ฤา.....เมียนมาจะล่มสลายเหมือนศรีลังกา

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เอยาได้ยินเสียงแว่วออกมาจากฝั่งสามนิ้วชาวเมียนมาก็ดี ชาวไทยก็ดีว่า อีกไม่นานเมียนมาจะล่มสลายแบบเดียวกับศรีลังกา เรื่องแบบนี้มันสามารถปลุกกระแสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา เอาเป็นว่าก่อนที่จะที่ทุกคนจะเชื่อหรือไม่ วันนี้เอยามาหาคำตอบให้ทุกคนได้รู้กัน

ก่อนจะพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลราชปักษาที่ทุกคนทราบกันดีว่าเหตุของการล่มสลายของศรีลังกาเราควรมาทราบก่อนว่าตระกูลราชปักษานั้นขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ก่อนอื่นๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีตศรีลังกามีคนอาศัยอยู่ 2 ชาติพันธุ์นั่นคือ ชาวสิงหลที่เป็นชาวพื้นเมือง อีกชาติพันธุ์คือชาวทมิฬที่ย้ายถิ่นฐานมาจากอินเดียใต้ และมีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างชนชาติมาตลอดตั้งแต่สมัยก่อนยุคล่าอาณานิคม จนถึงยุคล่าอาณานิคม แม้จะมีการเปลี่ยนมือกันปกครองจากโปรตุเกสเป็นฮอลันดาและอังกฤษในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในยามที่อังกฤษปกครองเป็นช่วงเวลาที่สร้างรอยร้าวระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมากที่สุด จนถึงวันที่ปลดปล่อยเอกราชออกจากอังกฤษ ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลานับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็น มาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือ LTTE เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล จนกระทั่งนอร์เวย์เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนำไปสู่การลงนามความตกลงหยุดยิงในปี 2545 ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง โดยการเจรจาฯ จัดขึ้นที่ไทย 3 ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม 2545 และมกราคม 2546) การเจรจาฯ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาฯ ที่ผ่านไม่สามารถบรรลุผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความจริงใจที่จะยุติปัญหาทาการเมืองอย่างถาวร แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประเทศตะวันตกก็ตาม

จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี นาย Mahinda Rajapaksa ที่ปัจจุบันได้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนจะถูกเปลี่ยนออกในการปรับ ครม. ก่อนจะเกิดการล่มสลายของศรีลังกา โดยนาย Mahinda ได้ชูนโยบายในการกวาดล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจนถูกทำลายสิ้นซากในเดือนพฤษภาคม 2009 ภายใต้การนำของ Nandasena Gotabaya Rajapaksa ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาได้ใจชาวสิงหลในศรีลังกาและเป็นผลให้ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 - 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวันนี้ศรีลังกาได้ประกาศเป็นประเทศล้มละลายแล้วโดยชนวนเหตุมาจากการกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมาใช้อย่างอู้ฟู่โดยรายได้ของศรีลังกา จนเมื่อประเทศต้องผจญกับวิกฤตทับซ้อนโดยเริ่มจาก วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หลักของศรีลังกาขาดไป เมื่อต้องมาพบกับวิกฤตการณ์ที่ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเมื่อ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้ดำเนินนโยบายการลดการเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ทำให้รายได้ประเทศลดลงในขณะที่รายจ่ายพุ่งสูงขึ้นจนนำมาถึงจุดที่ล้มละลายในที่สุด

เมื่อมาเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา วิกฤตของเมียนมาเกิดจากหลังเหตุการณ์รัฐประหาร สิ่งที่ทำให้เกิดการกระทบต่อเศรษฐกิจเมียนมาในเวฟแรกคือ การทำอารยะขัดขืน หรือ CDM โดยการไม่ทำงาน ซึ่งธุรกิจที่กระทบที่สุดคือธุรกิจธนาคารและนำเข้าส่งออกเพราะส่งผลต่อธุรกิจในเมียนมาโดยตรง เวฟที่ 2 คือการถอนหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่มาเปิดธุรกิจในเมียนมา โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ และเวฟที่ 3 ที่หลายคนกังวลว่าจะนำพาเมียนมาสู่ความล้มละลายคือ การที่รัฐบาลประกาศหยุดชำระหนี้ต่างชาติ เพื่อรักษาสภาพคล่องในประเทศ

ก่อนอื่นถ้าเราเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ข้อมูลแรกที่ต้องมาดูกันคือ
1. ทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ณ ตอนนี้คือไม่มีแล้ว ในขณะที่เมียนมา เมื่อมีนาคม 2021 อยู่ที่ 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ทุกวันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของเมียนมาจะลดลงไปก็ตามแต่จะไปถึงจุดของศรีลังกาไหม อาจจะยังอีกไกล

2. ศรีลังกาพบปัญหาความอดอยากเพราะต้องนำเข้าทุกอย่างทั้งอาหารและพลังงานในขณะที่เมียนมามีทุกอย่างทั้งอาหารและพลังงานขาดเพียงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาลงทุน

3. เมียนมามีการทำธุรกิจแบบสีเทาๆ เป็นทุนเดิมมาก่อนแล้ว ต่อให้เกิดการประกาศการหยุดชำระหนี้ต่างชาติไปแต่หากบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีการปรับตัวในการที่จะหันไปหาวิธีที่ไม่ได้ถูกต้องนักในการนำเงินออกจากประเทศก็ไม่น่าจะใช่ปัญหา อีกทั้งการประกาศการไม่ชำระหนี้ต่างประเทศครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยมีการประกาศแบบนี้มาแล้วในช่วงปี 1996 และได้ยกเลิกไปในยุคประธานาธิบดีเต็งเส่ง

การที่จะกลับไปเป็นระบบโจราธิปไตยหรือการยึดเอาบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของเมียนมาในปัจจุบันไม่ง่ายนัก เพราะเมียนมาแม้จะทำตัวไม่แคร์กับกระแสโลกแต่จำเป็นต้องผูกมิตรกับหลายๆ ประเทศเพื่อไม่ให้ถูกโดดเดี่ยวในภาวะที่หลายสิ่งในประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงนโยบายการมอบทุนหรือการให้การศึกษาฟรีก็เป็นการที่เมียนมาพยายามที่จะสร้างคนขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของเมียนมาเอง แม้อาจจะไม่เหมือนคนที่อยู่ในยุคของ NLD แต่ก็ถือว่าเมียนมาก็พยายามที่จะทำ  

ดังนั้นสำหรับการที่รับบาลประกาศหยุดชำระหนี้ต่างชาติ เพื่อรักษาสภาพคล่องในประเทศนั้นก็แค่ทำให้เมียนมากลับไปเป็นเสือที่จำศีลรอวันตื่นอีกครั้งก็เท่านั้น ส่วนผู้ที่จะพาประเทศให้รุ่งเรืองหรือฉิบหายคงขึ้นกับคนในประเทศที่จะเลือกทำลายความมั่นใจของชาวต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมาเหมือนที่ไปวางระเบิดหน้า สำนักงาน ปตท. สาขาย่างกุ้งหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ประชาชนคนเมียนมาต้องเป็นคนเลือกเองเพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่คนต่างชาติแต่เป็นชาวบ้านเมียนมาที่จะได้รับผลกระทบก่อนเหมือนที่เคยได้รับมาในอดีตจากการทำอารยะขัดขืน


ที่มา : AYA IRRAWADEE