ย้อนปูมหลัง 'ความขัดแย้ง-สงครามกลางเมืองพม่า' ที่ยาวนานที่สุดในโลก จากเงื่อนปมที่วางไว้โดย 'อังกฤษ' บ่ม 70 ปี จน 'เมียนมา' ไกลคำว่า 'สันติสุข'

ย้อนหลังไป 400-500 ปีก่อน สหภาพเมียนมาหรืออดีตสหภาพพม่าเป็นอดีตราชอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง กระทั่งสามารถเอาชนะไทยเราได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี พ.ศ. 2112 และ ปี พ.ศ. 2310 

โดยครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสียหายแก่กรุงศรีอยุธยาแบบยับเยิน จนไทยต้องมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ และย้ายข้ามมาสร้างกรุงเทพมหานครจวบจนถึงทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างทำสงครามจนไทยพ่ายเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2308-2312 พม่าก็ทำสงครามชายแดนกับจีนด้วย ทั้งยังสามารถเอาชนะจีน ทำให้ราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์คองบอง) มีสิทธิในการปกครองพม่าโดยสมบูรณ์ 

หากได้เล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะรู้ว่าเป็น พ.ศ. 2328-2329 หรือต้นยุครัตนโกสินทร์ หลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงได้เพียง 3 ปี พม่าได้ส่งกองทัพมา 9 กองทัพ 5 สาย (สงครามเก้าทัพ) มารุกรานไทยเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปและไม่มีสงครามระหว่างกันอีกเลย 

ต่อมาในปลายสมัยของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งอยู่ในยุคการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกอย่าง อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นอังกฤษสามารถยึดครองอินเดียที่มีพรมแดนติดกับพม่า และสุดท้ายก็นำมาสู่สงครามระหว่างกันของ 'อังกฤษ-พม่า' ถึง 3 ครั้ง 

- สงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2367) พม่าต้องยก รัฐอัสสัม, รัฐมณีปุระ, รัฐยะไข่ และตะนาวศรี และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงแก่อังกฤษ

- สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2395) อังกฤษยึด เมาะตะมะ, ย่างกุ้ง, พะสิม, แปร, พะโค

- และสงครามครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2428) อันเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ทำให้พม่ากลายเป็นอาณานิคมภายใต้อังกฤษอย่างสมบูรณ์กลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดีย

จากนั้น อังกฤษปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ. 2429 โดยมีย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และกลายเป็นเมืองยุคใหม่ของพม่าที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล โดยราชวงศ์โก้นบองถูกล้มล้าง พระเจ้าธีบออดีตกษัตริย์ถูกเนรเทศไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนบุรี อินเดีย แล้วแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิมพระสงฆ์จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา

นอกจากนั้นแล้ว อังกฤษยังเข้ามาจัดการระบบศึกษาให้แยกและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้ไม่สอนเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่แตกต่างจากอังกฤษ 

จากเหตุการณ์นี้เอง ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือไปจนถึงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามด้วยการเผาทำลายทุกหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปยังพม่าตอนใต้ และปลดเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก พร้อมทั้งนำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่แทน จึงทำให้การต่อต้านอังกฤษยุติลง

ข้ามมาในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนั้น 'ข้าว' เป็นที่ต้องการของยุโรปอย่างมาก จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี โดยมีการอพยพชาวพม่าจากที่สูงลงมายังที่ลุ่ม เพื่อปลูกข้าว และให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร, บริการสาธารณะ และสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บริการชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย โดยมีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อใช้บริการเหล่านี้ 

ฉะนั้นเศรษฐกิจของพม่าในช่วงนั้นจึงเติบโตขึ้น แต่เป็นการเติบโตภายใต้อำนาจทั้งหมดที่อยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคม ส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น 

ด้านความมั่นคง ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่จะเป็นชาวอินเดีย, ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ, ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า ทว่าด้วยการใช้อำนาจบังคับกดขี่ข่มเห่งชาวพม่าอย่างมากมายของอังกฤษ จึงทำเกิดขบวนการชาตินิยมพม่าต่อต้านอังกฤษขึ้น มีหลายหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกองโจรติดอาวุธ จนกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2480 อังกฤษได้แยกมณฑลพม่าออกจากบริติชอินเดีย และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเอง จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพม่า จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 

ทว่า หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็ได้กลับเข้าไปในพม่า และสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488 

หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่า คือ ความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) เป็นความตกลงระหว่างพม่า, ไทใหญ่, ชีน และกะชีน ผ่านการประชุมปางหลวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

การประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรยึดรัฐชาน (สหรัฐไทยเดิม) คืนจากไทยแล้ว ได้มีการประชุมเพื่อตัดสินชะตากรรมของชาติตนเองเรียกว่า การประชุมปางหลวงจัดขึ้นที่เมืองปางหลวงในรัฐชานในวันที่ 20-28 มีนาคม พ.ศ. 2490 การประชุมครั้งนี้พม่านำโดยนายพลออง ซาน (บิดาของอองซานซูจี) ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชได้เรียกร้องให้รัฐชานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ 

หลังจากการประชุมครั้งแรก พม่าได้ทำความตกลง 'อองซาน-แอตลี' กับ อังกฤษ เพื่อรวมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดเข้ากับสหภาพพม่า ฝ่ายรัฐชานจึงจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ระหว่าง 3-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เพื่อปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า โดยตัวแทนฝ่ายกะชีนเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐชีนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า ตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยอองซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเข้าร่วมประชุมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาจนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตาม (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ https://thestatestimes.com/post/2022072009)

ทว่า นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ ได้แก่ รัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 จึงทำให้ความตกลงปางหลวงไม่บรรลุผล เพราะพม่าไม่ยอมปฏิบัติตาม จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพม่าซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 โดยกลุ่มติดอาวุธของแต่ละชาติพันธุ์หลายกลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่า 

แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงหลายครั้งและมีการสร้างเขตปกครองตนเองที่เป็นอิสระในปี พ.ศ. 2551 แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็ยังคงเรียกร้องเอกราช หรือ การรวมเป็นสหพันธรัฐเมียนมาเรื่อยมา

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ถือเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในโลก กินเวลานานกว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว และความขัดแย้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลของพรรค NLD ที่นำโดยอองซานซูจี จากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะงานนี้ประเทศตะวันตกเปิดหน้าออกตัวสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น จึงทำให้การสู้รบอย่างหนักในพื้นที่อิทธิพลของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทุกวันนี้ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา เกิดจากการที่อังกฤษไม่ได้ดำเนินการให้รัฐต่าง ๆ ในพม่า (ขณะนั้น) มีเสรีภาพ มีความเป็นรัฐอิสระ และรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือสหรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีความคลุมเครือเกิดขึ้น ทั้งหลังจากการการลอบสังหารนายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ 

อังกฤษควรต้องเลื่อนการให้เอกราชกับพม่าไปก่อนเพื่อให้การดำเนินการตามข้อตกลงมีความชัดเจนหรือมีหลักประกันที่เหมาะสมสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่ติดตามข้าราชการอังกฤษที่มาทำงานในพม่า

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลอังกฤษไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเลย ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามปัญหาความขัดแย้งกว่า 70 ปีในเมียนมา อังกฤษจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES