้องต้นใช้อาวุธดั้งเดิม แต่ตอนนี้มีอาวุธที่ดียิ่งขึ้น สืบเนื่องจากการบริจาคของประชาชน แรงสนับสนุนจากกองทัพชาติพันธุ์ และใช้อาวุธที่ยึดมา

พม่า ไม่ได้พบเห็นการไหลบ่าเข้ามาของอาสาสมัครนานาชาติ อย่างเช่นความขัดแย้งในยูเครนหรือซีเรีย ไม่มีความพยายามอย่างเป็นระบบในการเกณฑ์นักรบต่างแดน และกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายในประเทศปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามพบเห็นอาสาสมัครอย่าง เจสัน เข้าร่วมสู้รบหลายคน แม้มีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีทางกฎหมายในประเทศบ้านเกิดก็ตาม

รายงานข่าวของอัลจาซีราห์ ระบุว่าพบเห็นคลิปวิดีโอและภาพถ่ายของเจสัน กำลังสู้รบเคียงข้างฝ่ายต่อต้านในภาคตะวันออกของพม่า ขณะที่ เจสัน ซึ่งเคยต่อสู้ในยูเครน ตามหลังการรุกรานของรัสเซีย เน้นย้ำว่าเขาไม่ใช่ทหารรับจ้าง แต่ต่อสู้ในเหตุผลที่เขาเชื่อถือศรัทธา "ผมไม่ใช่ทหารรับจ้าง ผมทำมันเพื่อคนที่ผมคิดว่าเป็นฝ่ายถูก"

เจสัน มีแผนที่จะจัดตั้งทีมงานของทหารที่มีประสบการณ์จากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดาและออสเตรเลีย สำหรับมอบความช่วยเหลือแก่ฝ่ายต่อต้านทหารพม่า และเป้าหมายของทีมงานนี้ก็คือทำงานอยู่ภายใต้กรอบระบบของฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่จัดตั้งองค์กรแยกตัวออกมา

"เรามีความรู้จาก 4 กองทัพที่ต่างกัน ที่เราสามารถใช้สอนพวกเขา" เขากล่าว "ประสบการณ์คือจุดแข็งที่ผมสามารถช่วยพวกเขา พวกเขาแค่ต้องการมีเสรีภาพและประชาธิปไตย เราไม่ต้องการเป็นคนขาวผู้กอบกู้ ด้วยทีมงานของเรา เราอยากทำงานภายใต้ระบบของพวกเขามากกว่าจัดตั้งองค์กรของเรา เราจะทำมันทั้งหมดอย่างอิสระ"

ในรัฐชิน ติดชายแดนอินเดีย กองกำลังพิทักษ์ประชาชนโซแลนด์ โพสต์ภาพอาสาสมัครต่างชาติ 1 คน ได้แก่ อาซาด จากทางใต้ของสหรัฐฯและอีกคนเป็นชาวสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ อาซาด ไม่ได้มีภูมิหลังด้านการทหาร แต่เคยสมัครใจร่วมสู้รบร่วมกับกองกำลังวายพีจี ที่นำโดยเคิร์ด ในซีเรีย เขาทำหน้าที่สอนพลซุ่มยิงและหลักสูตรทหารราบ และเขามองว่าการปฏิวัติพม่าคือส่วนหนึ่งในความพยายามของโลก ไม่ต่างจากการสู้รบในซีเรียและการป้องกันตนเองของยูเครน จากการรุกรานของรัสเซีย

รายงานข่าวระบุว่ากลุ่มมนุษยธรรมคริสเตียน Free Burma Rangers (FBR) ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเช่นกัน โดบมอบความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลและสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ชุมชนต่างๆที่ต้องไร้ถิ่นฐาน ท่ามกลางเหตุล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆนานา ทั้งนี้แม้เป็นองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แต่พบเห็นสมาชิกของ FBR ติดอาวุธเพื่อการคุ้มกันด้วย

ในส่วนของรัฐบาลพม่า ได้เสริมความเข้มแข็งแก่กองทัพ ด้วยแรงสนับสนุนจากต่างชาติ โดยในเดือนเมษายน พวกเจ้าหน้าที่เดินทางเยือนรัสเซียและจีน เพื่อจัดซื้อโดรนสู้รบ ในขณะที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพ พบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และเจ้าหน้าที่รัสเซีย ณ พิธีสวนสนามของกองทัพพม่า ท่ามกลางรายงานข่าวว่าครูฝึกทหารรัสเซียได้ช่วยฝึกฝนทหารพม่าในการใช้อาวุธรัสเซีย แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันในเรื่องนี้

ผู้บัญชาการฝ่ายต่อต้านในเมืองเพคง ในรัฐฉาน ทางใต้ของพม่า อ้างว่าได้ยินข่าวว่าพบเห็นพวกครูฝึกทหารรัสเซียอยู่ใกล้ๆแนวหน้า แม้คำยืนยันเกี่ยวกับการพบเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ 4 เดือนก่อน และว่ากันว่าครูฝึกเหล่านั้นได้อพยพออกมาแล้ว ท่ามกลางการโจมตีอันดุเดือด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top