Friday, 4 July 2025
พม่า

อย่าโทษสายตา ‘คนไทย’ ที่มอง ‘เมียนมา’ เปลี่ยนไป ชี้!! หลายพฤติกรรม และ คำพูด ล้วนบั่นทอนความเป็นมิตร

(3 ต.ค. 67) ช่วงนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กชาวเมียนมาหลายคนออกมาร้องไห้กันว่าถูกคนไทยมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ในขณะที่หลายคนเริ่มจะกลัวที่จะออกไปเดินตลาด หรือ เดินทางไปไหนมาไหน เพราะเจ้าหน้าที่เคร่งครัด และตรวจสอบคนต่างด้าวกันมากขึ้น

จากที่เอย่าให้ทีมงานในไทยไปสังเกตการณ์ตามตลาดที่เคยเป็นแหล่งที่มีชาวเมียนมาพลุกพล่าน ก็พบว่ามีคนเมียนมาบางตาไปจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะกลัว และไม่มีความรู้ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้น คือ คนที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง

คงจะมาว่าต่อว่าคนไทยไม่ได้ เพราะเอย่า ย้ำเสมอว่า ประเทศไทยให้โอกาสคนต่างด้าวเสมอ เพียงแต่ต้องอยู่ และกระทำตัวให้เหมาะสมกับการที่เข้ามาอาศัยในต่างบ้านต่างเมือง

จากการที่มีคลิปออกตามโซเชียลที่ผ่านมา ตั้งแต่มีชาวต่างด้าวเข้าชุมนุมทางการเมืองขับไล่ผู้นำไทยในรัฐบาลก่อนก็ดี หรือการไปชุมนุมตามที่สาธารณะก็ดี หรือการออกคลิปตามโซเชียลที่กระทำ หรือพูดอะไรที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประเทศไทย นั่นคือ ชนวนที่เป็นระเบิดเวลาทำลายความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อคนต่างด้าวในไทย

ยิ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจในไทยทุกวันนี้ด้วยแล้ว คนไทยหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกต่างด้าวแย่งงานแย่งอาชีพคงไม่ได้รู้สึกยินดีที่คนเหล่านั้นมาได้ดีในประเทศไทย

และดูเหมือนว่าคนพม่าที่อยู่ในเมียนมาก็ไม่ได้แยแสกับคนเมียนมาที่อยู่ในไทยเช่นกัน หลายคนกล่าวว่าก็เลือกจะไปเองก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เอย่าก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวเมียนมาที่เข้ามาอย่างถูกต้องไม่ต้องกลัว หากเรามีเอกสารสามารถสำแดงตัวตนว่าเราเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเจ้าหน้าที่ก็คงจับเราไม่ได้ ส่วนเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยก็คงต้องอาศัยเวลา และอัธยาศัยของคนเมียนมาที่มีน้ำใจไมตรีค่อย ๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ และมุมมองของคนไทยที่มีต่อชาวเมียนมานั้นขอให้อดทน

‘พม่า’ ทะลักชายแดนแห่ขอทำ ‘บัตรหัว 0’ คึกคัก หวังฟอกขาวได้สัญชาติไทยแม้ราคาพุ่งใบละ 3 แสนบาท

(21 ต.ค. 67) ช่วงนี้เรื่องราวฝั่งเมียนมาน่าจะไม่ปังนัก เนื่องจากดิไอคอนส่องแสงสว่างวาบไปทั่วปฐพีขนาดคนพม่ายังรู้และเป็นกระแสในวงโซเชียลเมียนมาด้วย

แต่เอย่าอยากให้พักดรามาร้อน ๆ แล้วหันมารับรู้ประเด็นร้อนในโลกความเป็นจริงที่ฟังแล้วเราควรจะปวดขมับดีหรือจะชั่งมันดี

ประเด็นแรกมีอยู่ว่าตอนนี้ตามแนวชายแดนไทยมีคนพม่าจำนวนมากเข้ามาเพื่อจะทำ ‘บัตรหัว 0’

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่าบัตรหัว 0 คือบัตรอะไร? บัตรหัว 0 หรือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนไม่มีสัญชาติไทยนั่นเอง

