Friday, 10 May 2024
พม่า

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก เหยียบแผ่นดินไทย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปตีพม่าและมลายู

การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่น การรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

โดยกลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ

และในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

และในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี ยังถือเป็น ‘วันนักศึกษาวิชาทหารอีกด้วย’

'พม่า' ชวน 'ญวน' ตีเมืองไทย!! | THE STATES TIMES Story EP.136

เมื่อ พ.ศ. 2366 พม่าขอญวนเป็นไมตรี ชวนตีเมืองไทย หวังทำสงครามกระหนาบสองด้าน แต่ญวณไม่รับไมตรี ตีเมืองไทย อย่างไรก็ตาม แม้ญวนจะรักษาสัมพันธไมตรีกับไทย ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับพม่าทำสงครามกับไทย แต่ญวนก็ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับไทยในทุกเรื่อง เพราะต่างก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ นั่นคือ ดินแดนประเทศราชอย่างเขมรและลาว ซึ่งญวนถือว่าเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองฝ่ายมาแต่โบราณ และญวนก็ไม่ยอมเสียเปรียบไทย โดยคิดขยายอำนาจญวนมายังเขมรและลาวเสมอ จึงเป็นเหตุให้ทำสงครามสู้รบกันในสมัยรัชกาลที่ 3

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!

วิเคราะห์!! ไทยได้อะไร? เสียอะไร? หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชได้

ดูเหมือนสงครามกะเหรี่ยงที่รบกันมา 75 ปีจนถึงตอนนี้เหมือนจะทำให้ชาวกะเหรี่ยงมีความฝันมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามข่าวสารที่ทางฟากฝั่งเมียนมายังเงียบกริบ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านออกข่าวมาตลอดทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ

แต่เอาเป็นว่าวันนี้ 'เอย่า' จะมาวิเคราะห์ให้ดูดีกว่าว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชสำเร็จ

1. ด่านพรมแดนแม่สอดและด่านเจดีย์สามองค์ที่เคยเป็นพรมแดนการค้าในการส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาจะกลายเป็นด่านของกะเหรี่ยง และหากทางฝั่งเมียนมาไม่เปิดด่านแผ่นดินที่ติดพรมแดนในดินแดนกะเหรี่ยง ก็เท่ากับไม่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านแผ่นดินไปยังผู้ซื้อในเมียนมาจาก 2 ด่านนี้ได้ อาจจะต้องส่งไปด่านอื่น ๆ หรือวิธีการอื่นแทน

2. ระบบการเงินการธนาคารล้มเหลว ผู้คนในเมียวดีจะไม่เหลือเงินมาจับจ่ายใช้สอย แม้ต่อให้รัฐบาลกะเหรี่ยงจะออกธนบัตรของตนเอง แต่หากไม่ได้รับการยอมรับในทางสากล ผู้คนฝั่งเมียวดีก็ไม่มีเงินมาแลกเงินบาทอยู่ดี อันจะก่อให้เกิดภาวะเงินสกุลกะเหรี่ยงเฟ้อเพราะต้องเอาไปแลกเงินกับร้านรับแลกที่ผิดกฎหมายและโก่งราคาเงินสกุลกะเหรี่ยงเพราะไม่มีเสถียรภาพ

3. ปัจจุบันสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าที่ใช้ในเขตกะเหรี่ยงได้มา 2 ทางคือ โรงไฟฟ้าที่ได้ก๊าซมาปั่นจากฝั่งมอญและซื้อไฟจากไทย หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชจริง การหยุดจ่ายไฟจากไทยเกิดขึ้นได้ เพราะสัญญาจ่ายไฟเป็นสัญญาระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ใช่ไทยกับกะเหรี่ยง ส่วนก๊าซที่ได้มาจากทางเมาะละแหม่ง ก็มีสิทธิ์ถูกปิดเช่นกัน

4. ภาวะข้าวยากหมากแพงในเขตกะเหรี่ยง เพราะของอุปโภคต่าง ๆ ที่ราคาไม่แพงได้มาจากผู้ผลิตที่อยู่ลึกเข้าไปในเมียนมา และอาจจะส่งออกไม่ได้ยกเว้นการส่งแบบผิดกฎหมายที่น่าจะมี ส่วนสินค้าจากฝั่งไทยที่เข้ามาเป็นไปได้ที่จะเข้ามาแบบกองทัพมด แต่ราคาก็จะสูงกว่าปกติ

5. ทางการไทยอาจจะปิดด่านพรมแดน เพราะการเปิดด่านพรมแดนเป็นการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐหากกะเหรี่ยงยังไม่มีใครรับรองให้เป็นประเทศ ฝั่งไทยยย่อมมีสิทธิ์ปิดด่านพรมแดนได้

6. ฝั่งไทยจะทำการผลักดันผู้อพยพกลับภูมิลำเนาได้มากขึ้นและยกเลิกศูนย์พักพิงต่าง ๆ ที่เปิดมาตลอด 75 ปี

7. ฝั่งไทยน่าจะจัดการกับ NGO ที่แอบแฝงทั้งฟอกเงิน ค้าอาวุธและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กะเหรี่ยงมาตลอด 75 ปี เพื่อที่จะคืนพื้นที่และความปลอดภัยให้ชาวแม่สอดได้ โดยการจัดระเบียบชาวกะเหรี่ยงและลูกหลานชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเอย่ามั่นใจว่าทางฝ่ายความมั่นคงไทยและรัฐไทยมีข้อมูลเหล่านี้มาตลอด แต่ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจ

8. รัฐไทยจะสามารถควบคุมจัดการเรื่องยาเสพติดที่ในอดีตถูกผลิตและนำส่งออกมาจากเขตกะเหรี่ยงโดยมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นผู้กระจายสินค้าดังข่าวที่เคยปรากฏในอดีตให้สิ้นซากได้ ด้วยการหารือกับรัฐบาลกะเหรี่ยงที่ต้องการแรงสนับสนุนจากไทย

9. ในแง่ลบหากรัฐบาลกะเหรี่ยงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้นำ สงครามภายในกะเหรี่ยงเองก็อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและลุกลามเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจในชาติพันธุ์เดียวกันแทน แน่นอนฝั่งไทยก็จะได้รับผลกระทบยาวต่อไป

ชัยชนะที่เมียวดี เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะสำคัญ แต่สำหรับฝั่งไทยแล้วการที่กองทัพพม่าเสียเมืองเมียวดี สร้างผลกระทบนับพันล้านบาท และสิ่งที่ตามมาคือ ค่าขนส่งที่แพงขึ้นอันส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในเมียนมาสูงขึ้นด้วย  

สุดท้ายไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใดทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ส่งกระทบแค่เฉพาะคนไทยหรือคนพม่า แต่ชาวกะเหรี่ยงเองนั่นแหละคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

'หน่วยความมั่นคง' ยัน!! มีเพียงการสู้รบรอบนอกเมียวดีห่างออกไป 1-40 กม. ยัน!! ไม่กระทบไทย และไม่มีสถานการณ์ใดน่ากังวลตามที่ปรากฏบนหน้าสื่อ

'หน่วยความมั่นคง' ยัน!! ไม่มีการสู้รบในเมืองเมียววดี มีเพียงรอบนอกที่ห่างออกไป 1-40 กม. ขอคนไทยอย่ากังวล เพราะไม่กระทบ เผย BGF ผันมาเป็น KNA ร่วมกับกะเหรี่ยง พร้อมประสาน รบ.ทหารเมียนมา เจรจาผลประโยชน์ลงตัว

(12 เม.ย. 67) แหล่งข่าวความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการโจมตี และเข้ายึดพื้นที่เมืองเมียวดีได้แล้ว ว่า จากการข่าวที่รายงานมา ยังไม่มีการสู้รบในตัวเมืองเมียวดี มีแต่การสู้รบล่าสุดคือ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ 10 เม.ย.67 บริเวณที่ตั้งของ พัน 275 ซึ่งอยู่ห่างจาก ตัวเมืองเมียวดีประมาณ 1 กม. ห่างจากอำเภอแม่สอด 5 กม. โดย พัน 275 มีทหารอยู่ประมาณ 140 นาย ขณะที่กองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยงเข้าตี ซึ่งประกอบไปด้วย KNLA, KNA (BGF), PDF, KTLA และในช่วงเย็นของวันที่ 10 ทางกองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยง ก็สามารถเข้ายึดค่ายได้โดยทางกองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยงได้เปิดทางให้ ทหารของ พัน 275 วางอาวุธและเดินทางออกจากค่าย ด้วยความปลอดภัย 

ส่วนการสู้รบวานนี้ (11) ที่บริเวณรอบ ๆ พัน 275 ทาง กองทัพอากาศเมียนมาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งดังกล่าวพากันอพยพหนีการสู้รบจากบริเวณนั้นดังที่ปรากฏในข่าว 

โดยพิกัดดังกล่าวอยู่บริเวณ อ.กอการเร็ก ซึ่งห่างจากแม่สอดประมาณ 60 - 80 กม. ส่วนตามที่ปรากฏในข่าวสาร ว่ามีการเพิ่มเติมกำลังเข้ามาจาก พล ร.เบา 55 นั้น จริง ๆ แล้วการสู้รบในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสู้รบที่เกิดขึ้นมานาน และต่อเนี่องมาหลายเดือน และผลจากการต่อสู้ดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับชายแดนไทย เพราะการอพยพของประชาชนดังกล่าว จะอพยพไปยังเมือง ไปร่จง, นาบู และ ตามันยะ ที่ไทยเพิ่งส่งความช่วยเหลือเข้าไป เมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 ที่ผ่านมา  

สำหรับประเด็นสำคัญ ที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจคือ เมืองเมียวดี เป็นเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศเมียนมา ที่ผ่านมามี กองกำลัง BGF ซึ่งเป็นกองกำลังดูแลรักษาความสงบเมืองนี้ โดย BGF เป็นกองกำลังที่ได้รับผลประโยชน์จากประเทศเมียนมาในการดูและรักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองเมียวดี 

ทว่า ปัจจุบัน BGF ได้ถอนตัวจากการอยู่ภายใต้รัฐบาลเมียนมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา และเปลี่ยนเป็น กองกำลัง KNA เพื่อมาร่วมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ แต่ถึงจะถอนตัวออกมาจากเมียนมาแล้ว ทาง KNA (BGF) ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกับทางรัฐบาลของเมียนมาได้ 

นอกจากนี้ ทาง KNA (BGF) ยังปรากฏข่าวสารว่าเป็นผู้ที่เจรจา ให้ทหารพม่ากลุ่มต่าง ๆ ในเมียวดี วางอาวุธโดยไม่ต้องสู้รบ เพื่อที่จะได้ไม่สร้างความเสียหาย ให้กับเมืองเมียวดีและประชาชน โดยมีข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ กล่าวว่า เริ่มมีการพูดคุยถึงการขับเคลื่อนเมืองเศรษฐกิจเมืองเมียวดี ให้กลับมาปกติ ดำเนินชีวิตอย่างเดิมกันต่อไป โดยทางรัฐบาลเมียนมา อาจจะให้ทางพันธมิตรกะเหรี่ยง เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการสะพานมิตรภาพทั้ง 2 แห่ง โดยแบ่งปันสัดส่วนผลประโยชน์ให้เป็นที่พึงพอใจกันทุกฝ่าย สถานการณ์ในเมืองเมียวดี จึงยังไม่มีความน่าวิตกกังวลใด ๆ

"ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ใครที่ออกจากบ้าน ไปด้วยความกังวลสถานการณ์สู้รบ ก็จะเริ่มเดินทางกลับเข้าไป โดยสรุปสถานการณ์ ในเมืองเมียวดี น่าจะกลับมาปกติในเร็ววัน ไม่มีสถานการณ์ใดที่น่ากังวลตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ในห้วงที่ผ่านมา" แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุ

'เพจดัง' ชี้!! ค่าไฟแพงพออยู่แล้ว หลังคนกระหน่ำใช้ 'กลางวัน-กลางคืน' ฉะนั้น!! หากไปยุแยงพม่าแตก ระวังคนไทยอาจเดือดร้อนกว่านี้

(17 เม.ย. 67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

เปิดเทอมหลังสงกรานต์วันแรก มีบิลค่าไฟมาหย่อนตู้ไปรษณีย์แต่เช้า เห็นค่าไฟแล้วจะเป็นลม 

มีรายงานข่าวมาว่าช่วงนี้คนไทยกระหน่ำเปิดแอร์ตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนก็ยังเปิดแอร์แล้วยังมีชาร์จไฟรถเพิ่มขึ้นมา

จึงอยากเตือนนักการเมืองและนักวิชาการที่นำเสนอแนวทางและท่าทีของประเทศไทยต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมา ว่าอย่าใช้อุดมการณ์นำให้มาก 

ให้เน้นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยเป็นหลัก 

คนไทยไม่ต้องการมีปัญหาขาดแก๊ซ ไม่ต้องการจ่ายค่าไฟแพง ถ้าขาดแก๊ซเมียนมา มันจะแพงได้กว่านี้อีกเยอะ เพราะ ปตท. ต้องไปไล่ซื้อ LNG จากตลาด Spot มาทดแทนเพิ่มเข้าไปอีก

นี่เขียนจากใจและตัวเลขค่าไฟฟ้าเดือนนี้ล้วน ๆ

ส่วนเรื่องในเมียนมา เป็นเรื่องของมหาอำนาจผลักดันให้เกิด ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเองตามธรรมชาติ คนที่รับเงินต่างชาติมา จะผลักดันให้ประเทศไทยรับลูกใคร ให้ไปทำอะไร ให้ไปหนุนหลังใครก็คิดดี ๆ

'เพจวงในพม่า' ถามนักข่าวดัง 'ฐปณีย์ เอียดศรีไชย' ข้ามแดนไปทำข่าวให้ KNU แบบนี้ ถูกต้องหรือไม่?

ไม่นานมานี้ เพจ 'LOOK Myanmar' ซึ่งนำเสนอมุมมอง แนวคิดและชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของคนพม่า ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า...

"ขอสอบถามไปทางคุณแยม ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงการต่างประเทศหน่อย

ข้อแรกคุณแยมเข้าไปทำข่าวในแผ่นดินกะเหรี่ยงไปทางไหน ข้ามแดนถูกต้องตามกฎหมายไทยหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ได้ผ่านแดนแบบถูกต้องตามกฎหมายไทย คุณแยมทำผิดกฎหมายไทยหรือไม่ ประเด็นนี้ฝากคุณแยมช่วยชี้แจง และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองช่วยตรวจสอบด้วย

#เพราะคนไทยย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายไทยไม่มียกเว้น

ข้อ 2 ในฐานะสื่อมวลชน การนำเสนอข่าวแบบนี้จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไหม ฝากกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายปกครองและท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาที"

ทั้งนี้ คอมเมนต์ของชาวโซเชียลได้แสดงความห่วงใยการรายงานข่าวดังกล่าวเช่นกัน อาทิ...

- สื่อควรเป็นกลางนะ เรื่องระหว่างประเทศด้วย
- หาเรื่องให้คนพม่าเข้าใจว่าประเทศไทยเข้าข้างกะเหรี่ยง ทำเป็นโชว์เหนือ เข้าคลุกวงใน 
- ด่านที่เมียวดี น่าจะยังเปิดนะครับ
- ผมเคยยุให้คุณนักข่าวไปทำสกู๊ป ไอ้เดวิด กับ FBS ว่ามันทำอะไรในไทยบ้าง ไม่เห็นจะตอบ น่าสนใจกว่าเยอะ 
- ระวังลูกหลงบ้างนะแยม เขาต่อสู้กันคงไม่มีเวลามาป้องกัน 
- ฝากถามด้วย เอาเงินซื้ออาวุธมาจากไหน? 
- ขอเตือนสักคำนะคะน้อง ในฐานะคนไทยด้วยกัน แค่พรี่เป็นประชาชน ข้าแผ่นดินธรรมดา ที่ถือเอาชาติและแผ่นดินไทย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตค่ะ... ปัญหาในดินแดนเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ประเทศไทย คนไทย โดยเฉพาะสื่อ ต้องระมัดระวังในการทำข่าว หาข่าว เสนอข่าวนะคะ...ใช่ค่ะ สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการหาเสนอข่าว #แต่ให้ระมัดระวังการแสดงออกและข่าวที่นำเสนอ 

กลุ่มติดอาวุธ KNU ถอนกำลังออกจากเมียวดีชั่วคราว  หลังทหารฝ่ายรัฐกลับเข้าพื้นที่ และมีกองหนุนอาสาช่วย

(24 เม.ย.67) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ถอนกำลังออกจากเมืองเมียวดีชั่วคราว โฆษกของกลุ่มระบุ หลังจากทหารฝ่ายรัฐบาลได้กลับเข้าไปยังพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นช่องทางการค้าต่างประเทศมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

“กองกำลังทหารของ KNLA จะทำลายทหารฝ่ายรัฐและกองหนุนของพวกเขาที่เคลื่อนพลไปยังเมืองเมียวดี” ซอ ตอ นี โฆษกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกล่าว โดยอ้างถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงที่เป็นฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของพวกเขา

แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ระบุว่าความเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของกลุ่มคืออะไร

ทั้งนี้ การต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองเมียวดี ที่ส่งผลให้พลเรือนมากถึง 3,000 คน ต้องอพยพหลบหนีภายในวันเดียว ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธต่อสู้เพื่อขับไล่ทหารฝ่ายรัฐที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (24 เม.ย.) ไทยกล่าวว่า การต่อสู้คลี่คลายลงแล้ว และหวังว่าจะสามารถเปิดจุดผ่านแดนได้อีกครั้ง หลังจากการค้าได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยระบุว่า พลเรือนส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศแล้ว และยังเหลืออยู่เพียง 650 คน

“สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงและสามารถเปลี่ยนแปลงได้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุ

ไทยได้รับรายงานว่าการเจรจาอาจกำลังเริ่มต้นขึ้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในฝั่งพม่า และไทยได้เสนอให้ลาว ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดการประชุมเพื่อหาข้อยุติวิกฤตพม่า

กองทัพพม่าเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เข้าควบคุมพม่าเป็นครั้งแรกในปี 2505 โดยติดอยู่กับความขัดแย้งในหลายแนวรบ และพยายามที่จะต่อสู้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่พังลงนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564 ที่ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการปฏิรูปที่ดำเนินมาได้เพียงไม่นาน

ประเทศติดอยู่กับสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพฝ่ายหนึ่งและอีกฝ่ายหนึ่งคือพันธมิตรที่จับมือกันอย่างหลวม ๆ ของกองทัพชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และขบวนการต่อต้านที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามนองเลือดของรัฐบาลทหารต่อผู้เห็นต่างต่อต้านการรัฐประหาร

รัฐบาลทหารสูญเสียการควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญให้กลุ่มติดอาวุธ และภาพถ่ายที่โพสต์ในกลุ่มโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนรัฐบาลทหารบางกลุ่มเผยให้เห็นทหารจำนวนหนึ่งกำลังชูธงที่ฐานทหารแห่งหนึ่งซึ่ง KNU ควบคุมไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนและได้ชูธงของตนเอง

ด้าน โฆษกของ KNU ระบุว่า รัฐบาลทหารที่ดำเนินการตอบโต้เพื่อยึดคืนเมืองเมียวดี ได้กลับเข้ามาในพื้นที่ด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารอาสาในพื้นที่ ที่เคยเคียงข้าง KNU เมื่อครั้งเข้าปิดล้อมเมืองเมื่อต้นเดือน เม.ย.

รัฐบาลทหารและกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) ที่เคยเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (หรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ- Karen BGF) ไม่ตอบรับโทรศัพท์ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น

KNA ที่ก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลทหาร ได้ยืนยันที่จะแยกตัวออกจากกองทัพพม่าที่อ่อนแอลงในปีนี้ แต่ไม่ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะว่าจะเข้าพวกกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร

อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ.ซอ ชิด ตู่ และมีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างมากในเมืองเมียวดีและพื้นที่โดยรอบ ที่รวมทั้งกาสิโน บ่อนการพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์

แฉปมร้าวลึก!! PDF กับ KTLA ที่อาจถึงขั้น 'จุดแตกหัก' เมื่อกะเหรี่ยงยังมอง PDF เป็นคนพม่า และร่วมมือกันเพราะ 'เงิน'

ไม่นานมานี้มีข่าวมาเข้าหูเอย่ากลางดึก จนทำให้เอย่านอนไม่หลับถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาจับปากกาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนได้รู้กัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้บังคับการกองกำลังคอมมานโดพิเศษ ของกองทัพกอทูเล หรือที่หลายคนรู้จักในนาม KTLA โดยกองพลนี้ขึ้นตรงกับ 'นายพลเนอดา เมียะ' ผู้เปิดศึกในเมืองเมียวดีนั่นเอง

เรื่องราวมีอยู่ว่า 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นคนยักยอกเงินในการจัดหาอาวุธและเสบียงสำหรับที่ใช้ในกองพล

แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่าเรื่องคอร์รัปชันคือ พันโทผู้นี้เป็นผู้สังหารนักรบฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยหรือ PDF (กองกำลังพิทักษ์ประชาชน) ไปกว่า 20 ราย และยังไม่พอ เขาและลูกน้องในสังกัดของเขายังร่วมกันข่มขืนภรรยาของทหารฝ่าย PDF ที่เขาสังหารอีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีทหารหญิงฝั่ง PDF หลายรายที่ถูกพันโทผู้นี้ย่ำยีความบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าพันโทรายนี้ติดสุราอย่างหนักและมีพฤติกรรมชอบใช้อาวุธข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ และเขาตกเป็นผู้สงสัยในการเสียชีวิตของ 'เย หยิ่น' นายทหารคนสนิทของเขา

เหตุการณ์ทั้งหมดรับรู้กันเป็นวงกว้างในกองทัพของ PDF และ KTLA แต่นายพลเนอดา กลับเลือกจะนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ กับพันโท ซอ ซา โลน ผู้นี้

บางคนว่าเพราะนายพลเนอดามีความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว แต่บ้างก็ว่าพันโทผู้นี้คือมือขวาฝีมือดีของกองทัพ KTLA ซึ่งถ้าหากขาดนายพันคนนี้ไป อาจจะทำให้กองทัพ KTLA ปราชัยก็เป็นได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กองกำลังผสมของ PDF และ KTLA อ่อนกำลังลงมีทหาร PDF ถอนตัวจาก KTLA ไปอยู่กับกลุ่มต่อต้านอื่น

อีกทั้งยิ่งมีข่าวไม่นานมานี้เรื่องดีลลับสงบศึกเมียวดีระหว่างนายพลชิตตู่และนายพลเนอดา ยิ่งทำให้ฝั่ง PDF ผิดหวัง เพราะมีข่าวว่ากองทัพเมียนมามีการจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาทแลกกับการให้ KTLA ถอนกำลังพร้อมชี้เป้าจุดหลบซ่อนของกองกำลัง PDF จนเกิดปฏิบัติการบอมบ์ที่ภูเขา แล็ตคัดต่องก์ จนฝั่ง PDF สูญเสียเป็นอันมาก

จากเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ว่า กองกำลังผสม PDF กับ KTLA อาจจะถึงคราวแตกหักในไม่ช้า 

PDF ต้องไม่ลืมว่ากะเหรี่ยงก็ยังมอง PDF เป็นคนพม่าอยู่ดี ถ้าไม่ใช่เพราะเงินอัดฉีดมหาศาลที่มาจากฝั่ง PDF ก็ไม่มีทางที่นายพลเนอดาจะมาสนใจกลุ่ม PDF แน่นอน เพราะจากพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่ดำเนินการใด ๆ กับ พันโท ซอ ซา โลน ก็เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นละว่า กะเหรี่ยงไม่ได้อยากญาติดีกับชาติพันธุ์เมียนมา

ย้อนปูมหลัง 'ความขัดแย้ง-สงครามกลางเมืองพม่า' ที่ยาวนานที่สุดในโลก จากเงื่อนปมที่วางไว้โดย 'อังกฤษ' บ่ม 70 ปี จน 'เมียนมา' ไกลคำว่า 'สันติสุข'

ย้อนหลังไป 400-500 ปีก่อน สหภาพเมียนมาหรืออดีตสหภาพพม่าเป็นอดีตราชอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง กระทั่งสามารถเอาชนะไทยเราได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี พ.ศ. 2112 และ ปี พ.ศ. 2310 

โดยครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสียหายแก่กรุงศรีอยุธยาแบบยับเยิน จนไทยต้องมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ และย้ายข้ามมาสร้างกรุงเทพมหานครจวบจนถึงทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างทำสงครามจนไทยพ่ายเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2308-2312 พม่าก็ทำสงครามชายแดนกับจีนด้วย ทั้งยังสามารถเอาชนะจีน ทำให้ราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์คองบอง) มีสิทธิในการปกครองพม่าโดยสมบูรณ์ 

หากได้เล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะรู้ว่าเป็น พ.ศ. 2328-2329 หรือต้นยุครัตนโกสินทร์ หลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงได้เพียง 3 ปี พม่าได้ส่งกองทัพมา 9 กองทัพ 5 สาย (สงครามเก้าทัพ) มารุกรานไทยเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปและไม่มีสงครามระหว่างกันอีกเลย 

ต่อมาในปลายสมัยของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งอยู่ในยุคการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกอย่าง อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นอังกฤษสามารถยึดครองอินเดียที่มีพรมแดนติดกับพม่า และสุดท้ายก็นำมาสู่สงครามระหว่างกันของ 'อังกฤษ-พม่า' ถึง 3 ครั้ง 

- สงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2367) พม่าต้องยก รัฐอัสสัม, รัฐมณีปุระ, รัฐยะไข่ และตะนาวศรี และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงแก่อังกฤษ

- สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2395) อังกฤษยึด เมาะตะมะ, ย่างกุ้ง, พะสิม, แปร, พะโค

- และสงครามครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2428) อันเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ทำให้พม่ากลายเป็นอาณานิคมภายใต้อังกฤษอย่างสมบูรณ์กลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดีย

จากนั้น อังกฤษปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ. 2429 โดยมีย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และกลายเป็นเมืองยุคใหม่ของพม่าที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล โดยราชวงศ์โก้นบองถูกล้มล้าง พระเจ้าธีบออดีตกษัตริย์ถูกเนรเทศไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนบุรี อินเดีย แล้วแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิมพระสงฆ์จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา

นอกจากนั้นแล้ว อังกฤษยังเข้ามาจัดการระบบศึกษาให้แยกและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้ไม่สอนเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่แตกต่างจากอังกฤษ 

จากเหตุการณ์นี้เอง ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือไปจนถึงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามด้วยการเผาทำลายทุกหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปยังพม่าตอนใต้ และปลดเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก พร้อมทั้งนำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่แทน จึงทำให้การต่อต้านอังกฤษยุติลง

ข้ามมาในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนั้น 'ข้าว' เป็นที่ต้องการของยุโรปอย่างมาก จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี โดยมีการอพยพชาวพม่าจากที่สูงลงมายังที่ลุ่ม เพื่อปลูกข้าว และให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร, บริการสาธารณะ และสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บริการชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย โดยมีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อใช้บริการเหล่านี้ 