ซึ่งหลายคนรู้จักกันในชื่อบัตรชมพู หรือบัตร 10 ปีที่เอย่าเคยเล่ามาในบทความก่อนๆแล้ว โดยข้อดีของบัตรนี้คือถ้าพ่อแม่ถือบัตรหัว 0 ลูกที่เกิดมาจะสามารถขอสัญชาติไทยได้เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์นั่นเอง นั่นทำให้คนพม่าแห่เข้ามาเพื่อมารอทำบัตรหัว 0 กันอย่างเนืองแน่น เพราะเขาคิดว่าหากถูกถอนสัญชาติหรือพาสปอร์ตหมดอายุและไม่ต่ออายุด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็สามารถอาศัยในไทยได้ เพราะใช้บัตรดังกล่าว แถมบัตรนี้ออกโดยทางการไทยจะขอลี้ภัยไปประเทศไหนก็ง่ายดายเพราะมีข้อมูลยืนยัน

และที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนี้คือข้าราชการฝ่ายปกครองต่างพยายามออกบัตรหัว 0 กันอย่างคึกคัก เพราะคิดราคาต่อใบ ใบละ 200,000 - 300,000 บาทต่อคน จนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลงมาลุยเองเรื่องถึงได้เงียบลง แหม่ช่างเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนให้คึกคักเสียจริง

ประเด็นที่ 2 ก็ร้อนแรงไม่แพ้กันว่ากันว่ามีขบวนการพม่ารับขนเด็กจากชายแดนมายังกรุงเทพโดยขบวนการนี้จะทำการสวมสูติบัตรเด็กคนอื่นที่ไปเช่ามาใบละ 500-1,000 บาท

โดยเด็กกลุ่มที่มีฐานะดีหน่อยถูกพาไปหาพ่อแม่ตัวจริงในกรุงเทพ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มเป็นเด็กที่พ่อแม่ขายมาให้เป็นแรงงานในไทย โดยขบวนการนี้คิดค่าดำเนินการ 3,000-7,000 บาท  ข่าวว่ากันว่า กลุ่มที่ทำงานตรงนี้มี 2 กลุ่มคือกลุ่มพม่าเชื้อสายแขกกับกลุ่มพม่าชาติพันธุ์ที่อาศัยในไทยมาเป็นเวลานาน โดยมีข้าราชการไทยบางคนร่วมขบวนการ

เห็นเรื่องที่ 2 นี่เอย่าคิดถึงลุงตู่เลยที่ท่านพยายามอย่างหนักเพื่อให้ไทยเราปลอดการค้ามนุษย์แต่สุดท้ายก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ร่วมมือกับคนต่างด้าวทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย

ว่าแล้ว....เราควรจะวางเฉยแล้วเสพดรามากันต่อไปหรือจะเริ่มสอดส่องภัยใกล้ตัวขึ้นอยู่ตัวพวกเราด้วยกันเอง

จีนจับมือเมียนมา กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทลายรังฉ้อโกงขนาดใหญ่ตอนเหนือของประเทศ

(22 พ.ย.67) กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนรายงานการกวาดล้างศูนย์ฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ทั้งหมดทางตอนเหนือของเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนจีน-เมียนมา

รายงานระบุว่ามีการจับกุมชาวจีนผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมกว่า 53,000 ราย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีนกับเมียนมา นับตั้งแต่กระทรวงฯ ดำเนินการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมทางตอนเหนือของเมียนมาเมื่อปี 2023

เมื่อไม่นานนี้ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมในพื้นที่เมืองตั้งยานทางตอนเหนือของเมียนมาเป็นครั้งแรก จำนวน 1,079 ราย ระหว่างปฏิบัติการร่วมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นเมียนมา

รายงานเสริมว่ามีการส่งตัวชาวจีนผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่ถูกจับกุมในพื้นที่เมืองตั้งยานของเมียนมาให้จีนทั้งหมด 763 ราย และปฏิบัติการร่วมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม

ทั้งนี้ หน่วยงานความปลอดภัยสาธารณะของจีนจะยังคงมุ่งมั่นปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะหลายพื้นที่ที่มีแหล่งมิจฉาชีพอยู่หนาแน่น

กระทรวงฯ จะเพิ่มความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีนกับเมียนมา พร้อมเตือนประชาชนระมัดระวังข้อมูลการรับสมัครงานในต่างประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากอาจเป็นการหลอกลวงเข้าสู่การก่ออาชญากรรม

วิกฤตชายแดนส่อลุกลาม กองทัพว้าท้าอธิปไตย ปักธง 5 ฐานคุกคามชายแดนไทย ดอยหัวม้าอาจเป็นสนามรบ

โลกเราไม่ไกลกับคำว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ฉันใด ณ วันนี้รู้หรือไม่ว่าไทยเราใกล้จะเกิดสงครามในบ้านตัวเองแล้วฉันนั้นเช่นกัน สืบเนื่องจากประเด็นเขตแดนสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย บริเวณดอยหนองหลวง และ ดอยหัวม้า ด้านตรงข้ามพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในจุดนี้เป็นของแผ่นดินไทย จุดนี้สมัยก่อนไทยใช้เป็นกันชนโดยกองกำลังชนกลุ่มน้อยในยุคคอมมิวนิสต์แผ่อำนาจจากฝั่งพม่า แต่กองกำลังเข้ามายึดได้และประจำอยู่จุดนี้มามากกว่า 30-40 ปีได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้วแม้ฝ่ายไทยจะพยายามผลักกันแต่ไม่สามารถบรรลุผล

ชนวนเหตุมีอยู่ว่าเมื่อทางการไทยทำการปักปันเขตแดนแต่กองกำลังว้ากลับไม่ยอมถอยร่นเข้าไปในดินแดนฝั่งเมียนมา โดยล่าสุดมีการประชุมจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลา 10.00-10.30 น. ตามแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังว้า ว่าทางการไทยเรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาหารือเรื่องการให้กองกำลังว้าถอยออกไปนอกแผ่นดินไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายว้าอย่างรุนแรง โดยฝ่ายไทยกำหนดเส้นตายให้เวลาแค่ 30 วันในการถอนกำลังออกจากดอยหัวม้า ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบนิ่งและว้าเหมือนจะยอมปฏิบัติแต่โดยดี แต่ข่าวกรองจากแหล่งข่าวฝั่งว้าระบุว่า หลังการประชุมเสร็จสิ้น กองกำลังว้าสั่งซื้อโดรนศึกและอาวุธจากจีนเทา พร้อมทั้งเสริมอาวุธหนักจากสหพันธรัฐว้าเหนือเข้ามาในบริเวณดังกล่าว

นอกจากฐานหัวม้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว กองกำลังว้ายังมีฐานอีก 5 ฐานที่รุกล้ำดินแดนไทยได้แก่ 
1. ฐานกองเฮือบิน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
2. ฐานกิ่วช้างกั๊บ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
3. ฐานดอยไฟ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
4. ฐานดอยถ้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
5. ฐานดอยหัวไก่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

คำถามคือทำไมว้าถึงไม่ยอมเสียพื้นที่ตรงจุดนี้ถึงขั้นยอมแม้กระทั่งเปิดสงครามกับไทยนั่นก็เพราะว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งผลิตยาเสพติดอยู่ 5 แหล่งอันได้แก่ เมืองขุนน้ำรวก เมืองท่าใหม่ บ้านแม่โจ๊กในเมืองสาด บ้านนากองมูในเมืองโต๋นและบ้านเปียงเลา

คำถาม ณ วันนี้คือ ไทยพร้อมรบกับกองกำลังว้าแล้วหรือยัง อีกทั้งมีแผนอพยพคนในพื้นที่อย่างไร แผนสำรองอย่างไร เพราะจากวันนี้เหลือไม่ 30 วันแล้วหากสงครามเกิดขึ้นจริง เพราะไทยห่างสงครามไปถึง 13 ปีแล้วนับตั้งแต่สมรภูมิภูมะเขือและไทยได้เสียเขาพระวิหารไปในตอนนั้น แต่เอย่าก็ยังมั่นใจว่าทหารไทยเรายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องที่จะไม่ยอมให้เสียดินแดนแม้ว่าตารางนิ้วเดียวและนี่อาจจะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก็ได้หากบางกลุ่มหรือบางประเทศที่อยากจะมาแบ่งแยกประเทศไทยหรือยึดเอาดื้อๆ จากการทำสัญญาอะไรก็ตาม

ผู้นำกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงประท้วง หลังรัฐบาลไทยขอหมายจับ คดีค้ามนุษย์และแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์

ซอ ชิต ตู่ (Saw Chit Thu) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า หม่อง ชิต ตู่  ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาคัดค้านแผนการของรัฐบาลไทยที่เตรียมจับกุมเขา เนื่องจากศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์จำนวนมากที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของเขาในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดนไทย

"ผมอยากถามว่า ผมทำอะไรให้ประเทศไทยถึงต้องมีการจับกุม?" ซอ ชิต ธู กล่าวกับบีบีซีภาษาพม่า "ผมก่อการกบฏต่อประเทศไทยหรือไม่?"

ซอ ชิต ตู่ เป็นผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา เขาดูแลศูนย์กลางธุรกิจหลอกลวงทางออนไลน์ในพื้นที่ชเวก๊กโก (Shwe Kokko) เมืองเมียวดี ซึ่งดำเนินการร่วมกับบริษัท Yatai International ของเซ่อ จื้อเจียง (She Zhijiang) อาชญากรชาวจีนที่ปัจจุบันถูกคุมขังในกรุงเทพฯ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (DSI) ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับ 3 ผู้นำ BGF ได้แก่ ซอ ชิต ตู่, พันโทโมท โทรน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และพันตรีทิน วิน (Major Tin Win) ในข้อหาค้ามนุษย์

พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวอินเดีย ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call Center Scam)

ตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปยังชาวจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในเมืองเมียวดี รายงานระบุว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากจากหลายประเทศ รวมถึงคนในท้องถิ่น ถูกบังคับให้ทำงานในขบวนการเหล่านี้หลังจากถูกค้ามนุษย์ผ่านทางภาคเหนือของไทย พร้อมกับมีการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ซอ ชิต ตู่ ยืนยันกับบีบีซีภาษาพม่าว่า กลุ่มติดอาวุธของเขาได้พยายามอย่างมากในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือเหยื่อจำนวนมากให้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์ "แต่ความพยายามของเราไม่เคยได้รับการรายงานในข่าว" เขากล่าว

"แผนการออกหมายจับเป็นอันตรายอย่างมากต่อพวกเรา ผมรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริงกับการกระทำของฝ่ายไทย" เขากล่าวเสริม

พันโทนายเมียว ซอว์ (Naing Maung Zaw) โฆษกของ BGF กล่าวกับสื่อ The Irrawaddy ว่า "เราได้ทำผิดอะไรหรือไม่ถึงต้องถูกออกหมายจับ? เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ดังนั้นเราไม่มีความเห็นใดๆ"

BGF ยังอ้างว่ากำลังจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจพิเศษ นำโดยซอ ชิต ธู เพื่อกำจัดเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ในพื้นที่ที่ BGF ควบคุมในเมืองเมียวดี

องค์กรสิทธิมนุษยชน Justice for Myanmar ได้เปิดโปงการมีส่วนร่วมของ BGF กับธุรกิจหลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยชาวจีน รวมถึงบ่อนการพนันผิดกฎหมายในเมียวดี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตรซอ ชิต ตู่ ในเดือนธันวาคม 2566 ฐานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้คว่ำบาตรโมท โทรน และทิน วิน ด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว กองกำลัง BGF กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่ออีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่าหวัง ซิง (Wang Xing) นักแสดงชื่อดังชาวจีน ถูกลักพาตัวไปยังเมืองเมียวดี ไทยถูกกดดันจากรัฐบาลจีนให้นำตัวเขากลับมา และตำรวจไทยได้ช่วยเหลือหวัง ซิง ออกจากศูนย์หลอกลวงได้สำเร็จ แม้ว่ารายละเอียดของปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมด

ขณะที่จีนเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมา ทางการไทยจึงตอบโต้โดยการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ห้าจุดในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของซอ ชิต ธู และกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA (Democratic Karen Benevolent Army) ในเมืองเมียวดี

พลเอกไซ จ่อ ลา (General Sai Kyaw Hla) ผู้บัญชาการเขตทหารที่ 1 ของ DKBA กล่าวกับ The Irrawaddy ว่ากองกำลังของเขาจะไม่อนุญาตให้มีศูนย์หลอกลวงออนไลน์อีกต่อไป ยกเว้นธุรกิจการพนันออนไลน์ในพื้นที่เกี๊ยวก๊าด (Kyauk Khat)

เขาอ้างว่ามีชาวต่างชาติกว่า 100 คนที่ถูกค้ามนุษย์มาทำงานในศูนย์เหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือ และจะถูกส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ไทย "เร็วๆ นี้"

หลังจากไทยตัดเสบียง ทางการทหารเมียนมาและ BGF ได้ร่วมกันส่งตัวเหยื่อค้ามนุษย์ 61 คนจาก 7 ประเทศให้กับทางการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังได้บุกตรวจค้นศูนย์การพนันและหลอกลวงออนไลน์ในเมืองม่องหย่าย (Mongyai) รัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้กว่า 100 คน รวมถึงชาวต่างชาติหลายสิบคน

ในขณะเดียวกัน ทางการไทยได้ปลดพล.ต.ต.เอกราษฎร์ อินต๊ะสืบ และ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ เอี่ยมกมล ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับธุรกิจการพนันและศูนย์หลอกลวงออนไลน์ในเมียวดี รวมถึงความล้มเหลวในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์

ถอดรหัส ทำไมเกาหลีใต้ยกเมือง Yeongyang ให้คนพม่าตั้งถิ่นฐาน คาดหวังให้ช่วยเพิ่มประชากร - พัฒนาเมืองสุดกันดารที่คนเกาหลีไม่อยากอยู่

(17 มี.ค. 68) ในขณะนี้ที่ไทยประชาชนไทยส่วนหนึ่งได้ตื่นตัวเพราะการที่คนต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน แย่งอาชีพ แย่งใช้สวัสดิการของคนไทย จนแทบจะเรียกได้ว่า คนพม่าเหล่านั้นเข้ามาสร้างปัญหา จนทำให้คนพม่าที่เข้ามาประเทศไทยอย่างถูกต้องประกอบอาชีพอย่างสุจริตต้องมาตกที่นั่งลำบากไปด้วย  แต่ไม่นานมานี้ก็มีข่าวดังไปทั่วฌลกเมื่อเกาหลีใต้ประกาศว่าจะให้ชาวเมียนมาหรือคนพม่าอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองยองยาง (Yeongyang-gun)  โดยข่าวดังกล่าวมาจากรายงานของเวปไซต์ สำนักข่าว  เดอะ โคเรีย ฮอรัลด์ อ้างว่า ส่วนบริหารท้องถิ่นของเมืองยองยางมีการหารือกับกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีเพื่อเอาผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 40 คน ที่ได้รับการคุ้มครองจาก UN มาอยู่ที่นี่เพื่อจุดหมายในการเพิ่มประชากร

แต่เดี๋ยวมาถึงจุดนี้  เรามาหาข้อมูลเมืองยองยางกันก่อนดีกว่า

มีการระบุว่า เมืองยองยางนี้  เป็นพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงได้ยาก โดยเมืองนี้ มักถูกเรียกว่า "เกาะในแผ่นดิน" เขตนี้มีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาเขตทั้งหมดในจังหวัดจองซังเหนือ หากไม่รวมเขตอุลลึง เนื่องจากเป็นภูมิประเทศเป็นภูเขาที่มีหุบเขาลึก และพื้นที่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สามารถทำการเกษตรได้ 

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะถึงบางอ้อแล้วว่าการเดินทางไปเมืองนี้ยากลำยากเพียงใด และแน่นอนน่าจะรวมถึงความเจริญที่จะคืบคลานเข้าไปที่นี่ก็น่าจะลำบากเป็นเงาตามตัว

หากเอย่าเดาไม่ผิด ก็คือคงใช้คนพวกนี้มาพัฒนาแผ่นดินที่แม้แต่คนเกาหลีเองก็ทำไม่ได้ โดยอาจจะให้สนับสนุนเงินทุนหรือเครื่องมือบางส่วน เอาตรงๆว่าถ้าสำเร็จก็ดีไป ก็ค่อยเอาคนเกาหลีไปอยู่ แต่หากไม่สำเร็จก็แค่เหมือนคุกไฮโซของพวกลี้ภัยวีไอพีของพม่า

หันกลับมาดูผู้อพยพชาวเมียนมาที่ได้รับการคุ้มครองจากสหประชาชาตินั้นส่วนใหญ่คือนักการเมืองฝั่ง NLD นายทุนที่จัดหาเงินทุนให้ฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็เป็นพวกกระบอกเสียง ระดมทุน พวกนี้โปรไฟล์ไม่ธรรมดานะ  หลายคนจบจากต่างประเทศที่บ้านมีเงิน  ไม่ใช่ผู้อพยพกะเหรี่ยงชายแดนไทย ที่กินง่ายอยู่ง่าย อยู่สบายแพร่พันธุ์อย่างเดียว  บางทีเอย่าก็อยากจะบอกไปถึงทางเกาหลีใต้ว่าดูถูกชาวเมียนมาระดับหัวกะทิไปหรือเปล่า