ฉะนั้นเศรษฐกิจของพม่าในช่วงนั้นจึงเติบโตขึ้น แต่เป็นการเติบโตภายใต้อำนาจทั้งหมดที่อยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคม ส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น 

ด้านความมั่นคง ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่จะเป็นชาวอินเดีย, ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ, ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า ทว่าด้วยการใช้อำนาจบังคับกดขี่ข่มเห่งชาวพม่าอย่างมากมายของอังกฤษ จึงทำเกิดขบวนการชาตินิยมพม่าต่อต้านอังกฤษขึ้น มีหลายหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกองโจรติดอาวุธ จนกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2480 อังกฤษได้แยกมณฑลพม่าออกจากบริติชอินเดีย และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเอง จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพม่า จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 

ทว่า หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็ได้กลับเข้าไปในพม่า และสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488 

หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่า คือ ความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) เป็นความตกลงระหว่างพม่า, ไทใหญ่, ชีน และกะชีน ผ่านการประชุมปางหลวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

การประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรยึดรัฐชาน (สหรัฐไทยเดิม) คืนจากไทยแล้ว ได้มีการประชุมเพื่อตัดสินชะตากรรมของชาติตนเองเรียกว่า การประชุมปางหลวงจัดขึ้นที่เมืองปางหลวงในรัฐชานในวันที่ 20-28 มีนาคม พ.ศ. 2490 การประชุมครั้งนี้พม่านำโดยนายพลออง ซาน (บิดาของอองซานซูจี) ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชได้เรียกร้องให้รัฐชานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ 

หลังจากการประชุมครั้งแรก พม่าได้ทำความตกลง 'อองซาน-แอตลี' กับ อังกฤษ เพื่อรวมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดเข้ากับสหภาพพม่า ฝ่ายรัฐชานจึงจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ระหว่าง 3-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เพื่อปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า โดยตัวแทนฝ่ายกะชีนเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐชีนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า ตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยอองซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเข้าร่วมประชุมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาจนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตาม (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ https://thestatestimes.com/post/2022072009)

ทว่า นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ ได้แก่ รัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 จึงทำให้ความตกลงปางหลวงไม่บรรลุผล เพราะพม่าไม่ยอมปฏิบัติตาม จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพม่าซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 โดยกลุ่มติดอาวุธของแต่ละชาติพันธุ์หลายกลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่า 

แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงหลายครั้งและมีการสร้างเขตปกครองตนเองที่เป็นอิสระในปี พ.ศ. 2551 แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็ยังคงเรียกร้องเอกราช หรือ การรวมเป็นสหพันธรัฐเมียนมาเรื่อยมา

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ถือเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในโลก กินเวลานานกว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว และความขัดแย้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลของพรรค NLD ที่นำโดยอองซานซูจี จากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะงานนี้ประเทศตะวันตกเปิดหน้าออกตัวสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น จึงทำให้การสู้รบอย่างหนักในพื้นที่อิทธิพลของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทุกวันนี้ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา เกิดจากการที่อังกฤษไม่ได้ดำเนินการให้รัฐต่าง ๆ ในพม่า (ขณะนั้น) มีเสรีภาพ มีความเป็นรัฐอิสระ และรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือสหรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีความคลุมเครือเกิดขึ้น ทั้งหลังจากการการลอบสังหารนายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ 

อังกฤษควรต้องเลื่อนการให้เอกราชกับพม่าไปก่อนเพื่อให้การดำเนินการตามข้อตกลงมีความชัดเจนหรือมีหลักประกันที่เหมาะสมสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่ติดตามข้าราชการอังกฤษที่มาทำงานในพม่า

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลอังกฤษไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเลย ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามปัญหาความขัดแย้งกว่า 70 ปีในเมียนมา อังกฤษจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top