ที่สำคัญภูมิอากาศที่เกาหลีไม่เหมือนไทยนะ  อย่างตอนที่เอย่าเขียนบทความนี้อยู่ที่เมืองยองยางอุณหภูมิสูงสุด 4 องศาต่ำสุด -4 องศา  หนาวขนาดนี้คนเกาหลียังแทบไม่อยู่กันเลย คิดยังไงถึงให้คนเมียนมาที่มาจากเขตร้อนไปอยู่

คิดไปละก็สงสาร สมัยสงครามเกาหลี เอย่าจำได้ว่า พม่าในขณะนั้นส่งข้าวจำนวนหลายตันมาให้คนเกาหลีที่อดอยากเพื่อจะได้มีแรงสร้างชาติ  พอมาดูวันนี้กับความคิดคนเกาหลีใต้ที่ตอบแทนน้ำใจคนพม่าในอดีต เอย่าก็ไม่อยากจะพูดว่า เหมือนหลอกเขามาตายชัดๆ 

เปิดภาพ ‘เจดีย์มิงกุน’ ในเมียนมา ‘ก่อน-หลัง’ เกิดแผ่นดินไหว บางส่วนพังถล่มลงมาและมีรอยแตกร้าวเป็นวงกว้าง

(29 มี.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจดีย์มิงกุน หรือ Hsinbyume Pagoda หนึ่งในโบราณสถานสำคัญและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมา ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68)

ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังเหตุการณ์เผยให้เห็นโครงสร้างอันงดงามของเจดีย์สีขาวบริสุทธิ์ที่เคยตั้งตระหง่าน บัดนี้บางส่วนพังถล่มลงมาและมีรอยแตกร้าวเป็นวงกว้าง

สำหรับเมืองมิงกุน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังและศูนย์รวมโบราณสถานของเมียนมา ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงสั่นสะเทือน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเข้าสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด พร้อมวางแผนบูรณะฟื้นฟูเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญสิ้น

ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาและองค์กรด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศร่วมมือกันฟื้นฟูเจดีย์มิงกุนให้กลับมางดงามดังเดิม

ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากประเทศจีนและรัสเซียได้เดินทางถึงพื้นที่ประสบภัยในประเทศพม่าเป็นสองชาติแรก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวานนี้ โดยล่าสุดทางการพม่ารายงานยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 178 ราย บาดเจ็บกว่า 800 ราย และยังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารจำนวนมาก

ในจำนวนนี้รวมถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่พังถล่มลงมา โดยมีเด็กและครูจำนวนกว่า 60 รายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะนี้ทีมกู้ภัยกำลังเร่งค้นหาและให้ความช่วยเหลือท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวนและโครงสร้างอาคารที่ยังเสี่ยงถล่มซ้ำ

นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังได้ส่งทั้งบุคลากรและอุปกรณ์กู้ภัยพิเศษเข้าพื้นที่ทันทีที่ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลพม่า โดยถือเป็นความร่วมมือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาวิกฤต

สงครามกลางเมืองปะทะภัยธรรมชาติ ประชาชนเผชิญความสิ้นหวัง หายนะที่ยังไร้จุดจบ

(30 มี.ค. 68) เมียนมาเผชิญกับอนาคตที่มืดมนยิ่งขึ้น หลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตามรายงานของ เดลิเมล สื่ออังกฤษ

ขอบเขตของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังไม่แน่ชัด โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองและการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย ในเมียนมา และอีกอย่างน้อย 10 รายในกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตสุดท้ายอาจแตะระดับหลายพันคน

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว สถานการณ์ในเมียนมาก็เลวร้ายอยู่แล้ว ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และอีกหลายแสนคนถูกตัดขาดจากโครงการช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ผลจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปี โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารว่าใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า

เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านทั่วประเทศ การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจับอาวุธต่อต้าน ส่งผลให้ความขัดแย้งกระจายไปทั่วประเทศ

หลังเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยระบุว่าต้องการโลหิตเป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

เทเลกราฟ รายงานโดยอ้างแพทย์คนหนึ่งในเมียนมาว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศอ่อนแออยู่แล้ว และไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ ขณะที่ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ ไทม์เรดิโอ ว่า

“นี่อาจเป็นหายนะซ้อนหายนะ ประชาชน 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่ก่อนแผ่นดินไหวแล้ว มีผู้พลัดถิ่น 3 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของประชากรเมียนมาดำดิ่งสู่ความยากจนขั้นรุนแรง”

โจ ฟรีแลนด์ นักวิจัยด้านเมียนมาของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอยู่แล้ว”

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อไทย โดยมีรายงานว่ากรุงเทพฯได้รับแรงสั่นสะเทือนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ามาตรการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศระงับโครงการช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะในแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทยที่มีผู้พักพิงมากกว่า 100,000 คน

โครงการอาหารโลก (WFP) รายงานว่าการปันส่วนอาหารในเมียนมาจะถูกตัดขาดเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน แม้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง

ปัจจุบัน มีประชากร 15.2 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ไม่มีอาหารเพียงพอ และราว 2.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยระดับฉุกเฉิน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 10,000 - 100,000 ราย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมียนมาว่า “ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้”

รัฐบาลทหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 5 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ มัณฑะเลย์, สะกาย, มะกเว, ฉาน และบะโก ด้านองค์การสหประชาชาติจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากพื้นที่ภัยพิบัติแสดงให้เห็นถนนแตกร้าว สะพานถล่ม และเขื่อนแตก สร้างความกังวลว่าทีมกู้ภัยจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ยาก ในประเทศที่กำลังจมดิ่งสู่ภาวะวิกฤติอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่า เมืองและหมู่บ้าน 5 แห่ง พบเห็นอาคารพังถล่ม และมีสะพานพัง 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสะพานหลักที่เชื่อมไปยัง มัณฑะเลย์ โดย โมฮัมเหมด ริยาส ผู้อำนวยการด้านเมียนมาของ คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ระบุว่า

"อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทราบถึงขอบเขตความเสียหายที่แท้จริง และอาจมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้"

จากสงครามกลางเมืองที่ยังไม่มีจุดจบ สู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ซ้ำเติม เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากนานาชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ไต้หวันถอนทีมกู้ภัยที่เตรียมเดินทางไปเมียนมา เหตุวิกฤติการเมืองภายในยังคงรุนแรง กองทัพกบฏยังทิ้งระเบิดไม่เลิก

(1 เม.ย. 68) สำนักข่าว Focus Taowan รายงานว่า นายหลิว ซื่อ ฟาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจยุบทีมกู้ภัยที่เตรียมเดินทางไปยังเมียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา

นายหลิวระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงมหาดไทยไต้หวันได้พิจารณาสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางทหารที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มกบฏในพื้นที่ ทำให้การส่งทีมกู้ภัยเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยอาจเป็นอันตรายอย่างมาก

“แม้เราต้องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ทำให้เราต้องตัดสินใจเช่นนี้เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่” นายหลิวกล่าว

ขณะที่ รายงานของสื่อระหว่างประเทศระบุว่า กองทัพเมียนมายังคงโจมตีพื้นที่บางส่วนในประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศ จนถึงขณะนี้มีรายงานว่าคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,700 ราย โดยสหประชาชาติได้กล่าวถึงการโจมตีครั้งนี้ว่า “เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและไม่สามารถยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง”

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลายพื้นที่ของเมียนมา โดยมีรายงานความเสียหายเป็นวงกว้าง ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังเร่งพิจารณาวิธีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร

ทีมกู้ภัยจากจีน 15 คน เดินทางถึงมัณฑะเลย์แล้ว พร้อมเริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือภัยพิบัติแผ่นดินไหวในเมียนมา

(1 เม.ย. 68) สมาชิกจากหน่วยรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างประเทศของสภากาชาดจีนจำนวน 15 คน เดินทางถึงเมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมาเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเริ่มปฏิบัติการบรรเทาภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่

การเดินทางของทีมกู้ภัยครั้งนี้ได้รับการประสานงานจากกระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินของจีน และสภากาชาดจีน โดยทีมงานจะทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมกับประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายพื้นที่ รวมถึงเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ทีมกู้ภัยจากจีนจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

“ด้วยความร่วมมือกับสภากาชาดเมียนมา เราเตรียมให้การสนับสนุนฉุกเฉินในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่พักพิง อาหาร และน้ำ การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับผู้บาดเจ็บ การสนับสนุนการจัดการศพอย่างปลอดภัย การช่วยให้สมาชิกในครอบครัวที่พลัดพรากจากกัน หรือไม่ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของคนที่พวกเขารัก ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง” เดอ แบ็ก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำประเทศเมียนมา กล่าว

ทั้งนี้ ทีมกู้ภัยจีนถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ พร้อมทั้งแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top